งานช่างท้องถิ่น
ชาวชนบทสงขลาส่วนใหญ่ใช้เวลาที่ว่างจากงานอาชีพมาผลิตงานฝีมือพื้นบ้านไว้ใช้ในครัวเรือน
ด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งมีแตกต่างกันไปในแต่ละถิ่น งานหัตถกรรมบางแห่งยังมีคุณค่าทางศิลปะ
มีเอกลักษณ์และความงาม จนเป็นที่ต้องการของชุมชนอื่นอื่น ๆ งานช่างท้องถิ่นที่น่าสนใจได้แก่
หัตถกรรมกระจูดสะกอม
เสื่อกระจูด ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่าสาดจูด ทำจากพืชพื้นบ้านมาสานเป็นเสื่อ เดิมเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำในครัวเรือน
ใช้เป็นเสื่อรองนอน หรือทำเป็นกระสอบใส่ข้าวสารหรือของแห้งต่าง ๆ ต่อมาจึงได้ประดิษฐ์เป็นของชำร่วย
ของใช้ประดับตามบ้านเรือน
กระจูดเป็นพืชน้ำจำพวกกกชนิดหนึ่ง ขึ้นตามบริเวณที่ลุ่มดินโคลนที่ชื้นแฉะที่เรียกว่า
พรุ เป็นพืชลำต้นกลมเป็นปล้อง ลำต้นยาวคล้ายแท่งดินสอ สูงประมาณ ๑ - ๓ เมตร
ไม่มีใบ มีดอกออกเป็นกรุจุกที่ปลายลำต้น
บ้านสะกอม เป็นหมู่บ้านในตำบลสะกอม อำเภอเทพา และอำเภอจะนะ อยู่ใกล้ฝั่งทะเล
และอยู่ใกล้ป่าพรุ ชาวบ้านท่าเรือกระจูด ส่วนใหญ่เป็นไทยอิสลาม ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ฝั่งทะเล
โดยปลูกเป็นเรือนปั้นหญาแบบเก่า ชาวบ้านใช้เวลาว่างในการสานเสื่อกระจูดและทำกรงนก
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สานเสื่อกระจูด คือต้นกระจูดขนาดต่าง ๆ เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมวัสดุก่อนสาน
เช่น ที่สำหรับคัดความยาวของกระจูดแท่งไม้รองทิ่ม รือทุบกระจูด สากปลายตัด ลูกกลิ้งทรงกระบอก
ภาชนะที่ใช้ในการย้อมกระจูด กรรไกรหรือมีดตัดหนวดเสื่อ จักรเย็บผ้าสำหรับใช้เย็บรอยต่อทำขอบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่
เป็นต้น
การเตรียมกระจูด เมื่อได้กระจูดมาแล้ว นำกระจูดที่ได้ขนาดมาตัดความสั้นยาวเรียกว่า
โซะกระจูด ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก นำกระจูดไปคลุกน้ำโคลนดินสอ ในรางน้ำที่เตรียมไว้แล้วนำไปตากให้แห้ง
๒ - ๓ วัน แล้วจึงเก็บเข้าที่ทิ้งไว้ ๔ - ๕ วัน เพื่อให้กระจูดคลายตัว จากนั้นจึงตากน้ำค้างหนึ่งคืนแล้วนำไปทิ่มหรือทุบทีละมัด
เพื่อให้กระจูดแบบตามต้องการ ถ้าต้องการย้อมสีก็นำกระจูดไปแช่น้ำ ต้มน้ำให้เดือดเอาสีใส่
คนให้สีละลาย แล้วนำกระจูดไปแช่ในน้ำสีประมาณ ๒ - ๓ นาที จากนั้นนำไปผึ่งแดด
๒ - ๓ ชั่วโมง แล้วจึงนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม สีที่ใช้ย้อมมีสีแดง สีม่วง สีเขียว
และสีน้ำเงิน เป็นต้น
การสานกระจูดให้เป็นลายต่าง ๆ ส่วนมากมักเป็นลายสอง ส่วนลายอื่น ๆ ที่นิยมได้แก่
ลายสาม ลายสี่ ลายดอกจันทน์ ลายลูกแก้ว เป็นต้น หรืออาจสานเป็นลายประดิษฐ์อื่น
ๆ อีก เมื่อสานเสร็จก็จะตกแต่งเก็บริม พับริมตัดหนวดหรือใช้ผ้าเย็บขอบ เสร็จแล้วเก็บไว้ในที่ร่มโดยการม้วนหรือซ้อนกันไว้
เดิมมักจะสานเป็นเสื่อ (สาด) กระกอบ ต่อมาได้พัฒนารูปแบบเป็นของใช้ต่าง ๆ
เช่น กระเป๋า หมวก แฟ้มใส่เอกสาร ฯลฯ
หัตถกรรมผ็าทอเกาะยอ
การทอผ้าพื้นเมืองของชาวเกาะยอ ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในทะเลสาบสงขลา นับว่าเป็นแหล่งหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้าน
ที่มีเอกลักษณ์และมีความปราณีตและมีสีสรรลวดลายต่าง ๆ สวยงาม ชาวเกาะยอรู้จักการทอผ้ามาแล้วหลายร้อยปี
นับตั้งแต่ชาวจีนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะ
การทอผ้าเกาะยอในระยะแรกเริ่ม ใช้เครื่องทอที่เรียกว่า กี่ทอ เป็นกี่พื้นบ้านและใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ตรนแทนกระสวย
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้มีครูทอผ้าชาวจีนจากเซี่ยงไฮ้ นำวิธีทอผ้ากี่กระตุกมาใช้เป็นครั้งแรกที่เกาะยอ
และได้ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
การผลิตผ้าเกาะยอ ประกอบด้วยวัตถุดิบ เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการผลิตคือ วัตถุดิบแต่เดิมใช้ฝ้ายที่ปลูกกันเอง
ต่อมาจึงนิยมชื้อวัสดุสำเร็จรูปพวกเส้นใยสังเคราะห์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า เส้นด้ายโทเร
การเตรียมด้าย ประกอบด้วยส่วยต่าง ๆ คือดอกหวิง (ดอกสวิง) ไนหลอดดัน (ลูกดัน)
หลักต้นฟืม ตะขอเกี่ยวด้าย (เบ็ดเข้าฟีม) เครื่องรองตอนเข้าฟืม ลูกหัด (ระหัด)
เพื่อส่งด้ายเวลาทอ ไม้นัด มีไว้เพื่อใช้กรอช้า ๆ ไม้ขัดด้ายหรือไม้ค้ำและเครื่องม้วนด้าย
เครื่องทอผ้าหรือกี่ ประกอบด้วย ฟืม (พันหวี) เขาหูก (ตะกอ) กระสวย รางกระสวย
ไม้แก่นม้วนผ้า หลักม้วนผ้า คานเหยียบ (ตีนเหยียบ) สายกระตุก (เชือกดึง)
ด้ายยืน หลอดด้ายพุ่ง ระหัดถักด้าย ผังและเครื่องมืออื่น ๆ ที่แยกจากเครื่องทอผ้า
มีไนปั่นด้ายใช้ปั่นด้ายเข้ากระสวย และกงล้อปั่นด้ายใช้ปั่นด้ายเข้าระหัดถักด้าย
ขั้นตอนในการทอผ้า มีการเตรียมเส้นยืน เป็นการเตรียมเส้นด้ายริ้วที่เป็นเข็ด
(ไจ) ให้ขึงตึงไปตามความยาวของผ้า ด้วยการกรอด้ายเข้าหลอด แล้วนำไปใส่เครื่องเดินด้าย
เพื่อทำด้ายด้นหรือด้ายวิ่ง นำด้ายไปใส่ในฟืม เรียกว่าสอดพันหรือหวีด้าย แล้วนำไปขึงบนที่สำหรับเก็บตะกอหรือร้อนตะกอต่อไป
สำหรับการเตรียมเส้นพุ่ง เป็นการเตรียมเส้นด้ายที่ใช้ขัดเส้นยืนเป็นมุมฉากไปตามความกว้างของผืนผ้า
เริ่มจากการที่ช่างกรอด้ายที่จะใช้เป็นเส้นด้ายพุ่งเข้ากระสวย แล้วนำกระสวยแต่ละสีไปใส่ในรางกระสวยหรือกรอบกระสวย
การทอในกี่กระตุก ขั้นแรกสับตะขอให้ด้ายยืนแยกจากกันโดยมีที่เหยียบอยู่ข้างล่าง
(ใช้เท้าเหยียบ) เป็นการเปิดช่วงสำหรับใช้ด้ายพุ่งผ่านเข้าไปได้ ขั้นที่สอง
ใช้มือพุ่งกระสวยด้ายพุ่งให้สอดไปตามหว่างเส้นด้าย โดยมีช่างสอดกระสวยซึ่งทำด้วยไม้
ขั้นที่สาม ปลายเท้าที่เหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้ด้ายพุ่งรวมเป็นหมู่เดียวกันตามเดิม
กระทบฟพันหวีโดยแรง ฟันหวีจะพาด้ายพุ่งให้เข้ามาชิดกันเป็นเส้นตรง ขั้นที่สี่
เหยียบที่บังคับตะหออีกครั้ง ซึ่งตรงกันข้ามกับขั้นที่หนึ่ง กระทบโดยแรงอีกครั้งจึงพุ่งด้านเส้นที่สองจะทำให้ได้เนื้อผ้าแน่นขึ้น
การกระแทกฟันหวีอย่างแรวหรือเบา มีผลต่อความยาวของผ้าที่ทอได้ ทำให้ผ้ามีเนื้อแน่นหนาหรือยาวได้
เครื่องปั้นดินเผาสทิงหมอ
เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวบ้านสทิงหมอ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร เป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีความสวยงาม
เนื้อดินดี ทนทาน มีรูปทรงและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ชื่อสทิงหมอมาจากคนจีนที่ได้นำความรู้เรื่องการทำหม้อมาเผยแพร่ที่หมู่บ้านนี้
วัสดุในการผลิต คือดินเหนียวและทราบละเอียด ดินเหนียวได้มาจากสองแหล่งคือ
แหล่งแรกที่ปากคลองตัน ตำบลสทิงหม้อ แหล่งที่สอง ที่ริมทะเลสาบในตำบลปากรอ
ทรายละเอียดได้จากริมฝั่งทะเลอ่าวไทย เช่นบริเวณหาดทรายแก้ว เป็นต้น
อุปกรณ์ในการผลิต แยกออกเป็นสองประเภทคือ อุปกรณ์การเตรียมดิน ประกอบด้วยจอบ
เสียม ถังน้ำ เครื่องคลุมดิน เช่นผ้ายาง ลานหรือหลุมผสมดิน กระดานรองนวดและกระดานรองดิน
อุปกรณ์ขึ้นรูปและตกแต่งประกอบด้วยแป้นหมุน (มอน) เชือกตัด อ่างน้ำ กระดานรอง
ม้านั่งเตี้ย ไม้ตีหรือไม้ตามและลูกตุ้ง (ลูกถือ)
กรรมวิธีในการผลิต เมื่อได้ดินเหนียวและทรายละเอียดมาแล้วจะทำการย่อยดินหรือผสมดินแล้วใช้ผ้ายางคลุมดินไว้ไม่น้อยกว่า
๒๔ ชั่วโมง แล้วเหยียบดินให้เข้ากับทรายตามอัตราส่วน แยกดินเป็นก้อน นำไปวางบนกระดานรอง
นวดผสมกับทรายใช้มือนวดจนเข้ากันได้สนิท คลึงเป็นก้อนรี ยาวประมาณ ๒๕๒.๓๐
เซนติเมตร หนึ่งก้อนเรียกว่า หนึ่งเจิง เพื่อใช้นำไปขึ้นรูปต่อไป
การขึ้นรูปหรือการปั้น ชาวบ้านเรียกว่า ปรง เป็นขั้นตอนสำคัญ จะใช้เป็นหมุนที่เรียกว่า มอน
ชนิดใช้มือหมุนเป็นเครื่องมือหลัก โดยนำก้อนดินที่เตรี่ยมไว้ แล้วก้อนหนึ่งมาวางบนกลางแป้น
ช่างปั้นสองคน คนหนึ่งปั้นดินขึ้นรูป อีกคนหนึ่งคอยหมุนแป้น ช่างปั้นใช้มือทั้งสองรีดดินเป็นรูปกะลาคว่ำ
แล้วขึ้นรูปเป็นภาชนะต่าง ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ทั้งสองข้างเป็นหลัก
เมื่อได้รูปภาชนะที่ต้องการแล้วจะใช้เชือกเส้นเล็กตัดตรงกันให้ขาดจากแป้น
แล้วนำไปวางไว้บนกระดานรอง เตรียมผึ่งแดดต่อไป โดยนำไปผึ่งแดดอ่อน ๆ หนึ่งวัน
พอแห้งหมาดแล้วเอาภาชนะไปทำก้นและลวดลาย ภาชนะเช่น หม้อ และหวด เมื่อเสร็จจากแป้นหมุน
จะมีลักษณะเป็นภาชนะก้นเปิด ต้องนำมาแต่งตีให้สนิทปิดก้น แต่งรูปทรงและตีลาย
การตีลายจะใช้ไม้ตีที่มีลายแกะสลักไว้แล้ว แล้วนำไปผึ่งแดดหรือผึ่งลม เพื่อเตรียมเผาต่อไป
การเผานิยมเผาดิบ คือ การเผาโดยไม่เคลือบ เตาเผามีอยู่สองประเภทคือ เตายืนและเตานอน
เตายืนมีลักษณะเป็นกระโจมคล้ายจอมปลวก
มีช่องสุมไฟเพียงช่องเดียวอยู่ติดกับพื้นดิน มีตะแกงสำหรับรองรับเครื่องปั้นตรงจุดกึ่งกลางเตา
มีช่องสำหรับนำเครื่องปั้นเข้าออกอยู่ใกล้ปากปล่องไฟ ขนาดเตากว้าง ๑.๓๐ -
๑.๕๐ เมตร ใช้เผาเครื่องปั้นขนาดเล็กได้ประมาณ ๕๐๐ - ๗๐๐ ชิ้น ส่วนเตานอน
มีรูปร่างคล้ายเต่า มีช่องสุมไฟหน้าเตาหนึ่งช่อง ด้านข้างด้านละสี่ช่อง ปล่องไฟหนึ่งปล่อง
ช่องนำเครื่องปั้นเข้าเผาขนาดกว้าง ๐.๙๐ - ๑.๕๐ เมตร สูง ๐.๙๐ - ๑.๗๕ เมตร
ยาวประมาณ ๘ - ๙ เมตร ใช้เผาเครื่องปั้นทุกขนาดได้ประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๕๐๐
ชิ้น
ในการเผาเมื่อนำเครื่องปั้นเข้าเตาเผาแล้วจะก่อไฟตรงปากเตา และช่องเตาตามลำดับจนสุกได้ที่ใช้เวลา
๔ - ๕ ชั่วโมง ส่วนเตานอนจะต้องเปิดปากช่องไฟทิ้งไว้ ๑๐ - ๑๒ ชั่วโมง
แล้วเปิดทิ้งไว้อีกประมาณ ๒๔ ชั่วโมงจึงลำเลียงออกมารวมเวลาเผาทั้งสิ้น ๓๖
ชั่วโมง
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของเครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อที่ทำต่อเนื่องมาเแต่โบราณมี
หม้อใส่น้ำ (เผล้ง) หวด อ่าง เตาหุงข้าว ครกตำน้ำพริก และกระทะ ส่วนที่ผลิตขึ้นใหม่มีกระถาง
แจกัน กระปุกออมสิน ภาชนะสำหรับเด็กเล่น ลูกตุ้มถ่วงอวน ที่เขี่ยบุหรี่ และรางขนมครก
กระเบื้องดินเผาเมืองสงขลา
เป็นหัตถกรรมพิ้นเมืองสงขลามานาน เป็นกระเบื้องที่มีชื่อเสียงนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง
ใช้มุงหลังคาบ้านเรือน และศาสนสถานโดยทั่วไปทั้งในจังหวัดสงขลาและในจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนกรุงเทพ
ฯ และมาเลเซีย พบว่าการนำกระเบื้องปูพื้นสงขลาปูบริเวณวัดพระธาตุ นครศรีธรรมราช
ปูรอบพระอุโบสถวัดสุทัศน์ ฯ กรุงเทพ ฯ วัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี พระราชวังจันทรเกษม
พระนครศรีอยุธยา ใช้มุงหลังคาวิหารหลวง ในการซ่อมแซมวัดบรมธาตุไชยา นอกจากนี้วังเจ้านาย
และบ้านข้าราชการในกรุงเทพ ฯ หลายแห่งก็ได้ใช้กระเบื้องดินเผาสงขลาไปปูพิ้นบริเวณรอบ
ๆ อีกด้วย
แหล่งผลิตการะเบื้องดินเผาเมืองสงขลา แต่เดิมมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเกาะยอ
และทางตอนใต้ของทะเลสาบสงขลาได้แก่ บริเวณบ้านท่านางหอม ตำบลน้ำน้อย บ้านบางโหนด
ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ บริเวณวัดโคกเบี้ยว ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง ฯ เคยมีเตาเผากระเบื้องอยู่ในบริเวณดังกล่าว
ไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เตา ปัจจุบันกระเบื้องดินเผาเมืองสงขลาลดความสำคัญลงเรื่อย
ๆ คงมีเพียงใช้ในการซ่อมแซมโบราณสถานหรืออาคารสำคัญ ๆ ทึ่ต้องอนุรักษ์ไว้
ปัจจุบันจึงมีโรงงานเผากระเบื้องแบบดั้งเดิมอยู่เพียงแห่งเดียวคือ ที่บ้านท่านางหอม
|