อุทยานแห่งชาติเขาสก
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติเขาสก มีประวัติตำนานความเป็นมาเกี่ยวข้องกับบ้านศก ซึ่งเดิมมีชื่อว่า บ้านศพ ตั้งอยู่ในตำบลคลองศก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎรธานี ต่อมาท่านขุนคีรีรัฐนิคม นายอำเภอคีรีรัฐนิคม ซึ่งในสมัยก่อนอำเภอพนม ยังเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอคีรีรัฐนิคม ได้เปลี่ยนชื่อจากศพมาเป็นศก และได้เรียกชื่อว่าศกมาจนทุกวันนี้ ที่เรียกว่าศพนั้นเนื่องจากมีเขาที่บ้านศกลูกหนึ่งรูปร่างคล้ายยักษ์นอนตาย ชาวบ้านเรียกว่า เขาพันธุรัตน์ อุทยานแห่งชาติเขาสกมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอพนม และอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสภาพพื้นที่เป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ปกคลุมไปด้วยป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดของเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน พื้นที่ราบมีน้อย พื้นที่ส่วนหนึ่งด้านทิศเหนือบริเวณคลองพระแสงเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เกิดขึ้นเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เชี่ยวหลาน) ประกอบไปด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิด อุทยานแห่งชาติเขาสกมี เนื้อที่ประมาณ 461,712.5 ไร่ หรือ 738.74 ตารางกิโลเมตร
ความเป็นมา : เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2519 นายอรัญ โสโน ป่าไม้เขตสุราษฎร์ธานี และ นายธานี ภมรนิยม ป่าไม้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า จากการสำรวจสภาพภูมิประเทศและสภาพป่าโดยเครื่องบิน พบว่า ป่าโครงการไม้กระยาเลยคลองแสง - คลองหยี เกือบทั้งหมดเป็นภูเขาสลับซับซ้อน โดยเฉพาะป่าบริเวณเขาสกเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกสวยงามหลายแห่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำตาปี มีสัตว์ป่า ชุกชุม อีกทั้งไม่เคยผ่านการทำไม้มาก่อน น่าจะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1659/2519 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2519 แต่ได้รับรายงานว่า มีผู้ก่อการร้ายปฏิบัติการอยู่ในท้องที่ป่าแห่งนี้ จึงต้องระงับการสำรวจไว้ชั่วคราว จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายสู่ภาวะปกติแล้ว กองอุทยานแห่งชาติจึงได้ส่ง นายวัลลภ สุคนธ์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ออกไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลอีกครั้งหนึ่งตามคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 345/2521 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2521 ปรากฏว่า ป่าดังกล่าวมีสภาพธรรมชาติที่สวยงาม มีจุดเด่นต่างๆ เช่น พันธุ์ไม้ที่หายาก น้ำตก ถ้ำ หน้าผา สภาพป่าสมบูรณ์ เห็นควรดำเนินการยกเลิกสัมปทานป่าโครงการแห่งนี้ จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อจะได้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไป เป็นประโยชน์ในการท่องเที่ยวและการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2521 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2521 เห็นชอบให้จัดป่าแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ผู้รับสัมปทานทำไม้ของป่าโครงการแห่งนี้ขอทำไม้ออกก่อน จึงจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในภายหลัง ทำให้ต้องชะลอไว้ จนกระทั่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2522 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2522 ให้กรมป่าไม้ดำเนินการประกาศหรือออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พื้นที่ต่างๆ เป็นอุทยานแห่งชาติโดยเร่งด่วน โดยมิต้องคำนึงถึงเรื่องการทำไม้ตามสัมปทาน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ต้องการสงวนป่าไม้ไว้โดยการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ
กรมป่าไม้ จึงดำเนินการจัดตั้งป่าแห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองหยี และคลองพะแสง ในท้องที่ตำบลไกรสร ตำบลเขาพัง ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน และตำบลคลองศก ตำบลพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 403,450 ไร่ หรือ 645.52 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 197 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2523 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 22 ของประเทศ
ต่อมามีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติหลายครั้ง โดยปี พ.ศ 2526 เพิกถอนพื้นที่ประมาณ 4,887 ไร่ บริเวณน้ำท่วมและหัวงาน เนื่องจากมีการก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และมีการผนวกพื้นที่บริเวณพื้นที่น้ำท่วมที่เพิกถอนจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงบางส่วน มีเนื้อที่ประมาณ 49,875 ไร่ และในปี 2535 มีการรังวัดปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติให่ถูกต้อง เนื่องจากเลื่อมล้ำกับเขตสหกรณ์พนม ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าคลองหยีและคลองพะแสง ในท้องที่ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอคีรีรัฐนิคม ตำบลไกรสร ตำบลเขาพัง ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน ตำบลคลองศก ตำบลพนม อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 32 ก ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2537 รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 461,712.50 ไร่ หรือ 738.74 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติเขาสกอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศไทย ระหว่างเส้นรุ้งที่ 08 องศา 50 ลิบดา 43 พิลิบดา 09 องศา 17 ลิบดา 24 พิลิบดา เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 98 องศา 30 ลิบดา 44 พิลิบดา 98 องศา 90 ลิบดา 13 พิลิบดา ตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตรักษาพันธุ์สัตวป่าคลองแสง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ทิศใต้จดนิคมสหกรณ์พนม ทิศตะวันออกจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขื่อนรัชชประภา และทิศตะวันตกจดอุทยานแห่งชาติศรีพังงา
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาดินและภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน โดยเฉพาะช่องแคบเขากาเลาะมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูง ที่ราบมีไม่มาก มีสภาพป่าเป็นป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเป็นป่าต้นน้ำลำธารของคลองศกและคลองพะแสง ไหลมาบรรจบรวมกันเป็นต้นกำเนิดของคลองพุมดวง ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งที่สำคัญของแม่น้ำตาปี จุดสูงสุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 961 เมตร โดยเฉลี่ยสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร และลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียวปนทรายมีสีแดง บางแห่งเป็นดินลูกรังแต่มีส่วนน้อย
พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติด้านทิศเหนือเกือบทั้งหมดเป็นทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนรัชชประภา ซึ่งสร้างปิดกั้นคลองพะแสง มีขนาดใหญ่ประมาณ 168 ตารางกิโลเมตร ก่อให้เกิดเกาะเล็กเกาะน้อยประมาณ 162 เกาะ พื้นที่ประมาณ 14.06 ตารางกิโลเมตร เกาะเล็กเกาะน้อยนี้ก็คือ ส่วนที่โผล่พ้นน้ำของเขาหินปูนนั่นเอง
ก่อให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามยิ่ง
ลักษณะภูมิอากาศ
บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฝั่ง คือทั้งด้านมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน จนถึงปลายเดือนธันวาคมของทุกปี และจะตกชุกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน ช่วงที่เหมาะในการเข้าไปชมอุทยานแห่งชาติเขาสกจะอยู่ในระหว่างเดือนธันวาคม - เมษายน ของทุกปี ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,636 มิลลิเมตร ฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน อากาศร้อน และอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย มีฝนตกบ้างไม่มากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด คือเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส เดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดคือ เดือนมกราคม มีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพป่าโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติเขาสกเป็น
ป่าดงดิบชื้น ซึ่งพบเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ส่วนมากกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้นมาก ลักษณะสภาพทั่วไปรกทึบ มีเรือนยอดต่อเนื่องจากชั้นบนสุดลงมาถึงพื้นดิน พันธุ์ไม้ที่พบสำคัญได้แก่ ยางเสียน นาคบุตร ตะเคียนทอง จิกเขา ไข่เขียว ตาเสือ ตังหนใบใหญ่ สะตอ คอแห้ง เสียดช่อ เต้าหลวง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ปาล์มช้างไห้ หวายขริง หวายเดา เร่ว และปุด เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นสันเขาและหน้าผาหินปูนจะพบสังคมพืชของ
ป่าเขาหินปูน พืชพรรณที่สามารถขึ้นอยู่ได้ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่ทนแล้ง รวมไปถึงพืชล้มลุกที่มีระบบรากยึดเกาะตามหน้าผาได้ดี พืชที่พบได้แก่ จันทน์ผา กำลังหนุมาน เตยเขา มะนาวผี ตะเคียนหิน มลายเขา พลับพลา สลัดไดป่า เป็นต้น จากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาสก จึงเป็นแหล่งรวมพืชหายากและพืชเฉพาะถิ่น เช่น บัวผุด หมากพระราหู ปาล์มเจ้าเมืองถลาง รองเท้านารีเหลืองกร เอื้องฝาหอย มหาสดำ สังวาลย์โนรี เป็นต้น บางส่วนของพื้นที่ป่าต้นน้ำคลองศกเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่ารอยต่อของการกระจายพันธุ์พืช เช่น แดง ยวนแหล และตะเคียนชันตาแมว
บัวผุด มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rafflesia kerrii Meijer ถือได้ว่าเป็นดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-80 เซนติเมตร เป็นกาฝากชนิดหนึ่งที่อาศัยกินน้ำเลี้ยงจากรากและลำต้นของไม้เถาที่ชื่อว่า ย่านไก่ต้ม ( Tetrastigma papillosumplanch ) จะโผล่เฉพาะดอก ซึ่งเป็นดอกเดี่ยวสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลปนแดงคล้ำ ขึ้นมาจากพื้นดินในระหว่างฤดูฝนหรือในระยะที่อากาศและพื้นดินยังมีความชุ่มชื้นสูงคือระหว่างเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม
อุทยานแห่งชาติเขาสกเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 415 ชนิด ประกอบด้วย สัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ เลียงผา เก้งหม้อ และแมวลายหินอ่อน นอกจากนี้มีสัตว์อื่นๆ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ หมีขอ ค่างดำ ชะนีธรรมดา ไก่ป่า นกคุ่มอกลาย นกเขาหลวง นกอีวาบตั๊กแตน นกบั้งรอกใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกกะเต็นอกขาว นกโพระดกสวน นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นบ้าน นกปรอดทอง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกจับแมลงหัวเทา นกกระติ๊ดตะโพกขาว ตะพาบน้ำ จิ้งจกหางเรียบ กิ้งก่าบินปีกส้ม จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ งูลายสอธรรมดา งูสิงธรรมดา งูปล้องทอง งูเขียวดอกหมาก เขียดบัว กบนา อึ่งลายแต้ม ฯลฯ
ในบริเวนอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนรัชชประภา และแหล่งน้ำต่างในอุทยานแห่งชาติเขาสก อุดมไปด้วยปลาน้ำจืดมากมายหลายชนิด เช่น ปลาแปป ปลาแกง ปลาหนามหลัง ปลาใบไม้ ปลาสร้อย ปลาเล็บมือนาง ปลาปากใต้ ปลารากกล้วย ปลาหมูจุด ปลาแขยงหิน ปลากระทุงเหวเมือง ปลาบู่หมาจู ปลาปักเป้า และปลามังกร เป็นต้น
น้ำตกบางวิ่งหิน
เป็นน้ำตกที่อยู่ใกล้น้ำตกบางหัวแรด ห่างเพียง 120 เมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก สูงประมาณ 15 เมตร ที่น้ำไหลลงมารวมกับคลองศกที่บริเวณหัวแรด และในคลองศก ด้านล่างของน้ำตกลงมาประมาณ 20 เมตร จะมีก้อนหินก้อนโตๆ วางเรียงรายกันอยู่ในลำคลองเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถที่จะเดินข้ามลำคลองโดยเดินข้ามไปบนก้อนหินได้ จุดนี้เรียกว่า บางวิ่งหิน เป็นจุดที่มองดูสวยงามอีกแห่งหนึ่ง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 2.8 กิโลเมตร รถยนต์สามารถไปถึงได้ เหนือน้ำตกขึ้นไปประมาณ 40 เมตร จะมีที่สำหรับว่ายน้ำเรียกว่า วังยาว เป็นวังที่กว้างและยาว สามารถเล่นน้ำพร้อมกันได้ไม่ต่ำกว่า 500 คน
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
ตั้งน้ำ
น้ำตกโตนกลอย
เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม เกิดจากคลองศก ลักษณะน้ำตกเป็นน้ำตกชั้นเดียวดิ่งลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 20 เมตร มีน้ำไหลแรงตลอดปี มีลานหินสำหรับพักผ่อนอยู่บนชั้นน้ำตก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากตั้งน้ำ ประมาณ 1 กิโลเมตร
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกโตนไทร
น้ำตกธารสวรรค์
เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยบางพลูจืด ซึ่งไหลลงสู่คลองศก เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง น้ำตกลงมาจากหน้าผาชันพุ่งโค้งแบบรุ้งกินน้ำ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 6 กิโลเมตร ห่างจากตั้งน้ำ ประมาณ 1 กิโลเมตร
กิจกรรม -เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกสิบเอ็ดชั้น
เป็นน้ำตกที่เกิดจากน้ำในคลองบางแลน ไหลตกลงมาเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันมาตามร่องหน้าผา เป็นรูปขั้นบันได 11 ชั้น แต่ละชั้นสูงประมาณ 10 เมตร และห่างกันประมาณ 70 เมตร มีน้ำไหลตลอดปีไม่ขาดสาย ชั้นล่างสวยงามมากที่สุด มีแอ่งน้ำกว้างให้เล่นน้ำ และมีโขดหินวางเรียงรายอยู่ทั่วไปเหมาะสำหรับนั่งพักผ่อน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 4 กิโลเมตร ต้องเดินทางโดยทางเท้า
กิจกรรม -เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกแม่ยาย
เป็นน้ำตกเพียงแห่งเดียวภายในอุทยานแห่งชาติที่รถยนต์ไปถึงได้ อยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี ตะกั่วป่า) ตรงกิโลเมตร 113 เป็นน้ำตกชั้นเดียวสูงประมาณ 30 เมตร สวยงามมาก โดยเฉพาะฤดูฝนน้ำจะเต็มหน้าผาที่สูงชันกระจัดกระจายแตกฟองขาวโพลน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 5.5 กิโลเมตร
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
ถ้ำค้างคาว
เป็นถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะภายในถ้ำเป็นเหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม อยู่ห่างจากที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส. 4 (คลองแปะ) ประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 21 กิโลเมตร
กิจกรรม -เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
เขื่อนรัชชประภา
เขื่อนรัชชประภา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างปิดกั้นคลองพระแสง ตัวเขื่อนเป็นหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 95 เมตร ยาว 700 เมตร ระดับสันเขื่อนสูง 100 เมตร อ่างเก็บน้ำครอบคลุมพื้นที่ 165 ตารางกิโลเมตร ภายในอ่างเก็บน้ำมีเกาะมากกว่า 100 เกาะ สามารถล่องเรือชมทัศนยภาพที่สวยงามมาก โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบเขากาเลาะ บนสันเขื่อนรัชชประภายังเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่งดงามของอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะยามดวงอาทิตย์ตก เขื่อนเชี่ยวหลานอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 65 กิโลเมตร ทางเข้าอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 57 บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร
กิจกรรม -ล่องแพ/ล่องเรือ - ชมทิวทัศน์ - พายเรือแคนู/คยัค Top
ถ้ำน้ำทะลุ
ถ้ำน้ำทะลุ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำน้ำหลุ อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส. 4 (คลองแปะ) ประมาณ 3 กิโลเมตร ริมอ่างเก็บน้ำเชี่ยวหลาน โดยต้องนั่งเรือจากท่าเรือเขื่อนรัชชประภาไปประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเข้าไปตามคลองแปะอีกประมาณ 15 นาที แล้วเดินเท้าต่อไปประมาณ 2 กิโลเมตร จึงถึงถ้ำทะลุ ที่มีปากถ้ำกว้างใหญ่ถึง 30 เมตร ภายในกว้างขวางมีลำธารไหลผ่านตลอดความยาว 500 เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย รวมทั้งโขดหินที่เกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำจนมีรูปทรงแปลกตา หรือสามารถเดินเท้าจาก กิโลเมตรที่ 99 เข้าไปถึงถ้ำน้ำทะลุประมาณ 12 กิโลเมตร
กิจกรรม -เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา - ชมทิวทัศน์
น้ำตกบางหัวแรด
เป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำไหลแรงมาจากคลองศก เป็นน้ำตก 2 ชั้น ชั้นแรกไหลจากบางหัวแรดแล้วไหลลงคลองศก ชั้นที่สองอยู่ในคลองศก บริเวณโดยรอบน้ำตกกว้างขวางมาก เต็มไปด้วยหินเรียงรายตามธรรมชาติสวยงามแปลกตามาก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 3 กิโลเมตร
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก น้ำตกบางพ่อตา
น้ำตกบางเลียบน้ำ
เกิดจากลำคลองศก เป็นน้ำตกชั้นเดียว น้ำไหลตลอดปี ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 4.5 กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนนใหญ่กิโลเมตรที่ 112 ประมาณ 8 กิโลเมตร
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
ถ้ำสี่รู
อยู่ห่างจากถ้ำน้ำทะลุประมาณ 2 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางเดียวกับถ้ำน้ำทะลุ สมัยก่อนเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยมีทางออกจากถ้ำ 4 ช่องทาง
กิจกรรม -เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
ถ้ำลูกน้ำ
ทุ่งไข่ห่าน
เป็นที่ราบหุบเขา มีต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งมีข้อเป็นตุ่มจำนวนมาก คือ ต้นจิก จะออกดอกพร้อมกันในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม มีความสวยงามมาก เริ่มต้นจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส.6 (บางหมาน) เดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร
กิจกรรม -ชมพรรณไม้ - เดินป่าระยะไกล
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ สันยางร้อย เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดิบชื้น ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางขึ้นและลงเขาผ่านลำห้วยและผืนป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ ผืนป่าแน่นทึบไปด้วยพืชพรรณทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น เฟิน หวาย เต่าร้าง ยางเสียน กระบาก ฯลฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง จุดเริ่มต้นของทางอยู่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติเขาสก
หมู่ที่ 6 ต.คลองศก อ. พนม จ. สุราษฏร์ธานี 84250
โทรศัพท์ 0 7739 5139 โทรสาร 0 7739 5155 อีเมล
reserve@dnp.go.th
การเดินทาง
รถยนต์
การเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาสก มีสองเส้นทางคือ จากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี หรืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี-ตะกั่วป่า) แยกเข้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ตรงหลักกิโลเมตรที่ 109 ไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
สำหรับการเดินทางไปเขื่อนรัชชประภา ใช้เส้นทางแยกเข้าสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ขส.2 (แก่งเชี่ยวหลาน) ระหว่างกิโลเมตรที่ 57-58 และ เข้าสู่ไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงเขื่อนรัชชประภา สามารถนั่งเรือต่อไปหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำอีก 3 หน่วย ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทาง 780 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 (สุราษฎร์ธานี- ตะกั่วป่า) ระยะทาง 91 กิโลเมตรถึงปากทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ ที่กิโลเมตรที่ 109 เลี้ยวขวา ระยะประมาณ 1.5 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก ใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง
ที่พักแรม/บ้านพัก
บริเวณด้านนอกของอุทยานแห่งชาติเขาสกมีบ้านพักบังกะโลให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นของผู้ประกอบการประมาณ 30 กว่าแห่ง
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 225-600 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น
รายการที่ 1
- เต็นท์ ขนาด 3 คน ราคา 225 บาท/คืน (ไม่รวมชุดเครื่องนอน)
- เต็นท์ค่าย ขนาด 6 คน ราคา 600 บาท/คืน
(ไม่รวมชุดเครื่องนอน)
-กรณีที่นำเต็นท์ไปกางเอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน -มีบริการเครื่องนอนและอุปกรณ์สนามของอุทยานฯ มีอัตราค่าบริการเครื่องนอนมีดังนี้
1) ถุงนอน ราคา 30 บาท/วัน>
2) ที่รองหมอน ราคา 20 บาท/วัน>
3) หมอน ราคา 10 บาท/วัน>
อุทยานแห่งชาติเขาสก
เขื่อนรัชชประภาบริการอาหาร
มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาสก) -อาหารเมื้อเช้า 50 บาท/คน -อาหารมื้อเที่ยง 100 บาท/คน -อาหารมื้อเย็น 100 บาท/คน มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว(แพนางไพร,โตนเตย,ไกรสร) -อาหารเมื้อเช้า 60 บาท/คน -อาหารมื้อเที่ยง 120 บาท/คน -อาหารมื้อเย็น 120 บาท/คน
ท่าเรือ/ท่าเทียบเรือ
อุทยานแห่งชาติมีท่าเทียบเรือไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเที่ยว
ในเขื่อนรัชชประภา - ท่าเรือแพปลา - ท่าเรือไฟฟ้า
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 18.00 น.