มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถาน
วัดอนุบรรพต (วัดเขาน้อย)
อยู่ในเขตตำบลบ้านใหม่หนองไทร อำเภออรัญประเทศ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยรัฐบาลไทยได้มีโครงการจัดสร้างทางรถไฟสายตะวันออกติดต่อเส้นทางสายแปดริ้ว
(ฉะเชิงเทรา) ผ่านจังหวัดปราจีนบุรี อำเภอกบินทรบุรี อำเภอเมืองสระแก้ว ไปถึงอำเภออรัญประเทศ
ไปจดพรมแดนไทยที่คลองลึก เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับกัมพูชาซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส
อุโบสถ
มีลักษณะสวยงามและแปลกกว่าอุโบสถวัดทั่วไป มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส
กว้างด้านละ ๑๑.๕๐ เมตร หลังคาทรงไทย มียอดแหลมเป็นแบบสองชั้น ชั้นแรกเป็นรูปหกมุข
ภายในบรรจุรอยพระพุทธบาทจำลองเนื้อทองเหลือง มีบันไดนาคทอดตัวลงมายังเชิงเขาทั้งสี่ด้าน
นับเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงาม เป็นศาสนสถานที่ชาวอำเภออรัญประเทศ และชาวอำเภอใกล้เคียง
ให้ความเคารพสักการะตลอดมา
ประติมากรรมบนบานประตูของอุโบสถ เป็นการแกะสลักไม้เรื่องทศชาติชาดก ในตอนเวสสันดรชาดก
นอกจากนั้นยังมีเรื่องรามเกียรติ์และเทวดาต่าง
ๆ
จิตรกรรมฝาผนังเป็นแบบดั้งเดิม เขียนเรื่องทศชาติ และพุทธประวัติ มีสีสดงดงามมาก
วัดสันติธรรม (ไทยสามารถ)
อยู่ที่บ้านไทยสามารถ ตำบลบ้านด่าน อำเภออรัญประเทศ เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมหลากหลาย
โดยได้เอารูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จีนและเขมรมาประยุกต์ผสมผสานเป็นสิ่งก่อสร้างได้สัดส่วน
ทำได้สวยงามแปลกกว่าวัดอื่น ไม่ว่าจะเป็นหอไตร หอระฆัง ซุ้มประตู หรือกำแพงวัด
โดยมีพระอาจารย์สารินทร์ ธมฺมปาโล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสเป็นผู้ออกแบบ
และควบคุมการก่อสร้างเองทั้งหมด
ประติมากรรมภาพปูนปั้นประดับหอไตรและกำแพงวัด เป็นการนำเอาศิลปกรรมแบบเขมรมาผสมผสานกับศิลปกรรมไทยได้อย่างงดงาม
ประติมากรรมส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องราวในลัทธิพราหมณ์ และศาสนาพุทธ
หอพระไตรปิฎกเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนที่มีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทยที่มีสัดส่วนสวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง
วัดพรหมสุวรรณ
เดิมเป็นสำนักปฏิบัติธรรมพรหมคีรีศรีบรรพต ตั้งอยู่ที่เชิงเขาคันนา อำเภอตาพระยา
ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙
อุโบสถสร้างตามรูปแบบศิลปะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ มีความสูง
๙ เมตร กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๙ เมตร
พื้นปูด้วยหินแกรนิต
ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธเมตตาจาตุรนต์รัศมี เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก เป็นพระประธานในอุโบสถ
รมสนิมเขียวสำริด
หน้าตักกว้าง ๙ ฟุต ๙ นิ้ว สูง ๙ ฟุต ๙ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกแบบศิลปะบายน
วัดเขาป่าแก้ว
อยู่ในตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น มีอุโบสถตั้งอยู่บนภูเขา สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๕ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ งดงามตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา
วัดป่าแก้วมีสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับเป็นสถานที่อบรมปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
วัดสระแก้ว
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีอุโบสถสร้างด้วยไม้ มีฐานเป็นปูน เป็นอุโบสถเก่าของวัด
สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา
มีรูปทรงและสัดส่วนที่งดงามแบบดั้งเดิม
วัดชนะไชยศรี
เดิมชื่อวัดเกาะ อยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอรัญประเทศ
เชื่อกันว่าวัดนี้สร้างขึ้นหลังจากที่บรรพบุรุษของชาวไทยย้อ อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภออรัญประเทศ
อุโบสถ
สร้างขึ้นตามคติความเชื่อแบบไทยดั้งเดิม มีขนาดและสัดส่วนที่งดงาม ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี
วัดวังน้ำเย็น
อยู่ในเขตอำเภอวังน้ำเย็น ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพวาดที่สวยงาม
ชัดเจนฝีมือช่างพื้นบ้านจากจังหวัดปทุมธานี เป็นภาพเรื่องเกี่ยวกับทศชาติชาดก
และพุทธประวัติ วาดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
วัดนครธรรม
อยู่ในตำบลวัฒนานคร อำเภอวัฒนานคร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว หรือหลวงพ่อปูน
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ เดิมเป็นพระประธานอยู่
ณ วัดบ้านจิก ตำบลวัฒนานคร อยู่ช้านานไม่มีข้อมูลว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง
เพียงแต่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธรูปทองคำขาว ได้อัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันทน์
โดยการอพยพของพลเมืองในสมัยก่อน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงได้นำปูนมาพอกปั้นครอบไว้
และได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดบ้านจิก ต่อมาวัดบ้านจิกทรุดโทรมลงจนไม่สามารถซ่อมแซมได้
ถูกทอดทิ้งเป็นวัดร้าง ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดนครธรรม (วัดสระลพ) ขึ้น ก็ได้อัญเชิญหลวงพ่อขาวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร
ซึ่งเป็นอาคารไม้ หลังคาสังกะสีอยู่บริเวณกลางวัด กล่าวกันว่าขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อขาวไปวัดนครธรรม
โดยใช้ล้อเลื่อนบรรทุกไปใช้เชือกมนิลาโยงให้ประชาชนช่วยกันฉุดลาก เกิดฝนตกติดตามมาอย่างหนัก
โดยไม่มีเมฆฝนตั้งเค้ามาก่อน
ศาสนวัตถุ
ศาสนวัตถุที่เก็บรักษาอยู่ที่วัดตาพระยา
วัดตาพระยาอยู่ที่บ้านตาพระยา เป็นแหล่งสะสมโบราณวัตถุหลายชนิด ที่สำคัญมีดังนี้
พระพุทธรูปนาคปรกโบราณ
สร้างด้วยหินหน้าตักกว้าง ๑๙ นิ้ว สูงถึงหัวนาค ๒๗ นิ้ว หัวและหางนาคหัก ข้อมือขวาหักพอกต่อด้วยปูนสวมมงกุฎ
เป็นพระพุทธรูปศิลปเขมร มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ หินมีสีเขียว
ขุดพบที่กรุบ้านโคกไพล เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ เรียกกันว่า หลวงพ่อทับพระยา
พระพุทธรูปทรงเครื่องปางนาคปรก
เป็นพระพุทธรูปศิลา หน้าตักกว้าง ๖ นิ้ว สูงจากฐานถึงหัวนาค ๑๓ นิ้ว พระเกศคล้ายสวมพระมาลา
พระกรรณเป็นตุ่มหย่อนลงมาเหมือนใส่ตุ้มหู พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ ในสระใกล้คลองทางทิศเหนือของอำเภอตาพระยาในสมัยนั้น
เรียกกันว่า หลวงพ่อพัฒนาการ
พระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัย
หน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกศ ๙ นิ้ว พระกายอวบ เรียกกันว่าหลวงพ่ออยุธยา
ศาสนาวัตถุที่วัดหนองแวง
วัดหนองแวงตั้งอยู่ที่บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง กิ่งอำเภอโคกสูง เป็นแหล่งโบราณวัตถุที่ขุดได้จากปราสาทต่าง
ๆ ในเขตตำบลหนองแวง
พระพุทธรูปปางนาคปรก
แกะสลักจากหินทราย หน้าตักกว้าง ๔๒ เซนติเมตร ความสูงถึงเศียรนาค ๖๘ เซนติเมตร
ได้มาจากปราสาทบ้านโคกไพลตะวันออก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ เดิมไม่มีเศียร
เศียรเดิมอยู่ที่วัดกุดเวียนซึ่งพบภายหลัง ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อดำ ปัจจุบันพ่นสีดำเพื่อให้ดูเป็นของใหม่
พระพุทธรูปปางนาคปรกหรือพระไภสัชยคุ
พบที่เนินโบราณสถานโคกสำโรง บ้านคลองแผง ตำบลทัพเสด็จ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางนาคปรก
สลักด้วยหินทรายหน้าตักกว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๕๐ เซนติเมตร มีหม้อน้ำมนต์อยู่ในพระหัตถ์
เป็นแบบพระพุทธรูปที่นิยมสร้างกันมาก มีรูปแบบศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
๗ แห่งกัมพูชา ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘
|