| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
ในปี ค.ศ.๑๕๑๑ อัลฟองโซ อัลยู เกิร์ก อุปราชโปร์ตุเกสที่อินเดีย ยึดแหลมมะละกาได้ในพระนามของพระเจ้าแผ่นดินโปร์ตุเกส ได้ส่งตัวร์เตเฟอร์นัสเดส เป็นหัวหน้าคณะทูตเข้ามาเฝ้าพระมหากษัตริย์ไทย ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ค.ศ.๑๕๖๗ มิชชันนารี ต่างประเทศรุ่นแรกที่รู้จักกันในประเทศไทยคือ บาทหลวงคณะโดมินิกัน สองคน ซึ่งมาจากแหลมมะละกา ค.ศ.๑๕๘๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้มีบาทหลวงเข้ามาอีกสองคน ค.ศ.๑๖๐๙ มีบาทหลวงเยซูฮิต เข้ามาชุดหนึ่ง บาทหลวงทั้งสามคณะดังกล่าวคือ โดมินิกัน ฟรังซิสกัน และเยซูฮิด เป็นชาวโปร์ตุเกส มีเพียงหนึ่งหรือสองคนเป็นชาวสเปน จึงมีสำเนียงโปร์ตุเกส ปะปนอยู่ในภาษาไทยเช่น มิสซัง คริสตัง ขนมปัง เลหลัง ฯลฯ ค.ศ.๑๖๖๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีบาทหลวงคาทอลิกในประเทศไทย ๑๑ คน อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ได้ดูแลสัตบุรุษชาวโปร์ตุเกส และชนชาติอื่น ๆ ประมาณสองพันคน ได้มีคณะบาทหลวงมิสซัวต่างประเทศ จากกรุงปารีสสามคน เป็นคณะที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี ค.ศ.๑๖๖๐ ทั้งสามคนมุ่งหน้าจะไปแพร่คำสอนยังประเทศจีน และอินโดจีน แต่เนื่องจากมีการเบียดเบียนศาสนาในประเทศดังกล่าว จึงได้อยู่พำนักในประเทศไทย และได้เริ่มศึกษาภาษาโปร์ตุเกส เพื่อให้สามารถติดต่อกับคริสตังในเมืองไทยได้ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างโบสถ์และโรงเรียน เริ่มสร้างในปี ค.ศ.๑๖๖๖ รวมเรียกว่า ค่ายนักบุญโยเซฟ ค.ศ.๑๖๖๙ กรุงโรมได้ประกาศตั้งมิสซังสยาม ประเทศไทยจึงกลายเป็นมิสซังแรกของคณะมิสซัง ฯ ปารีสได้มีการแพร่คำสอนไปยังเมืองอื่น ๆ เช่นพิษณุโลก ลพบุรี สามโคก (ปทุมธานี) และบางกอก ได้สร้างโบสถ์เล็ก ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือ โบสถ์พระแม่ปฏิสนธินิรมล (โบสถ์คอนเซปชัญ) ค.ศ.๑๖๗๔ มีชาวไทยคาทอลิกประมาณ ๖๐๐ คน ค.ศ.๑๖๘๘ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ได้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกองทหารฝรั่งเศสที่รักษาป้อมที่บางกอก พวกฮอลันดา ซึ่งเป็นอริกับฝรั่งเศสช่วยไทยปิดล้อมป้อม นานห้าเดือน จึงเจรจาตกลงกันได้ ความเข้าใจผิดอันนี้ทำให้รัฐบาลไทยและประชาชนโกรธแค้น ได้จับบาทหลวง และคริสตังจำนวนหนึ่ง คุมขังไว้ที่กรุงศรีอยุธยา จนถึงปี ค.ศ.๑๖๘๙ จึงได้ปล่อย และต่อจากนั้นไปอีกประมาณ ๑๐๐ ปี ศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ก็ประสบการชะงักงัน ค.ศ.๑๗๐๗ มีการตั้งหมู่บ้านคริสตังที่จังหวัดจันทบุรี โดยเริ่มจากคริสตังในแคว้นโคชินไชนา ถูกเบียดเบียนจึงได้หนีมาอาศัยอยู่ที่จันทบุรี ค.ศ.๑๗๖๗ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ศาสนจักรพลอยยับเยิบไปด้วย ค.ศ.๑๗๘๒ ราชวงศ์จักรีขึ้นครองราชย์ที่กรุงเทพ ฯ ฐานะของมิสซังเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ค.ศ.๑๘๐๒ คริสตังในมัสซังไทย รวมไปถึงเกาะปีนังมี ๒,๕๐๐ คน และเพิ่มเป็น ๓,๐๐๐ คน ในปี ค.ศ.๑๘๑๑ ค.ศ.๑๘๔๑ มิสซังสยามได้มีการแบ่งเป็นครั้งแรกคือ มิสซังสยามตะวันออก ได้แก่ ราชอาณาจักรไทยกับลาว ส่วนที่เหลือเป็นสยามตะวันตกได้แก่ แหลมมลายู เกาะสุมาตรา และภาคใต้ของพม่า บาทหลวงปัลเลอคัว เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก มีมิสชันนารีชาวยุโรปเจ็ดคน ชาวพื้นเมืองห้าคน ซิสเตอร์ ๒๐ คน สัตบุรุษในปกครองประมาณ ๔,๐๐๐ คน แบ่งเป็นหกโบสถ์คือ โบสถ์นักบุญ ฟรังซิส เซเวียร์ สามเสน โบสถ์คอนเซปชัญ โบสถ์ซางตาครูส โบสถ์แม่พระลูกปองคำ โบสถ์อยุธยา และโบสถ์จันทบุรี บาทหลวงปัลเลอคัว ปกครองมิสซังไทยระหว่างปี ค.ศ.๑๘๔๑ - ๑๘๖๒ เป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวรรณคดีอย่างกว้างขวาง ได้ศึกษาภาษาไทยและบาลีจนแตกฉาน ได้แต่งหนังสือหลายเล่มที่มีชื่อมากคือ พจนานุกรม ไทย - ลาติน - ฝรั่งเศส - อังกฤษ เมื่อท่านถึงแก่กรรม ในปี ค.ศ.๑๘๖๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานวอสำหรับพิธีศพ ให้ชักธงชาติครึ่งเสาไว้อาลัยทั่วราชอาณาจักร ขณะบรรจุศพที่สุสานโบสถ์คอนเชปชัญ ก็ได้มีการยิงปืนใหญ่สลุต ๑๕ นัดด้วย ค.ศ.๑๘๖๘ มิสซังได้ขยายตัวมาก โดยเฉพาะในหมู่คนจีน มีการเปิดหมู่บ้านคริสตังใหม่หลายแห่งเช่นที่ปากลัด บางช้าง - บางนกแขวก ท่าหว้า บางปลาสร้อย แปดริ้ว บ้านหล้า (นครนายก) เป็นต้น ค.ศ.๑๘๘๑ ได้มีการส่งบาทหลวงไปแพร่คำสอนยังภาคอีสานที่อุบลราชธานี นครพนม และได้ตั้งกลุ่มคริสตังที่ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี ค.ศ.๑๘๘๔ ค.ศ.๑๘๘๕ ได้เปลี่ยนโรงเรียนประจำโบสถ์เป็นวิทยาลัย (College) ได้เชิญภราคา (บราเดอร์) คณะเซนต์คาเบรียลมาปกครองโรงเรียน ภราคารุ่นแรกมาถึงประเทศไทยในปี ค.ศ.๑๙๐๑ ค.ศ.๑๘๙๗ โบสถ์เซนต์ฟรังซิส ฯ สามเสนได้ฟื้นฟูคณะภคินี (ซิสเตอร์) พื้นเมืองขึ้นอีก โดยได้สร้างโบสถ์ขึ้นตรงที่ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสคอนแวนต์ เมื่อกิจการเจริญเติบโต ก็ได้ย้ายมาตั้งที่คลองเตย คือ บริเวณโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ถนนสุนทรโกษาในปัจจุบัน ค.ศ.๑๘๙๘ ได้เปิดโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ สาธร และเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ในปี ค.ศ.๑๙๐๕ ค.ศ.๑๙๐๙ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของมิสซังชื่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะ วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก ในกรุงสยาม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ค.ศ.๑๙๒๔ ภคินีคณะอูร์สุลิน เริ่มมาดำเนินกิจการในประเทศไทย ปัจจุบันมีศูนย์กลางอยู่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ค.ศ.๑๙๒๕ ภคินีคณะคาร์เมล เข้ามาตั้งที่ประเทศไทย มีโบสถ์ที่ถนนคอนแวนต์ ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๘๒ ได้แยกไปเปิดที่จันทบุรีอีกโบสถ์หนึ่ง ค.ศ.๑๙๒๗ บาทหลวงคณะซาเลเซียนของนักบุญยอห์น บอสโก เริ่มดำเนินกิจการในประเทศไทยต่อมาได้รับมอบ ให้ปกครองมิสซังราชบุรี ระยะดังกล่าวนี้ ได้มีการส่งนักบวชไทยไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยปรอปากันดา ฟีเด ที่กรุงโรม ค.ศ.๑๙๖๒ มีการเปิดประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ ๒ มุขนายก ในประเทศไทยทั้งหมดได้เข้าร่วมประชุมสภาสังคายนาปิด เมื่อปี ค.ศ.๑๙๖๕ หลังจากนั้นทางกรุงโรมได้ประกาศให้สถาปนา ฐานานุกรมในประเทศไทย โดยแบ่งเขตการปกครองฝ่ายศาสนจักร ออกเป็นสองภาคคือ ภาคแรก ได้แก่ เขตมิสซังกรุงเทพ ฯ มีมิสซังในสังกัดคือ ราชบุรี จันทบุรี และเชียงใหม่ ภาคสอง ได้แก่ เขตมิสซังท่าแร่ - หนองแสง มีมิสซังในสังกัดคือ อุบล ฯ อุดร และนครราชสีมา - เขตมิสซังกรุงเทพ ฯ ถือว่าเป็นแม่ของมิสซังทั้งหลายในประเทศไทย สืบเนื่องมาจากมิสซังซึ่งตั้งขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๖๙ (พ.ศ.๒๒๑๒) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ - เขตมิสซังราชบุรี แยกจากมิสซังกรุงเทพ ฯ คือ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๐ บาทหลวงคณะซาเลเซียน ได้รับมอบหมายให้ปกครองแขวงราชบุรี ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๔๑ เป็นเทียมมิสซัง ในปี ค.ศ.๑๙๖๙ มิสซังนี้แบ่งออกเป็นสองเขตคือ เขตราชบุรีเดิม กับสุราษฎร์ธานี
| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |