วัดมณีสถิตย์กปิฏฐาราม
วัดมณีสถิตกปิฎฐาราม เดิมชื่อ วัดมณีธุดงค์สงฆ์มูลิกาวาส
เริ่มก่อสร้างราวพุทธศักราช ๒๔๓๑ตั้งอยู่ถนนมณีสถิตย์ ตำบลอุทัยใหม่
อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๐๒
และ ๔๓๔๔
มีเนื้อที่รวม ๕๐ ไร่ ๑ งาน ๔๒.๒ ตารางวา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสกลมหาสังฆปรินายกสมเด็จพระสังฆราช
เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑล
ฝ่ายเหนือ
ได้เสด็จมาที่เมืองอุทัยธานี เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖
เสด็จมาทอดพระเนตรวัดมณีธุดงค์สงฆ์มูลิกาวาสทรงเปลี่ยนชื่อเป็น
วัดทุ่งแก้ว
ตามที่ประชาชนนิยมเรียกกัน (ที่ตั้งวัดเป็นป่าไผ่
ด้านตะวันออกของป่าไผ่มีทุ่งใหญ่ ประชาชนเรียกบริเวณนี้ว่า
ทุ่งแก้ว
ชื่อนี้จึงติดปากนำไปเรียกชื่อวัดด้วย)
วันที่ ๑๘
มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ เกิดเพลิงไหม้ตลาดสะแกกรังครั้งใหญ่ เพลิงไหม้ตลาด บ้านเรือน
บริเวณทิศใต้และทิศตะวันตกของวัดขวิด
ส่วนสิ่งก่อสร้างของวัดขวิดไม่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ในครั้งนี้
แต่ทางราชการมีความจำเป็นต้องจัดผังเมืองใหม่เพื่อสร้างตลาดและบ้านเรือนที่อยู่อาศัย
มีการตัดถนนผ่านที่ดินของวัดขวิดถึง ๓ ด้าน คือถนนศรีอุทัย ถนนมหาราช
และถนนสะแกกรัง จึงให้รวมวัดขวิดเข้ากับวัดทุ่งแก้ว และสมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี)
เจ้าคณะมณฑลนครสวรรค์ ได้เปลี่ยนนามวัดทุ่งแก้วเป็น
วัดมณีสถิตกปิฎฐาราม
เมื่อ
พ.ศ.๒๔๘๑ (มณี แปลว่า แก้ว หมายถึงทุ่งแก้ว กปิฎ แปลว่า มะขวิดหมายถึงวัดขวิด)
สมเด็จพระวันรัต(เฮง เขมจารี) ได้เล่าไว้ในหนังสือประวัติของท่านว่า
วัดนี้เดิมชื่อวัดทุ่งแก้ว เป็นวัดสร้างใหม่ ในระหว่างป่ากับบ้านนี้
มีทุ่งใหญ่เขาเรียกว่าทุ่งแก้ว
พระธุดงค์มักมาพักในป่านี้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อ
พระอาจารย์แย้มอยู่วัดโมลีโลก(วัดท้ายตลาด) กรุงเทพฯ เป็นผู้มั่นคงในทางภาวนา
พอใจในการธุดงค์จำเพาะองค์เดียว บางครั้งมีคนแก่เป็นศิษย์ไปด้วยคนหนึ่ง
ท่านจาริกมาพักในป่านี้ชาวสะแกกรังนิยมนับถือ เรียนภาวนาต่อท่านเป็นอันมาก
นายพุ่ม นางพิณ พงษ์นุ่มกุล ได้สร้างศาลาขนาดเล็ก พื้นไม้กระดาน
หลังคามุงกระเบื้องหลังหนึ่ง
สำหรับเป็นที่พักผ่อนแห่งท่านจากนั้นท่านจาริกมาพักที่ศาลานี้เสมอ
ข้าพเจ้า (สมเด็จพระวันรัต เขมจารี) และยายเคยไปหาท่านที่นั้นยังจำได้
และเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นที่รมณีสถาน จึงดำริจะสร้างวัด เริ่มแนะนำให้ขุดสระ
ที่เรียกว่า สระน้ำมนต์พระอาจารย์แย้ม ได้ชักชวนชาวบ้านสะแกกรังมาช่วยกันขุด
มีขนาดกว้าง ๑๔.๖๐ เมตร ยาว ๑๗.๔๐ เมตร ลึก ๗.๑๙ เมตร พร้อมกับก่อขอบสระ
เป็นอิฐถือปูนประมาณ ๒๕ นิ้ว กว้าง ๑๒ นิ้ว
เพื่อกรุอิฐเป็นสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จึงทำศิลาลงยันต์ คาถาอักษรขอม
ปลุกเสกอาคม บรรจุไว้ตรงกลางสระ เพื่อให้น้ำทั้งสระเป็นน้ำมนต์
มุมสระสร้างศาลาเล็ก ๆ มุมละ ๑ หลัง ศาลากำหนดว่าสองเสา
แต่มีสี่เสาอยู่หลังหนึ่ง แต่นั้นมาก็จัดสร้างวัดเป็นลำดับมา ป้าเกษร์
(โยมป้าของสมเด็จพระวันรัต) เป็นผู้จัดการ
ในขณะที่เริ่มสร้างวัดนี้
พระอาจารย์ทอง
มาเป็นเจ้าอาวาสช่วยเหลือในการก่อสร้างพระอาจารย์ทองมาพักอยู่ที่ศาลาพระอาจารย์แย้ม
พระอนุจรอยู่ที่ศาลาขอบสระบ้าง ที่โรงยาวทำด้วยไม้ไผ่มุงแฝกบ้าง
ประชุมฉันที่โรงฉันซึ่งทำขึ้นอาศัยเป็นชั่วคราว
มีชาวบ้านทำอาหารคาวหวานไปเลี้ยง
ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเวร เรียกว่าแกงเวร นายพุ่ม นางพิณ พงษ์นุ่มกุล
ได้ถวายแพไปปลูกกุฏิ ด้านเหนือของวัด
พระอาจารย์ทองย้ายมาอยู่ที่กุฏินี้ต่อมากุฏินี้
ทรุดโทรมและได้รื้อเสียแล้ว
ครั้นต่อมาได้สร้างกุฏิเป็นหมู่คณะ กุฏิใหญ่อยู่กลางหลังหนึ่ง
ภายหลังเขาถวายเรือนแพมาปลูกกุฏิแฝด มีกุฏิเล็กอยู่สองข้าง
หอสวดมนต์อยู่กลางหน้ากุฏิใหญ่ บัดนี้รื้อไปปลูกไว้เหนือกุฏิตึก
ต่อหอสวดมนต์มีหอฉัน แต่เล็กไม่พอพระ จึงใส่ฝาเป็นกุฏิพระและได้สร้างกุฏิ โบสถ์
การเปรียญ วิหาร เป็นลำดับมา
สำหรับน้ำในสระน้ำมนต์ของวัด
นอกจากจะใช้เป็นน้ำมนต์ในงานพิธีมงคลของชาวบ้านสะแกกรังแล้ว
ยังใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น คราวเกิดไข้ทรพิษ ไข้วัณโรค อหิวาตกโรคระบาด
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๓ ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔
ที่สำคัญคือได้นำน้ำจากสระน้ำมนต์ไปประกอบพิธีมุรธาภิเษก
ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ และรัชกาลที่ ๗ เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยนำไปรวมกับน้ำจากแหล่งอื่นของมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งทำพิธีปลุกเสกน้ำ
ณ วัดพระมหาธาตุ เมืองชัยนาท
พ.ศ.๒๔๕๒ ป้าเกษร์ (โยมป้าของสมเด็จพระวันรัต เขมจารี)
ได้จัดสร้างพระปรางค์ห้ายอด ขนาดฐานกว้าง ๘ เมตร สูงถึงยอด ๑๖ เมตร มีซุ้ม ๔
ซุ้ม มีรูปปั้นพระอิศวรทรงช้างเอราวัณ ๓ เศียรอยู่ในซุ้ม ฐานลดหลั่นเป็น ๕ ชั้น
ปั้นรูปยักษ์ ลิง กินนร เรียงรายรอบพระปรางค์ สมเด็จพระวันรัต
(เฮง เขมจารี)
ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ภายในพระปรางค์
สมเด็จพระวันรัต(เฮง
เขมจารี) ได้จัดสร้างหอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒
ชั้นมีมุขยื่นกลางแบบอาคารสมัยรัชกาลที่ ๖ บานประตูแกะสลักลวดลาย
เรียกว่าหอไตรและได้ประดิษฐานพระไตรปิฎกลาน ที่จารึกลงรักปิดทองล่องชาดไว้
พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม
อุทัยธรรมสภา
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น มีมุขกลาง หลังคามุงกระเบื้องปูนซีเมนต์
ฝาผนังฉาบปูน และส่วนที่ติดกับขอบวงกบ ประตู หน้าต่างมีลวดลายงดงามค่าก่อสร้าง
๒๗,๐๖๒.๘๐
บาท
พ.ศ ๒๕๑๗ โรงเรียนพระปริยัติธรรม
อุทัยธรรมสภา
มีสภาพชำรุด
หลังคารั่วมาก พระราชอุทัยกวี (พุฒ สุทตฺโต) เจ้าอาวาสจึงได้ทำการซ่อมแซมหลังคา
โดยเปลี่ยนจากกระเบื้องปูนซีเมนต์เป็นกระเบื้องลูกฟูกและซ่อมแซมรั้วโดยรอบด้านสิ้นเงิน
๒๖๘๕๐๓.๕๐ บาท และอาคารหลังดังกล่าวปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุทัยธานี
พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้มีการรื้อศาลาการเปรียญ ที่อยู่หน้าวัดด้านเหนือ
เพื่อใช้สถานที่บริเวณนี้ประมาณ ๑๐ ไร่ สร้างโรงเรียนวัดมณีสถิตกปิฏาราม
สังกัดกรมสามัญศึกษาภายหลังโอนไปสังกัดเทศบาลเมืองอุทัยธานี
และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนชุมชน เทศบาลวัดมณีสถิตกปิฎฐาราม
วัดมณีสถิตยกปิฎฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี
ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น ศาลา กุฏิ และปรับปรุงเสนาสนะต่าง ๆ
เรื่อยมาเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม
พ.ศ. ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดมณีสถิตกปิฎฐาราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี
ชนิดสามัญ ปัจจุบันพระราชอุทัยกวี (ประชุม มาเรโย)
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม และเจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี