ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
บรรพชนชาวตรัง
จากหลักฐานทางโบราณคดีในถ้ำต่าง ๆ ของจังหวัดตรัง ทำให้สรุปได้ว่า บรรพชนชาวตรัง
เริ่มต้นจากยุคก่อนยุคหินใหม่ สัญจรเร่ร่อนอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ ทั้งถ้ำชายเขาและถ้ำเขาลูกโดดกลางทุ่ง
ถ้ำริมแม่น้ำ และถ้ำริมทะเล ใช้เครื่องมือหินกระเทาะอย่างง่าย ๆ แล้วพัฒนามาเป็นประเภทหินขัด
มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ประณีตขึ้นเช่น ภาชนะดินเผาและรู้จักบันทึกเรื่องราวด้วยภาพเขียนสี
แต่ยังเป็นกลุ่มคนขนาดเล็ก ในขณะเดียวกัน ยังมีร่องรอยการเข้ามาอยู่อาศัยชั่วคราว
ของชนกลุ่มน้อยเผ่าซาไก อย่างน้อยปีละครั้ง มาเป็นเวลานาน
เมืองท่าทางผ่าน
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ บ้านเมืองทางตะวันตก และเอเชียกลาง เริ่มใช้เส้นทางทะเล
เพื่อติดต่อค้าขายกับอินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน ทำให้คาบสมุทรมาลายู
กลายเป็นจุดพักทางผ่านที่เหมาะสม เพราะมีทิศทางลม เป็นปัจจัยส่งเสริมปรากฎชื่อเมืองท่าสำคัญ
ของชายฝั่งทะเลตะวันตกคือ
ตะโกลา
ซึ่งสันนิษฐานว่าอยู่ที่เมืองตรัง บริเวณใกล้คลองกะปาง เรียกว่า บ้านหูหนาน
หรือกรุงธานี ในเขตอำเภอรัษฎา
เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีอาณาจักรศรีวิชัย ในเมืองตรังมีหลักฐานการพบพระพิมพ์ดินดิบ
ในกลุ่มศิลปะศรีวิชัยในถ้ำต่าง ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำตรัง โดยเฉพาะที่อำเภอวังวิเศษ
มีตำนานประจำถิ่นเล่าต่อกันมาว่า มีเรือสำเภาจากอินเดียมาล่มอยู่ในลำน้ำ สอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเส้นทางลม
ที่ใช้ในการเดินทางเรือสมัยโบราณ แม่น้ำมีขนาดกว้างทำให้เดินเรือเข้าไปตามลำน้ำได้สะดวก
เส้นทางน้ำดั้งเดิมสามารถเชื่อมต่อไปยังฝั่งตะวันออกได้
เมืองตราม้าหน้าด่านของนครศรีธรรมราช
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีหลักฐานเอกสาร และตำนานท้องถิ่นกล่าวถึงกษัตริย์นามศรีธรรมโศกราช
(จันทรภาณุ) เป็นผู้ครองอาณาจักรอันรุ่งเรืองทางการค้า ได้รับแบบแผนทางพรุพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามาด้วย
ในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่าพระเจ้าศรีธรรมโศกราช (จันทรภาณุ)
แผ่อาณาเขตาครอบคลุมเมืองต่าง ๆ ในแหลมมลายูไว้เป็นเมืองบริวารเรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตรเมืองตรังเป็นเมืองตราม้าประจำปีมะเมีย
เส้นทางเดินทัพน่าจะออกมาทางปากแม่น้ำตรัง ปัจจุบันเหนือท่าจีนขึ้นไปมีชื่อบ้านอู่ตะเภา
และบ้านทุ่งทัพเรือ เล่ากันว่าเป็นที่ต่อเรือของเจ้าพระยานคร (น้อย) ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เมืองปะเหลียนเส้นทางสู่ทะเลตะวันตกของเมืองพัทลุง
ในตำนานเมืองพัทลุงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองตรังคือ เพลานางเลือดขาว แสดงว่าในครั้งที่เมืองพัทลุง
เจริญรุ่งเรืองนี้ มิได้แผ่อาณาเขตมาถึงเมืองตรัง เพราะต้องการใช้เมืองตรังเป็นเส้นทางผ่านออกสู่ทะเลตะวันตก
เส้นทางนางเลือดขาวน่าจะเป็นทางเขาช่อง เพราะใกล้คลองนางน้อยซึ่งใช้ออกสู่แม่น้ำตรัง
เส้นทางเขาช่องนี้ยังสามารถเดินมาถึงบ้านย่านตาขาวและปะเหลียน เพื่อออกสู่แม่น้ำปะเหลียน
อยุธยาและเอกสารต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเมืองตรัง
ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ขยายการค้ากับชาติตะวันตก
รวมทั้งโปรตุเกสซึ่งเข้ายึดครองมะละกา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ ในยุคนี้เมืองตรังมีชื่ออยู่ในเอกสารต่างประเทศด้วย
โดยได้กล่าวถึงเมืองตรังว่า เป็นเมืองท่าฝั่งตะวันตกของอาณาจักรสยาม อันมีตะนาวศรี
จัง ซี ลอน (ถลาง) ตรัง เคดะห์ (ไทรบุรี) อาณาเขตของเคดะห์ติดกับตรัง
เมืองท่าฝั่งนี้มีพระยาสุโขทัยเป็นผู้ควบคุม ส่วนฝั่งตะวันออกพระยานครศรีธรรมราชควบคุม
หลักฐานทางโบราณคดีของเมืองตรังสมัยอยุธยาคือ จารึกที่ผนังถ้ำเขาสามบาตรกล่าวถึงพิธีการเฉลิมฉลอง
การบำรุงพระพุทธศาสนา บอกเลขศักราช ๒๑๕๐
ในปลายสมัยอยุธยาจนกระทั่งเสียกรุง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตั้งตัวเป็นชุมนุมไม่ขึ้นกับเมืองหลวง
เมืองตรังยังคงเป็นส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราช
เมืองปลายด่านสมัยกรุงธนบุรี
ทางราชธานีได้มอบหมายให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ปกครองแต่เพียงบริเวณหัวเมืองเท่านั้น
โดยได้ยกเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช เมืองอื่น ๆ คือ ไชยา พัทลุง ถลาง
ชุมพร มาขึ้นตรงต่อกรุงธนบุรี หัวเมืองนครศรีธรรมราชจึงมีแต่เมืองตรัง และเมืองท่าทอง
ซึ่งเป็นเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันออก และชายฝั่งทะเลตะวันออกเท่านั้น
ตรังภูรา
ปรากฎชื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จากจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
"....แต่เดิมเมืองตรังแบ่งออกเป็นสองเมืองคือ เมืองภูราตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตรัง
เป็นเมืองที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญมาก ในฐานะเป็นที่เก็บมูลค้างคาว สำหรับทำดินปืน
และร่อนแร่ดีบุกด้วยเมืองหนึ่ง และเมืองตรังตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก มีบริเวณกว้างขวางมากอีกเมืองหนึ่ง.....ทั้งเมืองตรัง
และเมืองภูรามีผู้รักษาเมือง เมืองละคน ครั้นต่อมาให้พระภักดีบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชออกไปเป็นผู้รักษาราชการเมืองตรัง
พระภักดีบริรักษ์ได้กราบทูลขอยกเอาเมืองตรัง กับเมืองภูราเป็นเมืองเดียวกัน
เรียกว่าเมืองตรังภูรา"
เกาะลิบง บทบาทผู้นำท้องถิ่น
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ พระเจ้าปดุงให้เติงหวุ่น กับแยค่อง เข้ามาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ชุมพร
ไชยา และถลาง ในครั้งนั้นเกาะลิบงเป็นที่ชุมนุมทัพเรือ จากหัวเมืองปักษ์ใต้และมลายูคือ
เคดะห์ สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ปัตตานี กองทัพเหล่านี้ได้ร่วมกันสร้างป้อม
และเสาหลักที่เกาะลิบง ก่อนยกไปทำศึกที่เมืองถลาง ในครั้งนั้น รายาปะแงรัน
หรือหลวงฤทธิสงคราม เจ้าเมืองลิบงได้นำทัพเข้าร่วมรบอย่างกล้าหาญ
เมื่อหลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๓๕๔ ความสำคัญของเกาะลิบงก็สิ้นสุดลงด้วย
แต่ยังคงเป็นท่าเรือค้าขาย เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้เป็นที่ตั้งด่านภาษี
เมืองตรังที่ควนธานี
เมื่อหลวงฤทธิสงคราม และเจ้าพระยาสงขลาถึงแก่กรรม ทางราชธานีเห็นว่าเมืองตรัง
จะขึ้นกับจังหวัดสงขลาไม่เหมาะแล้ว จึงให้เมืองตรังขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชดังเดิม
พระยานคร (น้อย) ได้ปรับปรุงเมืองตรังด้วยการมอบหมายให้ หลวงอุภัยราชธานี
เป็นผู้พยาบาลเมืองในปี พ.ศ.๒๓๕๕ ได้มีการปรับปรุงตำแหน่งต่าง ๆ จัดแบ่งกรมการเป็นฝ่ายไทยพุทธ
ไทยอิสลาม ให้มีนายด่านบกเป็นฝ่ายไทยพุทธ
และนายด่านทะเลเป็นฝ่ายไทยอิสลาม
จัดแบ่งตำบลบ้านเป็นฝ่ายตะวันออกและฝ่ายตะวันตก โดยถือเอาแม่น้ำตรังเป็นหลัก
กล่าวกันว่าการสร้างศาลหลักเมืองที่ควนธานีคงเป็นระยะแรกตั้งเมืองนี้เอง
- ท่าเรือค้า ท่าเรือรบ
การค้าในช่วงนี้เจริญมาก มีสินค้าที่ชาวต่างประเทศต้องการคือ ข้าว และดีบุก
มีเรือกำปั่นจากอินเดีย สองลำมาซื้อข้าว และพระยานคร (น้อย) ได้แต่งกำปั่นหลวงอีกหนึ่งลำรวมเป็นสามลำ
บรรทุกข้าวและดีบุกจากเมืองถลางส่งไปขายยังอินเดีย
อีกด้านหนึ่งคือ เป็นฐานทัพเรือเพื่อป้องกันพม่า และควบคุมหัวเมืองมลายู ต้องจัดกองเรือไว้ให้พร้อม
มีบันทึกของชาวต่างประเทศถึงการต่อเรือที่เมืองตรังว่า มีคนจำนวน ๑,๐๐๐ คน
ทำงานต่อเรืออยู่ที่เมืองตรัง มีเรือขนาดใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว ๑๕ ลำ และมีเรือเล็กที่อยู่ในสภาพใช้งานได้อีก
๓๐ ลำ นอกจากนี้ยังมีการต่อเรือที่ปะเหลียนด้วย เรือเหล่านี้ได้จัดทำไว้เพื่อป้องกันโจรสลัด
ทำการค้า และควบคุมไทรบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ ตนกูมะหะหมัดสะอัด
ตนกูมะหะหมัดอาเกบ หลานเจ้าพระยาไทรบุรี และหวันหมาดหลีซึ่งเป็นแขกสลัด อยู่ที่เกาะยาวถือโอกาสยกทัพเรือเข้าตีเมืองไทรบุรี
ได้แล้วยกมาตีเมืองตรัง หวันหมาดหลีคุมเรือ ๙๕ ลำ คน ๑,๐๐๐ คน เข้าตีเมืองตรัง
พระยาสงครามวิชิตเจ้าเมืองตรังไม่สามารถต้านทานได้ ครั้นได้เมืองตรังแล้วจะข้ามไปตีเมืองสงขลา
แต่ทางเมืองสงขลาและเมืองนคร ฯ สามารถปราบปรามได้
- หัวเมืองฝั่งตะวันตก หลังสมัยเจ้าพระยานคร
ฯ (น้อย) แล้ว ความสำคัญของเมืองตรังลดน้อยลง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หัวเมืองทางฝั่งตะวันตกได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากเมืองหลวง โดยจัดให้ภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครอง
บางช่วงก็มาตั้งที่เมืองตรัง
การเข้ามามีบทบาทของข้าหลวงฝั่งตะวันตก เริ่มจากปี พ.ศ.๒๔๑๗ กรรมกรจีนก่อความไม่สงบในหัวเมืองฝั่งตะวันตก
เกิดเหตุจลาจลครั้งใหญ่ของกรรมกรจีนในภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เมืองตรังเป็นศูนย์กลางของข้าหลวงพิเศษ
แต่ข้าหลวงคนต่อ ๆ มาจะไปประจำการที่ภูเก็ตมากกว่าเมืองตรัง
จากการตรวจราชการของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้มีการโอนจากการเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราชมาขึ้นตรงต่อกรุงเทพ
ฯ มีการกำหนดเขตแดน การแยกเก็บภาษีอากรและบำรุงการค้า โดยให้พระยารัตนเศรษฐี
(คอซิมก๊อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง มารักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการ
เพื่อพัฒนาเมืองตรัง ได้มีการบำรุงการค้าขายด้วยการส่งเสริมการเพาะปลูก นำกุลีจีนเข้ามาทำไร่อ้อย
เพื่อป้อนโรงงานน้ำตาลทรายแดงส่งขายปีนัง โดยมีเรือใบสามหลักมารับถึงคลองโด๊ะหร้า
ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ พระยารัตนเศรษฐี ได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง หลังจากนั้นเมืองตรังก็อยู่ในความปกครองของข้าหลวงฝั่งตะวันตกต่อไปจนถึงปี
พ.ศ.๒๔๓๑ พระตรังภูมาภิบาล
(เอี่ยม) เชื้อสายเจ้าพระยานคร ฯ ได้เป็นเจ้าเมืองตังคนต่อมา สมัยนี้เองที่ราษฎรได้ยื่นฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ว่าถูกเจ้าเมืองกดขี่และขอเจ้าเมืองคนใหม่
ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้
ทรงเห็นว่า เมืองตรังทรุดโทรม จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอัษฎงทิศรักษา
(คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองกระ มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง รับบรรดาศักดิ์ใหม่เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
เมืองตรังที่กันตัง
เมื่อพระยารัษฎา ฯ มารับตำแหน่งในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาความทรุดโทรมของเมืองตรัง
วิธีการแรกคือ การขอผูกขาดภาษีอากรที่เรียกว่า ระบบเหมาเมือง
โดยให้พ่อค้าชาวบจีนรับช่วงแทน ทำให้สามารถแก้ปัญหาชาวจีนสร้างอิทธิพล ไม่ขึ้นต่อบ้านเมืองด้วยการควบคุมผ่านเจ้าภาษี
การแก้โจรผู้ร้ายชุกชุม ใช้วิธีการจัดตั้งกองตำรวจประจำเมืองตรัง จัดให้มีเรือกลไฟลาดตระเวณ
ปรับปรุงระบบการเฝ้าระวังและติดตามจับกุม กำหนดท่าเรือสำหรับจอดเรือ หกท่าเท่านั้น
มีกันตัง สิเกา กะลาเส ท่าพญา หยงสตาร์
และเกาะสุกร ให้ออกทะเบียนเรือเพื่อป้องกันการปล้นเรือ
พระยารัษฎา ฯ ได้วางแนวทางพัฒนาเมืองตรัง โดยมีนโยบายให้เป็นเมืองเกษตรกรรม
ส่งเสริมให้ราฎรจับจองพื้นที่บุกเบิกทำไร่นา และลดหย่อนการเกณฑ์ให้แก่ผู้ทำนา
ส่งเสริมให้ปลูกพืชหลายชนิด แทนที่จะปลูกพริกไทยเป็นหลัก ดังที่เป็นมาแต่เดิม
พืชที่ปลูกได้แก่ มะพร้าว หมาก จันทน์เทศ กาแฟ เกณฑ์ให้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ประจำบ้าน
แต่ละบ้านต้องปลูกพืชผลต่าง ๆ และพืชผักสวนครัวอย่างละห้าต้น เลี้ยงไก่ห้าแม่
จากนั้นก็ส่งเสริมการจำหน่ายโดยให้จัดตลาดนัด แล้วชักชวนให้พ่อค้าต่างประเทศเข้ามารับซื้อสินค้า
และตั้งบริษัทการค้าที่กันตัง เพื่อทำการค้ากับปีนังและมลายู
พระยารัษฎา ฯ เห็นว่า เมืองที่ควนธานีไม่เหมาะที่จะขยายให้เป็นเมืองท่าค้าขายกับต่างประเทศ
จึงเตรียมการสร้างเมืองใหม่ที่กันตัง และขอพระบรมราชานุญาตย้ายเมืองตรังไปที่กันตัง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อย้ายเมืองแล้วได้เริ่มส่งเสริมการนำพันธุ์ยางพารามาให้ทดลองปลูก
ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ทั้งทางบกและทางน้ำให้ดีขึ้น สร้างสะพาน ตัดถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน
ตำบล อำเภอ และเมืองใกล้เคียง ถนนสายสำคัญคือถนนสายตรัง - พัทลุง ที่เรียกว่า
ถนนพับผ้า
วางโครงการท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเส้นทางรถไฟที่จะมาจอดที่สถานีกันตัง
ซึ่งเป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวในหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๕ เมืองตรังแบ่งออกเป็นห้าอำเภอคือ
อำเภอเมือง ฯ (กันตัง) อำเภอบางรัก อำเภอเขาขาว (ห้วยยอด) อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา
มี ๑๐๙ ตำบล
เมืองตรังที่ทับเที่ยง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ เมืองตรังได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ด้วยเหตุผลหลายประการได้แก่
ที่กันตังไม่ปลอดภัย จากศึกสงครามเพราะขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ทั้งยังอยู่ในที่ลุ่ม เกิดอหิวาตกโรคทุกปี พื้นที่แคบขยายตัวเมืองได้ยากและไม่เป็นย่านกลางติดต่อราชการเหมือนที่ตำบลทับเที่ยง
ซึ่งมีผู้คนมากและการค้าเจริญกว่าตำบลอื่น ๆ
เมืองตรัง หลังปี พ.ศ.๒๔๗๕
ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดตรังคือ นายจัง จริงจิตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ มีนายกเทศมนตรีคนแรกคือ
หลวง วิชิตภักดี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ คณะกรรมการจังหวัดตรังชุดแรกเปิดประชุม
ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
- สมัยสงครามมหาอาเซียบูรพา
จังหวัดตรังนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งในเป้าหมายของกองทัพญี่ปุ่น กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดตรัง
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีการตั้งค่ายที่ควนตำหนักจันทน์ จวนพระยารัษฎา
ฯ และจวนพระสกล ฯ ในเขตอำเภอกันตัง ส่วนที่อำเภอเมือง ฯ นั้น ได้ไปตั้งอยู่ที่บริเวณ
ตำหนักผ่อนกาย อำเภอห้วยยอด ที่เขาห้วยแห้ง อำเภอปะเหลียน ที่บ้านท่าข้าม
และที่บ้านนาโยง ในทะเลและปากแม่น้ำตรัง มีเรือญี่ปุ่นเข้ามาปฏิบัติการ และได้วางทุ่นระเบิดไว้ป้องกันข้าศึก
- สถานการณ์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในจังหวัดตรัง
เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๐ มีกลุ่มนักการเมืองดำเนินการจัดตั้งกลุ่มและสมาคม
มาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ - ๒๕๐๒ มีการจับกุมและกวาดล้างจนต้องสลายตัว
ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ มีการดำเนินงานขึ้นอีกในกลุ่มสมาชิกเก่า มีสามชิกบางคนที่ผ่านการศึกษาอบรมจากประเทศเวียดนามเหนือ
ได้เข้ามาจัดตั้งและขยายมวลชน โดยในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ได้จัดตั้งค่ายพักขึ้นเป็นครั้งแรกในเขตตำบลน้ำผุด
อำเภอเมือง ฯ ทางราชการได้ทำการกวาดล้างอย่างจริงจัง ทำให้ญาติพี่น้องหรือผู้ที่เคยสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้หนีเข้าป่า
การดำเนินการของ ผคท. ในเขตจังหวัดตรังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๑๒
มีการประสานงานระหว่าง ผทค.จังหวัดตรังกับ ผคท.จังหวัดพัทลุง มีการเคลื่อนไหวอยู่ทั่วไปแทบทุกพื้นที่
ได้แก่ อำเภอเมือง ฯ อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน และอำเภอสิเกา
ทางราชการจึงจัดให้มีหน่วยเฉพาะกิจ ฯ มาตั้งอยู่ที่อำเภอย่านตาขาว
หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีขบวนการนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งในจังหวัดตรัง
ร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย จนถูกมองว่าเป็นแนวร่วมของ ผคท. เมื่อเกิดเหตุการณ์
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ขบวนการผู้รักประชาธิปไตยในจังหวัดตรัง ต้องสลายกลุ่มและหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก
หลังปี พ.ศ.๒๕๑๙ การปะทะกันระหว่างทางการกับ ผคท.เป็นไปอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น
มีการจัดตั้งหมู่บ้าน อพป. ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๐ และมีคำสั่งกองทัพบกจัดตั้งหน่วยกองพันที่
๔ กรมทหราราบที่ ๕ ขึ้นที่บ้านลำภูรา อำเภอห้วยยอด เพื่อปฏิบัติการทางทหารควบคู่กับการรุกทางการเมือง
ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ เน้นการปฏิบัติงานทางการเมืองมากขึ้น
ประกอบกับความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ปฏิบัติการของ
ผคท.ในประเทศไทย ทำให้สมาชิกบางส่วนค่อยทะยอยคืนเมืองอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติการทางทหารของ
พคท.ในจังหวัดตรัง เริ่มลดลงตั้งแต่นั้นมา
|