น้ำตกสี่ขีด
หรืออุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด
รายละเอียด
ในอดีตผืนป่าบริเวณนี้หนาทึบและมีสัตว์ป่าชุกชุม
ชาวบ้านจึงเรียกด้วยชื่อน่าสะพรึงกลัวว่า ผีขีด ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น สีขีด
พื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด ซึ่งเป็นเขาหินปูน
จึงก่อให้เกิดน้ำตกหินปูนที่สวยงาม และยังมีถ้ำที่น่าพิศวงหลายแห่ง
อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดมีพื้นที่ประมาณ 90,625 ไร่ หรือ 145 ตารางกิโลเมตร
ตั้งอยู่ในแนวทิวเขานครศรีธรรมราชที่สูงชันสลับซับซ้อน
มีสันปันน้ำเป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี
เดิมพื้นที่บริเวณน้ำตกสี่ขีดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่
ท้องที่ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
เป็นพื้นที่ที่มีทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม เช่น น้ำตก เกาะแก่ง แอ่งน้ำ โขดหิน
และพันธุ์ไม้ตระกูลต่างๆ มากมาย
สมควรที่จะได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงได้กำหนดพื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของอำเภอสิชล
และเพื่อเป็นการสนองนโยบายดังกล่าว อำเภอสิชล
จึงรณรงค์จัดทำโครงการอนุรักษ์ป่าเพื่อชุมชนบริเวณน้ำตกสี่ขีด
และเสนอกรมป่าไม้พิจารณาจัดตั้งเป็นวนอุทยานต่อไป
เพื่อเป็นการรักษาสภาพภูมิประเทศอันสวยงามและอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารสำหรับราษฎรได้ใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม
ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงน้ำตกได้ถูกราษฎรบุกรุกทำลายป่าเพื่อครอบครองที่ดินอย่างกว้างขวาง
ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้
และในเรื่องนี้ นายชำนิ บุญโยภาส อธิบดีกรมป่าไม้
ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งพื้นที่บริเวณน้ำตกสี่ขีด
ในป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่ เป็นวนอุทยานเมื่อเดือนกันยายน 2529
แต่การดำเนินงานต้องหยุดชะงักลงเพราะปัจจัยข้อกำหนดด้านงบประมาณ
จนกระทั่งปีงบประมาณ 2532 จึงได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการได้
เนื่องจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่
มีอาณาเขตกว้างขวางประมาณ 60,625 ไร่
มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามมากมายหลายแห่ง เช่น น้ำตกสี่ขีด น้ำตกสำนักเนียน
ถ้ำเขาพับผ้า และถ้ำสวนปราง เป็นต้น
เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงการเกษตรกรรมของอำเภอสิชล
จังหวัดนครศรีธรรมราช และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างชุกชุม
ประกอบกับพื้นที่นี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ได้ถูกราษฎรบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าเพื่อจับจอง ที่ดินอย่างกว้างขวางและรุนแรง
กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 584/2532 ลงวันที่ 14 เมษายน 2532 ให้
นายสมพล ศิลปธีรธร นักวิชาการป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ
ไปปฏิบัติงานประจำทำหน้าที่หัวหน้าวนอุทยานน้ำตกสี่ขีด
และให้ดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมพื้นที่บริเวณใกล้เคียงที่มีความเหมาะสม
เพื่อประกอบการพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ป่าใกล้เคียงในเขตท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
คือ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าชัยครามและป่าวัดประดู่
อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของป่าสงวนแห่งชาติป่ายางโพรงและป่าเขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116
ตอนที่ 48 ก วันที่ 17 มิถุนายน 2542 กำหนดบริเวณที่ดินป่าชัยคราม
และป่าวัดประดู่ ในท้องที่ตำบลท่าอุแท ตำบลคลองสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์
จังหวัดสุราษฎร์ธานี และป่ายางโพรง และป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลสี่ขีด
ตำบลเขาน้อย อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 8 องศา 55
ลิบดา ถึง 9 องศา 03 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 36 ลิบดา
ถึง 99 องศา 47 ลิบดา ตะวันออก
บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับกับเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน
เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช (เทือกเขาบรรทัด)
ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดนครศรีธรรมราช
อยู่ในเขตอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอสิชล แนวเขาวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้
เป็นแนวยาวขนานกับฝั่งทะเลตะวันออก ตอนกลางเป็นเทือกเขาที่สูงชันสลับซับซ้อน
มีลักษณะเป็นสันปันน้ำ โดยลาดต่ำไปทางตะวันออกและทางตะวันตก
ที่ราบส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออก พื้นที่นี้มียอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดเขาคีโหมด
สูง 1,303 เมตรจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาอื่นๆ เช่น ยอดเขานางสูง 881 เมตร
ยอดเขาวังพุงสูง 600 เมตร ยอดเขาปลายครามสูง 599 เมตร ยอดเขาขุนห้วยแก้วสูง 582
เมตร ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยประมาณ 700 เมตร
มีหุบเขาที่เป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยต่างๆ มากมาย เช่น คลองหวาด คลองท่าคลอง
คลองท่าเรือรี ห้วยโหมด ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดแอ่งน้ำและน้ำตกเป็นชั้นๆ
ต่อเนื่องกันเป็นลำดับ มีเขาบางลูกเป็นภูเขาหินปูน
จึงเกิดถ้ำที่สวยงามน่าพิศวงมากมายหลายแห่ง เช่น ถ้ำเขาพับผ้า ถ้ำธารลอด
ถ้ำสวนปราง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมาลายู
ได้รับลมมรสุมพัดผ่านทะเลทั้ง 2 ด้าน ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี อากาศเย็นสบาย
ฤดูฝนมีฝนตกชุกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มกราคม
ฤดูแล้งเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27?C
โดยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน ประมาณ 34 องศาเซลเซียล
และอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 22 องศาเซลเซียล ในเดือนมกราคม
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 2,300 มิลลิเมตร
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สังคมพืชที่ขึ้นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดสามารถจำแนกออกได้เป็น
ป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติ
โดยมากจะพบตามหุบเขาและริมห้วยที่มีความชื้นสูง พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ ยางปาย
ยางแดง ตะเคียนทอง ตะเคียนทราย หลุมพอ ไข่เขียว พญาไม้ ก่อเล็ก เต่าร้างยักษ์
ชก ฯลฯ พืชพื้นล่างและไม้เถาได้แก่ มหาสดำ หวายกำพวน หวายเทิง หวายขี้เสี้ยน
เตยย่าน เปื่อย คอกิ่วย่าน เป็นต้น
ป่าดิบเขา พบในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป
ซึ่งเป็นระดับที่มีเมฆหมอกปกคลุมทำให้มีอากาศชื้นเสมอ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่
เหมือด กำยาน หัวเต่า ติ่ง แดงเขา ก่อเขา ก่อใบเอียด ฯลฯ
ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างเป็นพวกตาเป็ดตาไก่ เคลง เนียม หวายแส้ม้า หวายเขา
ดาวสามแฉก กล้วยไม้ดินชนิดต่างๆ เป็นต้น
ป่ารุ่นหรือป่าเหล่า
เป็นสังคมพืชที่เกิดขึ้นทดแทนสภาพธรรมชาติเดิมภายหลังการถูกบุกรุกทำลาย
พันธุ์ไม้ที่สำคัญประกอบด้วยไม้เบิกนำ ได้แก่ สอยดาว ปอหูช้าง กะลอขน ล่อ พังแหรใหญ่
ทุ้งฟ้า เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จำนวน 327 ชนิด
ได้แก่
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 100 ชนิด ได้แก่ เลียงผา ช้างป่า สมเสร็จ เสือไฟ เก้ง
ลิงเสน ชะนีธรรมดา ค่างแว่นถิ่นใต้ เสือลายเมฆ หมูป่า อ้นใหญ่ เม่นใหญ่แผงคอ
เพียงพอนเหลือง หมูหริ่ง ชะมดเช็ด อีเห็นธรรมดา พังพอนธรรมดา กระแตธรรมดา
พญากระรอกดำ กระรอกข้างลายท้องแดง ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ค้างคาวบัวฟันกลม
หนูฟานเล็ก ฯลฯ
นก พบทั้งสิ้น 157 ชนิด เป็นนกประจำถิ่น 143 ชนิด และเป็นนกอพยพย้ายถิ่น 14
ชนิด ได้แก่ นกเหยี่ยวรุ้ง ไก่ป่า นกเขาเขียว นกบั้งรอกใหญ่ นกเค้ากู่
นกจาบคาหัวสีส้ม นกแก๊ก นกแอ่นฟ้าเคราขาว นกพญาไฟใหญ่ นกปรอดเหลืองหัวจุก
นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกจาบดินอกลาย นกกินแมลงหัวสีน้ำตาล นกกางเขนดง
นกกระจิบคอดำ นกจับแมลงคอสีน้ำตาลแดง นกกินปลีกล้วยเล็ก นกกาฝากอกเพลิง และนกกะติ๊ดตะโพกขาว
ฯลฯ
สัตว์เลื้อยคลาน พบจำนวน 39 ชนิด ได้แก่ เต่าจักร ตะพาบแก้มแดง ตุ๊กแกป่าลายจุด
จิ้งจกหางหนาม กิ้งก่าบินปีกสีส้ม เห่าช้าง เหี้ย จิ้งเหลนดินจุดดำ งูสิงหางดำ
งูเขียวหัวจิ้งจก งูสามเหลี่ยมหัวหางแดง ฯลฯ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 11 ชนิด
ได้แก่ อึ่งกรายหัวมน อึ่งอ่างบ้าน กบตะนาวศรี กบทูด เขียดตะปาด เขียดงูศุภชัย
เป็นต้น
สัตว์น้ำ พบปลา 18 ชนิดที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ปลาพลวง ปลาแฮะ ปลาซิวน้ำตก
ปลาเลียหิน ปลาติดหิน และปลาอีกอง นอกจากนี้ยังพบปูน้ำตกบริเวณน้ำตกสี่ขีด 2
ชนิดด้วยกัน คือ Phricotelphusa limula และ Salangathelphusa brevimarginata
การเดินทาง
- จากจังหวัดนครศรีธรรมราชเดินทางไปตามเส้นทางสายเอเชีย
นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ประมาณ 69
กิโลเมตรจะถึงสี่แยกต้นพยอม ทางแยกขวาไปอำเภอสิชล 1 กิโลเมตร
ทางแยกซ้ายเข้าสู่ที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด ประมาณ 15 กิโลเมตร
- จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ประมาณ 52 กิโลเมตร
จะถึงสามแยกเขาหัวช้าง เลี้ยวขวาระยะทาง 10 กิโลเมตร
ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด
Loading...
|