การเล่นพื้นบ้านและนาฏศิลป์
จังหวัดพัทลุงประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา และเป็นสังคมเกษตรกรรมมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติ
และดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้านที่เรียบง่าย การละเล่นพื้นบ้านจึงเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
คติความเชื่อพื้นบ้าน การประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม เช่น การเล่นลิเกมหาชาติทรงเครื่อง
การรำโนรา โรงครู การแข่งขันซัดต้ม
การละเล่นพื้นบ้านเด็ก
ได้มีการประมวลเอาไว้ได้ ๑๘ ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ประเภทเสี่ยงทายคัดออก
เช่น การเล่นจุ้มจี้ จับไม้สั้นไม้ยาว โยนหัวโยนก้อย เป็นต้น
- ประเภทไล่จับ
เช่น การเล่นตี่จับ ผีเข้าขวด หมาชิงเสา เสือกินวัว เป็นต้น
- ประเภททาย
เช่น การตีกบ การเล่นขี่ม้าส่งเมือง ขี้ตู่กลางนา ตีกบ เป็นต้น
- ประเภทโยนรับ
เช่น เล่นหมากเก็บ ไก่ขึ้นร้าน เป็นต้น
- ประเภทกระโดด
เช่น การกระโดดเชือกแบบต่าง ๆ เสือข้ามห้วย เสื้อข้ามเขา
การเล่นพื้นบ้านของผู้ใหญ่
มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น และลักษณะร่วมกับชาวไทยในภาคใต้ในท้องถิ่นอื่น ๆ
กีฬาพื้นบ้าน
มีการแข่งขันกับเพื่อประลองความสามารถ บางประเภทมีการพนันขันต่อกันด้วย การละเล่นบางชนิดต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน
- ว่าว
มีหลายชนิดเช่น ว่ากระบอก ว่างู ว่าวนก ว่าวจุฬา ว่าววงเดือน นิยมเล่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ว่าวที่นิยมแข่งขันกันคือ ว่าววงเดือน
ชาวไทยอิสลามเรียกว่า วาบูแล
ว่าวตัวไหนขึ้นสูงกว่าจะเป็นตัวชนะ นิยมแข่งครั้งละสองตัว แบบแพ้คัดออก
- สะบ้า
เป็นกีฬาพื้นบ้านดั้งเดิมชนิดหนึ่ง เคยนิยมเล่นกันในวันสงกรานต์ ใช้ลานดินเรียบเสมอในบริเวณที่ร่มเรียกว่า
ลานบ้า
มีขนาด ๒.๕ x ๗.๐ เมตร ผู้เล่นไม่จำกัดเพศตั้งแต่สองคนขึ้นไป ลูกสะบ้าที่ใช้มักเป็นเป้าสำหรับให้ยิงเรียกว่า
ลูกตั้ง
มีจำนวน ๑๐ - ๒๐ ลูก ลูกสะบ้าที่ใช้ยิงมีขนาดใหญ่กว่า ลูกตั้ง เรียกว่า
ลูกเกย หรือบ้าหยัง
หนึ่งลูก การเล่นสะบ้ามีหลายประเภท เช่น สะบ้าหลาก สะบ้าเลบ เป็นต้น
การเล่นจะต้องปักลูกตั้งเป็นแถวตามรูปแบบการเล่นสะบ้าแต่ละประเภท ระยะห่างระหว่างลูกตั้งแต่ละลูก
ประมาณ ๓ - ๕ นิ้ว แถวลูกตั้งนี้เรียกว่า เน็จ
ลูกสะบ้าริมสุดทั้งสองข้างของเน็จเรียกว่า หู
แบ่งเป็นหูซ้ายแหละหูขวา ลูกตั้งระหว่างหูซ้ายและหูขวาเรียกว่า ช่องกลาง
ในการปักลูกสะบ้าจะขุดเน็จ คือขุดดินพอให้วางลูกกสะบ้าด้านข้างให้ทรงตัวได้มั่นคงและเอาลูกสะบ้าปักลงไปเรียกว่า
ปักเป้า
การปักต้องให้สะบ้าได้ระดับเสมอกันตลอด
การยิงสะบ้า
จับขอบลูกเกยด้วยนิ้วหัวแม่มือให้ด้านแบบเข้าหาฝ่ามือ บางคนใช้นิ้วชี้กับหัวแม่มือ
บางคนจับลูกเกยทั้งห้านิ้ว ใช้นิ้วชี้ของอีกมือหนึ่งสอดใต้ลูกเกยด้านตรงข้ามกับหัวแม่มือดันให้ลูกเกยหลุดจากมือ
หมุนอย่างเร็ว พุ่งเข้าหาเน็จบ้า ลูกเกยจะหมุนตีลูกสะบ้าให้ล้มลง
- ซัดต้ม
เป็นกีฬาพื้นบ้านที่สืบเนื่องมาจากประเพณีชักพระ หรือลากพระในวันออกพรรษา
เข้าใจว่าซัดต้มมีเฉพาะจังหวัดพัทลุงเท่านั้น เล่นที่ตำบลตำนาน ท่าแค ชะรัด
ท่ามิหรา และร่มเมือง อำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันหาดูได้ยาก
การเตรียมซัดต้ม จะทำลูกต้มสำหรับปาด้วยข้าวตากผสมทรายห่อด้วยใบตาลสานแบบตะกร้ออย่างแน่นหนา
ขนาดเท่ากำปั้นพอเหมาะมือ อาจจะใช้หวายสอดภายนอกอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้แน่นแหละคงทนยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นก็นำลูกต้มไปแช่น้ำเพื่อให้ข้าวตอกพองตัวแหละมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก
เมื่อปาถูกฝ่ายตรงข้ามจะทำให้เจ็บ การปาบางครั้งอาจทำให้บาดเจ็บได้ สำหรับสนามและเวทีในการซัดต้มนั้น
ปลูกยกพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตร กว้างด้านละ ๑ - ๒ เมตร ห่างกันประมาณ ๖ - ๘
เมตร หรืออาจใช่พื้นธรรมดาก็ได้
การเปรียบคู่จะเอาคนที่มีลักษณะรูปร่างความแข็งแรง และความชำนาญที่พอจะสู้กันได้
หรืออาจจะให้คนที่มีฝีมือมาสู้กัน ส่วนวันแข่งขันจะนัดในวันชักพระ ทอดกฐิน
แหละวันสงกรานต์ คู่ต่อสู้จะยืนบนเวทีหันหน้าเข้าหากันห่างกัน ๖ - ๘ เมตร
โดยมีกรรมการเป็นผู้กำหนด การปาหรือการซัดต้ม จะผลัดกันปา เช่น ปาคนละสามครั้งโดยมีลูกต้มวางข้างหน้าฝ่ายละประมาณ
๒๕ - ๓๕ ลูก
ผู้ที่จะเป็นนักซัดต้มได้นั้น ต้องเป็นคนใจกล้าแหละสายตาดี เมื่อคู่ต่อสู้ซัดมาด้วยความเร็วและแรงนั้น
จะต้องมีความสามารถในการหลบหลีกหรือรับต้มไว้โดยไม่ถูกตัว การรับต้มอาจรับด้วยมือ
เท้า โดยใช้เท้าถีบลูกต้มให้กระเด็นออก หรือให้หยุดกับที่ การรับด้วยมือต้องให้ลูกต้มบางส่วนอยู่ในมือ
หากรับด้วยมือเปล่าอาจทำให้มือเคล็ดได้ การซัดต้มหรือปาต้ม เต็มไปด้วยความสนุกสนาน
ตื่นเต้น อาศัยศิลปะและไหวพริบ ผู้ใดปาถูกคู่ต่อสู้ได้มากก็จะเป็นฝ่ายชนะ
การแต่งกายในการแข่งขัน จะนุ่งกางเกงหรือนุ่งผ้าโจงกระเบนก็ได้ บางคนอาจมีมงคลสวมหัว
มีผ้าประเจียดพันแขน เช่นเดียวกับนักมวย ก่อนแข่งขันมีการว่าคาถาอาคม
ลงเลขยันต์ที่ลูกต้มเพื่อให้แคล้วคลาดจากลูกต้มของฝ่ายตรงข้าม
- แข่งโพน
เขื่อกันว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกับประเพณีชักพระ เพราะเป็นการปฎิบัติที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรมค่ำ
เดือนสิบเอ็ด อันเป็นวันออกพรรษา ในช่วงปลายเดือนสิบ วัดต่าง ๆ จะเตรียมการชักพระ
ตั้งแต่การทำบุษบก หุ้มโพน แหละเริ่มคุมโพน
(ตีโพน) ก่อนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ
แต่เนื่องจากวัดส่วนมากมักจะอยู่ในละแวกเดียวกัน ชาวบ้านไม่รู้ว่าเป็นโพนของวัดใด
จึงทำให้วัดต่าง ๆ แข่งเสียงโพนกันว่า โพนของวัดใดเสียงดังกว่ากัน ในระยะแรกก็ตีแข่งกันในวัด
นาน ๆ เข้าก็นำโพนมาประชันกันภายนอกวัด บางครั้งเมื่อชาวบ้านจากหลายวัด ลากพระมารวมกัน
ก็มักมีการแข่งโพนกัน การแข่งขันแบ่งได้เป็นสองอย่างคือ
การแข่งมือ (ตีมือ) แข่งขันจนผู้ตีมืออ่อนหรือผู้ตีหมดแรงจึงตัดสินได้
การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยนิยม เพราะต้องใช้เวลานาน
การแข่งเสียง นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะใช้เวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้
นิยมแข่งขันในเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลา ๒๑.๐๐ น. เป็นต้นไป บางครั้งอาจแข่งขันกันจนสว่าง
ถ้าหากมีโพนหลายคู่ การแข่งขันจัดเป็นคู่ ๆ ใข้ผู้ตีคนเดียวตลอดเวลาแข่งขัน
ส่วนกรรมการมีสองชุด ชุดหนึ่งคอยควบคุมผู้ตีไม่ให้เปลี่ยนคน อีกชุดหนึ่งเป็นกรรมการฟังเสียงและตัดสินจำนวน
๓ - ๕ คน เพื่อชี้ขาดว่าโพนใบไหนเสียงดังมากกว่า โดยใช้เขียนใส่แผ่นกระดาษว่าเสียงใหญ่
(ทุ้ม) หรือเสียงเล็ก (แหลม) ดังกว่าแล้วนำมารวมคะแนนตามเสียงข้างมากของกรรมการ
กติกาการแข่งขัน ใช้เวลาประมาณ ๑๐ - ๑๕ นาที ใช้ผู้ตีคนเดียวตลอด ใช้ช่วง
๒ นาทีแรก เป็นการตีประลองเสียง เพื่อกำหนดว่าโพนใบไหนมีเสียงใหญ่ เสียงเล็ก
ระยะฟังเสียงห่างไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เมตร
ดนตรีพื้นบ้าน
ดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดพัทลุง มีลักษณะร่วมกับดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้ ที่มีท่วงทำนองและจังหวะที่รุกเร้า
หนักแน่น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องตี เช่น ทับ กลองรำมะนา และโหม่ง รองลงมาคือเครื่องเป่า
ได้แก่ ปี่
- โพน คือ
กลองทัด ปกติใช้ตีบอกเวลาในเทศกาลออกพรรษา ในการลากพระจะใช้โพนตีเพื่อประโคมเรือพระและใช้ตีแข่งขันกันเรียกว่า
แข่งโพน หรือชันโพน
- กาหลอ
ใช้บรรเลงในงานศพและงานบุญต่าง ๆ เช่น งานขึ้นเบญจา (รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่) งานบวชนาค
ปัจจุบันใช้เล่นเฉพาะงานศพเท่านั้น
ตามตำนานกาหลอ เชื่อกันว่ากาหลอเป็นเสียงฆ้องกลองสวรรค์ กล่าวกันว่าในสมัยพุทธกาลมีวัดหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำ
พุทธเจ้าได้เสด็จมาที่วัดนั้น เพื่อช่วยอธิการวัดจากการถูกหลาวเหล็กตำอก ตามคำกราบทูลของพระภิกษุลูกวัดนั้น
แล้วพระพุทธองค์ทรงเรียกประชุมสงฆ์ในวัดนั้น เพื่อให้แสดงภูมิรู้ในพระธรรมวินัย
เมื่อทรงทราบแล้วจึงทรงแต่งตั้งภิกษุเหล่านั้นตามความรู้ความสามารถคือ เป็นท่านกาแก้ว
การาม กาชาด กาเดิม (ตำแหน่งทั้งสี่เป็นตำแหน่งพระผู้ช่วยรักษาพระบรมธาตุเมืองนคร
จะพบชื่อตำแหน่งนี้ในหัวเมืองปักษ์ใต้ที่มีพระบรมธาตุเช่น เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช
และเมืองพัทลุง) อีกสองรูปไม่ปรากฎนาม ส่วนอีกรูปหนึ่งมาทีหลังสุดเมื่อเลิกประชุมแล้ว
พระพุทธองค์จึงทรงให้ชื่อว่า กาหลอ คำว่าหลอ หมายถึง ขาด คือ ขาดการประชุม
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระภิกษุทั้งเจ็ดรูปได้มาประชุมกันหารือกันว่าจะจัดอะไรเป็นพุทธบูชาพระบรมศพ
ท่านกาเดิมได้คิดทำปี่ขึ้นมาเลาหนึ่ง ท่านการามคิดโทนขึ้นมาใบหนึ่ง
ท่านกาแก้วคิดขึ้นมาอีกใบหนึ่ง ส่วนท่านกาชาดคิดฆ้องขึ้นมา แล้วได้ใช้เครื่องดนตรีเหล่านั้นแห่นำพระบรมศพพระพุทธเจ้า
นับเป็นการบรรเลงกาหลอเป็นครั้งแรก
เครื่องดนตรีกาหลอ ประกอบด้วย ปี่กาหลอ โทน และฆ้อง ปี่กาหลอ
มีเจ็ดรู มากกว่าปี่ไฉนหรือปี่ชวาหนึ่งรู รูข้างใต้เรียกว่าทองรี เวลานำศพไม่ให้มีเสียงลอดออกมา
โทนมีสองใบ เรียกโทนยืน
และโทนหลัก โทนยืนใช้ตีเป็นตัวยืนในการบรรเลง โทนหลักใช้ตีหลักตีหยอก ให้เพิ่มรสสนุกยิ่งขึ้น
ฆ้อง
เดิมมีสองใบ ในระยะหลังใช้ใบเดียวและมักเลือกฆ้องที่มีเสียงก้องกังวานดังไปไกล
เพลงที่คณะกาหลอใช้บรรเลงมี ๑๒ เพลง คือเพลงสร้อยทอง เพลงจุดใต้ เพลงสุริยัน
เพลงคุมพล เพลงทองศรี เพลงแสงทอง เพลงนกเปล้า เพลงทองท่อน เพลงตั้งซาก (ศพ)
เพลงยายแก่ เพลงโก้ลม เพลงสร้อยทองซัดผ้า การบรรเลงเพลงกาหลอเป็นไปตามความเชื่อ
เช่น ไหว้ครูใช้เพลงสร้อยทอง เพลงจุดใต้ เพลงชุมพล เวลาศพเคลื่อนไปที่สามสร้าง
(เชิงกราน) จะบรรเลงเพลงตั้งซาก เพลงยายแก่ บรรเลงเพื่อขอไฟจากยายแก่มาจดุเผาศพ
เพลงโก้ลม (เรียกลม) บรรเลงเพื่อขอลมให้มาช่วยกระพือไฟให้ติดดีขึ้น
เพลงสร้อยทองซัดผ้า จะบรรเลงตอนซัดผ้าข้ามโลงศพขณะจุดไฟเผาศพ ตอนกลางคืนใช้เพลงทองศรี
ตอนเช้าใช้เพลงนกเปล้า เพลงแสงทอง บางคณะบอกว่าตั้งแต่เพลงที่ ๑ - ๑๒ จะใช้บรรเลงเฉพาะตอนนำศพไปป่าช้าเท่านั้น
จะไม่บรรเลงในโอกาสอื่น
กาหลอต้องมีโรงแสดงโดยเฉพาะ และสร้างตามแบบที่เชื่อถือกัน หากสร้างผิดแบบ
กาหลอจะไม่ยอมแสดง การปลูกโรงกาหลอ ต้องให้ประตูที่เข้าสู่โรงอยู่ทางทิศใต้
มีเสาหกต้น มีเสาดั้ง เสาสี่ต้นนั้นแต่ละข้างใช้ขื่อได้ แต่ส่วนกลางไม่ให้ใช้ขื่อ
หลังคามุงด้วยจากหรือแซว ส่วนพื้นจะยกสูงไม่ได้ ใช้ไม้ทำเป็นหมอนทอดชนพื้นดิน
แล้วใช้ไม้กระดานมาปูเป็นพื้น แปทูบ้านเจ้าภาพจะตรงกับแปทูโรงกาหลอไม่ได้
การเดินเข้าโรงพิธีให้นายปี่ที่ถือว่าเป็นนายโรงเดินนำหน้าพาคณะเข้าไป นายปี่จะเดินไปที่ห้องของตัว
ส่วนผู้ตีฆ้องแหละนายโทนจะหยุดอยู่แค่ห้องของตัว นายปี่อยู่ห้องหนึ่ง นายโทนและผู้ตีฆ้องอยู่รวมกันห้องหนึ่ง
เมื่อเข้าไปแล้วหากยังไม่ถึงเวลา (เลยเที่ยงวัน) จะออกไปไหนมาไหนไม่ได้และนอกจากหมากและบุหรี่แล้ว
ห้ามบริโภคสิ่งใดภายนอกเป็นอันขาด จะต้องนำของบริโภคเข้าไปบริโภคภายในโรง
ห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงในทางชู้สาว
ก่อนลงมือแสดงเจ้าภาพจะต้องเตรียมจัด ที่สิบสอง หมายถึง อาหารคาวหวานได้แก่
ข้าว แกง เหล้า น้ำ ขนม ฯลฯ ใส่ถ้วยใบเล็ก ๆ วางไว้ในถาด เหมือนการจัดสำรับของคนไทยแต่ก่อน
ที่ถ้วยทุกใบจะมีเทียนไขเล่มเล็ก ๆ ปักอยู่ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เครื่องราด
มีเงิน ๑๒ บาท หมาก ๙ คำ ด้ายริ้ว ๓ ริ้ว ข้าวสาร เทียน ๑ เล่ม ทุกอย่างใส่รวมกันในสอบหมาก
เมื่อนายโรงได้ที่สิบสองและเครื่องราดแล้วก็จะทำพิธีบวงสรวงครูบาอาจารย์ แล้วเริ่มแสดงด้วยเพลงไหว้ครู
ที่ชื่อเพลงสร้อยทอง แล้วตามด้วยเพลงอื่น ๆ ขณะแสดงอยู่จะพูดทักทายใครภายนอกโรงหรือชักชวนใครเข้าไปนั่งในโรงไม่ได้
เพราะถือว่าเหมือนกับชักผีให้เข้าโรง เมื่อออกจากบ้านหลังจากรับงานใครแล้วจะกลับบ้านเข้าบ้านไม่ได้
ระหว่างที่สามีไปแสดงกาหลอ ภรรยาจะทาแป้งแต่งตัวหรือคบชู้ไม่ได้ จะเป็นอันตรายแก่สามีเมื่อสามีกลับบ้าน
ภรรยาต้องตักน้ำวางไว้ที่บันไดให้สามีไว้ล้างเท้า ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะจะต้องเรียนคาถาอาคม
หรือวิธีการทางกาหลอ ซึ่งจะทำได้สมบูรณ์เมื่ออายุ ๔๐ ปี ล่วงแล้ว
เพลงพื้นบ้าน
เป็นบทร้อยกรองและดนตรีของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาด้วยวิธีมุขปาฐะ แบ่งตามจุดประสงค์ในการร้องได้
๘ ประเภท ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงเด็กร้องเล่น เพลงประกอบการเล่นของเด็ก
เพลงปฎิพากย์ เพลงร้องรำพัน เพลงประกอบการเล่นของผู้ใหญ่ และเพลงประกอบพิธีกรรม
การแสดงพื้นบ้าน
ที่นิยมเล่นในจังหวัดพัทลุงได้แก่ หนังตะลุง โนรา และลิเกป่า เช่นเดียวกับอีกหลายจังหวัดในภาคใต้
การละเล่นพื้นบ้าน และนาฎศิลป์ในจังหวัดพัทลุง ได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
|