พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ตามแนวเขาทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนจึงมีเพิงผาและถ้ำอยู่เป็นจำนวนมาก
ปรากฎร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์อยู่หลายแห่ง มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์จะใช้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เป็นประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย
แหล่งที่อยู่อาศัยมักเป็นถ้ำหรือเพิงผา ที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขา มีต้นน้ำลำธาร
สัตว์น้ำและสัตว์ที่อยู่ในป่า ตลอดจนผลผลิตจากป่าในการดำรงชีวิต ได้มีการสร้างประดิษฐกรรมขึ้นใช้
เช่น เครื่องมือหิน ภาชนะดินเผา ฯลฯ
ลักษณะของภาชนะดินเผาที่พบเป็นดินเผาเนื้อหยาบมีเม็ดทราย และกรวดปนมาก เผาด้วยอุณหภูมิต่ำขึ้นรูปด้วยมือ
มีทั้งแบบผิวเรียบและผิวมีลายขูดขีด ลายเชือกทาบ
จากการสำรวจครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ ในบริเวณถ้ำเขามดแดงในเขตตำบลเขาค่าย
อำเภอสวี พบเศษภาชนะดินเผาที่มีลักษณะแตกต่างออก ไปปะปนอยู่กับเศษภาชนะดินเผาแบบแรก
เป็นภาชนะดินเผาขัดมัน เนื้อดินละเอียด เผาด้วยอุณหภูมิสูง มีการตกแต่งลวดลายบนผิวภาชนะด้วยลายเส้น
แสดงให้เห็นพัฒนาการทางด้านเครื่องมือเครื่องใช้
การดำรงชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่ตามเพิงผาและโพรงถ้ำ
ลักษณะของถ้ำมีความสูงตั้งแต่ ๑ - ๒๐ เมตร มีทางขึ้นที่ลาดลดหลั่น สามารถไต่ขึ้นไปได้
อยู่ในระดับสูงพ้นจากน้ำท่วมถึง มีอากาศถ่ายเทได้ดีมีบริเวณที่แสงสว่างส่องเข้าถึง
อยู่ใกล้แหล่งน้ำตัวอย่างที่อยู่อาศัยดังกล่าวได้แก่ ถ้ำศาลช้างแล่น
(ถ้ำทิพย์ปรีดา) อำเภอสวี และถ้ำฉานเรน อำเภอทุ่งตะโก
จากหลักฐานที่พบตามเพิงผาและถ้ำต่าง ๆ เป็นวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้
นอกจากนี้ยังพบภาพเขียนสีบนผนังหินอีกด้วย จึงทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า จังหวัดชุมพรมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แหล่งที่พบหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ที่มีการสำรวจแล้วมีดังนี้
- ถ้ำตีนเป็ด
อยู่ในเขตตำบลเขาไชยราช อำเภอท่าแซะ พบขวานหินขัดและชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และกระดูกสัตว์
- ภูเขารับร่อ
อยู่ในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ พบขวานหินขัดและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาต่าง
ๆ
- ถ้ำสนุกสุขารมย์
อยู่ในเขตตำบลบ้านนา อำเภอเมือง ฯ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาผิวเรียบและลายเชือกทาบ
- ถ้ำศาลช้างแล่น
อยู่ในเขตตำบลเขาค่าย อำเภอสวี พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา
- ถ้ำลาดน้อย
อยู่ในเขตตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนหม้อสามขา
- เขามดแดง
อยู่ในเขตตำบลเขาค่าย อำเภอสวี พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาและหม้อสามขา
- ถ้ำฉานเรน
อยู่ในเขตตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา หม้อสามขา และเปลือกหอยทะเล
- ถ้ำพระ
อยู่ในเขตตำบลบ้านนา อำเภอเมือง ฯ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาผิวเรียบและลายเชือกทาบ
- แม่น้ำหลังสวน
ในเขตตำบลปังหวาน อำเภอพะโค๊ะ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาผิวเรียบและลายเชือกทาบ
- เขานาพร้าว
(ถ้ำขุนกระทิง) อยู่ในเขตตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง ฯ พบภาพเขียนสีบนผนังหิน
สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานได้มีการพัฒนาต่อเนื่องจากชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์
โดยเริ่มมีการรับวัฒนธรรมและอารยธรรมจากดินแดนภายนอก มีการเคลื่อนย้ายชุมชนไปสู่พื้นที่ราบชายฝั่งทะเล
ที่มีทางเข้าออกจากแผ่นดินใหญ่ไปสู่ดินแดนอื่น ๆ มากขึ้น ประกอบกับลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์
มีการแผ่ขยายของทะเลเข้าไปในส่วนของแผ่นดิน ทำให้ชุมชนเดิมกลายเป็นชุมชนเมืองท่า
และมีการติดต่อค้าขายกับดินแดนโพ้นทะเลทั้งจากด้านจีน และอินเดีย กล่าวคือ
ทั้งฝั่งทะเลจีนใต้และฝั่งทะเลอันดามัน โดยอาศัยเส้นทางข้ามคาบสมุทรภาคใต้
ซึ่งปรากฎว่ามีอยู่หลายเส้นทางทำใหกชุ่มชุมชนดั้งเดิมมีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้
ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้นรู้จักการหล่อโลหะ การหลอมวัตถุดิบเพื่อทำลูกปัดและเครื่องประดับ
พบแหล่งโบราณคดีหลายแห่งบนคาบสมุทรภาคใต้ ที่มีโบราณวัตถุบ่งชี้การติดต่อค้าขายกับดินแดนโพ้นทะเล
เช่น ลูกปัดและอักษรปัลลวะ เป็นต้น
แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว
เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่มีร่องรอยหลักฐานของการตั้งถิ่นฐาน ในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์
ที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ที่บ้านสามแก้ว ตำบลนาชะอัง
อำเภอเมือง ฯ อยู่บนเนินเขาเขาแก้วซึ่งเป็นกลุ่มภูเขาลูกเล็ก ๆ สามสี่ลูกสลับกับที่ราบริมคลองท่าตะเภา
โบราณวัตถุที่พบเป็นหลักฐานว่าที่เขาสามแก้ว มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ต่อเนื่องมาเป็นชุมชนในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่
กลองมโหรทึกสำริด นอกจากนี้ยังมีลูกปัด กำไล ตุ้มหู จี้สร้อยคอสำริด แก้ว
และลูกปัด ชนิดต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
เขาสามแก้วนี้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นชุมชนโบราณที่น่าจะเป็นเมืองท่า
ถึงแม้จะอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน แต่มีเส้นทางน้ำที่ปรากฎร่องรอยว่า ในอดีตสามารถใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลได้
โดยใช้ลำน้ำท่าตะเภาที่มีเส้นทางออกไปสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร มีลักษณะของเนินที่พบโบราณวัตถุจำนวนมาก
นั้นอยู่ใกล้กับที่ลุ่ม ชาวบ้านเรียกว่า อู่ตะเภา
ส่วนการสันนิษฐานว่า เป็นชุมชนเมืองท่าในเส้นทางข้ามคาบสมุทรนั้น มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญสองสายคือ
จากอำเภอหลังสวน ไปตามลำน้ำหลังสวน ต่อไปยังอำเภอพะโค๊ะ และข้ามเทือกเขาไปยังจังหวัดระนองสายหนึ่ง
และอีกสายหนึ่งจากจังหวัดชุมพรไปยังกระบุรี ปากจั่น จังหวัดระนอง จากการสำรวจพบว่าเป็นเส้นทางน้ำตลอดสาย
เริ่มจากฝั่งทะเลอันดามันที่ตอนล่างของแม่น้ำกระบุรี ผ่านแหล่งโบราณคดีถ้ำพระขยางค์
บ้านลำเลียง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ผ่านอำเภอกระบุรีไปถึงปากจั่น ทวนน้ำตามคลองจั่นเข้าสู่คลองหลีก
ผ่าเขาหินซอง คลองหิน ถึงสันปันน้ำ จปร. แลัวจึงเดินบกข้ามช่องเขาเข้าเขตจังหวัดชุมพร
แล้วล่องตามคลองชุมพร ผ่านท่าไม้ลาย ท่าไม้รวก แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ถ้ำสนุกสุขารมย์
บ้านเลียบญวน บ้านนาเหนือ บ้านยางด้วน บ้านวัดประเดิม แล้วเดินบกมาที่ท่าตะเภา
ลงคลองท่าตะเภา
ผ่านแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว แล้วลงทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร
ช่วงเวลาที่ชุมชนโบราณเขาสามแก้ว มีความก้าวหน้ามีวิวัฒนาการและดำรงความเป็นชุมชนแบบดั้งเดิม
อยู่ระหว่างประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หลังจากนั้นลักษณะชุมชนแบบดั้งเดิมเริ่มเสื่อมสลายไป
หลาย ๆ ชุมชนในภาคใต้เริ่มเข้าสู่ระบบสังคมและการเมืองแบบเดียวกัน มีลักษณะของนครรัฐ
มีศูนย์กลางการปกครอง โดยรับวัฒนธรรมจากชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ของดินแดนโพ้นทะเล
เป็นหลักในการจัดระเบียบสังคม เริ่มมีสถาบันศาสนาและการเมืองในช่วงนี้ (พุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๘) จัดให้เป็นสมัยศรีวิชัย เกิดมีอาณาจักรศรีวิชัยและอาณาจักรตามพรลิงค์
เกิดในคาบสมุทรภาคใต้
การพัฒนาทางประวัติศาสตร์
เมืองชุมพรมีความแตกต่างไปจากเมืองอื่น ๆ ในภาคใต้ ที่ไม่มีตัวเมืองเหมือนเมืองไชยา
เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองปัตตานี เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่งทางฝ่ายตะวันตก
ซึ่งล้วนมีโบราณวัตถุอยู่ รู้ได้ว่าเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่เมืองชุมพรไม่ได้พบโบราณวัตถุเป็นสำคัญ
เมื่อสิ้นยุคชุมชนโบราณแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่ชุมชนโบราณเขาสามแก้ว ประวัติศาสตร์ของเมืองชุมพรก็ขาดหายไปเป็นช่วง
ๆ ไม่ต่อเนื่องชัดเจน มิได้ปรากฎชื่อชุมชนในเอกสารของจีน หรืออาหรับ ชื่อของเมืองชุมพรปรากฎเป็นครั้งแรกในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช
ที่บอกให้ทราบว่ารัฐศรีธรรมาโศกราช มีเมืองขึ้นสิบสองหัวเมืองนักษัตร
ชุมพรเป็นเมืองหนึ่งของสิบสองเมืองนั้น โดยให้เมืองชุมพรถือตราแพะ
การตั้งเมืองสิบสองนักษัตร ตำนานมิได้กล่าวว่าตั้งในปีใด แต่ความบ่งว่าก่อนปฎิสังขรณ์พระมหาเจดีย์
ซึ่งตำนานตอนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อศักราชได้ ๑๐๙๘ พญาศรีธรรมาโศกราช ได้เกณฑ์คนจากสิบสองหัวเมืองนักษัตร
มาปฎิสังขรณ์พระมหาธาตุเจดีย์ศักราชในตำนานนี้น่าจะเป็นปีมหาศักราช เมื่อเทียบเป็นพุทธศักราชแล้ว
จะตรงกับปี พ.ศ.๑๗๑๙ ดังนั้นเมืองชุมพรจึงมีอยู่ก่อน พ.ศ.๑๗๑๙
สมัยสุโขทัย
ในสมัยสุโขทัย แม้ไม่มีชื่อเมืองชุมพรในจารึกหรือตำนานใด แต่มีชื่อของรัฐศรีธรรมาโศกราช
ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
สมัยอยุธยา
มีพงศาวดารกรงุศรีอยุธยาฉบับหนึ่งกล่าวว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นได้ตีเมืองพงสาลี
และเมืองแถง ในลาวเหนือ กวาดล้างลาวมาไว้ที่เมืองปะทิว และเมืองชุมพร เป็นหลักฐานที่ได้เห็นเมืองชุมพรเป็นครั้งแรก
ต่อมามีบทพระไอยการ ตำแหน่งนายทหารหัวเมืองตรา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๗ อันอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ได้กล่าวถึงพระชุมพรเมืองตรี นา ๕,๐๐๐ ขึ้นประแดงอินปัญญาซ้าย
เมืองชุมพรปรากฎในประวัติศาสตร์ไทยเป็นครั้งที่สอง เจ้าเมืองชุมพรที่พบชื่อบรรดาศักดิ์เป็นครั้งแรก
ในกฎหมายเก่ายังพบชื่อเมืองชุมพรในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยต่อ ๆ มาอีกสองสามครั้ง
กล่าวถึงแต่ว่าเมืองชุมพรเป็นเมืองตรี ไม่มีรายละเอียดอื่นใดนัก
ครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๓๐๗ พบชื่อเมืองชุมพรอีกครั้งว่า พม่าไล่ติดตามเจ้าเมืองทวาย
ลงมาตีได้เมืองมะริด เมืองมะลิวัน เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองปะทิว เมืองกำเนิดนพคุณถึงเมืองเพชร
กองทัพพระยาตากตีแตกพ่ายไป
สมัยธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้านครตั้งตนเป็นชุมชนขยายเขตแนวรวบรวมเมืองต่าง
ๆ เข้ามาในอำนาจมีเมืองชุมพรรวมอยู่ด้วย เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปราบพม่าที่อยุธยาได้แล้ว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) ไปปราบชุมนุมเจ้านคร กองทัพยกผ่านเมืองเพชรบุรี
เมืองนพคุณ เมืองปะทิว จนถึงเมืองชุมพร คณะกรมการเมืองชุมพรหลบหนีไปสมทบเมืองนคร
ฯ ต่อมาทัพหลวงยกมาสมทบตีเมืองนคร ฯ ได้ จัดการปกครองเมืองนคร ฯ แล้ว
แต่งตั้งนายมั่น
ชาวเมืองปะทิวที่ชักชวนสมัครพรรคพวกเข้าสวามิภักดิ์กับทัพเจ้าพระยาจักรี (แขก)
ไปร่วมรบเมืองนคร ฯ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองชุมพรเป็นที่พระชุมพร (มั่น)
สมัยรัตนโกสินทร์ เมืองชุมพรในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ไม่ได้ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภาดังเป็นอยู่ปัจจุบัน ทราบกันว่าตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำชุมพร
ในตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ แต่ยังไม่มีผู้ใดสำรวจหาที่ตั้งเมืองที่แท้จริง
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์พบว่า กองทัพพม่าเคยเข้ามาตีเมืองชุมพรสี่ครั้ง
คือ
- ครั้งที่หนึ่ง
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๗ ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทัพพม่าไล่ติดตามเจ้าเมืองทวายลงมาตีได้เมืองมะริด
เมืองมะลิวัน เมืองกระ เมืองชุมพร ไปจนถึงเมืองเพชรบุรี ชุมพรเป็นเพียงหัวเมืองตรี
ไม่มีกำลังทหารรักษาเมือง เจ้าเมืองต้องเกณฑ์ชาวบ้านออกรบ จึงเสียเมืองแก่ข้าศึกโดยง่าย
- ครั้งที่สอง
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี กำลังทหารพม่าขนาดย่อมยกเข้ามาทางด่านสิงขร
ตีได้เมืองทับสะแก เมืองกำเนิดนพคุณ พอตกกลางคืนผู้รั้งและกรมเมืองรวมกำลังผู้คนเข้าตีพม่าแตกหนีไปทางเมืองปะทิว
ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร
- ครั้งที่สาม
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พม่ายกทัพเรือลงไปตีเมืองถลาง ยกทัพบกจากเมืองมะริด ตีเมืองระนอง เมืองกระ
ซึ่งครั้งนั้นทั้งสองเมืองนี้ขึ้นกับเมืองชุมพร พม่ายกกำลังเข้ามาทางบ้านปากจั่น
เข้าช่องหินซอง แล้วเดินทัพมาตามฝั่งแม่น้ำชุมพรเข้าตีเมืองชุมพร ได้ผู้รั้งและกรมการเมืองอพยพผู้คนหนีเข้าป่า
พม่าริบทรัพย์เผาเมือง แล้วยกกำลังลงไปตีเมืองไชยา และเมืองนคร ฯ
กองทัพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
ยกมาถึงเมืองชุมพรเมื่อเดือนสี่ปีเดียวกัน แล้วยกตามไปทัพพม่าแตกพ่ายไปจากเมืองนคร
ฯ
ในปี พ.ศ.๒๓๓๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เตรียมกองทัพไปตีเมืองพม่า
โดยยกกองทัพออกไปทางไทรโยคเมืองกาญจนบุรี กองทัพเรือจะยกออกจากเมืองชุมพร
(เมืองกระบุรี) ไปสมทบทัพบกที่เมืองทวาย สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองชุมพร ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๓๖ เกณฑ์กำลังคนจากหัวเมืองฝ่ายตะวันตก
ตั้งแต่เมืองไทรบุรี ขึ้นมาถึงเมืองชุมพรให้ต่อเรือรบ และเข้าสมทบเป็นทัพเรือ
มีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนกร พระยาไกรโกษา พระยาแก้วโกรพ เจ้าเมืองชุมพรยกทัพเรือขึ้นไปตีเมืองทวาย
เมืองชุมพรครั้งนั้นติดทะเลอันดามัน กองทัพเรือยกเข้าตีเมืองมะริด จวนจะตีเมืองได้
ปรากฏว่ากองทัพบกทำการไม่สำเร็จ ทัพเรือต้องถอยกลับทัพเรือพม่าตามตีจนถึงท่าขึ้นบกที่ปากจั่น
พม่ายกกำลังขึ้นบก แต่ทัพไทยตีแตกกลับไป แล้วจึงเดินทัพกลับเมืองชุมพร
- ครั้งที่สี่
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกทัพเรือไปตีเมืองถลาง ทัพบกยกมาตีเมืองมะลิวัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์ทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ไปช่วยป้องกันเมืองถลาง ให้พระยาจ่าแสนกร
(บัว) ยกทัพวังหน้าลงมาชุมพร ทัพพม่าตีได้เมืองมะลิวัน เมืองระนอง เมืองกระ
แล้วยกเข้าทางปากจั่นตีเมืองชุมพรได้ แต่ก็ถูกกองทัพพระยาจ่าแสนกร (บัว) ตีแตกกลับไป
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๓๖๗ มีหลักฐานว่าเจ้าเมืองชุมพรที่เป็นที่พระยากำแหงสงคราม
(ซุ่ย) ได้มาตั้งเมืองชุมพรปัจจุบันในช่วง พ.ศ.๒๓๕๒ - ๒๓๖๗
ในปี พ.ศ.๒๔๐๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ไปเมืองสงขลามีบันทึกว่า
เสด็จ ฯ ทางทะเลผ่านเมืองชุมพร มีความตอนหนึ่งว่า อ่าวปากคลองทุ่งคาคือ ปากน้ำชุมพร
แสดงว่าเมืองชุมพรได้ย้ายมาอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าตะเภา คือที่ตั้งเมืองชุมพรปัจจุบันแล้ว
เมืองชุมพรที่ท่าตะเภานี้ เจ้าเมืองยังมีบทบาทเกี่ยวกับสงครามด้านพม่าอีกครั้ง
เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗ ระยะนี้อังกฤษตีได้พม่าเป็นบางส่วนแล้ว
ฝ่ายไทยจัดให้เจ้าพระยามหาโยธา
คุมกองทัพมอญเข้าแดนพม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ มีท้องตราให้เกณฑ์กองทัพเมืองชุมพรและเมืองไชยา
มีพระยาชุมพร (ซุ่ย) คุมกองทัพเรือยกขึ้นไปทางเมืองทวาย และเมืองมะริดอีกทางหนึ่ง
กองเรือดังกล่าวมีเรือรบขนาดใหญ่ ๙ ลำ มีกรรเชียง (แจว) ลำละ ๖๐ - ๘๐ กรรเชียง
พระยาชุมพร (ซุ่ย)
กวาดครัวเรือนมะริดมา ๔๐๐ คน พวกอังกฤษไล่ติดตามกองเรือชุมพรพบเรือของพระเทพไชยบุรินทร์
(ขุนทอง) ผู้รั้งเมืองท่าแซะล้าหลังอยู่จึงจับทั้งนายและไพร่จำนวน
๑๔๕ คน ไปจำไว้ที่เมืองมะริด และแจ้งให้ทางไทยทราบว่าถ้าไทยส่งเชลยคืนเมื่อใดจึงจะปล่อยพระเทพไชยบุรินทร
และผู้คนที่จับไปคืนมา ทางพระยาชุมพร (ซุ่ย) มีใบบอกเข้ามากรุงเทพ ฯ ว่าเมื่อยกกองเรือลาดตะเวณไปถึงเมืองมะริด
ได้แวะเข้าเมืองตามที่อังกฤษผู้รักษาเมืองมะริดขอร้อง ครั้นออกจากเมืองมะริดเดินทางกลับถึงกลางทาง
พบครัวเมืองมะริดหนีกองทัพอังกฤษเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องที่เข้ามาอาศัยเมืองไทยอยู่ก่อนแล้ว
จึงรับตัวมาด้วย ทางกรุงเทพ ฯ สอบถามครัวเมืองมะริดที่พระยาชุมพร ส่งเข้าไปได้ความว่า
ผู้ที่สมัครใจมามีน้อยแต่ที่ถูกกวาดต้อนมามีมาก ถือว่าพระยาชุมพรละเมิดท้องตราที่ได้สั่งไป
จึงสั่งให้ถอดพระยาชุมพร (ซุ่ย) ออกจากตำแหน่งแล้วเอาตัวไปจำไว้ที่กรุงเทพ
ฯ
- รายชื่อเจ้าเมืองชุมพร
เท่าที่มีหลักฐานมีดังนี้
ออกญาเคาะงะ ทราธิบดีศรีสุรัตนวลุมหนัก ก่อน พ.ศ.๑๙๙๗
พระชุมพร (มั่น) พ.ศ.๒๓๑๒ - ๒๓๑๓
พระยาแก้วโกรพ พ.ศ.๒๓๓๖ เข้าร่วมกองเรือไปตีเมืองมะริด
พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ถิ่น) น่าจะเป็นคนเดียวกับพระยาแก้วโกรพ
พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ซุ่ย) ก่อน พ.ศ.๒๓๖๗ - พ.ศ.๒๓๖๗
พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ยม) พ.ศ.๒๓๖๘
พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ครุฑ) ผู้สร้างวัดสุวรรณนิมิต
พระยาเพชรกำแหงสงคราม (กล่อม) เรียกกลับกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑
พระยาเพชรกำแหงสงคราม (ยัง) บุตรพระยากำแหงสงคราม (ซุ่ย) พ.ศ.๒๔๑๑
- ๒๔๓๗
พระยารามฤทธิรงค์ (สิน) พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๓๙ (รักษาราชการ)
พระยาชุมพร (มะลิ ยุกตนันท์) เป็นเจ้าเมืองชุมพรถึงปี พ.ศ.๒๔๔๔
เจ้าเมืองชุมพรต่อจากนั้นไม่ได้ใช้บรรดาศักดิ์ พระยาเพชรกำแหงสงคราม แต่ใช้ยศหรือบรรดาศักดิ์
ที่ได้รับพระราชทานมาแต่เดิม มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๔๕
ทางรถไฟจากกรุงเทพ ฯ ถึงชุมพรเปิดใช้งาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เมื่อกำหนดทางรถไฟแน่นอนแล้ว
จึงสร้างที่ว่าการเเมืองต่อมาเรียกว่า ศาลากลางจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ มีพระยาชุมพรบุรีศรีสมุทเขต
เป็นผู้ว่าราชการเมือง ศาลากลางหลังนี้อยู่ในบริเวณที่เป็นสำนักงานเทศบาลเมืองชุมพรและสำนักงานที่ดินจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน
เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง ออกมุขสามมุข ทาสีเหลืองอ่อนดูสง่างามมาก
ได้รื้อออกในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ที่ว่าการอำเภอเรียกว่าที่ทำการอำเภอท่าตะเภา อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของศาลากลาง
เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงชั้นเดียวขนาดเล็ก มีมุขเดียวต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอเมือง
ฯ ศาลจังหวัดชุมพร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของศาลากลาง เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยาชั้นเดียว
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐
เมื่อมีศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และเรือนจำจังหวัดแล้ว
ถนนกว้าง ๓ วา ที่ทำขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ก็ปรับปรุงเป็นถนนลูกรัง ชื่อว่าถนนปรมินทรมรรคา
เป็นถนนสายหลักผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด ไปจดทางรถไฟสายใต้ ที่หน้าวัดตะเภาเหนือ
(ชุมพรรังสรรค์) แล้วตัดถนนจากหน่วยงานของทางรถไฟลงมาทางใต้ เรียกว่า ถนนศาลาแดง
ตัดถนนปรมินทรมรรคาที่สี่แยกท่าตะเภาไปจดแม่น้ำที่ถนนราษฎร์วิถีใน ทำเป็นท่าจอดเรือเรียกว่า
ท่าศาลาแดง เพราะปลูกศาลาหลังคาสีแดง ไว้ร้านค้าสองฝั่งถนนปรมินทรมรรคา เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว
มีเรือนสองชั้นอยู่เพียงสามสี่หลัง
ประวัติการปกครอง
เมืองชุมพรปกครองด้วยระบบจตุสมดมภ์ ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยอยุธยา
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัตนโกสินทร์ การปกครองดังกล่าวประกอบด้วยเจ้าเมืองและกรมการเมือง
กรมการเมืองระดับผู้ใหญ่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งได้แก่ พระปลัดเมือง หลวงยกกระบัตร
มีผู้ช่วยบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสองหรือสามคน ตามแต่จะเป็นเมืองใหญ่น้อย และมีพระพลจางวางด่าน
อีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนตำแหน่งกรมการชั้นรอง เจ้าเมืองเป็นผู้คัดเลือกและออกหมายตั้งได้แก่
จตุสมดภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา
- เวียง
เป็นบรรดาศักดิ์เป็น หลวง มีหน้าที่ว่าความนครบาลคือ ความอุกฉกรรจ์ หรืออาญาหลวง
และบังคับหัวเมือง นายตำบลด้วย
- วัง มีบรรดาศักดิ์เป็น
หลวง เป็นพนักงานจัดการพิธีต่าง ๆ และจัดที่พักรับรองแขกเมืองด้วย
- คลัง
มีบรรดาศักดิ์เป็น
หลวง มีหน้าที่เก็บภาษีต่าง ๆ และเก็บหางข้าวค่านา
- นา มีหน้าที่ว่าความที่ดิน
รักษาฉางข้าวและแรกนาขวัญ
นอกจากนี้ยังมีขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ อีก เป็นต้นว่า หลวงอาญา
(เช่น หลวงพรหมอาญา) ว่าความอาญาราษฎรหรืออาญาสินไหม หลวงแพ่ง
(เช่น หลวงอินทสภาแพ่ง) ว่าความแพ่งและเป็นผู้วางเบี้ยปรับความ ตำแหน่งพระธรรมนูญ
มียศเป็นขุน มีหน้าที่รับฟ้องพระธรรมนูญ นำเสนอเจ้าเมืองลงคำสั่งให้กรมการชำระความตามตำแหน่ง
ตำหน่งสรรพาวุธ
มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง มีหน้าที่รักษาตึกดิน
(ดินปืน) และรักษาเครื่องอาวุธต่าง ๆ ตำแหน่งสัสดี มีห้าคน มียศเป็นหลวงได้แก่
สัสดีกลาง สัสดีขวา สัสดีซ้าย และมีผู้ช่วยมียศเป็นหลวงอีกสองคน มีหน้าที่ถือบัญชีเลกส่วย
การปกครองท้องถิ่นแบ่งออกเป็น อำเภอ นายอำเภอ เรียกว่า หัวเมือง หัวหน้าในตำบลเรียกว่า
นายตำบล
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกวิธีการปกครองแบบจตุสดมภ์
มาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ระบบนี้รวมหัวเมืองขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่แต่งตั้งจากกรุงเทพ
ฯ มากำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง เจ้าเมืองคงมีตามเดิม แต่เปลี่ยนเรียกเป็น ผู้ว่าราชการเมือง
เปลี่ยนรูปกรมการเป็นผู้ปฎิบัติราชการ ของหน่วยงานต่าง ๆ ในเมืองหลวง ชั้นแรกข้าหลวงใหญ่มีบรรดาศักดิ์ไม่ถึงพระยา
ต่อมาจึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มีอำนาจปกครองทุกหัวเมืองในมณฑล
ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตามภาษาธรรมดา จะเรียกโดยมีบรรดาศักดิ์นำหน้าตามด้วยชื่อเมืองที่ครองอยู่
เช่น พระยาชุมพร พระท่าแซะ หลวงปะทิว ฯลฯ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลว่า
สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑล มีหน้าที่กว้างขวางเป็นผู้แทนต่างพระเนตรพระกรรณ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมืองชุมพรตั้งเป็นมณฑลชุมพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ให้ย้ายเมืองชุมพรไปตั้งที่บ้านดอน
และให้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลสุราษฎรธานี
พ.ศ.๒๔๕๙ มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ให้เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด เปลี่ยนผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
พ.ศ.๒๔๗๖ ประกาศยกเลิกระบอบเทศาภิบาล ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเปลี่ยนเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด
ในการปฎิบัติราชการมีกรมการจังหวัดคณะหนึ่ง ประกอบด้วยหัวหน้าแผนกการต่าง
ๆ สังกัดกระทรวง ทบวง กรม ในกรุงเทพ ฯ หัวหน้าแผนกการต่าง ๆ ดังกล่าวทำงานตรงต่อ
กระทรวง ทบวง กรมเจ้าสังกัด ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาดูแลทุกแผนก
การยกเว้นฝ่ายยุติธรรมกับฝ่ายทหาร
พ.ศ.๒๔๙๕ ตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตามเดิม
ยกเลิกคณะกรมการจังหวัดทุกแผนก การทำงานรวมในนามจังหวัด การรับและเสนอข้อราชการต่าง
ๆ ทำในนามของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสิ้น
- ที่มาของชื่อว่าชุมพร
มีคำอธิบายอยู่หลายประการคือ
ประการแรก มีเทพธิดาประทานพรแก่เมือง เรียกว่า ประชุมพร
ต่อมาพยางค์หน้ากร่อนไปเหลือแต่คำว่า ชุมพร
ประการที่สอง เป็นเมืองที่รวมกำลังทหารเพื่อยกไปทำสงครามเรียกว่า เป็นที่ชุมพล
ภายหลังเลือนมาเป็น ชุมพร
ประการที่สาม มาจากชื่อบ้านที่มีต้นมะเดื่อมาก เรียกว่า บ้านชุมพร และเป็นเมืองชุมพรในที่สุด
มะเดื่อชุมพรเป็นมะเดื่อ
ชนิดหนึ่งภาษาบาลีเรียกว่า
อุทุมพร ชาวบ้านมักเรียกมะเดื่อชนิดนี้ว่า
ต้นอุทุมพร คำว่า อุกร่อนไป คำว่า ทุม เพี้ยนเป็นชุมกลายเป็นมะเดื่อชุมพร
มีจารึกวัดพระเชตุพนกล่าวถึงชื่อเมืองต่าง ๆ ไว้หลายเมืองมีจารึกว่า ...ไชยาบุรี
ไชยาเมืองประสงค์ เมืองหลังสวน อุทุมพร.....
ที่ท่าน้ำซึ่งพบซากเมืองชุมพรเก่า ในเขตตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ ฝั่งตรงข้ามยังมีต้นมะเดื่อชุมพรขึ้นอยู่มากมาย
เมื่อเริ่มเป็นหมู่บ้านคงเรียกกันว่า บ้านมะเดื่อชุมพร ตามแบบคนใต้ที่ไม่ชอบพูดคำยาวหลายพยางค์
|