เรณูนคร
เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดนครพนม มีสภาพภูมิประเทศที่สวยงาม
มีประเพณีท้องถิ่นที่งดงาม และยังมีชื่อเสียงว่าเป็นถิ่นสาวงามอีกด้วย
เรณูนครนับเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในจังหวัดนครพนม
และมักจะเป็นอำเภอต้น ๆ
ที่ได้รับการแนะนำในฐานะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอยู่เสมอ
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเรณูนครอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองนครพนมลงไปทางใต้ 51 กิโลเมตร
ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (หนองคาย-ต่อเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี)
สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบ มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปลาปาก อำเภอเมืองนครพนม และอำเภอธาตุพนม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอธาตุพนม
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอธาตุพนมและอำเภอนาแก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอนาแกและอำเภอปลาปาก
ประวัติ
มีการจัดตั้ง กิ่งอำเภอเรณูนคร ขึ้นโดยแยกจากอำเภอธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ. 2513
และได้ยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอเรณูนคร เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยจัดเป็นอำเภอชั้น 2
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอเรณูนครแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 8 ตำบล 93 หมู่บ้าน ได้แก่
1. เรณู (Renu) 14 หมู่บ้าน 5. โคกหินแฮ่ (Khok Hin Hae) 15 หมู่บ้าน
2. โพนทอง (Phon Thong) 10 หมู่บ้าน 6. หนองย่างชิ้น (Nong Yang Chin) 8
หมู่บ้าน
3. ท่าลาด (Tha Lat) 10 หมู่บ้าน 7. เรณูใต้ (Renu Tai) 13 หมู่บ้าน
4. นางาม (Na Ngam) 14 หมู่บ้าน 8. นาขาม (Na Kham) 9 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอเรณูนครประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 แห่ง ได้แก่
เทศบาลตำบลเรณูนคร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเรณูและบางส่วนของตำบลโพนทอง
องค์การบริหารส่วนตำบลเรณู ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเรณู
(เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลเรณูนคร)
องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพนทอง
(เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลเรณูนคร)
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าลาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าลาดทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลนางาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนางามทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกหินแฮ่ทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองย่างชิ้น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองย่างชิ้นทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลเรณูใต้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเรณูใต้ทั้งตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลนาขาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาขามทั้งตำบล
ประเพณีท้องถิ่น
ชาวเรณูนครส่วนใหญ่เป็นชาวภูไท มีต้นกำเนิดดั้งเดิมในเมืองแถง ประเทศเวียดนาม
ได้อพยพมาอยู่ในเขตอำเภอเรณูนครมาหลายชั่วอายุคน
พวกเขามีขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนใหญ่ตามแบบฉบับของชาวภูไท ได้แก่
ภาษาภูไท มีลักษณะที่แตกต่างจากภาษาอีสานทั่วไป
ใช้สื่อสารกันในหมู่ชาวภูไททั้งในอำเภอนี้และกับชาวผู้ไทยในถิ่นอื่น ๆ
ฟ้อนภูไท เป็นการฟ้อนรำที่งดงาม ประกอบด้วยดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท
มักแสดงในเทศกาลสำคัญของท้องถิ่น หรือเมื่อต้อนรับแขกสำคัญ
ขี่ช้างชมเมือง เป็นประเพณีที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
โดยจะนำเหล้าสาโทใส่ไห(ชาวผู้ไทเรียกไหเว่า "อุ") 2 ใบ
มีหลอดดูดซึ่งทำมาจากไม้ซาง แล้วให้แขกที่ดูดเหล้ากับตัวแทนชาวผู้ไท
ระหว่างนั้น จะบรรเลงเพลงพื้นบ้านไปเรื่อยๆ จนกว่าแขกดื่มเสร็จ
แล้วเพลงก็จะหยุดบรรเลง
การแต่งกายในโอกาสพิเศษ ชาวภูไทในเรณูนครจะพากันแต่งกายตามแบบดั้งเดิม
คือใช้ผ้าฝ้ายย้อมครามทั้งหญิงและชาย แต่ได้ประยุกต์จนเป็นแบบฉบับของตนเอง
โดยมีความแตกต่างจากชาวภูไทในท้องถิ่นใกล้เคียง
ปูชนียสถาน
วัดพระธาตุเรณู เป็นวัดสำคัญที่เคารพนับถือของชาวเรณูนครมาช้านาน
มีพระพุทธรูปสำคัญ เรียกว่า "พระองค์แสน" มีน้ำหนักถึง 1,200 กิโลกรัม
หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร สาเหตุที่เรียกว่า"พระองค์แสน"นั้น
เพราะชาวผู้ไทเรียกสิ่งของที่น้ำหนัก 12 กิโลกรัมว่า"หมื่น"
ฉะนั้นเมื่อพระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำหนักมาก จึงเรียกว่า"พระองค์แสน"
ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ มีพระพุทธลักษณะที่งดงามมาก นอกจากนั้นภายในวัดยังมี
"พระธาตุเรณู" ซึ่งนับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของอำเภอ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461
โดยจำลองรูปแบบมาจากองค์พระธาตุพนม มีความสูง 35 เมตร กว้าง 8.37 เมตร
มีซุ้มประตู 4 ด้าน ภายในเป็นโพรงบรรจุพระไตรปิฎกและพระพุทธรูปทองคำ
Loading...
|