มรดกทางพระพุทธศาสนา
สถาปัตยกรรม
โบสถ์วัดถนนหัก
ตั้งอยู่ที่วัดถนนหัก ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง เป็นสถาปัตยกรรมที่มีความเรียบง่ายและสมถะ
สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของชาวบ้าน สันนิษฐานว่าเดิมเป็นโบสน์ไม้ทั้งหลัง
ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นก่ออิฐถือปูน วัสดุมุงหลังคาเดิมน่าจะเป็นกระเบื้องไม้
ช่อฟ้าใบระกา เพียงยกชั้นหลังคาให้ซ้อนกันขึ้นไป เพื่อให้ดูแตกต่างจากอาคารทั่วไป
เสาภายในเป็นเสาไม้เหลี่ยม แต่งบัวที่หัวเสา พื้นก่อด้วยอิฐพื้นเมือง ภายหลังจึงเทคอนกรีต
มีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ อยู่ทุกช่องเสา เป็นหน้าต่างบานลูกฟัก มีการแกะสลักลวดลายที่อกเสา
ซึ่ลูกกรงไม้กลึงแบบลูกมะหยุด ด้านหน้าโบสถ์ซึ่งหันไปทางทิศตะวันออก มีบานประตูลูกฟักแบบโบราณ
มีการแกะสลักที่อกเลาเช่นเดียวกับหน้าต่าง มีร่องรอยปูนปั้นที่ซุ้มประตู
ภายในโบสถ์มีภาพเขียนระบายสีซึ่งยังดูสดใสอยู่มาก เป็นภาพพุทธประวัติ มีอยู่หลายตอน
เช่น ตอนผจญมาร เป็นต้น
กุฏิวัดถนนหัก
ตั้งอยู่ที่วัดถนนหัก ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารชั้นเดียว
ใต้ถุนสูง วางผังเป็นแบบเรือนหมู่ภาคกลาง ลักษณะของหลังคาเป็นแบบปั้นหยา โครงสร้างทั้งหมดเป็นไม้เนื้อแข็ง
มีซุ้มหลังคาคลุมบันได
ช่องลมใช้แผ่นไม้ฉลุติดตั้งเหนือหน้าต่าง ติดตั้งระหว่างช่วงเสาในระดับยอดฝา
และมีการติดระบายไม้ที่ป้านลมและเชิงชายหลังคาด้วย
โบสถ์วัดขุนกอง
ตั้งอยู่ที่วัดขุนกอง อำเภอนางรอง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมคือ หลังคามีมุขประเจิด
มุงสังกะสี หน้าจั่วไม้กระดาน แนวนอนมีลายฉลุที่ปลายบ้านลม และระบายชายมุขประเจิด
อาคารโบสถ์ก่ออิฐถือปูน ใช้อิฐก้อนใหญ่ ฐานมีร่องรอบศิลาแลง ซึ่งอาจนำมาจากศาสนสถานอื่น
โบสถ์วัดโพธิ์ย้อย
ตั้งอยู่ที่วัดโพธิ์ย้อย ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมคือ เป็นโบสถ์ฝาไม้แนวตั้ง
เสาเหลี่ยมตีปะยึดตรึงด้วยตะปู พื้นคอนกรีตมีบันไดด้านข้างทั้งด้านหน้าและด้านหลังโบสถ์
โบสถ์หลังเก่ามีหลังคาซ้อนสี่ชั้น ช่อฟ้า มีลักษณะน้อมตัวลงทำนองอ่อนน้อมถ่อมตน
ประติมากรรมในทางพุทธศาสนา
พระพุทธรูปประทับยืน
เป็นพระพุทธรูปสำริด สูง ๑.๑๐ เมตร พระกรทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า พระกรขวาอยู่ในท่าแสดงธรรม
พระเมาลีเป็นรูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอยเล็ก ๆ พระขนงโก่งต่อกันคล้ายปีกกา
พระอุณาโลมอยู่กลางพระนลาฏ ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์ เป็นพระพุทธรูปสำริดสมัยทวาราวดี
ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย
พระโพธิสัตว์ประทับยืนในท่าสมภังค์
เป็นพระโพธิสัตว์สำริดสูง ๑.๓๗ เมตร มีสี่กร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า
แสดงท่าคล้ายท่าแสดงธรรม พระกรซ้ายด้านหลังยกขึ้นในท่าคล้ายถือของ ส่วนพระกรขวาด้านหลังหักตรงข้อศอก
พระเกศาทำเป็นวงซ้อนกันสี่ชั้น ทรงภูษาสั้นบางแนบพระองค์ มีเข็มขัดเส้นเล็กแนบเอว
พระโพธิสัตว์ประทับยืนในท่าตริภังค์
เป็นพระโพธิสัตว์สำริดสูง ๔๗ เซนติเมตร ทรงชฎามงกุฎ ทรงภูษาสั้น มีเข็มขัดผ้าเส้นเล็ก
ๆ คาดทับอยู่เหนือพระโศณี และผูกชายเป็นโบที่ด้านหน้า ชายผ้าห้อยอยู่ทางด้านขวา
ริ้วชายผ้าทำเป็นเส้นบาง ๆ
ใบเสมาบ้านปะเคียบ
ทำด้วยหินทรายและศิลาแลง บางชิ้นแกะสลักเป็นรูปสถูปแบบหยาบ ๆ แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม
กลุ่มแรกอยู่ในบริเวณวัดทรงศิรินาวาส ปัจจุบันได้นำไปใช้ทำใบเสมาของอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่
กลุ่มที่สองชาวบ้านได้ขนมาจากที่ต่าง ๆ รวมกับของเดิมที่มีอยู่แล้วในบริเวณที่เรียกว่า
สวนศิลาจารึก กลุ่มที่สาม ทำด้วยศิลาแลงอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ทางทิศตะวันตก
เข้าใจว่าคงอยู่ที่นี้มาแต่เดิม นอกจากนั้นยังมีการนำใบเสมาบางส่วนไปทำใบเสมาอุโบสถที่สร้างใหม่ของวัดสุพลศรัทธาราม
บ้านโนนสูง ตำบลบ้านแพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกัน
ศาสนสถาน
วัดกลาง
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ ได้รับการสถาปนาเป็นวัดหลวง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
วัดกลางสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๐๐ เศษ ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ เจ้าพระยาจักรีเคยนำทัพมาหยุดพักแรมใกล้
ๆ กับวัดกลางภายในวัดมีสระโบราณเรียกว่า สระสิงห์โต
เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของขุนนางเจ้าเมืองในสมัยนั้น โดยนำน้ำในสระนี้ไปกระทำพิธีในพระอุโบสถหลังเก่า
เมื่อครั้งพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาห้ารอบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ จังหวัดบุรีรัมย์ได้นำน้ำจากสระนี้ ทูลเกล้า
ฯ ถวายเพื่อใช้ในพระราชพิธีนั้นด้วย
พระอุโบสถวัดกลางในปัจจุบันถือว่าใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะและรูปทรงคล้ายพระอุโบสถในภาคกลาง มีความสมส่วนงดงาม กุฏิแต่ละหลังมีมุขสามมุข
สองชั้น เป็นอาคารแบบทรงไทย รวมถึงอาคารเรียนพระปริยัติธรรมด้วย
วัดท่าสว่าง
ตั้งอยู่ที่บ้านท่าสว่าง ตำบลกระสัง อำเภอกระสัง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดในพระพุทธศาสนา
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลัง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖
เดิมชื่อ วัดกระสัง
ตั้งอยู่ที่บริเวณสระน้ำหนองกก ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดท่าสว่าง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีการก่อสร้างทางรถไฟต่อจากจังหวัดนครราชสีมาไปยังจังหวัดอุบล
ฯ ผ่านหมู่บ้านแห่งนี้ ทำให้หมู่บ้านมีความเจริญขึ้น ทางราชการจึงยกฐานะหมู่บ้านกระสังเป็นตำบลกระสัง
และต่อมาได้ยกฐานะตำบลกระสังเป็นอำเภอกระสัง
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้เริ่มขุดสระน้ำภายในวัดโดยใช้กำลังเงินของวัดเองและใช้แรงงานจากชาวบ้านซึ่งเข้ามาร่วมขุดโดย
ได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย จนได้สระน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน การพัฒนาวัดด้วยการสร้างศาลาการเปรียญ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน และได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งฝ่ายนักธรรมและฝ่ายเปรียญธรรม
การพัฒนาวัดได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องจากท่านเจ้าอาวาสหลายท่านจนวัดมีสิ่งต่าง
ๆ ครบถ้วนสำหรับวัดและสำหรับเอื้ออำนวยต่อสังคม สามารถตั้งสำนักศาสนศึกษา
จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม แผนกบาลี และแผนสามัญศึกษา
วัดโพธิย้อย
ตั้งอยู่ที่บ้านปะคำ ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดบุรีรัมย์แห่งหนึ่ง
เดิมวัดโพธิย้อยเป็น แหล่งชุมชนพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕
ปัจจุบันยังเป็นแหล่งค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ มีโบสถ์ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แปลกออกไป
จากที่เคยพบเห็นโดยทั่วไป
วัดเขาอังคาร
ตั้งอยู่บนเขาอังคาร ในเขตอำเภอติดต่อกัน คืออำเภอนางรอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
และอำเภอละหานทราย ที่ตั้งวัดมีร่องรอยโบราณสถานเก่าแก่ พบใบเสมาสมัยทวารวดีที่สำคัญหลายชิ้น
วัดเขาอังคารเป็นวัดที่ใหญ่โตสวยงาม มีโบสถ์ ศาลาและอาคารต่าง ๆ งดงามแปลกตา
ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังแสดงเรื่องในชาดกเป็นภาษาอังกฤษ
ใบเสมาเขาอังคาร
เป็นใบเสมาที่แกะด้วยหินทราย มีจำนวน ๑๕ แผ่น มีขนาดสูง ๑.๐๘ - ๒.๑๐ เมตร
ฐานกว้าง ๒๓ - ๙๐ เซนติเมตร หนา ๑๕ - ๓๒ เซนติเมตร แผ่นที่สมบูรณ์แกะสลักเป็นภาพทิพยบุคคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ประทับยืนในท่าตริภังค์บนแท่นสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นฉัตร สองข้างเป็นพัดโบก
ทรงภูษาสั้น มีชายพกด้านขวา เป็นลักษณะศิลปกรรมแบบทวาราวดีท้องถิ่นอีสาน
ส่วนแผ่นอื่น ๆ มีการแกะสลักเป็นสองแบบ แบบหนึ่งเป็นรูปทิพยบุคคล มีการสร้างต่อเติมทำให้ลักษณะเปลี่ยนไปหลายประการ
แต่ยังคงเค้าเดิมให้เห็นว่าส่วนใหญ่ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว ทรงภูษาสั้น
มีชายพกด้านขวา อีกแบบหนึ่งสลักเป็นรูปสถูป
และดอกบัวธรรมจักรตามแบบศิลปสมัยทวารวดี มีบางแบบที่ด้านหนึ่งแกะสลักเป็นรูปสถูปดอกบัว
อีกด้านหนึ่งเป็นรูปทิพยบุคคล สันนิษฐานว่า ใบเสมารูปสถูปดอกบัวธรรมจักรมีมาแต่เดิม
ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเจริญขึ้นในดินแดนแถบนี้ จึงได้มีการนำใบเสมาเก่ามาสลักเป็นรูปทิพยบุคคลเพิ่มเติม
วัดหงษ์
เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ที่วัดศีรษะแรด
ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง มีตำนานแสดงประวัติพระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์ และบ้านศีรษะแรด
ซึ่งได้พบในวาระเดียวกัน
พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑.๖๐ เมตร สูงจากฐาน
๒.๐๐ เมตร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ช่างที่สร้างอาจเป็นช่างสกุลลาว
โดยดูจากพระเกศที่มีลักษณะเฉพาะในภาคอีสานและในประเทศลาวเท่านั้น ในวันเพ็ญเดือนสาม
จะมีเทศกาลนมัสการพระเจ้าใหญ่เป็นประจำทุกปี
พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์
ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ บ้านศีรษะแรด ตำบลมะเฟือง
อำเภอพุทไธสง มีตำนานพื้นเมืองแสดงประวัติของ พระเจ้าใหญ่ และวัดหงษ์
รวมทั้งบ้านศีรษะแรดซึ่งได้พบในวาระเดียวกัน
พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๓๗ เมตร สูง
๒.๒๐ เมตร สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างพร้อมกับเมืองพุทไธสง คือเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๐
ช่างที่สร้างอาจเป็นช่างสกุลลาว โดยดูจากพระเกศที่มีลักษณะเฉพาะในภาคอีสาน
และในประเทศลาวเท่านั้น
|