จังหวัดตรัง
จังหวัดตรัง ตั้งอยู่ทางใต้ฝั่งตะวันตก เกือบกึ่งกลางของคาบสมุทรมลายู
เป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ ๔,๙๔๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๐๘๘,๐๐๐
ไร่ แบ่งเขตการปกครองเป็น ๙ อำเภอ และ ๑ กิ่งอำเภอ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง
ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราช
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดพัทลุง
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสตูล
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดกระบี่และทะเลอันดามัน
จังหวัดตรัง อยู่ในบริเวณตั้งแต่ส่วนที่เป็นสันของทิวเขานครศรีธรรมราช
ที่ลาดลงไปสู่ทะเลอันดามัน ทิวเขานครศรีธรรมราช เกิดจากการดันตัวของหินอัคนี
มาแข็งตัวอยู่ภายใต้เปลือกโลก ทำให้เกิดการผลักดันหินเก่า ๆ ที่วางซ้อนอยู่ก่อนโผล่ออกมาให้เห็นชัดเจนคือหินปูน
ซึ่งเป็นส่วนประกอบภูมิประเทศ ที่ค่อนข้างกว้างขวางของจังหวัดตรัง ปรากฎว่ามีเขาหินปูนโดดกระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง
ฯ อำเภอห้วยยอด อำเภอสิเกา และเกาะตามชายฝั่งทะเล
ลักษณะภูมิประเทศ
เขตภูเขาและเขตเชิงเขา
เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัด ตลอดแนวทิวเขาที่เรียกว่า
เขาบรรทัด
มียอดสูงเกิน ๑,๐๐๐ เมตร อยู่ไม่กี่แห่ง ตามแนวทิวเขาจะมีแร่ที่สำคัญได้แก่
ดีบุก วุลแฟรม ตะกั่ว พลวง และเงิน ตามแนวชายเขาปกคลุมด้วยป่าดงดิบที่สมบูรณ์
เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธาร ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่จังหวัดตรัง บริเวณเชิงเขามีการปลูกยางพารา
ชุมชนในบริเวณนี้เรียกว่า
หมู่เขา
เขตภูเขาและเขตเชิงเขา
หรือที่เรียกว่า เขตตรังเขา
ได้แก่ บริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของอำเภอรัษฎา อำเภอห้วยยอด อำเภอเมือง
ฯ อำเภอนาโยง อำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน
เขตลอนลูกฟูกหินปูน
เป็นพื้นที่ราบสลับเนิน เรียกว่า ควน เป็นพื้นที่ถัดมาทางด้านทิศตะวันตกของเขตแรก
และขนานกับเขตแรก บางแห่งมีภูเขาหินปูนโดด หรือกลุ่มภูเขาหินปูนเช่น เขาน้ำพราย
เขาช้างหาย เขากอบ นอกจากนี้ยังมีที่ลุ่มเป็นหนองน้ำซึ่งเกิดจากหลุมยุบและหลุมจม
บริเวณนี้จะคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอห้วยยอด ส่วนหนึ่งของอำเภอเมือง ฯ
ที่ติดต่อกับอำเภอห้วยยอด รวมทั้งพื้นที่ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำตรัง ซึ่งมีลักษณะเป็นควน
เช่น เขาจองจันทร์ ควนแดง ควนเม็ดจูน
ในเขตอำเภอกันตัง
เนื่องจากจังหวัดตรัง มีความชื้นสูง จึงเกิดการสลายตัวของหินปูนเป็นส่วนใหญ่
ส่วนที่สลายของหินปูนจะเป็นสีแดงเข้ม บางส่วนเกิดปฏิกิริยาทางเคมี เกิดการรวมตัวของแร่เหล็ก
อะลูมิเนียม และแมงกานีส จับตัวเป็นศิลาแลงหรือลูกรัง ดังนั้นดินในพื้นที่เขตนี้ส่วนใหญ่จึงมีสีแดงเข้มปนอยู่กับหินลูกรัง
การกระทำของน้ำใต้ดินต่อหินปูนยังมีอยู่ต่อเนื่อง ดังมีชื่อของสถานที่หรือหมู่บ้านหลายแห่ง
แสดงถึงการกระทำของน้ำใต้ดิน กับพื้นที่ที่เป็นหินปูนเช่น น้ำพราย น้ำผุด
น้ำพ่าน บางบริเวณมีการยุบจมเกิดเป็นหนองน้ำเช่น ทะเลสองห้องในเขตอำเภอห้วยยอด
สระกระพังสุรินทร์
และหนองน้ำหลายแห่งในเขตอำเภอเมือง ฯ การกระทำของน้ำใต้ดินที่กัดเซาะภูเขาหินปูนเป็นโพรง
ก่อให้เกิดถ้ำสวยงามเช่น ถ้ำเลหรือถ้ำทะเลกอบ
ถ้ำเขาพระวิเศษ
และถ้ำเขาช้างหาย
พื้นที่บนควนเป็นสวนยางพารา และมีสวนผลไม้อยู่บ้าง พื้นที่ราบระหว่างควนใช้ทำนาได้
และเนื่องจากพื้นที่ในเขตนี้ระบายน้ำได้ดี จึงเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน มีการตั้งชุมชน
หลายแห่งที่มีความเจริญมาก่อนเช่น ควนธานี
ที่ตั้งเมืองเก่าควนปริง
และตัวเมืองที่ทับเที่ยง ชุมชนในเขตนี้นับได้ว่าเป็นหมู่ทุ่งหรือหมู่นา
ต่อมามีบางส่วนพัฒนาเป็นหมู่ตลาด และกลายเป็นเขตตรังเมือง
เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำตรัง - ปะเหลียน
เป็นพื้นที่บริเวณสองข้างฝั่งแม่น้ำตรัง และแม่น้ำปะเหลียน เป็นที่ราบอยู่บริเวณตอนกลาง
ค่อนไปทางทิศตะวันออกของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า
ทุ่ง บางครั้งเรียกว่า นา ชื่อหมู่บ้านจึงมีคำว่านาเป็นส่วนมากเช่น นาท่าม
นาแขก นาโต๊ะหมิง นาพละ นาหมื่นศรี นาโยง นางาม นาข้าวเสีย และนาบินหลา เป็นต้น
- แม่น้ำตรัง
เป็นแม่น้ำสายสำคัญของจังหวัด มีความยาวประมาณ ๑๗๕ กิโลเมตร ต้นแม่น้ำตรังมาจากเขาหลวง
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช ในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกว่า
แม่น้ำหลวง
เมื่อไหลเข้าเขตแม่น้ำตรังเรียกว่า แม่น้ำตรัง เดิมใช้เป็นเส้นทางคมนาคม จากดินแดนภายในจังหวัดติดต่อไปยังทะเลที่ปากน้ำกันตัง
กล่าวกันว่า ในสมัยโบราณสามารถเดินเรือไปได้ถึงทุ่งสง ในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเมือง
ฯ เรียกว่า คลองท่าจีน
ที่ราบลุ่มแม่น้ำตรัง เป็นบริเวณแคบ ๆ มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำนาอยู่น้อย
ประกอบกับมีน้ำท่วมขังในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอำเภอรัษฎา
บางส่วน อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอกันตัง และทางตอนใต้กับตอนตะวันออกของอำเภอเมือง
ฯ
- แม่น้ำปะเหลียน
เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำตรัง มีพื้นที่รับน้ำทั้งหมดอยู่ในเขตจังหวัดตรัง
ต้นน้ำเกิดจากเขาบรรทัด แล้วไหลผ่านเขตอำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน มีความยาวประมาณ
๘๐ กิโลเมตร ใช้เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอปะเหลียน และกิ่งอำเภอหาดสำราญกับอำเภอกันตัง
ก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเลที่บ้านปากปรนฝั่งกิ่งอำเภอหาดสำราญและบ้านบางแรดฝั่งอำเภอกันตัง
ที่ราบลุ่มแม่น้ำปะเหลียน เป็นที่ราบแคบ ๆ สองข้างฝั่งแม่น้ำอยู่ในเขตอำเภอย่านตาขาวและอำเภอปะเหลียน
มีพื้นที่ทำนาอยู่บ้างไม่มากนัก
เขตชายฝั่งทะเลและเกาะ
ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนว ๑๑๙ กิโลเมตร เริ่มจากบ้านทุ่งแหลมไทร
อำเภอสิเกา ลงไปทางทิศใต้ติดต่อกับชายฝั่งอำเภอกันตัง ข้ามปากแม่น้ำตรังและปากแม่น้ำปะเหลียน
ในเขตกิ่งอำเภอหาดสำราญ ไปจนถึงแหลมหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน
พื้นที่ในเขตนี้มีลักษณะที่หลากหลาย บางแห่งเป็นสันทรายหรือหาดทรายขนานกับชายฝั่ง
เช่น ทางตอนเหนือของอำเภอสิเกา ตอนเหนือของอำเภอกันตัง และกิ่งอำเภอหาดสำราญ
ชายฝั่งบางแห่งเป็นโคลนตม ที่เกิดจากแม่น้ำตรังและลำธารสายสั้น ๆ พัดพามา
บางแห่งเป็นชวากทะเล
ซึ่งตื้นเขินเป็นป่าเสม็ดและป่าโกงกางเช่น บ้านฉางหลาง อำเภอสิเกา บ้านน้ำราบ
บ้านเจ้าไหม ในอำเภอกันตัง บ้านตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ บ้านหยงสตาร์ อำเภอปะเหลียน
บางแห่งเป็นที่ราบเกิดจากการตื้นเขินของทะเล เช่น ทุ่งหวัง
ทุ่งค่าย ทุ่งยาว
ในทะเลมีเกาะเล็กเกาะน้อยหลายแห่ง เกาะขนาดใหญ่ที่สำคัญมีอยู่สามเกาะได้แก่ เกาะมุก
เกาะลิบงและเกาะหมู ชายฝั่งริมเกาะของบางเกาะ
โดยเฉพาะเกาะหมู มีทรายขาวเกือบเป็นควอตซ์ที่บริสุทธิ์ใช้ทำแก้วได้ บริเวณชายฝั่งตื้น
ๆ ที่หญ้าทะเลเจริญงอกงามเป็นบริเวณกว้าง เป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่แห่งในโลก
ที่มีพะยูนอาศัยอยู่
กลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณชายทะเลและเกาะหรือเขตตรังเล
มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนทางฝั่งตะวันตก ตลอดแหลมมลายู ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
และประกอบอาชีพประมงแบบพื้นบ้าน ชุมชนกลุ่มนี้นับเป็นหมู่เล
|