|
มรดกทางธรมชาติ
ป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าสงวนแห่งชาติได้รับการกำหนดตามกฎกระทรวงโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๐๗ ในเขตจังหวัดสระบุรีมีอยู่จำนวน ๗ ป่า รวมพื้นที่ประมาณ ๓๗๘,๐๐๐
ไร่ หรือประมาณ ๖๐๕ ตารางกิโลเมตร มีดังนี้
ป่าลานท่าฤทธิ์
อยู่ในเขตอำเภอวังม่วง ปกระกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ มีพื้นที่ประมาณ
๕,๘๐๐ ไร่ สภาพเดิมเป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นลานขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากแตถูกบุกรุกทำลายกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม
ได้มอบให้สำนักงานปฎิรูปที่ดินนำไปจัดสรรประมาณ ๕,๑๐๐ ไร่ และเป็นบริเวณที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องจากพระราชดำริจำนวน ๑๐๐ ไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้
ป่าเขาพระ
อยุ่ในเขตอำเภอแก่งคอย ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีพื้นที่ประมาณ
๕,๓๐๐ ไร่ สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง ป่าเป็นป่าดิบภูเขา มีสภาพเสื่อมโทรมได้ทำการปลูกสวนป่า
ทำให้สภาพป่ากลับฟื้นคืนมาอีกครั้ง ประกอบกับเป็นเขตอภัยทานของวัดเขาพระ ทำให้สัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ป่าท่าฤทธิ์ - ป่าลำทองหลาง - ป่าลำพญากลาง
อยู่ในเขตอำเภอมสกเหล็ก มีพื้นที่ประมาณ ๑๒,๕๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๒๐๐ ตารางกิโลเมตร
มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง ภูเขาหินปูน และป่าเบญจพรรณที่เสื่อมโทรม ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ บริเวณที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม มีการปลูกป่าในรูปแบบสวนป่าของรัฐเช่น
สวนป่ายุบใหญ่ซับเหว สวนป่าคลองไทร และมีการปลูกป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เสื่อมโทรม
ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่
๕๐
ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก แปลงที่ ๑
อยู่ในเขตอำเภอมวกเล็กและอำเภอแก่งคอย ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๗ มีพื้นที่ปกระมาณ ๙๗,๐๐๐ ไร่ มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมได้มีการปลูกป่าภาครัฐในรูปของสวนป่าคือ
สวนป่าหลังเขาท่าระหัด สวนป่าเขาน้อย การปลูกป่าแบบประชาอาสา โดยใช้กระถินยักษ์เป็นไม้เบิกนำ
และมีการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ ๕๐ ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูน สลับกับพื้นที่ราบมีพื้นที่เหมาะสมกับการเกษตรประมาณ
๑๘,๙๐๐ ไร่ พื้นที่บางส่วนมีการใช้ประโยชน์ในการทำเหมืองแร่หินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
ป่ามวกเหล็กและป่าเขาทับกวาง แปลงที่ ๒
อยู่ในเขตอำเภอแก่งคอย มีพื้นที่ประมาณ ๑๑๒,๕๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ทางด้านทิศตะวันออกมีแนวเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม มีโครงการปรับปรุงโดยการปลูกป่า ในรูปแบบหมู่บ้านป่าไม้
ได้ปลูกสร้างสวนป่าในพื้นที่กว่าหมื่นไร่ จนสภาพป่าในพื้นที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ
มีสัตว์ป่าเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก เช่น หมี ลิง นกชนิดต่าง ๆ กรมป่าไม้จึงจัดทำโครงการท่องเที่ยวสวนป่าเจ็ดคด
โป่งก้อนเส้า ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ขึ้น เพื่อให้ผู้สนใจรู้จักการท่องเที่ยวป่าอย่างถูกต้องตามหลักวิชา
โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ และให้ราษฎรในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้
ป่าเขาโป่ง - เขาถ้ำเสือ
อยู่ในเขตอำเภอแก่งคอย ประกาศเป็นป่าสงวน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีพื้นที่ประมาณ
๙,๙๐๐ ไร่ ลักษณะเป็นภูเขาและเนินเขาไม่สูงนัก สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ มีสัตว์ป่าหลายชนิด
ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก ส่วนในที่ราบเป็นป่าเสื่อมโทรม มีพื้นที่ประมาณ
๑,๙๐๐ ไร่ ในส่วนของพื้นที่ภูเขาได้มีการปลูกป่าเพิ่ม จนสภาพป่าฟื้นสู่ธรรมชาติต่อไป
ป่าพระพุทธบาท และป่าพรรค
อยู่ในเขตอำเภอพระพุทธบาท และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ประมาณ ๒๐,๐๐๐
ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาหินปูน ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ บริเวณป่าพระพุทธบาทอยู่ในเขตอำเภอพระพุทธบาท เป็นภูเขาหินปูนสูงชัน
มีถ้ำที่สวยงาม เช่น ถ้ำศรีวิลัย ถ้ำนารายณ์หรือถ้ำเขาวง บริเวณใกล้เคียงมีรอยพระพุทธบาทตั้งอยู่
ส่วนป่าพุแคอยู่ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีสวนพฤกษศาสตร์พุแค
และสวนสักพุแค
และเป็นที่ตั้งสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปปลูกเสริมป่าธรรมชาติ
พื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ มีสัตว์ป่าขนาดเล็กอาศัยอยู่
เช่น นก ลิง กระรอก เป็นต้น
อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (บางส่วน)
เขตอุทยาน ฯ เขาใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๓๕๕,๕๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๒๑,๖๘๔
ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สี่จังหวัดคือนครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี
และสระบุรี ในเขตจังหวัดสระบุรี อยู่ในเขตอำเภอมวกเหล็ก และอำเภอแก่งคอย
มีพื้นที่ประมาณ ๖๗,๕๐๐ ไร่ มีน้ำตกที่สวยงามคือ น้ำตกโกรกอีดก
และน้ำตกเจ็ดคด
สภาพป่ามีความสมบูรณ์มาก มีสัตว์ป่าอยู่หลายชนิด เช่น เสือ หมี กวาง ฯลฯ
กรมป่าไม้ร่วมกับจังหวัดสระบุรีเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
อุทยานแห่งชาติเขาสามหลัน อยู่ในเขตอำเภอเมือง
ฯ อำเภอหนองแค และอำเภอวิหารแดง เดิมเป็นป่าคุ้มครอง และป่าสงวน
ป่าพระฉายมีพื้นที่ประมาณ ๒๗,๙๐๐ ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
สภาพพื้นที่เป็นป่าดิบแล้งป่าไผ่รวก ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีภูเขาใหญ่น้อย
มีที่ราบในหุบเขา มีสัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า และนกนานาชนิด ที่สำคัญได้แก่
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
มีน้ำตกที่สวยงามได้แก่ น้ำตกโดนรากไทร
น้ำตกสามหลั่น น้ำตกโพธิ์หินดาด และอ่างเก็บน้ำซับปลากั้ง
เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสระบุรี
แหล่งน้ำสำคัญ
แม่น้ำป่าสัก
เป็นแม่น้ำสำคัญของจังหวัดสระบุรี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร เฉพาะส่วนที่ไหลผ่านจังหวัดสระบุรี
ยาวประมาณ ๑๐๕ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ แล้วไหลผ่านจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี
ตามลำดับ
ลุ่มน้ำป่าสักมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๑๓ ในจำนวน ๒๕ ลุ่มน้ำของประเทศไทย
มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ ๑๔,๕๒๐ ตารางกิโลเมตร ลักษณะของลุ่มน้ำแคบและเรียวยาว
มีต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดเลย ไหลผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี แล้วไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
มีปริมาณน้ำเฉลี่ยประมาณ ๒,๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ให้กรมชลประทานศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำในเขตลุ่มน้ำป่าสัก รวมทั้งเขตกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล กรมชลประทานได้เริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่ปี
๒๕๓๗ โดยเริ่มหัวงานที่ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ทอดยาวไปถีงอำเภอวังม่วง
จังหวัดสระบุรี ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดินแกนดินเนียว มีความยาวประมาณ
๔,๘๖๐ เมตร ระดับเก็บกักน้ำสูงสุดที่ + ๔๓ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ปริมาณกักเก็บน้ำ ๙๖๐
ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจำนวน ๑๐๕,๖๐๐ ไร่ อยู่ในเขต ๒ จังหวัด รวมสี่อำเภอ ๑๕ ตำบล ๖๕ หมู่บ้าน เริ่มกักเก็บน้ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑
ได้รับพระราชทานชื่อเขื่อนนี้ว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
- ห้วยคลองมวกเหล็ก
มีต้นกำเนิดอยู่บริเวณเขาอินทนี อำเภอแก่งคอยในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วไหลขึ้นไปทางทิศเหนือ
เป็นแนวแบ่งเขตการปกครองของจังหวัดสระบุรีกับจังหวัดนครราชสีมา ตอนที่ไหลผ่านอำเภอมวกเหล็กเกิดน้ำตกแก่งหิน
เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญเช่น น้ำตกมวกเหล็ก น้ำตกเจ็ดสาวน้อย
แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่บ้านปากน้ำ ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง
มีน้ำตกหลายแห่งและมีแก่งตามลำน้ำสายนี้ได้แก่
- น้ำตกป่าลานหินดาด
อยู่ในเขตป่าลานหินดาด ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง ลักษณะน้ำตกจะเป็นหลั่น ๆ
ตกลงบนแอ่งน้ำท่ามกลางคันลานรับกันเป็นหลั่นถึงสามช่วง แต่ละช่วงห่างกันประมาณ
๑๐ เมตร เป็นแนวยาวถึง ๔๐ เมตร ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้เป็นอย่างดี
- น้ำตกภูเกาะ - ตะพานหิน
เป็นน้ำตกต่อเนื่องจากน้ำตกเจ็ดสาวน้อย ไหลผ่านตำบลต่าง ๆ ของอำเภอมวกเหล็ก
แล้วมาบรรจบกันที่บ้านตะพานหิน ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง น้ำตกภูเกาะมีลักษณะเป็นหลั่น
ความสูงประมาณ ๔ เมตร กว้างประมาณ ๑๕ เมตร มีน้ำไหลตลอดปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ
- แก่งคันนา
เป็นเกาะอยู่กลางแม่น้ำป่าสักบริเวณบ้านแสลงพัน ตำบลแสลงพัน อำเภอวังม่วง
ชาวบ้านนิยมเรียก เกาะกลางน้ำที่เกิดตามธรรมชาติว่าแก่ง ลักษณะของแก่งคันนาเป็นกรวดปนลานหินสีขาวสะอาดตามธรรมชาติ
มีน้ำไหลผ่านทุกด้าน บางด้านเป็นโขดหิน และลานหินดาดลงสู่น้ำ ความยาวแก่งประมาณ
๒๐ เมตร
- น้ำตกเจ็ดคด
อยู่ในเขตตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย น้ำตกไหลลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ ๗ เมตร สายน้ำมีต้นกำเนิดจากป่าเขาใหญ่
ในเขตอำเภอแก่งคอย สภาพโดยรอบเป็นป่าดิบชื้น และป่าเบญจพรรณ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่หายาก
เช่น กระทิง กวาง เก้ง ตะกวด กระต่ายป่า ฯลฯ
- น้ำตกโกรกอีดก
อยู่ในเขตตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย น้ำตกไหลจากผาสูงชัน จากยอดเขาซึ่งสูงประมาณ
๕๐ เมตร จัดว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวีดสระบุรี มีต้นกำเนิดจากป่าดิบแล้งของเขาใหญ่
ตามเส้นทางเดินพบต้นไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบ จำนวนหลายต้น มีสัตว์ป่าหายากเช่น
กระทิง กวาง เก้ง หมู่ป่า และไก่ป่า เป็นต้น
ทะเลบ้านหมอ
อยู่ในเขตตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ เป็นแหล่งน้ำที่เกิดจากการทำเหมืองแร่
ทำให้เกิดพื้นที่น้ำท่วม เกาะแก่งต่าง ๆ เป็นแหล่งประมงน้ำจืด เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดสระบุรี
อ่างเก็บน้ำซับปลากั้ง
อยู่ในเขตตำบลลำ อำเภอวิหารแดง เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีภูเขาโอบล้อมสามด้าน
ธรรมชาติร่มรื่นสวยงาม อ่างเก็บน้ำเขาแก้ว
อยู่ในเขตตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ มีน้ำตลอดปี
มีธรรมชาติแวดล้อมที่สวยงาม
ภูเขาและถ้ำ
เขาครกหรือเขาส่องกล้อง
อยู่ที่บ้านพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง ฯ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นที่ส่องกล้องตรวจการณ์
เขาเรดาห์ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น
อำเภอเมือง ฯ เคยใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ของทหารญี่ปุ่น มีซากเจดีย์โบราณอยู่ด้วย
ถ้ำวิปัสสนาเนรมิต อยู่ที่บ้านคุ้งเขาเขียว
ตำบลหน้าพระสาม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีหินงอกหินย้อยสวยงาม
ถ้ำพุทธสุโสทอง (วิมานแก้ว) อยู่ที่บ้านหน้าพระสาม
อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นถ้ำหินปูน มีความสวยงาม มีสำนักสงฆ์ตั้งอยู่
ถ้ำเขาทุเรียน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น
บ้านพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง ฯ เคยใช้เป็นที่หลบภัย และเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหารญี่ปุ่น
สมัยสงครามโลกมหาเอเซียบูรพา
ถ้ำเขาดาวแก้ว อยู่ในเขตตำบลลำพญากลาง
อำเภอมวกเหล็ก มีหินงอกหินย้อยสวยงาม เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวเป็นจำนวนมาก
ถ้ำเขาแดง อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามหลั่น
บ้าพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง ฯ เคยใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศของทหารญี่ปุ่น
ถ้ำผาเสด็จ อยู่ที่บ้านชับบอน
ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับและทรงจารึกพระปรมาภิไธยไว้
ถ้ำพระธาตุเจริญธรรมหรือถ้ำบ่อปลา
อยู่ที่บ้านบ่อโศก ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ประดิษฐานอยู่
ถ้ำพระโพธิสัตว์และถ้ำธรรมสัตว์
อยู่ที่บ้านถ้ำ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย มีหินย้อย และมีวัดพระโพธิสัตว์
ตั้งอยู่
ถ้ำนารายณ์หรือถ้ำเขาวง อยู่ที่บ้านเขาวง
ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท มีวัดเขาวงตั้งอยู่
ถ้ำเทพนิมิตธารทองแดง อยู่ในเขตตำบลพุคำงาน
อำเภอพระพุทธบาท เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีวัดพุคำบรรพตตั้งอยู่
|
|