มรดกทางธรรมชาติ
พื้นที่ป่า
จังหวัดสระแก้ว มีลักษณะภูมิประเทศทางตอนเหนือเป็นเนินเขาสูงจนถึงภูเขา ส่วนใหญ่ยังคงมีสภาพเป็นป่า
ทางตอนใต้มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาดจนถึงเนินเขา มีป่าไม้ปกคลุม ในปี พ.ศ.๒๕๓๘
มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณ ๗๕๓,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๑๗ ของพื้นที่จังหวัด
แบ่งเป็นป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี
ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย และพื้นที่ป่าอื่น ๆ
ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นพื้นที่ป่าไม้ส่วนที่มีสภาพสมบูรณ์
เป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธารที่สำคัญ มีอยู่ในทุกอำเภอรวม ๑๐ ป่าได้แก่ ป่าตาพระยา
ป่าท่ากระบาก ป่าห้วยไคร้ ป่าเขาฉกรรจ์ ป่าโนสาวเอ้ - ป่าปลายคลองห้วยไคร้
- ป่าพระสะพึง ป่าแก่งดินสอ - แก่งใหญ่ - เขาสะโตน ป่าวัฒนานคร ป่าเขาฉกรรจ์ฝั่งเหนือ
ป่าโคกสูง ป่าสักท่าระพา ป่าท่าแยก
ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย
คือ อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ซึ่งมีอยู่สามแห่งคือ อุทยานแห่งชาติปางสีดา
อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
อุทยานแห่งชาติปางสีดา
เป็นอุทยาน ฯ แห่งแรกในจังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอวัฒนานคร
จังหวัดสระแก้ว และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๘๔๕
ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕๒๘,๐๐๐ ไร่ ลักษณะทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน
เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด ซึ่งทอดยาวมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยาน
ฯ ทับลาน ต่อไปยังอุทยาน ฯ ตาพระยา จนจรดกัมพูชา สภาพป่าไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติต่าง
ๆ ยังอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ร้อยละ ๙๕
อุทยานแห่งชาติปางสีดา เดิมเป็นหน่วยงานในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี
ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีจุดเด่นคือ น้ำตกปางสีดา
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นการรักษาป่าต้นน้ำลำธาร และสภาพป่าธรรมชาติโดยรอบ
ได้มีการสำรวจและตั้งอุทยานโดยให้ชื่อว่า วนอุทยานปางสีดา
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑
ต่อมาได้มีการสำรวจพื้นที่โดยรอบพบว่ามีสภาพป่าที่สมบูรณ์ มีทิวทัศน์ที่สวยงาม
มีน้ำตกหลายแห่งเช่น นำตกปางสีดา น้ำตกโตน นำตกผาตะเคียน น้ำตกแดงมะค่า นำตกถ้ำค้างคาว
ฯลฯ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำแม่น้ำบางปะกง
ได้มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ นับเป็นอุทยาน ฯ แห่งที่
๔๑ ของประเทศ
น้ำตกปางสีดา
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ ๘๐๐ เมตร เป็นน้ำตกทิ้งตัวจากหน้าผาสูงประมาณ
๘ เมตร เบื้องล่างมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ นับเป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว
นำตกผาตะเคียน
อยู่เหนือน้ำตกปางสีดาขึ้นไปประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นหน้าผาสูงประมาณ ๑๐ เมตร
เป็นน้ำตกที่ทิ้งตัวจากหน้าผาสูง เบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และมีน้ำมากในฤดูฝน
น้ำตกแดงมะค่า
เป็นน้ำตกที่ใหญ่ที่สุด และงดงามที่สุดในอุทยาน ฯ เป็นน้ำตกสูง ๗๐ เมตร บริเวณใกล้เคียงน้ำตก
ยังมีน้ำตกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มอีกหลายแห่ง รวมเรียกว่า กลุ่มน้ำตกแควมะค่า
ประกอบด้วยน้ำตกสวนมั่น - สวนทอง น้ำตกรากไทรย้อย น้ำตกม่านธารา
น้ำตกถ้ำค้างคาว
เป็นน้ำตกจากหน้าผาสูง บริเวณน้ำตกมีถ้ำขนาด ๕๐๐ เมตร
น้ำตกลานแก้ว
อยู่ห่างจากน้ำตกถ้าค้างคาวประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นน้ำตกสามชั้นสวยงามมาก บริเวณรอบ
ๆ เต็มไปด้วยเห็ดป่าและกล้วยไม้ป่า
จุดชมวิว
เป็นจุดที่สามารถชมภูมิประเทศ ทิวเขา และสภาพผืนป่าได้ดี โดยเฉพาะเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
และดวงอาทิตย์ตก
อุทยาน ฯ ตาพระยา
ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นพื้นที่ป่าอยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดยาวไปตามแนวทิศตะวันออก
กับเขตแดนระหว่างที่ราบสูงโคราช ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับที่ราบลุ่มภาคกลาง
และที่ราบลุ่มในกัมพูชา ที่เรียกกันว่า เขมรต่ำ
ครอบคลุมพื้นที่สองจังหวัดคือ จังหวัดบุรีรัมย์ ในเขตอำเภอบ้านกรวด อำเภอโนนดินแดง
และอำเภอละหานทราย กับจังหวัดสระแก้ว ในเขตอำเภอตาพระยา มีพื้นที่ประมาณ ๕๙๕
ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๗๒,๐๐๐ ไร่ ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซ้บซ้อน
ในเทือกเขาสันกำแพง
ตลอดแนวจนถึงทิวเขาพนมดงรัก
สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๑๐ - ๕๘๐ เมตร ยอดสูงสุดคือ ยอดเขาพรานนุช
อุทยาน ฯ ตาพระยามีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าของประเทศกัมพูชา และติดต่อกับป่าอนุรักษ์อีกสามแห่ง
คือ อุทยาน ฯ เขาใหญ่ อุทยาน ฯ ทับลาน อุทยาน ฯ ปางสีดา รวมเป็นป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่
ทางทิศตะวันออกตอนบนมีพื้นที่รวมกันประมาณ ๕,๗๔๐ ตารางกิโลเมตร
บริเวณเขาพรานนุชและเขาสะแกกรอง เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยขวาง
และลำสะโตน ไหลลงสู่ทิศใต้ลงอ่างเก็บน้ำห้วยยาง
ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา ส่วนเทือกเขาตามแนวตะวันออ เป็นต้นกำเนิดของลำนางรอง
ไหลลงอ่างเก็บน้ำลำนางรอง ลำจังหันไหลลงอ่างเก็บน้ำลำจังหัน ลำปะเทียะ ไหลลงอ่างเก็บน้ำลำปะเทียะ
ห้วยตามะเมือง ห้วยแห้ง ห้วยตากิ่ว ห้วยหิน ห้วยดินทราย ห้วยนาน้อย ห้วยสูบ
ห้วยพลุ ห้วยโอบก ไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยโอบก และห้วยเมฆาไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยเมฆา
จังหวัดบุรีรัมย์
ในเขตอุทยาน ฯ มีโบราณสถานที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจหลายแห่ง มีปราสาทหินขนาดเล็ก
ตั้งกระจายอยู่ทั่วไป มีแหล่งตัดหิน เพื่อนำไปทำปราสาทในบริเวณใกล้เคียง
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือเขาพนมกระวาน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของกัมพูชา
และภาคตะวันออกของไทย โดยมีปลายสุดของเทือกเขาอยู่ในบริเวณเขาอ่างฤาไน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ เป็นโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า
อันเนื่องจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้คงความสมบูรณ์สำหรับแหล่งต้นน้ำลำธาร
และรักษาสภาพแวดล้อม ในส่วนของจังหวัดสระแก้ว ในเขตอำเภอวังน้ำเย็น และกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์
โดยประกาศตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ และปี พ.ศ.๒๕๓๕ มีพื้นที่ประมาณ
๒๙,๕๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ราบด้านทิศเหนือของเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งเป็นส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของเทือกเขาพนมกระวานในกัมพูชา
มีเขาสอยดาวเหนือ และเขาสองดาวใต้ เป็นยอดเขาที่มีความสมบูรณ์ที่สุด ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของไทย
มีความสูงจากระดับน้ำทะล ๑,๖๗๐ เมตร
สัตว์ป่าในเขตพื้นที่นี้มีความหลากหลายคล้ายคลึงกับสัตว์ป่าที่ปรากฎอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน
บางส่วนมีความหลากหลายคล้ายคลึงกับสัตว์ป่าที่พบในบริเวณแหลมมลายู มาเลเซียและภาคใต้ของไทย
เขาฉกรรจ์
เป็นภูเขาหินปูนดึกดำบรรพ์ มีลักษณะเป็นภูเขาสามลูกเรียงกัน โดยมีเขาฉกรรจ์เป็นลูกใหญ่ที่สุด
ตอนกลางมีเขาภูมิ่ง
อยู่ทางด้านซ้าย และเขาผาละอยู่ทางด้านขวา
ภูเขาทั้งสามลูกถูกจัดเป็นสวนรุกขชาติ มีพืชสมุนไพรและไม้มงคลหลากชนิดขึ้นตามซอกหิน
เขาฉกรรจ์ มีถ้าอยู่ ๗๒ ถ้ำที่สำคัญคือ ถ้ำทะลุ
หากขึ้นไปบนปากถ้ำซึ่งมีลักษณะเป็นช่องโหว่ทะลุไปอีกด้านหนึ่งของภูเขา จะเห็นทัศนียภาพของอำเภอเขาฉกรรจ์ทั้งหมด
ในบรรดาถ้ำต่าง ๆ เป็นที่อาศัยของลิงป่าฝูงใหญ่ และค้างคาวจำนวนมาก ในเวลาเย็นฝูงค้างคาวจะบินออกไปหากินจากถ้ำต่างๆ
จนมองเห็นเป็นสายดำมืดท้องฟ้านานนับชั่วโมง
นอกจากนี้ถ้ามองไปยังบริเวณหน้าผาด้านหนึ่งของเขาฉกรรจ์จะมองเห็นภาพนักรบ
นั่งอยู่บนคอช้างหันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นที่แปลกตาแก่ผู้พบเห็น
ละลุหรือโป่งยุบ
อยู่ในอำเภอตาพระยา เลยเส้นทางเข้าสู่อุทยาน ฯ ตาพระยาประมาณ ๑ กิโลเมตร ทางด้านขวามือจะสังเกตเห็นละลุ
หรือโป่งยุบ ลักษณะเป็นเขาดินที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ มีลักษณะคล้ายแพะเมืองผี
ที่จังหวัดแพร่ แต่มีขนาดเล็กกว่า มีบริเวณกว้างประมาณ ๔๐๐ ตารางกิโลเมตร
ถ้ำน้ำ
อยู่ที่บ้านเขาตาอ๊อก ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ
๑๖ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๓๓๙๕ เป็นถ้ำที่มีธารน้ำใต้ดินผ่าน ทำให้น้ำภายในถ้ำไม่แห้งและไหลออกจากถ้ำตลอดปี
น้ำใสเย็น ระดับน้ำจากปากถ้ำจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางชาวงสูงถึง ๒ เมตร มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่หลายชนิด
ภายในถ้ำค่อนข้างมืด และมีหินย้อยบริเวณเพดานถ้ำ นับว่าเป็นถ้ำที่มีธารน้ำ
และหินย้อยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว
ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสระแก้วเป็นเนินสูง และที่ราบสูง ทำให้มีต้นน้ำลำธารสำคัญหลายสายคือ
คลองพระสะทึง
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาจันทบุรี เป็นลำน้ำสำคัญไหลผ่านอำเภอวังน้ำเย็น และทางตอนใต้ของอำเภอเมือง
มีแนวทางไหลจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก ไปบรรจบคลองพระปรง ที่บ้านทุ่งช้าง
แล้วไปบรรจบแควหนุมาน (บริเวณบ้านตลาดเก่า) ในเขตอำเภอกบินทรบุรี จังหวัปราจีนบุรี
นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากมีน้ำไหลตลอดปี เป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของจังหวัดสระแก้ว
คลองพระปรง
มีต้นกำเนิดจากเขาห้วยชัน เขาภูเขียวในเขตติดต่อสามจังหวัดคือ จังหวัดสระแก้ว
จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นลำน้ำธรรมชาติที่ไหลผ่านทางตอนเหนือของอำเภอเมือง
ฯ มีลำน้ำสาขาไหลมาบรรจบเป็นจำนวนมาก แล้วไหลไปบรรจบคลองพระสะทึง ที่บ้านทุ่งช้าง
นับว่าเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญมาก ช่วยในการเพาะปลูก และเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำน้ำประปาของอำเภอวัฒนานคร
คลองพรหมโหด
มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอวัฒนานคร ไหลผ่านพื้นที่ตอนกลางของอำเภออรัญประเทศ ไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่เขตแดนกัมพูชาที่บ้านคลองลึก
ถือเป็นแนวเขตอนุรักษ์ของทั้งไทยและกัมพูชา เป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ
คลองน้ำใส
มีต้นกำเนิดจากภูเขาในเขตประเทศกัมพูชา รวมกับต้นน้ำที่กำเนิดในเขตจังหวัดจันทบุรี
คลองตาหลังใน
มีต้นกำเนิดจากเขาสอยดาว ในเขตจังหวัดจันทบุรี ไหลขนานไปกับคลองพระสะทึง ไหลผ่านอำเภอวังน้ำเย็น
ไปบรรจบคลองพระสะทึง ในตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ตลอดปี
อ่างเก็บน้ำท่ากระบาก
อยู่ที่บ้านคลองทราย ตำบลหนองตะเคียนบอน อำเภอวัฒนานคร ห่างจากตัวอำเภอประมาณ
๒๘ กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามแนวโครงการพระราชดำริ บริเวณอ่างเก็บน้ำจะปลูกต้นไม้พันธุ์ต่าง
ๆ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอกและไม้ประดับ อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ นอกจากจะเป็นอ่างเก็บน้ำแล้ว
ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีทิวทัศน์ที่สวยงามโดยเฉพาะในฤดูหนาว นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัด
อ่างเก็บน้ำเขาสามสิบ
อยู่ในตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใช้กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร
ตามโครงการพระราชดำริ พื้นที่ราบเชิงเขาตำบลเขาสามสิบ สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี
เป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์สวยงาม ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
อ่างเก็บน้ำอื่น ๆ
นอกจากอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่งดังกล่าวแล้ว ยังมีอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่ง ที่กระจายอยู่ตามอำเภอต่าง
ๆ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยยาว อยู่ในเขตอำเภอตาพระยา อ่างเก็บน้ำหมัดลองทราย
อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยชัน อ่างเก็บน้ำบ้านหนองคันโต อ่างเก็บน้ำบ้านภักดีแผ่นดิน
อ่างเก็บน้ำบ้านทับประดู่ อ่างเก็บน้ำคลองวังจิก ในอำเภอวัฒนานคร
|