ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |



ขนบธรรมเนียมประเพณี
            ประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดระนอง มีลักษณะเดิมเป็นของตนเอง และปฎิบัติกันมานานจนเป็นแบบอย่าง ความคิดและการกระทำที่ได้ยึดถือปฎิบัติสืบต่อกันมา และยังคงมีอิทธิพลอยู่ในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะประเพณีที่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเพณีพื้นบ้านบางอย่างไม่มีการสืบทอด
            การแต่งกาย  ก่อนปี พ.ศ.๒๔๘๕ ชาวระนองแต่งกายตามแบบโบราณที่ยึดถือกันมาคือ
                -  ผู้หญิง  นุ่งผ้าโจงกระเบน ผ้าดอก ห่มผ้าสไบเฉียง คนสูงอายุนิยมสวมเสื้อคอกระเช้า เสื้อกั๊กบ่าเล็ก ๆ หากไปงานพิธีหรือไปวัด จะสวมเสื้อมีแขน มีผ้าพาดบ่า หรือห่มสไบเฉียง ไว้ผมยาวเกล้ามวย สับหวีโค้ง หิ้วกระเช้าหมาก ต่อมาสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศรัฐนิยม โดยกำหนดให้ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง แทนนุ่งโจงกระเบน แต่ปัจจุบันหันไปนุ่งผ้าปาเต๊ะ และนุ่งกระโปรงตามแบบสากลมากขึ้น ส่วนผู้ที่มีอายุมาก ๆ ยังนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนตามแบบโบราณ
                -  ผู้ชาย  พวกข้าราชการนุ่งผ้าโจงกระเบน หรือนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงน่องรองเท้า ส่วนชาวบ้านที่มีฐานะดีเวลาออกงานจะนุ่งผ้าโจงกระเบน นุ่งผ้าทอมือ สวมเสื้อคอกลม เสื้อกุ่ยเฮง ผ้าขาวม้าคาดเอว คนทั่วไปจะนุ่งกางเกงขาสั้น กางเกงขาก๊วย หรือกางเกงแพรจีน คาดเข็มขัด ถ้ามีฐานะดีมักจะใช้เข็มขัดทองคำ นาก หรือเงิน ทรงผมนิยมตัดผมทรงดอกกระะทุ่ม หรือตัดด้านข้างศีรษะสั้นเกรียน ผมด้านบนศีรษะไว้ยาว หัวแสกกลาง ปัจจุบันนิยมแต่งกายและไว้ผมตามแบบสากลทั่วไป
            สมัยก่อนผู้มีฐานะดีทั้งชายหญิงนิยมสวมสายสร้อยทองคำเต็มคอ สวมแหวนหลาย ๆ วง บางนิ้วอาจสวม ๒-๓ วง เด็ก ๆ นิยมไว้ผมจุก สวมกำไลข้อมือ ข้อเท้าซึ่งทำด้วยทองคำ นาก หรือเงิน หญิงสาวนิยมสวมกำไลข้อมือและข้อเท้าเช่นกัน
            การกินอยู่  ชาวระนองในอดีต นิยมจัดอาหารเป็นสำรับใส่ถาดหรือใส่กระบะ (ทำด้วยไม้) หรือจัดใส่โตก ผู้มีฐานะดีจะใช้โตก กินบนพื้นโดยนั่งล้อมวงรอบสำรับกับข้าว ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงและเด็กนั่งพับเพียบ  คนสูงอายุมักนั่งชันเข่าข้าวหนึ่ง ถ้าเป็นขุนนางมีฐานะก็จะมีคนคอยรับใช้อีกด้วย
            อาหารโดยทั่วไปตักใส่ถ้วยตั้งรวมในถาด โตก หรือกระบะ ตักข้าวใส่จานหรือโคม ใช้มือเปิบอาหารใส่ปาก การนั่งกับพื้นล้อมวงกินอาหารยังพบเห็นอยู่บ้างตามชนบท แต่มีจำนวนน้อยลงไปตามลำดับ
            กิริยามารยาท  โดยทั่วไปชาวระนองเป็นคนสุภาพอ่อนน้อม กิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ตามแบบฉบับของคนไทยทั่วไป ผู้น้อยต้องให้เกียรติผู้ใหญ่ เคารพนบนอบไม่ทำตัวเสมอท่าน เวลาเข้าหาผู้ใหญ่จะสำรวมเดินค้อมตัว รู้จักกล่าวคำขอโทษ ขอบใจ กับบุคคลทั่ว ๆ ไป
            ลักษณะเด่นประการหนึ่งของประเพณีการแนะนำตัวของชาวระนองคือ เมื่อจะแนะนำใครจะต้องบอกถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ด้วยเป็นการลำดับความเป็นมาในครอบครัวอย่างชัดเจน ซึ่งจะเป็นลักษณะของสังคมชนบท

            ประเพณีเสด็จพระแข่งเรือ  เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ แต่ได้มีการหยุดจัดไประยะหนึ่ง มาเริ่มจัดใหม่ปี พ.ศ.๒๕๒๓  จนถึงปัจจุบัน ประเพณีจะจัดในช่วงวันออกพรรษาคือ ตั้งแต่วันแรมค่ำ เดือนสิบเอ็ด
            กิจกรรมที่สำคัญคือ การแห่เรือพระ โดยจะมีการนำเรือมาตกแต่งให้สวยงาม และอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนเรือ แล้วแห่ไปตามลำน้ำกระบุรี นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันเรือประเภทต่าง ๆ เช่น ประกวดเรือยาวประเภทสวยงาม ความคิด ตลกขบขัน ประกวดเพลงเรือ ปัจจุบันประเพณีนี้จะจัดในบริเวณแม่น้ำกระบุรี ช่วงคอคอดกระ ซึ่งมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวพม่าตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจมาชมเป็นจำนวนมาก

            ประเพณีการร้องเพลงเรือ  เป็นประเพณีงานประเพณีเสด็จพระแข่งเรือ เพลงเรือ อำเภอกระบุรี เป็นเพลงพื้นบ้านของภาคใต้ประเภทหนึ่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีลักษณะเป็นกลอนแปด หรือกลอนสี่สองวรรค ร้องเป็นภาษาท้องถิ่น คือภาษาพื้นเมืองสำเนียงปักษ์ใต้ ใช้ถ้อยคำคล้องจองกัน ท่วงทำนองเรียบง่าย ฟังง่าย มีคนร้องนำเรียกว่า แม่เพลง และลูกคู่ เป็นผู้รับ ลูกคู่จะมีกี่คนก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากเพลงเรือภาคกลาง
            เพลงเรือในสมัยเริ่มแรก จะร้องเป็นท่วงทำนองสั้น ๆ เช่น เฮโล เฮโล สาระพา สาว ๆ ไม่มาชักพระไม่ไป ฝ่ายหญิงจะร้องแก้ว่า เฮโล เฮโล สาระพา หนุ่ม ๆ ไม่มาชักพระไม่ไป ต่อมาจึงได้มีวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับ
            เรือลำหนึ่ง ๆ อาจจะมีผู้หญิงทั้งลำเรือหรือผู้ชายทั้งลำ หรือทั้งผู้หญิงผู้ชายอยู่ในเรือเดียวกัน สำหรับบทเพลงเรือแม่เพลงจะร้องเป็นเรื่องราว เช่น ร้องเรื่องประวัติงานเสด็จพระแข่งเรือ ประวัติการลอยกระทง ชมโฉมสตรี เกี้ยวพาราสี ฝากรัก ตัดพ้อต่อว่า ชมความงามตามธรรมชาติ ชมเรือพระ ชมผู้นำท้องถิ่น บทเพลงเชิญชวนคนลงเรือพาย เชิญชวนให้ละเว้นอบายมุข การต่อต้านภัยต่าง ๆ ฯลฯ
            เวลาพายเรือไปเทียบคู่กับเรือลำอื่น ก็อาจจะมีการโต้คารมกันระหว่างเรือสองลำ โดยผลัดกันร้องผลัดกันรับ ร้องโต้ตอบ ร้องแก้กัน ทำให้คนที่พายเรือสนุกสนาน เพลิดเพลินไม่เหนื่อย เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน นอกจากนั้นการร้องเพลงเรือทำให้มีจังหวะทำนอง ในการโยกตัวและความพร้อมเพรียงในการพายดูแล้วสวยงาม
บุคคลสำคัญของท้องถิ่น

            พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี  (คอซูเจียง ณ ระนอง)  เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง และเป็นต้นตระกูล ณ ระนอง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๐  เมื่ออายุได้ ๒๕ ปีได้เดินทางมาประกอบอาชีพเป็นกรรมกรอยู่ที่เกาะหมาก (เกาะปีนัง)  ต่อมาได้เข้ามาค้าขายที่เมืองตะกั่วป่า อยู่ในความอุปการะของท้าวเทพสุนทร จากนั้นได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองพังงา จนมีทุนทรัพย์มากขึ้น จึงได้ต่อเรือกำปั่นใบลำหนึ่ง ขึ้นล่องค้าขายอยู่ทางหัวเมืองฝั่งตะวันตก โดยรับซื้อสินค้าที่เกาะหมากแล้วเที่ยวขายตามหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก ไปจนถึงเมืองระนอง เมืองตระ (กระบุรี)  และรับซื้อสินค้าตามหัวเมืองเหล้านั้นเช่นดีบุก พริกไทย จันทน์เทศ ไปขายยังเกาะหมากจนชำนาญรู้ลู่ทาง และคุ้นเคยกับหัวเมืองแถบนี้เป็นอย่างดี และเห็นว่าเมืองระนองเป็นแหล่งที่มีสายแร่ดีบุกเป็นจำนวนมาก จึงได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งมาอยู่ที่เมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘
            ขณะที่อยู่เมืองพังงาได้แต่งงานกับหญิงไทยชาวเมืองพังงา มีบุตรชาย ๕ คน และเมื่อย้ายไปอยู่ที่เมืองระนอง มีบุตรชายที่เกิดจากภรรยาคนที่สองอีกหนึ่งคน ในบรรดาบุตรทั้งหกคน ได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถึงสี่คน
            พ.ศ.๒๓๘๙  ได้ขอประมูลผูกขาดอากรดีบุกเมืองระนองและเมืองตระ และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ หลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งนายอากรเมืองระนอง โดยกำหนดให้ส่งอากรดีบุกต่อเจ้าพนักงานที่กรุงเทพ ฯ ปีละ ๒ งวด ได้ถวายอากรดีบุกเป็นโลหะดีบุก หนัก ๑๔,๐๐๐ ชั่งต่อปี
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๗  หลวงระนองเจ้าเมืองคนเดิมถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็น พระรัตนเศรษฐี ผู้สำเร็จราชการเมืองระนองแทนเจ้าเมืองคนเดิม ถือศักดินา ๘๐๐ ไร่ และโดยที่เมืองระนองอยู่ชายแดนทางทะเล จึงให้พระรัตนเศรษฐีจัดแจงเรือและกำลังคน พร้อมอาวุธออกลาดตะเวณรักษาปากน้ำตามอ่าวคุ้ง แขวงเมืองระนอง ป้องกันโจรสลัดหรือศัตรูเข้ามาก่อการร้ายในบ้านเมือง
            พ.ศ.๒๔๐๕  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ยกเมืองระนองขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงกับกรุงเทพ ฯ เช่นเดียวกับเมืองชุมพร และโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระรัตนเศรษฐีเป็นที่ พระยารัตนเศรษฐี ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง ถือศักดินา ๒,๐๐๐ ไร่
            พ.ศ.๒๔๑๙  ได้เกิดเหตุกรรมกรชาวจีนกำเริบที่เมืองระนอง ทางกรุงเทพ ฯ ได้ส่งกำลังมาช่วยปราบจนราบคาบ
            พ.ศ.๒๔๒๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศพระยารัตนเศรษฐี ขึ้นเป็นที่ พระยาดำรงสุจริต ฯ ตำแหน่งจางวางผู้กำกับราชการเมืองระนอง และทรงตั้งพระยาศรีโลหะภูมิพิทักษ์ (คอซิมก๊อง)  บุตรชายคนที่สองของพระยาดำรงสุจริต ฯ เป็นที่พระยารัตนเศรษฐี ผู้ว่าราชการเมืองระนองแทน
            พ.ศ.๒๔๒๔  พระยาดำรงสุจริต ฯ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานที่ดินให้เป็นที่ฝังศพที่เขาระฆังทอง เมืองระนอง

            พระยาดำรงสุจริต ฯ  (คอซิมก๊อง ณ ระนอง)  เป็นบุตรชายคนที่สองของพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง)  เป็นเจ้าเมืองระนองคนที่สอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๐ - ๒๔๓๙  และเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลชุมพระคนแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๙ - ๒๔๔๔ เป็นเจ้าเมืองนักพัฒนามากกว่าจะเป็นพ่อค้าอย่างบิดา งานพัฒนาที่สำคัญคือ การสร้างถนนจากชุมพรไปยังเมืองกระบุรี การสร้างเรือนตะเกียงที่ปากน้ำเมืองระนอง
            หลังจากรับตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพร ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซิมก๊อง)  ได้มอบราชการเมืองระนองให้แก่พระศรีรัตนเศรษฐี (คอหยูหงี)  บุตรชายคนโตเป็นผู้รักษาเมืองแล้วกลับไปจัดราชการตอนปลายปี โดยเริ่มจากงานด้านการปกครอง การรักษาความสงบเรียบร้อย การโยธา และก่อสร้างสถานที่ราชการ การศึกษาและศาสนา การภาษีอากร การศาล และส่งเสริมอาชีพของราษฎร
            พระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซิมก็อง)  มีบุตรธิดารวม ๒๖ คน รับราชการ ๘ คน ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓

          พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ  (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ เป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซูเจียง)  เมื่อเจริญวัยบิดาได้ส่งไปศึกษาในประเทศจีน จึงอ่านและเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่สามารถพูดได้ถึง ๕ ภาษา คือ จีน (พูดได้ ๕ ภาษา) ไทย อังกฤษ อินเดีย และมลายู  เป็นผู้มีประสบการณ์สูง เพราะต้องติดตามบิดาไปตามเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน และเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ไปยังมลายู อินโดนิเซีย และยุโรป ด้วย
            พระยารัษฎา ฯ เริ่มเข้ารับราชการเมื่ออายุ ๒๕ ปี เมื่อพระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง)  เป็นเจ้าเมืองระนอง
            พ.ศ.๒๔๒๕  เป็นหลวงบริรักษ์โลหะกิจ ผู้ช่วยเจ้าเมืองระนอง
            พ.ศ.๒๔๒๗  เป็นพระอัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี
            พ.ศ.๒๔๖๓   เป็นพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ฯ เจ้าเมืองตรัง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมาชิกองคมนตรี และมีพระราชดำริจะให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตรด้วย
            พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ชาติบ้านเมืองตลอดเวลา ที่รับราชการเป็นอันมาก ด้วยความมีคุณภาพและคุณธรรม ดังจะเห็นได้จากผลงานของท่านดังนี้คือ
            ครั้งที่ได้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้ใช้กุศโลบายที่เรียกว่า หนามยอกเอาหนามบ่ง  กล่าวคือ ในครั้งนั้นช่างชาวจีนที่เป็นกรรมการเหมืองแร่ ในเมืองระนอง ตะกั่วป่า และภูเก็ต ได้จัดตั้งกลุ่มอั้งยี่ขึ้นมา ได้ก่อเหตุและทะเลาะวิวาทกับคนไทยและเจ้าของเหมืองแร่ ในขณะที่อังกฤษก็ฉวยโอกาสเอาเปรียบไทย หากพฤติกรรมใดเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเหมือง ชาวอังกฤษก็จะรับว่ากรรมกรจีนเหล่านั้น อยู่ในอำนาจบังคับของตน แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็จะปฎิเสธไม่รับรู้
            พระยารัษฎา ฯ แก้ปัญหาด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าอั้งยี่เป็นกรรมการพิเศษ เข้ามาช่วยป้องกันเหตุร้ายในกรณีที่เกิดกรณีพิพาท โดยมอบภาระหน้าที่ให้หัวหน้าสายรับผิดชอบไปแก้ปัญหา โดยตัวท่านเองไกล่เกลี่ยให้ความยุติธรรม ทำให้ปัญหาลดลงและหยุดไปในที่สุด
            สำหรับราษฎร ท่านใช้หลักการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก เอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยออกตรวจงานและเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกท้องที่ที่รับผิดชอบ เมื่อพบผู้เดือดร้อนก็ช่วยแก้ปัญหาให้โดยเร็ว สอนให้ราษฎรขยันทำมาหากิน และมีศีลธรรม ทางฝ่ายราชการก็ได้สร้างคนให้สามารถปฎิบัติงานแทนท่าน ด้วยการอรมสั่งสอนจนมั่นใจ แล้วแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ ถ้าทำงานบกพร่องจะเรียกมาตักเตือน ใช้ธรรมเป็นอำนาจ การให้บำเหน็จดูที่ผลงาน ทุกคนจึงให้ความศรัทธาและเคารพ
                -  การรักษาความสงบเรียบร้อย  โดยแก้ปัญหาโดยให้ทุกคนถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปราบปรามโจรผู้ร้าย ร้วมกับเจ้าหน้าที่ของทางราชการ หมู่บ้านใดไม่ให้ความร่วมมือจะมีความผิดได้รับโทษ ทุกบ้านต้องมีเกราะไว้เคาะเป็นสัญญาณบอกเหตุร้าย เมื่อได้ยินสัญญาณดังกล่าวให้ทุกคนมาร่วมประชุม โดยมีอาวุธติดตัวไปด้วย ใครไม่เข้าประชุมให้ผู้ใหญ่บ้านจดชื่อเสนอกรมการอำเภอเพื่อลงโทษต่อไป ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทำบัญชีประวัติคนพาลเอาไว้ หากบ้านใดมีวัวควายหายไป ผู้ใหญ่ กำนัน จะต้องรับผิดชอบจับคนร้ายมาลงโทษให้ได้ นอกจากนี้ยังจัดให้มี ตำรวจม้า และเสนอให้มีการติดตามผู้ร้ายที่หลบหนี เข้าไปในเขตปกครองจังหวัดอื่น
                -  ด้านการส่งเสริมอาชีพ  พระยารัษฎา ฯ ได้ขอพระราชทานยืมเงิน ๖,๐๐๐ เหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้ราษฎรยืมไปทำทุนโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ราษฎรสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูก มีรายได้สูงขึ้นมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น และได้ขอพระบรมราชานุญาตยกเว้นภาษีช่วงเริ่มต้นของการเพาะปลูก ๖-๑๐ ปี ให้ด้วย จัดให้มีตลาดนัดขึ้นในชุมชนแต่ละแห่งอาทิตย์ละครั้ง  เพื่อเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการชักชวนบริษัททุ่งคาราเบอร์ บริษัททุ่งคาเปาด์ บริษัทสะเตรทเทรดดิ้ง มาลงทุนทำเหมืองแร่ที่ภูเก็ต และบริษัทเอเซียติคมาดำเนินการที่ตะกั่วป่า ติดต่อธนาคารชาร์เตอร์ ในปีนังมาเปิดสาขาที่ภูเก็ต นับเป็นธนาคารต่างประเทศแห่งแรกที่เข้ามาเปิดทำการในประเทศไทย
                -  ด้านการศึกษาและศาสนา   ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจังโดยจัดให้มีมาสอนตามวัด นิมนต์พระสงฆ์มาสอนเด็กและชาวบ้านให้อ่านออกเขียนได้ โดยใช้เงินรายได้จากเหมืองแร่เป็นเงินเดือนครู ๔-๑๐ บาท ต่อเดือน ดำเนินการซ่อมแซมวัดวาอาราม ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม และอาราธนาพระธรรมปาสาจารย์จากนครศรีธรรมราช มาเป็นเจ้าคณะมณฑลภูเก็ต จำพรรษาอยู่ที่วัดโฆสิตวิหาร โดยปรับปรุงวัดให้เป็นศูนย์กลางฟื้นฟูพระพุทธศาสนาของมณฑล
            นอกจากนี้ยังได้ส่งเยาวชนไปศึกษาวิชาการปกครองและระเบียบราชการที่กระทรวง ทบวงกรมต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ เมื่อจบการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง ในส่วนตัวท่านเองก็ได้ออกแนะนำ อบรมเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ก่อนส่งผู้ใดไปรับตำแหน่งจะเรียกมาอบรมสั่งสอน ตักเตือนเพื่อให้ไปปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                -  ด้านการสาธารณสุข  ในสมัยนั้นการสาธารณสุขยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรง พระยารัษฎา ฯ ได้จัดหาแพทย์ประจำตำบล หรือพระสงฆ์ ที่มีความรู้ทางแพทย์แผนไทยมาช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ราษฎร จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านอนามัย ออกไปแนะนำชาวบ้านตามตำบลต่าง ๆ
            ในจังหวัดภูเก็ตมีผู้คนเสียชีวิตด้วยโรคต่าง ๆ ปีละมาก ๆ จึงได้สร้างโรงพยาบาลที่ภูเก็ต มีอุปกรณ์ด้านการแพทย์ครบครัน ที่ทันสมัยที่สุดคือ เครื่องเอกซ์เรย์ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องแรกที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ท่านได้ชักชวนบรรดามิชชันนารีจากหัวเมืองมลายู มาทำงานในโรงพยาบาลภูเก็ตเป็นจำนวนมาก ได้ตั้งด่านกักกันโรคขึ้นที่เกาะตะเภา หน้าเมืองภูเก็ต เพื่อสะกัดกั้นเชื้อกาฬโรค จัดการสุขาภิบาลให้เป็นระบบ
            พระยารัษฎา ฯ เป็นผู้ที่มีบุคคลิกและวิธีการทำงานที่โดดเด่น ใหม่แปลกได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปกครองที่ยอดเยี่ยม กล่าวคือ มีความเชื่อมั่นในตนเอง ขยัน ใฝ่รู้ มีความคิดริเริ่ม ซื่อสัตย์สุจริต ผ่อนปรน มีเมตตาธรรม มีคุณสมบัติของสัตบุรุษ ใช้คนเหมาะกับงาน ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ จริงใจต่อผู้น้อย และให้ประชาชนมีส่วนร่วม สมควรเป็นนักปกครองตัวอย่างที่ปฎิบัติงานประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์

   
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์