พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ท้องถิ่นพัทลุงมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาถึงสมัยประวัติศาสตร์
โดยมีชุมชนเกิดขึ้นบริเวณชายทะเล ตรงข้ามกับเกาะใหญ่ ในการดูแลของเมืองสทิงพระซึ่งเป็นเมืองที่มีอำนาจในบริเวณนี้
ต่อมามีการรุกรานจากโจรสลัดมลายู ทำให้เมืองสทิงพระอ่อนแอ
และเสื่อมอำนาจลง ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เกิดเมืองพัทลุงบริเวณโคกเมืองบางแก้วเป็นศูนย์อำนาจใหม่แทนที่เมืองสทิงพระ
เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง ในฐานะเป็นเมืองใต้สุดของอยุธยา ที่มีเมืองขึ้นทั้งฝั่งทะเลอันดามัน
และทั้งอ่าวไทย เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาควบคู่กับเมืองพะโคะบนเกาะใหญ่ แต่ต่างก็ขึ้นอยู่ตรงต่อวัดพระบรมธาตุ
เมืองนครศรีธรรมราช และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จึงประสบภัยจากโจรสลัดมลายูมาโดยตลอด
และรุนแรงที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ก่อให้เกิดเมืองสงขลาบริเวณหัวเขาแดงบนเกาะใหญ่ขึ้นมา
ระหว่างเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กับเมืองพัทลุง
เมืองสงขลาหัวเขาแดงเติบโตเร็วมาก เป็นศูนย์อำนาจทางการเมือง การปกครอง แห่งใหม่แทนที่เมืองพัทลุง
ในที่สุดเหมือนเป็นรัฐอิสระรัฐหนึ่ง ในบริเวณหัวเมืองแหลมมลายูอยู่นานกว่า
๔๐ ปี ทางอยุธยาถือว่าสงขลาเป็นกบฎ ทำให้เมืองพัทลุงต้องเปลี่ยนไปอยู่บริเวณบ้านควนแร่
และไปตั้งเมืองบริเวณช่องเขาเมืองในที่สุด
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทำให้เมืองพัทลุงต้องเปลี่ยนไปอยู่ชายทะเลอีกครั้งหนึ่ง
และได้อยู่บริเวณนี้เป็นเวลานานกว่า ๑๐๐ ปี ในช่วงนี้พัทลุงลดความสำคัญลง
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
โบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในเขตจังหวัดพัทลุงได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ
ที่ถ้ำพระเขาเมือง
หรือเขาชัยบุรี
มีอายุประมาณ ๖,๕๐๐ - ๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว โบราณวัตถุในระยะต่อมาที่พบอย่างแพร่หลายได้แก่
ขวานหินขัด เครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ หม้อสามขา หินดุ หินทุบเปลือกไม้
พบในแหล่งถ้ำและพื้นราบในเกือบทุกพื้นที่ มีอายุอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐
ปี
จากโบราณวัตถุดังกล่าว พอสรุปได้ว่า ท้องถิ่นพัทลุงมีมนุษย์อยู่อาศัยมาแล้วในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ตั้งแต่สมัยหินเก่าสืบต่อมาสมัยหินใหม่ เมื่อประมาณ ๖,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี โดยอาศัยอยู่ในถ้ำและบริเวณพื้นราบ
สมัยประวัติศาสตร์
ประมาณพุทธศตววรรษที่ ๑๒ ถึงปัจจุบัน พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นพัทลุง
พอจะแบ่งออกได้เป็น ๓ สมัยคือ สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง สมัยเก่า และสมัยใหม่
สมัยสร้างบ้านแปลงเมือง
(พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๒๐)
สมัยนี้ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมากเช่น พระพิมพ์ดินดิบ พระพุทธรูป ใบเสมาหินทรายแดง
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด เครื่องถ้วยจีน ในบริเวณโบราณสถานถ้ำเขาอกทะลุ
ถ้ำเขาคูหาสวรรค์ เขาเมืองหรือเขาชัยบุรี วัดภูผาภิมุข และวัดป่าขอม ในเขตอำเภอเมือง
ฯ บริเวณหนึ่ง และบริเวณวัดเขียนบางแก้ว อำเภอเขาชัยสนอีกบริเวณหนึ่ง นอกจากนั้นยังพบร่องรอยเนินดินที่มีคูน้ำ
และกำแพงดินล้อมรอบที่บ้านควนแร่ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง ฯ
จากโบราณวัตกถุที่พบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีชุมชนพุทธศาสนาฝ่ายมหายานกระจายอยู่ทั่วไป
โดยเฉพาะบริเวณวัดเขียนบางแก้ว มีทั้งร่องรอยโบราณสถานและโบราณวัตถุ กับหลักฐานเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า
เป็นบ้านเมืองอยู่ร่วมสมัย และเวลาไล่เลี่ยกันกับเมืองสทิงพระ และวัดพะโคะ
บนเกาะสทิงพระ หรือเกาะใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันมาช้านานแล้วว่า
แผ่นดินบก
ที่ส่วยช้างเมืองสทิงพระ
หลักฐานเอกสารที่แสดงถึงการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์คือ ตำนานนางเลือดขาว
ซึ่งนับได้ว่าเป็นพงศาวดารเมืองพัทลุง สามารถตรวจสอบจากโบราณวัตถุโบราณสถานแหละเอกสารอื่น
ๆ พอสรุปความได้ว่า เมืองสทิงพระหรือเมืองพาราณสี เป็นเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นบนเกาะใหญ่
หรือฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๕ ช่วงแรกเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาฮินดู ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นเมืองสทิงพระเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๙ มีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขายนานาชาติ
และเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองที่มีอำนาจเหนือชุมชนต่าง ๆ ในบริเวณ โดยมีเจ้าเมืองที่สำคัญที่สำคัญได้แก่
เจ้าพระยากรุงสทิงพาราณสี หรือเจ้าพระกรุงทอง ผู้สร้างวัดพระธาตุ และมหาธาตุเจดีย์
ส่วนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของทะเลสาบสงขลา บริเวณบ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี
อำเภอปากพะยูน เป็นที่ส่วยช้างของเมืองสทิงพระมี หมอสดำ หมอเฒ่า นายกองช้างจับช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองทุกปี
หนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตร
เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเมืองขึ้นในบรรดาเมืองต่าง
ๆ ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชจนถึงเมืองสทิงพระ ในพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า
เป็นการสิ้นวงศ์กษัตริย์เป็นเหตุให้กษัตริย์จากเมืองเพชรบุรี ส่งขุนนางมาฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราช
ส่วนเมืองสทิงพระก็ถูกโจรสลัดมลายูจากชวาและสุมาตรา
เข้ามาปล้นสะดมหลายครั้งจึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันชุมชนชายฝั่งทะเลฝั่งตรงข้ามกับเกาะใหญ่
ตำแหน่งนายกองช้างตกมาเป็นกุมารกับนางเลือดขาว ทั้งสองคนได้อพยพสมัครพรรคพวกจากชุมชนบ้านพระเกิด
ไปตั้งเมืองที่บางแก้ว พร้อมกับสร้างวิหารและพระพุทธรูปขึ้นที่วัดเขียน วัดสทิง
และวัดสทิงพระ เมืองพัทลุง ในระยะแรก ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จึงขึ้นกับเมืองสทิงพระ
และอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะเมืองบริวารระบบเมืองสิบสองนักษัตร
เป็นเมืองปีมะเส็งถือตรางูเล็ก
เมืองกรุงศรีอยุธยาแผ่อำนาจลงมาทางใต้ได้รวบรวมเอาเมืองนครศรีธรรมราชไว้ในอำนาจ
โดยยกเป็นหัวเมืองชั้นเอกทางฝ่ายใต้ ให้ปกครองดูแลหัวเมืองฝ่ายนี้ทั้งหมด
ในส่วนของเมืองพัทลุง ได้ยกขึ้นเป็นเมืองตรีขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ศูนย์อำนาจบนเกาะใหญ่
และบริเวณใกล้เคียง จึงปลี่ยนแปลงไปจากเมืองสทิงพระ ไปอยู่ที่เมืองพัทลุงบางแล้ว
เมืองสทิงพระเปลี่ยนเป็นเมืองบริวารของเมืองพัทลุงตลอดสมัยอยุธยา และพอสันนิษฐานได้ว่า
ชื่อเมืองพัทลุง ในระยะแรกมาจากคำว่า ตะลุง
ในภาษาพื้นเมือง แปลว่า เสาล่ามช้าง ไม้หลักผูกช้าง
ความสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมืองในบริเวณดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่จะต้องมีการกำหนดตำแหน่งเมือง
ให้เป็นหลักแหล่งถาวร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครอง และการป้องกันข้าศึก
แต่อยู่ที่การสร้างวัดและชุมชนหมู่บ้านเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้คนที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในระยะหลัง
ๆ มีความหลากหลายทางด้านเผ่าพันธุ์ กระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในลักษณะที่เป็นชุมชนเล็กใหญ่สลับกันไป
ยากแก่การปกครองให้อยู่ในระบบที่มีเมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นศูนย์กลางได้ เมืองใหญ่อย่างนครศรีธรรมราช
จึงต้องหันมาพึ่งพิงศาสนา เป็นกลไกสำคัญในการปกครอง โดยจัดตั้งวัดขึ้นสองระดับคือ
วัดที่เป็นศูนย์กลางอันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชา หรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่
ที่มีอำนาจปกครองวัดใหญ่น้อย ตามชุมชนบ้านเมืองต่าง ๆ ระดับหนึ่งกับอีกระดับหนึ่ง
เป็นวัดประจำชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนกลายมาเป็นพวกเดียวกัน นับถือพระพุทธศาสนาและมีกิจกรรมร่วมกันทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
วัดใหญ่ในระดับที่มีหน้าที่สำคัญ ในการปกครองวัดตามชุมชนในระยะแรกคือ วัดเขียนบางแก้ว
เป็นที่สถิตของพระคุณเจ้าคณะฝ่ายลังกาแก้ว อันเป็นพระสงฆ์คณะหนึ่ง ในสี่คณะที่ขึ้นตรงต่อวัดพระบรมธาตุ
เมืองนครศรีธรรมราช
สมัยเก่า
(พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงกลางพุทธศตวรรที่ ๒๕)
สมัยนี้เป็นระยะที่เมืองพัทลุง มีการย้ายที่ตั้งเมืองมากที่สุดเมืองหนึ่งในภาคใต้
คือ จากบางแก้วไปอยู่ที่บ้านควนแร่ เขาเมือง ท่าเสม็ด บ้านควนมะพร้าว
หรือพญาขัน บ้านม่วง โคกสูง ศาลาโตะวัก และฝั่งเหนือคลองลำปำ ตามลำดับ ส่วนใหญ่จะเป็นการย้ายจวนเจ้าเมืองมากกว่าการย้ายตัวเมืองจริง
ๆ เป็นการปกครองในระบบกินเมือง โดยเจ้าเมืองมีอำนาจเก็บภาษีใช้ไพร่และเก็บเงินค่าราชการจากไพร่
มีสิทธิในการลงโทษเจ้าเมืองและกรมการเมืองมักเป็นญาติกัน ราชธานีไม่ได้มีสิทธิในการแต่งตั้งเจ้าเมือง
ตามที่ควรจะเป็นเพราะเจ้าเมืองเหล่านี้มักมีอยู่แล้ว ราชธานีเป็นเพียงยอมรับอำนาจเจ้าเมือง
ส่วนกรมการเมือง ราชธานีก็จะต้องแต่งตั้งตามข้อเสนอของเจ้าเมือง ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่วัฒนธรรมภายในของชุมชนแข็งแกร่ง
เรื่องราวในช่วงนี้ มีหลักฐานอยู่มาก ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ พงศาวดาร ตำนาน
และเอกสารอื่น ๆ ในท้องถิ่น พัฒนาการในช่วงนี้ พอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ระยะคือ
สมัยเก่าระยะแรก : เมืองปลายแดนใต้สุด
เมื่อมีการปฎิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปลายพุทธศตวรรษที่
๒๐ ชื่อเมืองพัทลุงปรากฎอยู่ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง มีฐานะเป็นเมืองตรี
เช่นเดียวกับเมืองไชยา และเมืองชุมพร เจ้าเมืองถือศักดินา ๕,๐๐๐ ในขณะที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นเมืองชั้นเอกของฝ่ายใต้ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ อิทธิพลทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยาในเมืองพัทลุง
มีอยู่อย่างมั่นคงเป็นเพียงบางครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่สามารถแต่งตั้งเจ้าเมือง
จากราชธานีให้มาปกครองเมืองพัทลุงได้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าได้มีกลุ่มอำนาจอื่น
ๆ ผลัดกันเข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในเมืองพัทลุงด้วย กลุ่มอำนาจเหล่านี้คือ เมืองนครศรีธรรมราช
และกลุ่มพ่อค้าชาวต่างชาติ ที่นับถือศาสนาอิสลาม
- สงขลาหัวเขาแดง : เมืองใหม่แทรกซ้อน
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ หัวเมืองฝ่ายใต้นับตั้งแต่เมืองไชยา
เมืองนครศรีธรรมราช จนถึงเมืองพัทลุง มักถูกรุกรานและคุกคามจากโจรสลัดมลายูอยู่เนือง
ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองขึ้น อันเนื่องมาจากการค้าขายทางทะเลที่มีพ่อค้านานาชาติผ่านเข้ามา
ทำให้เกิดเมืองท่าใหม่ ๆ ขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งเมืองที่มีมาแล้วแต่เดิม เช่น
นครศรีธรรมราช ปัตตานีและเมืองอื่น ๆ เมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้คือเมืองสงขลา
บริเวณ
หัวเขาแดง
บนเกาะใหญ่ เป็นเมืองที่พ่อค้าชาวอาหรับเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นสถานที่พักสินค้า
ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้าชาวยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดาและโปรตุเกส
ให้เป็นเมืองท่า มีการสร้างป้อมปราการด้วยอิฐและหินอย่างมั่นคง แต่เดิมบริเวณนี้เป็นที่ชายเขตของเมืองสทิงพระ
สถานีพักสินค้า ณ หัวเขาแดงได้ขยายตัวขึ้นเป็นเมือง มีการสร้างกำแพงเมือง
ป้อมปราการและคูเมืองครบครัน แล้วขยายเขตปกครอง มายังบริเวณพื้นที่ว่างเปล่า
บนเกาะใหญ่ และบนชายฝั่งทะเลที่อยู่ระหว่างเขตเมืองปัตตานีและเมืองพัทลุงด้วย
ด้วยเหตุนี้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จึงเกิดเมืองสงขลาเป็นเมืองใหม่แทรกซ้อนอยู่ระหว่างเขตเมืองพัทลุงที่
บางแก้ว ซึ่งเป็นเขตขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยา กับเมืองปัตตานี ที่เป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา
กลุ่มชนที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตเมืองสงขลา มีอยู่สองพวกใหญ่
ๆ คือ ชาวเปอร์เซีย หรืออาหรับ ส่วนใหญ่อยู่บนเกาะใหญ่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งเป็นชาวจีน
นิยมมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งทะเล บริเวณตัวเมืองสงขลา ในปัจจุบันจดหมายเหตุชาวอังกฤษ
เรียกเมืองสงขลาว่า ซิงโคร่า มีดะโต๊ะโมกอล ผู้เป็นข้าหลวงพระเจ้ากรุงสยามปกครอง
เมื่อเกิดมีชาวอาหรับเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และสร้างเมืองสงขลาขึ้น โดยยอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในราชอาณาจักรอยุธยา
จึงมีส่วนในการป้องกันภัยจากโจรสลัดมลายู เพราะชาวอาหรับถึงแม้จะนับถือศาสนาอิสลามเช่นเดียวกับโจรมลายู
แต่ก็เป็นพวกพ่อค้าที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของตนไว้
พวกมลายูยังมีอำนาจในบริเวณชายทะเลส่วนนี้ เนื่องจากปัตตานีเป็นเมืองสำคัญของคนมลายู
และนับเป็นเมืองแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ทางกรุงศรีอยุธยาใช้เมืองนครศรีธรรมราช
ในการควบคุมเมืองมลายู ทั้งปัตตานี และไทรบุรี
ในปี พ.ศ.๒๑๗๓ เมืองปัตตานีได้ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุง
ผลของสงครามทำให้การค้าของภูมิภาคนี้ต้องชะงักไป บ้านเมืองประสบความเสียหาย
ในปี พ.ศ.๒๑๘๙ เมืองสงขลาร่วมมือกับเมืองไทรบุรีเข้ายึดเมืองพัทลุงได้รับความเสียหาย
ผู้คนล้มตายและหนีภัยไปเป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ.๒๑๙๒ เมืองสงขลาขยายอำนาจโดยรวมปัตตานีและพัทลุง เข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชไปถึงเมืองไชยา
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ ทางกรุงศรีอยุธยาได้หาทางป้องกันโจรสลัดด้วยการให้ความสำคัญแก่วัดและคณะสงฆ์เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
โดยกำหนดให้วัดเขียนบางแก้ว ซึ่งเป็นที่สถิตของพระครูเจ้าคณะฝ่ายลังกาแก้วปกครองวัด
และชุมชนทางด้านชายทะเล ส่วนทางเกาะใหญ่ก็กำหนดให้วัดพะโคะ ในเขตเมืองสทิงพระเป็นศูนย์กลาง
ให้อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าคณะฝ่ายลังกาชาติ บริเวณวัดพะโคะเรียกว่าเมืองพะโต๊ะ
พระเถระผู้ใหญ่ที่ปกครอง มีอำนาจในการเกณฑ์ผู้คนจากชุมชนต่าง ๆ มาต่อสู้ป้องกันการรุกรานของพวกโจรสลัด
และศัตรูจากภายนอก บรรดาที่ดินที่เป็นชุมชน และที่ทำกิน ตลอดจนป่าเขาทั้งหลายบนเกาะใหญ่
เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดผู้คนที่ตั้งหลักแหล่งล้วนเป็นข้าพระทั้งสิ้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพะโคะ
มีฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชมุนี
ทางชายฝั่งทะเลตรงข้าม สมเด็จพระราชมุนีก็มีบทบาทในการสร้างวัดคูหาสวรรค์
ส่วนที่วัดเขียนบางแก้ว คณะสงฆ์คงมีความสำคัญอยู่ แต่คงไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการปกครองผู้คนอย่างวัดพะโคะ
เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองพัทลุง ในช่วงเวลานี้เมืองพัทลุงคงเปลี่ยนมาอยู่ที่บ้านควนแร่
ตำบลควนมะพร้าว เหนือตำบลบางแก้วขึ้นมา ปรากฏร่องรอยเนินดิน มีคูน้ำและกำแพงดินอยู่สองแห่ง
มีวัดและพระเจดีย์สมัยอยุธยา
หลังรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ความตึงเครียดระหว่างเมืองสงขลากับกรุงศรีอยุธยาผ่อนคลายลง
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้พยายามดึงเมืองสำคัญคือ เมืองนครศรีธรรมราช
และเมืองพัทลุง ให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรดังเดิม โดยสนับสนุนบรรดาเจ้าเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อเนื่องกัน
การขยายอำนาจของสงขลานำไปสู่การขัดแย้งกับปัตตานีจนเกิดการทำสงครามยืดเยื้อ
ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.๒๒๑๔ ถึงปี พ.ศ.๒๒๒๑ แต่ยังไม่อาจเอาชนะกันได้ โดยมีชาวต่างชาติมีส่วนร่วมให้การสนับสนุนอยู่
ต่อมาทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองสงขลาเพื่อยุติสงครามระหว่างสงขลากับปัตตานี
และเพื่อดึงเอาเมืองสงขลา มารวมอยู่ใต้อาณาจักรดังเดิม ฝ่ายเมืองสงขลามีอังกฤษช่วย
ทางกรุงศรีอยุธยาได้ฝรั่งเศสและฮอลันดาช่วย เมื่อตีเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงได้แล้ว
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๒๓ - ๒๒๓๐ เชื่อกันว่าสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้ทรงนำตัวกลุ่มเจ้าเมืองสงขลา
รวมทั้งเจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าเมืองสงขลา ไปควบคุมไว้ที่กรุงศรีอยุธยา
นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของเมืองสำคัญที่เปรียบเหมือนรัฐอิสระ และเป็นการสิ้นสุดอำนาจของพวกอิสลาม
ที่มีอิทธิพลเหนือดินแดน ที่คลุมพื้นที่เขตจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช
และสุราษฎร์ธานีไปในระดับหนึ่ง
- เมืองป้อมปราการตามธรรมชาติ
ผังเมืองพัทลุงที่ชาวต่างประเทศเขียนขึ้นไว้ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ เห็นได้ว่าเป็นเมืองที่มีภูเขาเป็นกำแพงตามธรรมชาติทางทิศใต้
มีการก่อสร้างป้อมกำแพงเชื่อมภูเขาล้อมเมืองไว้ ซึ่งตรงกับหลักฐานทางโบราณคดีของเมืองเก่าบริเวณเขาเมืองในปัจจุบัน
และสอดคล้องกับพงศาวดารเมืองพัทลุง ชาวต่างประเทศเช่น ลามาร์ ผู้เขียนผังเมืองสงขลาและได้ทำในส่วนของเมืองพัทลุงด้วย
โดยให้เมืองพัทลุงตั้งอยู่ในเชิงเขาเมือง
ได้เรียกเมืองพัทลุงที่เขาเมืองว่า เป็นเมืองหลังเกาะสงขลา
สภาพในปัจจุบัน ตัวเมืองตั้งอยู่ในที่ราบบริเวณปลายด้านเหนือของภูเขา มีเขาหลักและเขาบ่อสา
ปิดล้อมด้านทิศตะวันตก เขาพลุปิดล้อมทางด้านทิศตะวันออก การสร้างเมืองได้ขุดคูน้ำคันดิน
และสร้างกำแพงเมืองปิดล้อมที่ราบด้านเหนือ ช่องเขาด้านตะวันตก และช่องเขาด้านตะวันออก
ภายในตัวเมืองมีทางน้ำธรรมชาติไหลผ่าน และไหลไปออกที่ราบทำนาต่อเชื่อมไปจนถึงทะเลหลวง
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลา
เมื่อป้อมปราการที่หัวเขาแดง ตั้งอยู่บริเวณที่ราบ ทิศเหนือติดกับเขาแดงและทะเล
ตรงปากทางเข้าออกสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นร่องน้ำลึก เรือผ่านเข้าออกในทะเลสาบได้สะดวก
การสร้างเมืองป้อมทั้งสองแห่งในช่วงเวลาเดียวกัน และมีลักษณะคล้ายกัน เพียงแต่อยู่คนละฟากฝั่งทะเลสาบ
จะเห็นได้ว่าเมืองป้อมปราการที่เขาเมือง อยู่ในตำแหน่งที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นช่องเขาผ่านไปทางแผ่นดินและทะเลอันดามันทางด้านทิศตะวันตก
โดยใช้เส้นทางลงสู่คลองปะเหลียน
ซึ่งคาดว่าจะเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่ง่ายที่สุดแห่งหนึ่ง ในบริเวณคาบสมุทรตอนใต้
ชุมชนทั้งสองมีความสำคัญร่วมกัน และต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยตลอด ทั้งในด้านการค้าขายและการสู้รบป้องกัน
ผังเมืองที่หัวเขาแดงและที่เขาเมืองถูกเก็บไว้เป็นความลับตลอดมา
ฝรั่งเศสเพิ่งมอบให้ไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ นี้เอง
ที่ตั้งเมืองพัทลุงบริเวณเขาเมือง ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่
๒๔ มีเจ้าเมืองรวมทั้งสิ้น ๙ คน ตามพงศาวดารเมืองพัทลุง มีดังนี้
๑. เฟรีชีหรือฟารีชี น้องชายสุไลมาน ซึ่งเรียกกันว่า พระเจ้าเมืองสงขลา
๒. พระยาวิชิตณรงค์
๓. หลวงศรีสาคร
๔. พระเจ้าจักรี
๕. ออกหลวงเพชรกำแพงสงคราม
๖. ออกหลวงไชยราชาราชสงคราม
๗. พระยาแก้วโกรพ พิชัยเชษฐ วิเศษราชกิจพิพิธภักดี อภัยภิริยพาหะ
๘. พระยาราชบังสัน (คะตา)
๙. พระภักดีเสนา
เจ้าเมืองพัทลุงในระยะดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งมาจากกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น
พระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นอิสลาม และเป็นหลานปู่พระเจ้าสงขลา สุไลมานหรือตาตุมะระหุ่ม
เป็นต้นตระกูล ณ พัทลุง
พระภักดีเสนาเป็นบุตรพี่ชายพระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงคนสุดท้าย
สมัยเมืองพัทลุงตั้งอยู่ที่เขาชัยบุรี ได้ว่าราชการเพียง ๕ ปี ก็ถึงแก่กรรมที่กรุงศรีอยุธยา
เนื่องจากได้เข้าไปช่วยราชการสงครามกับพม่าเมื่อคราวเสียกรุง ปี พ.ศ.๒๓๑๐
หลังจากนั้นเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรีก็ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ฯ ให้พระราชนัดดาของพระองค์มาเป็นเจ้าเมืองคนต่อมา ได้ตั้งเมืองที่ท่าเสม็ด
ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในเขตอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน
สมัยเก่าระยะหลัง เมืองในพระราชอาณาจักร
ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นช่วงที่เมืองพัทลุง
ได้เปลี่ยนกลับมาอยู่บริเวณ ชายฝั่งทะเลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ทะเลแถบนี้เปลี่ยนสภาพชัดเจนเป็นทะเลสาบ
เรียกว่า ทะเลสาบสงขลา เมืองพัทลุงตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ ห่างจากเมืองบ้านเก่าควนแร่ไม่มากนัก
ในช่วงร้อยปีเศษนี้ ที่ตั้งเมืองโยกย้ายมากที่สุด แต่เป็นเพียงย้ายจวนเจ้าเมืองมากกว่า
การย้ายเมืองจริง ๆ อย่างสมัยอยุธยา โดยได้ย้ายจากบริเวณเขาเมืองไปตั้งที่ท่าเสด็จ
ควนมะพร้าวหรือพญาขัน บ้านม่วง โคกลุง ศาลาโต๊ะวัด และฝั่งเหนือคลองลำปำ ตามลำดับ
- สมัยตระกูล ณ พัทลุง
ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ได้มีการตั้งตัวเป็นอิสระอยู่หลายชุมนุม
ทางหัวเมืองแหลมมลายูหรือบริเวณภาคใต้ในปัจจุบัน พระปลัดหนู ผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราช
ได้ตั้งชุมนุมเจ้านครขึ้นปกครองหัวเมืองแหลมมลายู เจ้านคร (หนู) ได้ส่งหลานชายมาปกครองเมืองพัทลุง
โดยตั้งเมืองที่ท่าเสด็จ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ปกครองเมืองอยู่สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม
เจ้านคร (หนู) ให้พระยาพิมลขันธ์
สามีท้าวเทพกระษัตรีย์ เมืองถลาง มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่บริเวณด่านมะพร้าว
ปัจจุบันคือ บ้านพญาขัน อำเภอเมือง ฯ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ พระยาพิมลขันธ์ ได้หนีไปกับเจ้านคร (หนู)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านราสุริยวงศ์
ผู้เป็นพระญาติไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้ดูแลหัวเมืองมลายูแทนราชธานี
ที่เมืองพัทลุง โปรดเกล้า ฯ ให้นายจันทร
มหาดเล็กมาว่าราชการ ตั้งเมืองที่บ้านม่วง นายจันทรว่าราชการอยู่สามปีก็ถูกถอดออก
และได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายขุน
(ตระกูล ณ พัทลุง) บุตรพระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นแทน ตั้งเมืองที่บ้านโคกลุง
(ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง ฯ ชาวเมืองเรียกกันว่า พระยาพัทลุงคางเหล็ก
เมื่อถึงแก่อนิจกรรมก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีไกรลาศ
จากราชธานีมาแทน ตั้งเมืองที่ศาลาโต๊ะวัก ตำบลลำปำ เจ้าเมืองคนนี้ถูกถอดอีกคนหนึ่ง
ทางกรุงเทพ ฯ ได้ให้หลวงนายศักดิ์ (ทองขาว)
นายเวรมหาดเล็ก บุตรพระยาพัทลุงคางเหล็ก มาเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔
ตั้งเมืองที่ฝั่งเหนือคลองลำปำ โดยมีเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ซึ่งเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาอิสลาม
มานับถือศาสนาพุทธ และมีอำนาจสืบต่อยาวนานเกือบร้อยปี
โดยมีเชื้อสายตระกูล ณ นคร เข้ามาปกครองในช่วงสั้น ๆ
ในสมัยพระยาพัทลุง (ทองขาว) เมืองพัทลุงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับหัวเมืองประเทศราชมลายูมากขึ้น
หลังจากเมืองถลาง เมืองหน้าด่านทางชายทะเลฝั่งตะวันตก ถูกพม่าโจมตีเสียหายในปี
พ.ศ.๒๓๕๒ แล้วทำให้ทางกรุงเทพ ฯ ต้องให้เมืองใหญ่อย่างนครศรีธรรมราช สงขลา
และพัทลุง ทำหน้าที่รักษาเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตกไว้ เพื่อป้องกันการโจมตีจากพม่า
โดยให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช รักษาเมืองตรังที่ปากน้ำเมืองตรัง เมืองสงขลารักษาปากน้ำสตูลและละงู
ส่วนเมืองพัทลุงให้รักษาปากน้ำปะเหลียน ในกรณีที่ข้าศึกเข้ามาโจมตีจะได้ช่วยกันตีโอบขนาบพร้อมกันทั้งสามด้าน
แต่ปรากฎว่าสงครามกับพม่าน้อยลง กลับมีปัญหาหัวเมืองประเทศราชมลายูมากกว่า
ในปี พ.ศ.๒๓๕๖ กลุ่มผู้ปกครองเมืองไทรบุรีทะเลาะวิวาทกันเอง ทางกรุงเทพ ฯ
ได้สั่งให้พระยาพัทลุง (ทองขาว) ออกไประงับเหตุ เมื่อพระยาพุทลุง (ทองขาว)
ถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ.๒๓๖๐ ทางกรุงเทพ ฯ ได้แต่งตั้งคนในตระกูล ณ พัทลุง
มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีกคือ นายพลพาย (เผือก)
นายเวรมหาดเล็ก น้องชายพระยาพัทลุงคางเหล็ก มาเป็นพระยาพัทลุง และเลื่อนหลวงยกกระบัตร
(จุ้ย) บุตรพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นตระกูลจันทโรจวงศ์ เป็นพระปลัดเมือง
มีอำนาจรองลงมาจากเจ้าเมือง
ในห้วงเวลาที่พระยาพัทลุง (เผือก) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๐
- ๒๓๖๙ ทางเมืองนครศรีธรรมราช มีเจ้าพระยานคร (น้อย) ตระกูล ณ นคร เป็นเจ้าเมือง
ในปี พ.ศ.๒๓๖๕ มีข่าวลือว่าพม่าจะยกกองทัพมาตีไทย ประกอบกับในขณะนั้นไทยผนวกหัวเมืองไทรบุรีได้อีก
และอังกฤษก็กำลังขยายอิทธิพล เข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยด้วย เจ้าพระยามหานคร
(น้อย) ได้รับมอบหมายจากทางกรุงเทพ ฯ ให้ควบคุมกำลังส่วนใหญ่ในหัวเมืองมลายูได้แก่
เมืองพัทลุง ไชยา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ในปี พ.ศ.๒๓๖๖ ให้เกณฑ์ชาวเมืองพัทลุงมาช่วยเจ้าพระยานคร
(น้อย) ต่อเรือที่เมืองตรังด้วย เพื่อขยายอำนาจลงไปในหัวเมืองประเทศราชมลายู
ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ทางกรุงเทพ ฯ ได้เรียกพระยาพัทลุง (เผือก) เข้าไปรับราชการที่กรุงเทพ
ฯ แล้วแต่งตั้งพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่)
บุตรชายคนโตเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทน
- สมัยตระกูล ณ นคร
ในสมัยพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่ ณ นคร) ปกครองเมืองพัทลุงตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๙
- ๒๓๘๒ คงตั้ง
ที่ว่าราชการเมืองที่ตำบลลำปำเดิม
เมืองพัทลุงต้องตกอยู่ในฐานะเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราช
- สมัยตระกูล ณ พัทลุงกับจันทโรจวงศ์
ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๘๒ - ๒๔๓๙ มีการย้ายที่ตั้งที่ว่าการเมืองถึง ๓ แห่ง แห่งแรกอยู่บริเวณที่เรียกว่า
วังเก่า ในสมัยพระยาพัทลุง
(จุ้ย) และพระยาพัทลุง (น้อย) ที่มาจากตระกูลจันทโรจวงศ์ แห่งที่สองเรียกว่า
วังกลาง ในสมัยพระยาพัทลุง
(ทับ) แห่งตระกูล ณ พัทลุง และแห่งสุดท้ายคือบริเวณที่เรียกว่า วังใหม่
ในสมัยพระยาพัทลุง (เนตร) ซึ่งบิดาเป็นตระกูลจันทโรจวงศ์ มารดาเป็นตระกูล
ณ พัทลุง
ในสมัยพระยาพัทลุง (เนตร) เป็นเจ้าเมืองพัทลุง (พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๔๔) ตระกูล
ณ พัทลุง และตระกูลจันทโรจวงศ์ มีอำนาจมากจนทางกรุงเทพ ฯ ต้องส่งพระสฤษดิ์พจนกรณ์
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยออกไปตรวจราชการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ มีความเห็นว่าเมืองพัทลุงเป็นเมืองเล็กก็จริง
แต่กรมการเมืองมีอำนาจมากเกินผลประโยชน์ และมีอำนาจชนิดที่ไม่มีกำหนดว่าเพียงใดชัด
แต่เป็นอำนาจที่มีเหนือราษฎรอย่างสูง ในปีต่อมาได้ส่งพระวิจิตรวรสาส์น (ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยายมราช
- ปั้น สุขุม) เพื่อจัดราชการเมืองเสียใหม่ทั้งเมืองพัทลุง สงขลาและนครศรีธรรมราช
เพื่อดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ในที่สุดสมเด็จ ฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงรวมการปกครองเมืองพัทลุง
เข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราชในปีต่อมา เนื่องจากทรงเห็นว่าเมืองพัทลุง เป็นหัวเมืองบังคับยากเช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราช
เมืองสงขลาและหัวเมืองประเทศราชมลายู จึงรวมเมืองเหล่านี้ เข้าไว้ในมณฑลเดียวกัน
โดยให้ตั้งศูนย์กลางปกครองที่เมืองสงขลา และทรงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น
สุขุม) เมื่อดำรงบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุขุมนัยวิชิต เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล
สมัยใหม่
: รัฐประชาชาติ (พ.ศ.๒๔๓๔ - ๒๔๖๖)
สมัยนี้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๔ - ๒๔๖๖ รัฐบาลได้ใช้การปกครองแบบเทศาภิบาลแทนแบบกินเมืองตามแบบเดิม
เพื่อดึงอำนาจจากหัวเมืองเข้าสู่ส่วนกลาง เมืองพัทลุงเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลนครศรีธรรมราช
มีข้าหลวงเทศาภิบาลคอยดูแลแทนรัฐบาล และให้สร้างที่ว่าราชการเมืองตลอดจนสถานีตำรวจ
และเรือนจำขึ้นที่ริมทะเลสาบลำปำ ผู้คนเริ่มมีความผูกพันกับเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ
พัทลุงในมณฑลนครศรีธรรมราช
การคัดเลือกบุคลากรเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ รัฐบาลให้ปะปนกันทั้งคนเก่าและใหม่
ในระยะ ๕ - ๖ ปีแรก รัฐบาลใช้วิธีประนีประนอม โดยแต่งตั้งเชื้อสายตระกูล ณ
พัทลุง และจันทโรจวงศ์ ดำรงตำแหน่งใหม่ ๆ แต่ให้ได้ผลประโยชน์ตามแบบเก่าบ้าง
เช่น ให้พระยาพัทลุง (เนตร) เป็นผู้ว่าราชการเมืองตามเดิม แต่ให้พระพิศาลสงคราม
(สอน) ผู้ช่วยราชการเมืองสิงห์บุรี เป็นผู้ช่วยราชการเมือง รับผิดชอบแผนกสรรพากร
เพื่อดูแลเก็บผลประโยชน์ของแผ่นดิน เมื่อพระพิศาลสงครามถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๔๑
ก็จัดให้พระอาณาจักรบริบาล
(อ้น ณ ถลาง) เครือญาติของตระกูลจันทโรจวงศ์ มาเป็นผู้ว่าราชการเมืองแทน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เมื่อพระยาวรวุฒิไวย ฯ จางวาง หรือพระยาพัทลุง (น้อย)
ถึงแก่อนิจกรรม ทางรัฐบาลก็ปลดพระยาอภัยบริรักษ์ก ฯ หรือพระยาพัทลุง (เนตร)
ผู้ว่าราชการเป็นจางวาง หลังจากนี้ก็พยายามแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง
จากบุคคลภายนอก แต่ก็เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองในหัวเมืองฝ่ายใต้ ทำให้มีการเปลี่ยนผู้ว่าราชการเมืองบ่อยครั้ง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๖ - ๒๔๔๙ คือ พระสุรฤทธิ์ภักดี
(คอยู่คี่
ณ ระนอง) พระศิริรักษ์ธรรมรักษ์
(เย็น
สุวรรณปัทมะ) และพระกาญจนดิษฐบดี
(อวบ
ณ สงขลา)
หลังจากนั้นได้มีการจัดส่งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง
เช่น หม่อมเจ้าประสบประสงค์ พระวุฒิภาคภักดี (ช้าง ช้างเผือก)
หลวงวิชิตเสนี (หงวน ศตะรัตน์) พระคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร)
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ เกิดโจรผู้ร้ายกำเริบหนัก มีขุนโจรเกิดขึ้นมากมาย ทางมณฑลต้องส่งนายพันตำรวจโทพระวิชัยประชาบาล
(บุญโกย เอโบล) และคณะมาตั้งกองปราบปรามอยู่ตลอดปี
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ทางรัฐบาลได้สั่งย้ายศูนย์การปกครองจากฝั่งเหนือคลองลำปำไปอยู่ที่ปัจจุบัน
ณ บ้านวังเนียง
ตำบลคูหาสวรรค์ ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ ผ่านตำบลคูหาสวรรค์แล้ว
ทั้งมีการตัดถนนระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองตรังด้วย
วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง
ในช่วงสมัยใหม่ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมเมืองหลวงเริ่มแผ่คลุมกว้างขึ้นตามลำดับจนครอบงำ
ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นจนเกือบสิ้นเชิง
|