|
|
|
|
|
|
|
|
มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดีสมัยสำริด
บ้านหลุมข้าว
อยู่ในเขตตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง เป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา
เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินดินขนาดย่อม มีลำปราสาทไหลผ่านทางตอนเหนือ
มีการฝังศพเป็นประเพณีสืบทอดกันมา ได้มีการขุดค้นพบโครงกระดูก 110 โครง
เป็นโครงกระดูกของผู้ใหญ่ทั้งเพศชาย เพศหญิงเด็กและทารก โครงกระดูกของทารก
มักฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่มีฝาปิด ในหลุมฝังศพจะมีภาชนะดินเผา
ศพมักสวมเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือทำจากเปลือกหอยทะเล และหินอ่อน
แสดงว่าชุมชนแห่งนี้มีการติดต่อกับชุมชนอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป ชุมชนแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อประมาณ
2500 ปีมาแล้ว
บ้านปราสาท
อยู่ในเขตตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างยาวรี
มีลำปราสาทไหลผ่านทางตอนเหนือ และมีร่องน้ำเก่าโอบรอบอยู่ จากการขุดค้น
เมื่อปี พ.ศ. 2535 พบว่า บริเวณกลางเนินดิน มีอายุตั้งแต่สมัยสำริดจนถึงสมัยประวัติศาสตร์
ชั้นล่างสุดมีอายุในสมัยสำริดคือ ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว มีประเพณีฝังศพ
มีภาชนะดินเผาวางอยู่บริเวณเหนือศีรษะ หรือปลายเท้าของศพ บางโครงกระดูกสวมเครื่องประดับ
เช่นกำไลข้อมือทำจากเปลือกหอยทะเล หินอ่อน ลูกปัด คล้ายกับที่พบจากบ้านหลุมข้าวและแหล่งอื่น
ๆ ในเขตจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี ภาชนะดินเผาจากบ้านปราสาทมีความสวยงาม
ที่มีชื่อและเป็นเอกลักษณ์คือ ภาชนะทรงปากแตร มีลักษณะคล้ายกระโถนคอแคบ
ปากผายออก ผิวสีแดงขัดมันวาว
บ้านสันเทียะ
อยู่ในเขตตำบลโนนไทย อำเภอโนนไทย พบหลุมศพคล้ายที่บ้านหลุมข้าวและบ้านปราสาท
ปราสาทพนมวัน
อยู่ที่บ้านมะค่า
ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จากการขุดค้นพบโครงกระดูก ภาชนะดินเผาและเครื่องประดับ
คล้ายคลึงกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 3,000-2,500
ปีมาแล้ว
บ้านตำแย
อยู่ในตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย ได้ขุดพบภาชนะดินเผาสีดำเนื้อบางและแกร่ง
ชั้นดินล่างสุดมีอายุประมาณ 3,000 ปี
แหล่งโบราณคดีสมัยเหล็ก
ชุมชนสมัยเหล็กหนาแน่นกว่าสมัยสำริด บางแห่งเติบโตมาจากชุมชนสมัยสำริด
ตามหน้าผิวดินมักพบภาชนะดินเผาสีดำขัดมันวาว ผิวบางมีลายเส้น
กระจายอยู่ทั่วไป รู้จักกันในชื่อว่า พิมายดำ
เนื่องจากขุดพบครั้งแรกที่บ้านส่วย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพิมาย
มีอายุประมาณ 2,200-1,700 ปีมาแล้ว
โนนเมืองเก่า
อยู่ที่บ้านดงพลอง ตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง เป็นเนินดินครอบคลุมพื้นที่ประมาณ
330 ไร่ มีคูน้ำโอบล้อมสองชั้น จากการขุดค้นพบหลักฐานการเข้าอยู่อาศัยระหว่าง
150-1,600 ปีมาแล้ว พบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ
เช่น กำไล ต้มหู ทำจากสำริด และสำริดปนเหล็ก ลูกปัดทำจากแก้ว
ภาชนะที่ฝังอยู่กับศพเป็นแบบพิมายดำ พบแร่เหล็กจำนวนมากอยู่ตามผิวหน้าดิน
เนินอุโลก
อยู่ที่บ้านหนองนาตูม ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง เป็นเนินดินอยู่กลางทุ่งนา
มีแนวคูน้ำล้อมอยู่ 5 ชั้น ชั้นดินล่างสุดลึกประมาณ 5 เมตร อยู่ในสมัยสำริดตอนปลาย
จากระดับความลึก 4 เมตรถึงผิวดิน อยู่ในสมัยเหล็ก มีอายุประมาณ 2,500
ปีมาแล้ว จากการขุดพบโครงกระดูกผู้ชาย ผู้หญิง เด็กและทารกลักษณะการฝังซ้อนทับกันเป็นกลุ่ม
ศพทารกมังฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ มีการฝังสิ่งของต่าง ๆ ให้กับผู้ตายได้แก่
ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ ใส่เครื่องประดับตั้งแต่ศีรษะถึงเท้าทำจากสำริด
เหล็ก แก้ว เป็นตุ้มหู เครื่องประดับศีรษะ ห่วงเอวสำริด
กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า แหวนนิ้วมือ และนิ้วเท้า ลูกปัดทำจากหินมีค่า
บ้านกระเบื้องนอก
อยู่ในเขตกิ่งอำเภอเมืองยาง พบชั้นดินสามสมัย สมัยแรกอยู่ในสมัยเหล็ก
ประมาณ 2,300-1,800 ปีมาแล้ว พบหลักฐานการถลุงเหล็ก เครื่องประดับ
ภาชนะดินเผาสีแดงหรือสีนวล มีลายเขียนสีแดง สมัยที่สอง มีอายุประมาณ
1,800-1,100 ปีมาแล้ว พบศพฝังอยู่ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่มีฝาปิด
สมัยที่สามเป็นสมัยประวัติศาสตร์ มีอายุอยู่ประมาณ 1,100-700 ปีมาแล้ว
โนนทุ่งผีโพน
อยู่ในเขตอำเภอบัวใหญ่ พบหลักฐานการต้มเกลือในสมัยเหล็ก ได้แก่ ตุ่มน้ำและเตาต้มเกลือ
อยู่ปนกับภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ และภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ
แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่อยู่ตามภูเขาได้แก่ภาพเขียนสีเขาจันทน์งาม
ที่บ้านเลิศสวัสดิ์ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว มีภาพเขียนด้วยสีแดงเป็นรูปคนและรูปสัตว์บนผนังหิน
สันนิษฐานว่า อายุประมาณ 4,500 ปี
ภายในถ้ำหินปูนในเขตตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง ได้แก่ ถ้ำเขาเทวรูปทรงธรรม
ถ้ำแสงอาทิตย์ ถ้ำคลองชะนี ถ้ำคลองเขาเดื่อ ถ้ำแก้วพงษ์ประสพ
ได้พบโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ
ลายขูดขีด เคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน
แหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
เมืองโบราณเสมา
อยู่ในเขตตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ
กว้างประมาณ 1,750 เมตร ยาวประมาณ 1,850 เมตร ตัวเมืองแบ่งออกเป็นสองบริเวณ
คือ เมืองนอกและเมืองใน บริเวณเมืองนอกมีพื้นที่ประมาณ 360 ไร่
เมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,150 ไร่ บริเวณเมืองนอกมีโบราณสถานก่ออิฐอยู่หลายหลัง
อยู่ในสภาพปรักหักพังอย่างมาก โบราณสถานเหล่านี้ล้อมรอบสระน้ำที่เรียกว่าบ่ออีกา
ซึ่งได้พบจารึกหลักหนึ่งเรียกว่า จารึกบ่ออีกา บริเวณเมืองนอกมีคูน้ำล้อมอยู่หนึ่งชั้น
และมีคันดินล้อมอยู่สองชั้น ส่วนบริเวณเมืองในมีคูน้ำ และคันดินล้อมรอบอยู่อย่างละหนึ่งชั้น
จากการขุดค้นสำรวจ ได้จัดลำดับการอยู่อาศัยของเมืองเสมาออกเป็นสามระยะ คือ
ระยะแรก อยู่ในสมัยทวาราวดี โบราณวัตถุที่พบได้แก่เศษภาชนะดินเผาแบบมีพวย
เบี้ยดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกกระสุนดินเผา ตราประทับมีลายรูปดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม
ชั้นดินในระยะนี้หนาประมาณ 3 เมตร
ระยะที่สอง อยู่ในสมัยทวาราวดี โบราณวัตถุที่พบอยู่ในวัฒนธรรมเขมร
ได้แก่เศษภาชนะดินเผา เศษภาชนะเครื่องเคลือบแบบเขมร ชั้นดินมีความหนาประมาณ
40 เซ็นติเมตร
ระยะที่สาม อยู่ในวัฒนธรรมเขมร โบราณวัตถุที่พบได้แก่เครื่องถ้วยเขมรแบบเคลือบสีน้ำตาล
และสีเขียว ภาชนะมีรูปทรงแบบไห แจกัน กระปุก ชั้นดินมีความหนาประมาณ
1.10 เมตร
จารึกบ่ออีกา
จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต และเขมร จารึกเมื่อปี พ.ศ.
1411 กล่าวถึงพระราชาแห่งศรีจนาศะ อุทิศปศุสัตว์ และทาสชายหญิง
แก่พระวิษณุ กล่าวสรรเสริญ พระศิวะ และอังศเทพผู้ได้รับดินแดนที่ถูกละทิ้งไปนอกกัมพุเทศ
จารึกศรีจนาศะ
พบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จารึกด้วยอักษรโบราณ ภาษาสันสกฤต
และเขมร จารึกเมื่อปี พ.ศ. 1480 กล่าวสรรเสริญ พระศิวะ กับ นางปารพตี
และรายพระนามพระราชาแห่งนาศปุระ
จากจารึกทั้งสองหลักนี้ ทำให้สันนิษฐานว่า เมืองเสมา คือ เมืองศรีจนาศะ
ในระยะแรกเป็นชุมชนในวัฒนธรรมทวาราวดี นับถือพุทธศาสนาและฮินดูในพุทธศตวรรษที่
15 ต่อมาได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร จึงถึงประมาณพุทธศตวรรษที่
18
วัดธรรมจักรเสมาราม
อยู่ทางทิศใต้ของเมืองเสมา มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่สมัยทวาราวดี
ใช้หินทรายขนาดใหญ่หลาย ๆ ก้อนมาประกอบกับเป็นองค์พระ ยาวประมาณ 13 เมตร สลักลวดลาย
ประดิษฐานอยู่ในอาคารที่ก่อด้วยอิฐ รูปสี่เหลี่ยมผื้นผ้า ขนาดกว้าง 6.50 เมตร
ยาว 26 เมตร แบ่งออกเป็นสองห้อง คือ ห้องที่ประดิษฐานองค์พระ และห้องที่อยู่ถัดมาทางทิศใต้องค์พระนอน
มีใบเสมาปักอยู่โดยรอบ
เมืองโบราณบ้านกงรถ
อยู่ในเขตตำบลกงรถ อำเภอห้วยแถลง เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่
12-16 แผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบกลม มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ
1 ชั้น ขนาดของเมืองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 550 เมตร
ในตัวเมืองมีโบราณสถานก่อด้วยอิฐแต่หักพังหมดแล้ว เคยพบธรรมจักรศิลปะทวาราวดี
เศียรพระพุทธรูป และหินบดยา
ใบเสมาบ้านหินตั้ง
|
อยู่ในเขตตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 มีจำนวน 5 ใบ แต่ละใบมีความสูงประมาณ 1.30-2.00 เมตร ใบเสมาทั้ง
5 ใบ เรียงตัวกันเป็นรูปส่วนโค้งของวงกลม
กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 8 ใบ แต่ละใบมีความสูง ประมาณ 1.50-2.50 เมตร ใบเสมาปักอยู่ในตำแหน่งทิศทั้งแปด
พื้นที่ภายในเป็นรูปแปดเหลี่ยมวงรี กว้าง 11 เมตร ยาว 16 เมตร ใบเสมากลุ่มนี้
สันนิษฐาน ว่าเป็นหินตั้งในวัฒนธรรมหินใหญ่ เพื่อกำหนดขอบเขต การทำสังฆกรรมของพระสงฆ์
ใบเสมาบ้านหินตั้งมีอยู่ประมาณพุพธศตวรรษที่ 12-16 |
ใบเสมาบ้านหนองไผ่
อยู่ในเขตตำบลจรเข้หิน อำเภอครบุรี ใบเสมาทำด้วยหินทราย ไม่มีลวดลาย
เซาะร่องผิวหน้าให้เป็นขอบ ปัจจุบันปักอยู่ทั้ง 6 ตำแหน่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
กว้าง 13 เมตร ยาว 23 เมตร ส่วนใหญ่เป็นใบเสมาคู่ สันนิษฐานว่า มีการปักทั้งหมดแปดทิศ
อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16
โบราณสถานสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
กู่ธารปราสาท
อยู่ที่บ้านธารปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง ชุมชนบ้านธารปราสาทมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ในสมัยทวาราวดี ชุมชนแห่งนี้นับถือพุทธศาสนา
และได้สร้างศาสนสถานแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพเป็นเนินดิน มีเศษอิฐและหินทรายกระจายอยู่ทั่วไป
จากการขุดสำรวจพบโบราณวัตถุสมัยทวาราวดี ได้แก่เศียรพระพุทธรูป และชิ้นส่วนลวดลายปูนปั้นประดับอาคาร
โบราณสถานสมัยเขมร
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-18
ในพื้นที่อีสานตอนล่าง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 วัฒนธรรมแบบทวาราวดี
และวัฒนธรรมแบบเขมร วัฒนธรรมแบบทวาราวดี แสดงออกในรูปของความเชื่อในพุทธศาสนา
ส่วนวัฒนธรรมแบบเขมร จะแสดงออกในรูปของความเชื่อในเทพเจ้าต่าง ๆ ของศาสนาฮินดู
ในพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่
2 รวมแคว้นเจนละบกและเจนละน้ำ เข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรเขมร
ตั้งเมืองหลวง และขยายอาณาเขตมายังอีสานตอนล่าง และบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
จึงปรากฏโบราณสถานแบบเขมรเป็นจำนวนมากในประเทศไทย มีรูปแบบผังเมืองอย่างเป็นระบบ
มีถนนและระบบชลประทาน ศาสนสถานสร้างขึ้นโดยความเชื่อในลัทธิเทวราช
ยกย่องกษัตริย์เป็นประดุจเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ช่วงนี้วัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรม
แบบทวาราวดี
โบราณสถานแบบวัฒนธรรมเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่
15
โบราณสถานมีลักษณะเป็นปราสาทสร้างด้วยอิฐหลังเดียว มีประตูเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว
ที่เหลืออีกสามด้านทำเป็นประตูหลอกเอาไว้ และมักมีการสร้างคูน้ำล้อมรอบปราสาท
โบราณสถานที่สำคัญได้แก่
ปราสาทโนนกู่
อยู่ที่บ้านกุดหิน ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เมื่อปี พ.ศ. 2479
ปราสาทเมืองแขก
อยู่ที่บ้านกุดหิน ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เมื่อปี พ.ศ. 2479
ปราสาทบ้านถนนหัก
อยู่ที่บ้านถนนหัก ตำบลไทยเจริญ อำเภอหนองบุนนาค ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เมื่อปี พ.ศ. 2479
โบราณสถานแบบวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่
16
โบราณสถานมีลักษณะแบบปราสาทหลังเดียว และปราสาทสามหลัง มักจะตั้งเรียงกันในแนวเหนือใต้บางแห่งตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
และบางแห่งอยู่บนฐานต่างกัน โบราณสถานที่สำคัญได้แก่
ปราสาทพนมวัน
อยู่ที่บ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ อำเภอเมือง
วัดปรางค์ (วัดกลาง) หรือวัดปรางค์ทอง
อยู่ที่บ้านพุดซา ตำบลพุดซา อำเภอสูงเนิน
ปราสาทหินพิมาย
อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิมาย
ปราสาทหินนาแค
อยู่ที่บ้านนาแค ตำบลนาแค อำเภอปักธงชัย
ปรางค์บ้านปรางค์
อยู่ที่บ้านปรางค์ ตำบลพลับพลา อำเภอโชคชัย
ปรางค์บ้านพะโค
ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย
ปรางค์บ้านสีดา
อยู่ที่บ้านสีดา ตำบลสีดา อำเภอบัวใหญ่
โบราณสถานทั้ง 8 แห่งนี้ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2479
ปราสาทบ้านหลุ่ง
อยู่ในตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ. 2537
โบราณสถานแบบวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่
17
|
โบราณสถานมีลักษณะเป็นแบบปราสาทสามหลัง และแบบปราสาท ห้าหลัง เรียงกันอยู่ในแนวเหนือใต้
และตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โบราณสถานที่สำคัญได้แก่
กู่บ้านกู่
อยู่ที่บ้านกู่ ตำบลกอนตะหนิน อำเภอบัวใหญ่ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
เมื่อปี พ.ศ. 2479
ปรางค์บ้านปรางค์
อยู่ที่บ้านปรางค์ ตำบลบ้านปรางค์ อำเภอคง ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ.2479
ปราสาทสระหิน
อยู่ที่บ้านตะคุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี
พ.ศ.
2525 |
โบราณสถานวัฒนธรรมเขมร
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ อโรคยาศาล
หรือโรงพยาบาลในสมัยนั้น มีอยู่ 6 แห่ง ธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง
1 แห่ง ท่าน้ำโบราณ 1 แห่ง วัสดุที่นิยมใช้ในการก่อสร้างคือ ศิลาแลง
แผนผังของอโรคยาศาล จะมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
มีบรรณาลัย อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน
หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ
และมีประตูซุ้มโคปุระทางทิศตะวันออก
นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีสระน้ำ อโรคยาศาลที่สำคัญ และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2479 ได้แก่
ปราสาทนางรำ
อยู่ที่บ้านนางรำ ตำบลนางรำ อำเภอประทาย
ปรางค์ครบุรี
อยู่ที่บ้านครบุรี ตำบลครบุรีใต้ อำเภอครบุรี
กุฏิฤษี
อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิมาย
ปราสาทเมืองเก่า
อยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน
ปราสาทบ้านปราสาท
อยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง
ปรางค์พลสงคราม
อยู่ที่บ้านพลสงคราม ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง
ธรรมศาลา
มีแผนผังการสร้างโดยมีปราสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ที่ผนังด้านใต้เจาะเป็นช่องหน้าต่าง
มีลักษณะเป็นอาคารโดด มีอยู่เพียง 1 แห่ง อยู่ในเขตบ้านกู่โกสีย์
ตำบลหรุ่งประดู่ อำเภอพิมาย
ท่าน้ำโบราณหรือท่านางสระผม
อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอพิมาย
บาราย
หรืออ่างเก็บน้ำ เป็นการจัดระบบการชลประทานของวัฒนธรรมเขมร คำว่าบารายมาจากภาษาสันสกฤต
หมายถึงมูลดินขวางกั้น มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่
มีคันดินเป็นขอบอยู่ด้านบนใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา
มีบารายที่ใหญ่ที่สุดคือ บารายที่อยู่บริเวณด้านทิศเหนือก่อนถึงปราสาทพนมวัน
มีขนาดกว้าง 550 เมตร ยาว 1,800 เมตร และที่อำเภอพิมายด้านทิศใต้มีบารายอยู่ใกล้โบราณสถานท่านางสระผม
มีขนาดกว้าง 770 เมตร ยาว 1,400 เมตร
หลักหินโบราณ อำเภอสีคิ้ว
มีจำนวนทั้งสิ้น 17 หลัก อยู่ในตำบลสีคิ้วสองหลัก ตำบลกฤษณาห้าหลัก
ตำบลสำโรงใหญ่สองหลัก ตำบลกุดน้อยสามหลัก และตำบลบ้านหันห้าหลัก ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด
ทำจากหินทราย มีลักษณะผิวเกลี้ยง ทรงแท่งสี่เหลี่ยมจตุรัส ยอดมนแหลม
ขนาดกว้าง-ยาว ด้านละ 50 เซนติเมตร ปักสูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร
บริเวณใกล้เคียงหลักหิน พบโบราณสถานในศาสนาฮินดู สร้างด้วยศิลาแลง และหินทราย
ศิลปะเขมร มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 16-17 อยู่หนึ่งแห่ง คือ
ปราสาทบ้านหัวสระ ดังนั้นหลักหินดังกล่าวนี้อาจเป็นหลักเขตของศาสนสถาน
โบราณสถานในช่วงพุทธศตวรรษที่
19
โบราณสถานในสมัยนี้จะมีลักษณะของศิลปะพื้นบ้านลาวผสมกับศิลปะเขมร เนื่องจากได้มีชาวลาวอพยพเข้ามา
ตั้งชุมชนอยู่บริเวณอีสานตอนล่าง และได้นำเอารูปแบบศิลปะพื้นบ้านลาวมาด้วย
ในขณะที่อาณาจักรเขมรเริ่มเสื่อมอำนาจลง และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21
สถาปัตยกรรมลาวได้เข้ามาแทนที่อย่างกว้างขวาง มีรูปแบบเป็นพระธาตุ หรือเจดีย์แทนปราสาทหรือปรางค์อย่างเขมร
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|