วัดหลักศิลา, นครพนม
วัดหลักศิลา ตั้งอยู่ที่บ้านหลักศิลา ตำบลพระกลางทุ่ง
เป็นวัดที่เก็บรักษาใบเสมาที่มีอายุเก่าแก่ สันนิษฐานว่าเป็นใบเสมาที่มี
อายุรุ่นราวคราวเดียวกับใบเสมาในกลุ่มเมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์
"หลวงปู่บัว เตมิโย" หรือ "พระครูพนมสมณกิจ"
อดีตเจ้าคณะตำบลธาตุพนม และอดีตเจ้าอาวาสวัดหลักศิลามงคล หมู่ 16 ต.พระกลางทุ่ง
อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของชาวเมืองนครพนม
มีวัตรปฏิบัติอันงดงาม มีวิทยาคมอันเข้มขลัง
กำราบสิ่งอัปมงคลชั่วร้ายได้อย่างราบคาบ หลวงปู่บัว
เป็นศิษย์สืบสายธรรมจากพระครูวิโรจน์ รัตนโนบล หรือ "หลวงปู่รอด"
แห่งวัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี ที่ได้มาบูรณะองค์พระธาตุพนม
อัตโนประวัติ
เกิดในสกุล ศรีอาจ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2457
ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ปีขาล ที่บ้านบุ่งฮี ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม
จ.นครพนม โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายสุ และนางคูณ ศรีอาจ ช่วงวัยเยาว์
ท่านเป็นเด็กวัดเรียนหนังสือที่วัดบุ่งฮี จนอายุ 16 ปี ได้ขออนุญาตโยมบิดามารดา
เข้าพิธีบรรพชา มีพระอาจารย์ทอง เจ้าอาวาสวัดบุ่งฮี เป็นพระอุปัชฌาย์
ในช่วงเป็นสามเณร ได้ศึกษาหนังสือธรรมใบลานและสวดมนต์บทต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศิลามงคล โดยมี
พระเทพสิทธาจารย์ หรือ "หลวงปู่จันทร์ เขมิโย" เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์โส
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทอง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ภายหลังอุปสมบท ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ศึกษาการแพทย์แผนโบราณ
รวมทั้งศึกษาวิทยาคมแขนงต่างๆ จากพระอาจารย์ทอง นานกว่า 4 ปี
ก่อนกราบลาพระอาจารย์ทองมาอยู่จำพรรษาที่วัดสวนตาล (วัดมรุกขาราม)
บ้านหลักศิลาใต้
ต่อมา ท่านได้ลาสิกขาไปช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา "วันหนึ่งนำกระบือออกไปไถนา
เห็นมันเหนื่อยหอบ จึงเห็นภาพความทรมานและสงสาร
ก่อนพูดกับตัวเองว่าไม่น่าสึกออกมาก่อกรรมทำเวรเช่นนี้เลย
จึงนำเรื่องไปบอกบิดามารดา ก่อนตั้งสัจจะไว้ว่าจะขอบวชไม่ขอสึกตลอดชีวิต"
เป็นคำกล่าวปรารภถึงสาเหตุที่หลวงปู่กลับมาบวชอีกครั้งหนึ่ง
เข้าพิธีอุปสมบทครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ.2487 ที่วัดศิลามงคล โดยมีพระอาจารย์โส
เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาพรหมา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทอง
เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบท ท่านได้ข้ามแม่น้ำโขงไปฝั่งลาว พออายุ 25-26 ปี
ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่รอด ที่วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี
ศึกษาวิชาช่างและวิทยาคม นาน 1 ปี ก่อนเดินทางกลับไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์
ท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรี ที่สำนักเรียนวัดศรีเทพฯ กับหลวงปู่จันทร์ เขมิโย ได้
1 ปี ในเวลาต่อมา พระอาจารย์โส เจ้าอาวาสวัดศิลามงคล ได้มรณภาพ
ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัด หลังจัดงานศพพระอาจารย์โส
ท่านได้ออกท่องธุดงค์ตามป่าดงดิบแถบ จ.หนองคาย ก่อนธุดงค์ไปเทือกเขาภูลังกา
นมัสการพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร
พ.ศ.2499 ได้นำคณะพระธุดงค์ข้ามฝั่งลาว ฝึกจิตในถ้ำให้เข้มแข็งก่อนกลับมาที่วัด
ขณะนั้นหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ธุดงค์มาแวะพักที่วัดเกาะแก้วอัมพวัน อ.ธาตุพนม นาน 1 เดือน ท่านจึงได้เข้านมัส
การและได้รับคำชี้แนะการปฏิบัติกัมมัฏฐานขั้นสูงจากบูรพาจารย์ทั้งสองท่าน
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2485
เป็นเจ้าอาวาสวัดหลักศิลามงคล พ.ศ.2505
เป็นเจ้าคณะตำบลธาตุพนม-เรณูนคร-พระกลางทุ่ง (ธรรมยุต)
งานด้านเผยแผ่ เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัด เป็นองค์พระธรรม กถึกแสดงธรรม
เป็นอาจารย์อบรมจิตตภาวนา
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2511
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโทที่
พระครูพนมสมณกิจ พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท
ในราชทินนามเดิม
หลวงปู่บัว นำความเจริญมาสู่วัดหลักศิลามงคล พ.ศ.2494 สร้างกำแพงวัดจนเสร็จ
สร้างถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านกับถนนทางหลวง รื้อสะพานไม้ถมดินสร้างศาลา
ลอกบึงหน้าวัดให้เป็นสระสาธารณประโยชน์ อีกทั้งได้ขยายเขตวัดให้กว้างกว่าเดิม
ในช่วงบั้นปลายชีวิต หลวงปู่บัว อาพาธด้วยโรคนิ่วในไต
ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรมลง กระทั่งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2531 เวลา 08.00 น.
ท่านได้มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 75
ปี 53 พรรษา ท่ามกลางความเศร้าสลดของคณะศิษย์
คณะศิษย์ได้สร้างพิพิธภัณฑ์หลวงปู่บัว ใช้งบกว่า 3 ล้านบาท
แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2553 เพื่อรวบรวมชีวประวัติ อัฐบริขาร
วัตถุมงคล และรูปเหมือนหลวงปู่บัว ไว้ให้พุทธศาสนิกชน ได้ไปกราบนมัสการ