มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถาน
เขากลาง (ถ้ำพระ)
อยู่ที่บ้านเขากลาง ตำบลปันแด อำเภอควนขนุน เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก มีเพิงหินธรรมชาติ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขากลาง เพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนเพิงผาหินมีภาพจิตรกรรม
เป็นภาพพุทธประวัติ และเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา
ทางด้านทิศใต้ของผนังเพิงผา เขียนภาพพระพุทธรูปเรียงกันเป็นแนวเรียกว่า พระอันดับ
โดยเขียนอยู่ในอิริยาบทในปางลีลา จำนวน ๑๓ องค์ ภาพเขียนกลุ่มนี้อยู่ในสภาพลบเลือนมาก
ด้านล่างของภาพพระอันดับ มีภาพคล้ายรูปของคนสองคนนั่งอยู่บนเรือ
ภาพบริเวณตรงกลางผนังหินเป็นภาพที่เด่นที่สุด เขียนเป็นรูปยักษ์แบกเจดีย์
ทางด้านซ้ายและด้านขวาของยักษ์ เขียนรูปเจดีย์ขนาดเล็ก ถัดออกไปทางด้านซ้ายของภาพกลุ่มนี้
เขียนรูปบุคคลกำลังจูงเด็กสองคน สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นรูปชูชก กัณหาและชาลี
ในเรื่องเวชสันดรชาดก ด้านกลางผนังหินไปทางทิศเหนือ มีภาพเขียนเรียงรายไปตามลำดับ
จากทิศใต้ทางทิศเหนือเริ่มจาก ภาพคนกำลังจับช้างหรือปราบช้าง ถัดไปเป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์
ด้านล่างของภาพ เป็นรูปช้างกำลังเดินหันหน้าไปทางทิศเหนือ ต่อมาเป็นรูปคนสามคน
มีเส้นโค้งเป็นวงกลมอยู่เหนือศีรษะ ถัดมาเป็นรูปอาคารลักษณะคล้ายปราสาทราชวังสามหลัง
ในปราสาทหลังกลางเขียนเป็นรูปคนนั่งอยู่ภายใน เขียนเป็นแบบลายเส้น และภาพด้านเหนือสุด
เป็นรูปธรรมจักรดอกไม้ ดอกบัว
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
เขากัง
อยู่ในเขตตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง ฯ เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก สูงประมาณ
๕๐ เมตร เขากังมีถ้ำพระอยู่ทางทิศใต้ ลักษณะเป็นเพิงผา เดิมด้านหน้าเพิงหินมีปืนใหญ่สองกกระบอก
เข้าใจว่าแต่เดิมมีสี่กระบอก เพราะยังมีรอยฐานปืนอยู่
ด้านขวาของปากถ้ำมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำหลักไม้
เจ็ดองค์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ที่ผนังถ้ำเป็นรูปหัวงูโผล่ออกมาจากซอกหินชาวบ้านนับถือเรียกว่า
ทวดเขากัง
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
เขาชัยบุรี (วัดเขา)
อยู่ในเขตตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่า ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุง
ที่เขาชัยในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๔
เขาชัยบุรีปรากฎมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เขาพิไชยบุรี เขาไชยศรี และเขาเมือง
ตัวเมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรี ตั้งอยู่ในที่ราบตอนเหนือของภูเขา
วัดเขา (ร้าง) ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ ทางทิศเหนือของเขาพลู สูงประมาณ ๓๐
เมตร อยู่ภายในกำแพงเมือง ค่อนไปทางทิศเหนือใกล้กับคลองเมือง หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
เมื่อปีพ.ศ.๒๓๑๐ เมืองพัทลุงที่เขาชัยบุรีย้ายไปตั้งที่ตำบลท่าเสม็ด
วัดเขาจึงถูกทิ้งร้างตั้งแต่นั้นมา
สิ่งสำคัญที่พบบริเวณวัดเขา (ร้าง) ได้แก่ เจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง
ศิลปสมัยอยุธยาตอนปลาย
- เจดีย์
ก่ออิฐถือปูน ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๕ เมตร สูงประมาณ ๑๐ เมตร ประกอบด้วยฐานเขียงสองชั้น
รองรับฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง สองชั้น ตรงกลางฐานสิงห์เจาะซุ้มโค้งแหลมสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน
ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมขนาดเล็ก ไม่มีบัลลังก์ ส่วนยอดเป็นปล้องไฉนและปลียอด
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
- พระพุทธไสยาสน์
เดิมประดิษฐานอยู่ในชั้นที่สองของภูเขา เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ต่อมาถูกทำลายเหลือแต่พระเศียร
ขนาดยาวตั้งแต่ไรพระศก ถึงพระหนุประมาณหนึ่งเมตร
เดิมอาจมีวิหารหรืออุโบสถตั้งอยู่บนเขาด้วย เนื่องจากได้พบกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาแบบกระเบื้องขอแผ่นใหญ่
หนามาก พบมากบนเขาชั้นที่สอง รอบ ๆ บริเวณเขา พบเศษเครื่องถ้วยชามจีนสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงเป็นจำนวนมาก
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศแนวเขตโบราณสถาน มีพื้นที่ประมาณ
๔ ไร่เศษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘
เขาชัยสน
อยู่ในเขตตำบลเขาชัยสน อำเภอเขาชัยสน เป็นภูเขาหินปูนลูกโดด ตั้งอยู่ในแนวทิศเหนือ
- ทิศใต้ ยาวประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร กว้างสุดประมาณ ๑ กิโลเมตร พื้นที่โดยรอบภูเขาเป็นที่ราบลุ่ม
ยอดเขาสูงประมาณ ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ทิศตะวันตกและทิศเหนือ มีคลองเขาชัยสนหรือคลองปากเพนียด
ไหลผ่านไปออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านสทัง บริเวณอ่าวอาพัดตำบลหวนโพธิ์ อำเภอเขาชัยสน
ทิศใต้มีคลองท่ามะเกลือไหลผ่านไปออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านบางแก้วใต้ ใกล้กับวัดเขียนบางแก้ว
คลองทั้งสองสายนี้เป็นหัวใจของการเกษตรกรรม และเป็นเส้นทางคมนาคมของชุมชนโบราณในอดีต
ในสมัยอยุธยาได้เกิดชุมชนโบราณขึ้นทางทิศตะวันออกของเขาชัยสน คือ บริเวณหน้าถ้ำพระ
ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดถ้ำเขาชัยสน
ซึ่งเป็นวัดที่ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุง
เขาชัยสนมีถ้ำหินปูนอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ถ้ำล่องลม ถ้ำไร ถ้ำโพรงเข้ ถ้ำเครื่อง
ถ้ำควาย ถ้ำโนรา ถ้ำช้างและถ้ำพระ จากการสำรวจพบร่องรอยแสดงว่า เคยเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่
ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานที่พบได้ชัดได้แก่ ขวานหินขัด หม้อดินเผาลายเชือกทาบ
หม้อสามขา กระดูกสัตว์ และกระดูกมนุษย์ บางถ้ำเปลี่ยนแปลงเป็นพุทธสถาน เช่น
ถ้ำพระ มีพระพุทธรูปปูนปั้นประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำจำนวนแปดองค์ พระพุทธไสยาสน์หนึ่งองค์
และพระพุทธรูปประทับยืนสำริดหนึ่งองค์
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
เขาพังอิฐ
อยู่ในเขตตำบลแพรกหา อำเภอควนขนุน เป็นเขาหินปูนขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๒๐๐ เมตร
กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร บริเวณใกล้กับถ้ำเขาพังอิฐ เคยเป็นวัดมาก่อน เรียกว่า
วัดถ้ำเขาพังอิฐ
มีอุโบสถและศาลาการเปรียญสร้างขึ้นด้วยไม้อยู่บริเวณหน้าถ้ำ ต่อมาวัดได้ร้างไป
สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ถูกรื้อถอนไป เหลืออยู่เพียงพระพุทธรูปที่อยู่ภายในถ้ำ
ตัวถ้ำมีลักษณะเป็นเพิงหิน มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวนสี่องค์ ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยรัตนโกสินทร์
เป็นพระประธานองค์ใหญ่ หน้าตักกว้าง ๙๗ เซนติเมตร สูง ๑๑๐ เซนติเมตร กับพระพุทธรูปองค์เล็กอีกสามองค์
ประดิษฐานทางด้านซ้ายของพระประธานสององค์ ด้านขวาหนึ่งองค์
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
เขาโพรกเพรง
อยู่ในเขตตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน วัดเขาโพรกเพรงเป็นวัดโบราณ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างสมัยใด
เดิมวัดตั้งอยู่บนเขาทางด้านทิศตะวันตก เคยเป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง ต่อมาได้ย้ายวัดลงมาตั้งที่เชิงเขาทางทิศตะวันออก
คือบริเวณวัดในปัจจุบัน
ในบริเวณวัดเดิมมีถ้ำแห่งหนึ่งเรียกว่า ถ้ำเขาโพรกเพรง
ภายในถ้ำเคยขุดพบพระพุทธรูปสำริดหลายองค์ ตรงเพิงหิน หน้าถ้ำเคยมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยอยู่สามองค์ แต่ถูกทำลายหมดสภาพไปแล้วสององค์ อีกองค์หนึ่งชาวบ้านได้นำไปไว้ที่วัดลานแซะ
ต่อมาได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยแทนของเก่าไว้หนึ่งองค์ ตอนเหนือของโพรงหินสูงประมาณ
๓ เมตร มีจารึกภาษาไทยเขียนด้วยสีแดงจำนวน ๑๕ บรรทัด ตัวอักษรลบเลือนมาก พออ่านได้ความว่า
"เมื่อเดือนหก ขึ้นสิบเอ็ดค่ำ ปีมะเส็ง นักษัตรตรีศก ได้มายกสร้างพระพุทธรูปไว้
พระสงฆ์และทายกทั้งหลายคิดสร้างสร้างขึ้นด้วยใจศรัทธา ขอให้ทายกทั้งหลายได้ดังความปรารถนา
ขอให้อายุยืน มีลาภ สมบัติ ขอให้ทันพระศรีอาริย์ ขออย่าให้มีมารมาผจญพระศาสนา"
พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสามองค์ สินนิษฐานจากรูปแบบศิลปกรรม น่าจะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
เขาอกทะลุ
อยู่ในเขตตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง ฯ เป็นภูเขาหินปูน วางตัวอยู่ในแนวทิศเหนือ
- ทิศใต้ ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร กว้างสุดประมาณ ๑ กิโลเมตร ยอดเขาสูงประมาณ
๒๔๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีลักษณะพิเศษกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ คือ ตรงบริเวณส่วนกลางค่อนไปทางส่วนยอด
มีลักษณะเป็นรูกลมกลวง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เมตร มองเห็นได้ในระยะไกลในสมัยโบราณ
ฯ ที่เดินเรือในทะเลสาบสงขลา จะมองเห็นภูเขาอกทะลุเป็นที่หมายของเมืองพัทลุง
บนภูเขาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้นานาชนิด พื่นที่เชิงเขามีประชาชนอยู่อาศัยและใช้เป็นพื้นทีเกษตรกรรม
ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือมีลำคลองไหลผ่านเรียกว่า คลองโรงตรวน ไหลไปทางด้านทิศตะวันออก
ไปรวมกับคลองอื่น ๆ ที่บ้านหัวควน เรียกว่า คลองลำปำ แล้วไหลไปออกทะเลสาบสงขลาที่บ้านลำปำ
ตำบลลำปำ อำเภอเมือง ฯ ด้านทิศใต้ของภูเขามีคลองตำนานไหลผ่านไปรวมกับคลองโรงตรวน
ที่บ้านหัวโคน เส้นทางน้ำเหล่านี้ในอดีตเชื่อว่า เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำของชุมชนโบราณ
ในแผ่นดินกับชุมชนบริเวณทะเลสาบสงขลา เนื่องจากลำน้ำเหล่านี้ไหลผ่านชุมชนโบราณหลายแห่ง
เช่น ชุมชนบ้านม่วง ชุมชนบ้านโพรงมะพร้าวหรือชุมชนบ้านพญาขัน
ชุมชนบ้านควนแร่
ชุมชนบ้านควนสาร และชุมชนบ้านลำปำ เป็นต้น
เขาอกทะลุเป็นภูเขาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่สิงสถิตของเจ้าแม่ฤดี
เจ้าแห่งเขาอกทะลุ ชาวเมืองพัทลุงถือเสมือนเสาหลักเมืองพัทลุง ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงนำเอาภาพเขาอกทะลุ
และเจดีย์บนยอดเขามาทำเป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด นอกจากนี้เขาอกทะลุยังเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัด
ภายในถ้ำต่าง ๆ บนภูเขาได้พบพระพิมพ์ดินดิบศิลปะศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๒
- ๑๓) เป็นจำนวนมาก
- ถ้ำพิมพ์หรือถ้ำเขาอกทะลุ
อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาอกทะลุ ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก ภายในถ้ำเดิมมีกรุพระพิมพ์
พระพิมพ์ดินดิบจำนวนหนึ่ง ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
- ถ้ำคุรำ
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของถ้ำพิมพ์ ห่างออกไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก
ภายในถ้ำมีกรุพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัยจำนวนมาก ปัจจุบันสภาพถ้ำถูกทำลายจากการขุดขี้ค้างคาวและการย่อยหิน
- ถ้ำมาลัย
ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของถ้ำคุรำ ห่างกันประมาณ ๕๐ เมตร ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันตก
ภายในถ้ำมีกรุพระดินดิบ สมัยศรีวิชัย
- เจดีย์ยอดเขาจัง
ตั้งอยู่บนยอดเขาจัง ซึ่งเป็นยอดเขาหนึ่งในภูเขาอกทะลุ ทางด้านทิศเหนือ สภาพปัจจุบันทรุดโทรมมาก
เหลือเพียงซากฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม พบแหวนหัวงูและเงินจำนวนมาก
- เจดีย์ยอดเขาอกทะลุ
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ โดยพระอธิการนุ้ย เจ้าอาวาสวัดโคกคีรี เป็นผู้นำ ได้มีการนำเอาสำเภาเงินสำเภาทองบรรจุไว้ในเจดีย์ด้วย
ได้สร้างสระน้ำเล็ก ๆ ไว้กลางองค์เจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ขนาด ๔.๕๐ เมตร ฐานรากที่เหลือสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร ทางทิศเหนือของเจดีย์ มีแนวบันไดขึ้นสู่ฐานทักษิณ
องค์เจดีย์มีรูปแบบอย่างไรไม่ปรากฎหลักฐาน
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
- คูและกำแพงเมือง (เมืองพระรถ)
อยู่ในเขตตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง ฯ คูและกำแพงเมืองนี้ ล้อมรอบชุมชนโบราณที่รู้จักกันในชื่อเมืองพระรถ
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า บ้านคูเมือง
ตั้งอยู่ระหว่างควนบ้านแร่กับควนบ้านสวน ค่อนไปทางด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ภายในเมืองมีพื้นที่ประมาณ ๖๖ ไร่
หลักฐานทางโบราณคดีที่พบภายในเมืองพระรถ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาประเภทหม้อ
กุณโฑ มีพวยแบบเดียวกับที่พบที่เมืองสทิงพระ สทิงหม้อ จังหวัดสงขลา แต่เนื้อหยาบกว่า
ชิ้นส่วนเจดีย์จำลองดินเผา เศษเครื่องถ้วยลายครามจีนสมัยราชวงศ์ชิง สันนิษฐานว่า
บริเวณที่ตั้งเมืองนี้เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ มาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๕ - ๑๗ คูเมืองและกำแพงเมืองน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยอยุธยา อาจเป็นตัวเมืองเก่าสมัยอยุธยา
มีบางแนวคิดว่าชุมชนบ้านคูเมือง น่าจะเป็นลักษณะของชุมชนชั่วคราวแบบค่ายรบในสมัยอยุธยา
เนื่องจากพบกระสุนปืนใหญ่ และอาวุธโบราณในบริเวณเมือง
- กำแพงเมืองและคูเมือง
กำแพงเมืองก่อด้วยดินมีขนาดกว้าง - ยาว ประมาณ ๒๐๐ x ๒๐๐ เมตร มีประตูเมืองอยู่
๒ ประตู อยู่ทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตกของกำแพงเมือง คูเมืองกว้างประมาณ
๑๒ เมตร ยาวเป็นแนวรอบเมืองตามแนวกำแพงเมือง
- เนินโบราณสถาน
พบมีอยู่สองแห่ง ทางทิศเหนือของเมือง อยู่ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ ๑๐๐ เมตร
เป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วเนิน อีกเนินหนึ่งอยู่ค่อนไปทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง
มีเศษอิฐกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
- อู่เรือ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง นอกแนวกำแพงและคูเมืองเดิมเชื่อมต่อกับคลองใหญ่
เรียกว่า คลองตลาด
ซึ่งไหลไปบรรจบกับคลองหัววัง ทางด้านทิศตะวันออกของศาลาโต๊ะวัก แล้วรวมกับคลองลำปำ
ไหลออกสสู่ทะเลสาบสงขลา แนวคลองกว้างประมาณ ๑๕ เมตร
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศเขตโบราณสถาน เป็นพื้นที่ประมาณ
๖๖ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
- ถ้ำคูหาสวรรค์
อยู่ที่วัดคูหาสวรรค์ ตำบลบคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง ฯ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดคูหาสูง
หรือวัดสูง ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
ตามตำนานนางเลือดขาวกล่าวว่า เมื่อตาสามโมกับยายเพชร ถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอิฐของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์
ตามความในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงกล่าวว่า วัดคูหาสวรรค์ สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๑๙๒๔ ส่วนความในหนังสือพระกัลปนา วัดในเมืองพัทลุง สมัยอยุธยา กล่าวว่า
พระราชมุนีร่วมกับพระครูธรรมรังษี
พระมหาเถร พุทธรักขิต พระครูบุศเทพ พระหมื่นเทพบาล สร้างวัดบริเวณถ้ำคูหาสวรรค์
และก่อพระพุทธรูป ๒๐ องค์ สร้างพระเจดีย์ ๗ องค์ เข้าถวายพระราชกุศลเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา
โปรดเกล้า ฯ ให้มีพระตำราตราโกษาธิบดี ยกญาติโยมและภูมิสัตว์ไร่นา อันมีในที่นั้น
๑๒ หัวงาน ขาดออกจากส่วยหลวง เป็นศีลบานทานพระกัลปนาสำหรับวัดคูหาสวรรค์สืบต่อไป
ต่อมาเมื่อออกเมืองคำเป็นเจ้าเมืองพัทลุง
อุยงคะนะ โจรสลัดมลายู
ยกกำลังปล้นเมืองพัทลุง ได้เผาผลาญบ้านเรือน
วัดวาอาราม มาจนถึงตำบลคูหาสวรรค์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
วัดคูหาสวรรค์จึงได้รับการบูรณะใหม่
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ วัดคูหาสวรรค์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่
เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู
ในครั้งนั้น ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร.๑๐๘ ไว้บริเวณหน้าถ้ำ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ วัดคูหาสวรรค์ได้ร้างลง ชาวบ้านได้นิมนต์พระครูจรูญกรณีย์
(ตุค เกสโร) มาเป็นเจ้าอาวาส วัดค่อยเจริญขึ้น
ในปี พ.ศ.๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสวัดคูหาสวรรค์
และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ปปร. ๒๕.๐๐.๗๑ ไว้ที่เพิงหน้าถ้ำ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ ได้ทรงจารึกประปรมาภิไธยย่อ ภปร. และ สก. ๑๗.๓.๒๕๐๒
ไว้ที่เผิงผาหน้าถ้ำ
ถ้ำคูหาสวรรคเดิม ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำน้ำเงิน
หรือถ้ำพระ
ส่วนชื่อคูหาสวรรค์ น่าจะมีการเรียกมาอย่างน้อยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
ตัวถ้ำกว้างประมาณ ๑๘ เมตร ยาวประมาณ ๒๘ เมตร สูงเป็นเวิ้ง รูปกรวย ตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง
ชาวบ้านเรียกว่า ช้างผุด หรือหินลับแล
พื้นถ้ำปูด้วยอิฐถือปูน มีเจดีย์เล็ก ๆ หนึ่งองค์ มีพระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวเรียงรายเป็นระเบียบ
ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก รวม ๓๗ องค์ มีขนาดต่าง ๆ กัน ตามประวัติกล่าวว่า
พระราชมุนี (สมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวด วัดช้างให้) ได้ร่วมกันสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
จำนวน ๒๐ องค์ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้สร้างเพิ่มเติมอีก ๑๗ องค์ ด้านตะวันออกของเศียรพระพุทธไสยาสน์
มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้
พระพุทธรูปปูนปั้น พระพุทธรูปสำริด และพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า
พระผีทำ ปากถ้ำมีหินเป็นกั้นติดกับหินปากถ้ำสูงประมาณ ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า
หัวทรพี ตรงข้ามเป็นรูปพระฤาษีตาไฟปูนปั้น ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
|