มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์
ชุมชนโบราณในเขตจังหวัดน่าน
จากภาพถ่ายทางอากาศได้พบร่องรอยของชุมชนโบราณในเขตจังหวัดน่านประมาณ ๑๕ แห่ง
ชุมชนโบราณเมืองน่าน ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเวียง อำเภอเมือง ฯ เป็นบริเวณที่ตั้งศาสนสถานหลายแห่งที่สำคัญ
ได้แก่ วัดช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งมีเจดีย์เป็นแบบพุ่มข้าวบิณฑ์ของสุโขทัย และเจดีย์รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาในพุทธศตวรรษที่
๒๑ ที่วัดหัวข่วง วัดภูมินทร์ และวัดพญาวัด เป็นต้น โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ
ส่วนใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรแล้ว
ชุมชนโบราณเมืองปัว
ตั้งอยู่ที่บ้านปัว ตำบลปัว อำเภอปัว มีลักษณะพื้นที่เป็นรูปยาวรี มีคูเมืองชั้นเดียว
ร่องรอยของคูน้ำคันดินของกำแพงเมือง อยู่บริเวณวัดพระธาตุเป็งสกัด ภายในวัดพระธาตุเป็งสกัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ
เจดีย์ และวิหารทรงพื้นเมืองที่มีการตบแต่งซุ้มประตูเป็นศิลปะแบบล้านช้าง
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
ชุมชนโบราณบ้านสวนดอก
อยู่ที่บ้านสวนดอก ตำบลปัว อำเภอปัว ลักษณะพื้นที่เป็นรูปกลมมน พบร่องรอยคูน้ำคันดินเพียงชั้นเดียว
แต่บางช่วงไม่ชัดเจน ลักษณะของชุมชนอยู่บนที่ดอนสูง และลาดต่ำไปทางด้านทิศเหนือ
และที่ด้านนี้ปรากฏแนวร่องน้ำใหญ่ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สูงอีกฝั่งหนึ่ง
ชุมชนโบราณบ้านศาลา
อยู่ที่บ้านศาลา ตำบลศิลาแดง อำเภอปัว ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างกลม พบร่องรอยคูน้ำคันดินชั้นเดียว
ได้พบโบราณสถานวัดน่าน ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของชุมชนแห่งนี้ อาจแสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชน
และจากการพบพระพุทธรูปเนื้อโลหะ ที่มีจารึกที่ฐานด้วยอักษรไทยฝักขามเป็นศิลปะล้านนา
อยู่ระหว่างครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ชุมชนโบราณวัดพระธาตุแช่แห้ง
อยู่ที่บ้านหนองเตา ตำบลม่วงติ๊ด กิ่งอำเภอภูเพียง ลักษณะพื้นที่เป็นรูปยาวรีตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ
กับตะวันตกเฉียงใต้ ร่องรอยของคูน้ำกับดินคงเหลืออยู่บางตอนที่เห็นได้ชัดคือ
บริเวณด้านทิศเหนือ และด้านทิศใต้ ซึ่งมีลักษณะโอบล้อมบริเวณวัดไว้
วัดพระธาตุแช่แห้งวรวิหาร
เป็นโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานที่สำคัญของชุมชนโบราณแห่งนี้ ภายในวัดมีสิ่งสำคัญเช่น
องค์พระธาตุแช่แห้ง วิหารวัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาอย่างแท้จริง
ชุมชนโบราณบ้านมหาโพธิ
อยู่ที่บ้านมหาโพธิ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง ฯ ลักษณะพื้นที่เป็นรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยม
มีลำน้ำน่านเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันออก มีแนวคูน้ำคันดินชั้นเดียว หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณคูเมืองด้านทิศเหนือ
และทิศใต้ บริเวณบ้านมหาโพธิติดกับบ้านหัวเวียงเหนือ ในบริเวณดังกล่าวมีวัดมหาโพธิ
เป็นวัดเก่าแก่อยู่ในช่วงเดียวกัน สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๖๒
ชุมชนโบราณบ้านป่าแหว
(บ้านเวียงสอง) อยู่ที่บ้านเวียงสอง ตำบลแลว อำเภอทุ่งช้าง ลักษณะพื้นที่เป็นรูปยาวรี
พบร่องรอยคูเมืองที่ซับซ้อนไม่แน่นอน คูเมืองบางช่วงปรากฏมีคูน้ำคันดินชั้นเดียว
แต่บางช่วงปรากฏว่ามี ๒ ชั้น ด้านเหนืออาศัยแนวร่องน้ำธรรมชาติ สำหรับสภาพคูน้ำคันดินที่พบ
ปัจจุบันจะพบบริเวณทิศตะวันออกและทิศใต้ของหมู่บ้าน
ชุมชนโบราณบ้านน้ำคา
อยู่ที่บ้านน้ำคา ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง เป็นชุมชนที่มีแบบแผนไม่แน่นอน
คูเมืองทางด้านทิศเหนือใช้ทางน้ำธรรมชาติที่ไหลไปบรรจบแม่น้ำน่าน เป็นคูน้ำคันดินชั้นเดียว
ปัจจุบันยังมีน้ำขังอยู่ตลอดปี ส่วนคันดินมีต้นไม้ปกคลุมตลอดแนว บริเวณชุมชนโบราณบางส่วนพื้นที่เป็นที่ลุ่มดอน
บางบริเวณเป็นบ่อน้ำเล็ก ๆ สภาพทั่วไปเป็นป่ารก
ชุมชนโบราณบ้านพร้าวหรือบ้านเดินธารา
อยู่ที่บ้านพร้าว หรือบ้านสร้อยพร้าว ตำบลเชียงกลาง เป็นชุมชนที่มีแบบแผนไม่แน่นอน
ลักษณะพื้นที่ยาวขนานไปตามรอยต่อระหว่างที่ราบต่ำกับที่ดอนสูง ในแนวทิศตะวันออก
กับตะวันตก เป็นคูน้ำคันดินชั้นเดียว แนวคันดินทางด้านทิศใต้ จะวางตัวตามแนวยาวไปทางด้านทิศตะวันออก
แล้ววกขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ แล้วไปสิ้นสุดที่บริเวณผาชัน ส่วนคูน้ำทางด้านทิศตะวันตก
จะทอดยาวไปยังที่ราบต่ำซึ่งเป็นทุ่งนา ด้านทิศเหนือของชุมชนโบราณเป็นผาสูงมองลงไปเป็นที่ราบต่ำใหญ่
ชุมชนโบราณบริเวณพระธาตุจอมพริก
อยู่ในเขตวัดพระธาตุจอมพริก ตำบลยม อำเภอท่าวังผา ร่องรอยของคูเมืองมีความซับซ้อน
บางส่วนมีสองชั้น แต่บางส่วนมีชั้นเดียว ทิศเหนือติดที่ราบต่ำด้านเหนือเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุจอมพริก
ชุมชนโบราณบ้านผึ่ง
อยู่ที่บ้านต้นผึ่ง ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข ลักษณะมีความซับซ้อน เนื่องจากแนวคูน้ำคันดินจะทำเป็นวงโค้งเหลื่อมซ้อนกัน
ดูคล้ายกับว่ามีการสร้างและตั้งหลักแหล่งกันมานานหลายยุคหลายสมัย สภาพปัจจุบันตามแนวคูน้ำคันดิน
และพื้นที่โดยรอบเป็นป่ารกชัฏ
ชุมชนโบราณบ้านป่าแลว
อยู่ที่บ้านอภัยคีรี ตำบลแลงหลวง อำเภอสันติสุข ร่องรอยของคูน้ำคันดินยังปรากฏอยู่ชัดเจน
พื้นที่ภายในชุมชนโบราณส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี
ชุมชนโบราณบ้านดอยทุ่งกวาง
อยู่ที่บ้านดอยทุ่งกวาง ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข ลักษณะพื้นที่เป็นรูปทรงค่อนข้างกลม
ร่องรอยของคูน้ำคันดินอยู่ทางด้านทิศเหนือของชุมชนโบราณ
ชุมชนโบราณบ้านคือเวียง
อยู่ที่บ้านคือเวียง ตำบลส้าน อำเภอเวียงสา ลักษณะพื้นที่เป็นรูปรียาว แนวคูน้ำคันดินที่พบร่องรอยอยู่ทางด้านทิศใต้
ซึ่งเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
รูปปั้นอนุสาวรีย์
อนุสาวรีย์พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ฯ
อนุสาวรีย์ ฯ ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าหอคำ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) หล่อด้วยโลหะสำริดขนาดเท่าองค์จริง
นับเป็นเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านที่มีความโดดเด่นในการบริหารบ้านเมือง
ประกอบคุณงามความดีแก่ราชการ มีอัธยาศัยเป็นที่รักใคร่นับถือของทุกฝ่าย
และที่สำคัญคือมีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านภัยคุกคาม จากจักรวรรดิ์นิยมตะวันตกที่พยายามเข้ายึดครองภูมิภาคนี้
ในวันที่ ๕ เมษายนของทุกปี ทางจังหวัดน่านพร้อมด้วยประชาชนทุกหมู่เหล่า และเชื้อสกุลของพระองค์
จะร่วมทำพิธีสักการะ ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์
อนุสาวรีย์วีรกรรม
พลเรือน ตำรวจ ทหารทุ่งช้าง
อนุสาวรีย์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอทุ่งช้าง ทางตอนเหนือของจังหวัดน่าน ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ
๙๐ กิโลเมตร เป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อสดุดีวีรกรรมของ พลเรือน ตำรวจ
ทหาร ที่ได้สละชีวิตร่วมกันต่อสู้เพื่อป้องกันรักษาราชอาณาจักรไทยในเขตอำเภอทุ่งช้าง
จากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า
ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
ตัวอนุสาวรีย์ตั้งอยู่บนเนินมองเห็นเด่นแต่ไกล เป็นรูปปั้น พลเรือน ตำรวจ
ทหาร กำลังช่วยกันปักธงชาติไทยบริเวณใกล้ ๆ กับอนุสาวรีย์มีพิพิธภัณฑ์ แสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
ที่ทางราชการยึดมาได้
|