มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถานและศาสนวัตถุ
วัดท้ายเกาะใหญ่
อยู่ในตำบลท้ายเกาะ อำเภอสามโคก มีเจดีย์ทรงรามัญแบบชะเวดากอง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดปทุมธานี
เป็นเจดีย์ก่ออิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว เป็นทรงระฆังแบบมอญฐานแปดเหลี่ยม
ตั้งอยู่บนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่สองชั้น ตอนบนฐานปัทม์มีเจดีย์เล็กสี่องค์
ทรงเดียวกับเจดีย์ประธาน ส่วนยอดเป็นฉัตรทำด้วยทองเหลือง
ตามประวัติที่ปรากฎบนฐานเจดีย์ดังกล่าว สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๖ โดยชาวมอญได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในขณะนั้น
นอกจากเจดีย์ดังกล่าวแล้ว ที่วัดนี้ยังมีธรรมาสน์บุษบกศิลปะรัตนโกสินทร์ กุฎิทรงไทย
ตาลปัตรพัดยศ ปิ่นโต สังเค็ด ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้
วัดท้ายเกาะใหญ่ ยังเคยเป็นที่ประทับแรมระหว่างการเสด็จประพาสต้น ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดสิงห์
อยู่ในตำบลสามโคก อำเภอสามโคก เป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่า
น่าจะเป็นวัดตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่หน้าโบสถ์ วิหารน้อยฐานแอ่นท้องสำเภาไม่ทำช่องหน้าต่าง
แต่ก่ออิฐเป็นช่องแสงเข้า ด้านหลังก่อผนังทึบแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานบนฐานชุกชีลงรักปิดทอง ด้านหลังมีพระอันดับ
ด้านหน้ามีพระโมคลานะ และพระสารีบุตร ยืนประนมมือ
วิหารโถง (ศาลาดิน) เป็นอาคารไม้ทรงไทย หน้าบันเป็นรูปหน้าพรหม มุงกระเบื้องกาบู
เพดานภายในประดับด้วยดาวเพดาน ล้อมกรอบด้วยสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
ซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานหลวงพ่อโต ด้านหลังมีจิตรกรรมภาพพระพุทธเจ้าประทับยืน
ท่ามกลางพระสาวก
นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ชื่อ หลวงพ่อเพชร
นับเป็นศิลปะสมัยอยุธยาที่สวยงาม อยู่แห่งเดียวในจังหวัดปทุมธานี
วัดบัวขวัญ
อยู่ในตำบลลาดหลุมแก้ว มีพลับพลาแรกนาขวัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาทำด้วยแผ่นไม้สัก ทาสีแดงจึงเรียกว่า พลับพลาสีแดง
พลับพลาหงส์เดิมอยู่ที่ทุ่งพญาไท นายพลตรีพระอุดมโยคธิยุทธได้ขอมาสร้างไว้ที่วัดบัวขวัญ
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นศาลาทรงเตี้ยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคามรงจั่วซ้อนกันสองชั้น
ตรงจั่วมีไม้ประกบ มีปีกนกยื่นทั้งสี่ด้าน มีลูกไม้ระแนงตีเป็นลายสี่เหลี่ยมโดยรอบ
ทางขึ้นลงมีทางเดียวอยู่ทางด้านขวามือ
วัดมูลจินดาราม
อยู่ในตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี มีโบสถ์และเจดีย์ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดนี้สร้างโดยความศรัทธาของชาวเยอรมัน ซึ่งมาเป็นผู้จัดการในการขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองรังสิต
กับเมืองนครนายก เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมและการชลประทาน ผู้สร้างวัดเห็นว่าพวกคนงานมีความลำบากในการไปทำบุญ
และประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดซึ่งห่างไกลที่พักคนงาน จึงได้ขออนุญาตสร้างวัดนี้ขึ้นซึ่งตั้งอยู่ริมคลองรังสิต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดนี้ว่า วัดมูลจินดาราม
เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของผู้มีจิตศรัทธาสร้าง ผู้มีชื่อว่า นายมูลเลอร์
และนางจีน ผู้เป็นภรรยา
วัดบางหลวง
อยู่ในตำบลบางหลวง อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวง สร้างในสมัยอยุธยา มีเจดีย์มอญ
พระอุโบสถหลังเก่าเป็นอาคารทรงไทยโบราณ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๑
ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม แต่เนื่องจากมีอายุเก่าแก่และถูกน้ำฝนทำให้ภาพเลอะเลือนไม่ชัดเจน
วัดเจดีย์ทอง
ตั้งอยู่ในตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก มีเจดีย์ทรงรามัญแบบเจดีย์อนันทะ ที่เจดีย์มีมุขสี่ด้านประดิษฐานพระพุทธรูป
และเจดีย์ทรงปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบ เสาหงส์ ธงตะขาบ ธรรมาสน์บุษบก
หอสวดมนต์
วัดจันทน์กระพ้อ
อยู่ในตำบลบางเตย อำเภอสามโคก มีฐานะเป็นพระอารามหลวง บริเวณวัดมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
สมัยรัตนโกสินทร์ เสาหงส์ ธงตะขาบ กุฎิเรือนไทย วังมัจฉา พระอุโบสถหินอ่อน
จิตรกรรมฝาผนังสมัยใหม่ และหอวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ที่จัดแสดงโบราณวัตถุของท้องถิ่น
วัดสะแก
อยู่ในตำบลสามโคก มีโบสถ์เก่าสมัยอยุธยาอายุประมาณ ๔๐๐ ปี ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้นสี่องค์
หันด้านหลังชนกัน มีหอระฆังจตุรมุข หน้าบันของแต่ละมุขประดับด้วยเครื่องถ้วยจีนแบบลายคราม
มีกุฎิเรือนไทยสี่ห้อง เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์ทรงลังกา เจดีย์จีนเรียกว่า
ถะ และพระประธานเป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา
|