ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี


www.dooasia.com > จังหวัดนครราชสีมา > วัดหลวงพ่อโต (วัดโนนกุ่ม สี่คิ้ว โคราช) 

วัดหลวงพ่อโต (วัดบ้านโนนกุ่ม สี่คิ้ว โคราช) 

 วัดหลวงพ่อโต (วัดโนนกุ่ม สี่คิ้ว โคราช) 

  ขอขอบคุณ www.palmdiary.com http://www.centerresort.com

 วัดหลวงพ่อโตดำเนินการสร้างโดยสรพงศ์ ชาตรี นักแสดงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ในเขตอำเภอสีคิ้ว ห่างจากตัวเมือง 45 กิโลเมตร หลวงพ่อโต หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระที่พุทธศาสนิกชนให้ความศรัทธา นับถือ บูชากันโดยทั่วไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับคาถาชินบัญชร ซึ่งถือกันว่าเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ ตกทอดมาจากลังกา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ค้นพบในคัมภีร์โบราณ ได้ดัดแปลงแก้ไขให้ได้เนื้อถ้อยกระทงความสมบูรณ์ เป็นสิริมงคลแก่ผู้สวดภาวนา

วัดหลวงพ่อโต (วัดโนนกุ่ม สี่คิ้ว โคราช) 
 

ถ้าเดินทางจาก กทม.ไปทางอีสาน   ก่อนถึงโคราช 45 กม.ในเขต อ.สีคิ้วจะเห็นป้ายใหญ่ ๆ ชวนเที่ยววัดบ้านโนนกุ่ม หรือที่ผมชอบเรียกว่าวัดสรพงศ์  เพราะคุณสรพงศ์ ชาตรี เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงอยู่ในขณะนี้ วัดนี้มีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ติดถนนมิตรภาพ  ถ้ามาจาก กทม.จะอยู่ติดถนนมิตรภาพด้านซ้ายมือเห็นได้ชัดเจน

รูปที่เอามาให้ดูเป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหฺมรังสี ขนาดใหญ่ประมาณตึกสูง 2 ชั้น ที่คุณสรพงศ์บอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก  ตัวโบสถ์ ศาลาเป็นรูปเป็นร่างสวยงามมาก  ภูมิทัศน์รอบ ๆ ก็ปราณีตสวยงาม  มีข่อยดัด  ตะโกดัด เรียงรายตั้งแต่เกาะกลางถนนก่อนถึงวัดด้วยซ้ำ   นอกจากรูปหล่อของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหฺมรังสี ที่เป็นทองเหลืององค์ใหญ่แล้วในอุโบสถที่ยังสร้างไม่เสร็จยังมีรูปเหมือนขนาดเท่าองค์จริงคล้ายหุ่นขี้ผึ้ง  มีเส้นผมเหมือนจริงมากอีกองค์หนึ่ง   

ถ้ามีโอกาสผ่านไปแถวนั้นหรืออยู่ใกล้หรือมีเวลาว่างอยากเที่ยวก็อยากให้ไปลองของดีอย่างหนึ่งที่วัดนี้  รับรองว่าลองแล้วจะติดใจจนต้องแวะทุกครั้งที่ผ่าน  ของดีที่ว่าก็คือ ลาดหน้าและก๋วยเตี๋ยวหมูที่โรงทาน     คุณสรพงศ์บอกว่าทานให้ได้ 9 ชาม(ชามขนาด 3.5 นิ้ว)แล้วเดินวนรอบรูปหล่อของสมเด็จพุฒาจารย์โต พรหฺมรังสี 9 รอบจะรวย 9 ล้าน  

หลังทานลาดหน้าและก๋วยเตี๋ยวหมูแล้ว ก็ยังมีไอสครีมกะทิ และน้ำแข็งเกล็ดใส่น้ำหวานให้ด้วย รับประทานได้ไม่อั้นครับ ไปขอหลาย ๆ รอบก็ไม่มีใครว่า มีแต่เชียร์ให้ทานมาก ๆ แต่หยอดตู้เป็นค่าอาหารวันต่อไปให้วัดด้วยก็จะดีนะครับ เพราะคนมากจริง ๆ โรงทานนี่ไม่มีเวลาว่างเลย

 

วัดหลวงพ่อโต (วัดโนนกุ่ม สี่คิ้ว โคราช) 

( รูปขนาดจำลองของตัวโบสถ์ )

 

ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก www.pantip.com (ใช้ชื่อว่าผู้ชาย)

    ------- ขอฝากภาพหน่อยครับ นมัสการหลวงพ่อโต --------

    42 กิโลเมตร ก่อนถึงโคราช (วิ่งมาจากกรุงเทพ) ปากทางสู่อีสาน
    ตามทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ
    ถ้าใครผ่านไปก็จะเห็นได้แต่ไกล เพราะ มหาวิหารหลังใหญ่มากครับ

     

    วัดหลวงพ่อโต (วัดโนนกุ่ม สี่คิ้ว โคราช) 
     
     

 
 

 

ขอขอบคุณข้อมูลประวัติ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม จากเว็บไซต์ http://www.jarun.org

อมตเถระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

ชาตะ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ (จุลศักราช ๑๑๕๐) เวลาเช้า ๖.๓๕ นาฬิกา

มรณะ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ (จุลศักราช ๑๒๓๔) เวลาเที่ยงคืน ๒๔.๐๐ นาฬิกา

รวมชนมายุ ๘๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน

 

คติธรรม

ปราชญ์แท้ ไม่คุยฟุ้งอวดตน

คนดี ไม่เที่ยวยกสอพลอ

คนเก่ง ย่อมทะนงอย่างเงียบ

คนชั่ว อวดรู้ดีทั่วภพ

คนโง่ อวดฉลาดมากมาย

สิ่งทั้งหลายท่านเห็นมีทุกที่เอย

สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

 

                ในบรรดาเกจิอาจารย์ที่โด่งดังเป็นอมตะในประเทศไทย คงไม่มีใครเกินท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม

                ท่านเป็นยอดอัจฉริยบุคคลที่ควรเคารพบูชา เป็นพหูสูตรอบรู้ทั้งทางโลกทางธรรม มีความเจนจบทั้งพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์

                ประวัติของท่านพิสดารชนิดที่เรียกว่า ไม่มีใครเหมือน และใครจะทำเหมือนท่านไม่ได้

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นนักเทศน์ที่หาตัวจับยากในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ท่านได้แสดงความเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เยาว์ ทั้งเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าแผ่นดิน และประชาชนคนเดินดินทั่วไป คุณวิเศษสำคัญประการหนึ่งของท่าน คือ สามารถเทศน์ให้ใครหัวเราะก็ได้ เทศน์ให้ใครร้องไห้ก็ได้ เทศน์ให้คนเทกระเป๋าทำบุญก็ได้

                นอกจากนี้ ท่านยังเป็นนักโหราศาสตร์ ทำนายดวงชะตาได้แม่นยำนัก และยังเป็นนักใบ้หวยที่โด่งดังผู้หนึ่ง

                สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี มีชนมชีพอยู่ถึง ๕ แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งพระราชวงศ์จักรี กับ งุด สาวงามแห่งเมืองกำแพงเพชร บุตรีของนายผลและนางลา

 

สมภพ

          ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ สมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ เวลา ๖.๓๕ น. ที่จังหวัดพิจิตร

                ย้อนประวัติศาสตร์ไปในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ ประเทศสยามในขณะนั้นติดพันทั้งศึกเหนือและใต้ ทางเหนือพม่ายกกำลังเข้าตีเมืองนครลำปางและป่าซาง ทางใต้เกิดศึกเมืองทวายขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงมีพระราชโองการให้กองทัพไทยเคลื่อนกำลังเข้ายันศึกทั้งสองด้าน ทางหนึ่งเคลื่อนทัพยกไปตีเมืองทวาย เมื่อเดือนยี่ขึ้นห้าค่ำ ปีมะแม อีกทางหนึ่งได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิสรสุนทร เป็นแม่ทัพยกไปปราบ

                ในราวเดือนเก้า ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร แม่ทัพใหญ่ เดินทัพถึงวัดเกศไชโย (ปัจจุบันชื่อ วัด ไชโยวรวิหาร) ก็ได้ตั้งค่ายหลวง ณ ที่นั้น เนื่องจากทรงเห็นว่าเมืองอ่างทองเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ จึงมีพระบัณฑูรให้เหล่าทหารไปจัดหามา เพื่อส่งกำลังบำรุงกองทัพ ขณะนั้นมีแม่สาวน้อยนางหนึ่งชื่อ งุด พายเรือขายกระท้อนอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา มหาดเล็กของเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์เห็นเป็นสาวสวยผิวพรรณเปล่งปลั่ง ใบหน้าหมดจดงดงามยิ่งกว่าสาวใดในละแวกนั้น ก็เกิดความคิดจะเอาความชอบ จึงใช้อุบายชักพานางสาวงุด เข้าไปยังค่ายแม่ทัพ

                ด้วยบุพเพสันนิวาส เจ้าคุณแม่ทัพใหญ่ทรงรู้สึกพึงตาพึงใจในสาวงามชาวกำแพงเพชร จึงชวนแม่สาวงุดร่วมเรียงเคียงเขนยอยู่ในค่ายทหารหนึ่งราตรี ก่อนจะพรากจากกัน ท่านแม่ทัพได้ประทานรัดประคดผืนหนึ่ง เพื่อมองให้กับบุตรที่อาจจะเกิดมา มีรับสั่งว่า ถ้าคลอดบุตรเป็นชายให้ตั้งชื่อว่า “โต” ถ้าคลอดเป็นหญิงให้ตั้งชื่อว่า “เกศแก้ว” หลังจากกำชับเรียบร้อยแล้ว ประทานเงินให้จำนวนหนึ่ง พร้อมกับให้มหาดเล็กนำไปส่งบ้าน จากนั้นท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็เคลื่อนทัพออกจากวัดเกศไชโย

                กาลเวลาผ่านไป ทารกในครรภ์ก็โตขึ้น เกิดข่าวลือว่า แม่งุดเป็นหญิงชั่ว แม่งุดจึงตัดสินใจลงเรือน้อยล่องสู่บางกอก ผ่านคลองบางกอกน้อย เพื่อสืบเสาะหาพ่อของเด็ก เมื่อไต่ถามชาวบ้านจนรู้แน่ว่าบิดาของเด็กเป็นเจ้าฟ้า ไม่ได้เป็นแม่ทัพธรรมดาอย่างที่คิด ด้วยความเจียมตัวเจียมใจในชาติตระกูลที่ต่างกัน สาวน้อยก็ไม่กล้าเข้าไปเฝ้า จึงบ่ายหัวเรือกลับอ่างทอง บอกบิดาว่าพ่อของลูกในท้องเป็นเจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์ ตาผลถึงกับเป็นลมพับ หลังจากนวดเฟ้นจนฟื้นแล้ว สาวงามเมืองกำแพงเพชร ได้ปรึกษากับตาผลผู้บิดาว่า จะจัดการอย่างไรกับเด็กในครรภ์ที่โตขึ้นทุกวัน ในที่สุดทั้งสองมีความเห็นว่าจะคลอดบุตรที่อ่างทองนั้น คงไม่ได้ ชาวบ้านที่ไม่รู้ความจะประณามให้ต้องอับอาย จึงตัดสินใจละบ้านที่อ่างทอง พายเรือแล่นทวนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไปคลอดบุตรที่บ้านญาติในจังหวัดพิจิตร (หน้าวัดท่าหลวง วัดสำคัญของจังหวัดพิจิตร มีหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ประดิษฐาน)

                ครั้นถึงกำหนดทศมาส นางงุดเจ็บครรภ์หนัก พอลุถึงเวลา ๐๖.๓๕ น. วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๓๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก ชีวิตน้อย ๆ ชีวิตหนึ่งได้ลืมตามองโลก ท่ามกลางความทุลักทุเล ไม่มีแม้แต่หมอตำแยจะช่วยทำคลอด มีแต่ตาผลวิ่งงก ๆ เงิ่น ๆ ช่วยทำคลอด จนกระทั่งทารกน้อยเพศชายรูปร่างเล็ก ๆ คลอดออกมา และตั้งชื่อว่า “โต” แต่นั้นมา

 

บรรพชา

                เด็กชายโต รูปร่างเล็กตัวกระเปี๊ยกเลี้ยก เพราะการกินอยู่ไม่สมบูรณ์ อยู่จังหวัดพิจิตรได้ระยะหนึ่ง แม่งุดกับตาผลได้อพยพกลับถิ่นเดิมที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ในขณะเยาว์วัย เด็กชายโตเห็นพระเห็นผ้าเหลืองก็มีใจผูกพันอยากบวช จึงอ้อนวอนขอแม่งุด ซึ่งทีแรกปฏิเสธ เพราะต้องการให้เด็กชายโตช่วยทำมาหากินเลี้ยงแม่เลี้ยงตา แต่เมื่อถูกรุกเร้าอ้อนวอนมาก ๆ ทั้งแม่งุดและตาผลก็ยินยอมให้บวช โดยพาไปบวชเณรที่สำนักสงฆ์ใหญ่กับพระอาจารย์แดง (ซึ่งต่อมาสร้างเป็นวัดไชโยวรวิหาร แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดเกศไชโย) ขณะที่บวชเป็นเณรนั้น เด็กชายโต มีอายุ ๗ ขวบแล้ว

                เมื่อท่านบวช ท่านซาบซึ้งในรสพระธรรม ทุกวันค่ำเช้า ท่านจะขลุกอยู่กับตำราคำภีร์และปรนนิบัติอาจารย์สม่ำเสมอเรื่อยมา เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์และคนทั่วไป ครั้นบวชได้หนึ่งพรรษา แม่งุดและตาผลก็มาชักชวนให้สามเณรโตลาสิกขา แต่สามเณรโตขอบวชต่อ เพราะติดใจในพระธรรม มารดาและตาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ปล่อยให้บวชไปเรื่อย ๆ ผ่านไปสัก ๓ พรรษา สามเณรโตมีอายุ ๑๐ ขวบ ท่านก็ยังไม่ยอมสึกตามที่มารดาของท่านพยายามให้สึก

 

เข้าบางกอก

                สมัยนั้นหน้าวัดเกศไชโย มีเรือสำเภาล่องมาจากทางเหนือ คือ ทางปากน้ำโพผ่านมาจอดเสมอ สามเณรโตคิดว่า ขืนอยู่อ่างทองนี้ต้องสึกแน่ เพราะมารดาและตาของท่านฝากความหวังไว้กับท่าน ต้องการให้สึก จึงอ้อนวอนรบเร้าท่านอยู่เสมอ ท่านไม่อยากสึก จึงได้สอบถามทางเรือสำเภาว่า ลำไหนบ้างที่พรุ่งนี้เช้าจะล่องไปบางกอก ก็ได้มีไต้ก๋งแดงกัปตันเรือสำเภาของ เจ๊กหลง บอกว่า พรุ่งนี้จะล่องเรือเข้าบางกอกตอนตีห้า เณรจะไปไหน

                สามเณรโตก็บอกไต้ก๋งว่า ท่านจะไปเที่ยวบางกอก แล้วก็กลับไปเก็บข้าวของเตรียมเดินทาง

                คืนนั้นท่านนอนไม่หลับ เพราะได้เกิดการต่อสู้ทางความคิดขึ้นในจิตใจของท่านเป็นอย่างมาก ตากับแม่ฝากความหวังไว้ที่ท่าน แต่ท่านนั้นดื่มด่ำในรสพระธรรม เกินกว่าจะตัดสินใจทำตามความต้องการของโยมแม่ ท่านตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะหนีไปโดยไม่บอกกล่าว และตั้งใจสนองคุณโยมแม่ในภายหลัง โดยเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งได้ตอบแทนพระคุณของพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดาในภายหลัง

                รุ่งเช้าตีห้า สามเณรโตเก็บจีวรลงเรือโดยไม่บอกทางบ้าน พอเรือถึงท่าวัดอินทร์ สามเสน ก็งงไปรู้จะไปหาใคร สามเณรโตสะพายย่ามเดินเข้าวัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหารในปัจจุบัน) พบพระอรัญญิก (ด้วง) เจ้าอาวาสวัดบางขุนพรหมนอก นักคอยท่าอยู่

                ทันทีที่พบหน้าสามเณรโต พระอริญญิกเถระ (ด้วง) ก็โพล่งออกมาว่า “นั่นแน่มาแล้ว เมื่อคืนฉันฝันว่ามีช้างป่าตัวหนึ่งมาที่นี่ แล้วก็เข้าไปไสพระไตรปิฎกของฉันพังหมดเลย ต้องเป็นเธอแน่ เอาอย่างนี้ มาอยู่กับฉันก็แล้วกัน”

                สามเณรโตได้ศึกษาอักขรสมัยทั้งสยามและขอมในสำนักเจ้าคุณพระอรัญญิกเถระจนแตกฉานดีแล้ว วันหนึ่งท่านรำลึกถึงโยมแม่ จึงได้เขียนจดหมายไปบอกว่าจะบวชไม่สึก ขณะนี้เป็นศิษย์อยู่ที่สำนักเจ้าคุณวัดบางขุนพรหมนอก

                แม่งุดเมื่อได้รับหนังสือบอกข่าวจากสามเณรโตก็มีจดหมายส่งกลับมาว่า “เรื่องจะบวชไม่สึกนั้น โยมไม่ว่า แต่ขอให้กลับมาก่อน โยมมีอะไรจะสั่งเสียบางอย่าง”

                สามเณรโตเข้านมัสการลาท่านเจ้าคุณพระอรัญญิก (ด้วง) และเดินทางกลับสู่บ้านไชโย แขวงเมืองอ่างทองอีกครั้งหนึ่ง

                หลังจากสองแม่ลูกพบกัน ต่างก็ถามไถ่ความเป็นอยู่ซึ่งกันและกัน สามเณรโตก็เล่าถึงเรื่องหนีแม่ไปศึกษาธรรมที่บางกอก ตลอดจนตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะบวชไม่สึก แม่งุดเอ่ยว่า “เอ็งจะเป็นพุทธสาวกก็ไม่ขัดเอ็ง เอ็งเป็นลูกพระพุทธเจ้าได้เลย แต่ถ้าเอ็งตั้งใจไปอยู่บางกอกจริงแล้ว เอ็งจงเอารัดประคดนี้ไว้ วันใดที่ได้เข้าเฝ้าเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เอ็งจงใช้รัดประคดนี้ให้เป็นประโยชน์ แล้ววันนั้นเอ็งจะรู้ว่าพ่อเอ็งเป็นใคร”

                สามเณรโตรับคำและกล่าวว่าจะจำใส่ใจ ต่อจากนั้นสามเณรก็ย้ำถึงปณิธานอันแน่วแน่ว่า จะขออยู่ใต้ผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดชีพ แม่งุดก็ไม่ขัด จึงไม่รุกเร้าให้ลาสิกขาอีก

                ในวันรุ่งขึ้น ตาผล แม่งุด และสามเณรโต ได้ล่องเรือมาขึ้นที่ท่าบางลำพูบน ทั้งสามได้เข้าพบ พระอาจารย์แก้ว ที่วัดบางลำพูบน (วัดสังเวชฯ) ตาผลได้กล่าวฝากสามเณรโตแก่พระอาจารย์แก้ว ขอให้ช่วยอบรมสั่งสอนพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาสืบไป พระอาจารย์แก้วรับปากจะทำนุบำรุงสามเณรให้ดีที่สุด เพราะเล็งในฌานแล้วว่าสามเณรน้อยรูปนี้ ต่อไปจะเป็นหลักชัยของพระศาสนาและของราชอาณาจักรสยามด้วย

                สามเณรโตมีนิสัยขยัน หลังจากปรนนิบัติอาจารย์แล้ว มีเวลาว่างยามใดมักจะเอาอักขรคัมภีร์มาท่องบ่นศึกษาเป็นประจำ ความข้อใดไม่เข้าใจก็ไต่ถามพระอาจารย์แก้ว จนกระทั่งแตกฉานในพระธรรม พระอาจารย์แก้วหมดภูมิจะถ่ายทอด จึงแนะนำให้สามเณรไปศึกษาต่อที่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม

 

ไปวัดระฆังฯ

                ก่อนวันที่สามเณรโตจะไปวัดระฆังฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ได้ฝันว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง ได้เข้ามากัดกินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมดสิ้น จนท่านตกใจตื่น เมื่อพิจารณาความฝันอันประหลาดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ท่านก็คิดว่า ชะรอยจะมีผู้นำเด็กที่มีสติปัญญาดีมาฝากเป็นศิษย์ศึกษาบาลี และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เด็กคนนี้ต่อไปจะเป็นผู้มีคุณธรรมในด้านพระปริยัติอย่างวิเศษทีเดียว

                ด้วยความเชื่อมั่นในนิมิตนี้ ในวันรุ่งขึ้นท่านจึงได้สั่งพระเณรในวัดเป็นการล่วงหน้าว่า “วันนี้ถ้ามีอะไรมาให้รับเอาไว้”

                วันนั้นสามเณรโตเก็บอัฐบริขารใส่ย่าม เข้านมัสการลาพระอาจารย์แก้ว แล้วเดินทางไปวัดระฆังฯ กับเด็กวัดบางลำพูบน โดยพายเรือไป พอข้ามแม่น้ำมาวัดระฆังฯ ขอเข้าพบท่านเจ้าอาวาส เณรรับใช้เจ้าอาวาสบอกว่าท่านสมเด็จไม่อยู่ และไม่ให้ขึ้นกุฏิ คนพายเรือศิษย์พระอาจารย์แก้วที่ไปด้วยกัน ก็นำสามเณรโต ฝากไว้กับเจ๊กขายกาแฟหน้าวัดระฆังฯ นั้นเอง วันนั้นสามเณรโตอดฉันเพลไปหนึ่งมื้อ

                บ่ายวันนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กลับจากฉันเพล ได้ถามศิษย์วัดว่า “มีใครเอาอะไรมาฝากในวันนี้ไหม ศิษย์วัดตอบว่า “ไม่มีใครเอาอะไรมาฝาก มีแต่คนจะฝากเณรเป็นศิษย์วัด” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถามว่า ตอนนี้เณรนั้นอยู่ที่ไหน ลูกศิษย์วัดตอบว่า อยู่ที่ร้านกาแฟหน้าวัดระฆังฯ ท่านเจ้าอาวาสจึงมีบัญชาให้รีบตามมา

                ทันทีที่พบหน้าก็รู้สึกถูกชะตา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้กวักมือเรียกให้เข้ามาคุยในกุฏิ สามเณรโตก็ถวายหนังสือฝากจากพระอาจารย์แก้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมีความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ออกปากรับสามเณรโตเป็นลูกศิษย์ให้ศึกษาพระบาลี และ พระปริยัติธรรมนับแต่นั้นมา โดยให้พำนักที่กุฏิแดงข้างวัดระฆังฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

                พอสามเณรโตอายุได้ ๑๘ ปี ท่านเป็นเณรนักเทศน์ที่หาตัวจับยาก แสดงธรรมได้ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจชาวบ้าน ท่านพระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วงพิจารณาเห็นว่า สามเณรโตเทศน์ได้จับใจนัก จึงปรึกษาเห็นควรว่าจะต้องนำไปถวายตัวแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ซึ่งมีประชนมายุ ๓๘ พรรษา เป็นปีที่ ๒๓ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๔๘

 

เข้าเฝ้า

                ครั้นถึงเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก (จ.ศ. ๑๑๖๗) พระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง ได้นำเรื่องที่จะนำสามเณรโตเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯ หารือกับพระอาจารย์แก้ว ท่านก็เห็นดีงามด้วย และเรียกสามเณรโตอบรมสั่งสอนให้รู้ขนบธรรมเนียมการเดินนั่ง พูดจากับเจ้านายให้ใช้ถ้อยคำให้เหมาะถ้อยเหมาะคำ อย่ากลัว อย่าตกใจ อย่าให้มีความสะทกสะท้าน ให้พูดโดยคิดใคร่ครวญก่อน

                สามเณรโตน้อมคำนับรับคำสอนของพระอาจารย์ แล้วเข้าห้องน้ำชำระกาย ทาขมิ้น ครองผ้าจีวร และคาดรัดประคดที่โยมแม่มอบให้ เสร็จแล้วพระโหราธิบดี พระวิเชียร เสมียนตราด้วง และสามเณรโตก็ลงเรือแหวด ๔ แจว แล่นลำไปยังท่าตำหนักแพ หน้าพระราชวังเดิม แล้วนำพาเณรขึ้นไปบนท้องพระโรงในพระราชวังเดิม ณ ฝั่งธนบุรีใต้วัดระฆังนั้น

                ฝ่ายพนักงานหน้าท้องพระโรง นำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรว่า พระโหราธิบดี พาสามเณรมาเฝ้า จึงเสด็จออกท้องพระโรง ทรงปราศรัยทักถามพระโหราธิบดี พระวิเชียร และเสมียนตราด้วง แล้วได้ทรงสดับคำพระโหราธิบดีกราบทูลเสนอคุณสมบัติของสามเณรขึ้นก่อน เพื่อให้ทรงทราบ จึงทอดพระเนตรสามเณรโต ทรงเห็นสามเณรโตเปล่งปลั่งรังษีกายออกงามมีราศี และมีรัดประคดหนามขนุน อย่างขุนนาง นายตำรวจใหญ่ คาดบริขารมาด้วย

                สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ทรงพระเกษมสันต์โสมนัสยิ่งนัก ไม่เคยมีครั้งใดจะแสดงให้เห็นอย่างออกหน้าเช่นนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ องค์รัชทายาท ผู้จะสืบทอดราชบัลลังก์ต่อสมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จ ฯ ตรงเข้าจับมือสามเณรโต จูงมาให้นั่งพระเก้าอี้เคียงพระองค์ แล้วทรงถามว่า “สามเณรเป็นคนบ้านไหน? “

สามเณรทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพเป็นชาวไชโย”.

ทรงถามต่อไปว่า “โยมแม่ชื่ออะไร

สามเณรทูลตอบว่า “แม่งุด ขอถวายพระพร”

สมเด็จเจ้าฟ้ารับสั่งถามว่า “อายุเท่าไร

                สามเณรโตทูลว่า “ขอถวายพระพร เกิดปีวอก อัฐศก”

                สมเด็จเจ้ารับสั่งอีกว่า “บ้านเกิดอยู่ที่ไหน

                สามเณรทูลว่า “ขอถวายพระพร บ้านเดิมอยู่กำแพงเพชร แล้วย้ายมาตั้งบ้านอยู่อ่างทอง ขอถวายพระพร”

                สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงอิสรสุนทร ตรัสถามว่า “โยมผู้ชายชื่ออะไร”

                สามเณรทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ไม่รู้จัก”

                รับสั่งถามต่อไปว่า “ทำไม โยมผู้หญิงไม่บอกตัวโยมผู้ชายให้เจ้ากูรู้จักบ้างหรือ”

                สามเณรทูลว่า “โยมผู้หญิงเป็นเพียงแต่กระซิบบอกว่า เจ้าของรัดประคนนี้เป็นเจ้าคุณแม่ทัพ ขอถวายพระพร”

                ครั้นได้ทรงฟัง ตระหนักพระหฤทัยแล้ว ทรงพระปราโมทย์เอ็นดูสามเณรยิ่งขึ้น จึงมีรับสั่งทึกทักว่า แน่ะ พระโหราฯ เณรองค์นี้ ฟ้าจะทึกทักเอาเป็นพระโหราฯ นำช้างเผือกเข้ามาถวาย จงเป็นเณรของเจ้าฟ้าต่อไป ฟ้าจะเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงเอง แต่พระโหราฯ ต้องเป็นผู้ช่วยเลี้ยงช่วยสอนแทนฟ้า ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง ช่วยฟ้าบำรุงเณร เณรก็อย่าสึกเลยไม่อนาทรอะไร ฟ้าขอบใจพระโหราฯ มากทีเดียว แต่พระโหราฯ อย่าทอดธุระทิ้งเณร ช่วยเลี้ยงช่วยสอนต่างหูต่างตาช่วยดูแลให้ดีด้วย และเห็นจะต้องย้ายเณรให้มาอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช (มี) จะได้ใกล้ ๆ กับฟ้า ให้อยู่วัดนิพพานารามจะดีกว่า (วัดนิพพานาราม คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในปัจจุบัน)

                ครั้นมีรับสั่งแล้ว จึงทรงพระอักษรเป็นลายพระหัตถ์มอบสามเณรโตแก่สมเด็จพระสังฆราช (มี) แล้วส่งลายพระหัตถ์นั้นแก่พระโหราธิบดีให้นำไปถวาย พระโหราธิบดีน้อมเศียรคำนับ รับมาแล้วกราลถวายบังคมลา ทั้งพระวิเชียรและเสมียนตราด้วง สามเณรโตก็ถวายพระพรลา แล้ก็เสร็จขึ้น

 

ไปวัดนิพพาราม

                ฝ่ายขุนนางทั้งสาม ก็พาสามเณรลงเรือแจวข้ามฟากมาขึ้นท่าวัดนิพพานารามตามรับสั่ง พาเณรเดินขึ้นบนตำหนักสมเด็จพระสังฆราช (มี) ครั้นพบแล้วต่างถวายนมัสการ พระโหราธิบดีก็ถวายลายพระหัตถ์แด่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชคลี่ลายพระหัตถ์ออกอ่านดู รู้ความในพระกระแสรับสั่งนั้นแล้ว จึงสั่งให้พระครูใบฎีกาไปหาตัวพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำพูบน ซึ่งเป็นเจ้าของสามเณรเดิมนั้นขึ้นมาเฝ้า ครั้นพระอาจารย์แก้วมาถึงแล้ว จึงทรงให้อ่านลายพระหัตถ์ พระอาจารย์แก้วอ่านแล้วทราบว่า สมเด็จพระยุพราชนิยม ก็มีความชื่นชมอนุญาตถวายเณรให้เป็นเณรอยู่วัดนิพพานารามต่อไป ได้รับนิสัยแต่สมเด็จพระสังฆราชด้วย

                แต่วันนั้นมา สามเณรโตก็อุตส่าห์ทำวัตรปฏิบัติแก่สมเด็จพระสังฆราช และเข้าเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรมจนทราบชำนิชำนาญดี และเรียนกับพระอาจารย์เสม วัดนิพพานารามอีกอาจารย์หนึ่งด้วย

 

รับพระราชทานเรือกัญญา

                ต่อมาสามเณรโต ได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์ที่วัดพระแก้ว วันนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสดับฟังคำเทศนาอยู่ด้วย ทรงโปรดฝีปากการเทศน์ของสามเณรโต ประกอบกับทรงทราบจากสมเด็จพระยุพราชว่า สามเณรโตเป็นพระหลานเธอ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปีติรับสามเณรโตอุปถัมภ์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระราชทานเรือกราบกัญญา หลังคากระแซง ให้สามเณรโตไว้ใช้ในการบิณฑบาตไปมาในลำน้ำ

                เรือกราบกัญญาลำนี้ยาวประมาณ ๕ วาเศษ พื้นทาสีน้ำเงิน ขอบเป็นลายกระหนก มีกระทงสำหรับนั่งและมีช่องสำหรับสวมเสาติดตั้งขื่อโยงสี่มุม เพื่อประกอบหลังคากระแซงตามประเพณีของราชสำนักครั้งกระนั้น จะพระราชทานแก่เจ้านายตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปเท่านั้น

                หลังจากที่ได้รับเรือกราบกัญญามาสด ๆ ร้อน ๆ เศรษฐีคู่หนึ่งอยู่คลองบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อยากได้หน้านิมนต์สามเณรโตไปเทศน์ แล้วก็เที่ยวคุยกับชาวบ้านว่า สามเณรโต เณรในหลวงจะต้องพายเรือกราบกัญญามาแน่ พอถึงวันแสดงธรรม สามเณรโตแจวเรือลำอื่นไปแต่ลำพัง เพราะลูกศิษย์สองคนของท่าน ที่พายเรือกราบกัญญานั้นชอบแย่งของที่ชาวบ้านถวาย และทะเลาะกันเกือบทุกครั้ง สามเณรโตตัดความรำคาญ มาเทศน์เพียงลำพังรูปเดียว เมื่อเจ้าภาพเห็นเรือแจวของท่านแล้วถึงกับหน้างุ้ม ไม่พอใจ ไม่สมกับศักดิ์ศรีของเศรษฐีและเณรในหลวง จึงเอาเครื่องไทยธรรมที่เตรียมจะถวายส่วนใหญ่ซุกไว้ใต้เตียง

                สามเณรโตเทศน์เท่าไร เจ้าภาพก็ไม่ติดกัณฑ์เทศน์ถวาย สามเณรก็เทศน์ไปว่า “ทำบุญอยากได้หน้า มักไม่ใครได้บุญ ตั้งใจทำบุญแล้วไม่ทำ บุญก็ไม่ได้ วันนี้มาเทศน์บ้านเศรษฐี เศรษฐีได้เตรียมของถวายไว้ใต้เตียง รีบถวายซะไว ๆ จะได้บุญสมดังตั้งใจ” เศรษฐีเมืองนนท์ถึงยกเครื่องไทยธรรมมาถวาย

 

อุปสมบท

                ครั้นถึงเดือน ๖ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๓๕๒ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ทรงคำนวณวันเดือนปีเกิดของสามเณรโต อายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ถึงกาลอุปสมบทได้แล้ว จึงมีรับสั่งให้พระโหราธิบดีกับเสมียนตราด้วง มาเข้าเฝ้าแล้วมีรับสั่งให้พระโหราฯ เป็นผู้แทนพระองค์อุปสมบทสามเณรโต ที่วัดตะไกร อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๒๐ ชั่ง เพื่อการนี้ และมีรับสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิษณุโลก เจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองพิชัย และเจ้าเมืองไชยนาทบุรี เป็นผู้รับผิดชอบอุปสมบทนาคหลวง

                หลังจากนั้น พระโหราธิบดี และ เสมียนตราด้วง ได้นำสามเณรโตขึ้นไปเหนือ สมทบกับแม่งุดและเจ้าเมืองทั้งห้า เพื่อประกอบพิธีอุปสมบทนาคหลวง ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระยุพราช

                ลุถึงเวลาบ่ายสามโมงเศษ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ สามเณรโต ลาสิกขานิวัติออกเป็นนาคเข้าสู่โรงพิธีบนหอนั่ง ขณะนั้นท่านเจ้ากรมเมืองการ เจ้าบ้านคหบดี เจ้าภาษีนายอากร ราษฎรและญาติโยมต่าง ๆ ได้ทยอยเข้าสู่บริเวณพิธี พระโหราธิบดีเรียกหมอทำขวัญ และพราหมณ์จากบางกอกทำขวัญเวียนเทียน พิณพาทย์ก็บรรเลงตามเพลงตระ กลม กราว เชิด ไปเสร็จ แล้วฉลองอาหารกันเต็มอิ่ม ค่ำมืดก็จุดไฟ เต้นรำทำเพลงกันสนุกยิ่ง ถือเป็นงานบุญอันยิ่งใหญ่ ที่เคยจัดที่วัดตะไกร

                เช้า ๐๖.๐๐ น. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พุทธศักราช ๒๓๕๒ ตรงกับวันวิสาขบูชา ขบวนแห่นาคหลวงขบวนใหญ่ จัดแบ่งเป็น ๗ ตอน ประกอบด้วยพวกนักมวย กระบี่กระบอง กลองยาว เทียนอุปัชฌาย์ ไตร บาตร ไตรอุปัชฌาย์ เจ้าเมือง ข้าราชการผู้ใหญ่ กรมการเสมียนตรา ข้าหลวง ญาติมิตร คนช่วยงานถือของถวายอันดับ และพวกเต้นรำรำปร๋อหน้ากระบวนแห่ กระบวนเวียนโบสถ์ ๓ รอบ เจ้านาควันทาสีมา แล้วขึ้นโบสถ์ทิ้งทานเงินเกลื่อนพื้น เด็กผู้ใหญ่วิ่งเข้าแย่งเก็บกันอลหม่าน เจ้านาคเปลื้องเครื่องแต่งกายที่แห่มาเป็นชุดขาว ผ้ากรองทองห่มสไบเฉียง แล้วญาติโยมช่วยกันจูงเข้าอุโบสถ พระโหราธิบดีนำเข้ากราบไหว้พระประธาน

                ท่านเจ้าคุณพระธรรมาจารย์ วัดท่าหลวงเป็นประธานที่พระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูหนู เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระครูพัฒน์ เป็นอนุศาสนะ ลงโบสถ์พร้อมกับพระสงฆ์อื่นรวม ๒๙ รูป แม่งุดจึงยื่นผ้าไตรส่งให้นาค เจ้านาคน้อมคำนับรับเอาเข้ามาในท่ามกลางสงฆ์ พวกกรมการยกเทียนอุปัชฌาย์ ไตรอุปัชฌาย์ พร้อมด้วยกรวยหมากเข้าส่งให้นาคถวายพระอุปัชฌาย์ แล้วเจ้านาคยืนขึ้นวันทาอ้อนวอนขอบรรพชาเป็นภาษาบาลี ครั้นเสร็จเรียนกรรมฐานแล้ว ออกครองผ้าเข้ามาถวายเทียน ผ้าไตรแก่พระครูหนู พระกรรมวาจา แล้วยืนขึ้นขอประทานวิงวอนขอพระสรณาคมน์ เข้ามายืนขอนิสัยพระอุปัชฌาย์ สำเร็จเป็นภิกษุภาวะ เมื่อ ๐๗.๐๐ น. ครั้นเสร็จการอุปสมบทแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงออกจากโบสถ์ก็ลงมาฉันเช้าที่ศาลาวัดตะไกร พร้อมกับพระภิกษุโตด้วย

                หลังจากพิธีอุปสมบทผ่านพ้นไปแล้ว พระโหราธิบดี เสมียนตราด้วง ได้นิมนต์พระภิกษุโตกลับบางกอก เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดระฆังฯ ต่อไป

                พระภิกษุโตมีความรู้แตกฉานลึกซึ้งในพระไตรปิฎก เรียนจนกระทั่งพระอาจารย์หมดภูมิถ่ายทอด พระภิกษุโตต้องไปเรียนกับพระประธานในโบสถ์ รู้แจ้งเห็นธรรมทะลุปรุโปร่งแม้ท่านจะเรียนเก่งเพียงใด ท่านก็ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัย มีความเคารพยำเกรงต่อผู้ใหญ่ ปฏิบัตินอบน้อมถ่อมตนสม่ำเสมอกับคนทุกชนชั้น จึงเป็นเหตุให้อำมาตย์ราชเสนา คฤหบดี คฤหปัตนี คุณท้าว คุณแก่ คุณแม่ คุณนาย คุณชาย คุณหญิง ผู้คุ้นเคยไปมาหาสู่อาราธนาให้แสดงธรรมตลอดไตรมาสบ้าง พิเศษบ้าง เทศน์มหาชาติบ้าง สวดมนต์เย็น ฉันเช้าในงานมงคลต่าง ๆ เกิดอติเรกลาภเสมอ ๆ มิได้ขาด

 

มหาโต

                ครั้นพระภิกษุโตมีอายุ ๓๐ ปี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทรได้รับพระราชทานพระบวรราชอิสรศักดิ์สูงขึ้น เมื่อเสร็จอุปราชาภิเษกแล้ว พระภิกษุโตได้เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล จึงทรงโปรดพระราชทานเรือพระที่นั่งกราบ เป็นเรือสีถวายให้โดยมีรับสั่งว่า “เอาไว้สำหรับไปเทศน์โปรดญาติโยม” ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้เป็น “มหาโต” ด้วย แต่นั้นมาทุกคนในสยาม ก็เรียกท่านว่า มหาโต ทั่วทั้งแผ่นดิน

                มหาโตสอบได้เปรียญห้า ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร และไม่เคยคิดจะสอบเปรียญธรรม เพื่อเพิ่มเติมประโยคบาลีให้สูงขึ้นไปอีก เนื่องจากท่านมีความคิดว่า ท่านจะเหนืออาจารย์ไม่ได้ แต่กระนั้นก็ตาม มหาโตมักจะได้รับเชิญเป็นกรรมการสอบทุกครั้ง ในการสอบนักธรรมสนามหลวง

                ลุเข้าพุทธศักราช ๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักใหม่ ในวัดมหาธาตุ (เปลี่ยนชื่อจากวัดนิพพานาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒) เพราะทูลกระหม่อมฟ้าพระองค์ใหญ่ จะทรงพระผนวชเป็นสามเณร พระมหาโตได้เป็นพระพี่เลี้ยงและเป็นครูสอนอักขระขอม ตลอดจนคัมภีร์มูลกัจจายน์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชมีกิจ พระมหาโตจะเป็นพระอาจารย์ขยายความแทน เป็นเหตุให้พระมหาโตสนิทคุ้นเคยกับทูลกระหม่อมองค์ใหญ่อย่างลึกซึ้ง และได้รับความไว้วางใจอย่างสูงสุด เมื่อทูลกระหม่อมองค์ใหญ่ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เข้าป่า

                วิถีชีวิตของมหาโตเปลี่ยนแปลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ อันเป็นแผ่นดินของรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติ มหาโตก็ธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ข้ามประเทศลาวและเขมร ตลอด ๒๕ปีที่รัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์ พระมหาโตได้ศึกษาชีวิตของสัตว์ในป่า และธรรมชาติด้วยตนเองรูปเดียว จนกระทั่งฝึกจิตได้ฌานขั้นสูง สำเร็จอนุสติฌานและเจโตปริยญาณ สามารถหยั่งจิตพูดคุยกับสัตว์ป่ารู้เรื่อง ท่านปฏิบัติจิตอยู่ในดงพญาไฟนานถึง ๑๕ ปี จึงได้ประสบกับความสำเร็จดังกล่าว

                พอถึงปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ ทูลกระหม่อมองค์ใหญ่เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานชิ้นแรกที่พระองค์ทำ คือ ประกาศหาตัวพระมหาโต โดยสั่งเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ฝ่ายตะวันออก ฝ่ายตะวันตก ทั่วราชอาณาจักรให้จับพระมหาโต ส่งมายังเมืองหลวงให้ได้ พร้อมทั้งให้เจ้าคณะเหนือ กลาง ใต้ ตก ออก ค้นหามหาโต พระที่มีรูปร่างผอม ๆ หน้าตาเหมือนมหาโตหน่อยก็ถูกจับส่งเข้าเมืองหลวง จนกระทั่งข่าวจับพระมหาโต ดังถึงหูชาวบ้านชาวป่าต่างรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสั่งให้จับมหาโต

 

มอบตัว

                มหาโตหนีกบดานเฉพาะอยู่ในดงพญาไฟนานถึง ๑๕ ปี ถึงกับอุทานขึ้นมาว่า “กูหนีมา ๒๕ ปี ทำไมเพิ่งมาประกาศจับ” ถามไปถามมาจึงรู้ว่าเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว มหาโตก็ไปโผล่ที่บ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ให้ตำรวจหลวงนำท่านเข้าบางกอก และได้เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๔ ณ พระที่นั่งอัมรินทร์ฯ ท่ามกลางขุนนาง ข้าราชการ ครั้นรัชกาลที่ ๔ เห็นมหาโต มีพระราชดำรัสว่า “เป็นสมัยของฉันปกครองแผ่นดินแล้ว ท่านต้องช่วยฉันพยุงพระบวรพุทธศาสนาด้วยกัน” แล้วมีพระบรมราชโองการให้กรมสังฆการี วางฎีกาตั้งพระราชาคณะตามธรรมเนียม พระมหาโตก็เข้าไปตามฎีกานิมนต์ จึงถวายสัญญาบัตร ตาลปัตรแฉกหักทอง ด้ามงาเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิตติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม มีฐานานุกรม ๓ องค์ มี นิตยภัตเดือนละ ๔ ตำลึง ๑ บาท ทั้งค่าข้าวสาร

 

เจ้าคุณเจ้าอาวาส

                เมื่อออกจากพระบรมมหาราชวังแล้ว ท่านแบกพัดไปเองถึงบางขุนพรหมและบางลำพู บอกลาพวกสัปปุรุษที่เคยนับถือ มีเสมียนตราด้วงและพระยาโหราธิบดีเก่า และผู้อื่นอีกมาก แล้วท่านก็กลับมาวัดมหาธาตุฯ ลาพระสงฆ์ทั้งปวง ลงเรือกราบสีที่ได้รับพระราชทานมาแต่พระพุทธเลิศหล้าฯ ข้ามไปกับเด็กช้างผู้เป็นหลาน ท่านถือบาตร ผ้าไตร และบริขารไปบอกพระวัดระฆัง ฯ ว่า “เจ้าชีวิต ทรงตั้งฉันเป็นที่พระธรรมกิตติ มาเฝ้าวัดระฆังฯ วันนี้จ้ะ เปิดประตูโบสถ์รับฉันเถอะจ้ะ ฉันจะต้องเข้าจำวัดเฝ้าโบสถ์ จะเฝ้าวัดตามพระราชโองการรับสั่งจ้ะ” ท่านแบกตาลปัตรพัดแฉก สะพายถุงย่ามสัญญาบัติไปเก้ ๆ กัง ๆ มือหนึ่งถือกาน้ำ และกล้วยหวีหนึ่งพะรุงพะรัง พวกพระนึกขบขันจะช่วยท่านถือ เจ้าคุณธรรมกิตติก็ไม่ยอม พระเลยสนุกตามมุงดูกันแน่น แห่กันเป็นพรวนเข้าไปแน่นในโบสถ์ บางองค์ก็จัดโน่นทำนี่ ต้มน้ำบ้าง ตักน้ำถวายบ้าง ตะบันหมากบ้าง กิตติศัพท์เกรียวกราวตลอดกรุง คนนั้นก็มาเยี่ยม คนนั้นก็มาดูเลื่อมใสในจรรยาบ้าง เลื่อมใสในยศศักดิ์บ้าง ท่านทำขบขันมาก ดูสนุกเป็นมหรสพโรงใหญ่ทีเดียว บางคนชอบหวยก็เอาไปแทงหวย ขลังเข้าทุก ๆ วัน คนก็ยิ่งเอาไปแทงหวยถูกกันมากรายยิ่งขึ้น เลยไม่ขาดคนไปมาหาสู่ บางคนก็ว่าท่านบ้า บางคนก็ตอบว่า “เมื่อขรัวโตบ้า พากันนิยมชมว่าขรัวโตเป็นคนดี ยามนี้ขรัวโตเป็นคนดี พูดกันบ่นอู้อี้ว่าขรัวโตบ้า” บางวันเขานิมนต์ไปเทศน์ เมื่อจบท่านบอกว่า “เอวัง พังกุ้ย” บ้าง บางวันก็บอกว่า “เอวัง กังสือ” บางวันก็บอกว่า “เอวัง หุนหัน” เล่ากันต่อ ๆ มาว่าท่านเทศน์ไม่เว้นแต่ละวัน

                ครั้งหนึ่ง ที่วังเจ้าฟ้ามหามาลากรมหมื่นบำราบปรปักษ์ มีเทศน์ไตรมาส ๓ วัน ยก พระพิมลธรรม (อ้น) ถวายเทศน์ พระธรรมกิตติเป็นผู้รับสัพพี พระพิมลธรรมถวายเทศน์เรื่อง ปฐมสมโพธิ ปริเฉทลักขณะปริวัตรความว่า “กาลเทวินทร์ดาบสร้องไห้ เสียใจว่า ตนจะตายไปก่อน ไม่ทันเห็นพระสิทธารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซ้ำจะต้องไปเกิดในอสัญญีภพเสียอีก เพราะผลของอรูปสมาบัติเนวสัญญานาสัญญาตนะญานในปัจจุบันชาติ”

                วันที่ ๓ ก็มาถวายอีก พระธรรมกิตติ (โต) ก็ไปรับสัพพีอีก เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ทรงถามพระพิมลธรรมว่า “พระคุณเจ้า ฌานโลกีย์นี้ได้ยินว่าเสื่อมได้ไม่ใช่หรือ” พระพิมลธรรมรับว่า “ถวายพระพร เสื่อมได้” ทรงรุกอีกว่า “เสื่อมก็ได้ ทำไมกาลเทวินทร์ไม่ทำให้เสื่อมเสียก่อน บำเพ็ญแต่กามาวจรฌานถึงตายก่อนสิทธารถ ก็พอไปเกิดอยู่ในรูปพรหม หรือ ฉกามาพจรชั้นใดชั้นหนึ่งก็พอจะได้ เหตุใดไม่ทำฌานของตนให้เสื่อม ต้องมานั่งร้องไห้เสียน้ำตาอยู่ทำไม”  คราวนี้พระพิมลฯ อั้นตู้ ไม่สามารถแก้ไขออกให้แจ้งได้ ส่วนพระธรรมกิตติ (โต) เป็นพระรับสัพพี เห็นพระพิมลธรรมเฉยไม่เฉลยข้อปัญหานั้น จึงออกเสียงเรอดัง “เออ” แล้วบ่นว่า “เราหนอช่างกระไรวัดระฆังฯ อยู่ใกล้ ๆ ตรงวังข้ามฝาก เหตุใดจึงไม่ข้ามฟาก ต้องมาฝืนร่างกายทนลำบากจนดึกดื่น ๒ วัน ๓ คืนดังนี้” แล้วท่านก็นั่งนิ่ง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ทรงจุดเทียน พระพิมลธรรมก็ขึ้นถวายเทศน์จนจบ ลงธรรมาสน์แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ ก็ทรงประเคนเครื่องไทยธรรมพระพิมลธรรมยะถา พระธรรมกิตติรับสัพพี พระพิมลธรรม ถวายพระพรลา

 

ตอบปัญหา

                เมื่อถึงกำหนดเทศน์อีก พระธรรมกิตติก็ได้รับฎีกาอันเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ นิมนต์เทศน์ต่อจากพระพิมลธรรม ท่านเต็มใจรับและบอกมหาดเล็กให้ไปกราบทูลให้ทรงทราบ

                ครั้นวัน ๗ ค่ำ เวลา ๓ ทุ่ม พระธรรมกิตติก็ไปถึงท้องพระโรง สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลาฯ เสด็จออก ทรงเคารพแล้วปราศรัย แล้วจุดเทียน พระธรรมกิตติขึ้นธรรมาสน์ถวายศีล ถวายศักราช ถวายพระพร แล้วจึงเดินคาถาที่ผูกขึ้นว่า

                วิมลธมฺมสฺส ฯลฯ กสฺมาโส วิโสจตีติ

                อธิบายความว่า “มหาบพิตรเจ้า มีพระปุจฉาแก่เจ้าคุณพระพิมลธรรมว่า เหตุไฉนกาลเทวินทร์จึงร้องไห้ ควรทำฌานของตนให้เสื่อมดีกว่านั่งร้องไห้” ดังนี้ข้อนี้อาตมภาพผู้มีสติปัญญาทราม หากได้รับพระอภัยโทษ โปรดอนุญาตให้แสดงต่อข้อปุจฉา อาตมาจำต้องแก้ต่างเจ้าคุณพระพิมลธรรมดังมีข้อความตามพระบาลีที่มีมาในพระปุคคลบัญญัติ มีอรรถกาฎีกา แก้ไว้พร้อมตามพระคัมภีร์ว่า

                กุปฺปธมฺโม อกุปฺปธมฺโม

                ท่านแสดงตามคำภีร์เสียพักหนึ่ง ว่าด้วยข้อฌานโลกีย์เสื่อมได้ในคนที่ควรเสื่อม ไม่เสื่อมได้ในคนที่ไม่ควรเสื่อม ฌานก็เสื่อมไม่ได้ตามบาลี แล้วอธิบายซ้ำว่า ธรรมดาฌานโลกีย์เสื่อมได้เร็วก็จริงอยู่ แต่บุคคลผู้เป็นเจ้าของผู้ได้ฌานมีความกระหายต่อเหตุการณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเป็นของใหม่ ของเก่าก็ยังอาลัยสละทอดทิ้งเสียไม่ได้ เพราะเคยเสวยสุขคุ้นเคยกันมานาน ของเก่าคือฌานที่ตนอาศัยสงบอารมณ์ ก็เห็นมีคุณดีอยู่ของใหม่ตามข่าวบอกเล่ากันต่อมา และคนที่ควรเชื่อได้ชี้แจงอย่างถี่ถ้วนว่า ของใหม่ดีอย่างนั้น ๆ แต่อาลัยของเก่ามาก จึงทิ้งไม่ได้ ทำไปไม่ได้ จะยึดสองฝ่ายก็ไม่ได้ เพราะของใหม่ไม่คุ้นกัน ไม่เคยเห็นใจกัน พะอืดพะอมมาก เสียดายของรักก็มี เสียดายของใหม่ คือรู้แน่ว่าพระสิทธัตถะจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็มี แต่แก่เสียใจว่าจะตายไปเสียก่อนและเห็นว่าพรหมโลกอยู่ในเงื้อมมือแน่นอน แต่คุณของการพบพระพุทธเจ้านั้นจะทำประโยชน์สุขสมบัติอะไร กาลเทวินทร์ยังไม่รู้ จึงไม่อาจทำฌานให้เสื่อม ทั้งเป็นบุคคลที่เป็นอกุปปธรรมยังไม่เป็นคนที่ควรเสื่อมจากคุณธรรมที่ตนได้ตนถึงด้วย เปรียบเหมือนคนที่ป่วยไข้อยู่ จะกระทำกระปรี้กระเปร่า แข็งแรงคึกคัก กินข้าว กินน้ำ อร่อยอย่างคนธรรมดาดีดีนั้นไม่ได้ คนที่ดีดี ผิวพรรณผุดผ่อง จะมารยาทำป่วยไข้ จะนั่งห่มผ้าคลุมกรอมซอมซ่อพูดกระร่อกระแร่เป็นคนไข้ก็ทำไม่ได้ ทำให้คนอื่นแลเห็นรู้แน่ว่า คนที่ทำเป็นไข้นั้นเป็นไข้มารยาไข้ไม่จริง คนในเห็นคนนอกเป็นสุขสบายก็ออกมาเป็นคนนอกไม่ได้ เหตุอาลัยความคุ้นเคยข้างในอยู่มาก คนนอกเห็นคนในนวยนาดน้ำนวลผ่องใสด้วยผ้านุ่งห่ม แต่ไม่อาจเป็นคนในกับเขา เพราะเป็นห่วงอาลัยของข้างนอก จะไปเที่ยวชั่วคราวนั้นได้ แต่จะไปอยู่ทีเดียวไม่ได้ เพราะไม่ไว้วางใจว่าเหตุการณ์ข้างในจะดีหรือเลวยังไม่แน่ใจ เป็นแต่กระหายอยู่เท่านั้น คนที่มีความสุขสบายอยู่ด้วย เพศบวชมาช้านาน แต่แลเห็นคนที่ไม่บวชเที่ยวเตร่ กินนอน ดู ฟัง เล่นหัวสบาย ไม่มีเครื่องขีดคั่นอะไรบางคราวชาววัดบางคนเห็นดีแต่ไม่อาจออกไป เพราะถ้าออกไปไม่เหมือนเช่นเขาหรือเลวทรามกว่าเขา จะทุกข์ตรมระบมทวีมากจะเดือนร้อนยิ่งใหญ่มาก ก็เป็นแต่นึกสนุกแต่ไม่ออกไปทำอย่างเขา เพราะอาลัยในความสุขในการบวชค้ำใจอยู่ออกไปไม่ได้ เป็นแต่ทำเอะอะฮึดฮัดไปตามเพลง คนที่ยังไม่เคยบวชนั้น เห็นว่าผู้บวชสบายไม่ต้องกังวลอะไร กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็เที่ยวตามสบาย ไม่ต้องเหงื่อไหลไคลย้อย ไม่ต้องแสวงหาอาหารมีคนเลี้ยงคนเชิญน่าสบาย คนที่ไม่บวชคิดเห็นดีไป เพ้อ ๆ เท่านั้น แต่ไม่กล้าหันเข้ามาบวช เหตุว่ากามคุณทั้งห้าเหนี่ยวรั้งจิตใจไว้ สละมาเอาอย่างผู้บวชไม่ได้ เลยนั่งดูกันไปดูกันมา เพราะยังไม่ถึงคราวบวช หรือยังไม่ถึงคราวจะสึกก็ยังสึกและยังบวชไม่ได้นั่นเอง ข้ออุปมาทั้งหลายดังถวายวิสัชนามานี้ ก็มีอุปไมยเปรียบเทียบด้วยฌานทั้ง ๙ ประการ ที่เป็นธรรมเสื่อมได้เร็วก็จริง แต่ยังไม่ถึงคราวเสื่อม ก็ยังเสื่อมไม่ได้ กาลเทวินทร์ดาบสก็เปรียบดังชาววัด ชาวบ้าน ชาวนอกชาวใน ต่างเห็นของกันและกัน ไม่อาจแสร้งให้ฌานเสื่อม ที่ตรงแกร้องไห้นั้น อาตมภาพเข้าใจว่า แกร้องไห้เสียดายขันธ์ เพราะแกกล่าวโดยอันยังไม่รู้เท่าทันขันธ์ว่ามันเป็นสภาพแปรปรวน แตกดับเป็นธรรมดาของมันเอง แต่เวลานั้นโลกยึดถือขันธ์มาช้านาน ที่กาลเทวินทร์เจริญอรูปฌานจนสำเร็จ ก็เพราะคิดรักษาขันธ์เพื่อมิให้ขันธ์พลันแตกสลายทำลาย จึงพยายามมาให้สำเร็จความปรารถนาและเสียดายหน้าตา ถ้าชีวิตของแกอยู่มาอีก ๓๖ ปี แกจะได้เข้าบรรจบประสบคุยกับหมู่พุทธบริษัท และหมู่พระประยูรญาติ และหมู่พุทธมามกะผู้นับถือ แกจะพลอยมีชื่อยกตัวเป็นครูอย่างดีกว่าที่แล้วมา แต่พระอรรถกถาจารย์ท่านไม่ว่าอย่างขรัวโตเห็น ท่านก็เพียงว่ากาลเทวินทร์เสียใจว่าจะตายเสียก่อนเท่านั้น ไม่ทันพระสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้าเท่านี้ฯ

                ท่านเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) เทศน์ได้จับใจคนฟัง ธรรมเทศนาของท่านเข้าใจง่าย ไม่ต้องนั่งแปลไทยเป็นไทย เพราะท่านใช้คำไทยตรง ๆ เป็นภาษาพื้น ๆ ที่คนทั่วไปฟังเข้าใจ ญาติโยมชมว่าดี ได้อรรถรสในการฟังธรรม เป็นที่นิยมของคนทุกชั้น ฟังไปก็สนุกได้คติธรรม ไม่ง่วงเหงาหาวนอนเหมือนพระอาวุโสอื่น ๆ เทศน์บาลีปนภาษาสยาม สาธุชนผู้สดับฟังไม่ได้ร่ำเรียนมาฟังไม่เข้าใจ ผลสุดท้ายก็สัปหงกกันเป็นแถว

                ดั่งเช่นครั้งหนึ่ง เมื่อคราวที่พระธรรมกิตติ (โต) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรม ณ พระที่นั่งอัมรินทร์ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกท่ามกลางหมู่ขุนนางข้าราชการ และข้าราชบริพาร

                พอปะหน้าท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติ (โต) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสัพยอกว่า “ว่าไงเจ้าคุณ เขาชมกันทั้งเมืองว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ขอพิสูจน์หน่อย”

                ท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติ (โต) ถวายพระพรว่า “ผู้ที่ไม่รู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้เขาก็ชมว่าดี ขอถวายพระพร”

 

บอกหวย

                พระองค์ทรงพระสรวล แล้วทรงถามว่า “ได้ยินข่าวเขาว่า เจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกันจริงหรือ”

                ท่านเจ้าคุณทูลว่า “อาตมภาพจะขอแถลงแจ้งคำให้การแก้พระราชกระทู้โดยสัตย์ว่า ตั้งแต่อาตมภาพได้อุปสมบทมา ไม่เคยเอ่ยวาจาว่าหวยจะออก ด.กวางเหมงตรง ๆ เหมือนดังบอก ด.กวางเหมง แต่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้ ไม่เคยบอกแก่ผู้ใดเลย”

                รัชกาลที่ ๔ ได้ฟังแล้วทรงพระสรวล แล้วทรงจุดเทียน พระธรรมกิตติจับตาลปัตรแฉกขึ้นธรรมาสน์ เมื่ออาราธนาแล้ว ก็ถวายศีล ถวายศักราช พอถึงปีชวดท่านก็ย้ำ “ฉศก ฉศก ฉศก”

                สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระอักษรอยู่ ได้ทรงฟังปีชวด ฉศก ย้ำ ๆ อยู่นาน ก็เงยพระพักตร์ขึ้นพนมหัตถ์รับว่า “ถูกแล้ว ชอบแล้ว เจ้าคุณ” แต่กาลก่อนที่ล่วงมาแล้ว เดิมเลข ๖ ท้ายศักราช เขียนและอ่านต่อ ๆ มาว่า “ฉ้อศก” นั้นไม่ถูก แล้วมีรับสั่งกรมราชเลขาได้ตราพระราชบัญญัติ ออกประกาศเป็นใบปลิวให้รู้ทั่วกันทั่วพระราชอาณาจักรว่า “ตั้งแต่ ปีชวด ฉศก เหมือนศกนี้มีเลข ๖ เป็นเศษท้าย ไม่ให้เขียนและอ่านว่า ฉ้อศก อย่าเขียนตัว อ เคียงไม่ให้เขียนไม้โท ลงไปเป็นอันขาด ให้เขียน ฉ เฉย ๆ ก็พอ ถ้าเขียนและอ่านว่า ฉ้อศกอีก จะต้องว่าผู้นั้นผิดและฝ่าฝืน” กรมราชเลขาก็บันทึกและออกประกาศให้ทราบทั่วกัน

                ตรัสแล้วก็นิมนต์ท่านเทศน์ต่อไป

                พระธรรมกิตติก็ตั้งคัมภีร์บอกศักราชต่อจนจบ ถวายพระพรแล้วเดินคาถาจุณณียบท อันมีมาในพราหมณ์สังยุตตนิกายปาฏิกวรรคนั้น แปลถวายว่า ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งแกนั่งคิดว่า ...กูจะเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว กูจะถามปัญหากับเจ้าสมณโคดมดูสักหน่อย...พราหมณ์ผู้นั้น คิดฉะนี้แล้วแกจึงลงอาบน้ำดำน้ำเกล้าในห้วยแล้วแกออกจากบ้านแก แกตั้งหน้าตรงไปพระเชตวันมหาวิหาร ถึงแล้วแกจึงตั้งข้อถามขึ้นต้น แกเรียกกระตุกให้รู้ตัวขึ้นก่อนว่า “โภ โคตม นี่แน่ะพระโคดมฯ”

                ครั้นท่านว่ามาถึงคำว่า “นี่แน่ะพระโคดม” เท่านี้แล้ว ก็กล่าวว่าคำถามของพราหมณ์ และคำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่เป็นประการใด สมเด็จพระบรมบพิตรเจ้าได้ทรงตรวจตราตริตรองแล้ว ก็ได้ทรงทราบแล้วทุกประการ ดังรับประทานวิสัชนามา ก็สมควรแก่เวลาแต่เพียงนี้ เอวัง ก็มีด้วยประการดังนี้ ขอถวายพระพรฯ

                พอยถาสัพพีแล้ว ก็ทรงพระสรวลตบพระหัตถ์ตรัสว่า เทศน์เก่งจริง พวกพราหมณ์ที่เขาถือตัวว่าเขารู้มากเขาแก่มาก เขาไม่ใคร่ยอมเคารพพระพุทธเจ้านัก เขามาคุย ๆ ถาม พอแก้รำคาญต่อนาน ๆ เขาก็เชื่อในธรรมเขาก็สำเร็จเป็นพระโสดาฯ ที่ความดำริของพราหมณ์ผู้เจ้าทิฐิทั้งหลาย เขาวางโตทุกคน เจ้าคุณแปล อหํ ว่ากูนั้นชอบแท้ ทางความดีจริง ๆ ก็ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๖ บาท เติมท้องกัณฑ์ ๒๐ บาท รวมเป็น ๓๖ บาท

                วันนั้นหวยก็ออก ด.กวางเหมงจริง ๆ กิตติศัพท์ในการใบ้หวยของเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) ก็ระบือไปไกล ข้าราชการ คุณหญิงคุณนาย ผู้ดีมีจน ขึ้นกุฏิเจ้าคุณบันไดไม่แห้ง ท่านก็แกล้งห่มจีวรผืนละ ๑๐ วัน ไม่ยอมซัก เพื่อไม่ให้คนมาเซ้าซี้ขอหวยท่าน กระนั้นก็ตามผู้คนไม่ยอมถอย แม้นางกำนัลหม่อมห้ามก็ขึ้นหาพระธรรมกิตติ (โต) ไม่เว้นทุกวัน ท่านเจ้าคุณเลยเอาน้ำปัสสาวะราดรดบริเวณรอบ ๆ กุฏิ เพื่อให้คนรังเกียจไม่ขึ้นไปหาท่าน คนก็ยังแน่นกุฏิอยู่ทุกวัน

 

ใบ้หวย

                วันหนึ่งนางกำนัลของเจ้าจอมอ่อนได้ขึ้นมาขอหวย ก.ข. บอกว่า “ท่านเจ้าคุณขา ดิฉันไม่ค่อยมีเงิน ขอหวยสักตัวเจ้าค่ะ” อุตส่าห์หิ้วปิ่นโตจากวังมาให้ แล้วทำยักคิ้วยักหน้า พระธรรมกิตติมองไปมองมา ก็โพล่งขึ้นมาว่า “ตูดน่าเล่น”

                นางกำนัลโมโหใหญ่ กลับไปฟ้องรัชกาลที่ ๔ พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงว่ากระไร รับสั่งว่า “ขรัวโต ไม่มีเจตนาในทางอกุศลหรอก อย่าคิดมาก” วันนั้นหวย ก.ข. ออกตัว ต. ดังไปทั้งวัง

                ความดังนี้ ทำให้พระธรรมกิตติ (โต) ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม มีคนมารบเร้าขอหวยอยู่เรื่อย อยู่มาวันหนึ่งท่านไม่รู้จะไล่ญาติโยมที่มาอย่างไร ก็นั่งถ่ายอุจจาระลงมา คนบ้าหวยในสมัยนั้นก็บอกต่อ ๆ กันว่า ท่านเจ้าคุณขี้ ท่านใบ้ ข. ในงวดนี้ เจ้ากรรมหวย ก.ข. ก็ออกตัว ข. จริง ๆ ท่านเจ้าคุณดังระเบิด ทั่วทุกหัวระแหงในบางกอก แม้ในชนบทก็รู้จักพระเดชพระคุณ ถึงกิตติศัพท์ใบ้หวยเหมือนมีตาทิพย์

                หวยสมัยนั้นออกทั้งภาคเช้าและภาคเย็น มีพวกอั้งยี่คุมตลอดคลองสองฝั่งและย่านติดแม่น้ำ จากพระราชวังถึงแยกเจริญกรุง อั้งยี่รถเล็กคุม และจากหน้าโรงหวยถึงสะพานเหล็กตกอยู่ในอิทธิพลของอั้งยี่สามแต้ม โดยมีเถ้าแก่ฮงเป็นเจ้ามือหวยใหญ่ เมื่อหวยพระอาจารย์โตเข้าเรื่อย ๆ เจ้ามือหวยต้องการจะฉีกหน้าเจ้าคุณธรรมกิตติ (โต) จึงให้ลูกน้องปลอมเป็นลูกศิษย์ไปขอหวยด้วย เจ้าสัวเจ้ามือหวยเถื่อนกำชับลูกน้องว่า ต้องซุ่มดูที่กุฏิ เจ้าคุณให้หวยอะไรรีบมาบอก ลูกน้องก็รับคำ ไปตามคำบัญชาของเจ้าสัว

 

หวยตกน้ำ

                เฝ้าอยู่ถึงบ่าย ลูกน้องเจ้าสัวก็วิ่งมารายงานว่า หวยของขรัวโตคือ “” เถ้าแก่ฮงก็สั่งลูกน้องปลดหวย “” ทิ้งลงน้ำไป ฝ่ายคนใช้ล้างจานของเจ้าสัวบังเอิญเห็นหวยลอยน้ำ “นี่มันหวยของเจ้าสัวนี่ ทำไมตกน้ำ” จึงหยิบขึ้นไปแขวนใหม่ในที่เดิม โดยไม่รู้ว่าเจ้าสัวเป็นคนสั่งให้โยนทิ้ง

                เรื่องบังเอิญแท้ ๆ หวยวันนี้ก็ออกตัว ต. เจ้าสัวถึงกับอุทานว่า ไอ้ห่า หวยขรัวโตตกน้ำแล้วยังขึ้นมาแขวนใหม่ในที่เดิม โดยไม่รู้ว่าเจ้าสัวเป็นคนสั่งให้โยนทิ้ง

                เรื่องบังเอิญแท้ ๆ หวยวันนั้นก็ออกตัว ต. เจ้าสัวถึงกับอุทานว่า ไอ้ห่า หวยขรัวโตตกน้ำแล้วยังขึ้นมาแขวนได้โว้ย

                ท่านเจ้าคุณพระธรรมกิตติ มีกิตติศัพท์ดังไปทั่วทุกคุ้งน้ำ ไม่เป็นอันทำวัตรปฏิบัติธรรม เพราะต้องคอยต้อนรับนักเล่นหวย ท่านเจ้าคุณถึงกับรำพึงและกล่าวขึ้นลอย ๆ ว่า “ขรัวโตดีก็ว่า ขรัวโตบ้า ขรัวโตบ้าก็ว่าขรัวโตดี”

                ครั้นถึงเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีขาล พุทธศักราช ๒๓๙๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระธรรมกิตติ (โต) เป็นพระเทพกวีศรีวิสุทธินายก ตรีปิฎกปรีชามหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี ขณะนั้นท่านเจ้าคุณมีอายุ ๖๖ ปี             

 

ทรงติดกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง

                เมื่อพรรษายุกาลมากขึ้น ท่านยิ่งแตกฉานในสรรพวิชากาล สามารถเทศน์ให้ผู้ฟังหัวเราะก็ได้ เทกระเป๋าทำบุญก็ได้ ดังจะเห็นได้จากครั้งหนึ่ง ขณะยังเป็นพระเทพกวี ท่านเจ้าคุณเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนฯ เสมอมา การเทศน์ของท่านเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้งสองเข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวัง

                สมเด็จพระจอมเกล้าทรงติดเงินกัณฑ์เทศน์สลึงเฟื้อง

                พระกวีเทพไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า เจ้าถึกจ๋าเจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยัง

                พระพิมลธรรมถามว่า จะให้รู้อะไรหนา

                อ้าวท่านเจ้าถึงยังไม่รู้ตัว โง่จริง ๆ แฮะ

                ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า จะให้รู้อะไรอีกนอกคอกเปล่า ๆ

                พระเทพกวีว่า จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ ในวังไม่ใช่หรือ

                รับว่า ในวังน่ะซี

                ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำ รู้ไหมล่ะ

                รู้อะไรนะ?

                จงรู้เถิดจะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึงนั้นหัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จพระบรมบพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้องรู้ไหม?

                พอหมดคำ ก็ฮาครืนบนพระที่นั่ง สมเด็จพระจอมเกล้าฯ เลยพระราชทานรางวัลองค์ละ ๑๐ บาท

                “พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ”

                ปรากฏได้อีกฮาใหญ่ ผลก็คือได้เงินพระราชทานติดกัณฑ์เทศน์องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคิกคักกันแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟันอ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงพระสรวลแล้วมีรับสั่งให้ถวายพระธรรมเทศนา ปุจฉาวิสัชนาสืบไปจนจบ

 

เทศน์ถวายสั้นที่สุด

                ในตอนต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ มีพระราชพิธีสำคัญในพระราชวังหลวงติดต่อกัน ๓ วัน พระเทพกวี (โต) ได้รับนิมนต์เข้าไปถวายพระธรรมเทศนาทั้ง ๓ วัน

                วันแรก ท่านก็ถวายพระธรรมเทศนาเรียบร้อยพอสมควรแก่เวลา ท่านเจ้าคุณก็ถวายพระพรลาไป

                ขึ้นวันที่ ๒ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะฟังธรรมเทศนาสั้น ๆ ด้วยมีพระราชหฤทัยจดจ่อกระวนกระวายต่อจ้าจอมชั้นเอกอุท่านหนึ่งใกล้จะมีประสูติกาล โดยมีพระราชประสงค์จะเข้าไปดูว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีรู้ด้วยญาณวิถี จึงถวายวิสัชนายืดยาวเป็นพิเศษ โดยไม่สนใจว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงกระวนกระวายเพียงใด

                รุ่งขึ้นวันที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่าได้พระราชโอรสแล้วทรงสบายพระทัย ใคร่จะสดับฟังพระธรรมเทศนายาว ๆ แต่คราวนี้ท่านเจ้าคุณพระเทพกวี (โต) ขึ้นต้นด้วยการถวายศีล บอกศักราช ถวายพระพร ตั้งนะโม ๓ จบ แปลอรรถอกสองสามคำ แล้วก็กล่าวว่า “ไม่ว่าจะถวายพระธรรมเทศนาหมวดใด ๆ มหาบพิตรก็ทรงทราบหมดแล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้” แล้วลงจากธรรมาสน์ไป

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสถาท่านว่า “ขรัวโตเมื่อวานเทศน์ยาว วันนี้เทศน์สั้น เพราะเหตุประการใดหรือ”

                เจ้าประคุณสมเด็จ ถวายพระพรว่า “เมื่อวานอาตมภาพเห็นมหาบพิตรทรงมีพระราชหฤทัยกังวลขุ่นมัวเป็นอันมากจะดับเสียได้ ก็โดยทรงสดับพระธรรมเทศนาให้มากเข้าไว้ แต่วันนี้เห็นว่าทรงมีพระราชหฤทัยผ่องแผ้วขึ้นแล้ว จะไม่ทรงสดับเสียก็ยังได้”

                พระจอมเกล้าฯ ทรงแย้มพระโอษฐ์สรวล ไม่ทรงตัดพ้อต่อว่าแต่ประการใด

 

ออกนอกราชอาณาจักร

                มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ในหลวงกริ้ว พระเทพกวีเมื่อครั้งเทศน์ถึงประเพณีอินเดีย ซึ่งใช้ระบบคลุมถุงชน เรือล่มในหนองทองไม่ไปไหนเสีย ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีเทศน์ถึงการตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ และการตั้งวงศ์สักยะ ในพระปฐมสมโพธิปริเฉทที่ ๑ นั้น แต่ในสมัยใช่กาลจะเทศน์พระปฐมสมโพธิปริเฉทที่ ๑ ไม่ใช่กลางเดือน ๖ ท่านก็นำไปเทศน์ถวายว่า เมื่อตั้งกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว มีการนำพระโอรสกษัตริย์ในวงศ์เดียวกันมาอภิเษก ตามลัทธิคติของพวกพราหมณ์ที่พากันนิยมว่า แต่งงานกันเองไม่เสียวงศ์จนเป็นโลกบัญญัติสืบมาช้านาน จนถึงกษัตริย์โอกากะรัชกาลที่ ๑ รวมพี่น้อง ๗ องค์ เจ้าชาย ๓ เจ้าหญิง ๔ ออกจากเมืองพระราชบิดามาตั้งเป็นราชธานี ขนานนามว่ากรุงกบิลพัศดุ์ตามบัญญัติของกบิลฤาษี ต่อไปนี้ก็แต่งงานราชาภิเษกพี่เอาน้อง น้องเอาพี่ เอากันเรื่อยไม่ว่ากัน เห็นตามพราหมณ์เขาถือมั่นว่า อสัมภินวงศ์ ไม่แตกพี่แตกน้องแน่นแฟ้นดี บริสุทธิ์ไม่เจือไพร่ คราวนี้เลียนอย่างมาถึงประเทศใกล้เคียงมัชฌิมประเทศ ก็พลอยเอาอย่างกันสืบ ๆ มา จนถึงสยามประเทศก็เอาอย่าง เอาพี่เอาน้องขึ้นราชาภิเษกและสมรสกันเป็นธรรมเนียมมา

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พอพระราชหฤทัย มีรับสั่งว่า “ขรัวโตว่าฉันนี่ ต้องออกจาราชอาณาจักรของฉันเดี๋ยวนี้ ภายใน ๓ วันนี้ต้องออกพ้นจากดินแดนของฟ้า”

                พระเทพกวี (โต) ทูลว่า “ถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพออกจากราชอาณาจักรสยามแน่ ไม่ต้องถึง ๓ วัน ภายในวันเดียวจะไปให้พ้นพระราชอาณาจักรของมหาบพิตร”

                สมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กริ้วจัด ให้มหาดเล็กติดตามพระเทพกวีไปดูว่า ขรัวโตจะออกจากราชอาณาจักรสยามได้ในหนึ่งวันเท่านั้นละหรือ ขรัวโตเหาะได้หรืออย่างไร

                มหาดเล็กเดินต้อยตามหลังพระเทพกวี (โต) ซึ่งรวบรวมอัฐบริขารอาหารต่าง ๆ พร้อมกระโถนย้ายจากกุฏิเข้าไปนั่งในโบสถ์กับพระประธาน ก็กลับมากราบบังคมทูลว่า ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีโกหก เวลานี้ยังอยู่ในวัดระฆังฯ ไม่ได้เดินทางออกจากพระราชอาณาจักรแต่อย่างใด พระเจ้าค่ะ

                รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดระฆังฯ ด้วยพระองค์เอง ตรัสว่า “ขรัวโต ไหนบอกว่าจะออกจากราชอาณาจักรสยาม แล้วทำไมมาอยู่ในที่นี้”

                พระเทพกวีทูลว่า “ถวายพระพร มหาบพิตร ขณะนี้อาตมภาพอยู่ในพุทธจักร พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัทธสีมาแล้วเป็นเขตพุทธาวาส จึงมิได้อยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์ ตั้งแต่วันมีพระราชโองการ อาตมภาพไม่ได้ลงดินของมหาบพิตรเลย ก็กินข้าวที่ไหน ไปถานที่นั่น ขอถวายพระพร บิณฑบาตบนโบสถ์นี้ ฉันถานในกระโถน”

                ท้ายที่สุดรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม ก็ทรงขอโทษ และมีรับสั่งว่า ให้ขรัวโตอยู่ในราชอาณาจักรของฟ้าได้

 

เวรต่อเวร

                คราวหนึ่งพระวัดระฆังฯ เกิดวิวาทกัน พระแดงตีหัวพระเปี๊ยก พระเปี๊ยกมาฟ้องพระเทพกวี เจ้าอาวาสวัดระฆังฯ พระเทพกวีชี้ว่าคุณตีเขาก่อน พระเปี๊ยกเถียงว่าผมไม่ได้ทำ พระแดงตีกระผมฝ่ายเดียว พระเทพกวีย้ำว่าก็คุณตีเขาก่อน เขาก็ต้องตีคุณ คุณน่ะผิด ฉันจะจ่ายค่ายาค่าทำขวัญให้ เรื่องนี้ให้เลิกแล้วต่อกัน

                พระเปี๊ยกทำเรื่องร้องอุทธรณ์ต่อสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณฯ เจ้าคณะกลาง ให้พระเถระสอบส่วนว่าพระเทพกวีตัดสินไม่ยุติธรรม สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เรียกพระเทพกวีเข้าชี้แจง ท่านก็ยืนคำเดิมว่า พระเปี๊ยกผิดเช่นเดิม สมเด็จพระวันรัตถามว่า เจ้าคุณพระเทพกวี รู้อย่างไรว่าพระเปี๊ยกตีก่อน ท่านตอบว่าท่านรู้ตามพุทธฎีกาว่า “เวรไม่ระงับเพราะจองเวร เวรต่อเวร มันตอบแทนกัน ฉันเห็นตามคำพระพุทธเจ้า จึงกล้าวิจารณ์พิจารณาว่า พระเปี๊ยกในอดีตไปตีพระแดง ปัจจุบันชาติจึงถูกพระแดงตีหัวแตก”

                สมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) เถียงไม่ขึ้น เพราะพระเทพกวีอ้างพุทธฎีกา จึงว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเจ้าคุณ จงระงับอธิกรณ์ อย่าให้เป็นเวรกัน” แล้วนิมนต์ท่านกลับ

                หลังจากนั้น พระเทพกวี กล่าวธัมมิกถาพรรณนาอานิสงส์ของผู้ระงับเวร พรรณนาโทษของผู้จองเวรให้พระเปี๊ยกและพระแดงฟัง ชี้ให้เห็นบาปบุญคุณโทษ ไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายต่อไป แล้วท่านเอาเงินทำขวัญและค่ายามอบให้พระเปี๊ยก ๓ ตำลึง และว่า “ท่านทั้งสองไม่ผิดฉันเป็นผู้ผิดจ้ะ เพราะฉันปกครองไม่ดี”

 

แก้พระวิวาทกัน

                อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระเทพกวี (โต) นั่งเอกเขนกนอกกุฏิ ท่านเห็นพระวัดระฆังฯ ๒ รูปชี้หน้าด่ากัน เสียงดังลั่นวัด ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีลุกเข้ากุฏิจัดดอกไม้ ธูปเทียนใส่พาน รีบเดินเข้าไปหาพระทั้งสองแล้วทรุดตัวนั่งคุกเข่า ทำท่าถวายดอกไม้ธูปเทียนให้พระคู่นั้น แล้วอ้อนวอนฝากตัวว่า “พ่อเจ้าประคุณพ่อจงคุ้มครองฉันด้วย ฉันฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นจริงแล้วว่า พ่อเก่งเหลือเกิน เก่งพอได้ เก่งแท้ ๆ พ่อเจ้าประคุณ ขรัวโตฝากตัวด้วย”

                พระทั้งคู่ก็เลยเลิกวิวาท มาคุกเข่ากราบพระเทพกวี และท่านก็กราบตอบ กราบกันไปกราบกันมาอยู่พักหนึ่ง ผลที่สุดพระวัดระฆัง ฯ คู่นี้เลิกเป็นปากเสียงกัน ทำให้พระลูกวัดอื่น ๆ ไม่กล้าทะเลาะกันอีก

 

ยถาอตริ

                พระเทพกวี (โต) เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งท่านเจ้าคุณได้รับนิมนต์ไปฉันในพระบรมมหาราชวัง เมื่อฉันเสร็จแล้ว ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีขึ้น “ยะถาวาริวะหา ปุราปะริ ปุเรนติ สาคะรัง เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ สัพเพ ปุเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิโชติระโส ยะถาฯ”  สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสัพยอกว่า ทำไมจึงไปให้เปรตเสียหมด คนที่ทำจะไม่ได้บ้างหรือ ท่านเจ้าคุณพระเทพกวีขึ้นอนุโมทนาวิธีใหม่ว่า “ยะถา วาริ วะหา ปุรา ปะริปุเรนติ สาคารัง เอวะ เมวะ อิโต ทินนัง ทายะกานัง ทายิกานัง สัพเพสัง อุปะกัปปะติฯ” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลตรัสว่า ยถาอุตริ สัพพี อุตตรอย แล้วพระราชทานรางวัล ๖ บาท ให้พระเทพกวี (โต)

               

ปฏิปทา

                กล่าวขานกันว่าท่านเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้รับรางวับทุกครั้ง แต่เมื่อท่านพ้นประตูวังว่าแล้วมักไม่ใครมีเงินเหลือในย่าม เพราะมหาดเล็กในวังต่างล้วงย่ามของท่านเอาเงินไปหมด กลับถึงวัดระฆังฯ เหลือเงินอย่างมากที่สุดก็ ๑๘ สตางค์ เท่าที่จดจำสถิติมา

                ท่านเจ้าคุณเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีจรรยาอาการประพฤติอ่อนน้อม ท่านมีความประพฤติผิดจากชาวบ้านทั่วไป ไม่ว่าพระสงฆ์หรือเณรแบกคัมภีร์เรียนมา ถ้าท่านเจ้าคุณพบเข้าแม้จะเป็นกลางถนน ท่านเป็นต้องหมอบก้มลงกราบ ถ้าพระเณรไม่ทันพิจารณา สำคัญว่าท่านเจ้าคุณก้มลงเคารพตนและก้มเคารพตอบท่านเมื่อไร เมื่อนั้นต่างคนต่างหมอบแต้เคารพอยู่ที่นั่น สร้างความครึกครื้นแก่ผู้พบเห็นเสมอ ๆ

 

สมเด็จ

                ครั้นถึงวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พุทธศักราช ๒๔๐๗ ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พระพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) วัดสระเกศฯ ถึงแก่มรณภาพ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระเทพกวี (โต) แห่งวัดระฆังฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ องค์ที่ ๕ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังความปรากฏในคำประกาศดังต่อไปนี้

 

สำเนาตัวอย่างย่อความ

คำประกาศ

ทรงสถาปนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังษี

วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๗ พรรษา

ด้วยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงมีพระราชดำริว่า พระเทพกระวี มีพระพรรษายุกาล ประกอบด้วยรัตตัญญูมหาเถร

ธรรมยั่งยืนมานาน แลมีปฏิภาณปรีชา ปีฏกกลาโกศล แลฉลาดในโวหารนิพนธ์ เทศนา

ปริวัติวิธี แลทำกิจในสุตนั้นด้วยดีไม่ย่อหย่อน อุตสาหะสั่งสอนพระภิกษุสามเณรโดยสมควร

อนึ่งไม่เกียจคร้านในราชกิจบำรุงพระพรมราชศรัทธา ฉลองพระเดชพระคุณเวลานั้น ๆ

สมควรเป็นที่อรัญญิกมหาสมณคณิศราจารย์ พระราชาคณะผู้ใหญ่มีอิสริยยศยิ่งกว่า

สมณนิการฝ่ายอรัญวาสี เป็นอธิบดีครุฐานิยพิเศษควรสักการะบูชา แห่งนานาเนกบรรพสัช

บรรดาผู้นับถือพระบรมพุทธศาสนาได้ จึงมีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาท

ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเทพกระวี ศรีวิสุทธินายก ตรีปีฎกปรีชา มหาคณฤศร บวรสังฆา

รามคามวาสี เลื่อนที่ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ

นิพันธธุตคุณ ศิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปีฏกโกศล

วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร พระอารามหลวง

ขณะนั้นมีพระพรรษา ๗๖ พรรษา เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์องค์ที่ ๕ ใน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

ผู้ย่อสำเนา

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) พรหมรังษี

 

 

เทศน์สิบสองนักษัตร

          ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ขณะนี้มีชนมายุ ๗๖ ยิ่งอายุมากความรู้ยิ่งบ่มแน่น สมเป็นปราชญ์รู้แจ้งแทงตลอดทั้งทางโลกทางธรรม พฤติกรรมของพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จ หลายครั้งหลายวาระชี้ให้เห็นว่าท่านเจ้าประคุณมีญาณวิเศษหยั่งรู้ถึงจิตใจของผู้คน

                ดังปรากฏในงานของท่านเจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาประสาทซึ่งใช้ให้ทนายคนหนึ่งไปนิมนต์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) มาเทศน์ที่บ้าน เรื่อง จตุราริยสัจ โดยมิได้เขียนฎีกาบอกชื่อ อริยสัจให้ทนายไป

                ทนายคนนั้นก็ตรงไปหาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่วัดระฆังฯ โดยพนมมือกราบเรียนว่า “ท่านเจ้าคุณสมเด็จเจ้าพระยาประสาท ให้มาอาราธนาเจ้าประคุณสมเด็จ ไปแสดงธรรมที่บ้านในค่ำวันนี้”

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จึงถามว่า “ท่านจะให้เทศน์เรื่องอะไรจ๊ะ

                ทนายของสมเด็จเจ้าพระยาลืมชื่อ อริยสัจ จำไม่ได้นึกไปนึกมา ก็พนมมือแต้ ตอบว่า “สิบสองนักษัตรขอรับกระผม” แล้วก็กราบลาไป

                พอเวลาค่ำ เจ้าประคุณสมเด็จ (โต) พร้อมลูกศิษย์ได้เข้าไปในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาประสาท ขณะนั้นมีอุบาสกอุบาสิกานั่งพับเพียบเรียบร้อยคอยสดับฟังคำเทศน์อยู่แน่นเรือนของท่านเจ้าพระยา เจ้าประคุณสมเด็จ จึงขึ้นธรรมาสน์ให้ศีลบอกศักราช แลตั้งนะโม ๓ หนจบแล้ว จึงว่าจุณณียบทสิบสองนักษัตรว่า “มูสิโก อุสโภ พยัคโฆ สโส นาโค สัปโป อัสโส เอฬโก มักกโฎ ดุกกุโฏ สุนโข สูกโร” แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่า มูสิโก หนู อุสโภ วัวผู้ พยัคโฆ เสือ สโส กระต่าย นาโค งูใหญ่ สัปโป งูเล็ก อัสโส ม้า เอฬโก แพะ มักกโฏ ลิง กุกกุโฏ ไก่ สุนโข สุนัข สูกโร สุกร ดังนี้”

                ฝ่ายท่านสมเด็จเจ้าพระยา พระยาเจ้าของกัณฑ์กับพวกสัปปุรุษทายก ก็มีความสงสัยว่าทำไมเจ้าประคุณสมเด็จจึงมาเทศน์สิบสองนักษัตรดังนี้เล่า แลสงสัยว่าทนายจะไปนิมนต์ท่านเรียกชื่อ อริยสัจผิดไปดอกกระมัง ท่านสมเด็จเจ้าพระยาจึงเรียกทนายคนนั้นเข้ามาถามว่า เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเทศน์เรื่องอะไร ทนายก็กราบเรียนว่านิมนต์เทศน์เรื่องสิบสองนักษัตรขอรับผม ท่านสมเด็จเจ้าพระยาว่านั่นประไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจ ไปเสียแล้วไปคว้าเอาสิบสองนักษัตรเข้า ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั้นซิ

                ฝ่ายเจ้าประคุณสมเด็จ ทราบด้วยญาณวิถีว่าท่านเจ้าภาพต้องการให้เทศน์เรื่องอริยสัจ แต่คนนิมนต์บอกผิดเพื่อรักษาหน้าเจ้าภาพ และ เทศน์ให้ตรงตามความต้องการของเจ้าของงาน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ก็ขยายความต่อไปว่า อาตมภาพก็เห็นว่า สิบสองนักษัตรนี้เป็นต้นทางของอริยสัจที่แท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่องสิบสองนักษัตรสักครั้ง สักหน เทศน์ที่ไหน ๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์สิบสองนักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของบพิตรเป็นมหัศจรรย์ เทพยเจ้าผู้รักษาพุทธศาสนาจึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไป ให้บอกว่าเทศน์สิบสองนักษัตรดังนี้ อาตมภาพก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์ เพื่อจะให้สาธุชนแลบพิตรเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่องสิบสองนักษัตร อันเป็นต้นทางของอริสัจทั้งสี่ จะได้ธรรมสวนานิสงส์อันล้ำเลิศ ซึ่งจะได้ก่อให้เกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจทั้งสี่

                แท้ที่จริงตามธรรมเนียมนับปี เดือน วัน คืน นี้ นักปราชญ์ผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณต้นปฐมกาลในชมพูทวีปบัญญัติตั้งแต่งขึ้นไว้คือ กำหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหามาตั้งเป็นชื่อ เดือน วัน ดังนี้คือ

(๑)    หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดวง มาตั้งเป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน แลให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี

(๒)    หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์ แลดาวรูปสิ่งอื่น ๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือน ดังนี้คือ เดือนเมษายน ดาวรูปเนื้อ เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้ เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์ เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่ เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมลงป่อง เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา (ตะเพียน)

(๓)    หมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดาวที่ประจำอยู่ในท้องฟ้าอากาศเป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ปี ดังนี้คือ ปีชวด ดาวรูปหนู ปีฉลู ดาวรูปวัวผู้ ปีขาว ดาวรูปเสือ ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก ปีมะเมีย ดาวรูปม้า ปีมะแม ดาวรูปแพะ ปีวอก ดาวรูปลิง ปีระกา ดาวรูปไก่ ปีจอ ดาวรูปสุนัข ปีกุน ดาวรูปสุกร

รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งเป็นชื่อ ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับปีเดือนวันคืนนี้เป็นวิธีนับอายุกาลแห่งสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับใหญ่ ๆ ก็คือนับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัป มหากัป ภัทรกัป เป็นต้น และนับอายุชนเป็นร้อย ๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง แล ๑๒ รอบเป็น ๑๔๔ ปี

แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคครั้งนี้ กำหนดอายุเป็นขัยเพียง ๑๐๐ ปี แลในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงน้อยกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๕๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปีก็มีบ้างในบางประเทศ ตามจดหมายเหตุของประเทศต่าง ๆ ได้กล่าวมาแต่มีเป็นพิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คน หรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงมานั้นมีทั่วกันในทุกประเทศ

จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า คำเรียกว่ากลียุคนี้ เป็นภาษาพราหมณ์ชาวชมพูทวีปแปลว่า ความชั่วร้าย คือว่าสัตว์เกิดมาในภายหลัง อันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ย่อมทำบาปอกุศลมาก จนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมากด้วยสัตว์ที่เกิดในต้นโลกต้นกัปนั้น เห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกัน ชักชวนกันทำบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายหมื่นหลายพันปี แลยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางทีสัตว์จะทำบาปอกุศลยิ่งกว่านี้ อายุสัตว์บางทีก็จะเรียวน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปีเป็นขัย และสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงานเป็นสามีภรรยาต่อกันก็อาจจะเป็นไปได้ แลในสมัยเช่นนั้น อาจจะเกิดมิคสัญญีขาดเมตตาต่อกันแลกันอย่างประหนึ่งว่านายพรานสำคัญในเนื้อ จะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาดดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้นจะบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุนานยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนอายุตลอดอสงไขย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้นับไม่ถ้วน ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาทก่อสร้างบาปอกุศลครุ่น ๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็ลดน้อยถอยลงมาอีก ตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้

สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นพระสัพพัญญูตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการ ไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้ง คือ

๑.      ความทุกข์มีจริง

๒.      สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง

๓.      ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

๔.      ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง

นี่แลเรียกว่า อริยสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยเข้าไปอีกคำหนึ่งนั้น คือ อริย แปลว่า พระผู้ประเสริฐ อย่าง ๑ พระผู้ไกลจากกิเลสอย่าง ๑ รวม อริย สัจจะ สองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่า อริยสัจ แลเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคำหนึ่ง แลแปลงตัว สระอะ เป็นตัว สระอา เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่า ความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง

ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้เป็นของพระอริยสั้น อธิบายว่าต่อเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้าเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลำบากอยู่ในวัฏสงสารนั้นให้เกิดความทุกข์จริง

ตัณหา คือ ความอยากดิ้นรนของสัตว์นั้น ให้เกิดความทุกข์จริง

พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิดแก่เจ็บตาย เป็นที่ดับทุกข์จริง แลสุขจริง

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง

พระอริยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประจักษ์ในธรรม ๔ อย่าง ดังนี้ และสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์เข้าหาความสุขที่จริง

แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเลยเห็นกลับไปว่าเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดี ไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทำไม

บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดี ๆ เป็นทาวพระยามหาเศรษฐีมั่งมี ทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น

บ้างก็ว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวาร เป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจ ดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อย ๆ เกิดบ่อย ๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร

บ้างก็ว่าไปอมตมหานิพพานไปนอนเป็นสุขอยู่นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์ กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกีย์ย่อมเห็นไปดังนี้

นี่แลการฟังเทศน์อริยสัจ จะให้รู้ความจริง แลเห็นธรรมที่ดับทุกข์ เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ควรฟังเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่า วัน คืน เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเราย่อมล่วงไปทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิด ประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์อยู่ด้วยความลำบาก ๔ อย่างนี้แลไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็เลยรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศลจนกว่าจะได้มีบารมีแก่กล้า จะได้ความสุขในสวรรค์ และสุขในอมตนิพพานในภายหน้า ซึ่งไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขที่เที่ยงแท้ถาวรอย่างเดียว ไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย

แลเรื่อง ๑๒ นักษตัร คือดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว แลดาวชื่อปี ๑๒ ปี แลดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้ประมาท แลให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าแสดงสั่งสอนเราไว้ ให้รู้ตามนั้นทีเดียว

สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร กับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเหตุดังนี้แล้วที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรด้วย ควรจะโมทนาสาธุการอวยพรแก่ผู้ไปนิมนต์จงมาก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ฝ่ายท่านสมเด็จเจ้าพระยา เจ้าของกัณฑ์กับสัปปรุษทายกทั้งปวง ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจทั้ง ๔ ของเจ้าประคุณสมเด็จแล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่แทบทุกคน ท่านสมเด็จเจ้าพระยาเจ้าของกัณฑ์จึงว่า “ข้าขอบใจเจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมาก ๆ ด้วยกันเถิด”

 

ชินปัญชร

          ในคราวเดินทางไปกำแพงเพชร เพื่อเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านได้ไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งชื่อ วัดเสด็จ มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง พบคัมภีร์โบราณผูกหนึ่งเป็นภาษาสิงหลฝังอยู่ในเจดีย์นั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ก็หยิบใส่ย่ามมา และเก็บไว้ที่กุฏิแดงวัดระฆังฯ

                คืนหนึ่งราว ๆ ตีสาม เจ้าประคุณสมเด็จ ได้นิมิตเห็นหนุ่มรูปร่างสูงโปร่งหน้าตาคมขำ แต่งอาภรณ์ชุดขาวยืนอยู่ที่หัวนอน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ กำหนดจิตสัมผัสรู้ว่า ผู้ที่ปรากฏในนิมิตนี้ไม่ใช่มนุษย์แน่ จึงถามในสมาธิจิตว่า “ท่านผู้เจริญการที่อาตมภาพนี้มีตาได้ชมบารมีท่านเป็นขวัญตาเหลือเกิน ท่านมาในสถานที่นี้มีสิ่งใดที่อาตมภาพปฏิบัติผิดพลาดในหลักของพระพุทธศาสนาเล่า ขอให้ท่านจงประสาทประทานการสอนให้อาตมภาพนี้แจ่มแจ้งในพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด”

                อาคันตุกะในนิมิตได้กล่าวขึ้นว่า “ท่านโต วิธีการดำเนินงานของท่านนี้คล้ายกับองค์สมณโคดมอยู่ แต่การที่คิดจะสร้างพระให้เป็นสิ่งที่ระลึกของมนุษย์นั้น สร้างแล้วสิ่งนั้นจะต้องดี ท่านโตก็เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้น ควรจะปฏิบัติตามกฎของโลกวิญญาณ คือ วิธีการตั้งให้ถูกหลักการในการปลุกเสก”

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จกำหนดจิตบอกไปว่า “ท่านผู้เจริญ ขรัวโตนี้รับฟังความคิดเห็นของทุก ๆ คน ถ้าแม้นท่านจะโปรดข้านี้ ขอได้โปรดบอกมาเถิด จะด่าว่าตักเตือนเราก็ไม่ว่า”

ท่านผู้มาเยือนก็ได้แนะแนววิธีการต่าง ๆ ในเรื่องทิศทางว่า ทิศไหนเป็นมงคล ทิศไหนไม่เป็นมงคลในการวางเทียน ธูป ดอกไม้ เทียนชัย ให้ตรงตามหลักของกฎระเบียบของโลกวิญญาณ เรียกว่า เทวบัญญัติหรือ พรหมบัญญัติ โดยเฉพาะเรื่องปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จจดจำคำแนะนำต่าง ๆ ไว้จนหมดสิ้นและกำหนดจิตถามต่อไปว่า ท่านเป็นใคร? ก็ได้รับคำตอบว่า เป็นท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ เป็นลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะ สำเร็จญาณชั้นสูง

พอออกจากสมาธิ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ได้นำคัมภีร์ผูกนั้นออกมาศึกษา แปลได้ความว่า ปัญจระสูตรอัญเชิญพระบารมีพระพุทธเจ้า และ พระอรหันต์มาปกป้องคุ้มครอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) จึงรจนาตัดทอนบางส่วนออก บางคำที่แปลไม่ได้ ท่านก็คงเอาไว้แล้วตั้งชื่อพระคาถาบทนี้ว่า “ชินปัญชร” เพื่อถวายกุศลแด่ท้าวมหาพรหมชินะปัญจะระ ที่มีเมตตาชี้แนะในการจัดพิธีปลุกเสกลงพลังจิตวัตถุมงคล พระคาถานี้มีเนื้อความดังนี้

 

พระคาถาชินปัญชร

 

                                                                ชะยาสะรากะตา พุทธา                เชตตะวา มะรัง สะวาหะนัง

                                                จะตุสัจจาสะภัง ระสัง                   เย ปิวิงสุ นะราสะภา

                                                ตัณหังกะราทะโย พุทธา               อัฏฐะวีสะติ นายะกา

                                                สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง               มัตถะเก มุนิสสะรา

                                                สีเล ปะติฏฐิโต มัยหัง                   พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน

                                                สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัย                อุเร สัพพะคุณากะโร

                                                หะทะเย เม อะนุรุทโธ                  สารีปุตโต จะ ทักขิเณ

                                                โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง             โมคคัลลาโน จะ วามะเก

                                                ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง                 อาสุง อานันทะราหุโล

                                                กัสสะโป จะ มหานาโม                 อุภาสุง วามะโสตะเก

                                                เกเลนเต ปิฏฐิภาคัสมิง                สุริโยวะ ปะภังกะโร

                                                นิสินโน สิริสัมปันโน                     โสภิโต มุนิปุงคะโว

                                                กุมาระกัสสะโป เถโร                    มะเหสี จิตตะวาทะโก

                                                โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง               ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

                                                ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ                  อุปาลีนันทะสีวะลี

                                                เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา                นะลาเฏ ติละถา มะมะ

                                                เสสาสีติ มะหาเถรา                     ชิตะวันโต ชิโนระสา

                                                ชะวันตา สีละเตเชนะ                   อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

                                                ระตะนัง ปุระโต อาสิ                    ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง

                                                ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ                 วาเม อังคุลาละกัง

                                                ขันธะโมระปะริตตัญจะ                อาฏานาฏิยะสุตตะกัง

                                                อากาเส ฉะทะนัง อาสิ                 เสสา ปาการะสัณฐิตา

                                                ชินา นานา วะระสังยุตตา             สัตตัปปาการะลังกะตา

                                                วาตะปิตตาทิสัญชาตา                 พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

                                                อะเสสา วินะยัง ยันตุ                   อนันตะชินะเตชะสา

                                                วะทะโต เม สะกิจเจนะ                 สะทา สัมพุทธะปัญชะเร

                                                ชินะปัญชะระมัชเฌนหิ                 วิหะรันตัง มะหีตะเล

                                                สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ              เต มะหาปุริสาสะภา

                                                            อิจเจวะมันโต                 สุคุตโต สุรักโข

                                                            ชินานุภาเวนะ                 ชิตุปัททะโว

                                                            ธัมมานุภาเวนะ               ชิตาริสังโค

                                                            สังฆานุภาเวนะ               ชิตันตะราโย

                                                สัทธัมมานุภาวะ ปาลิโต               ชะจะรามิ ชินะปัญชะเรติ

 

                เมื่อท่องบ่นจนแม่นยำดีแล้ว ในงานพระราชพิธีหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้เจริญพระคาถาชินปัญชร ถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสดับแล้ว ชอบพระทัย ตรัสว่า พระคาถานี้ดี ขรัวโตเอามาจากไหน? เจ้าประคุณสมเด็จทูลตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร พระคาถาบทนี้อาตมาเก็บความจากคัมภีร์โบราณผูกหนึ่ง ซึ่งได้จากลังกาประเทศ พระคาถาบทนี้มีคุณานุภาพมากมาย ผู้ได้ได้จำเริญภาวนาไว้เสมอจะเจริญด้วย ลาภยศ เจริญชนมายุยืนยาวปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง

                ตั้งแต่วันนั้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าจอมหม่อมห้าม และเหล่าข้าราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทเจริญภาวนาพระคาถาบทนี้

 

จุดไต้เข้าวัง

                อีกคราวหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จ จุดไต้ลูกใหญ่ลุกโพลงเดินเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ในตอนกลางวันแสก ๆ ตะวันตรงหัวทีเดียว ร.๔ ทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ตรัสว่า “ขรัวโต ๆ ในหลวงรู้แล้วละว่าจะบอกอะไรในหลวง” เจ้าประคุณสมเด็จก็ไม่ปริปากพูดอะไรสักคำ เอาไต้ลูกนั้นทิ่มกับกำแพงวังแล้วเดินกลับออกมาเฉย ๆ

                ข้อนี้เล่าว่า ในช่วงนั้น ร. ๔ ทรงหมกมุ่นกับเจ้าจอมหม่อมห้ามและการละเม็งละครหนักข้อไปหน่อย สมเด็จท่านจะถวายพระพรเตือนตรง ๆ ก็เกรงพระราชหฤทัย จึงแสร้งจุดไต้เข้าไปทูลเตือนในฐานะนักปราชญ์ด้วยกัน ร.๔ จึงรีบตรัสว่า “รู้แล้ว ๆ”

 

จำนำพัดยศ

                ครั้นถึงวันฉัตรมงคลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้รับอาราธนาไปร่วมในพระราชพิธี

                เมื่อสังฆการีมานิมนต์แล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็ข้ามเรือที่ท่าน้ำ ระหว่างนั้นแม่ค้าขายแตงโม ซึ่งอยู่ที่ท่าข้ามถามว่า “เจ้าประคุณสมเด็จจะไปไหน ท่านบอกว่า “วันนี้ในหลวงนิมนต์ไปฉันเพลที่วัดพระแก้ว เนื่องในงานฉัตรมงคล”

                แม่ค้าแตงโมพูดต่อไปว่า “อิฉันมีเรื่องใหญ่ขอปรึกษาเจ้าประคุณสมเด็จหน่อยเจ้าค่ะ” ท่านถามว่า “จะปรึกษาอะไร” เขาบอกว่า “มีเรื่องใหญ่ อิฉันมีลูกสาวเป็นทาสเขาอยู่กับเถ้าแก่ฮง เจ้าของหวย ก.ข. เป็นเบี้ยทาสอยู่ ๓ บาท ลูกสาวคนนี้กำลังแรกรุ่น ถ้าแก่ฮงยืนคำขาดมาเจ้าค่ะว่า ถ้าไม่เอาเงินไปไถ่เขา จะเอาลูกสาวทำเมีย ลูกสาวอิฉันไม่ยอม ขอร้องให้ดิฉันช่วย อิฉันก็ไม่มีเงิน จึงต้องขอพึ่งบารมีของท่านเจ้าประคุณสมเด็จเจ้าค่ะ”

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ล้วงในย่ามมีเงินอยู่แค่ ๑๘ สตางค์ ไม่พอจะไถ่ตัวได้ นิ่งอยู่อิดใจหนึ่ง ท่านโพล่งขึ้นว่า ได้การเงิน ๓ บาท ไม่เป็นปัญหา วันนี้เอ็งได้แน่ แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็หยิบตาลปัตรให้แม่ค้าแตงโมถือไว้ ต่างว่าจำนำพัดกับนางพร้อมกำชับว่า วันนี้จะไปไหนไม่ได้ ให้รออยู่ตรงนี้ ถ้าไปที่อื่นขรัวโตหัวขาดแน่

                แม่ค้าแตงโมก็ถามว่า “แล้วแตงโมเต็มลำเรือนี้จะทำอย่างไรล่ะ พระเดชพระคุณ” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ตอบว่า ก็เททิ้งน้ำไป วันนั้นแตงโมลอยเต็มแม่น้ำ คนโจษจันกันใหญ่ ถามว่าใครเทแตงโมลงแม่น้ำ ก็มีคำตอบว่า สมเด็จโตเทลงแม่น้ำ พวกเล่นหวยรุมแทง ต. (ปิดติด) กันทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำเจ้าพระยา คืนนั้นหวย ก.ข. ออกตัว ต.จริง ๆ เจ้าประคุณสมเด็จถึงถูกโจษขานว่าให้หวยดุจเอามือไปล้วงเอง

                ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในวัดพระแก้ว พอถวายภัตตาหารพระเถรานุเถระฉันเสร็จแล้ว ต่างก็ยกพัดยศกันพรึ่บพรั่บ คงเหลือแต่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) องค์เดียวที่นั่งตาปริบ ๆ พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเข้าก็พิโรธ สั่งสังฆการี (แหวง ป.๙ ประโยค) เข้าไปถามท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ว่า พัดหายไปไหน สังฆการีก็คลานมาถามว่า “พระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จ พัดไปไหนเสีย”  ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ไม่ค่อยชอบพวกที่จบเปรียญเป็นมหาแล้วสึกออกมาเป็นสังฆการี ท่านก็แกล้งตอบไปว่า “เธอไปทูลพระเจ้าอยู่หัว พัดของขรัวโตเอาไปจำนำเขา” สังฆการีคลานต้วมเตี้ยมไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๔ ตามที่บอก พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่า “ไปถามเจ้าคุณซิว่า จำนำไว้กี่บาท” สังฆการีก็คลานมาถามอีก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จตอบว่า “จำนำไว้ ๓ บาท” สังฆการีก็ไปกราบบังคมทูลว่า จำนำไว้ ๓ บาท พระเจ้าอยู่หัวกริ้วหนักตรัสว่า “เฮ้ยมึงไปถามว่าจำนำไว้ ๓ บาท จำนำไว้ที่ไหน พิธีของกูจะเสียอยู่แล้วมึงรู้หรือเปล่า” สังฆการีก็คลานมาถามอีก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ กล่าวว่า “อาตมภาพจำนำไว้กับแม่ค้าแตงโมที่ท่าน้ำ” รัชกาลที่ ๔ จึงให้เงิน ๓ บาทไปไถ่มา ในที่สุดก็ยถาสัพพีกันจนพิธีเสร็จ

 

ทำบุญถึงคนจน

          หลังจากทำบุญวันฉัตรมงคล ในวันรุ่งขึ้นรัชกาลที่ ๔ มีพระราชกระแสให้ตำรวจวังนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเข้าเฝ้า ตำรวจวังได้ไปหาท่านที่วัดระฆังฯ และบอกว่า “ในหลวงมีพระบรมราชโองการให้นิมนต์สมเด็จ ไปเข้าเฝ้า”  สมเด็จพระพุฒาจารย์ ถามตำรวจผู้นิมนต์ว่า “พ่อเป็นอะไรจ๊ะ”

                “เกล้ากระผมเป็นตำรวจวัง” ตำรวจกราบนมัสการ

                “ฉันไม่ไปจ้ะ” สมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า ครั้นแล้วก็ออกเดินไป ตำรวจวังได้รีบย้อนเข้าไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปนิมนต์แล้ว ท่านว่า ท่านไม่มา”

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถามว่า “แล้วท่านพูดว่าอะไรบ้างล่ะ”

                ตำรวจหลวงกราบบังคลทูลว่า “ท่านถามว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอะไร ข้าพระพุทธเจ้าตอบท่านว่าเป็นตำรวจวังพระพุทธเจ้าข้า”

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังเช่นนั้นก็ทรงพระสรวล เพราะรู้ทันในคำของสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงมีรับสั่งขึ้นใหม่ว่า

                “สังฆการีอยู่ไหน ไปนิมนต์ขรัวโตมานี่”

                สังฆการีรับคำสั่งใส่เกล้าฯ วิ่งแน่วตามไปทันสมเด็จพระพุฒาจารย์ กราบนมัสการว่า “โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระคุณเจ้า”

                สมเด็จพระพุฒาจารย์ก็ย้อนถามอีกว่า “พ่อเป็นอะไรจ๊ะ”

                ครั้นสังฆการีทูลว่า “เป็นสังฆการี”

                สมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงได้หันกลับเดินเข้าไปเฝ้า

                เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ไปถึงในวัง พระเจ้าอยู่หัวก็ถามว่า “นี่ขรัวโต ทำไมจึงทำเช่นนั้นในวันสำคัญของฉัน ฉันเสียหน้าขายหน้าหมด” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ตอบว่า “ถวายพระพรมหาบพิตร ถ้าขรัวโตไม่ทำเช่นนั้นแล้วมหาบพิตร อันวันฉัตรมงคลเป็นวันสำคัญที่จะให้พระองค์สืบสันติวงศ์ได้ถาวรและปลอดภัยอยู่ในเศวรฉัตรด้วยบุญบารมี หากวันสำคัญเช่นนี้ พระองค์ไม่สามารถทำบุญถึงคนจนได้ กุศลที่ไหนจะเสริมส่งพระองค์ ที่ขรัวโตทำเช่นนั้น เนื่องจากยายแต้มมีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง จำนำไว้กับเถ้าแก่ฮง และเถ้าแก่ฮงจะเอาเป็นเมีย ถ้าไม่เอาเงิน ๓ บาทไปไถ่ แม้ในวันฉัตรมงคลอันสำคัญนี้ ขรัวโตจะทำเช่นนั้น ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย แต่ทำไปเพื่อให้พระองค์ได้สร้างกุศลถึงคนจน ขอถวายพระพร”  พอท่านเจ้าประคุณสมเด็จทูลอย่างนี้ในหลวงทรงยิ้มแต้เลย พูดว่า “ขรัวโตทำดี ในวันฉัตรมงคล ฉันได้ทำบุญถึงคนจนด้วย”

 

พบกับบาทหลวง

          ในรัชกาลที่ ๔ นั้น เป็นยุคที่ชาวฝรั่งตื่นตัวเข้ามาในกรุงสยามมากที่สุด เป็นพวกพ่อค้าวานิชบ้าง เป็นนักสอนศาสนาบ้าง เป็นพวกที่ศึกษาเกี่ยวกับการล่าเมืองขึ้นบ้าง และอะไรต่อมิอะไรเป็นอันมาก เพราะยุคนี้ไม่มีนโยบายกีดกันชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเหมือนชาติอื่น ๆ

                บรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาสยามครั้งกระนั้น ปรากฏว่า มีพวกมิชชั่นนารี คือ พวกบาทหลวงสอนศาสนา และเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นมากกว่าพวกอื่น ที่มักจะเข้าเฝ้ารบกวนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งในด้านขอให้พระราชทานศาสนูปถัมภ์ และไต่ถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับลัทธิขนบธรรมเนียม และข้อสำคัญก็คือ เรื่องอันเกี่ยวกับพระบวรพุทธศาสนา และโดยเหตุที่มิชชันนารีพวกนี้สนใจในหลักธรรมของพระบวรพุทธศาสนามาก จึงครั้งหนึ่งได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบทูลไต่ถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

                “ลัทธิหลักธรรมของพระบวรพุทธศาสนา ตลอดจนศีลที่ประชาชนและภิกษุสามเณรถือเป็นวัตรปฏิบัติ รู้สึกว่าลุ่มลึกยิ่งนัก สงสัยว่ายังจะมีผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้โดยสมบูรณ์อยู่หรือพระพุทธเจ้าข้า

                ครั้นฝรั่งได้ยินกระแสพระราชดำรัสว่า “มีซิ” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็กราบทูลอีกว่า

                “ผู้ใดเล่าที่เป็นผู้ทรงคุณวิเศษสามารถประพฤติธรรมและศีลสมบูรณ์เช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะมีเกียรติรู้จักท่านผู้นั้นได้หรือไม่พระพุทธเจ้าข้า

                เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีรับสั่งให้สังฆการีเข้าเฝ้า รับสั่งว่า “พระธรรมการ แกพาคณะบาทหลวงเหล่านี้ไปหาสมเด็จพระพุฒาจารย์วัดระฆังฯ” แล้วหันมาตรัสกับคณะบาทหลวงผู้สอนศาสนาว่า “ท่านจงไปกับผู้นี้ เขาจะพาท่านไปพบกับผู้ทรงคุณธรรมวิเศษของพระพุทธศาสนา” เท่านั้นแล้วก็เสด็จขึ้น

                ข้างพระธรรมการตำแหน่งสังฆการี เมื่อรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ก็นำคณะบาทหลวงไปหาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ต) ที่วัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อไปถึงก็กราบนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ แล้วแจ้งเนื้อความให้สมเด็จทราบตามพระบรมราชโองการทุกประการ

                พอสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ทราบกระแสพระราชดำรัสเช่นนั้น ก็ทราบโดยปัญญาทันทีว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้ท่านเป็นผู้โต้ตอบปัญหาที่เกี่ยวแก่การปฏิบัติธรรมขั้นสูง อันเป็นส่วนพระปรมัตถ์แก่คณะบาทหลวง เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่พระบวรพุทธศาสนา กับอีกประการหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงให้รู้ว่าในประเทศสยามก็ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนา นับเป็นหน่อเนื้อศากยบุตรอยู่อีกไม่น้อยเหมือนกัน

                มีเรื่องเล่ากันว่า การเจรจาไต่ถามและลองภูมิได้เป็นไปอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะบาทหลวงคณะนั้นได้ศึกษาภาษาไทย และพูดไทยได้ดี ผลของการอภิปรายถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศีล และการบำเพ็ญธรรมได้จบลงด้วยคณะบาทหลวงกล่าวคำสรรเสริญสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า

                “พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงคุณธรรม วิเศษในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง” แต่แล้วก็เหน็บเอาในตอนท้ายว่า “แต่ส่วนทางโลก พระคุณเจ้าไม่รู้อะไรเลย”

                สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ย้อนตอบไปว่า

                “อย่าว่าแต่อาตมภาพจะไม่แจ้งโลกเลย แม้แต่พวกท่านก็อยู่ในลักษณะ ไม่แจ้งโลกเหมือนกัน”

                บาทหลวงคนหนึ่งแย้งว่า “คณะกระผมแจ้งซิ พระคุณเจ้า คือ แจ้งว่า โลกนี้กลมไม่ใช่แบน แล้วหามีปลาอานนท์หนุนอยู่เหมือนคนไทยเข้าใจกันไม่”

 

ใจกลางโลก

                คำพูดของฝรั่งเท่ากับตบหน้าท่านเจ้าประคุณสมเด็จและคนไทยทั่วไปอย่างฉาดใหญ่ทีเดียว แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์กลับหัวเราะงอหายพลางว่า “เข้าใจกันไปคนละทางเสียแล้วละท่าน อาตมภาพคิดว่าเป็นการแจ้งโลกแบบโลกวิทู หาได้คิดไปถึงโลกกลม โลกแบนอย่างท่านกล่าวไม่ อ้ายเรืองโลกกลมอย่างท่านกล่าวนั้น อาตมภาพก็แจ้งเหมือนกัน ซ้ำแจ้งต่อไปอีกว่า ใจกลางของโลกนั้นอยู่ตรงไหนอีกด้วยซ้ำไป”

                คณะบาทหลวงงุนงงด้วยคำเจรจาฉะฉานของสมเด็จพระพุฒาจารย์เป็นอันมาก ต่างแลดูตากัน ครั้นแล้วบาทหลวงผู้หนึ่งกราบนมัสการถามว่า “พระคุณเจ้า ทราบถึงที่ตั้งใจกลางโลกจริง ๆ หรือขอรับ”

                “ก็จริงนะซี อาตมภาพไม่เคยกล่าวมุสาวาทเลย” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ตอบ

                “ถ้าเช่นนั้นจะพาคณะกระผมไปดูที่ตั้งใจกลางโลกได้ไหมขอรับ พวกบาทหลวงรุมล้อมกันหมายต้อนสมเด็จให้จนมุมจนได้

                “อ๋อได้ซิจะไปเมื่อไรล่ะ” สมเด็จพระพุฒาจารย์พูด

                “เดี๋ยวนี้ได้ไหมขอรับ คณะบาทหลวงเร่งเร้าเพื่อจะดูทีว่าสมเด็จจะสามารถไปที่ใจกลางโลก ในทรรศนะของท่านอย่างไร

                “ได้” สมเด็จตอบสั้น ๆ พลางลุกขึ้นครองจีวรให้เป็นปริมณฑลตามสมณสารูป แล้วเอื้อมไปหยิบไม้เท้า และกล่าวกับฝรั่งว่า “ตามอาตมภาพมา”

                บาทหลวงทั้งคณะลุกขึ้นพร้อมกัน แล้วตามท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ลงจากกุฏิ พากันออกมายืนอยู่ที่พื้นดินบริเวณหน้าบันไดเบื้องล่าง

                ณ ที่ตรงนั้นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาไม้เท้าที่ถือปักลงไปในพื้นดินพลางชีมือให้คณะบาทหลวงดู แล้วกล่าวว่า

                “ใจกลางโลกอยู่ที่ตรงนี้”

                คณะบาทหลวงทั้งหมดต้องตะลึกและงุนงงในเรื่องใจกลางของโลกตามทรรศนะของสมเด็จพระพุฒาจารย์อีกครั้งหนึ่ง ครั้นแล้วค้านเสียงหลงว่า

                “เป็นไปไม่ได้ดอกพระคุณเจ้าขอรับ ที่นี่มันหน้าบันไดกุฏิพระคุณเจ้าแท้ ๆ “

                สมเด็จพระพุฒาจารย์ชี้มือไปที่ไม้เท้าพลางพูดยิ้ม ๆ ว่า “ก็ท่านกล่าวยืนยันว่าโลกนี้กลมไม่ใช่แบบอยู่เมื่อครู่นี้เอง เมื่อโลกนี้กลมจริงอย่างท่านว่า ที่นี่ก็เป็นใจกลางโลก ถ้าท่านสงสัยก็ขอให้วัดดูเถิดว่าจากศูนย์กลางที่ไม้ปักนี้ อ้อมไปโดยรอบทุกด้าน แล้วที่ตรงนี้จะเป็นใจกลางโลกจริง”

                คณะบาทหลวงเพิ่มความงุนงงกันเป็นครู่ใหญ่ ครั้นคิดออกก็ถอดหมวกคำนับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพร้อมกัน แล้วกล่าวว่า “จริงของพระคุณเจ้า ใจกลางโลกอยู่ตรงนี้ พระคุณเจ้าทรงคุณธรรมวิเศษจริง ๆ” ว่าแล้วคณะบาทหลวงก็รีบนมัสการลากลับทันที

 

สังคายนาพระไตรปิฎก

          วันเดือนปีไม่ปรากฏ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริจัดสังคายนาพระไตรปิฎก รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) เข้าร่วมสัมมนาด้วย แต่ท่านไม่ยอมไปเป็นดังนี้ถึง ๓ ครั้ง

                รัชกาลที่ ๔ ทรงเรียกท่านเจ้าประคุณสมเด็จไปในวัง ตรัสถามว่า “เพราะเหตุใดขรัวโตจึงไม่ยอมเข้าร่วมสัมมนาในการปรับปรุงพระไตรปิฎก” ท่านจึงกราบทูลว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขรัวโตนี้เกิดในยุครัตนโกสินทร์ ขรัวโตนี้ยังไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ถ้าในพระไตรปิฎกนั้น บางคำพูดเป็นขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง สันดานขรัวโตเกิดว่าไอ้นี่มันไม่ไพเราะ ไม่เพราะพริ้ง ตัดมันออกไป เติมคำหวาน ๆ สละสลวยลงไป ฟังแล้วน้ำลายไหล อาตมภาพหรือจะหนีพ้นการลงนรก การที่อาตมภาพไม่มาก็เพราะกลัวตกนรกพระเจ้าค่ะ” รัชกาลที่ ๔ ตรัสว่า จริงของขรัวโต จึงเลิกสัมมนาแต่นั้นมา และไม่เอาเรื่องกับท่าน

 

รู้รสเหล้า

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมีคติประจำใจว่า เรื่องการสอนคนนั้นต้องเอาความจริงมาพูด สิ่งใดที่ทำไม่ได้สิ่งนั้นจะไม่พูด และสิ่งใดที่ยังไม่มีประสบการณ์ สิ่งนั้นก็จะไม่พูดเช่นกัน ภาวะไม่เหือนกับอาจารย์สอนธรรมคนอื่น ๆ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถึงกับลงทุนสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนองค์หนึ่ง หน้าตักกว้างสองศอก หันพระพักตร์เข้าข้างฝาผนัง ด้านตะวันออกองค์พระห่างจากฝาผนังราวหนึ่งศอก ซึ่งอยู่ในวิหารละแวกบ้านสาว ตรอกวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม (ต่อมาทางราชการตัดถนนสามเสนทับวิหารนี้แล้ว) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ สร้างเพราะมีเหตุผลทิ้งเป็นปริศนาธรรมให้แก่อรรถกถาจารย์ทั้งหลาย ที่ดีเพียงสอนคนอื่น แต่ตัวเองไม่เคยมอง พระสงฆ์ส่วนใหญ่ล้วนไม่บำเพ็ญในทางธรรมแต่กลับชอบพูดธรรมและอวดธรรม

                เล่ากันว่า ครั้งหนึ่ง จมื่นพิทักษ์ฯ มานิมนต์ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเข้าไปเทศน์ในวังหลวง แสดงธรรมกถาเรื่อง ความไม่ดีของสุรา เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จรับนิมนต์ให้เทศน์เรื่องสุรายาเมาไม่ดี ท่านก็คิดว่า “ขรัวโตนี้บวชเป็นเณรตั้งแต่ ๗ ขวบ จนอายุ ๗๖ เข้ามานี้ไม่เคยรู้รสเหล้าเป็นอย่างไร เมาแล้วเป็นอย่างไร พรุ่งนี้ได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงหน้าที่นั่งว่า สุราเป็นยาไม่ดีนั้น เราในฐานะลูกตถาคตต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน ไม่เช่นนั้นไปเทศน์สั่งสอนคนอื่นจะเป็นเรื่องมุสาไป” ท่านเจ้าประคุณสมเด็จจึงเรียกเด็กรับใช้ในกุฏิไปซื้อเหล้าที่ชาวบ้านทำมาหนึ่งขวด แล้วตีระฆังประกาศฉุกเฉินประชุมพระเณรฆราวาสมาพร้อมหน้าในโบสถ์วัดระฆังฯ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จชูเหล้าขึ้น พร้อมกับกล่าวว่า วันนี้ สมเด็จโตจะกินเหล้า ขอให้ท่านรับทราบไว้ด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าเมาเป็นอย่างไร วันนี้สมเด็จของงดรับแขก แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็เข้ากุฏิปิดประตู ดื่มเหล้าจนหมดขวด สติสัมปชัญญะต่าง ๆ ถูกฤทธิ์เหล้าบั่นทอนจนหลับไป

                รุ่งเช้าเห็นจีวรอยู่ที่หนึ่ง ขรัวโตนุ่งชุดวันเกิดอยู่อีกที่หนึ่ง ก็เข้าใจว่า ความเป็นมาของสุราเมระยะมันเริ่มมาเป็นอย่างไรและแล้ววันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จไปแสดงธรรมหน้าที่นั่ง ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นประธาน เสนาบดีอำมาตย์น้อยใหญ่ห้อมล้อมอยู่มาก บอกว่าวันนี้ก่อนที่อาตมภาพจะมาแสดงธรรมข้อสุราเมระยะนี้ เมื่อคืนนี้สมเด็จโตได้กินเหล้าเข้าไปแล้วหนึ่งขวด เพราะฉะนั้นพวกเจ้าจะมาโกหกขรัวโตไม่ได้ว่า กินเหล้าแล้วเมาอย่างไร ท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็ได้แสดงให้ฟังอย่างถ่องแท้ถึงข้อเสียหายและโทษประการใดบ้าง

                ทีนี้เถรสมาคมประชุมกันใหญ่ พระกินเหล้าอาบัติละ เพราะฉะนั้นให้ไปนิมนต์สมเด็จโตมาแถลงในเถรสมาคม ท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็บอกว่า เจริญพรท่านผู้เจริญทั้งหลายที่เป็นทั้งสมเด็จราชาคณะ ที่เป็นทั้งสังฆมนตรีแห่งการปกครอง อาตมภาพนี้ไม่ผิดศีลเด็ดขาด เพระอาตมภาพถือหลักสัจธรรม เขานิมนต์อาตมภาพไปแสดงธรรมเรื่องสุรานี้เมาอย่างไร อาตมภาพยังไม่เคยกินสุรา ไม่รู้ว่ารสเมาเป็นอย่างไร แล้วจะไปสอนให้เขารู้ได้อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เราจะสอนธรรมะ เราอย่ามุสา เพราะฉะนั้นอาตมภาพไม่กินสุรา อาตมภาพแสดงธรรมเรื่องสุรา อาตมภาพก็จะไม่พ้นศีลข้อมุสา สังฆมนตรีนั่งสั่นหัว นิมนต์สมเด็จโตกลับวัดได้

               

หาคนพูดจริง

                มีเรื่องเล่าอีกเรื่อง สมัยท่านเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รัชกาลที่ ๕ ได้ให้นำอาหารจากวังมาถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ท่านก็เอาอาหารนั้นไปเทลงกระทะแล้วก็ไปเก็บผักอะไรต่ออะไรที่มีขึ้นอยู่ตามหน้าวัดไปรวมต้มด้วยกัน ใส่เกลือ ๓ ถุง ใส่น้ำเต็มกระทะ คงมีอาหารที่เทลงไปเพียงนิดหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสั่งตีกลองบอกกล่าวพระเณรทั้งหลายว่า วันนี้สมเด็จโตจะเลี้ยงพระ ให้ทุกคนมารับอาหาร ซึ่งพูดตามความจริงแล้วอาหารที่ท่านทำขึ้นนั้นกินไม่ได้หรอก เมื่อทุกคนมารับอาหารจากท่านไปแล้ว ตกเย็นพอจะเข้าไปโบสถ์สวดมนต์เย็น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จรีบไปถึงโบสถ์ก่อนคนอื่น และได้ยืนดักถามพระทุกรูปในวัดทั้งหมดซึ่งมีอยู่ ๒๙ รูป ถามว่าอาหารที่ท่านปรุงวันนี้อร่อยไหม พระทุกรูปตอบว่า “อร่อย” บ้าง “พอกินได้” บ้าง ในจำนวนพระทั้งหมดซึ่งมีอยู่ ๒๙ รูป มีอยู่องค์หนึ่งชื่อ ขรัวตาจ้อน ขรัวตาจ้อนผู้นี้รักษาศีลข้อ “มุสาวาท” ไว้ได้เป็นอย่างดี บอก “ขอโทษท่านเจ้าประคุณสมเด็จขอให้กระผมพูดอย่างจริงใจเถิด อาหารที่ท่านเลี้ยงวันนี้ หมามันยังไม่กินเลย” ท่านยกมือพนมกล่าวว่า “สาธุ บัดนี้ลูกของตถาคตยังมีอยู่ในวัดระฆังฯ หนึ่งองค์” พอเข้าไปในโบสถ์ ท่านก็เทศน์คำว่า “มุสาวาทาเวระมะณี”

 

แก้พระเล่นไพ่

                ครั้งหนึ่ง พระในกุฏิคณะ ๔ วัดระฆังฯ พอฉันเสร็จก็ร่วมกันเล่นไพ่ ครั้นท่านสืบทราบแน่ชัดแล้ว ท่านก็ให้เด็กไปตามกรมวังหรือตำรวจหลวงมา ให้ตำรวจนั่งเฝ้าอยู่หน้ากุฏินั้นแล้ว ใส่กุญแจกุฏินั้นไว้ พระร่วมกันเล่นไพ่มีอยู่ด้วยกัน ๕ รูป พอพระทวนจะออกมาจากกุฏิ ท่านก็บอกว่า “เจ้ามีไพ่เล่นจะออกมาทำไม” “ปวดท้องหนักครับ เจ้าประคุณสมเด็จ” “เจ้ามีไพ่เล่นไม่ต้องมีการปวดท้องหนัก” ท่านจับพระทวนเข้าไปเล่นใหม่ อีกองค์จะออกมาบอกว่าเล่นเสีย ท่านบอกว่า “ไม่เป็นไร ขรัวโตมีเงิน เจ้าจงไปเล่นแก้ตัวใหม่” ท่านจับพระพวกนั้นขังถึง ๓ วัน ๓ คืน ไม่ต้องบิณฑบาต พระเหล่านั้นบอกว่าหิวข้าว ท่านก็ว่า “เจ้ามีไพ่เล่นไม่ต้องหิวข้าว ไปเล่นใหม่” ท่านต้องการให้พระเหล่านั้นเกิดความเบื่อการเล่นไพ่จนถึงที่สุด จึงใช้วิธีการหนามยอกเอาหนามบ่งเช่นนี้

 

ตักน้ำให้ศิษย์อาบ

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ มีมหาเมตตาต่อลูกศิษย์วัดอย่างมาก เมื่อท่านกลับมาจากการบิณฑบาตแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จก็จะตักน้ำใส่ตุ่มแล้วจึงฉันอาหาร เหตุที่ต้องตักน้ำใส่ตุ่มเองนั้น เนื่องจากลูกศิษย์ที่เลี้ยงไว้เกิดเกี่ยงกัน คนนี้จะเป็นพี่เบิ้ม คนนั้นจะเป็นพี่เบิ้ม เกี่ยงกันไปเกี่ยงกันมา ไม่ยอมตักน้ำใส่ตุ่มกัน เมื่อไม่มีน้ำในตุ่มอาบจะทำอย่างไร ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ก็บอกว่า “พ่อเจ้าประคุณทั้งหลาย ท่านนี้ลูกขุนลูกนายที่มาฝากขรัวโตเลี้ยง ฉะนั้นลูกขุนลูกนายทำงานไม่ได้ต้องขรัวโตตักน้ำให้อาบเอง” หลังจากนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จบิณฑบาตกลับมาต้องตักน้ำหลายตุ่มให้พวกลูกศิษย์วัดอาบทุกวัน พวกลูกศิษย์วัดบอกว่า “หลวงพ่อตักน้ำให้อาบก็ดี พวกเราจะได้ไม่ต้องเหนื่อย”

 

คายกิเลส

                ปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสยิ่งของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ อีกประการหนึ่ง คือ ไม่ว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จะไปฉันภัตตาหารที่ไหน ไม่ว่าในวัดในวังหรือตามที่เขานิมนต์ท่านไปก็ตาม อาหารที่นำมาถวายนั้นท่านรับทุกอย่าง แต่พอเวลาฉันแล้ว ถ้าคำใดที่ท่านขบเคี้ยวแล้วรู้สึกอร่อยขึ้นมา ท่านก็จะรีบคายอาหารคำนั้นออกจากปาก โดยใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและค่อยคายออกมาไม่ให้เป็นที่สังเกตหรือน่ารังเกียจแก่บุคคลทั่วไป แล้วอาหารที่ท่านคายออกมาทันทีที่รู้สึกอร่อยนี่แหละ ที่เป็นมวลสารอย่างหนึ่งในการนำไปรวมผสมเป็นเนื้อพระสมเด็จของท่าน การคายอาหารที่มีรสอร่อยก่อให้เกิดกิเลสนี้ แสดงให้เห็นว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ เป็นผู้มีสติคอยพิจารณาอยู่ตลอดเวลา จึงสามารถรู้เท่าทันและจับกิเลสของตัวเองได้ว่า เมื่อใดมีความโลภ ความโกรธ ความหลง นับว่าท่านได้ปฏิบัติจิตอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในเวลาฉันภัตตาหาร จึงไม่ต้องสงสัยว่า เหตุใดท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จึงทรงไว้ซึ่งกิตติคุณความวิเศษนานาประการ

 

วิธีฝึกเทศน์

                การฝึกเทศน์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ นับว่าแปลกแหวกแนวไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ท่านฝึกเทศน์ที่กุฏิวัดระฆังฯ ด้วยการเริ่มต้นว่า ต้องหัดเป็นคนบ้า ท่านขึ้นไปนั่งบนโต๊ะ สมมติว่าเป็นธรรมาสน์ แล้ววาดมโนภาพว่า “ข้านี้เว้ยสมเด็จโต เหนือสรรพพระในสยาม กำลังเทศน์ให้ฟัง” สมมติว่า หมาที่อยู่ในกุฏิ แมวที่อยู่ในโบสถ์เป็นคนห้อมล้อมกำลังคอยฟัง เทศน์เข้าไปเรื่อย ๆ แล้วก็ตั้งมโนภาพบอกตัวเองว่า

                “เวลานี้คนตั้งล้านตั้งแสนตั้งหมื่น กำลังจ้องเราอยู่ เราเทศน์ไป ๆ เทศน์เรื่อย ๆ แล้วเราก็ต้องสร้างมโนภาพปลุกใจตัวเราเองว่า อุ๋ย เขาว่าเราเทศน์ดีเว้ย ตบมือใหญ่อยู่แล้วโว๊ย คือ ต้องหัดเป็นคนบ้าก่อน....”

 

สมเด็จเข็นเรือ

                เจ้าประคุณสมเด็จเป็นพระที่พูดจาสุภาพ จ๊ะจ๋ากับคนทุกคน ไม่ว่าไพร่ผู้ดี จึงมีผู้เคารพนับถือท่านไปทั้งบ้านทั้งเมือง และมักไม่ใคร่ขัดศรัทธาใครง่าย ๆ ใครนิมนต์งานอยะไร ท่านก็ไปให้เขาทั้งหมด    

                คราวหนึ่ง ชาวสวนราษฎร์บูรณะนิมนต์ไปเจริญพุทธมนต์ที่บ้านของเขา ซึ่งต้องนั่งเรือเข้าไปในคลองเล็ก ๆ สายหนึ่ง เวลาน้ำน้ำแห้งติดก้นคลอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จกับศิษย์ ๒ คน ต้องช่วยกันเข็นเรืออยู่กลางคลอง ชาวบ้านเห็นเข้าก็ตกใจ ร้องเอ็ดอึงว่า “สมเด็จเข็นเรือ ๆ “ ท่านจึงตะโกนบอกเขาว่า “ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จท่านอยู่วัดระฆังฯ โน่นแน่ะ”

                (ข้อนี้มีอธิบายว่า พัศยศและตราตั้งสมัยสมเด็จนั้น ท่านเอาไว้ที่วัดระฆังฯ ไม่ได้เอาติดตัวขรัวโตมาด้วย)

 

ไปไม่ทัน

                อีกคราวหนึ่ง เป็นงานใหญ่มาก คือพระราชพิธีโสกันต์ลูกเธอพระองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง สังฆการีวางฎีกาอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ไปสวดมนต์เย็นร่วมกับพระราชาคณะรูปอื่น ๆ เช่นเคย จะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ สมเด็จไปไม่ทันเจริญพระพุทธมนต์เย็นในวันนั้น

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงตรัสเชิงสัพยอกต่อเจ้าประคุณสมเด็จว่า “ขรัวโตนี่ไม่ใส่ใจต่อหน้าที่ราชการเอาเสียเลย ทำอย่างนี้ในหลวงถอดเสียดีไหม

                พอสวดมนต์เสร็จ และ ถวายพระพรลาแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จหาได้เอาพัดยศกลับไปด้วยไม่ พนักงานชาวสังฆการีคิดว่าท่านลืม จึงรีบฉวยพัดยศวิ่งตามเอาไปคืนให้ สมเด็จย้อนถามเอาว่า “นี่พ่อคุณ เป็นอะไรหรือจึงมาตั้งสมเด็จกันง่าย ๆ ฉะนี้ เมื่อตอนถอดท่านก็ถอดกันในวัง จะมาตั้งกันข้างถนนได้กระไร

                เจ้าพนักงานสังฆการีต้องรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พอวันรุ่งขึ้น พระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหารเสร็จ รัชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานพัดยศคืนให้ดังเดิม แล้วถวายไตรแพรอีกหนึ่งไตรเป็นของแถวพก

 

พิจารณามหาพิจารณา

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี เป็นพระเถระยอดอัจฉริยะ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในคราวที่แสดงธรรมต่อหน้านักปราชญ์ชาวต่างประเทศ ซึ่งรอบรู้ศาสนาเป็นอย่างดี ในกาลครั้งหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาประสาทให้ทนายมาอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยโลกและธรรมในพุทธศาสนาอีกภาษาหนึ่งในนามประเทศสยาม ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ยินคำอาราธนาจึงรับว่า ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ

                ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาประสาทว่า สมเด็จที่วัดรับแสดงในเรื่องให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้

                พอถึงวันกำหนด ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปถึงที่ประชุม นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทยออกความก่อนในที่ประชุมปราชญ์ ขุนนางทั้งปวงก็มาประชุมฟังอยู่ด้วย สมเด็จเจ้าพระยาประสาทจึงอาราธนาสมเด็จที่วัดระฆังฯ ขึ้นบัลลังก์แล้วนิมนต์ให้แสดงทีเดียว

                สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า

                “พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา” กล่าวพึมพัมสองคำเทานี้สักชั่วโมงหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาประสาทลุกขึ้นจี้ตะโพกเจ้าประคุณสมเด็จแล้วกระซิบเตือนว่า “เจ้าคุณขยายคำอื่นให้เขาฟังบ้างซิ”

                สมเด็จท่านตะโกนดังกว่าครั้งแรกขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ขึ้นเสียงว่า

                “พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา”

                พิจารณา มหาพิจารณา อธิบายว่า การของโลกก็ดี การล่องน้ำเรียบ แต่น้ำข้าง ๆ กระเซ็นบ้างเพราะคลื่นฟากข้างเรือทั้งสองโตเป็นตลิ่งที่เดียว พระธรรมถาวรขณะนั้นท่านเป็นพระครูปลัด ได้ไปร่วมกับเจ้าประคุณสมเด็จในครั้งนั้น ได้เห็นสิ่งอัศจรรย์เล่าว่า ใจท่านไม่ใคร่ดีเพราะไม่มีอะไรเกาะเหนี่ยว แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยืนนิ่งโบกพัดเฉย คนเรือก็แจวเฉยเป็นปกติจนเข้าปากน้ำเมืองเพชร ท่านจึงเข้าเก๋งเอนกาย ชาวปากอ่าวเมืองเพชรเกรงบารมีสมเด็จโตมาก ถึงกับยกมือท่วมหัวสรรเสริญคุณสมบัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ว่า เจ้าประคุณรูปนี้สำคัญมาก แจวเรือฝ่าคลื่นลมกลางทะเลมาได้ตลอดปลอดโปร่งปราศอุทกันตราย

 

จุดไต้เข้าจวน

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น มีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ ปี ๑๐ วันเท่านั้น ยังทรงพระเยาว์นัก จึงต้องมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดี ผู้ใหญ่ในขณะนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

                วันหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จก็จุดไต้ลูกใหญ่เข้าไปหาสมเด็จเจ้าพระยาในจวนของท่าน ยามกลางวันแสก ๆ อีกเช่นเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยาจึงถามว่า มีประสงค์อันใดหรือ จึงถือไต้เข้ามาหากระผมเช่นนี้

                เจ้าประคุณสมเด็จตอบไม่อ้อมค้อมเลยว่า “อาตมภาพได้ยินว่า ทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนักด้วยมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบว่าเท็จจริงจะเป็นประการใด ถ้าเป็นความจริงแล้วไซร้ อาตมภาพก็ใคร่จะขอบิณฑบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่งเถิด”

                สมเด็จเจ้าพระยา อึ้งไปนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า “ขอพระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลย ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่ฉะนี้ จะไม่ให้แผ่นดินนั้นมืดมัวหล่นลงไป ด้วยจะไม่มีผู้ใดแย่งแผ่นดินไปได้เป็นอันขาด”

                ท่านเจ้าประคุณสมเด็จบอกว่า เพื่อความสบายใจ ให้สมเด็จเจ้าพระยาไปสาบานตัวต่อพระแก้วมรกตในวัดพระแก้ว ภายหลังต่อมาท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นข้าราชการผู้หนึ่ง ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีส่วนผลักดันให้การบริหารราชการแผ่นดินก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

 

สร้างพระสร้างวัด

                ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ที่ดินในเขตอำเภอไชโย แขวงอ่างทอง เพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๘ ว่า ๗ นิ้ว สูง ๑๑ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว ก่ออิฐถือปูนประทับนั่ง ปางมารวิชัย ถวายพระนามว่า พระมหาพุทธนันท์ และสร้างวัดไว้ ณ ที่นั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงถิ่นกำเนิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โยมบิดาและโยมมารดาพบกัน) โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดเกตุไชโย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตประทับตราแผ่นดินและตราพระราชบัญญัติวิสุงคามสีมา ถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เพื่อสร้างวัดเกตุไชโย อุทิศกุศลแก่โยมบิดา และสนองพระคุณโยมมารดาที่ทุกข์ทรมานอุ้มครรภ์และคลอด ตลอดจนกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูสั่งสอน สอนเดิน ณ ตำบลแห่งนี้

                ช่วงปลายชีวิตของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านเดินทางไปหลายแห่งทั่วประเทศ และสร้างอนุสรณ์ไว้ เช่น

๑.      พระพุทธรูปนอนใหญ่ที่วัดสะตือ ต. ท่าหลวง อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน องค์พระยาว ๑ เส้น ๖ วา สูง ๘ วา ฐานยาว ๑ เส้น ๑๐ วา กว้าง ๔ วา ๒ ศอก สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓

๒.      พระพุทธรูปนั่งที่วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) จังหวัดพระนคร เป็นพระก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ วา ๓ ศอก

๓.      พระพุทธรูปที่วัดกลาง ต. คลอดข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ทำด้วยอิฐถือปูน สูง ๖ วาเศษ เล่ากันว่า สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นป่ารกชัฏ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาเงินตราเก่า ๆ มีค่าโปรยเข้าไปในป่า ชาวบ้านย่านนั้นร่วมกันถางป่าจนราบเรียบเตียนโล่ง เพื่อหาเงินดังกล่าว จึงสามารถสร้างพระพุทธรูปยืนองค์นี้ได้ ต่อมาได้กลายเป็นสำนักสงฆ์ และเป็นวัดในที่สุด

๔.      เจดีย์วัดละครทำ ที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เป็นเจดีย์นอน ๒ องค์ หันฐานเข้าหากัน ห่างกันประมาณ ๒ ศอก ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก องค์ด้านใต้ถูกรื้อทำลายไปนานแล้ว องค์ด้านเหนือก็แทบจะไม่เป็นรูปร่างเสียแล้ว เนื่องจากถูกคนขุดค้นหากรุพระสมเด็จ

๕.      รูปปั้นแทนโยมตาและโยมแม่ สร้างกุฏิ ๒ หลัง อยู่ด้านทิศใต้ของวัดอินทรวิหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ขนาดเท่ากัน กว้าง ๑ วา ยาววาครึ่ง ปั้นรูปแทนโยมตาเป็นรูปพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว อยู่กุฏิหลังซ้าย ส่วนแทนโยมมารดาปั้นเป็นรูปภิกษุนั่งขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๓ นิ้ว ประดิษฐานอยู่กุฏิหลังขวา

๖.      หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร ที่ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูง ๑๖ วาเศษ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จสร้างได้ประมาณ ๙ วาเศษ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ต่อมาหลวงปู่แดงได้ก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์

 

สร้างพระสมเด็จ

                โดยที่เจ้าประคุณสมเด็จ ท่านเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระยิ่งนัก กอปรด้วยพระเมตตาบารมีสูงยิ่ง เมื่อท่านเจริญชนมายุแก่กล้าเป็นพระมหาเถระแห่งยุคสมัยแล้ว ก็ได้ปรารภเหตุว่า มหาเถระแต่ปางก่อนนั้น มักจะนิยมสร้างพระพิมพ์จำนวนมาก บรรจุลงไว้ในปูชนียสถานต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชาเป็นการเจริญพุทธานุสติ ปรารภเหตุดังกล่าวนี้ เจ้าประคุณสมเด็จ จึงได้ลงมือสร้างพระพิมพ์รุ่นแรกขึ้นมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ เป็นพระสมเด็จรุ่นแรกที่เรียกกันว่า “ทรง ๓ ชั้น”

                ต่อมาเจ้าประคุณได้สร้างรุ่นสองขึ้นอีก ที่เรียกกันว่า “ทรง ๗ ชั้น” เพื่อนำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง อันเป็นวัดที่ระลึกถึงโยมมารดาของท่าน แต่รุ่นนี้สร้างไม่ครบจำนวน สมเด็จได้บอกแก่นายเทศ ช่างแกะสลักพระ บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้นติด ๆ กับวัดระฆังฯ ว่า รุ่นนี้คงจะทำไม่ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ตามที่ตั้งใจไว้เสียแล้ว เพราะคงจะถึงแก่มรณภาพลงเสียก่อน เนื่องจากสังขารสูงวัยมากแล้ว  ท่านจึงให้เอาพระคะแนนร้อยคะแนนพัน จากการสร้างรุ่นแรกเอามาบรรจบรวมกัน แล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง ตามที่ตั้งใจไว้จนครบบริบูรณ์

 

พระสมเด็จองค์แท้เป็นอย่างไร

                ผู้ชำนาญการเฉพาะพระเครื่องสมเด็จกล่าวไว้ว่า พระสมเด็จองค์แท้จริงนั้น หมายถึงพระที่สมเด็จโตท่านสร้างไว้ สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๕ เท่านั้น ส่วนชุดอื่น ๆ ที่ใช้ผงสมเด็จมาผสม หรือกระทำพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณสมเด็จมาประทับทรงระหว่างปลุกเสก คงได้ชื่อเพียง “พระตระกูลสมเด็จ” หรือ “แบบสมเด็จ” เท่านั้น

                เฉพาะกรุที่ทำโดยเอาผงสมเด็จไปผสมนั้น ยืนยันกันว่ามีเพียง ๓ กรุเท่านั้น คือ

๑.       กรุวัดใหม่อมตรส กรุนี้มีประวัติเล่าไว้ว่า “เสมียนตราเจิม” บิดาของพระอักษรสมบัติ บ้านอยู่ตำบลบางขุนพรหม ได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่หนึ่งองค์ขึ้นที่วัดนั้น เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุสกุลวงศ์ ประสงค์จะสร้างพระสมเด็จบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ด้วย จึงไปขอผงจากเจ้าประคุณสมเด็จได้มาครึ่งบาตร ประกอบพิธีสร้างที่วัดอินทรวิหาร ต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จ ซึ่งเสมียนตราเจิมได้นิมนต์เจ้าประคุณให้มาฉันเพลในงานนี้ด้วย

๒.       กรุวัดพลับ มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ไม่ทราบนามฉายา อยู่ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เข้าใจว่าจะเป็นเพื่อนสหธรรมิกของเจ้าประคุณสมเด็จนั่นเอง ได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ได้ว่านยาชนิดต่าง ๆ มามากมาย กลับมาแล้วก็มีความคิดจะสร้างพระพิมพ์ขึ้นเช่นกัน จึงไปขอผงพระจากเจ้าประคุณสมเด็จ แต่ได้มาเพียงเล็กน้อย นำมาผสมกันสร้างเป็นพระพิมพ์เนื้อแข็ง สีขาวนั่งขัดสมาธิ มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มีทั้งพิมพ์พระนอน และพิมพ์ ๒ หน้า แต่เป็นกรุที่หายากมาก ปัจจุบันนี้แทบจะหาดูกันไม่ได้เสียแล้วฃ

๓.       กรุพระสมเด็จปิลันธน์ กรุนี้มีคำเล่าบอกของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชโต) ศิษย์ก้นกุฏิของเจ้าประคุณสมเด็จ เล่าไว้ว่า

หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน เมื่อขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพุทธุปบาทปิลันธน์” และยังสถิตอยู่ ณ วัดระฆังฯ ได้ทรงขอผงพระจากเจ้าประคุณสมเด็จ นำไปผสมกับผงดำของท่านสร้างเสร็จแล้ว ได้นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์มุมพระอุโบสถด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาทางคณะกรรมการวัดระฆังฯ ได้ทำการเปิดกรุไปแล้ว

        เรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) วัดระฆังฯ เล่าเสริมว่า ได้ค้นพบพระสมเด็จปิลันธน์อีกกรุหนึ่งบนเพดานหอไตร มีทั้งที่สมบูรณ์และชำรุดจำนวนมาก จึงได้คัดเอาองค์ที่ชำรุดมาปลุกเสกสร้างขึ้นใหม่ โดยประกอบพิธีปลุกเสกในพระอุโบสถวัดระฆังฯ เมื่อ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมรวม ๑๐๘ รูป พระสมเด็จปิลันธน์ ชุดนี้เป็นพระปางสมาธิ มีทั้งชนิดนั่งองค์เดียวบ้าง ๒ องค์และ ๓ องค์บ้าง นั่งในม่านแหวกเจดีย์ ๒ องค์ สีดำเจือขาว เนื้อเหมือนปูนซิเมนต์

 

พระสมเด็จแท้มี ๗๓ ชนิด

                พระอาจารย์ขวัญ วิสิฐโฐ วัดระฆังฯ อ้างว่า ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกของเจ้าประคุณสมเด็จว่า พระสมเด็จซึ่งสร้างจากมือท่านแท้ ๆ นั้น มีรวมอยู่ด้วยกัน ๗๓ ชนิด แต่เท่าที่สืบทราบได้ในปัจจุบันนี้ มีเพียง ๒๙ ชนิดเท่านั้น

                เล่ากันมาอีกว่า พระสมเด็จรุ่นแรกสุด ชนิดทรง ๓ ชั้น มี ๓ อย่างคือ สีดำ มีคุณวิเศษทางคงกระพันชาตรีม สีขาว มีกลิ่นหอม แก้โรคภัยต่าง ๆ และสีขาวไม่มีกลิ่น ใช้ทางเมตตามหานิยม ทั้ง ๓ อย่างนี้มีขนาดเดียวกัน คือ กว้าง ๔.๑ ซม. สูง ๖.๑ ซม. โดยนายเทศช่างแกะสลักพระ บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ให้ และเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จสร้างพระพิมพ์รุ่นแรกนี้สำเร็จลงแล้ว ท่านให้พระองค์แรกแก่ “นางเอี่ยม” แม่ค้าขายน้ำพริกเผาและกุ้งแห้งในตลาดบ้านขมิ้นเป็นคนแรก ซึ่งนางเอี่ยมก็ตำหนิตรง ๆ ว่า มีขนาดใหญ่เกินไป เจ้าประคุณสมเด็จก็ยอมรับว่าจริง แต่บอกว่ารุ่นแรก ๆ นี่ต้องทำให้ใหญ่หน่อย ต่อมาภายหลังเห็นว่าสร้างขนาดใหญ่เปลืองผงมาก จึงได้สร้างขนาดเล็กในเวลาต่อมา

 

วัสดุที่ใช้สร้างพระ

                ท่านเจ้าประคุณพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) วัดระฆังฯ อ้างคำบอกเล่าจาท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมของเจ้าประคุณสมเด็จอีกต่อหนึ่งว่า   

                การสร้างพระสมเด็จของเจ้าประคุณนั้น ท่านใช้ปูนขาวเป็นหลัก ผสมด้วยเกสรดอกบัว ขี้ไคลใบเสมา น้ำอ้อย, เนื้อ และ เปลือกกล้วยน้ำละว้า, น้ำมันตั้งอิ้ว, ขี้ธูปในพระอุโบสถ ปูนและดินกรุตามพระเจดีย์เก่า ๆ เศษอาหารและชานหมากที่สมเด็จฉันแล้ว ผงจากใบลานเผา, ว่านวิเศษต่าง ๆ และผงวิเศษในทางแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม จากผงดินสอ ซึ่งเจ้าประคุณเขียนอักขระตัวขอมในเวลาลงเลขยันต์ต่าง ๆ

                เมื่อเวลาจะสร้างนั้น สมเด็จมีดินสอเหลืองแท่งใหญ่อยู่แท่งหนึ่ง จะให้นายน้อย ซึ่งเป็นง่อยและอาศัยอยู่กับท่านมานานแล้ว เลื่อยดินสอเหลืองออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วลงประสมกับเปลือกกล้วย เจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยบ้าง ตำจนละเอียดดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับพระธรรมถาวร (ช่วง) ช่วยกันพิมพ์พระลงบนแม่พิมพ์ที่ “ช่างเทศ” เป็นคนแกะให้ใหม่ เป็นแม่พิมพ์ขนาดเล็ก รูปหลังเบี้ยฐาน ๓ ชั้น เสร็จแล้วใส่บาตรไว้เก็บในกุฏิชั้นใน แล้วทำพิธีปลุกเสกวันละ ๓ ครั้ง คือ เช้า กลางวัน และหัวค่ำ จนพอแก่ความต้องการ จึงค่อยเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสงค์ต้องการ

                ต่อมาพิธีปลุกเสกพระสมเด็จเปลี่ยนแปลงไปบ้างกล่าวคือ สมเด็จได้เอาบาตรพระที่ใส่พระพิมพ์ไว้จนเต็มแล้วนั้นไปตั้งไว้ที่หอสวดมนต์หน้าพระพุทธรูปประธาน แล้ววงสายสิญจน์จากพระประธานไปยังที่บาตรพระ อาราธนาภิกษุทั้งปวงที่มาเจริญพระพุทธมนต์ในระหว่างเข้าพรรษาว่า “ช่วยกันปลุกเสกพระของฉันด้วย” ทำเช่นนี้ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานั้น ครั้นครบกำหนดไตรมาสแล้ว สมเด็จก็เอาพระที่ปลุกเสกครบกระบวนความแล้วไปบรรจุไว้ตามเจดีย์ของวัดต่าง ๆ เช่นวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดตะไกร ที่แขวงกรุงเก่า, วัดระฆังฯ และวัดไชโยที่จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น

                ผู้ช่วยในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น นอกจากท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) และนายน้อย (ง่อย) ๒ คนที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่ช่วยกันคือ ๑. พระภิกษุพ่วง ๒. พระภิกษุภู (ต่อมาคือหลวงปู่ภู วัดอินทร์ เกจิอาจารย์ชั้นยอดอีกองค์หนึ่งของเมืองไทย) ๓. พระภิกษุแดง ๔. พระภิกษุโพธิ์ ๕. สามเณรเล็ก และ ๖. หลวงบริรักษ์โรคาพาธ แพทย์หลวงในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้วัดระฆังฯ เวลาว่าง ๆ ก็มักจะช่วยเจ้าประคุณในการสร้างพระพิมพ์ชุดต่าง ๆ อยู่เสมอ

 

ลักษณะพระสมเด็จแท้

                พระอาจารย์ขวัญ วิสิฐโฐ วัดระฆัง ฯ อธิบายลักษณะพระสมเด็จเนื้อแท้ไว้ว่า จะต้องมีองค์คุณวิเศษ ๕ ประการ ดังนี้

๑.      ดำปนแดงเจือเหลือง หรือเหลืองอ่อนดุจงาช้างและสีอิฐ

๒.      มีนำหนักเบากว่าพระพิมพ์อื่น ๆ ทั้งสิ้น

๓.      เนื้อละเอียดอ่อน ชื้นคล้ายเปียกน้ำอยู่เสมอ แต่แข็งแกร่ง มีวัตถุเล็ก ๆ สีดำหรือแดง ฝังอยู่กับส่วนหนึ่งส่วนใดของพระทุกองค์

๔.      แตกเป็นลายงาช้าง หรือลายสังคโลก

๕.      เมื่อหยิบเอาองค์พระขึ้นด้วยอาการสำรวม จะเกิดญาณหยั่งลึกสำนึกรู้ด้วยตัวเองทันทีว่า นี่คือพระสมเด็จเนื้อแท้

เกจิอาจารย์ที่รู้จริงในเรื่องพระสมเด็จอีกท่านหนึ่งคือ พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน แนะนำไว้ว่า พระสมเด็จแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ เนื้อผง. เนื้อกระเบื้อง (ดินเผา), เนื้อชิน (โลหะผสม). เนื้อเงินและเนื้อตะกั่วถ้ำชา

เฉพาะเนื้อผงยังมีแบ่งออกไปอีกเป็น ๑. เนื้อชานหมาก ๒. เนื้อผงใบลาน ๓. เนื้อโป่งเหลือง หรือ เนื้อกล้วยหอม ๔. เนื้อกระยาสารท ๕. เนื้อข้าวสุก ๖. เนื้อปูนน้ำมัน ๗. เนื้อเกสรดอกไม้ ๘. เนื้อหินลับมีดโกน ๙. เนื้อขนมถ้วยฟู ๑๐. เนื้อขนมตุ้บตั้บ ๑๑. เนื้อปูน ๑๒. เนื้อผงแป้งข้าวเหนียว

เรื่องราวของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ที่น่าสนใจมีอีกมากมาย แต่สิ่งที่ควรแก่การกล่าวถึงคือ จริยาวัตรของท่านเจ้าประคุณ ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ท่านบรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งได้รับสถาปนาแต่งตั้งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมีสัจจะในการประพฤติปฏิบัติเป็นกิจวัตรดังนี้ ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ตีห้าท่านจะตื่นทันที อาบน้ำชำระกาย แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมง เวลา ๐๖.๐๐ น. ออกบิณฑบาต แม้ว่าวังหลวงจะจัดอาหารมาถวาย ท่านก็จะออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ตามรอยพระสมณโคดม แล้วกลับมาตักน้ำใส่ตุ่มถึงจะฉันอาหาร ปกติท่านเจ้าประคุณสมเด็จจะฉันอาหารเพียงมื้อเดียว เว้นแต่ติดนิมนต์ไปฉันบ้านญาติโยม เวลา ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น. เป็นเวลสำหรับราชการกิจนิมนต์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเป็นผู้ถวายคำแนะนำราชกิจบางประการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษา โดยฝากมาพร้อมปิ่นโตอาหารที่นำถวายจากพระราชวังทุกวัน

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จอยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือค้ำชูประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องเอกราชของชาติในยุคที่ฝรั่งล่าเมืองขึ้น ซึ่งดำเนินนโยบายขอปันที่ดินบางส่วนของสยามไว้ใช้สอย หากไม่ให้ก็จะได้อ้างเป็นเหตุรุกรานประเทศสยาม และยึดเป็นเมืองขึ้นเหมือนที่กระทำกับประเทศต่าง ๆ มา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถวายข้อคิดว่า “หากเรายกส่วนหนึ่งส่วนใดของแผ่นดินสยามให้เขาแล้ว เขายกไปได้ก็ไม่ควรให้ แต่ถ้ายกให้เขา โดยที่เขาเอาไปไม่ได้ ก็ควรให้ไป เพื่อรักษาแผ่นดินส่วนใหญ่ไว้” ซึ่งคำแนะนำนี้ รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นชอบด้วย ทำให้ประเทศชาติสงบสุขมาจนปัจจุบัน

เลยเวลาจากเที่ยง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จจะปิดประตูขลุกอยู่ในกุฏิ เล่นและคุยกับสุนัข หรือไม่ก็อ่านหนังสือแต่งตำรา บางทีก็ใช้เวลากดพิมพ์พระเครื่องไปเรื่อย ๆ ถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นเวลาออกรับแขก มีคนพลุกพล่านขอความช่วยเหลือด้วยเรื่องจิปาถะ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จไม่เคยขัด ท่านมีเมตตาช่วยเหลือเจือจานเสมอ เมื่อมีทางช่วยได้ พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. หมดเวลารับแขก ไม่ว่าจะเป็นใคร เจ้านายใหญ่โตแค่ไหน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) จะเชิญออกจากกุฏิหมด จากนั้นท่านก็จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงเวลาสองทุ่ม จากนั้นท่านก็จะทำราชกิจที่ส่งมาปรึกษาจนถึงตีหนึ่งถึงจะเขาจำวัด ในช่วงออกพรรษาถ้างานว่าง ราชกิจมีน้อย ท่านจะออกธุดงค์ยังจังหวัดต่าง ๆ และสร้างปูชนียวัตถุดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

        ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเคยติดการฉันหมาก แต่พอถึงอายะ ๖๒ ปี ท่านเลิกฉันหมาก แล้วเปลี่ยนจากการจับไม้ตะบันหมากมาเป็นการบริกรรมชักลูกประคำจนถึงอายุ ๘๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถึงแก่มรณภาพ เมื่อเวลา ๒ ยาม วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับ วันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ณ หอสวดมนต์วัดระฆังโฆสิตาราม........

 

        นามธรรมเป็นปัจจัยให้มีขันธ์                 ขันธ์เป็นปัจจัยให้ถึงธรรม                  ธรรมเป็นปัจจัยให้ถึงนิพพาน

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

 

 
รูปภาพถ่ายสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งหินตัด

 

 

เชิญแนะนำการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความประทับใจ

เชิญแนะนำการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความประทับใจ

ชื่อ / Email
ข้อความ
  

นครราชสีมา แผนที่จังหวัดนครราชสีมา เขาใหญ่ โรงแรมในเขาใหญ่ รีสอร์ทที่พักเขาใหญ่ โรงแรมโคราช ข้อมูลเขาใหญ่
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอเมือง


วัดศาลาลอย
WAT SALA LOI
(นครราชสีมา)


วัดศาลาทอง

Wat Sala Thong
(นครราชสีมา)


แหล่งหินตัด

Laeng Hin Tat
(นครราชสีมา)
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอสูงเนิน


เมืองเสมา

MUANG SEMA
(นครราชสีมา)
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอโชคชัย


ด่านเกวียน
Dan Kwian
(นครราชสีมา)
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอโนนสูง
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอครบุรี
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอจักราช


ไทรงาม

Sai Ngam
(นครราชสีมา)
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอบัวใหญ่


ปรางค์กู่

PRANG KU
(นครราชสีมา)


ปรางค์สีดา

PRANG SIDA
(นครราชสีมา)
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอประทาย
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอปากช่อง
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอพิมาย
แหล่งท่องเที่ยวอำเภอสี่คิ้ว
แผนที่จังหวัดนครราชสีมา/map of NAKONRATCHASIMA


แผนที่ฟาร์มโชคชัย
ทำไว้ดีดูที่ท่องเที่ยว ใกล้เคียงได้ทุกที่ เช่น ทุ่งทานตะวัน เขาใหญ่ น้ำตกต่างๆ
โรงแรมจังหวัดนครราชสีมา/Hotel of NAKONRATCHASIMA

 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์