พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
สมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา
สมัยแรกเริ่มของอยุธยา มีหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่
พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ มีร่องรอยของที่ตั้งเมืองโบราณ โบราณสถาน โบราณวัตถุ
และเรื่องราวในลักษณะตำนาน พงศาวดาร ไปจนถึงศิลาจารึก
เชื่อกันว่าก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๘๙๓ นั้น ได้มีบ้านเมืองตั้งอยู่ก่อนแล้ว
ชื่อว่าเมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร
หรือเมืองพระราม ตั้งอยู่บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา ปรากฏร่องรอยของชุมชนที่มีวัดเป็นศูนย์กลางสำคัญอยู่หลายวัด
เช่น วัดมเหยงคณ์ วัดอโยธยา หรือวัดเดิม วัดกุฎีดาว เป็นต้น
จากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า
พระเจ้าแพนงเชิง
หรือพระพุทธไตรรัตนายก พระประธานวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน ระหว่างสร้างขึ้นก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง
๒๖ ปี แสดงว่ามีชุมชนอยู่มาก่อนแล้วอย่างมั่นคงเป็นปึกแผ่น จนสามารถสร้างพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่เป็นศูนย์กลางของชุมชนได้
และจากการสร้างเมืองเล็ก
(ตำบลเวียงเหล็ก) และสถาปนาเมืองใหม่ทางด้านเหนือ ณ ตำบลหนองโสน
มีนามว่ากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ได้มีความสัมพันธ์กับเมืองสุพรรณภูมิ หรือเมืองสุพรรณบุรีอย่างใกล้ชิด
ตามตำนานที่ว่าขุนหลวงพะงั่วแห่งเมืองสุพรรณบุรี ทรงเป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ และได้เสด็จมาครองกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้เป็นบ้านเมืองที่มีระเบียบการปกครองเป็นพื้นฐานอย่างดีอยู่ก่อนแล้วคือ
การที่มีการใช้กฎหมายในการปกครองบ้านเมืองที่สอบค้นได้มีอยู่สามฉบับคือ พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จ
(พ.ศ.๑๒๖๓ - ๑๘๘๔) พระอัยการลักษณะทาส (พ.ศ.๑๒๖๙ - ๑๘๘๘) และพระอัยการลักษณะกู้หนี้
(พ.ศ.๑๘๙๒)
สมัยการรวมตัวเป็นอาณาจักร
(พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐)
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อปี
พ.ศ.๑๘๙๓ ในช่วงที่อาณาจักรสุโขทัยที่อยู่ตอนเหนือ และอิทธิพลของขอมในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคกลางกำลังเสื่อมอำนาจลง และอาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเมืองสำคัญในกลุ่มที่ราบภาคกลาง
เช่นเมืองลพบุรี และเมืองสุพรรณบุรี สร้างเสริมความมั่นคงของอาณาจักรใหม่
ประกอบกับทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา ช่วยส่งเสริมให้กรุงศรีอยุธยาสามารถมีอำนาจเหนือเมืองที่อยู่ใกล้เคียง
การเป็นที่รวมของแม่น้ำสามสาย ที่ไหลผ่านเมืองสำคัญทางเหนือ และทางตะวันออก
ประกอบกับที่ตั้งเมืองอยู่ใกล้ทะเล ทำให้กรุงศรีอยุธยา เป็นชัยภูมิทางยุทธศาสตร์ที่เหนือกว่าเมืองอื่น
ๆ
ในระยะแรกของการสถาปนา กรุงศรีอยุธยามีเมืองขึ้นถึง ๑๖ หัวเมืองคือ
ชะวา มะละกา สงขลา นครศรีธรรมราช เมาะตะมะ เมาะลำเลิง ทวาย ตะนาวศรี จันทรบูรณ์
สุโขทัย สวรรคโลก พิจิตร พิชัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์ เมืองขึ้นเหล่านี้บางครั้งจะแยกตัวเป็นอิสระ
บางครั้งกลับมารุกรานกรุงศรีอยุธยา และบางครั้งถูกอาณาจักรอื่นที่ใหญ่ และอยู่ใกล้กว่าเข้ามาครอบครองสมัยใดที่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเข้มแข็ง
หัวเมืองเหล่านั้นก็จะเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร หรือมิฉนั้นกองทัพกรุงศรีอยุธยาก็ยกไปตีเอาคืนมาได้
พร้อมทั้งขยายพระราชอาณาเขตเพิ่มเติม เช่นกองทัพไทยยกไปตีเขมรหลายครั้งตั้งแต่รัชสมัย
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จนถึงรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง กรุงศรีอยุธยาได้ทำสงครามแย่งชิงเมืองเชียงใหม่จากพม่าหลายครั้ง
จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
(พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๔๘) ทรงสงครามขยายพระราชอาณาเขตได้กว้างขวางที่สุด
กรุงศรีอยุธยาเติบโตเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเซียและโลก
ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๓ มีชาวต่างชาติทั้งจากเอเซียและยุโรป เช่น จีน ญี่ปุ่น
อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นต้น
ซึ่งส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ทางการฑูตด้วย เดินเรือเข้ามาค้าขาย ชาวต่างประเทศบางประเทศก็ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย
สถานีการค้า และศาสนสถาน หมู่บ้านส่วนใหญ่ของชาวต่างประเทศจะอยู่นอกตัวเมือง
มีเฉพาะชาวจีน และอินเดีย บางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักเท่านั้นที่ได้รับ
พระบรมราชานุญาตให้สร้างที่อยู่อาศัยภายในเมือง
กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีไทยติดต่อกันมาถึง ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครอง
๓๓ องค์ จากห้าราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททอง และราชวงศ์บ้านพลูหลวง
กรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชแก่พม่าสองครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกู้เอกราชกลับคืนมาได้ใน
ปี พ.ศ.๒๑๒๗ ครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เอกราชกลับคืนมาได้ในปีเดียวกัน
บรรดาประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และวิทยาการทุกแขนงที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมเอาไว้เป็นระยะเวลาอันยาวนาน
ก็ได้เป็นสมบัติตกทอดสืบต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนตราบถึงทุกวันนี้
พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา
๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒
๒ สมเด็จพระมาเมศวร (ครั้งที่ ๑) พ.ศ.๑๙๑๒ - ๑๙๑๓
๓ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) พ.ศ.๑๙๑๓ - ๑๙๓๑
๔ สมเด็จพระเจ้าทองลั่น พ.ศ.๑๙๓๑
๕ สมเด็จพระมาเมศวร (ครั้งที่ ๒) พ.ศ.๑๙๓๑ - ๑๙๓๘
๖ สมเด็จพระรามราชาธิราช พ.ศ.๑๙๓๘- ๑๙๕๒
๗ สมเด็จพระนครินทราธิราช พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๖๗
๘ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พ.ศ.๑๙๖๗ - ๑๙๙๑
๙ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑
๑๐ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พ.ศ.๒๐๓๑ - ๒๐๓๔
๑๑ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พ.ศ.๒๐๓๔ - ๒๐๗๒
๑๒ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ พ.ศ.๒๐๗๒ - ๒๐๗๖
๑๓ สมเด็จพระรัษฎาธิราช พ.ศ.๒๐๗๖ - ๒๐๗๗
๑๔ สมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙
๑๕ สมเด็จพระยอดฟ้า พ.ศ.๒๐๘๙ - ๒๐๙๑
๑๖ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๑
๑๗ สมเด็จพระมหินทราธิราช พ.ศ.๒๑๑๑ - ๒๑๑๒
(เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๒)
๑๘ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๓๓
๑๙ สมพระนเรศวรมหาราช พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๔๘
๒๐ สมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ.๒๑๔๘ - ๒๑๕๓
๒๑ สมเด็จพระศรีเสาวภาค พ.ศ.๒๑๕๓
๒๒ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑
๒๓ สมเด็จพระเชษฐาธิราช พ.ศ.๒๑๗๑
๒๔ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พ.ศ.๒๑๗๒
๒๕ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙
๒๖ สมเด็จเจ้าฟ้าชัย พ.ศ.๒๑๙๙
๒๗ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พ.ศ.๒๑๙๙
๒๘ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑
๒๙ สมเด็จพระเทพราชา พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๕
๓๐ สมเด็จพระเจ้าเสือ พ.ศ.๒๒๔๕ - ๒๒๕๑
๓๑ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕
๓๒ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑
๓๓ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พ.ศ.๒๓๐๑
๓๔ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐
(เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐)
การปกครอง
การปกครองสมัยอยุธยาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เนื่องจากได้รับลัทธิเทวราชของขอม
และรับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์จากมอญ ซึ่งรับจากอินเดียมาอีกต่อหนึ่ง พระมหากษัตริย์จึงทรงมีฐานะเทียบเท่าพระศิวะ
หรือองค์อวตารของพระนารายณ์ ทำให้เกิดมีระเบียบพิธีการที่เคร่งครัดและศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะ
ต่อคัมภีร์พระธรรมศาสตร์แบบพราหมณ์ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาจนกลายเป็นคัมภีร์กฎหมายทางพระพุทธศาสนา
ดังนั้น พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาจะเป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นพระธรรมราชาด้วย
พระมหากษัตริย์จะต้องทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรมสิบประการ
ราชจริยานุวัตรสี่ประการ และจักรวรรดิวัตรสิบสองประการ
พระราชวังหลวง เป็นทั้งศูนย์กลางทางการเมืองและการปกครอง มีความสง่างามยิ่งใหญ่
เสมือนที่ประทับของเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
โปรดให้สร้างพระราชวังในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีสรรเพชญ์
ประกอบด้วยพระที่นั่งห้าองค์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๓ ได้เกิดอัคคีภัยเสียหาย
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) ทรงยกพื้นที่ส่วนนี้ให้เป็นเขตพุทธาวาส
แล้วโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ ทางด้านทิศเหนือของพระราชวังเดิม และได้มีการสร้าง
และปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมสืบมาตามลำดับ พระราชวังหลวงแบ่งออกเป็นเจ็ดเขต คือ
เขตพระราชฐานชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก เขตพระคลังมหาสมบัติ เขตสวนองุ่น
เขตสวนกระต่าย และเขตวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในสมัยต่อมาได้สร้างวังหน้า และวังหลังเพิ่มขึ้นด้วย
กฎหมายและการศาล ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ ทรงตรากฎหมายออกใช้ประมาณ ๑๐ ฉบับ เช่น กฎหมายลักษณะรับฟ้อง กฎหมายลักษณะลักพา
กฎหมายลักษณะอาญาราษฎร กฎหมายลักษณะอาญาหลวง และกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จว่าด้วยที่ดิน
เป็นต้น
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญ อีกหลายฉบับ เช่น
กฎหมายว่าด้วยการเทียบศักดินา
ทั้งศักดินาพลเรือน ศักดินาทหารหัวเมือง และกฎหมายว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล
เป็นต้น
กฎหมายในสมัยอยุธยามีทั้งที่กำหนดสิทธิ และหน้าที่ของประชาชน ทั้งที่บัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาตัดสินอรรถคดี
รวมทั้งกฎหมายปกครองแผ่นดินหลายลักษณะ รวมเป็นบทมาตราทั้งสิ้นถึง ๑,๖๐๓ บท
มากพอสำหรับใช้บังคับคดีได้ครอบคลุมทุกกรณี
ระบบการศาล อาศัยพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญพระธรรมศาสตร์ที่เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง เป็นที่ปรึกษา
ตรวจสำนวนและตัดสินให้ แต่ไม่มีอำนาจบังคับคดี คดีใดตรงกับหน้าที่ของกรมใด
ก็ส่งไปยังกรมนั้น ๆ การตัดสินลงโทษผู้กระทำผิดเป็นหน้าที่ของขุนนางไทย
ระบบการปกครอง
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดให้ใช้ระบบการปกครองแบบ จตุสดมภ์
ซึ่งมีเสนาบดีสี่ตำแหน่ง เป็นหลักดูแลการบริหารราชการคือ
กรมเมือง ปครองดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
กรมวัง ดูแลกิจการในพระราชวัง
กรมคลัง จ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ และการเงินของประเทศ สมัยต่อมาดูแลการค้า
และการต่างประเทศด้วย
กรมนา ดูแลควบคุมเรื่องเรือกสวนไร่นา และเก็บหางข้าว
(ข้าวที่จ่ายเป็นค่านา) ขึ้นฉางหลวง
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นเมืองหน้าด่านสี่ทิศ โปรดให้เชื้อพระวงศ์ขึ้นไปครอง
- หัวเมืองชั้นใน เป็นเมืองใกล้ราชธานี หรือเมืองหน้าด่านขึ้นตรงต่อเมืองหลวง
- หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ไกลออกไปจากราชธานี
มีเจ้าเมืองปกครองโดยการสืบเชื้อสาย หรือมิฉะนั้นทางเมืองหลวงก็แต่งตั้งออกไป
- หัวเมืองประเทศราช เป็นชนต่างชาติ เจ้าประเทศราชปกครองกันเอง
แต่ต้องส่งบรรณาการให้ราชธานีตามกำหนด
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปฏิรูปการปกครองโดยรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครอง
ทรงแยกการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายทหารมีสมุหพระกลาโหม
รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือนมี สมุหนายก
รับผิดชอบ และควบคุมจตุสดมภ์ ซึ่งโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นนครบาล
ธรรมาธิกรณโกษาธิบดี และเกษตราธิการ
การปกครองส่วนภูมิภาค โปรดให้ยกเลิกเมืองหน้าด่าน ส่วนหัวเมืองชั้นในทรงแต่งข้าราชการไปปกครอง
เรียกว่า ผู้รั้ง
ขึ้นตรงกับเจ้ากระทรวงในราชธานี หัวเมืองชั้นนอกแบ่งออกเป็นเมืองเอก เมืองโท
และเมืองตรี พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ หรือข้าราชการชั้นสูงไปปกครอง
ส่วนเมืองประเทศราชเจ้าเมืองจะต้องกราบบังคมทูลขอให้พระมหากษัตริย์อยุธยาโปรดเกล้า
ฯ แต่งตั้งต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ และต้องมาช่วยในราชการสงคราม
การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเขตการปกครองเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านปกครองหลาย
ๆ หมู่บ้านรวมกันเป็นตำบลมีพันปกครอง
ปลาย ๆ ตำบลรวมกันรวมเป็นแขวงมีหมื่นแขวง
ปกครอง หลาย ๆ แขวงรวมกันเป็นเมืองมีผู้รั้งปกครอง
หลักใหญ่ของระบบการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ใช้สืบทอดกันมา
จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนที่พระองค์จะปฏิรูปการปกครองเป็นระบบกระทรวงเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ระบบเศรษฐกิจ
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตอันได้แก่ ที่ดิน และแรงงาน ราษฎรมีพันธะต้องใช้แรงงาน
และแบ่งผลผลิตส่วนหนึ่งให้รัฐ ผลผลิตเหล่านี้จะเข้าสู่ท้องพระคลังของรัฐ
การค้าภายในราชอาณาจักรนั้น พระคลังสินค้า
เป็นองค์กรใหญ่ที่ควบคุมการค้าภายในประเทศกับต่างประเทศ มีพระยาโกษาธิบดี
(พระคลัง) เป็นผู้ควบคุมการคลัง และการค้าสำเภา ตลอดจนจัดการดูแลปกครองชาวต่างประเทศที่เข้ามาอาศัยในพระราชอาณาจักร
นอกจากนี้ยังได้มีหน่วยงานเรียกว่า กรมท่า
แบ่งออกเป็นกรมท่าซ้าย และกรมท่าขวา กรมท่าซ้ายขึ้นกับพระยาโชฎึกราชเศรษฐี
มีหน้าที่ปกครองดูแลชาวจีน กรมท่าขวาขึ้นกับพระยาจุฬาราชมนตรีดูแลชาวแขก
อันได้แก่ แขกอินเดีย แขกเปอร์เซีย แขกอาหรับ และแขกมัวร์ ที่เข้ามาค้าขาย
การค้าในสมัยอยุธยาไทยมักจัดเรือสำเภาไปค้ากับจีนมากที่สุด พ่อค้าจีนนิยมนำสินค้ามาขายยังกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าทางภาคใต้จนถึงมะละกา
นอกจากจีนแล้วไทยยังนำสินค้าไปขายที่ชวา สุมาตรา ลังกา เขมร ญวน มาเก๊า เกาหลี
และญี่ปุ่น สินค้าส่วนมากมาจากส่วยที่เหลือใช้ในราชการ ผลผลิตจากแรงงาน และการซื้อสินค้าต้องห้าม
ได้แก่ฝาง ไม้จันทน์ ไม้เนื้อหอม ไม้กฤษณา กระวาน กานพลู พริกไทย งาช้าง นอระมาด
ทองคำ เงิน ช้าง พลอย ข้าว น้ำตาล หมาก หนังสัตว์ เกลือ ตะกั่ว น้ำมันมะพร้าว
และเหล็ก เป็นต้น
พวกพ่อค้ามุสลิมนอกจากมีบทบาททางการค้าแล้ว ยังมีบทบาททางการเมืองด้วย เช่นในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมมีออกญาเฉกฮะหมัดรัตนราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรมท่าขวา
และต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสมุหนายก ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองมีพระคลังเป็นมุสลิม
และในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ออกญาพระศรีเนาวรัตน์ชาวมุสลิมเป็นสมุหนายก
และเป็นผู้สนับสนุนให้พวกมุสลิมเป็นเจ้าเมืองชายฝั่งทะเลของไทย ตั้งแต่เมืองตะนาวศรี
เมืองมะริด เมืองสงขลา เมืองปราณบุรีและเมืองเพชรบุรี อิทธิพลของชาวมุสลิมค่อยลดน้อยลงเมื่อมีฝรั่งชาวตะวันตก
เข้ามาค้าขายกับไทย และหลังจากเกิดกบฏ แขกมักกะสัน
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ในสมัยอยุธยาตอนกลาง การค้าขายกว้างขึ้น เมื่อฝรั่งโปรตุเกสเป็นชาติแรกเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๒ ตามด้วย ฮอลันดา สเปน
ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อังกฤษในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
และฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
การที่ฝรั่งชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกับราชอาณาจักรไทยสมัยอยุธยา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่สำคัญคือการค้าภายใต้ระบบราชการ
ซึ่งมีลักษณะในรูปแบบของการทำสัญญาค้าขาย และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีสิทธิตั้งห้างค้าขายที่อยุธยา
และเมืองท่าต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีระบบผูกขาดสินค้าโดยมีพระคลังสินค้าเป็นตัวจักรใหญ่
คือรัฐบาลเป็นผู้กำหนดสินค้าต้องห้าม ที่ต้องขายให้รัฐบาลเท่านั้น กำหนดราคาซื้อขาย
และกำหนดสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าต่างประเทศก่อน ทำให้รัฐเป็นผู้ประกอบการค้ารายใหญ่
และมั่งคั่งที่สุดในแผ่นดิน
ความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศ
ชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อ และตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในกรุงศรีอยุธยา มีหลายชาติหลายภาษา
และเผ่าพันธุ์ มีทั้งจีน แขก มอญ ญวน ญี่ปุ่น และฝรั่งชาวตะวันตกอีกหลายชาติ
ชาวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ กัน เช่นค้าขาย เผยแพร่ศาสนา
เชื่อมสัมพันธไมตรี และแสวงโชค บางพวกก็ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลย และบางพวกก็เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
พวกที่ขอเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยา จะได้รับพระราชทานที่ดินรอบ
ๆ เกาะกรุงศรีอยุธยา เช่น พวกแขกมุสลิมให้อยู่ตลอดแนวคลองตะเคียน พวกญี่ปุ่นอยู่ที่ตำบลเกาะเรียนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
พวกโปรตุเกสอยู่ที่ตำบลบ้านดิน พวกฮอลันดาอยู่ที่ตำบลกระมัง และพวกฝรั่งเศสอยู่ที่ตำบลปลาเห็ด
เป็นต้น
สภาพของกรุงศรีอยุธยาจากบันทึกของเชอวาลิเยอร์ เดอ โชมองต์ ราชฑูตพระเจ้าหลุยส์ที่
๑๔ แห่งฝรั่งเศสได้บรรยายไว้ดังนี้
"เราพากันออกไปเที่ยวนอกกรุงบนเกาะที่ล้อมด้วยแม่น้ำสามสาย อันมีความกว้างเป็นสามเท่าของแม่น้ำเซนของเรา
มีเรือสินค้า ฝรั่งเศส ฮอลันดา อังกฤษ จีน สยามกับเรือบัลลังก์นับไม่ถ้วน
เรือพายปิดทองและมีฝีพายถึงลำละสิบหกคน พระเจ้าแผ่นดินกำลังให้สร้างเรือสินค้าแบบยุโรป
และเอาลงน้ำได้สามลำ"
ในบันทึกของพวกบาทหลวง เดอ ชัวสี
ชาวฝรั่งเศส บรรยายความมั่งคั่ง และอุดมสมบูรณ์ในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในการพระราชทานเลี้ยงครั้งหนึ่ง
ดังนี้
"เป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ที่เยี่ยมมาก ภาชนะที่ใส่ล้วนเป็นทองคำและเงินทั้งนั้นที่เป็นของชุบไม่มีเลย
เรานั่งโต๊ะรับประทานอาหารอยู่นาน เราชวนกันดื่มถวายพระพรพระเจ้ากรุงสยาม
ของที่รับประทานนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าสตูว์ญี่ปุ่นมีรสดี แต่ยังสู้ของไทยไม่ได้
ส่วนของโปรตุเกสนั้น ไม่เป็นรสชาติ เครื่องดื่มมีเหล้าองุ่น สเปน เปอร์เซีย
ฝรั่งเศส และเบียร์อังกฤษ .....และมีเอกสารบันทึกความรุ่งเรืองทางการค้าไว้ว่า
.....เรือสำเภาจีนสองลำมาถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้และเรือสำเภาอื่น ๆ อีกสองลำมาตามกำหนด
เวลาบรรทุกไหมอย่างดี และผ้าไหมมาด้วย หลายวันต่อเรือสำเภาจีนสองลำจากประเทศกัมพูชา
เดินทางมาถึง สำเภาสองลำนี้บรรทุกกระวานมาประมาณ ๖๐ หรือ ๗๐ หาบ และบรรทุกกำยาน
และเครื่องหอมรวมมาด้วย"
ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชาวญี่ปุ่นได้จัดตั้งเป็นกรมอาสาญี่ปุ่นช่วยเหลือราชการสงคราม
ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมมีนายทหารญี่ปุ่นชื่อ ยามาดา นางามาซา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชาวกรีกเข้ามารับราชการในราชสำนัก จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวต่างชาติบางท่าน ในสมัยอยุธยารับราชการสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เช่น ผู้ที่อยู่ในตระกูลบุนนาค ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเฉกอะหมัด
ชาวเปอร์เซีย
เข้ารับราชการจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น
เจ้าพระยาบวรราชนายก
จางวางกรมมหาดไทย
ระบบสังคม
ระบบศักดินา เป็นระบบที่จำแนกสิทธิ และหน้าที่ในสังคมตั้งแต่เจ้านาย ขุนนาง
จนถึงไพร่ ทุกคนอยู่ในฐานะข้าแผ่นดิน เป็นชนชั้นที่ไม่ตายตัวเปลี่ยนแปลงเลื่อนขึ้น-ลงได้
ชนชั้นสูงหรือมูลนาย มีพระมหากษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดในฐานะองค์พระประมุข ระดับรองลงมาคือพระบรมวงศานุวงศ์เจ้าเมือง
ขุนนาง ทำหน้าที่ควบคุมกำลังไพร่ และทาส
ไพร่
คือ ราษฎรสามัญ เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม กฎหมายกำหนดให้ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย
จัดเป็นระบบควบคุมกำลังคนของทางราชการ
ไพร่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำงานให้หลวงปีละหกเดือน หรือจะใช้วิธีจ่ายเงินหรือสิ่งของเพื่อทดแทนแรงงานที่เรียกว่า
ส่วยก็ได้
ไพร่ไม่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน แต่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากมูลนายที่ตนสังกัด
ทาส
คือ แรงงานของมูลนาย ตลอดเวลาที่ยังไม่ได้รับการไถ่ถอนด้วยจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ระหว่างกัน
ทาสอาจจะได้มาจากเชลยสงคราม การยอมขายตัวเพื่อแลกกับเงินจำนวนหนึ่ง และทายาทของผู้เป็นทาสอยู่เดิม
ศาสนาประจำชาติ
พุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ตามแบบสุโขทัย เป็นศาสนาประจำชาติของไทย แต่ก็มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนามีอิทธิพลกำหนดโครงสร้างของสังคมไทย ในวิถีชีวิตของคนไทย
ตลอดจนอุปนิสัยใจคอ ตลอดจนค่านิยมในสังคม
ดังนั้น สังคมไทยสมัยอยุธยาจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด วัดเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ
เป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นศูนย์รวมของศิลปกรรมทุกแขนงที่พุทธศาสนิกชนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างอุทิศถวายให้แก่พระศาสนา
ความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมืองดูได้จากการสร้างวัด วัดในสมัยอยุธยามีมากกว่า
๕๐๐ วัด วัดหลักของบ้านเมืองพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้าง และบูรณะปฏิสังขรณ์
เช่น วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดใหญ่ชัยมงคล และวัดไชยวัฒนาราม
เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นวัดที่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และราษฎรสร้าง ซึ่งมีความสำคัญเป็นรองลงมา
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจังตลอดสมัยของพระองค์ เช่นทรงอุทิศที่พระราชวังเดิมสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นในเขตพระราชวัง
โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง ทรงเสด็จออกทรงผนวชในระหว่างครองราชย์
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ.๒๐๓๔ - ๒๐๗๒) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระศรีสรรเพชญ์
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่หุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
(พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑) ได้พบรอยพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี ได้มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้า
ฯ ให้สร้างมณฑปครอบ และยังโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดและตั้งเมืองขึ้นดูแลรอยพระพุทธบาท
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดทั้งภายในพระนครและที่อยู่ตามหัวเมืองต่าง
ๆ ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาพระพุทธศาสนา บุตรหลานข้าราชการคนใดที่ถวายตัวเข้ารับราชการหากยังไม่ได้อุปสมบท
จะไม่ทรงแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์พระพุทธศาสนาในลังกาเสื่อมลง
พระเจ้าแผ่นดินลังกาได้ทรงส่งราชฑูตมาเจริญพระราชไมตรีใน ปี พ.ศ.๒๒๙๖ ของพระภิกษุของไทยไปอุปสมบทกุลบุตรชาวลังกาเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนาในลังกา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระราชาคณะสองรูปคือ
พระอุบาลี และพระอริยมุนี พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์อีก ๑๒ รูป ไปบรรพชาอุปสมบทตั้งสังฆมณฑลในลังกา
ประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า ลัทธิสยามวงศ์
หรืออุบาลีวงศ์
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์
ตลอดระยะเวลา ๔๗ ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งทางเจริญและความเสื่อม
บางเหตุการณ์มีผลสืบเนื่อง และเป็นพื้นฐานในปัจจุบัน พอประมวลได้ดังนี้
การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
นับเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในสมัยอยุธยา เพราะได้ใช้เป็นรูปแบบการปกครองต่อมายาวนานตลอดสมัยอยุธยา
และเป็นต้นแบบการปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์
การปกครองบ้านเมืองในสมัยแรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา เน้นการสร้างสถานะภาพของพระมหากษัตริย์ให้มีความสำคัญเทียบเท่าเทพเจ้าที่เรียกว่า
สมมติเทพ
ด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนการบริหารบ้านเมืองเป็นลักษณะการกระจายอำนาจ โดยแบ่งการปกครองออกเป็นสี่เขต
การปกครองดังกล่าวมักมีปัจจัยบางประการที่เป็นการลดทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์ลง
เช่นการเจริญเติบโตและมีอำนาจของพระราชวงศ์บางพระองค์หรือขุนนางบางคน หรือการที่พระมหากษัตริย์บางพระองค์ไม่เข้มแข็ง
ก่อให้เกิดการต่อต้านอำนาจกษัตริย์ขึ้นบ่อยครั้ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงตระหนักพระทัยของจุดอ่อนในระบบการปกครองดังกล่าว
ประกอบกับทรงมีพระบรมราโชบายในการขยายพระราชอาณาเขตเข้าครอบคลุมกรุงสุโขทัยด้วย
จึงได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองใหม่ โดยดึงอำนาจการบริหารเข้ามาสู่ศูนย์กลางคือราชธานี
ทรงแบ่งเขตการปกครองใหม่เป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และเมืองประเทศราช
ทรงส่งข้าราชการที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และมีประสิทธิภาพไปปกครองดูแล แต่อำนาจและสิทธิขาดทั้งหมดยังคงอยู่กับพระมหากษัตริย์
การปกครองส่วนกลาง แต่เดิมข้าราชการทหารและพลเรือนมีหน้าที่แตกต่างกัน เฉพาะยามบ้านเมืองสงบสุข
แต่ในยามสงครามเสนาบดีทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือนต้องทำหน้าที่คุมกองทัพออกสู้ข้าศึกเหมือนกัน
ทำให้เกิดความก้าวก่ายสับสนระหว่างหน่วยงาน จึงได้ทรงแยก และกำหนดหน้าที่ของข้าราชการทั้งสองหน่วยงาน
ให้ชัดเจนและแน่นอน
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรากฎหมายขึ้นใหม่ ได้แก่พระราชกำหนดพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน
และพระอัยการตำแหน่งนาหัวเมือง เป็นการกำหนดจัดสรรกำลัง และฐานะของตนในสังคม
เพื่อรองรับปัญหาการปรับปรุงระบบการบริหารราชการแผ่นดิน
การผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอาณาจักรอยุธยา
การผนวกอาณาจักรทั้งสองเข้าด้วยกัน เป็นผลให้อาณาเขตของราชอาณาจักรไทย แผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
และเป็นปึกแผ่นมั่นคง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอดมา
แต่เดิมอาณาจักรอยุธยา มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงอยู่ทางตอนใต้ และอาณาจักรสุโขทัยก็มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงทางตอนเหนือ
แนวพระราชดำริที่จะผนวกอาณาจักรทั้งสองเข้าด้วยกันมีมาตั้งแต่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เพราะในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงยกกองทัพมายึดเมืองพิษณุโลก
อันเป็นหัวเมืองหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาได้เปลี่ยนไปใช้นโยบายความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ
โดยให้ขุนหลวงพะงั่วพระญาติสนิท อภิเษกกับพระขนิษฐาของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงสุโขทัย
และโปรดเกล้า ฯ ให้ครองอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)
ได้ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงของสุโขทัยองค์หนึ่ง แต่นโยบายนี้ไม่ราบรื่นนัก
ต้องเผชิญกับกระแสความไม่พอใจของเจ้าเมืองต่าง ๆ ทางเหนือ ซึ่งประกอบด้วย
เมืองพิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร และเชลียง โดยเฉพาะเจ้าเมืองเชลียง พระยายุทธิฐิระ
พยายามที่จะขับอำนาจอยุธยาออกจากสุโขทัย โดยหันไปขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าติโลกราช
กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ก่อให้เกิดสงครามยืดเยื้อ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทรงใช้ความเข้มแข็ง
และพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านยุทธศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อรวมอาณาจักรทั้งสองเข้าด้วยกัน
ซึ่งต้องใช้เวลาถึง ๒๕ ปีเศษ จึงประสบผลสำเร็จ
การสงครามระหว่างอาณาจักรล้านนากับอาณาจักรอยุธยาเกิดขึ้นหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือครั้งที่พระเจ้าติโลกราชเสียพระอินทราชาราชโอรส
ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนก มีความตอนหนึ่งว่า
"สมเด็จพระอินทราชาไสช้างพระที่นั่งเข้าชนช้างพระยาสองแคว
รี้พลสองฝ่ายเข้าสัปยุทธนาการกันเป็นโกลาหน ขณะนั้นเจ้าแจ้สักขี่ช้างพลายมงคล
หมื่นจ่าช้อยขี่ช้างพลายขวัญเพชร หมื่นนครขี่ช้างพลายสงคราม ผู้เสนาขี่ช้างพลายภูบาล
ทั้งสี่ช้างเข้ารุมแทงช้างที่นั่งสมเด็จพระอินทราชาในหนอง พลลาวก็ระดมยิงปืนไฟและหน้าไม้ต้องพลทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก
สมเด็จพระอินทราชาต้องกระสุนปืนที่พระพักตร ขับช้างที่นั่งหนีไป
นอกจากสงครามแล้ว สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ยังได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก
ทำให้พระเจ้าติโลกราช และอาณาจักรล้านนา อ่อนกำลังลง และทรงยอมแพ้ในที่สุด
การป้องกันและขยายราชอาณาเขต
อาณาจักรใกล้เคียงกับอาณาจักรอยุธยา คือ อาณาจักรพม่า อาณาจักรลาว และอาณาจักรเขมร
อาณาจักรพม่ามีกำลังอำนาจเท่าเทียมกับอาณาจักรอยุธยา ได้มีการทำสงครามขนาดใหญ่กันหลายครั้ง
ส่วนใหญ่พม่าจะเป็นฝ่ายยกกำลังมารุกรานไทย อาณาจักรลาวส่วนใหญ่จะเป็นพันธมิตรกับไทย
ส่วนอาณาจักรมักจะคอยยกกำลังมาซ้ำเติมไทย ในสมัยที่ไทยอ่อนแอหรือกำลังทำศึกอยู่ทางด้านอื่น
พัฒนาการการปกครองท้องที่ระดับอำเภอ
อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ได้แก่ แขวงภายในกำแพงเมือง ต่อมาเป็นแขวงรอบกรุง ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอรอบกรุงเป็นอำเภอกรุงเก่า
เนื่องจากอำเภอตั้งอยู่ในบริเวณเกาะเมืองอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่า และได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นอำเภอเดียวของประเทศไทยชื่อว่าอำเภอเมือง
อำเภอเสนา
เป็นส่วนหนึ่งของแขวงเสนา ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้แบ่งแขวงเสนาออกเป็นแขวงเสนาใหญ่ (อยู่ด้านเหนือ) และแขวงเสนาน้อย (อยู่ด้านใต้)
อำเภอเสนาเป็นส่วนหนึ่งของแขวงเสนาใหญ่
อำเภอท่าเรือ
เดิมชื่อ อำเภอนครน้อย ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เพื่อรักษาประวัติ
และสภาพของท้องที่ ซึ่งเคยมีความสำคัญอย่างมากสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ครั้งที่พบรอยพระพุทธบาทสระบุรี โดยพรานบุญ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้เสด็จโดยทางชลมารคไปตามลำน้ำป่าสัก
เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาท และได้เสด็จขึ้นบกพักเรือไว้ที่สถานที่อันเป็นท่าเรือในปัจจุบัน
และสถานที่นี้ก็ได้ใช้เป็นที่จอดพักของขบวนเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา
เมื่อเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี
อำเภอผักไห่
เดิมรวมอยู่ในแขวงเสนา และอยู่ในแขวงเสนาใหญ่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอผักไห่
เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบลที่ตั้งอยู่ คำว่าผักไห่อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่าปากไห่
ตามที่ปรากฏชื่อนี้อยู่ในนิราศสุพรรณ ที่เขียนถึงบ้านปากไห่ อีกประการหนึ่งคำว่าผักไห่
เป็นชื่อของหญ้าชนิดหนึ่ง มีใบคล้ายใบไผ่ เลื้อยแผ่ไปตามดิน ลอยขึ้นในที่น้ำขัง
อำเภอบางบาล
เดิมเรียกว่าอำเภอเสนาใน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ การที่ได้ชื่อนี้เนื่องจากนายเขียวบางบาลได้บริจาคที่ดินให้เป็นที่สร้างที่ว่าการอำเภอ
จึงเปลี่ยนชื่อตามสกุลของผู้บริจาคที่ดิน
อำเภอบางไทร
เดิมรวมการปกครองอยู่กับแขวงเสนา อยู่ในแขวงเสนาน้อย ได้เปลี่ยนชื่อจากแขวงเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอราชคราม ตามชื่อตำบลอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ
ต่อมาได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอใหม่ไปอยู่ที่ตำบลบางไทร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘
และได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางไทร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
อำเภอบางปะอิน
เดิมอยู่ในความปกครองของแขวงอุทัย ซึ่งได้แยกออกเป็นแขวงอุทัยใหญ่ และแขวงอุทัยน้อย
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้เปลี่ยนชื่อแขวงอุทัยน้อย เป็นอำเภอพระราชวัง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น
อำเภอบางปะอิน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ตามชื่อเกาะบางปะอิน
อำเภออุทัย
เดิมชื่ออำเภออุทัยใหญ่ และได้เปลี่ยนเป็นอำเภออุทัยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ ตามประวัติศาสตร์
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ขณะเป็นที่พระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ทางด้านวัดพิชัยสงคราม
มารุ่งสว่าง ณ ตำบลที่เป็นที่ว่าการอำเภออุทัยในปัจจุบัน จึงได้ขนานนามตำบลที่เดินทัพมาถึงนี้ว่าตำบลอุทัย
อำเภอนครหลวง
เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนครหลวงน้อย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้แบ่งเขตอำเภอนครหลวงน้อย
เป็นอำเภอนครหลวง
อำเภอบางปะหัน
เดิมชื่ออำเภอนครหลวงใน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางปะหัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
เพื่อให้ตรงกับชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ชื่อบ้านบางปะหันมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า
มีพวกลาวจากเวียงจันทน์อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่แห่งนี้ และได้ตั้งเสากังหันขึ้นไว้ในหมู่บ้าน
และพากันเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านกังหันบ้าง ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นปะหัน
อำเภอมหาราช
เดิมเรียกแขวงนครใหญ่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ได้เปลี่ยนคำว่าแขวงเป็นอำเภอ
เรียกว่าอำเภอนครใหญ่ และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอมหาราชตามตำบลที่อยู่
อำเภอภาชี
เดิมเป็นที่ทำการราชการแห่งหนึ่งเรียกว่า ที่ทำการบ้านพาชี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖
ได้รับการยกฐานะเป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอภาชี และได้ยกฐานะเป็นอำเภอภาชีในปีเดียวกัน
อำเภอลาดบัวหลวง
เดิมมีสภาพเป็นตำบล ขึ้นอยู่กับอำเภอบางไทร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ
อำเภอวังน้อย
บริเวณที่ตั้งอำเภอวังน้อยปัจจุบัน เดิมเรียกว่าทุ่งหลวงรังสิต ตอนกลางทุ่งหลวงรังสิต
มีบึงขนาดใหญ่มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่ เรียกว่า วังจุฬา ต่อมาได้แยกทุ่งหลวงรังสิตยกเป็นอำเภอใหม่ชื่อ
อำเภออุทัยน้อย และได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอวังน้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘
อำเภอบางซ้าย
เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอเสนา จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอบางซ้าย และได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอบางซ้าย
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒
อำเภอบ้านแพรก
เดิมเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอมหาราชคือ ตำบลบ้านแพรก แต่เดิมชาวบ้านเรียกตำบลนี้ว่า
บ้านแพรก - สำพะเนียง โดยเอาตำบลสำพะเนียงที่อยู่ติดต่อกัน มาเรียงรวมเป็นตำบลเดียวกันนอกจากนี้ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคลองตาเมฆ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอบ้านแพรก อยู่ในอำเภอมหาราช
ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอบ้านแพรก การที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าย่านกลางของตำบลบ้านแพรก
ลำน้ำได้แยกออกเป็นสองแคว แควหนึ่งแยกไปเป็นคลองตาเมฆ อีกแควหนึ่งแยกเป็นแม่น้ำลพบุรี
|