ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ภาษาที่ใช้ในเขตจังหวัดระนอง มีลักษณะผสมผสาน โดยใช้ร่วมกับภาษาจีน ภาษาอังกฤษ
ภาษาพม่า ภาษามลายูและภาษาถิ่นภาคใต้ ภาษาถิ่นของชาวระนองมีสำเนียงการพูดแตกต่างออกไป
จากจังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้
วรรณกรรมพื้นบ้าน
ประกอบด้วยตำนาน - นิทานพื้นบ้านอันเป็นประวัติของสถานที่ต่าง ๆ
-
ตำนานอำเภอกระบุรี
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า มีกระทองตัวหนึ่ง (สีคล้ายทองคำ) ถูกชาวต่างชาติไล่ตีมาจากทะเลนอก
ผ่านมาทางแม่น้ำกระบุรี กระทองตัวนี้ได้ว่ายน้ำขึ้นไปบนชายหาดนาน้อย นายแก้วชาวบ้านในแถบนั้นจับได้จึงนำไปถวายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
นายแก้วมีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายบ้าน เป็นคนเก็บภาษีที่ดิน
ภาษีค่าคนเก็บปีละ ๒ บาทต่อคน และให้ชื่อเมืองว่าเมืองกระ
-
ตำนานบ้านทับหลีสุริยวงศ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ประพาสหัวเมืองปักศ์ใต้
โดยได้เสด็จ ฯ จากชุมพรไประนองทางสถลมารค ใช้ขบวนช้าง ๑๙๙ เชือก ทรงและประทับแรมที่พลับพลาดอนมาพระ
แล้วเสด็จ ฯ ประทับแรมต่อที่บ้านทับหลีสุริยวงศ์ นางหลี ภรรยาของนายวงศ์ ได้สร้างที่ประทับให้เป็นที่ประทับแรม
ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ทับหลีสุริยวงศ์ ปัจจุบันคือ บริเวณตลาดนัดทับหลี
-
ตำนานถ้ำพระขยางค์
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า นายแก้วมีภรรยาชื่อ นางน้อย มีบุตรสองคนคือนายทองกับนายเทพ
ต่อมานายแก้วได้ส่งบุตรชายไปเรียนวิชากับอาจารย์ที่เมืองนครศรีธรรมราช อาจารย์ทราบจากคำทำนายของตนว่า
วันหนึ่งบิดากับบุตรคู่นี้จะต้องฆ่ากันตาย เมื่อนายทองเรียนจบจึงเข้าไปลาอาจารย์กลับบ้าน
อาจารย์ได้ห้ามไว้และบอกว่าถ้ากลับไปจะเสียชีวิต แต่นายทองไม่เชื่อได้หลบหนีกลับบ้าน
เมื่อนายทองกลับถึงบ้าน ไม่พบนายแก้วซึ่งเดินทางไปที่เมืองนคร พบแต่แม่เลี้ยงชื่อนางจัน
ซึ่งเป็นภรรยาคนที่สองของนายแก้ว ได้ผูกพันได้เสียกัน ต่อมาเมื่อความรู้ถึงนายแก้วจึงเดินทางกลับ
นายทองได้ดักฆ่าพ่อด้วยกลวิธีต่าง ๆ แต่นายแก้วรู้ทันและจับนายทองได้ นำตัวไปมัดไว้บนหลังเขาลูกหนึ่ง
โดยนำขึ้นเขาหยังมัดมือมัดเท้าไว้ไม่ให้ข้าวปลาอาหารปล่อยให้ตากแดดจนตาย เขาลูกดังกล่าวมีถ้ำอยู่หลายแห่ง
เรียกกันว่าถ้ำขาหยั่ง หรือถ้ำขยางค์ หรือถ้ำพระขยางค์ ในปัจจุบัน
-
ตำนานปากจั่น
หลังจากนายทองตายแล้ว นายแก้วจึงมาชำระความกับนางจัน โดยจับนางจันมัดลอยแพไม้ไผ่
จนนางจันเสียชีวิต คลองนี้เลยได้ชื่อว่าคลองยายจัน ต่อมาเรียกแผลงเป็น คลองปากจั่น
และหมู่บ้านปากจั่น
นาฎศิลป์พื้นบ้าน
ได้แก่ ลิเกป่า ลิเกป่าสุขสำราญ รำร่อนแร่ เป็นต้น
-
ลิเกป่า
เป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่งของชาวชนบทภาคใต้ของประเทศไทย ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ชมไม่น้อยกว่าตะลุง
และมโนราห์ ชาวชนบทในจังหวัดระนองได้นำมาร้องเล่นและแสดงกันมาช้านานแล้ว
ตัวแสดงลิเกป่า มีประมาณ ๑๐ - ๒๐ คน รวมทั้งลูกคู่ซึ่งมีหน้าที่เล่นดนตรีประกอบ
และร้องรับเวลาที่ผู้แสดงร้องบท ตัวแสดงที่สำคัญมีแขกเทศเป็นพระเอก ยาหยีเป็นนางเอก
ภรรยาแขกเทศ เสนาเป็นตัวละครชูโรง เจ้าเมืองและตัวประกอบอื่น
ๆ ตามความเหมาะสมกับท้องเรื่องที่แสดง
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นนิยายทางฝ่ายมุสลิม หรือนำเอาเรื่องจักร ๆ วงศ์
ๆ ของไทยมาดัดแปลง หรือนำเอานวนิยายของอาหรับมาแสดง
การแต่งกายของตัวละคร ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เป็นลักษณะการแต่งกายขงอชาวมุสิมโดยทั่วไป
ตัวอย่างบทของตัวแสดงในลิเกป่าที่เป็นหลักคือ บทราชา บทยาหยี และบทเสนา
บทราชา
"จะกล่าวถึงท่านท้าวเจ้าภารา สถิตอยู่มหาปราสาทใน เสร็จสรงทรงเครื่องทันใด
เสด็จออกไปหน้าบัลลังก์"
บทยาหยี
"อะเด๊ะ สะยัน ตวนยาหยี ได้ยินสวามีร้องเรียก"
บทเสนา
"เสนารับสั่งบังคมลา แล้วคลานคล้อยถอยมาเร็วทันใด"
ลิเกป่า เป็นลิเกที่ชาวบ้านใช้การขับกลอนเป็นภาษาไทย เป็นกลอนหก กลอนแปด คล้ายกลอนลิเก
ส่วนมากเป็นกลอนสด ผู้แสดงต้องมีไหวพริบปฎิภาณในการใช้คำให้สัมผัสถูกต้องตามทำนองกลอน
-
ลิเกอุลู
คือลิเกที่แสดงกันในเขตสี่จังหวัดภาคใต้ ได้แก่จังหวัด สตูล ยะลา ปัตตานี
และนราธิวาส ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษายาวี ด้วยเหตุนี้ลิเกอุลู จึงใช้ภาษากลอนและบทเจรจาเป็นภาษายาวี
เวลาแสดง
แขกเทศต้องเหนื่อยมากเพราะต้องเต้นอยู่ตลอดเวลา
ตามจังหวะดนตรีซึ่งใช้รำมะนาหรือโทน สอง-สามใบ โหม่ง ปี่ ฉิ่ง และซอ ใช้เวลาแสดงประมาณ
สี่ - ห้า ชั่วโมง ก่อนเริ่มแสดงเนื้อเรื่องแขกเทศจะออกมา
เกริ่นบทไหว้ครู
หรือ
เบิกโรงก่อน
แล้วดำเนินเรื่องทำนองว่า ในสมัยนี้มีแขกเมืองกัลกัตตา เดินทางมาค้าขายทำมาหากินตามหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกของไทยหลายแห่ง
และได้ภรรยาเป็นมุสลิม คือชาวเกาะในทะเลอันดามันด้านจังหวัดระนอง ประกอบอาชีพประมง
ภรรยาหลวงของแขกเทศชื่อยาหยี อยู่กินกันมานาน แขกเทศคิดถึงบ้านเมือง และพ่อแม่ของตนจึงเข้าพบเจ้าเมือง
ขอลากลับบ้านเมือง ส่วนยาหยีไม่ยอมไปเพราะหนทางไกลเดินทางลำบาก และเป็นห่วงพ่อแม่ด้วย
แขกเทศจึงอ้อนวอนขอร้องและบังคับ ยาหยีจำใจต้องไปแล้วไปลาพ่อแม่ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง
สองสามีภรรยาพร้อมเสนาผู้ติดตามได้โดยสารเรือ ระยะทางไกลใช้เวลาเดินทางนาน
ระหว่างทางก็ชมทิวทัศน์และธรรมชาติให้ยาหยีฟังเพื่อแก้เหงา และคลายความคิดถึงบ้าน
จนกระทั่งถึงเมืองของแขกเทศ
สถานที่ส่วนใหญ่จะแสดงบนเวที จัดฉากให้สวยงามเพียงเล็กน้อย มีทางเข้าออกสำหรับตัวละครเอาไว้สองทาง
เหมือนกับเวทีละครทั่วๆ ไป พวกลูกคู่ซึ่งมีหน้าที่เล่นดนตรีประกอบและร้องรับบทร้องของตัวละคร
จะนั่งอยู่หน้าฉากข้าง ๆ เวที
ขั้นแรกลูกคู่จะร้องเพลงซึ่งบอกให้ทราบว่า ต่อไปนี้จะมีแขกเทศออกมาเกริ่นเรื่องราว
ลูกคู่ร้องเพลงสามเที่ยว พร้อมกับตีจังหวะดนตรีไปด้วย เมื่อจบแล้วแขกเทศก็ออกมาร้องบทของตน
มีท่าทางประกอบเมื่อจบเพลง ลูกคู่ร้องบทลูกคู่รับ แขกเทศเต้นเป็นจังหวะไปตามเนื้อเพลงและเสียงดนตรี
ตัวละครจะมีคนแรกที่ออกมาคือตัวแขกเทศ ซึ่งตรงกับลิเกในภาคกลาง และภาคใต้ทั่วไป
แขกเทศยังต้องใช้ภาษายาวีผสมภาษาไทย ทำหน้าที่ออกมาบอกเรื่องทักทายผู้ชม คำเจรจาจะเป็นเสียงแปร่งเหมือนแขกที่พูดภาษาไทยไม่ชัด
ผสมกับคำหรือติดประโยคที่ติดตลก คิดได้สองแง่สองง่ามคือ คำที่มีความหมายคาบลูกคาบดอก
กลอนบทแรกใช้ "สะละมาหน้า ฮารุมมาหน้า ดาเห้ร ดาหร้า อาเด้ะระย้า สะยะบนตะเป๊ง"
ซึ่งเป็นบททักทายและแสดงความเคารพผู้ชมนั่นเอง
ต่อจากแขกเทศจะเป็นตัวราชาหรือเจ้าเมือง บางครั้งเรียกว่า รายา ตามเสียงมาเลย์
เพื่อคล้องจองกับคำราชินี รานี หรือยาหยี ทั้งคู่จะออกมาปรึกษาการบ้านการเมือง
หรือปรารภเรื่องราชบุตร ราชธิดา เรื่องผู้สืบทอดสมบัติ การสู้รบกับศัตรู แล้วแต่เรื่องอาจจะออกมาพร้อมกันทั้งเสนา
ตัวตลก ตัวพระเอก นางเอก มีฤาษี มีโจร จะดำเนินเรื่องคล้ายหนังตะลุง หรือโขนรุ่นเก่า
ก่อนที่จะมีตัวละครเป็นบุคคล ก่อนตัดเป็นตัวหนังตะลุง
ผู้แสดงรุ่นก่อนจะมีแต่ผู้ชายล้วน แม้จะเป็นบทยาหยี บทนางเอก ก็ใช้ผู้ชายโดยแต่งกายเป็นผู้หญิง
สวมบทบาทดัดเสียงให้คล้ายคลึงกับผู้หญิง
รำร่อนแร่
เป็นการแสดงนาฎลีลาที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นภาคใต้
โดยถ่ายทอดเป็นรูปแบบการทำมาหากินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ การร่อนแร่
ผู้แสดงจะแต่งกายด้วย
ชุดยาหยา
ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะของหญิงชาวพื้นเมืองภาคใต้
การหาแร่ของชาวบ้าน หรือที่เรียกกันว่าร่อนแร่นั้น จะใช้ภาชนะที่เรียกว่า
เลียง
ทำจากไม้ ลักษณะคล้ายกะทะแต่ไม่มีหู ในการร่อนแร่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
จะต้องลงไปยืนอยู่ในน้ำ นุ่งผ้าถุงสั้น ๆ เหนือเข่าเล็กน้อย ที่เอวจะทำชายพก
เมื่อได้แร่แล้วจะนำมาใส่ที่ชายพก
วิธีร่อนแร่ เริ่มด้วยการใช้เสียมขุดดิน หิน กรวด ทราย ตลอดจนสิ่งต่าง
ๆ ที่ปนมากับแร่ขึ้นมาทั้งหมด จากนั้นจึงใช้มือส่าย หรือร่อน เอาสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป
คงเหลือแต่แร่
ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการทำมาหากิน
การทำหากินของชาวระนอง แต่เดิมประกอบอาชีพประมง ทำป่าไม้ ทำสวนยางพารา ทำเหมืองแร่เป็นส่วนใหญ่
การทำเหมืองแร่
จังหวัดระนองมีประวัติการทำเหมืองแร่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย อาชีพการขุดแร่ของราษฎรถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ทำให้เกิดการสร้างเมืองระนองขึ้น การขุดแร่ในสมัยก่อนใช้แรงคนหาแร่มาร่อน
ในขุมน้ำที่ขุดขึ้น หรือมิฉะนั้นก็อาศัยน้ำในลำธาร ในการล้างและแต่งแร่ให้สะอาด
การขุดหาแร่ได้เริ่มวิวัฒนาการเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่สมัยต้นในระยะเริ่มบุกเบิก
โดยได้ชักจูงกรรมกรจีน จากประเทศจีนจำนวนมากเข้ามาทำเหมืองแร่ มีการทำเหมืองแร่ใหญ่
ๆ เช่น เหมืองแล่น ที่ปากจั่น ทุ่งคา พรรั้ง บางริ้น สระส้มแป้น กะเปอร์ ฟากแม่น้ำแขวงระนอง
ราชกรูด บางพระ และแขวงเมืองตะโก ที่หาดทรายขาว ได้มีการทำการขุดแร่เป็นล่ำเป็นสัน
ผลผลิตที่ได้เป็นทวีคูณ ทำให้มีการขยายงานและวิวัฒนาการโรงถลุงแร่ขึ้น เรียกกันว่า
โรงกลาง เริ่มมีแห่งแรกที่ตัวเมืองระนอง ต่อมาได้ขยายไปอีกหลายแห่งคือที่ตำบลบางพระ
ที่ปลายคลองปากจั่น ที่ราชกรูด ที่กะเปอร์ และที่หาดทรายขาว
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้มีการ
เรือขุดแร่มาใช้ที่เมืองระนอง
และขยายตัวออกไปยังตำบลต่าง ๆ ผลผลิตแร่ของเรือขุดเฉลี่ยประมาณ ๑๐๐
หาบต่อลำต่อเดือน ราคาแร่ในห้วงเวลานั้นประมาณหาบ (๖๐.๔๘ กก.) ละ ๖๕.๗๐ บาท
บริษัทเรือขุดแร่ทั้งหมดเป็นของชาวอังกฤษ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา
การทำเหมืองแร่หยุดชะงักไป รัฐบาลไทยได้เข้าครอบครองบริษัทของชาวอังกฤษดังกล่าว
และเปิดดำเนินกิจการเองในนามของบริษัทแร่และยางไทย
ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในจังหวัดระนองได้วิวัฒนาการเข้าสู่ยุคใหม่เป็นครั้งที่สามคือ
ใช้
วิธีเหมืองสูบ
โดยได้เปิดดำเนินการในลานแร่ บริเวณที่ไม่เหมาะกับการใช้เรือขุดหาแร่ มีผู้ประกอบการใหญ่
ๆ อยู่ห้าราย
หลังจากใช้วิธีเหมืองสูบอยู่ประมาณ ๒๐ ปี จึงได้เปลี่ยนแปลงการทำเหมืองแร่ดีบุกในลานแร่
โดย
วิธีเหมืองหาบ
เป็นที่นิยมแพร่หลายควบคู่ไปกับเหมืองสูบ จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเหมืองแร่ดีบุกประสบภาวะราคาแร่ดีบุกตกต่ำ ทำให้หยุดกิจการไปเป็นจำนวนมาก
มีผลกระทบต่อการผลิตแร่วุลแฟรม ดินขาวและแร่ที่เป็นพลอย ได้จากการทำเหมืองแร่ดีบุก
แต่เนื่องจากสภาพทางธรณีวิทยาแหล่งแร่แบบฉบับหาดส้มแป้น เป็นแหล่งแร่ในหินแกรนิต
ซึ่งมักจะมีแร่ที่สามารถทำเหมืองได้สามชนิด อยู่รวมกันคือ แร่ดินขาว แร่ดีบุก
และแร่วุลแฟรม โดยมีแร่ดินขาวเป็นแร่หลัก แร่ดีบุกและวุลแฟรมเป็นแร่รอง ส่วนแร่อื่น
ๆ เช่น ฮิลเมไนท์ โคลัมไบท์ แทนทาไลท์ โนมาโซท์ วีโนไทน์ เซอร์กอน เป็นแร่พลอยได้
ดังนั้นปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงผลิตแร่ดินขาวเป็นหลัก ดินขาวมีคุณสมบัติเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเซรามิค
ดินขาวที่หาดส้มแป้น อำเภอเมือง ฯ มีราคาดี ปัจจุบันราคาตันละประมาณ
๑,๐๐๐ บาท
|