จังหวัดปทุมธานี
จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๒๐ ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณ ๙๕๐,๐๐๐ ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒๘ กิโลเมตร
มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กับอำเภอหนองแค และอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก กับอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กับเขตดอนเมืองและเขตบางเขน
กรุงเทพ ฯ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับอำเภอไทรน้อย
จังหวัดนนทบุรี
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สูงประมาณ ๒.๓๐ เมตร
จากระดับน้ำทะเล มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านพื้นที่ส่วนกลางของจังหวัด ทำให้พื้นที่จังหวัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พื้นที่ของอำเภอเมือง ฯ
บางส่วน พื้นที่ของอำเภอลาดหลุมแก้วทั้งหมด และพื้นที่ของอำเภอสามโคกบางส่วน
พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง
ฯ พื้นที่บางส่วนของอำเภอสามโคก พื้นที่ทั้งหมดของอำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง
อำเภอลำลูกกา และอำเภอหนองเสือ
ปกติในช่วงฤดูฝน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ ๕๐
เซนติเมตร ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เป็นบริเวณกว้าง และก่อให้เกิดปัญหาด้านอุทกภัยในบางปี โดยเฉพาะฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา
ส่วนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา จะประสบปัญหาเฉพาะ บริเวณที่อยู่ตามชายฝั่งแม่น้ำเท่านั้น
พื้นที่ภายในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ดินเป็นดินเหนียวจัดมีสภาพเป็นกรดปานกลางถึงเป็นกรดจัด
สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มดินนาดีมีอยู่ประมาณร้อยละ ๓๐
และกลุ่มดินนาที่มีสภาพเป็นกรดจัดประมาณร้อยละ ๗๐
เนื่องจากดินเป็นดินเหนียวทำให้ระบายน้ำได้ไม่ดี การไหลบ่าของน้ำบนผิวดินช้า
ทำให้การปลูกพืชไร่ และข้าวได้ผลผลิตต่ำ ต้องมีการปรับปรุงดิน โดยใช้ปูนขาวหรือปูนมาร์ล
ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อให้การเพาะปลูกได้ผลดี
แหล่งน้ำ
จังหวัดปทุมธานี มีแหล่งน้ำสำคัญที่เป็นแหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน
โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำผิวดินที่สำคัญของจังหวัด เฉพาะช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเมือง
ฯ มีความยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีคลองอีกประมาณ ๘๔ คลอง รวมความยาวประมาณ
๑,๐๖๐ กิโลเมตร แบ่งเป็น
คลองชลประทาน
มี ๒๙ คลอง เป็นคลองระบายน้ำ ๑๓ คลอง คลองส่งน้ำ ๙ คลอง และคลองอื่น ๆ อีก
๗ คลอง คลองเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ ๖๘๓,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณร้อยละ
๗๒ ของพื้นที่ทั้งหมด
ระบบชลประทานจะส่งผ่านคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นคลองชลประทานเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา
กับแม่น้ำนครนายก คลองพระอุดม และคลองซอยอีก ๑๓ สาย ในเขตอำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง
อำเภอลำลูกกา และอำเภอหนองเสือ
คลองธรรมชาติ
ในเขตจังหวัดปทุมธานีมีอยู่ ๕๕ คลอง รวมความยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง
ๆ เช่น คลองบางโพธิใต้ คลองบางหลวง คลองบางปะกอก คลองเชียงราก คลองเจ้าเมือง
คลองบางโพธิเหนือ คลองบางเตย คลองหวาย คลองสระ คลองเชียงรากน้อย คลองเปรมประชากร
ฯลฯ
สำหรับแหล่งน้ำใต้ดินในเขตจังหวัดปทุมธานี มีอยู่สองประเภทคือ แหล่งน้ำใต้ดินให้ปริมาณน้ำน้อย
น้ำมีคุณภาพดี แต่บางพื้นที่เป็นน้ำกร่อย มีตะกอนสนิมเจือปน พบในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว
อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา แหล่งน้ำใต้ดินมีปริมาณมาก น้ำมีคุณภาพดี พบในพื้นที่อำเภอสามโคก
อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี และอำเภอเมือง ฯ
จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า ในที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างรวมถึงบริเวณชายฝั่งทะเล
มีตะกอนทับถมจนเกิดเป็นชั้น ประกอบด้วยชั้นกรวดทราย และแทรกสลับด้วยดินเหนียว
ในระดับความลึกประมาณ ๖๕๐ เมตร ตะกอนเหล่านี้แบ่งออกเป็น ๘ ชั้น ตามลำดับคือ
ชั้นน้ำกรุงเทพ ฯ ชั้นน้ำพระประแดง ชั้นน้ำนครหลวง ชั้นน้ำสามโคก ชั้นน้ำพญาไท
ชั้นน้ำธัญบุรี และชั้นน้ำปากน้ำ แต่ละชั้นแยกจากกันโดยดินเหนียวกันอยู่ ชั้นน้ำสามโคกอยู่ในระดับความลึก
๓๐๐ เมตร ชั้นน้ำธัญบุรีอยู่ในระดับความลึก ๔๕๐ เมตร
|