ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี

www.dooasia.com > เมืองไทยของเรา > ภูมิศาสตร์ประเทศไทย

ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ภูมิรัฐศาสตร์ ขนาด รูปร่าง พรมแดน ภูมิประเทศ
ภาคเหนือ - ธรณีวิทยา  - การระบายน้ำ - พื้นที่ราบ  - ป่าไม้  - เขตแดน  
ภาคกลาง - ธรณีวิทยา  - การระบายน้ำ
ภาคอิสาน - ธรณีวิทยา  - การระบายน้ำ - พื้นที่ราบ - ป่าไม้ - เขตแดน
ภาคใต้ - ธรณีวิทยา - การระบายน้ำ - ทะเลสาบ - ฝั่งทะเล  - พื้นที่ราบ - ลมฟ้าอากาศ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ภาคกลางของประเทศไทย

            ภาคกลางเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ตอนใจกลางของประเทศ  มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะคล้ายรางน้ำขนาดใหญ่ประกอบด้วยทิวเขาทางด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ซึ่งทอดตัวยาวขนานกันจากทิศเหนือ ลงไปทางทิศใต้เป็นขอบของราง ต้นรางอยู่บริเวณที่ราบสูงทางเหนือ ปลายรางลาดเทลงสู่อ่าวไทย รางน้ำดังกล่าวนี้มีความกว้างระหว่าง ๕๐ - ๑๐๐ กิโลเมตร และยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร
            พื้นที่ภาคกลางแยกออกจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยด้วยกรอบทิวเขาและป่า ซึ่งยกระดับพื้นที่ของทั้งสองภาค ให้สูงขึ้นไปจากภาคกลาง  พื้นดินส่วนมากเป็นดินที่เกิดจากตะกอนทับถม จึงเป็นย่านดินอันอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีลำน้ำหล่อเลี้ยงอยู่เกือบตลอดปี จึงเป็นย่านกสิกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศมาโดยตลอด และจากการที่มีพื้นที่ติดกับก้นอ่าวไทย ทำให้เป็นภาคที่มีการคมนาคมติดต่อกับทางทะเลได้สะดวก  บรรดาแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ช่วยให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำเป็นไปโดยสดวก เมื่อรวมกับการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ และทางถนนด้วยแล้ว ภาคกลางจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่ดีที่สุดของประเทศ ทำให้เป็นย่านที่สำคัญยิ่งทางด้านเศรษฐกิจของไทย
            ภาคกลางมีพื้นที่ประมาณ ๑๗๗,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่าทางด้านทิศตะวันตก โดยมีทิวเขาและป่าทึบเป็นแนวเขตแดน และเป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติ ทางด้านตะวันออกติดต่อกับประเทศเขมร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แบ่งตามรูปลักษณะออกได้เป็นสองตอนคือ ตอนตะวันออกมีพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยม ตอนตะวันตกหรือภาคกลางแท้ ๆ มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่บนก้นอ่าวไทย


สภาพทางธรณีวิทยา

            ภาคกลางเป็นพื้นที่ราบต่ำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก ที่กรุงเทพ ฯ สูงประมาณ ๒ เมตร ที่อยุธยาสูงประมาณ ๔ เมตร และที่ชัยนาท สูงประมาณ ๑๘ เมตร นับว่าพื้นที่โดยทั่วไปมีความราบเรียบมาก  ลักษณะผิวดินโดยทั่วไปเป็นดินเหนียว อันเกิดจากตะกอนน้ำทับถมกันมาเป็นเวลานาน มีพื้นที่เป็นดินปนทรายอยู่บ้าง โดยเฉพาะในแถบใกล้เคียงกับทิวเขา เช่นทิวเขาบรรทัดที่จันทบุรี และตราด
            เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นรางน้ำขนาดใหญ่ ท้องรางน้ำเป็นตัวลำน้ำเจ้าพระยา มีตอนที่สูงที่สุดอยู่บริเวณจังหวัดชัยนาท ทำให้พื้นที่ตอนเหนือมีลักษณะเป็นอ่างน้ำ แต่มีระดับไม่ลึก ทางตอนใต้ของจังหวัดชัยนาทลงมาพื้นที่จะลาดเอียงทีละน้อยลงสู่อ่าวไทย  ส่วนพื้นที่ในตอนตะวันออก ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบลุ่มน้ำบางปะกง และพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย พื้นที่จะราบเอียงน้อย ๆ ไปทางด้านทิศตะวันตก ลงสู่อ่าวไทย ส่วนบริเวณลุ่มน้ำบางปะกง จะเป็นที่ราบระหว่างทิวเขาสันกำแพงทางเหนือ และทิวเขาจันทบุรี ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
    ภูเขา
            ภาคกลางมีทิวเขาเป็นขอบเขตอยู่ทั้งสามด้าน เว้นแต่บริเวณช่องวัฒนาทางด้านทิศตะวันออก ในตอนกลางของพื้นที่มีหมู่ภูเขาเล็ก ๆ ตั้งอยู่บ้าง เป็นแขนงซึ่งกระจายออกมาจากทิวเขาที่เป็นขอบเขตนั่นเอง ทิวเขาที่อยู่ในพื้นที่ตอนในของที่ราบภาคกลางมีอยู่ทิวเดียวคือ ทิวเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งได้แบ่งที่ราบภาคกลางออกเป็นสองส่วนคือ ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และที่ราบลุ่มน้ำป่าสัก
            ทิวเขาที่นับว่าเป็นหลักในภาคกลาง แบ่งออกได้เป็น ๖ ทิวเขาด้วยกันคือ



            ทิวเขาเพชรบูรณ์  เป็นทิวเขาที่ต่อเนื่องมาจากทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งเชื่อมโยงต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ ธิเบต-ยูนนาน ทิวเขานี้กรหนาบลำน้ำป่าสักอยู่สองข้าง เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำเลย ตอนเหนือใต้กั้นภาคกลางกับภาคอิสาน อยู่ระหว่างจังหวัดเลยกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนกลางกั้นระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ตอนใต้กั้นจังหวัดเพชรบูรณ์กับจังหวัดชัยภูมิ ทิวเขาทางด้านตะวันตกกั้น จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ จนถึงลพบุรีกับเขตจังหวัดเพชรบูรณ์โดยตลอด
            ตอนเหนือของทิวเขานี้อยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นทิวเขาหินแกรนิต แต่ตอนกลางและตอนใต้ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์ลงมาเป็นเขาหินปูน ทำให้เกิดความแตกต่างกันต่อสภาพแวดล้อม กล่าวคือ ทางตอนเหนือในส่วนที่เป็นเขาหินแกรนิต จะเป็นหุบเขาใหญ่มีความชุ่มชื้นมีน้ำตลอดปี จึงเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ ส่วนทางตอนใต้ซึ่งเป็นเขาหินปูน จะมีแต่ความแห้งแล้ง ตอนที่แห้งแล้งที่สุดเป็นภูเขาหินปูนเตี้ย ๆ ในเขตพื้นที่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
            ยอดเขาสูงของทิวเขาเพชรบูรณ์อยู่ทางด้านตะวันตก ในเขตอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเรียงจากด้านทิศเหนือมาทางด้านทิศใต้ คือ
                ภูขัด  อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สูง ๒,๑๘๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
                ภูหล่มล่อ  อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดพิษณุโลก สูง ๑,๙๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
                ภูเมี่ยง  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดพิษณุโลก สูง ๒,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
            ทิวเขาทางด้านตะวันออกเป็นทิวเขาแกรนิตเตี้ย ๆ มียอดสูงสุด ประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล


            ทิวเขาดงพระยาเย็น  เป็นเทือกเขาติดต่อจากทิวเขาเพชรบูรณ์ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก ทิวเขาเพชรบูรณ์ด้านตะวันตกกับทิวเขาดงพระยาเย็นด้านตะวันออก มีลักษณะเป็นทิวเขาที่ยกเป็นชั้นขึ้นไป คือยกชั้นภาคอิสานทั้งภาคให้สูงกว่าภาคกลาง บริเวณตอนเหนือของทิวเขาดงพระยาเย็น อยู่ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ตอนกลางอยู่ในเขตจังหวัดลพบุรี ตอนใต้อยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา ทิวเขานี้เดิมเรียกว่า ดงพระยาไฟ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นดงพระยาเย็น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดงพระยาเย็นอยู่ประมาณแนวทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนบริเวณที่ถนนสุรนารายณ์ผ่านเรียกว่า ดงพระยากลาง ส่วนดงพระยาต้น หรือดงพระยาริม ยังสันนิษฐานไม่ได้ว่าอยู่ในบริเวณใด
            ทิวเขาดงพระยาเย็น เป็นทิวเขาหินปูนไม่สูงนัก ยอดสูงสุดคือ  เขาพังเหย สูง ๙๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่ในเขตจังหวัดชัยภูมิ ดังนั้นบริเวณนี้จึงกันดารน้ำมาก
            ทิวเขาที่กั้นภาคกลางกับภาคอิสาน มีช่องทางสำคัญอยู่สามช่องทางด้วยกันคือ ช่องทางปากช่อง ช่องทางแนวถนนสุรนารายณ์ และช่องสระผม ซึ่งมีด่านกักสัตว์ของกรมปศุสัตว์ตั้งอยู่ สำหรับกักสัตว์ที่ต้อนมาจากภาคอิสาน ซึ่งเดินเลียบลำน้ำสนธิ เพื่อเข้าสู่ภาคกลาง
            ทิวเขาสันกำแพง  เป็นทิวเขาที่มีทิศทางเฉียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ กั้นเขตจังหวัดนครราชสีมากับ จังหวัดนครนายก และปราจีณบุรี ทางด้านตะวันออกเป็นเขตจังหวัดนครราชสีมา ด้านตะวันตกเป็นเขตจังหวัดนครนายก และปราจีณบุรี บางตอนของทิวเขานี้ เช่นทางด้านนครราชสีมาเป็นเขาหินปูน ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นขอบของปากปล่องภูเขาไฟ
            ยอดเขาสูงของทิวเขานี้ได้แก่  เขาแหลม สูง ๑,๓๒๘ เมตร  เขาร่มน้อย สูง ๑,๐๓๓ เมตร  เขาเขียว สูง ๑,๒๗๐ เมตร  เขาแก้ง สูง ๑,๐๑๓ เมตร  เขาอินทนิล สูง ๑,๐๗๘ เมตร  เขาฝาละมี สูง ๑,๐๖๓ เมตร และเขาสามยอด สูง ๑,๑๑๙ เมตร
            ทิวเขาสันกำแพงมีช่องทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญอยู่สามช่องทาง คือ ช่องบุขนุนช่องบุพราหมณ์ และช่องตะโก
            ทิวเขาสันกำแพงได้แบ่งน้ำลงสู่ลำน้ำต่าง ๆ ดังนี้คือ ไหลลงลำน้ำป่าสัก ได้แก่ ลำห้วยมวกเหล็ก มีน้ำตลอดปี ไหลลงลำน้ำมูล ได้แก่บรรดาสาขาต่าง ๆ ของลำน้ำมูล และลำตะคอง ไหลลงลำน้ำปราจีนบุรี ได้แก่ ลำน้ำนครนายก ลำน้ำประจันตคาม และลำน้ำกบินทร์ ลำน้ำดังกล่าวนี้มีน้ำตลอดปี
            บริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของเทือกเขานี้ได้แก่ บริเวณอำเภอปากช่อง และอำเภอจันทึก จะมีน้ำตลอดปี


            ทิวเขาใหญ่ หรือ เขาแม่วง  เป็นเทือกเขาต่อจากทิวเขาถนนธงชัยอีกแนวหนึ่ง คือเป็นแนวที่ซ้อนกันอยู่ ทิวเขาถนนธงชัยอยู่ทางด้านตะวันตก มีลุ่มน้ำแม่กลองอยู่ตอนกลาง และมีทิวเขาใหญ่ซ้อนอยู่ทางด้านตะวันออก ขนานกับทิวเขาถนนธงชัยลงมาทางใต้ ในตอนเหนือเริ่มตั้งแต่ จังหวัดกำแพงเพชร ตลอดลงมาทางใต้จนถึงจังหวัดกาญจนบุรี ทิวเขานี้ปันน้ำลงลำน้ำแม่กลองส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งลงลำน้ำเจ้าพระยา ในส่วนที่ไหลลงลำน้ำแม่กลองได้แก่ ลำน้ำแควใหญ่ ที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้แก่ ลำน้ำสะแกกรัง ลำห้วยกะทง (ต้นลำน้ำท่าจีน)
            ยอดเขาสูงอยู่ทางทิศตะวันตกของ จังหวัดกำแพงเพชร คือ เขาเปอปรี สูง ๑,๘๑๕ เมตร  ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดนครสวรรค์ คือ เขาม่อยกะจุ สูง ๑,๙๖๔ เมตร


            ทิวเขาจันทบุรี  เริ่มต้นจากจังหวัดชลบุรีทอดตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กั้นเขตจังหวัดปราจีนบุรี กับจังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรีออกจากกันคนละด้าน เป็นทิวเขาที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำปราจีนบุรีกับ อ่าวไทยด้านตะวันออก เป็นเทือกเขาหินแกรนิตที่มีเทือกเขาหินปูนกระหนาบอยู่สองด้าน คือทางตอนกลางของบริเวณเขาเป็นหินแกรนิต ทางชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และลุ่มน้ำปราจีนบุรี เป็นเทือกเขาหินปูนในเขตพื้นที่ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นตอนต้นของทิวเขานี้ มีเขาเขียว สูง ๙๗๙ เมตร มีอีกชื่อหนึ่งเขาทิวเขาบางปลาสร้อย ในเขตอำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีเขาชะเมา สูง ๑,๐๓๕ เมตร ในเขตจังหวัดจันทบุรีมีเขาสอยดาวเหนือ สูง ๑,๕๘๐ เมตร  เขาสอยดาวใต้ สูง ๑,๖๓๙ เมตร  เขาทรายขาว สูง ๑,๔๗๒ เมตร  เขาพระบาท สูง ๑,๐๗๙ เมตร  เขาสระบาป สูง ๙๓๒ เมตร  พนมกะบุงบายกะเร็ง สูง ๙๔๗ เมตร และพนมตาเด็ด สูง ๑,๑๑๘ เมตร
            ทิวเขาจันทบุรีปันน้ำลงทางลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลงทางอ่าวไทย ทางลุ่มน้ำปราจีนบุรีมีคลองต่าง ๆ คือ คลองท่าลาด ห้วยไคร้ และคลองทางชิง ทางด้านอ่าวไทยมีลำน้ำต่าง ๆ คือ หนองปลาไหล ลำน้ำประแส และลำน้ำจันทบุรี


            ทิวเขาบรรทัด  เป็นทิวเขาเทือกเดียวกับทิวเขาจันทบุรี แต่มีทิศทางจากจังหวัดจันทบุรีลงไปทางใต้ จนถึงจังหวัดตราด และติดต่อกับทิวเขาอบเชยในเขมร ทิวเขานี้กั้นเขตแดนไทยกับเขมรทางด้านจังหวัดตราด และปันน้ำลงสองข้างด้วยกันคือ
            ทางอ่าวไทย ได้แก่ลำน้ำเวฬุในจังหวัดตราด ทางเขมรได้แก่ลำน้ำต่าง ๆ ที่ไหลลงทะเลสาบเขมร
            ช่องทางผ่านทิวเขานี้ไปสู่ประเทศเขมร ในเขตอำเภอไพลินมีช่องทางอยู่หลายช่องทางด้วยกัน
            ยอดเขาสูงในทิวเขานี้ได้แก่ เขาดาบ สูง ๑,๒๕๖ เมตร


ระบบระบายน้ำ

            ลำน้ำทั้งสิ้นของภาคกลางจะไหลขนานกับทิวเขาซึ่งตั้งขนาบอยู่ทั้งด้านตะวันตก และด้านตะวันออก ลงไปทางทิศใต้เกิดเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ หล่อเลี้ยงพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ และเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำของภาคกลาง ลำน้ำที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้


            ลำน้ำที่ไหลลงสู่ก้นอ่าวไทย  ได้แก่ ลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ส่วนที่เรียกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มตั้งแต่ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ลงมาจนถึงอ่าวไทย ที่จังหวัดสมุทรปราการ มีความยาวประมาณ ๓๓๐ กิโลเมตร มีแควต่าง ๆ ไหลมาบรรจบและไหลแยกออกไปหลายหลายด้วยกันคือ
            ลำน้ำสะแกกรัง  เกิดจากทิวเขาแม่วง ดังนั้ตอนต้นน้ำจึงเรียกว่า ลำน้ำแม่วง จะเรียกลำน้ำสะแกกรัง เมื่อผ่านภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี มีทิศทางการไหลจากด้านทิศตะวันตกไปทางด้านทิศตะวันออก ปากน้ำสะแกกรังอยู่ใต้อำเภอมโนรมย์ เรียกว่า ตำบลคุ้งสำเภา ลำน้ำนี้ยาวประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร
            ลำน้ำท่าจีน  ต้นน้ำแยกออกไปจากลำน้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวา ในเขตอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ลำน้ำท่าจีนมีหลายชื่อแล้วแต่ว่า ลำน้ำจะไหลผ่านตำบลสำคัญตำบลใด พอประมวลได้ดังนี้คือ ตอนต้นเรียกว่า คลองมะขามเฒ่า หรือ คลองวัดสิงห์ ตอนใกล้จังหวัดสุพรรณบุรีถึงเขตอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมเรียกว่า ลำน้ำสุพรรณ ตอนผ่านเขตอำเภอนครชัยศรีเรียกว่า ลำน้ำนครชัยศรี ตอนใต้เขตอำเภอนครชัยศรีลงไปเรียก ลำน้ำท่าจีน ลำน้ำสายนี้ยาวประมาณ ๒๘๐ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอวัดสิงห์ อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อำเภอเดิมบาง อำเภอสามชุก อำเภอเมือง ฯ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และอำเภอเมืองสมุทรสาคร
            ลำน้ำแควน้อย  แยกจากลำน้ำเจ้าพระยาในเขต จังหวัดชัยนาท ที่ปากคลองเมืองสวรรค์ เดิมเรียกว่า ปากคลองแพรก เพราะแยกไปเมืองแพรกซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย ลำน้ำแควน้อยไหลขนานกับลำน้ำเจ้าพระยา ลงมาทางใต้จนถึงเขต อำเภอโพธิทอง จังหวัดอ่างทองก็จะมีคลองศาลาแดงซึ่งเป็นลำน้ำเก่า ไหลแยกไปบรรจบลำน้ำเจ้าพระยา จากอำเภอโพธิทอง ลำน้ำแควน้อยไหลผ่าน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง อำเภอผักไห่ จังหวัดอยุธยา ไปบรรจบลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลหัวเวียง ช่วงนี้ชาวบ้านเรียกว่า ลำน้ำผักไห่ เพราะผ่านอำเภอผักไห่ จากนั้นไหลผ่าน อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกไปบรรจบกับลำน้ำบางบาล ซึ่งเป็นแควสายหนึ่งของลำน้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเสนาได้ชื่อว่าลำน้ำสีกุก เพราะไหลผ่านตำบลสีกุก จากนั้นไหลไปบรรจบลำน้ำเจ้าพระยาที่ อำเภอบางไทร  ลำน้ำแควน้อยยาวประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร
            ลำน้ำลพบุรี  เป็นแควหนึ่งของลำน้ำเจ้าพระยา โดยไหลแยกออกจากฝั่งซ้ายลำน้ำเจ้าพระยา ที่ตำบลบางพุทรา อำเภอเมืองสิงห์บุรี จึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า ลำน้ำบางพุทรา ลำน้ำนี้ไหลไปผ่านอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี และได้ไปบรรจบกันกับลำน้ำบางขาม ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่านอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ลำน้ำบางขามในช่วงนี้เรียกว่า คลองโคกสลุด เมื่อลำน้ำลพบุรีไหลผ่านอำเภอเมืองลพบุรีแล้วก็วกลงทางใต้ แล้วไปบรรจบลำน้ำป่าสักในเขต จังหวัดอยุธยาที่หัวรอ ลำน้ำลพบุรียาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เมื่อไหลผ่านบริเวณอำเภอมหาราษฎร จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นที่ลุ่มมากในฤดูน้ำจะกลายเป็นที่แอ่งน้ำเวิ้งว้างคล้ายทะเล


            ลำน้ำป่าสัก  เกิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ลำน้ำสายนี้ไหลอยู่ในซอกเขา พื้นน้ำเป็นหินดาลในฤดูน้ำ น้ำจะท่วมบ่าออกไปจากฝั่งทั้งสองข้าง ข้างละประมาณ ๑ - ๒ กิโลเมตร ในลำน้ำมีแก่งอยู่หลายแห่งที่สำคัญคือ แก่งคอย ในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ในฤดูน้ำน้ำท่วมแก่งเรือผ่านได้สะดวก เมื่อสร้างเขื่อนพระรามหก กั้นลำน้ำป่าสักที่ตำบลท่าหลวง ทำให้การเดินเรือในลำน้ำป่าสักสะดวกขึ้น ในฤดูแล้งเรือข้าวสามารถใช้ในคลองระพีพัฒน์จนถึงจังหวัดสระบุรี และถ้าเป็นเรือขนาดเล็กจะสามารถไปได้ถึงแก่งคอย ลำน้ำป่าสักยาวประมาณ ๓๕๐ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอหล่มสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอท่าโรง อำเภอชัยบาดาล อำเภอแก่งคอย อำเภอเสาไห้ อำเภอท่าเรือ และอำเภอนครหลวง
            คลองบางแก้ว  เป็นแควสายหนึ่งของลำน้ำเจ้าพระยา โดยได้ไหลแยกจากลำน้ำป่าโมก ในเขตอำเภอเมืองอ่างทอง แล้วไหลไปทางทิศตะวันตก ไปบรรจบลำน้ำลพบุรีในเขตอำเภอมหาราช มีความยาวประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
            ลำน้ำป่าโมกหรือลำน้ำบางปลากด  ไหลแยกออกไปจากคลองบางแก้วในเขตจังหวัดอ่างทอง แล้วไหลลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านปากคลองศาลาแดง บ้านบางปลากด และอำเภอป่าโมก แล้วแยกออกเป็นสองแคว แควด้านตะวันออกคือ ลำน้ำบางบาล แควด้านตะวันตกคือ ลำน้ำโผงเผง มีความยาวประมาณ ๑๘ กิโลเมตร
            ลำน้ำโผงเผง  หรือคลองโผงเผง รับน้ำจากลำน้ำป่าโมก แยกจากลำน้ำบางบาลที่บ้านปะขาว ไหลไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปบรรจบลำน้ำผักไห่ ที่บ้านหัวเวียง มีความยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
            ลำน้ำบางบาล  เป็นแควแยกออกไปจากลำน้ำโผงเผง ผ่านอำเภอบางบาลไปบรรจบลำน้ำแควน้อยในเขตอำเภอเสนา มีความยาวประมาณ ๑๗ กิโลเมตร
            คลองบ้านกุ่ม  แยกจากลำน้ำบางบาลที่บ้านกุ่ม แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปบรรจบลำน้ำลพบุรีในเขต อำเภอเมืองอยุธยา มีความยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร


            ลำน้ำเจ้าพระยา  จากปากน้ำโพไหลผ่าน อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรพยา อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท อำเภออินทรบุรี อำเภอบางระจัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง อำเภอเมืองอยุธยา อำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา อำเภอสามโคก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อำเภอบางกอกน้อยกรุงเทพ ฯ อำเภอพระประแดง และอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ แล้วไหลลงทะเลที่อ่าวไทย ในเขตจังหวัดสมุทรปราการปากน้ำเจ้าพระยากว้างมากกว่า ๑ กิโลเมตร และมีสันดอนขนาดใหญ่ ต้องคอยขุดลอกสันดอนเพื่อให้เรือเดินสมุทรเดินทางเข้าไปท่าเรือกรุงเทพ ฯได้
ลำน้ำที่ไหลลงฝั่งตะวันออกของอ่าวไทย


            ลำน้ำบางปะกง  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาจันทบุรี ร่วมกับที่ราบสูงในเขต อำเภออรัญประเทศ ตอนต้นน้ำชื่อ ลำน้ำพระปรง ตอนกลางชื่อ ลำน้ำปราจีน และตอนจะลงสู่ทะเลชื่อ ลำน้ำบางปะกง ลำน้ำพระปรงไหลจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ได้รับน้ำจากทิวเขาบรรทัดตลอดทาง ลำห้วยที่ไหลลงลำน้ำพระปรงส่วนใหญ่จะมีน้ำเฉพาะในฤดูน้ำ มีลำน้ำที่เกิดจากทิวเขาจันทบุรีมาบรรจบที่สำคัญคือ คลองพระสทึง ซึ่งไหลจากทางทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ เมื่อไหลไปถึงเขตอำเภอเมืองสระแก้วแล้วจึงไหลวกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วไปบรรจบลำน้ำพระปรง มีความยาวประมาณ ๙๔ กิโลเมตร ส่วนลำน้ำพระปรงยาวประมาณ ๖๖ กิโลเมตร เมื่อคลองพระสทึงมาบรรจบแล้ว  ลำน้ำพระปรงจะไหลผ่าน อำเภอกบินทรบุรี และอำเภอเมืองปราจีนบุรี แควต่าง ๆ ของลำน้ำปราจีนบุรีได้แก่ ลำน้ำหนุมาณ ลำน้ำประจันตคาม และลำน้ำนครนายก
            ลำน้ำหนุมาณ  หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ลำน้ำกบินทร เป็นลำน้ำขนาดเล็ก ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสันกำแพง ไหลมาบรรจบลำน้ำกบินทรที่อำเภอกบินทรบุรี
            ลำน้ำประจันตคาม  เป็นแควขนาดเล็ก ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาบรรทัดไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปบรรจบลำน้ำปราจีนที่บ้านกระแจะ มีความยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร
            ลำน้ำนครนายก  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสันกำแพง ในเขตจังหวัดนครนายก มีความยาวประมาณ ๓๓ กิโลเมตร
            เมื่อลำน้ำปรงไหลเข้าเขา จังหวัดปราจีนบุรีจะได้ชื่อว่า ลำน้ำปราจีน ไหลผ่านอำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อผ่านตำบลแปดริ้ว ลำน้ำนี้เรียกว่า ลำน้ำบางปะกง ไหลผ่านอำเภอบ้านโพ อำเภอบางปะกง แล้วจึงไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร ลำน้ำบางปะกงอำนวยประโยชน์ทางด้านกสิกรรมให้แก่ประเทศไทย เป็นที่สองรองจากลำน้ำเจ้าพระยา เป็นลำน้ำที่มีคลองแยกมาก ผ่านพื้นที่บึงและหนองและเป็นลำน้ำที่คดที่สุดในประเทศไทย พื้นน้ำเกือบเป็นทรายโดยตลอด คือตั้งแต่อำเภอบ้านโพธิไปจนถึงปากอ่าว ในฤดูแล้งน้ำเค็มขึ้นไปถึงตำบลแปดริ้ว ปากน้ำกว้างประมาณ ๑.๓ กิโลเมตร


            ลำน้ำระยอง  ชาวบ้านเรียกว่าคลองท่าประดู่เพราะไหลผ่าน อำเภอท่าประดู่ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเมืองระยอง ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาจันทบุรี ที่แยกออกมาจากสันเขาใหญ่ที่รองลงมาทางทะเล มีลำธารแขนงเล็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเรียกว่าคลองที่มีขนาดใหญ่ได้แก่ คลองดอกรวย คลองหนองปลาไหล คลองบางกระดาน เป็นต้น ลำน้ำระยองมีความยาวประมาณ ๓๖ กิโลเมตร ไหลจากทิศเหนือมาทางทิศใต้ลงอ่าวไทย ในฤดูแล้งลำน้ำตื้นมาก ขณะน้ำลงสามารถลุยข้ามได้ จึงใช้เดินเรือไม่ได้
            ลำน้ำประแสร์  เป็นลำน้ำขนาดเล็กเช่นเดียวกับลำน้ำระยอง ชาวบ้านเรียกคลองประแสร์ ต้นน้ำเกิดจากเขาขุนอิน ในทิวเขาจันทบุรีด้านตะวันออก ไหลผ่าน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง มีความยาวประมาณ ๒๗ กิโลเมตร มีลำห้วยไหลมาบรรจบหลายสาย เช่น คลองวังหน้า คลองหวาย และคลองโพล่ พื้นท้องน้ำเป็นทราย ฤดูแล้งมีน้ำไหลริน ๆ ใช้เดินเรือไม่ได้
            ลำน้ำจันทบุรี  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาจันทบุรี มีลำธารไหลมาบรรจบหลายสาย มีความยาวประมาณ ๘๖ กิโลเมตร ไหลผ่านอำเภอมะขาม อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอท่าแฉลบ ไหลไปออกทะเลบริเวณเขาแหลมสิงห์ ดอนปากน้ำน้ำลึก เรือสามารถเดินได้ถึง อำเภอท่าแฉลบ
            ลำน้ำเวฬุ  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาจันทบุรีบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเขาสระบาป ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ ตอนต้นน้ำมีลำธารอยู่สองสายคือ คลองเวฬุและคลองตรอกนาง ซึ่งไหลจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออก มาบรรจบลำน้ำเวฬุที่บ้านร้อยจู มีความยาวประมาณ ๖๔ กิโลเมตร ลึกจากปากอ่าวเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร มีลำน้ำแยกไปอำเภอขลุง ทางทิศตะวันตก เรียกว่าลำน้ำสันยาว เรือเดินทะเลแล่นไปเทียบท่าที่ อำเภอขลุงได้ พื้นน้ำเป็นทราย และมีน้ำตลอดปี
            ลำน้ำตราด  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาจันทบุรี และทิวเขาบรรทัด ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้ลงอ่าวไทยทางทิศตะวันออกตอนบน มีแควใหญ่สองแควไหลมาบรรจบคือ คลองใหญ่ ต้นน้ำเกิดจากเขาตะแบงใหญ่ไหลผ่าน อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ยาวประมาณ ๕๒ กิโลเมตร คลองห้วยแรง ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาบรรทัด ยาวประมาณ ๓๔ กิโลเมตร คลองทั้งสองไหลมาบรรจบกันที่ตำบลห้วยแรง อำเภอบางพระ แล้วได้ชื่อว่า ลำน้ำตราดไหลไปทางทิศใต้ ยาวประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ถึงปากน้ำ พื้นลำน้ำเป็นทราย ในฤดูแล้งน้ำตื้นเขินมีเกาะแก่งอยู่มาก
ลำน้ำที่ไหลลงสู่ฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย
            ลำน้ำแม่กลอง  ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาสามทิวคือ ทิวเขาถนนธงชัยตอนใต้ ทิวเขาตะนาวศรีตั้งแต่ด่านเจดีย์สามองค์ลงมาทางใต้ และทิวเขาแม่วงหรือทิวเขาใหญ่ ลำน้ำจากต้นน้ำทั้งสามดังกล่าวไหลมารวมเป็นแควขนาดใหญ่สองแควคือ แควด้านตะวันตก เรียกว่าลำน้ำแควน้อย หรือ ลำน้ำไทรโยค แควด้านตะวันออกเรียกว่าลำน้ำแควใหญ่ หรือลำน้ำศรีสวัสดิ์ บางแห่งเรียกลำน้ำแม่กลอง
            แควทั้งสองนี้มีทิวเขาถนนธงชัยตอนล่างคั่นกลาง บริเวณที่ปลายทิวเขาถนนธงชัยต่อกับทิวเขาตะนาวศรีเป็นช่องเขา ที่ใช้เป็นทางเดินติดต่อระหว่างกันของไทยกับมอญพม่ามาแต่โบราณกาล รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินทัพของทั้งสองฝ่ายด้วย
            แควทั้งสองไหลลงมารวมกันเป็นลำน้ำแม่กลองที่ตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี แล้วไหลลงทางใต้ไปออกอ่าวไทยที่ จังหวัดสมุทรสงคราม


            ลำน้ำศรีสวัสดิ์  ต้นน้ำศรีสวัสดิ์เกิดจากแควเล็ก ๆ สองสาย สายด้านทิศตะวันออกเรียกว่า ลำน้ำแม่กลอง เกิดจากทิวเขาแม่วง ไหลผ่านบ้านแม่กลองเหนือ แล้วไหลลงทางทิศใต้ สายด้านตะวันตก เรียกว่าลำน้ำแม่จั่น เกิดจากทิวเขาถนนธงชัยที่บริเวณปลายเขตจังหวัดตาก กับจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านอำเภออุ้มผางไปบรรจบกับ แควด้านตะวันออกที่บ้านแม่กลองใต้ แล้วไหลลงมาทางทิศใต้ ระหว่างทางได้รับน้ำจากทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแม่วง เมื่อไหลเข้าเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ จะผ่านพื้นที่ราบมากขึ้น และได้เปลี่ยนทิศทางโดยไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อเข้าเขต อำเภอลาดหญ้าก็จะมีลำตะเพินไหลมาบรรจบ ลำน้ำสายนี้มีความยาวประมาณ ๓๐๐ กิโลเมตร ในฤดูแล้งมีน้ำไหลริน ๆ แต่ในฤดูน้ำน้ำจะเชี่ยวมาก บางครั้งจะล้นฝั่ง พื้นลำน้ำเป็นหินกรวดและทราย
            ลำตะเพิน  เป็นลำห้วยที่เกิดจากทิวเขาแม่วงในเขต จังหวัดอุทัยธานีตอนบนจะไหลอยู่ในซอกเขา เมื่อไหลผ่านอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่จะค่อนข้างราบ แนวทางการไหลของลำตะเพินจะไหลจากทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ และไปบรรจบลำน้ำแควใหญ่ที่บ้านลาดหญ้า มีความยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร ในฤดูแล้งน้ำตื้นเขิน ฤดูน้ำน้ำเชี่ยวมากและล้นฝั่ง พื้นลำน้ำเป็นกรวดและทราย


            ลำน้ำแควน้อย หรือลำน้ำไทรโยค  อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลำน้ำศรีสวัสดิ์ ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาถนนธงชัยทางด้านตะวันออก ได้รับน้ำจากทิวเขาตะนาวศรีทางด้านตะวันตก เชื่อมกับปากช่องเจดีย์สามองค์ เรียกว่าลำน้ำซองกาเลีย ไหลจากทิศตะวันออกลงไปทางทิศใต้ มีความยาวประมาณ ๒๘ กิโลเมตร เมื่อถึงตำบลสามสบ ซึ่งเป็นจุดที่ ลำน้ำซองกาเลีย ลำน้ำรันแต และลำน้ำยี่คีมาบรรจบกัน แล้วไหลไปทางทิศใต้ผ่าน อำเภอทองผาภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านท่าขนุน อำเภอไทรโยค เมื่อไหลมาถึงตำบลเมืองสิงห์ ลำน้ำได้เปลี่ยนทิศทางไหลไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านอำเภอเมืองสิงห์ มีลำน้ำพาชีไหลมาบรรจบ
            ลำน้ำพาชี  เป็นลำน้ำใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดราชบุรี ต้นน้ำเกิดจากเขาพระรอย ในเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีทิศทางไหลจากทางทิศใต้ไปทางทิศเหนือได้รับน้ำจากทิวเขาตะนาวศรี ฤดูฝนน้ำเชี่ยว ฤดูแล้งมีน้ำไหลริน ใช้เดินเรือไม่ได้ มีความยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
            ลำน้ำแควน้อยเมื่อมีลำน้ำพาชีมาบรรจบแล้ว ก็ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้ววกขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงตำบลปากแพรก อำเภอเมืองกาญจนบุรี ก็ไปบรรจบกับลำน้ำแควใหญ่ ลำน้ำแควน้อยยาวประมาณ ๒๐๗ กิโลเมตร เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางน้ำที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณจนเนื่องมาถึงปัจจุบัน
            ลำน้ำแม่กลองตอนต่อจากอำเภอเมืองกาญจนบุรีลงมา จะไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา จนถึงบ้านท่าเรือ จะมีห้วยลาไหลมาบรรจบ มีทิศทางวกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อกับลำน้ำกำแพงแสน ซึ่งไปเชื่อมกับลำน้ำจรเข้สามพัน ลำน้ำแม่กลองไหลต่อไปผ่านอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภอเมืองราชบุรี อำเภอดำเนินสดวก จังหวัดราชบุรี แล้วไหลผ่าน อำเภอบางคณที อำเภออัมพวา อำเภอเมืองสมุทรสงคราม แล้วไหลลงอ่าวไทย มีความยาวประมาณ ๑๒๗ กิโลเมตร ถ้ารวมลำน้ำไทรโยคด้วย ก็จะมีความยาวประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร ถ้ารวมกับลำน้ำแควใหญ่จะยาวประมาณ ๔๒๗ กิโลเมตร พื้นลำน้ำทั้งแควน้อยและแควใหญ่เป็นหินทรายและกรวด พื้นลำน้ำในช่วงจังหวัดกาญจนบุรีถึงจังหวัดราชบุรีเป็นทราย ช่วงต่อไปถึงปากน้ำเป็นดิน


            ลำน้ำเพชรบุรี  เป็นลำน้ำขนาดเล็ก ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาตะนาวศรีช่วงระหว่างเมืองทวาย และเมืองมะริด ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ตอนต้นน้ำลำน้ำนี้จะไหลอยู่ในซอกเขา มีทิศทางไหลจากทิศตะวันตกมาทางทิศตะวันออก ระหว่างทางได้รับน้ำจากห้วยต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือห้วยแม่ประโคน ซึ่งอยู่ทางฝั่งเหนือมีความยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร
            ลำน้ำเพชรบุรี เมื่อไหลผ่านทิวเขาพระรอบ ในเขตอำเภอชะอำจะไหลวกขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แล้วไหลออกทะเลโดยแยกออกเป็นสองสายสองด้านของดินดอนสามเหลี่ยมโดยที่สายด้านเหนือออกทะเล
ที่ตำบลบางตาขุน สายด้านใต้ออกทะเลที่บ้านแหลม รวมความยาวประมาณ ๑๖๘ กิโลเมตร พื้นลำน้ำเป็นทรายตลอด จนถึงอำเภอบ้านแหลม ต่อจากนั้นไปถึงปากอ่าวเป็นดิน
            ลำน้ำปราณ  อยู่ทางชายแดนด้านตะวันตก ชาวบ้านเรียกว่าคลองปราณ ต้นน้ำเกิดจากยอดเขาหินในทิวเขาตะนาวศรีในเขต อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ไหลอยู่ในซอกเขามีลำห้วยเล็ก ๆ ไหลมาบรรจบทั้งสองฝั่ง เช่น ลำน้ำคมกฤช และลำน้ำสัตว์ใหญ่ ต้นน้ำไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แล้วไหลวกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านทุ่งพลายงาม จนถึงบ้านปากทวาร ลำน้ำไหลวกกลับไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลออกทะเลที่ปากคลองปราณ มีความยาวประมาณ ๑๒๗ กิโลเมตร มีน้ำตลอดปี พื้นลำน้ำเป็นทราย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์