มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
โบราณสถานในจังหวัดปทุมธานี ส่วนใหญ่เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ซึ่งตั้งกระจัดกระจายอยู่ตลอด
พื้นที่สองฟากฝั่งแม่นำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังพบแหล่งโบราณคดีเตาเผาโบราณในเขตอำเภอสามโคกหลายแห่ง
และยังพบโบราณวัตถุในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นถ้วยชาม และเครื่องใช้ประเภทโลหะเป็นต้น
แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์
ทุ่งพญาเมือง
ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลบ้านงิ้ว ติดต่อตำบลเชียงรากใหญ่อำเภอสามโคก
ในทุ่งดังกล่าวมีเมืองโบราณ และมีวัดสำคัญอยู่ในเมืองคือ วัดพญาเมือง เป็นวัดร้าง
ปัจจุบันน้ำในแม้น้ำเจ้าพระยาเซาะตลิ่งพัง ตัววัดโค่นลงไปในแม่น้ำ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่
ทำด้วยศิลาทราย สกุลช่างสมัยอู่ทองได้เก็บรักษาไว้ที่วัดสองพี่น้อง
รอบเมืองโบราณ มีกำแพงล้อมรอบ นอกกำแพงเมืองมีคูน้ำกว้าง ๑๐ วา ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ภายในกำแพงเมืองยังแบ่งออกเป็นเขต ส่วนใจกลางเมืองมีกำแพงด้านใน และมีคูน้ำกว้าง
๑๐ วา ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง กำแพงทั้งชั้นนอกและชั้นในเป็นกำแพงดิน กว้างประมาณ
๑๐ วา
ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามแนวลำน้ำเจ้าพระยา คูเมืองเริ่มจากทิศใต้
เหนือบ้านปทุมธานีขึ้นไปเรียกว่าคลองคู (คูเมือง) จรดกับคลองคูเมืองด้านวังมาเชื่อมต่อ
ห่างจากวัดศาลาแดงไปทางทิศเหนือเล็กน้อย กำแพงเมืองแต่ก่อนสูงท่วมหัว เมื่อเข้าไปยืนใกล้
ๆ จะสูงคอตั้งบ่า แต่ปัจจุบันได้ทลายลงมาก จนบางส่วนดูไม่ออกว่าเป็นกำแพงเมือง
ภายในบริเวณเมืองโบราณมีวัดเท่าที่ปรากฎอยู่ปัจจุบัน มีอยู่สิบวัด มีโคกช้างใหญ่
โคกช้างน้อย โคกประชุมพล สวนพุทรา แบบที่มีอยู่ในบริเวณพระราชวังโบราณ พระนครศรีอยุธยา
มีหอพระยารัษฎากร กระไดหก อยู่ใกล้เหมืองซึ่งเป็นสถานที่ส่งส่วย มีคลองแแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปเชื่อมต่อกับสระโมส
สระลงเรือ และสระใหญ่ในพื้นที่ ๕ ไร่ แล้วไปเชื่อมกับเหมืองซึ่งมีพื้นที่ประมาณ
๕ ไร่ เช่นกัน
ทางทิศตะวันตกของสระใหญ่มีโคกเรียกว่า สนามตะกร้อ มาแต่โบราณ ด้านทิศเหนือมีโคกอยู่
๑๗ โคก ในพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่ ปัจจุบันโคกเหล่า นี้ถูกไถปรับพื้นที่ราบไปหมดแล้ว
ภายในเมืองโบราณยังไม่ได้มีการสำรวจให้ละเอียดอย่างจริงจัง จากการที่มีผู้สำรวจเบื้องต้นได้สันนิษฐานน่าจะเป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัยหรือต้นสมัยอยุธยา
เพราะลักษณะการวางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายกัน
พื้นที่เมืองโบราณมีขนาดหลายร้อยไร่ มีผู้บุกรุกเข้าไปจับจองทำมาหากิน มีการออกโฉนดกันมากแล้ว
เมืองโบราณแห่งนี้ อาจเป็นเมืองสามโคกที่ร้างไปก็ได้ พระบริหารเทพธานี (เฉลิม
กาญจนาคม) ผู้เป็นเจ้าเมืองปทุมธานี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๑ ได้กล่าวไว้ว่า
"เมืองสามโคก เดิมอยู่ปากคลองบ้านพร้าว ตำบลบ้านงิ้ว ที่วัดพญาเมือง (ร้าง)"
คำกล่าวนี้ใกล้เคียงกับโคลงกำสรวลศรีปราชญ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๕ เมื่อศรีปราชญ์ได้นั่งเรือมาถึงวัดพญาเมือง
ซึ่งขณะนั้นก็เป็นเมืองร้างไปแล้ว มีความตอนหนึ่งว่า
จากมาเรือร่อนท้ง
พญาเมือง |
เมืองเปล่าปลิวใจหาย
น่าน้อง |
เมื่อดูจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นเมืองโบราณได้ชัดเจน
โคกยายมั่น
เป็นชุมชนโบราณอยู่ในตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก ลักษณะเป็นเนินดินสลับกับป่าละเมาะ
มีลำคลองไหลผ่านสองสายคือ คลองใหญ่และคลองเกลือ มีวัดมหาหิงสาราม (ร้าง) วัดคงคาราม
(วัดโบสถ์) วัดเชิงท่า เป็นวัดสำคัญ
จากการปรับพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก ชาวบ้านได้พบเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมาก
อาจเทียบเคียงกับภาชนะที่พบบริเวณเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี และถ้วยชามสังคโลกที่พบในจังหวัดสุโขทัย
นอกจากนั้นยังพบเครื่องถ้วยลายคราม สมัยราชวงศ์เหม็ง ปะปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ
ลูกกระพรวนสำริด ปลอกโลหะสำริดและเสาตะกั่ว เงินพดด้วง สมัยสุโขทัย ทำด้วยเงิน
มีตราช้าง สังข์ เงินขุน ทำด้วยโลหะเนื้อชินมีขนาดใหญ่
หลักฐานทางโบราณวัตถุที่พบกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณโคกยายมั่น ยังมีส่วนสัมพันธ์
จากโบราณสถานที่พบในวัดมหิงสาราม เช่น ซากโบสถ์ที่ก่อผนังอิฐทึบตามแบบที่พบในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ซากเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่วัดเชิงท่า และเคยมีผู้พบพระพิมพ์ดินเผาอย่างที่เรียกว่า
พระโคนสมอ เป็นจำนวนมาก
โคกยายมั่น นับเป็นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
คลองวัดเตร็จใหญ่
เป็นคลองขุดเพื่อย่นระยะทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ในสมัยอยุธยา ตั้งแต่ท้ายบ้านสามโคก หน้าวัดไก่เตี้ย แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่หน้าวัดศาลเจ้า
ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตื้นเขินขึ้น
เรียกว่า แม่น้ำอ้อม
ในปัจจุบัน
ตำบลสวนพริกไทย
อยู่ในอำเภอเมือง ฯ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณริมแม่น้ำอ้อม ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
มีการทำสวนพริกไทยเพื่อส่งหลวง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อพยพผู้คนที่นำมาจากเมืองปัตตานี
มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใต้วัดสร้อยทอง (วัดเสด็จ) บริเวณแม่น้ำอ้อม เรียกกันว่า
บ้านแขก
มีอาชีพทำสวนพริกไทย
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฎ
พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหาโยธา ยกทัพไปปราบจนสงบราบคาบแล้ว จึงได้นำครอบครัวลาวมากรุงเทพ
ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนที่เมืองปทุม ใกล้วัดสร้อยทองเรียกว่า
บ้านลาว
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนผู้คนในย่านดังกล่าว
และประทับอยู่ที่วัดสร้อยทอง เมื่อเวลาล่วงมาท้องถิ่นนี้ กลายเป็นชุมชนหนาแน่นขึ้น
ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นตำบล ให้ชื่อว่าตำบลสวนพริกไทย และวัดสร้อยทองได้เปลี่ยนชื่อเป็น
วัดเสด็จ
บ้านกระแชง
เป็นชื่อตำบลอยู่ในอำเภอเมือง ฯ เรียกว่า ตำบลบ้านกระแซง เดิมเรียกว่า บ้านกระแชงไทย
ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับบ้านกระแชงมอญ ซึ่งต่อมาเป็นตำบลกระแชง ในอำเภอสามโคก
ซึ่งมีพื้นที่ตรงกันแต่อยู่คนละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งซ้ายของแม่น้ำบริเวณวัดสำแล
เป็นบ้านกระแชงไทย ส่วนฝั่งขวาของแม่น้ำบริเวณวัดไก่เตี้ย เป็นบ้านกระแชงมอญ
ในอดีตบริเวณนี้มีตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดของเมืองปทุมธานี เรียกว่า ตลาดน้ำบ้านกระแชง
คลองพระยาโบราณราชธานินทร์
เป็นคลองที่ขุดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อครั้งมีการย้ายเมืองปทุมธานีจากโคกชะพลู มายังบริเวณตำบลบางปรอก
อำเภอเมือง ฯ โดยมีพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อุปราชภาคอยุธยาขณะนั้น
เป็นผู้บัญชาการก่อสร้างที่ทำการและเรือนจำแห่งใหม่ และยังโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางการติดต่อสัญจร
และใช้อุปโภคและบริโภค
คลองมีความกว้างประมาณ ๑๐ เมตร เริ่มขุดแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดโสการาม
ด้านใต้ แล้วอ้อมขึ้นไปทางทิศเหนือไปบรรจบกับคลองบางปรอก แล้วไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดหงส์
แนวทางของคลองเป็นรูปโค้งเหมือนพระจันทร์เสี้ยว ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกว่า คลองวัดโส
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ เทศบาลจังหวัดปทุมธานี ได้ถมคลองสายนี้และปรับปรุงเป็นถนน
หลุมหลบภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม
อยู่ในซอยสามัคคีแปดพัน ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง ฯ เป็นหลุมหลบภัยในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ทางการทหารได้มาตั้งค่ายทหารสื่อสารที่วัดเทียนถวาย ซึ่งในสมัยนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นป่าอยู่
กองทัพบกได้สร้างบ้านพัก และหลุมหลบภัยในบริเวณป่าใกล้วัด หลุมหลบภัยสร้างด้วยคอนกรีต
มีส่วนประกอบคือ มีที่กำบังระเบิดและตัวอุโมงค์หลบภัยสองปีก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก
ทึบปลายตัดขนาบสองข้างอุโบสถ ตัวอุโมงค์เป็นรูปหลังเต่า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
๖ เมตร ตรงยอดมีปล่องระบายอากาศขนาด ๑ ฟุต มีทางเข้าสองทางกว้างประมาณ ๑ เมตร
จุคนได้ประมาณ ๑๕ คน
สถานที่สำคัญ
ของคู่บ้านเมือง อนุสาวรีย์
ย่านประวัติศาสตร์
ได้แก่ บริเวณพื้นที่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลบางปรอก อำเภอเมือง
ฯ บริเวณนี้แต่เดิมเป็นสระบัวไม่มีถนนตัดผ่าน มีอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ได้แก่
ศาลากลางจังหวัด (หลังเดิม) ที่ว่าการอำเภอเมือง ฯ (หลังเดิม) ศาลจังหวัด
(หลังเดิม) จวนผู้ว่าราชการจังหวัดและแพขาว
ศาลากลางจังหวัด (หลังเดิม)
เป็นอาคารขนาดใหญ่ชั้นเดียวก่ออิฐถือปูนเสริมเหล็ก หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าว
(สามเหลี่ยม) เชิงชายทำเป็นลายฉลุโปร่งมีมุขหน้า อันเป็นสถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หน้าจั่วมีรูปครุฑ พื้นไม้สัก ยกพื้นสูงประมาณ ๑.๗๕ เมตร
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ และได้มีการบูรณะครั้งใหญ่
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘
ศาลจังหวัด
(หลังเดิม) เป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบได้อย่างกลมกลืนกับอาคารศาลากลางจังหวัด
และเป็นอาคารร่วมสมัยเดียวกัน
จวนผู้ว่าราชการจังหวัด
สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารชั้นเดียวได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก
เดิมใช้เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เสนาบดี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ส่วนหน้าของจวนออกแบบให้เป็นห้องโถงใหญ่ ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ใช้เป็นที่รับรองบุคคลสำคัญ
ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงบางส่วน เพื่อความเหมาะสมกับการใช้สอย
แพขาว
เป็นโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เป็นสถาปัตยกรรมริมน้ำที่เหลือปรากฎอยู่ไม่มากนัก
แพขาวมีประวัติความเป็นมาที่ชาวปทุมธานีภาคภูมิใจ เนื่องจากสถานที่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าน้องยาเธอ
ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินยังจังหวัดปทุมธานี และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ
ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
จังหวัดปทุมธานีได้จัดทำโครงการบูรณะ ปรับปรุง ย่านประวัติศาสตร์ให้เป็นลานประวัติศาสตร์
และสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สามประวัติศาสตร์นี้จะเป็นสถานที่จัดงานพิธีสำคัญ
และจัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมและเรื่องราวความสำคัญของย่านนี้ เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่น
หลังเกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตน
ศาลหลักเมือง
ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด กรมศิลปากรออกแบบตัวเสาหลักเมือง ที่ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์จากสวนป่าลาดยาว
จังหวัดนครสวรรค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ สำหรับตัวศาลหลักเมือง
สมเด็จพระสังฆราช ฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
พิธียกเสาหลักเมือง จัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงพระราชทานฤกษ์เมืองปทุมธานี
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ
ตั้งอยู่บริเวณสามแยกจุดตัดถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน ตำบลคลองคูคด
อำเภอลำลูกกา เป็นสถานที่ที่อัญเชิญดินสมรภูมิอันเป็นสนามรบสำคัญของชาติ พร้อมด้วยอัฐิ
และสรีรธาตุ ของวีรชนไทยมาบรรจุไว้ สร้างขึ้นในวาระแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์
ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๒๕
ดินที่นำมาบรรจุไว้ในอนุสรณ์สถานแห่งชาติเป็นดินจากสมรภูมิที่สำคัญจากสมัยต่าง
ๆ ในอดีตของประเทศไทยรวม สิบสนามรบด้วยกัน คือ
๑. ดินสมรภูมิศึกบางแก้ว เมืองราชบุรี
๒. ดินสมรภูมิทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี
๓. ดินสมรภูมิถลาง เมืองถลาง (จังหวัดภูเก็ต)
๔. การขับไล่พม่าที่เชียงหใม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕ เมืองเชียงใหม่
๕. การขับไล่พม่า ณ เมืองเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ เมืองเชียงแสน (จังหวัดเชียงราย)
๖. ดินสมรภูมิที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย
๗. ดินสมรภูมิขับไล่ขอมสมัยสุโขทัย เมืองสุโขทัย
๘. ดินสมรภูมิสงครามยุทธหัตถี ที่หนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี
๙. ดินสมรภูมิศึกบางระจัน เมืองวิเศษชัยชาญ (จังหวัดสิงหบุรี)
๑๐. ดินสมรภูมิไทยรบพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น เมืองธนบุรี (กรุงเทพ ฯ )
ตัวอาคารอนุสรณ์สถานได้ออกแบบให้เป็นอาคารเอนกประสงค์ มีการจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ
เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับการรบ
|