มรดกทางพระพุทธศาสนา
เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้ทรงนำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแบบลังกาวงศ์
มาจากกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ และใช้สืบเนื่องกันมาตลอด
การนับถือพระพุทธศาสนาในอาณาจักรอยุธยา เน้นหนักในเรื่องการบุญ การกุศล การสร้างวัดวาอาราม
ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ และพิธีการในการเฉลิมฉลอง งานที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาต่าง
ๆ เช่น งานไหว้พระธาตุ งานนมัสการพระพุทธบาท
การบำเพ็ญจิตภาวนาเน้นหนักไปทางความขลังความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์
ไสยศาสตร์ เวทย์มนต์ อาถรรพ์ เข้ามาปะปนซึ่งได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์
เราอาจแบ่งความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา ออกได้เป็นสี่ตอนด้วยกันโดยมุ่งถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในห้วงเวลาต่าง
ๆ ตามลำดับ ดังนี้
สมัยอยุธยตอนแรก
ระหว่างปี พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงจัดการปกครองบ้านเมืองได้เรียบร้อยแล้ว
ก็ทรงดำเนินการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ คล้ายกับทรงดำเนินตามพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย
และพระมหาธรรมราชาลิไทย แห่งกรุงสุโขทัย โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสละราชสมบัติออกผนวชอยู่
ณ วัดจุฬามณีเป็นเวลาแปดเดือน และได้ทรงโปรดให้พระราชโอรส และพระราชนัดดา
ผนวชเป็นสามเณรด้วย ต่อมาได้มีการประชุมกวีแต่งมหาชาติคำหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๕
และทรงกันพื้นที่ส่วนหนึ่งในพระบรมมหาราชวังสถาปนาเป็นวัด ชื่อวัด พระศรีสรรเพชญ์
สมัยอยุธยาตอนที่สอง
ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๓๔ - ๒๑๗๓ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงศึกษาพระปริยัติธรรมแตกฉานตั้งแต่ทรงผนวช
ทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จออกบอกหนังสือ แก่พระภิกษุสามเณร ที่พระที่นั่งจอมทองสามหลังอยู่เนือง
ๆ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี สร้างมณฑปสวมพระมงคลบพิตร
ที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชสร้างไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ และโปรดเกล้า ฯ ให้ชุมนุมราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๐ และโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกไว้จบบริบูรณ์
สมัยอยุธยาตอนทีสองนี้ มีความนิยมสร้างวัดมากขึ้น ราษฎรทั่วไปสร้างวัดไว้ประจำตระกูลไว้เก็บอัฐิบรรพบุรุษ
และวัดได้เป็นสถานศึกษากันมาก จนมีคำกล่าวว่า " เมื่อบ้านเมืองดี เขาสร้างวัดให้ลูกเล่น"
สมัยอยุธยาตอนที่สาม
ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๗๓ - ๒๒๗๓ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประเพณีการบวชเรียนได้รับความนิยมมาก
ผู้ที่บวชจะได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อย่างดี ทำให้ผู้คนหลบเลี่ยงราชการบ้านเมืองไปบวชกันมาก
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชถึงกับรับสั่งให้ออกหลวงสรศักดิ์ เป็นแม่กองประชุมสงฆ์
สอบความรู้ภิกษุสามเณร ผู้ที่หลบหนีมาบวชถ้าสอบได้ความว่าไม่มีความรู้ในพระพุทธศาสนา
ก็จะถูกบังคับให้ลาสิกขา ปรากฏว่ามีผู้ถูกบังคับให้ลาสิกขาเป็นจำนวนมาก เมื่อพระองค์ทรงประชวรใกล้สวรรคต
พระเพทราชา และขุนหลวงสรศักดิ์ ยกกำลังเข้าล้อมวังจะยึดอำนาจ พระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ข้าราชการฝ่ายในบวช และได้ถวายพระราชวังเป็นวิสุงคามสีมา และทำพิธีอุปสมบทคนเหล่านั้นแล้วนำไปอยู่วัดเป็นอันพ้นภัย
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปมาก และชาวยุโรปก็ได้นำคริสติศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วย
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๔ แห่งฝรั่งเศสคิดว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะสนใจในคริสตศาสนา
จึงได้ส่งฑูตมาเจริญสัมพันธไมตรีและขอให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเข้ารีตในคริสตศาสนาด้วย
แต่พระองค์ได้ตรัสตอบไปมีใจความว่า "ถ้าหากพระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยที่จะให้พระองค์เข้ารีตเมื่อใด
ก็คงจะดลบันดาลให้เกิดศรัทธาขึ้นในพระทัยของพระองค์เมื่อนั้น "
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงในพระพุทธศาสนาของ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นตัวอย่างที่ล้ำเลิศของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งมวล
ตลอดชั่วกาลนาน
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีวรรณคดีที่เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาตกทอดมาถึงปัจจุบัน
เป็นจำนวนมาก
สมัยอยุธยาตอนที่สี่
ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๑๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีว่า
ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ จะต้องเป็นผู้บวชแล้ว จึงจะทรงแต่งตั้งในรัชสมัยของพระองค์
มีวรรณคดีสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่นนันโปปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง และปุณโณวาทคำฉันท์
เป็นต้น
ในห้วงระยะเวลาเดียวกันนี้ พระพุทธศาสนาในลังกาได้เสื่อมถอยลง พระเจ้าถีรติสิริราชสิงหะ
กษัตริย์ลังกาได้ส่งฑูตมาขอพระสงฆ์ไทย ไปทำการอุปสมบทให้ชาวลังกา พระอุบาลี
และพระอริยมุนี
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน ๑๕ รูป ได้เดินทางไปบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตรชาวลังกา
ทำให้เกิดนิกายสยามวงศ์
หรืออุบาลีวงศ์ หรือสยามนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดในลังกา
พระพุทธศาสนสถาน
วัดพระศรีสรรเพชญ์
เป็นวัดสมัยอยุธยา พื้นที่ตั้งวัดเดิมเป็นพระราชวังที่ประทับของสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๑
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายพระราชวังใปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นวัดสำหรับประกอบพิธีต่าง
ๆ
ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวิหารขึ้น เมื่อปี
พ.ศ.๒๐๔๒ และสร้างพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูงแปดวา ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์
พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกสององค์เป็นเจดีย์ทรงกลม เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
และสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่
๔) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระเจดีย์ทรงกลมในลักษณะเดียวกันกับ พระเจดีย์สององค์แรก
เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ฝ่ายพม่าได้ใช้ไฟสุมพระเจดีย์เพื่อลอกเอาทองคำที่หุ้มองค์พระศรีสรรเพชญ์ไป
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้า ฯ ให้นำองค์พระศรีสรรเพชญ์ที่เป็นสำริด
ไปบรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ดาญาณ วัดพระเชตุพน ฯ ที่กรุงเทพ ฯ
วัดมหาธาตุ
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาวัดมหาธาตุ
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๗ แต่มาแล้วเสร็จในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
พระปรางค์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุได้พังลงมา ได้มีการบูรณะซ่อมแซมเสร็จ
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีความสวยงามมากเป็นวัดที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่ง
ในสมัยอยุธยาเคยเป็นที่อยู่ของพระสงฆราชฝ่ายคามวาสี และพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาจากเมืองแครง
วัดนี้ได้รับการทำนุบำรุง จากพระมหากษัตริย์ในทุกรัชกาลตลอดสมัยอยุธยา
คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ วัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายมาก
และได้ถูกทิ้งร้างในระยะต่อมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระปรางค์องค์ใหญ่จึงได้พังทลายลงมาอีกครั้ง คงเหลือสภาพเท่าที่เห็นในปัจจุบัน
บริเวณด้านหน้าของวัดมีเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเจ้าสามพระยาในบริเวณที่เจ้าอ้ายพระยา
และเจ้ายี่พระยาพระเชษฐาของพระองค์ทั้งสององค์ ได้ยกทัพเข้ามาเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ
ได้ปะทะกันที่เชิงสะพานผ่านหน้าวัด ต่างองค์ต่างต้องพระแสงของ้าวของอีกฝ่ายหนึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมกันทั้งสององค์
จึงเรียกเจดีย์ที่สร้างไว้ว่า เจดีย์เจ้าอ้ายเจดีย์เจ้ายี่
วัดราชบูรณะ
เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)
โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๖๗ ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยา
และเจ้ายี่พระยา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ กรมศิลปากรได้เปิดกรุพระปรางค์องค์ใหญ่ พบเครื่องราชูปโภคซึ่งทำด้วยทองคำ
และพระพิมพ์แบบต่าง ๆ รวมทั้งของมีค่าอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก กรมศิลปากรได้นำพระพิมพ์ส่วนหนึ่งเปิดให้ประชาชนเช่าไปบูชา
เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และนำของที่ได้จากกรุมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ภายในกรุ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น สามารถเข้าชมได้
วัดพระมงคลบพิตร
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
เพราะมีศิลปอู่ทองผสมกับศิลปสุโขทัย แต่เดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ทางด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมในปี พ.ศ.๒๑๔๖ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก
ณ ที่ซึ่งประดิษฐานอยู่ปัจจุบัน และสร้างมณฑปคลุมองค์พระไว้ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้า
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๙ ฟ้าได้ผ่าลงมาต้องยอดมณฑปพังลงมาต้องพระศอพระมงคลบพิตรหักลง
สมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ต่อพระศอพระมงคลบพิตรให้คงสภาพเหมือนเดิม
แต่ยังไม่ทันได้ซ่อมพระมณฑปที่พังลงมา จนถึงปี พ.ศ.๒๒๘๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฏิสังขรณ์วิหารหลังนี้โดยเปลี่ยนหลังคาซึ่งเป็นแบบมณฑปมาเป็นแบบวิหาร
ต่อมาพระวิหารมงคลบพิตรถูกไฟไหม้เครื่องบนหักลงมาต้องพระเมาลี และพระกรข้างขวาหักไป
พระยาโบราณราชธานินทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้ดำเนินการซ่อมพระเมาลี
และพระกรด้วยปูนปั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้ให้บูรณะพระวิหารพระมงคลบพิตรใหม่หมด
ดังปรากฏในปัจจุบัน
วัดโลกยสุธา
อยู่ในกลุ่มโบราณสถานทางฝั่งตะวันตกของวังหลวง โดยมีคลองท่อกั้นอยู่ วัดโลกยสุธาเป็นวัดขนาดใหญ่
ไม่ปรากฏผู้สร้าง แต่หลักฐานทางสถาปัตยกรรม ทั้งเจดีย์ประธาน และพระอุโบสถ
ล้วนเป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในช่วงอยุธยาตอนปลายเรื่อยมา
โดยเฉพาะที่ปรางค์ประธานของวัด
วัดวรโพธิ
เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมประทับเมื่อทรงผนวช ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เมื่อคณะสงฆ์เดินทางมาจากลังกาได้นำพันธุ์ พระศรีมหาโพธิกลับมาถวาย และได้ทรงโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดนี้
จึงเปลี่ยนชื่อจากวัดระฆังมาเป็นวัดวรโพธิ
วัดวรเชษฐาราม
เชื่อว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
แด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช บนพื้นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๘
วัดพระราม
เป็นวัดที่สมเด็จพระราเมศวร โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๒ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ได้ปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อประมาณ
ปี พ.ศ.๒๒๘๔ ทำให้สถาปัตยกรรมที่เป็นอยู่ปัจจุบันเป็นรูปแบบ ฝีมือช่างในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศด้วย
วัดธรรมิกราช
เป็นวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกำแพงวังหลวงทางด้านทิศตะวันออก จากหลักฐานทางด้านศิลปกรรม
น่าจะเป็นการสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้พบเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ศิลปะอู่ทอง
ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
วัดเสนาสนาราม
เดิมชื่อวัดเสือ อยู่หลังพระราชวังจันทรเกษม เมื่อขยายเขตพระราชวังจันทรเกษมออกไป
วัดนี้จึงรวมอยู่ในเขตวัง เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่จนสิ้นสมัยอยุธยา
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม
และทรงขนานนามใหม่ว่าวัดเสนาสนาราม เป็นวัดสำหรับพระราชวังจันทรเกษม ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่
วัดสุวรรณดาราราม
สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
โดยสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้สร้าง และให้ชื่อว่าวัดทอง ตามพระนามเดิมคือทองดี
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงโปรดเกล้า
ฯ ให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดสุวรรณดาราราม
ถือเป็นวัดประจำพระราชวงศ์จักรี
วัดใหญ่ชัยมงคล
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นตรงที่ปลงศพเจ้าแก้วเจ้าไทย
ซึ่งตายด้วยอหิวาตกโรค เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสำนักสงฆ์ซึ่งไปบวชเรียนมาจากสำนักพระวันรัตนมหาเถรในลังกา
คณะสงฆ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า คณะป่าแก้ว
วัดนี้จึงได้นามว่า วัดคณะป่าแก้ว
ต่อมาเรียกให้สั้นเข้าจึงเรียกว่า วัดป่าแก้ว
พระภิกษุสงฆ์คณะวัดป่าแก้วปฏิบัติตามทางวิปัสนาธุระ ต่อมาคนทั้งหลายพากันเลื่อมใสได้มาบวชเรียนกันในสำนักนี้มากขึ้น
พระมหากษัตริย์จึงทรงตั้งอธิบดีสงฆ์ฝ่ายนี้เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา
จึงได้เรียกชื่อวัดอีกอย่างหนึ่งว่า วัดเจ้าพระยาไทย อันหมายถึงวัดของพระสังฆราช
วัดพนัญเชิง
เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าพนัญเชิง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ไม่ปรากฏผู้สร้าง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๘๖๗ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี
พระเจ้าพนัญเชิงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่ง วัดพนัญเชิงได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๗ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะใหม่หมดทั้งองค์ และพระราชทานนามใหม่ว่า
พระพุทธไตรรัตนายก
วัดพุทไธสวรรค์
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตรงข้ามกับพระนครด้านใต้ สร้างขึ้นบริเวณวงเวียนเหล็กหรือเวียงเล็ก
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อปี
พ.ศ.๑๘๙๖ เพื่อเป็นที่ระลึกตรงบริเวณที่พระองค์เคยเสด็จมาตั้งพระนครอยู่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา
ปัจจุบันวัดพุทไธสวรรค์ ยังมีโบราณสถานเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก เช่น พระปรางค์องค์ใหญ่
วิหารครอบพระปรางค์ และตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยา
ที่ผนังตำหนักมีภาพเขียนสีเรื่องทศชาติชาดก กับเรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป เป็นภาพที่งดงามมาก แต่ปัจจุบันลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว
ที่หน้ามุขพระปรางค์องค์ใหญ่ เดิมมีพระบรมรูปพระเจ้าอู่ทองตั้งอยู่ ซึ่งเดิมทำเป็นเทวรูป
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์
ซึ่งบัญชาการกรมคชบาลเสด็จออกไปชมเพนียดทรงพบเข้า จึงกราบทูลมายังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระองค์จึงโปรดเกล้า ฯ ให้เชิญเทวรูปนั้น ลงมากรุงเทพ ฯ แล้วให้หล่อดัดแปลงใหม่
เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องโลหะหุ้มทองคำลงรักในภายหลัง ปัจจุบันประดิษฐานภายในท้ายจรนำปราสาทพระเทพบิดร
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดไชยวัฒนาราม
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันตกของเกาะเมือง สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณบ้านเดิมของพระพันปีหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๓
แผนผังเลียนแบบนครวัดของขอม ภายในระเบียงตามกำแพงแก้วมีเจดีย์เหลี่ยมแบบเจดีย์ล้านนาไทย
แต่ฐานเจดีย์ทำเป็นล่องให้ได้ตลอด ภายในระเบียงมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่โดยรอบ
ตรงกลางลานใหญ่ทำฐานยกพื้นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งสูงประมาณ ๓ เมตร แล้วก่อปรางค์ประธาน
วัดไชยวัฒนาราม เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพ เจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายองค์
เช่น พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และพระเจ้าลูกเธอฝ่ายในของสมเด็จพระเจ้าเสือ
เป็นต้น นอกจากนั้นวัดนี้ยังใช้เป็นที่ตั้งค่ายอีกด้วย
วัดกษัตราธิราช
เดิมชื่อวัดกษัตราวาส มีชื่อปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระสุริยามรินทร์ว่า ว่าวันแรม
๑๔ ค่ำ เดือนห้า พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง ณ วัดราชพฤกษ์ และวัดกษัตราวาส ยิงเข้ามาในพระนครถูกบ้านเมืองราษฎรล้มตายเป็นอันมาก
และวัดนี้คงถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา และถูกทิ้งร้างต่อมา
ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงศรัทธาได้ทรงปฏิสังขรณ์ และสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด พร้อมกับประทานนามใหม่ว่า
วัดกษัตราธิราช
วัดภูเขาทอง
สมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๐ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้น
เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงชัยชนะ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๘ โดยเฉพาะพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่หักพัง
พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนทรงเจดีย์ โดยทำเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
ดังนั้นฝีมือของพม่าเดิมจึงปรากฏเหลืออยู่เพียงฐานประทักษิณเท่านั้น
วัดภูเขาทอง มีปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ ครั้งที่พระมหานาคได้ลาสิกขาออกมาอาสาตั้งค่ายป้องกันข้าศึก
ตั้งแต่คลองภูเขาทองลงมาจนถึงป่าพลู เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ โดยได้ช่วยกันกับสมัครพรรคพวกขุดคูนอกค่าย
โดยขุดแยกจากคลองภูเขาทองลงมาทางใต้ถึงวัดศาลาปูน จึงยังคงปรากฏชื่อคลองมหานาค
มาจนถึงปัจจุบันนี้
วัดเชิงท่า
มีชื่อเรียกกันในสมัยก่อนว่าวัดคอยท่า บ้างก็เรียกว่าวัดตีนท่า เพราะตั้งอยู่ตรงตีนท่าข้ามมาฝั่งเกาะเมือง
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาปานได้ปฏิสังขรณ์ และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าวัดโกษาวาส
และได้มีการซ่อมแซมอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเชิงท่า
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดหัสดาวาส
หรือวัดช้าง สันนิษฐานว่า สร้างก่อน ปี พ.ศ.๒๐๙๒ ตามพงศาวดารฉบับจันทนุมาศ
(เจิม) ได้กล่าวถึงวัดนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า ก่อนที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ จะทรงทำสัญญาสงบศึกกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พนักงานไปปลูกราชสัณฐาคาร (พลับพลา) ณ
ตำบลวัดเมรุราชิการาม กับวัดหัสดาวาส มีราชบัลลังก์กากาสน์สองพระที่นั่งสูงเสมอกัน
ระหว่างพระที่นั่งห่างกันสี่ศอก แล้วให้แต่งรัตยาอาสน์สูงกว่าราชอาสน์อีกองค์หนึ่ง
ให้เชิญพระศรีรัตนตรัยออกไปไว้เป็นประธาน
วัดหน้าพระเมรุ
เป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทรในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๒ ทรงสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๗ พระราชทานนามว่าวัดเมรุราชิดาราม ต่อมาภายหลังเรียกทั่วไปว่า
วัดหน้าพระเมรุ วัดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาหลายสมัย ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษาพระนครศรีอยุธยาได้ทำการบูรณะเมื่อปี
พ.ศ.๒๓๗๘ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้พระยาเทพราชา พระยาโบราณบุราณุรักษ์ เป็นกรรมการจัดเร่งให้ช่างวัด ช่างกระจกลงรักประดับกระจกพระพุทธรูป
|