ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติแม่ยม
พื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าสักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่งดงามมาก นับได้ว่าเป็นตัวแทนป่าไม้สักของภาคเหนือได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งไม้ที่มีค่าต่างๆ จำนวนมาก และทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ 284,218.75 ไร่ หรือ 454. 75 ตารางกิโลเมตร
ในปลายปี พ.ศ. 2525 นายณรงค์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดแพร่) ดำริให้กรมป่าไม้ทำการสำรวจป่าสงวนแห่งชาติแม่ปุง-แม่เป้า จังหวัดแพร่ ซึ่งมีไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น และมีทิวทัศน์ธรรมชาติอื่นๆ ที่สวยงามหลายแห่ง ให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจเบื้องต้นปรากฏว่า บริเวณป่าแม่ปุงและป่าน้ำงาว น้ำสวด มีป่าสักที่สมบูรณ์ยิ่งในภาคเหนือ สภาพป่าโดยทั่วไปสมบูรณ์ดี เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยม ทั้งยังมีทิวทัศน์ และเอกลักษณ์ทาง ธรรมชาติที่สวยงาม เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่ปุง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น อุทยานแห่งชาติแม่ยม เพื่อให้เหมาะสมตามลักษณะของพื้นที่ซึ่งมีแม่น้ำยมไหลผ่าน และลักษณะเด่นที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติแม่ยมแห่งนี้เกิดจากแม่น้ำยม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินป่าแม่ปุง ป่าแม่เป้าและป่าแม่สอง ในท้องที่ตำบลเตาปูน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ และป่าแม่งาวฝั่งซ้าย ในท้องที่ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 103 ตอนที่ 34 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2529 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 51 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศอุทยานแห่งชาติแม่ยมโดยทั่วไป จะมีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงทั้งด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพื้นที่ ลาดลงมายังฝั่งแม่ยมซึ่งไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ เทือกเขาเหล่านี้ เช่น ดอยหลวง ดอยยาว ดอยขุนห้วยแปะ และดอยโตน เป็นต้น ซึ่งเทือกเขาสูงดังกล่าวนี้เป็นต้นกำเนิดที่สำคัญของแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยม อาทิ น้ำแม่ปุง น้ำแม่ลำ น้ำแม่เต้น น้ำแม่สะกึ๋น น้ำแม่เป๋า ห้วยผาลาด ห้วยแม่ปง ห้วยแม่พุง ห้วยแม่แปง ห้วยเค็ด ห้วยปุย ห้วยเลิม และห้วยแม่ปุ๊ เป็นต้น บริเวณที่ราบซึ่งมีความลาดเอียงจากแนวทิศเหนือไปทิศใต้โดยประมาณ มีระดับความสูงประมาณ 180 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่บริเวณอำเภอสอง แล้วลดความสูงมาเป็นประมาณ 157 เมตร ส่วนทางด้านแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้น พื้นที่ลาดเอียงสู่แม่น้ำยมทั้งสองด้าน ส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังและดินร่วนปนทราย ชนิดหินเป็นหินชั้นและหินเชล และพื้นที่จะอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1, 2, 3, 4 และ 5
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่ยม อยู่ในลักษณะอากาศแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู ปริมาณและการกระจายของฝนจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม 2 ประเภท คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มพัดผ่านระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ทำให้ฝนตกชุก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มพัดผ่านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน โดยนำอากาศหนาวและแห้งแล้งจากประเทศจีนมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ช่วงฤดูแล้งนี้ยังมีลักษณะอากาศแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขากล่าวคือ อากาศหนาวแห้งแล้งจะเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และอากาศร้อนแห้งแล้งจะเริ่มประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในเดือนเมษายน 33 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในเดือนมกราคม 14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,095 มิลลิเมตรต่อปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยชนิดป่าชนิดต่างๆ ได้แก่
ป่าเบญจพรรณ พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำยม ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะแบก ฯลฯ
ป่าเต็งรัง ขึ้นอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ และกระจายเป็นหย่อมๆ ในบริเวณดินที่มีความแห้งแล้ง เป็นดินลูกรัง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พลวง รัก มะเกิ้ม ชิงชัน ฯลฯ
ป่าดิบแล้ง ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติและตามบริเวณริมห้วยที่สำคัญ มีความเขียวชอุ่มตลอดปี พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง กระบาก มะหาด ยาง ยมหอม ก่อ ฯลฯ
ป่าสนเขา มีขึ้นอยู่ตามยอดเขาทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้จะเป็นพวกไม้สน และไม้ก่อ เช่น สนสามใบ ก่อเดือย ก่อตาหนู เป็นต้น
จากการสำรวจสัตว์ป่า พบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 39 ชนิด นก 135 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ที่มีสถานภาพที่น่าเป็นห่วง 4 ชนิด ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก กระรอกบินเล็กแก้มขาว แมวป่า และนกยูง มีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 1 ชนิด คือ เสือปลา นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าสงวนซึ่งมีสภาพใกล้สูญพันธุ์ตามสมุดปกแดงของ IUCN คือ เลียงผา สัตว์ป่าชนิดอื่นที่พบเห็นได้ทั่วไป ได้แก่ เก้ง หมีควาย หมูป่า กระต่ายป่า นางอาย เม่นหางพวง นากเล็กเล็บสั้น อ้นเล็ก กระเล็นขนปลายหูสั้น ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวมงกุฎมลายู หนูท้องขาว ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา นกหกเล็กปากแดง นกกระปูดใหญ่ นกเค้าโมง นกตบยุงหางยาว นกตะขาบทุ่ง นกตั้งล้อ นกโพระดกคอสีฟ้า นกหัวขวานด่างแคระ นกแอ่นตะโพกขาวหางแฉก นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ นกกินแมลงอกเหลือง นกพงคิ้วดำ นกเด้าลมหลังเทา นกปรอดโอ่งเมืองเหนือ นกจับแมลงหัวเทา นกกินปลีอกเหลือง เต่าเหลือง ตะพาบน้ำ กิ้งก่าสวน แย้ขีด จิ้งเหลนเรียวท้องเหลือง จิ้งจกหางหนาม งูหลาม งูสามเหลี่ยม อึ่งขาดำ กบหนอง เขียดบัว และคางคกบ้าน เป็นต้น
ฤดูกาลที่เหมาะสมที่ควรจะมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงแม่น้ำหลากในแม่น้ำยม และทางคมนาคมไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมี ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวเขาเผ่าอีก้อในช่วงฤดูหนาว เป็นหมู่บ้านชาวเขาที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 40 กิโลเมตร ชมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าอีก้อ อุทยานแห่งชาติแม่ยมยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีก ได้แก่ น้ำตกตาดตาล โป่งน้ำร้อน หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.2 (ผาอิง) และบริเวณจุดชมทิวทัศน์
ดงสักงาม
มีลักษณะเป็นกลุ่มของไม้สักที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นตามริมฝั่งแม่น้ำยม ตลอดแนวยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ไม้สักที่ขึ้นอยู่นี้มีลักษณะสูงใหญ่ ปลายตรง งดงามมาก คล้ายกับไม้สักที่ปลูกในสวนป่า และหากได้เข้าไปในเดือนสิงหาคม-กันยายน จะพบกับความร่มรื่นและดอกสักที่เหลืองอร่ามไปหมด บริเวณดงสักงามนี้มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ หรือ 32 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมประมาณ 6 กิโลเมตร การเดินทางไปยังจุดนี้ต้องใช้การเดินเท้าเท่านั้น
กิจกรรม -ชมพรรณไม้ - เดินป่าศึกษาธรรมชาติ
แก่งเสือเต้น
เป็นเกาะแก่งธรรมชาติในแม่น้ำยม มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่หน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ชื่อของแก่งเสือเต้นนี้มีความเป็นมาจากลักษณะของหินธรรมชาติก้อนหนึ่งในแก่งแห่งนี้ มีลักษณะคล้ายรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ ตามริมแม่น้ำยมในช่วงที่เป็นแก่งเสือเต้นนั้นจะมีหาดทรายปรากฏอยู่โดยทั่วไป เหมาะสำหรับกางเต็นท์พักแรมและล่องแก่งเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติที่งดงาม โดยมีเสียงน้ำไหลผ่านเกาะแก่งเป็นส่วนประกอบ
กิจกรรม -แค็มป์ปิ้ง - ชมทิวทัศน์
หล่มด้ง
เป็นแอ่งน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร ปรากฏอยู่บนยอดเขาสูง มีน้ำขังตลอดปี สันนิษฐานว่า แหล่งน้ำนี้เกิดจากการยุบตัวของดินในบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่และมีน้ำขังอยู่ กลายเป็นแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าในบริเวณนั้น ที่นี่ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของดงสักงามได้อย่างชัดเจน รวมทั้งชมทิวทัศน์ยามดวงอาทิตย์ขึ้นละตกด้วย หล่มด้ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยมประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากจุดชมทะเลภูเขา 1 กิโลเมตร ใกล้กับหล่มด้งนี้จะมีเหมืองแร่เก่าซึ่งผ่านการทำแร่แบไรต์มาแล้ว มีลานสำหรับกางเต็นท์พักแรม
กิจกรรม -แค็มป์ปิ้ง - ชมทิวทัศน์
จุดชมทะเลหมอก
เป็นบริเวณที่สามารถมองเห็นทิวเขาที่สลับซับซ้อน มองเห็นความงามของดงสักงามทางทิศตะวันออก ในช่วงฤดูหนาวจะได้สัมผัสบรรยากาศที่หนาวเย็นและเห็นทะเลหมอกในยามเช้า จุดชมทะเลภูเขานี้ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 13 กิโลเมตร
กิจกรรม -ชมทิวทัศน์
ผาลาด
บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.5 (ผาลาด) ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ โดยบริเวณห้วยผาลาดจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกยูง จำนวนมาก จาการสำรวจนกยูงบริเวณดังกล่าวเป็นนกยูงสายพันธุ์ไทย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 52 กิโลเมตร
กิจกรรม -ส่องสัตว์
ต้นมะค่าใหญ่
ขึ้นในบริเวณขุนห้วยแม่ปุง
ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีขนาดความโตวัดโดยรอบได้ 7.40 เมตร ความสูง 35 เมตร ต้องใช้คนประมาณ 6 คน จึงจะโอบได้รอบลำต้น ลักษณะกิ่งก้านสาขาแตกออกเป็น 2 นาง และแต่ละนางแตกออกเป็น 4 แขนง การแตกของนางแรกอยู่สูงจากพื้นดิน 3.22 เมตร พบอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ มย.4 (บ่อต้นสัก) ประมาณ 8 กิโลเมตร
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติแม่ยม
ตู้ ปณ. 4 อ. สอง จ. แพร่ 54120
โทรศัพท์ 0 5452 2097
การเดินทาง
รถยนต์
การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแม่ยม ต้องเริ่มจากจังหวัดแพร่ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 สายแพร่-น่าน ไปถึงสี่แยกอำเภอร้องกวาง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 103 สายร้องกวาง - งาว ประมาณ 26 กิโลเมตร จะถึงอำเภอสอง และจากอำเภอสองเดินทางไปตามเส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1154 สายสอง - งาว ประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมระยะทางจากจังหวัดแพร่ถึงอุทยานแห่งชาติแม่ยม ประมาณ 70 กิโลเมตร