การละเล่นพื้นบ้าน
นาฎศิลป์และดนตรี
การละเล่นของเด็ก มีการเล่นและรูปแบบการเล่นเช่นเดียวกับการเล่นของเด็กชาวอีสานโดยทั่วไปเช่น
เล่นปักลี (ซ่อนหา) ปักหึ่ง (ไม้หึ่ง) ยิงบั้งโป๊ะ ดีดเม็ดมะขาม หมากเหลี่ยม
เตย มอญซ่อนผ้า ตี่จับ ขาโกกเกก เฮือมน้อย ว่าวสะนู แข่งโหวด และการเล่นในลำน้ำ
เป็นต้น
การละเล่นของผู้ใหญ่ มีการเล่นและรูปแบบการเล่นใกล้เคียงกันกับการเล่นของชาวอีสานโดยทั่วไปเช่นหมอลำ
การเส็งกลอง และการขับร้องสรภัญญะ เป็นต้น แต่มีการเล่นบางอย่างที่ผิดแผกออกไปมีดังนี้
โขนขุขันธ์ เป็นโขนที่ประยุกต์การดำเนินเรื่องเร็วกว่าโขนมาตรฐาน
เพราะลีลาการเล่นไม่เต็มแบบฉบับ โดยนำการร่ายรำละครนอก ตัดทอนมาผสมผสานลีลาร่ายรำ
และการพากษ์โขนมารวมกัน
การเล่นละครนอกของอำเภอขุขันธ์ แต่เดิมมีครูจากประเทศกัมพูชามาสอน บทขับร้องและเจรจาเป็นภาษาเขมรสายหนึ่ง
อีกสานหนึ่งเป็นละครนอก ที่มีครูจากกรุงเทพ ฯ มาสอน บทขับร้อง และบทเจรจาเป็นภาษาไทย
แต่ลีลาการร่ายรำขับร้องและเจรจาของทั้งสองสายนี้คล้ายกัน
ฟ้อนกลองตุ้ม ใช้ฟ้อนประกอบประเพณีบุญบั้งไฟในเดือนหก
เดิมจะมีการฟ้อนที่วัด โดยจัดเป็นขบวนให้ขบวนแห่บั้งไฟอยู่ตรงกลาง พวกฟ้อนอยู่รอบนอก
ฟ้อนเป็นวงกลมรอบบั้งไฟ เดิมผู้ฟ้อนเป็นชายล้วน ปัจจุบันมีทั้งชายและหญิง
ฟ้อนเป็นขบวนยาวจัดเป็นสองแถว
การแต่งกาย แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง ผ้าโผกหัวเป็นลายขิด
ผู้หญิงโผกผูกไปทางซ้าย ผู้ชายโพกผูกไปทางขวา ใส่จอมหู (ตุ้มหู) เป็นพวงระย้าค่อย
ๆ เรียวลง ผ้าสไบใช้ห่ม สะพายไขว้กันทิ้งชายลงด้านหน้าทั้งสองข้าง ต้มเปหรือต้มยำแยบ
ใช้เป็นสร้อยคอและเป็นสายสะพายไขว้กันเหมือนสายสังวาล ที่ชายตุ้มเปจะมีตุ้มห้อยเป็นรูปดาว
แว่น(กระจก) ห้อยสายสร้อยอีกเส้นหนึ่ง ใช่ส่องเวลาแต่งหน้า และเพื่อให้เกิดแสงวูบวาบ
สะท้อนให้เทวดาฟ้าดินมองเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ กำไลข้อมือและข้อเท้าทั้งสองข้าง
ผ้าคาดเอวใช้คาดทับสไบ ซวยมือ (เล็บมือ) ใช้ส่วนหัวมือทั้งห้านิ้ว ลักษณะคล้ายฟ้อนเล็บในภาคเหนือ
ผ้านุ่งเป็นโสร่งไหม เสื้อมีกระดุมเป็นเงินก้อนหรือเหรียญสลึง
เครื่องดนตรี ใช้ประกอบจังหวะได้แก่กลองตุ้ม
ไม้ตีกลอง และพังฮาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายฆ้อง แต่ไม่มีตุ้มใช้แทรกกับเสียงกลอง
ฟ้อนงูกินเขียด
นิยมฟ้อนตอนกลางคืนในงานบุญบั้งไฟ หลังจากเลิกฟ้อนตุ้ม ท่าฟ้อนเป็นแบบอิสระของแต่ละคน
ใช้กลองยาวตีประกอบจังหวะ ไม่กำหนดท่ารำ ผู้ฟ้อนจุดใต้ถือด้วยมือซ้ายหรือขวาก็ได้
แล้วพูดให้เข้าจังหวะว่า "งูกินเขียดอยู่ทางนาฮี...ขอกินลูกแหล่งแหนกินได้กินเอา"
ผู้ฟ้อนถือไต้เดินคดเคี้ยวไปมาพร้อมกับรำไปด้วยและร้องโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว
เรือนตร๊ด (รำตรุษ)
เป็นการรำของชาวศรีสะเกษเชื้อสายเขมร นิยมเล่นในเทศกาลออกพรรษา งานกฐิน และหน้าแล้งเดือนห้า
โดยตระเวนเล่นไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อบอกบุญขอบริจาคทรัพย์สมทบกองทุนผ้าป่า
กองดอกไม้ กองกฐิน ประกอบด้วยเครื่องดนตรีคือ กลอง ปี่อ้อ ขลุ่ย ฆ้องใหญ่
กันชัร (ภาษาเขมร) กระพรวนวัว ซออู้ อุปกรณ์ที่ประกอบการเล่นมีคันเบ็ด ผู้เล่นชายร้องเพลงคนหนึ่ง
มีลูกคู่ช่วยกันร้องประกอบ ฝ่ายหญิงคนหนึ่ง นางรำแล้วงแต่เหมาะสม ประมาณ ๑๒
คน ผู้แสดงประกอบคล้ายตัวละคร มีพราหมณ์ขอทาน สวมหน้ากาก ตีกลอง ถือกระพรวนวัว
ถือกะลา ถือคันเบ็ด การร่ายรำตามจังหวะเพลง มีนาฎลีลาอ่อนช้อยเนิบนาบ
การร้องและกระทุ้งกระพรวนจำนวนหลายลูกผูกติดกับไม้ที่เป็นรูปกากบาท มีกลอง
ปี่ หรือขลุ่ย นักร้องชายหญิงร้องสลับกัน ผู้รำจะเดินเป็นแถว จำนวน ๑๕ - ๒๐
คน เดินไปตามบ้านเหมือนกับการเซิ้งแผ่เงิน (เรี่ยไร) ของชาวลาวในโอกาสที่มีงานบุญนิยมเล่นกันที่บ้านสำโรงพลัน
ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง บ้านนาตราว บ้านศาลา ตำบลโคกตาล บ้านจำปานอง ตำบลนาตราว
อำเภอภูสิงห์
การแต่งกายสวมชุดพื้นเมืองเช่น ผ้าโสร่ง สวมเสื้อหลากสี เมื่อไปถึงหน้าบ้านผู้ใดก็
จะเริ่มตีกลอง ผู้ร้องนำก็จะเริ่มร้องขับแล้วผู้ร้องตามก็จะร้องพร้อมกันพร้อมกับจังหวะการรำไปทางซ้ายทีทางขวาที
กระทุ้งด้วยไม้ผูกกระพรวน ให้ได้ยินถึงเจ้าของบ้าน
เมื่อคณะรำตร๊ดไปถึงบ้านใครก็จะหาน้ำให้ดื่ม ให้สุรา และถวายจตุปัจจัยเพื่อร่วมทำบุญ
หลังจากนั้นคณะรำตร๊ดก็จะร้องเพลงอวยพรให้มีความสุขความเจริญ
เรียมอายัย (รำอายัย) เป็นการรำของชาวศรีสะเกษที่มีเชื้อสายเขมร
ที่เป็นการร้องโต้ตอบกันทำนองเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวในเทศกาลต่าง ๆ ที่เป็นงานรื่นเริงสนุกสนาน
โดยผู้รำนั้นจะไหว้ครูพร้อมกัน เสร็จแล้วเดินออกมาโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ มีลูกคู่รองรับ
เมื่อร้องจบในแต่ละวรรคดนตรีก็จะบรรเลงรับ ผู้แสดงทั้งหญิงและชายจะรำเกี้ยวพาราสีกัน
ลูกคู่จะปรบมือสนับสนุน เมื่อดนตรีจบคู่ใหม่ก็ออกมาร้องทุกคู่จนครบ และร้องบทลาในตอนจบ
การรำไม่มีแบบแผนตายตัว เป็นการฟ้อนรำให้เข้ากับจังหวะดนตรี ท่ารำส่วนใหญ่เป็นท่าจีบ
และแบมือเรียกว่า อายัย รำแบบในท่าฟ้อนเกี้ยว ท่ารำของฝ่ายหญิงจะเป็นท่าที่คอยปัด
หรือท่าปกป้องระวังการถูกเนื้อต้องตัว
การแต่งกาย ใช้ผ้าทอพื้นบ้าน นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอก มีผ้าสไบคล้องคอ
ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าไหมคาดที่เอว
เครื่องดนตรี มีกลอง (สก็วล) ๑ คู่ ปี่อ้อ ๑ เลา ซอ ๑ - ๒ คัน ฉิ่ง
ฉาบ กรับ ทำนองที่บรรเลงเร้าใจ สนุกสนาน
นาฎศิลป์และดนตรี นาฎศิลป์และดนตรีของชาวศรีสะเกษ แยกไม่ออก จากนาฎศิลป์และดนตรีของชาวอีสานทั้งมวล
ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร ส่วย เยอ ดนตรีหลักของชาวลาวคือพิณ แคน ให้จังหวะด้วยกลอง
ดนตรีหลักของชาวเขมรคือ ซอ ปี่ ระนาด ตะโพน ฉิ่ง ส่วนชาวส่วยและเยอ ยึดเอาดนตรีของชนเผ่าที่ตนอยู่ใกล้มาใช้
โดยบเฉพาะพิณ แคน
รำศรีพฤทเธศวร
เป็นท่ารำที่กรมศิลปากรคิดขึ้น เพื่อใช้ในงานวันดอกลำดวนบาน โดยผูกเรื่องและท่ารำให้สอดคล้องกับศิลาจารึกที่ปราสาทสระกำแพง
วัดกำแพงที่กล่าวถึงการสถาปนาศรีพฤทเธศวร หรือปราสาทกำแพงใหญ่และการอุทิศสาว
ๆ ให้เป็นผู้รับใช้เทวสถานแห่งนี้ เป็นท่ารำที่สวยงามอ่อนช้อย และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
ศาสนา
พิธีกรรม ความเชื่อ
ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา
เห็นได้จากศาสนสถานและศาสนวัตถุเก่าแก่ เช่น เจดีย์วัดบ้านโนนเกตุ พระธาตุ
บ้านปราสาท พระพุทธรูป เช่น หลวงพ่อโตวัดมหาพุทธาราม พระพุทธรูปนาคปรกวัดสระกำแพงใหญ่
เป็นต้น สันนิษฐานได้ว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๑๒ ต่อมาจึงมีศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย จึงปรากฏศาสนสถานแบบพราหมณ์
- ฮินดู ขึ้นเป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองปราสาทขอม
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
การแต่งกาย การแต่งกายของแต่ละกลุ่มชนมีความแตกต่างกันออกไปดังนี้
ชาวลาว แต่งกายคล้ายคนไทยทั่วไปในสมัยก่อน
คือ ผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง หรือกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าพาดบ่า
ผู้หญิงนุ่งผ้าคาดอกคือ ผ้าเบี่ยงหรือสไบ ไม่สวมรองเท้าเป็นส่วนใหญ่
ชาวเขมร ผู้ชายสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้า
นุ่งโสร่งสีสันต่าง ๆ มีผ้าขาวม้าคาดเอวหรือคล้องไหล่ ผู้หญิงนุ่งผ้าถุงลายตั้ง
มีเชิงตามขวางสองชั้น ส่วนบนกว้าง ส่วนล่างแคบ ระหว่างรอยต่อคาดด้วยสีแดง
เสื้อดำย้อมด้วยมะเกลือ แขนกระบอกรัดรูปตามรอยตะเข็บถักด้ายสีต่าง ๆ ชายเสื้อทั้งสองด้านยาวประมาณ
๖ นิ้ว กระดุมกลมทำด้วยเงิน มีผ้าคล้องไหล่สีดำหรือสีต่าง ๆ ถ้าคล้องคอนิยมหย่อนมาด้านหน้า
หรือนุ่งโจงกระเบนคาดอกด้วยผ้าแถบ
ชาวกูย ผู้หญิงสูงอายุชาวกูยส่วนใหญ่จะนุ่งผ้าที่มีลายเป็นแบบเฉพาะของชาวกูย
ใส่เสื้อคอกระเช้า มักชอบใส่สร้อยคอลูกปัดพลาสติกบ้าง เงินบ้าง ใบหูนิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหูที่เจาะไว้
เช่น ดอกมะลิ บางคนก็ใส่ตุ้มหูเงิน
ผ้านุ่ง สตรีมักนิยมทอหมี่คั่นเป็นแนวทางดิ่ง
ใช้ไหมควบ ยืนพื้นสีน้ำตาลอมดำ มีหัวซิ่นที่ยืนพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นพื้นดำขนาด
๒ - ๓ นิ้ว มีริ้วสีขาวเหลืองแดง ผ้านุ่งแบ่งออกเป็นสี่ชนิดคือ
กระจิกน้อย
คล้ายผ้าหางกระรอกหรือผ้ากระเนียวของชาวไทยเขมร มีลักษณะจุออกเหลือบมัน เป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีการสำคัญต่าง
ๆ ลักษณะการนุ่งพับจับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่งของกลุ่มชาวไทยเขมร
นอกจากนี้ยังใช้ในการคลุมศพคนตายด้วย
โสร่ง
เป็นผ้าตารางเหลี่ยมใหญ่มีหลายสี ในการทอจะนำเส้นไหมมาควบกันสองเส้น เพื่อให้เกิดความมัน
และหนา ลักษณะการทอเหมือนกับผ้าโสร่งของชาวไทยลาวหรือไทยเขมร จะกวี
เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าอัมลูซัมของชาวไทยเขมร จะมีลายทางยาวเป็นร่องเล็ก
ๆ ใช้นุ่งในงานสำคัญ เช่น งานแต่งงานหรือเป็นผ้าไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายเพื่อไหว้ปู่ย่า
ผู้ที่เป็นสะใภ้จะต้องทอหัวซิ่นและตีนซิ่นมอบให้ด้วยโดยไม่ต้องเย็บต่อกับจะกวีหรือผ้าถุง
จิกโฮล
เป็นประเภทผ้ามัดหมี่ลายต่าง ๆ การนุ่งผ้าประเภทนี้จะต้องต่อตีนซิ่น
และหัวซิ่นเช่นเดียวกับจะกวี
ผ้าสไบ จะทอด้วยผ้ายกดอกหรือยกเขา เรียกว่า ตะกอ
ผ้าสไบที่มีลักษณะการทอเช่นนี้เรียกว่า ผ้าแก๊บ จะทอแล้วนำมาตัดเป็นตัวเสื้อ และผ้าสไบ
ผู้ชายจะใช้ผ้าขาวม้าสองผืนเป็นผ้าเบี่ยงในการแต่งกายออกงานพิธี ผู้หญิงใช้ผ้าไหมยกดอกสีดำ
หรือสีขาวเป็นผ้าเบี่ยงเรียกว่า
สไบแวง
(สไบดำ) หรือสไบบัวะ
(สไบขาว) นอกจากนี้ยังมีผ้าสไบโพกหัวเรียกว่า สไบเจียดตรุย
ทอด้วยพื้นสั้นขนาด ๑๒ ล็อบ เก็บลายขิด ๔ - ๕ ลาย จัดระยะลายและเป็นระบบ มีชายครุยทั้งสองข้าง
ห้อยลูกปัดเล็ก ๆ เรียกว่า ปอนจุ๊ ใช้โพกศีรษะทั้งชาย - หญิง เวลาออกงาน เช่น
แห่บั้งไฟ บวชนาค
หัวซิ่นและตีนซิ่น หัวซิ่นเรียกว่าฮีมเปิล
จะทอเป็นลายขิดคล้ายของไทยลาวซึ่งใช้สำหรับต่อเป็นหัวซิ่น เวลานุ่งจะทิ้งชายลงมา
ให้ห้อยเป็นพกไว้ใส่เงิน หรือสิ่งของอย่างอื่นที่จำเป็น ผ้าคาดเอวของผู้ชายจะทอเหมือนหัวซิ่นแต่มีความกว้างมากกว่า
โดยยืนพื้นสีแดงเช่นกัน เก็บลายเป็นขิดเป็นระยะ ๆ วิธีใช้จะทำผ้าซับในก่อน
แล้วนำว่าน หรือเครื่องรางของขลังมาห่อด้วยผ้าผืนนี้ แล้วใช้เขาวง (กวางหรือเก้ง)
หรือเถาวง (เถาวัลย์บางชนิด) มามัดเป็นเปลาะห่างกันเป็นระยะ ๆ ไว้คาดเอวเวลาจะออกไปจับช้างในป่า
ซึ่งผู้ชายกูยถือว่าการมัดเป็นเปลาะโดยเขาวง หรือเถาวงนั้นมีความหมายมาก เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เป็นวงกลมนั้น
แทนความวนเวียน เมื่อเห็นช้าง และช้างเห็นตนแล้วก็จะวนกลับมาหาตนใหม่ ของดีที่ใช้ป้องกันตัวนั้นคนไทยเขมรจะใช้คล้องคอ
แต่ชาวกูยจะใช้คาดเอว ผ้าคาดเอว
จะแขวนไว้ที่สูงห้ามสตรีจับต้อง
การทำผ้าคาดเอวจะทำจากผ้าขิดหัวซิ่นของผู้หญิง เพื่อเป็นสิ่งแทนตัวในยามห่างไกลจากบ้าน
สำหรับตีนซิ่นมีสองชนิดคือ เจิง
หรือยืง
มีความกว้างประมาณ ๒ นิ้ว นิยมสีดำ โดยทอเป็นผ้าฝ้ายริม ขอบล่างสุดใช้ไหมสี
เหลือง แดง การนำเส้นไหมทน และเหนียวกว่า ฝ้าย ส่วนการใช้ผ้าฝ้ายทอเป็นเชิงนั้นก็
เพื่อให้ซิ่นมีน้ำหนัก ส่วนกระบูลเป็นตีนซิ่นที่มีลายเป็นผ้ามัดหมี่
เหมือนกะโบลของชาวไทยเขมร อาจเพราะรับเอาวัฒนธรรมมาจากชาวไทยเขมร ชาวกูยจะเรียกผ้าที่มีลวดลายทั้งหลายว่า
ผ้าโฮล
หรือจิกโฮล
ชาวเยอ การแต่งกายของชาวเยอ มีเอกลักษณ์ของตนเอง
ทั้งชายและหญิงจะใช้เสื้อผ้าไหมเหยียบ แขนยาวย้อมสีดำ ซึ่งเป็นผ้าไหมเส้นเล็กทอลวดลายขิดดอกเล็ก
ๆ แทรกไว้ตลอดผืน เมื่อตัดเย็บแล้วนำมาย้อมดำด้วยผลมะเกลือดิบที่ดำ แล้วนำมาย้อมหลายครั้ง
ตากให้แห้งแล้วคลุกหมักไว้ในโคลน เสื้อผ้าไหมเหยียบย้อมดำนี้เป็นผ้าเนื้อแน่นและอ่อนนุ่ม
มีความคงทนเป็นพิเศษ ใช้สวมใส่ในทุกโอกาส ไม่ว่าทำนาทำไร่ ไปตลาดหรือไปเที่ยวงานรื่นเริง
ถ้าทำนาหรือทำงานอื่น ๆ จะสวใเสื้อไหมเหยียบย้อมดำ คู่กับผ้าซิ่นหมี่ มีผ้าสไบสีดำพาดไหล่
ใช้เช็ดหน้าเช็ดมือได้ ส่วนผู้ชายถ้าทำไร่ทำนาก็จะสวมเสื้อไหม เหยียบย้อมดำแขนยาวในลักษณะเสื้อเชิร์ต
ถ้าเป็นงานบุญ หรือโอกาสพิเศษ จะนุ่งโสร่งไหม มีผ้าขาวม้าไหม หรือฝ้ายสีสดใส
เป็นลวดลายตารางมัดคาดเอว
การกินอยู่ ในที่นี้จะกล่าวถึงขาวลาว
ชาวส่วย ชาวเขมร และชาวเยอ โดยสังเขป
ชาวลาว ในอดีตจะกินข้าวเหนียวทุกมื้อ
ซึ่งมีอยู่สองมื้อคือ
ข้าวงาย
ตอนเช้า
และข้าวแลง
ตอนค่ำ
บางคนอาจมีข้าวสวย
(สาย) ตอนเที่ยง อาหารหลักคือ ปลา ที่ทำในรูปแบบต่าง ๆ ผัก หมู เห็ด เป็ดไก่
แมลง การปรุงอาจกินดิบ ๆ ถ้าทำให้สุกจะใช้การต้ม แกง นึ่ง จี่ เผา ปิ้ง ย่าง
คั่ว อ่อม ไม่ชอบผัด หรือทอด เวลากินจะนั่งยอง ๆ ล้อมวง หรือชายนั่งขัดสมาธิ
หญิงนั่งพับเพียบแต่ไม้เท้าแขน
ชาวเขมร กินข้าวเจ้าเป็นหลัก ไม่กินอาหารดิบ
หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ประกอบอาหารคล้ายทางภาคกลางของไทย อาหารหาจากป่าและท้องนา
ท้องน้ำ นิยมกินเนื้อหมูมากกว่า เนื้อวัว เนื้อควาย
ชาวส่วย คล้ายกับเขมร แแต่มีบางแห่งที่กินแต่ข้าวเหนียว
เดิมกินอาหารที่ทำให้สุกแล้ว แต่ปัจจุบันหันมากินลาบ ก้อย เหมือนชาวลาว
ชาวเยอ คล้ายกับส่วย ในอดีตไม่นิยมกินเนื้อวัว
เนื้อควาย
ประเพณีในท้องถิ่น เป็นการผสมผสานกับของ
ชาวลาว เขมร ส่วย และเยอ อิทธิพลทางวัฒนธรรม และทางสังคมของชาวลาว ได้เข้ามาผสมผสานในกลุ่มชนชาวเขมร
ชาวกูย (ส่วย) ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กัน อย่างไรก็ตามชนทั้งสี่เผ่าก็มีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางพระพุทธศาสนา
ผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องผีสาง นางไม้ เทวดาและธรรมชาติ
วัฒนธรรมที่ปรากฎทั้งในด้านจิตใจ วัตถุ และพิธีกรรม ยังเป็นไปตามประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไปคือ
ฮีตสิบสอง
ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาด้านการทำมาหากิน ได้แก่
การทำนาซึ่งจะต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาอยู่หลายขั้นตอนด้วยกันคือ
การทำเครื่องมือเครื่องใช้ ในการเตรียมดินเพื่อทำนา ได้แก่ ไถ แอก คราด มีด
จอบ เสียม ขวาน คันโซ่ หรือกะโซ่
เครื่องมือเครื่องใช้ในการเก็บเกี่ยวนวดข้าว ได้แก่ เคียว หรือเกี่ยว คันหลาว
ไม้หาบกล้า ตอก ไม้หนีบ ไม้ตีข้าว หรือไม้ฟาดข้าว ม้าหาบข้าว หรือขาม้า ม้ารองตีข้าว
หรือฟาดข้าว ไม้นวดข้าวสบุ ฟอยหนาม ฟัด (ฟัดวีข้าว) คราดทา หรือคราดมือ ตะกร้า
เครื่องมือเครื่องใช้ในการขนส่งข้าว และเก็บข้าว ประกอบด้วย กระสอบข้าว เกวียน
ล้อ สาเแหรก ถัง เส้าข้าว
เครื่องมือเครื่องใช้ในการแปรรูปข้าว ได้แก่ ครกมือ ครกบอง เครื่องสีข้าวโบราณ
กระด้ง ตะแกรง เครื่องโม่แป้ง
ภูมิปัญญาด้านการประมงน้ำจืด ตัวเมืองศรีสะเกษล้อมรอบด้วยลำห้วย
และหนองน้ำ ซึ่งมีปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ แหล่งหาปลาในสมัยก่อนอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองมากนัก
เช้น หนองเม็ก หนองแข้น้อย หนองแข้ใหญ่ หนองสุทง หนองเป่ง หนองลิ้นจี่ หนองยวน
ห้วยสำราญ ฮ่องเอี่ยน กุดหวาย
ห้วยสำราญ ในอดีตเป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมที่สุด เพราะมีฝั่งที่ร่มครึ้ม มีขอนไม้หนาแน่น
ในลำน้ำเหมาะแก่การอยู่อาศัยของฝูงปลา ในหน้าน้ำน้ำจะไหลเชี่ยวกราก ปลาจากลำน้ำมูลมักจะว่ายทวนน้ำขึ้นมามากมายหลายชนิด
ฝั่งห้วยร่มครึ้มเป็นป่าดงดิบ มีปลาน้ำจืด หอย กุ้ง และสัตว์น้ำของแม่น้ำมูล
และแม่น้ำโขงทุกชนิด สามารถทำการประมงได้ตลอดปี
อาชีพของชาวบ้านและการประมงน้ำจืดในสมัยก่อน ได้แก่ การดักลอบ หรือการลงต้อน
การอยู่จิบ การลงโต่ง การใส่เบ็ด หรือวางเบ็ด การใส่มอง หรือการวางข่าย การแก่กวด
หรอืการลากอวน การใส่ตุ้ม การสะปลา หรือวิดปลา การทอดแห การยกฟด การเฮาเยาะ
(กร่ำ) การใส่จั่น และปั้งลัน นอกจากนั้นยังมีการจับสัตว์น้ำ
โดยวิธีอื่น เช่น การใช้สวิง คางซ้อน หรือแพ กะแยง หรืออวนผืนสั้น ๆ
ตาถี่ การช้อนชะนาง การไต้ปลาโดยการส่องไฟจากไต้หรือตะเกียง แล้วฟันด้วยมีดหรือแทงด้วยฉมวก
แก่โคน (ลากไม้ให้ปลาตื่น) แนบปลา (หลอกปลาให้กระโดดขึ้นบนแผ่นกาบกล้วย
หรือแผ่นสังกะสี ในตอนกลางคืน) การล่อปลาลงไห หรือโอ่ง หรือลงหลุม การสุ่มปลา
การไล่จำ (คล้ายอวนแต่มีโครงไม้ข้างในวางไว้ แล้วใช้ไม้แทงตามน้ำให้ปลาเข้าจำ
แล้วยกขึ้น) การจกโกน (โพรง) การรื้อหมอย พ่อค้า
(รากฝอยของต้นไม้ริมฝั่ง) การรื้อรากผักตบ หรือพืชน้ำที่ปลาอาศัยอยู่
การขุดงอง เพื่อจับปลาหลด เป็นต้น
|