|
มรดกทางธรรมชาติ
จังหวัดสงขลา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกติดกับอ่าวไทย
พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเขตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่ตอนกลางและตอนใต้อยู่ใกล้กับแนวเทือกเขาสันกลางของภาคใต้
และแนวเทือกเขาพรมแดนไทย - มาเลเซีย ทำให้สงขลามีสภาพธรรมชาติที่หลากหลาย
การที่ตัวจังหวัดตั้งอยู่ระหว่างทะเลนอกที่เป็นอ่าวไทย และทะเลภายในที่เรียกว่า
ทะเลสาบ ทำให้สงขลามีลักษณะพิเศษคือ มี่ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำที่อยู่ในสองทะเลดังกล่าว
และยังมีป่าพรุ ป่าโกงกาง และพืชพันธุ์ไม้ที่ขึ้นตามแนวสันทรายริมฝั่งตะวันออก
ป่าไม้
ป่าสงวนแห่งชาติ
มีอยู่ ๔๑ ป่าด้วยกันมีพื้นที่รวมประมาณ ๑,๒๕๗,๐๐๐ ไร่ ที่สำคัญมีดังนี้
- ป่าควนทับช้าง ๕๖,๘๐๐ ไร่
- ป่าเขาวังพา ๑๓๗,๕๐๐ ไร่
- ป่าเขารังเกียจ - ป่าเขาสัก ป่าเขาสูง - ป่าเขาควนแก้ว
๓๙,๒๐๐ ไร่
- ป่าควนหินแคว ป่าควนหินพัง ป่าควนหัวแหวน ป่าควนจอมแห
๑๑,๙๐๐ ไร่
- ป่าเขาแดน ป่าควนเจดีย์ ป่าเขาพระยาไหม้ ป่าควนกำแพง
๑๕๓,๖๐๐๐ ไร่
- ป่าเทือกเขาสันกาคีรี ๕๒,๖๐๐ ไร่
- ป่าควนพน ๓๕,๖๐๐ ไร่
- ป่าทุ่งยางนกออก ๙๕,๐๐๐ไร่
- ป่าเขาโพธิ์ ป่าควนแดน ป่าเขารังเกียจ ๓๖,๓๐๐ ไร่
- ป่าควนโต๊ะคุด ป่าควนทวด ป่าควนสามงอบ ๓๐,๖๐๐ไร่
- ป่าเขาแดน ป่าเขาเสม็ด ป่าควนเสม็ดชุม ป่าควนเหรง
๒๐,๖๐๐ ไร่
- ป่าเขาเหลียง ป่าเขาจันดี ป่าเขาบ่อท่อ ๒๑,๓๐๐
ไร่
- ป่าทุ่งแพร่ ๖๐,๐๐๐ไร่
- ป่าแม่พรุ ป่าเทือกเขาไฟไหม้ ป่าคลองกั่ว ๖๑,๘๐๐
ไร่
- ป่าเทือกเขาแก้ว ๔๖,๘๐๐ ไร่
- ป่าทุ่งเคี่ยม ๕๐,๖๐๐ ไร่
- ป่าควนหินเภา ๒๒,๓๐๐ ไร่
- ป่าคลองส่งบัง ๒๒,๒๐๐ ไร่
- ป่าควนหินผุด ป่ายอดเขาแก้ว ๕๒,๕๐๐ ไร่
- ป่าเทือกเขาแก้ว ป่าคลองเขาล้อม ป่าคลองปอม ๑๑,๖๐๐
ไร่
- ป่าเขาโต๊ะเทพ ป่าควนหินลับ ๑๐๕,๐๐๐ไร่
- ป่าควนนายเส้น ป่าควนเหม็ดชุม ป่าควนเขานา ป่าควนลูกหมี ป่าควนปาหยัง
๓๒,๕๐๐ ไร่
- ป่าควนเขาวัง ป่าหนองเตอ ป่าเขาแก้ว ๓๐,๙๐๐ ไร่
อุทยานแห่งชาติ
มีอยู่สามแห่งครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีพื้นที่รวมประมาณ ๓๓๐,๐๐๐
ไร่
- อุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้าง ได้รับการประกาศเป็นอุทยาน เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๔ มีพื้นที่ ๑๓๒,๕๐๐ ไร่
- อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี เตรียมการจัดตั้ง มีพื้นที่
๑๗๘,๐๐๐ ไร่
- อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เตรียมการจัดตั้ง มีพื้นที่
๑๙,๑๐๐ ไร่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
มีอยู่สองแห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๑๗๑,๑๐๐ ไร่
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ๗๙๒,๐๐๐
ไร่
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ๑๑๔,๐๐๐
ไร่
เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
มีอยู่หกแห่ง เป็นพื้นที่ประมาณ ๔๔๗,๐๐๐ ไร่
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ๓๑,๓๐๐ ไร่ (เฉพาะที่อยู่ในเขตจังหวัดสงขลา)
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ๒๒๘,๐๐๐ ไร่
(รวมที่อยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง)
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากราด ๒,๖๐๐ ไร่ (ประกาศ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๕)
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง ๑๔๗,๐๐๐ ไร่
(ประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘)
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพรุค้างคาว ๕๐๐ ไร่ (ประกาศ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๙)
- เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง ๖๘,๓๐๐ ไร่ (ประกาศ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๓๐)
วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ
มีอยู่สามแห่ง มีพื้นที่ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่
- วนอุทยานน้ำตกบริพัตร ๓,๕๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอรัตภูมิ
- สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคใต้ ๔๐๐ ไร่
อยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่
- สวนรุกขชาติถ้ำเขานุ้ย ๑๐๐ ไร่ อยู่ในเขตอำเภอรัตภูมิ
แหล่งน้ำ
ทะเลสาบสงขลา
เป็นระบบทะเลสาบส่วนนอกที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ ๑๙๐ ตารางกิโลเมตร
เกิดจากการปิดกั้น ของสันทรายใหญ่เรียกว่า คาบสมุทรสทิงพระ การงอกของแผ่นดินเกิดเป็นแนวสันดอนทรายบริเวณทะเลสาบสงขลา
จากจังหวัดนครศรีธรรมราช แผ่ขยายออกมาเป็นรูปเว้าโค้งลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
เป็นจำนวนหลายร้อยแนวเชื่อมหมู่เกาะให้เป็นแผ่นดินต่อเนื่องกันมาทางอำเภอระโนด
จนถึงหัวเขาแดง ปิดกั้นทะเลกลายเป็นทะเลสาบสงขลา ระดับความสูงของสันทรายประมาณ
๕ - ๖ เมตร
น้ำในทะเลสาบสงขลา จะเค็มและเค็มจัดในฤดูแล้ง และเป็นน้ำกร่อยในฤดูฝน เนื่องจากได้รับน้ำจืดจากคลองอู่ตะเภา
มีความลึกสูงสุดประมาณ ๓ เมตร มีเกาะยอตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทางนิเวศของบริเวณนี้ทำให้มีสัตว์น้ำชุกชุม เป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน
รอบทะเลสาบมีดินเหนียวชั้นดี นำมาใช้เป็นกระเบื้องดินเผา ที่รู้จักกันในชื่อกระเบื้องเกาะยอ
และกระเบื้องท่านางหอม
ทะเลสาบ
เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากทะเลสาบสงขลา เข้ามามีส่วนแคบที่สุดอยู่ที่บริเวณบ้านปากรอ
เป็นส่วนที่บรรจบของน้ำจืด และน้ำเค็ม น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำกร่อย ระดับความเค็มเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล
มีความลึกเฉลี่ย ๑.๒ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๐ ตารางกิโลเมตร มีเกาะใหญ่น้อยอยู่ในทะเลสาบ
เช่น กลุ่มเกาะโคบ เกาะหมาก และเกาะนก เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ มีป่าชายเลนอยู่บ้างเป็นบางส่วน
ส่วนกลุ่มเกาะสี่เกาะห้าเป็นกลุ่มเกาะหินปูนที่มีถ้ำหินปูนและเป็นที่อยู่อาศัยของนกนางแอ่น
และค้างคาว เกาะทั้งสองนี้อยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง
ทะเลหลวง
เป็นระบบทะเลสาบส่วนที่ ๓ ที่แยกกับทะเลสาบโดยแหลมจองถนน จังหวัดพัทลุง กับบ้านแหลมควายราบในเกาะใหญ่
อำเภอกระแสสินธุ์ ทะเลหลวงช่วงนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอระโนดและอำเภอกระแสสินธุ์
เขตจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลาแบ่งตรงกึ่งกลางทะเลหลวง ในอดีตระบบทะเลสาบส่วนนี้เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่
ปัจจุบันน้ำเค็มได้ขยายตัวขึ้นมา ทำให้น้ำในทะเลหลวงมีความเค็มเพิ่มมากขึ้นในฤดูแล้ง
มีความลึกเฉลี่ย ๑.๘ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๔๙๐ ตารางกิโลเมตร
ทะเลน้อยและพรุควนเคร็ง
เป็นระบบของทะเลสาบส่วนสุดท้าย ทะเลน้อยเป็นบึงน้ำจืด ลึกประมาณ ๑ เมตร มีคลองเชื่อมโยงกับทะเลหลวง
มีพื้นที่โดยรวมประมาณ ๒๖ ตารางกิโลเมตร พรุควนเคร็งเป็นพรุน้ำจืดแบบกึ่งปิด
มีคลองเชื่อมต่อออกอ่าวไทย และทะเลน้อย มีพื้นที่โดยรวมประมาณ ๑๒๖ ตารางกิโลเมตร
มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายในระบบนิเวศ เป็นแหล่งผลิตอาหารชั้นปฐมภูมิ
เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทะเลน้อย และระบบทะเลสาบสงขลาโดยรวม ส่วนที่เป็นป่าพรุทางตอนใต้หรือพรุ
ที่อยู่ติดกับทะเลน้อย มากที่สุดอยู่ในเขตอำเภอระโนด ในอดีตเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของช้างแคระ
ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ส่วนที่เป็นผืนน้ำของทะเลน้อยอยู่ในเขตจังหวัดพัทลุง
ลำน้ำ
ในเขตจังหวัดสงขลาไม่มีลำน้ำขนาดที่จะเรียกว่าแม่น้ำ มีแต่คลองขนาดใหญ่อยู่หลายสาย
คลองที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญได้แก่
- คลองพรุพ้อ
เป็นคลองที่แบ่งเขตระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดพัทลุง ไหลผ่านเขตอำเภอป่าบอน
และอำเภอปากพยูน จังหวัดพัทลุง แล้วไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ที่บ้านท่าหยี อำเภอปากพยูน
มีความยาวประมาณ ๓๖ กิโลเมตร
- คลองรัตภูมิ
ต้นน้ำเกิดจากเขาหลวงและเขาใครในเทือกเขานครศรีธรรมราช แล้วไหลขึ้นไปทางเหนือ
ผ่านเขตอำเภอรัตภูมิแล้วไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ที่บ้านปากบาง มีความยาวประมาณ
๖๓ กิโลเมตร มีคลองสาขาที่สำคัญได้แก่ คลองลำขัน คลองลำม้า คลองกรวยใหญ่ คลองยางแดง
คลองรังแร้ง คลองหินดำ คลองเขาร้อน และคลองแพรกสุวรรณ
- คลองอู่ตะเภา
ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ในเขตตำบลสำนักแต้ว อำเภอสะเดา ไหลผ่านเขตอำเภอสะเดา
อำเภอหาดใหญ่ แล้วไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ที่บ้านคลองบางกล่ำ มีความยาวประมาณ
๖๘ กิโลเมตร มีคลองสาขาที่สำคัญได้แก่ คลองหล้าปัง คลองชัน คลองสะเดา คลองลำ
คลองปริก คลองพังลา คลองหีบ คลองรำนอยี คลองรำใหญ่ คลองประดู่ คลองตา คลองปอม
คลองลำไทร คลองหลา คลองยาว คลองหวะ คลองต่ำ คลองโตนงาช้าง คลองหอยโข่ง และคลองวาด
- คลองนาทวี
มีต้นน้ำเกิดจากเขาน้ำค้างในเทือกเขาสันกาลาคีรี แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ผ่านอำเภอนาทวี อำเภอจะนะ แล้วไหลไปบรรจบคลองน้ำเค็ม แล้วไปบรรจบคลองสะกอม
ไหลลงสู่อ่าวไทย ที่บ้านปากบาง มีความยาวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร มีคลองสาขาที่สำคัญได้แก่
คลองทราย คลองใหญ่ คลองปอง คลองแดงจีน คลองปลักพ้อ และคลองประจา
- คลองเทพา
ต้นน้ำเกิดจากเขาตีโตกในเทือกเขาสันกาลาคีรี แล้วไหลไปทางทิศเหนือ ผ่านเขตอำเภอสะบ้าย้อย
และอำเภอเทพา แล้วไหลลงสสู่อ่าวไทย ที่บ้านปากบางเทพา มีความยาวประมาณ ๑๓๕
กิโลเมตร มีคลองสาขาที่สำคัญได้แก่ คลองเพียน คลองตางา คลองสิด๊ะ คลองจะแหน
คลองทุ่งไพร คลองสะนี คลองกงดำ คลองลำเปา คลองใหญ่ คลองลำเหล็ก คลองโต๊ะบอน
คลองทับเจ้าแหน และคลองลำพีระ
- คลองนาทับ
ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตอนกลางของจังหวัดสงขลา ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอจะนะ
และอำเภอนาทวี ไหลผ่านเขตอำเภอจะนะ และอำเภอนาทวี แล้วไหลลงสู่อ่าวไทย ที่บ้านปากบางนาทับ
มีความยาวประมาณ ๘๖ กิโลเมตร มีคลองสาขาที่สำคัญได้แก่ คลองลำพด คลองพ้อแดง
คลองคล้า คลองแดงจีน คลองปลักพ้อ และคลองประจา
นอกจากนี้ยังมีคลองสายสั้น ๆ ไหลลงสู่ไปบรรจบคลองสายหลักและไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาได้แก่
คลองไผ่ คลองศาสาหัน คลองตะเครี๊ย คลองปากพัง คลองราโนด คลองเจดีย์งาม คลองโรง
คลองพรวน คลองศาลาหลวง คลองปากแคระ คลองฝังยาง คลองโภคา คลองรัดปูน คลองจะทิ้งหม้อ
คลองพะวง คลองบางกล่ำ คลองบางพึ่ง คลองจ่า คลองควนโสน คลองใหญ่ คลองสำโรง
และคลองเขา เป็นต้น
คาบสมุทรสทิงพระ
คาบสมุทรสทิงพระ มีลักษณะเป็นสันดอนขวางกั้นทอดเป็นแนวยาวแคบ ๆ กั้นอ่าวไทยไว้ภายนอกและมีห้วงน้ำอยู่ภายใน
เริ่มตั้งแต่อำเภอระโนด ไปสิ้นสุดที่ปากน้ำทะเลสาบสงขลา ห้วงน้ำภายในประกอบด้วยทะเลสาบสงขลา
ทะเลสาบ ทะเลหลวง และทะเลน้อย
คาบสมุทรสทิงพระ มีแนวสันทรายอยู่หลายริ้ว สูงกว่าที่ลุ่มโดยรอบ จึงกลายเป็นที่ตั้งถิ่นฐาน
ตั้งชุมชนและตั้งเมืองสืบเนื่องกันมานาน หลายยุคหลายสมัย ตัวคาบสมุทรมีส่วนที่เป็นภูเขาหินดินดาน
และหินกรวดมนอยู่หลายแห่ง นับตั้งแต่ปลายสุดของแนวสันทรายซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อของทะเลสาบกับอ่าวไทย
มีเขาแดง เขาค่ายม่วง เขาเขียวและเขาน้อย ซึ่งเป็นภูเขาหินดินดาน อยู่ในเขตอำเภอสิงหนคร
ตอนกลางของคาบสมุทรเป็นเขาพะโค๊ะ เขาคูหา เป็นหินกรวดมน อยู่ในเขตอำเภอสทิงพระ
เขาเกาะใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอกระแสสินธุ์ ซึ่งอยู่ตอนบนของแนวสันทรายเป็นเหมือนดิ่งยื่นลงไปในทะเล
หัวเขาแดง
ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำทะเลสาบสงขลา เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินดินดานของแนวเขาที่เรียกว่า
เขาแดง - เขาค่ายม่วง เป็นหินสีแดงปนซิลิกา เป็นชั้นหินที่ผ่านกระบวนการทับถมมาเป็นเวลานาน
หินบางส่วนมีร่องรอยซากพืชบางชนิด เฟ้นเป็นลวดลายอยู่ในเนื้อหิน ในอดีตบริเวณหัวเขาแดงเป็นที่ตั้งเมืองโบราณ
ปรากฎป้อมและกำแพงเมืองที่สกัดหินจากภูเขานี้มาก่อสร้าง โดยสร้างเป็นป้อมตั้งแต่ริมชายฝั่งทะเล
เชิงเขา สันเขา ไปจนถึงยอดเขา บนยอดเขาแดงมีเจดีย์โบราณสององค์ สร้างในปลายพุทธศตวรรษที่
๒๔ ทับบนทรากป้อมโบราณสมัยอยุธยา
หัวเขาแดงได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถานของชาติ ครอบคลุมพื้นที่ภูเขารวม
๒,๔๖๐ ไร่
|
|