ถ้ำขุนกระทิง
ห่างจากตัวจังหวัด 16 กิโลเมตร
เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ยุคหินและยุคสัมฤทธิ์มาก่อน
เพราะเคยขุดพบสิ่งของเครื่องใช้จำพวกนี้ แต่ยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างจริงจัง
เขาขุนกระทิง เดิมชาวบ้านเรียก เขานาพร้าว
เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด มีลักษณะคล้ายวงรี มีความยาวตามแนวเหนือ - ใต้ ประมาณ 1
กิโลเมตร กว้างตามทิศตะวันออกตะวันตกประมาณ 450 เมตร
ยอดสูงสุดอยู่ทางตอนใต้ของภูเขา สูงประมาณ 148 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
บริเวณพื้นที่โดยรอบเป็นป่าโปร่ง ทุ่งนา และสวน
บริเวณถ้ำขุนกระทิงมีลักษณะเป็นเพิงผาขนาดใหญ่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
พื้นเพิงผาอยู่สูงจากระดับพื้นทั่วไปในบริเวณนั้นประมาณ 10 - 15 เมตร
ถ้ำขุนกระทิงอยู่ทางตอนใต้ของเพิงผา ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนสายเอเซียผ่านหน้าเขา
จึงได้มีการจับจองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่เศษ ตั้งเป็นสำนักสงฆ์
และได้รับการจดทะเบียนตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2522 โดยให้ชื่อว่า
วัดถ้ำเขาขุนกระทิง และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2530
เป็นต้นมา
วัดถ้ำเขาขุนกระทิง หรือวัดเขาขุนกระทิง
ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 115 ตอนพิเศษ
083 ง วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2541
ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาขุนกระทิง(เขานาพร้าว)จ.ชุมพร
ลักษณะของภาพ
ภาพเขียนสีที่เขาขุนกระทิง (เขานาพร้าว)
เป็นภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในจังหวัดชุมพร
มีลักษณะการเขียนเป็นภาพลายเส้นบนผนังถ้ำ
ตัวภาพอยู่บริเวณแนวเพิงผาหินก่อนขึ้นถ้ำพระ เขียนด้วยสีแดง ลายเส้นตรง
เส้นหยัก และวงกลม โดยเขียนต่อกันหรือเป็นส่วนหนึ่งของภาพเดียวกัน
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาพเขียนสีนี้เป็นรูปอะไร แต่จากลักษณะดังกล่าว
อาจสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าน่าจะเป็นรูปเรือใบ
ปัจจุบันภาพบางส่วนได้รับความเสียหายเนื่องจากมีคราบหินปูนเคลือบทับไว้
ทำให้ภาพเลือนลางไป