มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
ปราสาทเขาน้อย
ตั้งอยู่บนยอดเขาน้อยสีชมพู ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ ห่างจากพรมแดนไทย
- กัมพูชา ประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นอาคารก่ออิฐไม่ผสมปูนสามหลัง แต่ได้หักพังไปคงเหลือแต่ปรางค์องค์กลางกับเนินดินอีกสองเนิน
พบโบราณวัตถุหลายชิ้นในบริเวณปราสาทเขาน้อย ได้แก่ ทับหลังมีลักษณะศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก
ติดอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าปรางค์องค์กลาง จารึกอยู่บนแผ่นวงกบประตูปรางค์องค์กลางด้านขวามือของประตู
ระบุมหาศักราช ๕๕๙ ตรงกับ พ.ศ.๑๑๘๐ เสาประดับกรอบประตูเป็นเสารูปแปดเหลี่ยม
มีลายใบไม้ตามลักษณะศิลปะเขมรแบบกุเลน ประติมากรรมรูปบุคคลมีสี่กรยืนอยู่เหนือกระบือ
สันนิษฐานว่าเป็นรูปนางทุรคาปราบอสูรควาย
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ได้ดำเนินการขุดแต่งเขาน้อย พบว่าปรางค์ทิศเหนือ และปรางค์องค์กลางตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน
แต่ปรางค์ทิศเหนือสร้างยื่นล้ำออกมาข้างนอกมาก อาคารทิศใต้อยู่บนฐานสูงเท่ากันแต่แยกห่างออกไปเล็กน้อย
มีเพียงแนวอิฐด้านหน้านำมาเชื่อมกัน โบราณสถานทั้งหมดมีทางออกทางเดียวคือ
ทางทิศตะวันออก ด้านหน้าของปราสาทมีบันไดทอดขึ้นสู่ตัวอาคารทั้งสามหลัง ที่บันไดบางขั้นมีรอยบากเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสไว้ที่ปลายทั้งสองข้าง
อาจมีไว้เพื่อเสียบเสาไม้ ซึ่งต่อหลังคาเครื่องไม้จากซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน
แต่ทำเป็นประตูหลอกเสียสามด้าน ฐานปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสูงอีกชั้นหนึ่ง เป็นฐานปัทม์ประกอบด้วย
หน้ากระดานบัวคว่ำบัวหงาย ถัดขึ้นมาเป็นเรือนธาตุ เครื่องบนของปรางค์เป็นแบบจำลองของชั้นล่างขึ้นไปอีกสองชั้น
บันไดทางขึ้นมีเจ็ดขั้น ขั้นล่างสุด และขั้นที่หกเป็นอัฒจันทร์ ทำเป็นรูปปีกกา
ขั้นที่ ๔ เป็นที่พักบันไดทำเป็นลานอิฐ และขั้นที่เจ็ดเป็นธรณีประตู มีเดือยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
สำหรับเสียบวงกบทั้งสองข้าง ภายในองค์ปรางค์เป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง
๒.๓๐ เมตร
ปรางค์ทิศเหนือ
มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุม ขนาดกว้าง ๖.๖ เมตร ยาว ๗.๙๐ เมตร มีซุ้มประตูยื่นออกทุกด้าน
และเป็นประตูหลอกสามด้านเช่นกัน
ปรางค์องค์กลาง มีรายละเอียดประณีตซับซ้อนมาก
มีการย่อมุม เว้นช่องและเรียงอิฐลดหลั่นกันมากมาย ตั้งแต่ฐานจนถึงเรือนธาตุ
คงเหลือเฉพาะช่วงล่าง บันไดทางขึ้นมีเจ็ดขั้น ขั้นที่สี่เป็นที่พักบันได ปลายอีกด้านของที่พักบันไดมีแผ่นหินชนวนบาง
ๆ รูปครึ่งวงกลมวางอยู่ ซึ่งอาจนับได้เป็นขั้นที่ห้า บนบันไดขั้นที่หกมีฐานเสาสี่เหลี่ยมทั้งสองข้าง
วางหันหน้าออก ด้านบนมีรูปเดือย ด้านข้างมีเดือยเสียบเข้าไปในผนังซุ้ม ด้านหน้าสลักนูนสูงเป็นรูปช้าง
อยู่ภายในซุ้มลายใบไม้ ด้านตรงข้ามเป็นเดือยสลักนูนต่ำเป็นรูปคชสีห์ บันไดขั้นที่เจ็ดเป็นธรณีประตู
ภายในอาคารเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุม ขนาดกว้าง ๓.๖๐ เมตร ยาว ๕.๖๐ เมตร
บริเวณหน้าซุ้มประตูของปรางค์ทิศเหนือทุกซุ้มพบทับหลัง มีลักษณะเป็นศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก
แต่ทับหลังซุ้มประตูด้านใต้รูปคนขี้ม้า และขี่ช้างในวงรูปไข่เปลี่ยนเป็นรูปสัตว์ปีก
อาจเป็นหงส์และนกยูง ทับหลังซุ้มประตูด้านหน้า ส่วนตัวมกรถูกแทนที่ด้วยรูปเทพพนมทำท่าเหาะ
เข้าหากึ่งกลางทับหลัง ทับหลังซุ้มประตูด้านตะวันตก ทำรูปวงไข่ห้าวง และภายในวงรูปไข่มีรูปสัวว์ปีก
อาจเป็นนกแก้วหรือหงส์หรือนกยูง
อาคารด้านทิศใต้
เป็นอาคารสี่เหลี่ยนผืนผ้า ขนาดกว้าง ๕.๑๕ เมตร ยาว ๖.๔๐ เมตร มีบันไดทางขึ้นเจ็ดขั้น
แบบเดียวกับปรางค์องคต์กลาง
นอกจากทับหลังทั้งสี่ชิ้นที่องค์ปราสาททิศเหนือแล้ว ยังพบโบราณวัตถุทำจากหินทรายจำนวนมาก
ทั้งที่เป็นหินเนื้อหยาบ ค่อนข้างผุกร่อนจนถึงเนื้อละเอียดแกร่ง ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีเขียว
ได้แก่ศิวลึงค์ ศิวลึงค์ทำติดกับฐานโยนี ฐานรูปเคารพศิลากฤษ์ ธรณีประตู ประติมากรรม
รูปบุคคล ชิ้นส่วนประติมากรรมนูนต่ำรูปคนและรูปสัตว์ หินลับ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องเคลือบอยู่ทั่วไปคือ หม้อ ไห ฐานมีเชิง
และสังข์ดินเผา เครื่องโลหะและชิ้นส่วนเครื่องโลหะ ที่สำคัญได้แก่ ตราประทับ
ทำจากเหล็กหุ้มด้วยสำริดมีจารึกอยู่ที่ดวงตรา เป็นตัวอักษรในพุทธศตวรรษที่
๑๖ ใบมีดเหล็ก ห่วง เหล็ก เชิงเทียนเหล็ก เป็นต้น
โบราณวัตถุที่ทำจากหิน
แยกย่อยออกเป็นทับหลัง ศิวลึงค์ ฐานรูปเคารพและประเภทอื่น ๆ
ทับหลัง
พบอยู่บริเวณรอบปรางค์องค์ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือ มีสี่ชิ้น พบที่บริเวณปรางค์องค์กลางอีกหนึ่งชิ้น
เป็นลักษณะศิลปะเขมร สมัยก่อนเมืองพระนคร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒
- ๑๓
ทับหลังหมายเลข ๑
เป็นทับหลังของประตูทางเข้าปรางค์องค์กลาง ทำจากหินทราย กว้าง ๐.๕๒ เมตร ยาว
๑.๖๗ เมตร หนา ๐.๒๒ เมตร ด้านบนทำลวดลายเป็นรูปวงโค้งสี่วง มีลายลูกประคำเป็นขอบของวงโค้ง
มีลายดอกไม้ประดับอยู่ภายใน ระหว่างวงโค้งมีวงรูปไข่เป็นลายตั้งขวางสามวง
ภายในวงรูปไข่มีลายรูปสัตว์อยู่ตรงกลาง ที่ปลายสุดวงโค้งทั้งสองด้านสลักเป็นรูปมกรคายวงโค้งนั้นออกมา
เหนือมกรมีรูปบุคคลขึ่อยู่ด้านบน ภายใต้วงโค้งมีพวงมาลัย และพวงอุบะ ภายในพวงมาลัยมีลายใบไม้เป็นรูปสามเหลี่ยม
ขอบทับหลังด้านบนมีแนวลายเป็นลายดอกไม้แปดกลีบ สลับกับลายดอกไม้รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ขอบทับหลังด้านล่างมีแนวลายไม้ก้านขด ใต้ตัวมกรมีบัลลังก์รองรับประกอบกับลายบัวหงาย
ทับหลังชิ้นนี้เป็นศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุกที่รับอิทธิพลรูปแบบมาจากศิลปะอินเดีย
เช่น ลักษณะที่เป็นวงโค้งเล็ก ๆ อยู่ระหว่างรูปวงรี และภายในวงรีสลักรูปบุคคลอยู่ภายใน
ทับหลังหมายเลข ๒
พบบริเวณบันไดทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์ด้านทิศเหนือ ทำจากหินทรายเนื้อละเอียดสีเขียว
หน้ากว้าง ๐.๕๐ เมตร ยาว ๑.๓๗ เมตร หนา ๐.๑๙ เมตร แกะสลักด้านข้างทั้งสองด้าน
เป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่าข้างหนึ่ง ขาอีกข้างหนึ่งยกขึ้นไปด้านหลัง ผ้านุ่งทำเป็นกางเกงขาสั้นเหนือเขา
ด้านหน้ามีผ้าคาดเอวปล่อยชายลงมา เป็นลักษณะเขี้ยวตะขาบ ท่อนบนเปลือยเกล้ามวยไว้ด้านบนศีรษะ
หลังรูปบุคคลทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา ระหว่างบุคคลทั้งสองข้าง ทำเป็นลายวงโค้งหนึ่งวง
ปลายทั้งสองข้างของวงโค้งสลักเป็นลายพฤกษาวกกลับเข้าด้านใน ที่วงโค้งมีรูปไข่คั่นอยู่สามวง
ภายในวงรูปไข่ไม่มีการสลักรูปใด ๆ ไว้ ใต้วงโค้งทำเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงดออกไม้
รูปแบบของศิลปะของทับหลังชื้นนี้คงอยู่ในศิลปะแบบไพรกเมง มีอายุอยู่ประมาณ
พ.ศ.๑๑๘๐ - ๑๒๕๐
ทับหลังหมายเลข ๓
พบอยู่ทางด้านทิศใต้ขององค์ปรางค์ด้านทิศเหนือ ทำจากหินทรายเนื้อหยาบสีขาว
ขนาดกว้าง ๐.๓๕ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร หนา ๐.๑๖ เมตร ทำลวดลายแกะสลักด้านข้างทั้งสองด้านเป็นมกรสองตัว
หมอบอยู่บนแท่นเตี้ย ๆ หันหน้าเข้าหากัน ส่วนหางของแต่ละตัวทำเป็นวงโค้งสองวงห้อยออกไปด้านหลัง
เหนือมกรมีบุคคลนั่งชันเข่า มือด้านหนึ่งยกอยู่เหนือศีรษะ มืออีกข้าหนึ่งวางอยู่บนหัวเข่า
ไว้ผมยาว มีขมวดผมด้านบน ท่อนบนเปลือยเปล่า ท่อนล่างนุ่งผ้าสั้น ชายผ้าด้านหน้าขมวดเป็นปม
มกรทั้งสองข้าง กายโค้งออกมาสี่วง เข้าหากัน ลวดลายในวงโค้งเป็นลายดอกไม้หกกลีบและลายลูกประคำ
ระหว่างวงโค้งแต่ละวงสลักเป็นวงรูปไข่สามวง ภายในวงรูปไข่สลักเป็นรูปสัตว์ปีก
โดยวางรูปไข่สองวงนอก สลักเป็นรูปส่วนหัว ด้านข้างของสัตว์ปีกมีหงอนสามวง
รูปไข่วงกลาง สลักเป็นรูปหัวของสัตว์ปีกหน้าตรง รอบวงรูปไข่เป็นลายพันธุ์พฤกษา
ใต้วงโค้งเป็นพวงมาลัยห้อยอยู่ บางพวงทำเป็นรูปโค้ง บางพวงห้อยมาตรง ๆ ในปากมกรมีสัตว์รูปนก
ยื่นส่วนหัวออกมา
ทับหลังชิ้นนี้อาจกำหนดได้ว่า เป็นศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก มีอายุอยู่ประมาณ
พ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๒๐๐
ทับหลังหมายเลข ๔
พบบริเวณประตูหลอกด้านทิศตะวันตกของปรางค์องค์ด้านทิศเหนือ ทำจากหินทรายเนื้อละเอียดสีเขียว
ขนาดกว้าง ๐.๕๐ เมตร ยาว ๑.๓๓ เมตร หนา ๐.๑๔ เมตร ด้านข้างทั้งสองสลักเป็นรูปสิงห์
แต่มีเขาเหมือนวัว รูปสิงห์ด้านขวายังเป็นโกลบอยู่ ยืนด้วยสองขาหลังคล้ายกับจะก้าวเดินไปด้านข้าง
แต่หันหน้าไปด้านหน้า ยืนอยู่บนแท่นเตี้ย ๆ ระหว่างสิงห์ทั้งสอง มีวงโค้งทอดอยู่
ที่ปลายทั้งสองของวงขมวดเข้าด้านใน ส่วนของวงโค้งประกอบด้วยลายดอกไม้ พันธุ์พฤกษาและลายลูกประคำ
ระหว่างวงโค้งมีวงรูปไข่ห้าวงประดับอยู่เป็นระยะ รอบวงรูปไข่สลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา
ภายในวงรูปไข่สองวงนอกสลัก เป็นภาพด้านข้างของนก หันหน้าออกไปหาสิงห์ทั้งสอง
นกมีจงอยปากคล้านนกแก้ว ภายในวงรูปไข่คู่ถัดเข้ามาสลักเป็นภาพรูปนกด้านข้าง
แต่หันหน้าเข้าหาวงรูปไข่ที่อยู่ตรงกลาง ส่วนวงรูปไข่ในสุด สลักเป็นรูปหัวนกหันหน้าตรง
ใต้วงโค้งนี้ประกอบด้วยลายพวงมาลัย สลับกับระหว่างพวงที่ห้อยโค้งกับพวงที่ห้อยอยู่ตรง
ๆ
ทับหลังชิ้นนี้ เป็นลักษณะของศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง มีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ.๑๑๘๐
- ๑๒๕๐
ทับหลังหมายเลข ๕
พบทางด้านประตูหลอกด้านทิศเหนือของปรางค์องค์ด้านทิศเหนือ ทำจากหินทรายเนื้อหยาบสีค่อนข้างขาว
ขนาดกว้าง ๐.๔๒ เมตร ยาว ๑.๘๘ เมตร หนา ๐.๑๕ เมตร ที่ริมทั้งสองด้านสลักเป็นรูปมกรยืนอยู่บนแท่นเตี้ย
ๆ หันหน้าเข้าหากัน หางม้วนออกไปเป็นพวงบนหลังมกรสลักเป็นรูปบุคคลไว้ผมยาว
มีมวยอยู่เหนือศีรษะ ร่างกายอวบอ้วน มือข้างหนึ่งยกขึ้นเหนือศีรษะ มืออีกข้างหนึ่งวางอยู่บนหัวเข่า
ใส่กำไลที่ข้อมือทั้งสองข้าง มกรทั้งสองคาบวงโค้งออกมา มีลายดอกไม้และลายลูกประคำประดับอยู่ระหว่างวงโค้ง
มีรูปไข่คั่นอยู่เป็นระยะ จำนวนสามวง รอบวงรูปไข่แต่ละวง ประดับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา
ตรงกลางของวงรูปไข่ สลักรูปหน้าตรงของคนขี่ช้าง ด้านล่างของวงโค้งสลักเป็นรูปพวงมาลัยสลับปับรูปพวงดอกไม้
ทับหลังชิ้นนี้มีลวดลายศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก มีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ.๑๑๕๐ -
๑๒๐๐
ศิวลึงค์
ในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ถือว่าเป็นรูปเคารพสำคัญที่สุด ในศาสนสถานจะตั้งเป็นประติมากรรมประจาน
เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์แทนพระศิวะ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดมวลมนุษยชาติ
ในศิลปเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร นิยมทำศิวลึงค์เป็นชิ้นเดียวกับฐาน โดยโผล่ออกมาให้เห็นเฉพาะรุทธภาค
หรือปุชาภาคเท่านั้น อาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะจาม นอกจากนี้ยังมีศิวลึงค ์ซึ่งมีวิษณุภาคขนาดเล็กมาก
รวมทั้งศิวลึงค์รูปร่างคล้ายตะบอง ซึ่งปรากฎขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๔
ในศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร นิยมทำศิวลึงค์แบบใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของศิวลึงค์สมัยเมืองพระนคร
ซึ่งจะเคร่งครัดในการจัดวางส่วนสำคัญทั้งสามคือ ตอนล่างสุดเป็นพรหมภาคทำเป็นรูปแทนสี่เหลี่ยม
ตอนกลางซึ่งเป็นวิษณุภาค ทำเป็นรูปแปดเหลี่ยม และตอนบนเป็นรุทธภาค หรือปูชาภาคทำเป็นรูปทรงกระบอก
ความสูงส่วนทั้งสามนี้จะเท่ากัน การวางศิวลึงค์นี้ จะวางสอดลงไปในฐานที่เฉพาะรุทธภาคเท่านั้น
ที่ปรากฎอยู่ให้เห็น ส่วนที่เป็นพรหมภาคและวิษณุภาค จะฝังลงในฐานโยนี ซึ่งทำหน้าที่เป็่นอ่างรองรับน้ำ
ซึ่งใช้สำหรับสรงรูปเคารพ
ที่ปราสาทเขาน้อย พบประติมากรรมประเภทศิวลึงค์และฐานโยนีจำนวนหนึ่ง ศิวลึงค์ที่พบมีทั้งแบบที่ทำติดกับฐานโยนีโทรณะ
และแบบที่แยกถอดองค์ศิวลึงค์ออกได้
จากรูปแบบศิวลึงค์ทั้งหมด ที่พบปรากฎว่าส่วนใหญ่เป็นศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร
ยกเว้นศิวลึงค์แบบตรีมูรติเพียงชิ้นเดียว
ที่เป็นศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร
ฐานรูปเคารพ
บางชิ้นอาจเป็นฐานที่ใช้ตั้งรูปเคารพที่เป็นบุคคล บางชิ้นอาจเป็นโยนีที่ใช้ประกอบกับศิวลึงค์
และบางชิ้นอาจเป็นศิลาฤกษ์ที่ใช้เกี่ยวกับการก่อสร้าง
โบราณวัตถุประเภทโลหะ
พบเป็นจำนวนน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแตกหัก และมีสนิมกัดกร่อน มีทั้งทำด้วยเหล็ก
สำริด และเงิน มีด้ามมีดที่ทำด้วยเหล็ก ห่วงเหล็ก เชิงเทียน ขวานบ้อง และแหวนสำริด
โบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผา
มีอยู่หลายชนิดด้วยกันคือ
ภาชนะดินเผา
มีทั้งประเภทที่เป็นเนื้อดิน ประเภทเนื้อหิน และประเภทเนื้อโปร่งแสง หรือเนื้อกระเบื้อง
เกือบทั้งหมดขึ้นรูปโดยวิธีแป้นหมุน ทำลวดลายเป็นลายขูดขีด และลายกดประทับเป็นรูปสามเหลี่ยม
ขนาดต่าง ๆ ผสมกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นพวกหม้อไห ที่เป็นจานชามมีอยู่น้อย
ภาชนะดินเผาเคลือบมีทั้งที่มาจากแหล่งผลิตในประเทศ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างคือ
เตาเผาบุรีรัมย์ และที่มาจากแหล่งผลิตในประเทศจีน
ภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาในจังหวัดบุรีรัมย์ พบทั้งภาชนะเคลือบสีเขียวใส (เขียวน้ำแตงกวา)
สีน้ำตาลและชนิดไม่เคลือบ
สำหรับเครื่องถ้วยจีนมีทั้งสมัยราชวงศ์ถัง (พุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕) สมัยราชวงศ์ซุ่ง
(พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗) ราชวงศ์หยวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘)
เครื่องปั้นดินเผา อื่น ๆ
ได้แก่ ตะคันดินเผา สังข์ดินเผา ส่วนฐานของพาน ไหสี่หู
|