มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดี
ถ้ำเทพนิมิต
ตั้งอยู่ที่วัดพุคำบรรพต บ้านพุคำจาน ตำบลพุคำจาน อำเภอพระพุทธบาท บนภูเขาอีมด
มีบันไดขึ้นสู่ถ้ำ ๑๑๑ ขั้น มีถ้ำมะยมตั้งอยู่ใกล้กัน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ได้มีการขุดค้นทางโบราณคดี พบเครื่องปั้นดินเผา เถ้าถ่านและเครื่องประดับลูกปัด หอยเบี้ยม้วนทอง
อันเป็นหลักฐานแสดงว่าเคยมีมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่อาศัยมาก่อน
เขาฆาฏกบรรพต
อยู่ที่พระพุทธฉาย บ้านหนองปลาไหล ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง ฯ มีภูเขาลูกหนึ่งมีหลายชื่อคือ เขาลม
เขาฆาฏกบรรพต เขาปัถวี เมื่อขึ้นบันไดไปนมัสการพระพุทธฉาย ตรงเชิงผาด้านหน้าจะมีภาพเขียนขอฝมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
เป็นภาพรูปมือสีแดง
ถ้ำเขาวง (ถ้ำนารายณ์)
อยู่ที่บ้านเขาวง ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท เป็นถ้ำที่ปากถ้ำอยูบนพื้นดิน
ทางวัดได้สร้างวิหารไว้หน้าทางเข้าถ้ำ ภายในถ้ำกว้างขวาง ที่ผนังปากถ้ำด้านขวามือ
สูงจากพื้นประมาณ ๒.๕๐ เมตร มีจารึกอยู่สามบรรทัด แนวบรรทัดยาว ๕๐ เซนติเมตร
ระหว่างบรรทัดห่างกัน ๑๕ เซนติเมตร
อักษรที่จารึกเป็นอักษรปัลลวะ เป็นภาษามอญโบราณ จารึกเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ อยู่ในสมัยทวารวดี ข้อความที่จารึกมีคำแปลว่า
"กุนทรีชน ผู้ตั้งอาณาจักรอนุราชปุระได้มอบให้พ่อลุงสิมายธะ เป็นตัวแทนพร้อมกับชาวเมืองจัดพิธีขับร้องฟ้อนรำ
(เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปูชนียวัตถุ) ที่ประดิษฐานไว้แล้วในสถานที่นี้"
จากข้อความในจารึกแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เคยมีบ้านเมืองมาแล้ว มีกลุ่มชนที่อาจมีการติดต่อกับบ้านเมืองอื่นเช่น
ลังกา ดังปรากฎชื่อเมืองอนุราธะ ซึ่งเป็นเมืองในลังกา อาจใช้ชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อเมืองในถิ่นนี้ก็ได้
ถ้ำพระโพธิสัตว์
ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย ถ้ำพระโพธิสัตว์มีอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำพระงาม หรือถ้ำเขาน้ำพุ ประกอบด้วยน้อยใหญ่หกคูหา คูหาที่มีภาพสลักบนผนัง ป็นคูหาที่ติดปากทางเข้า และเป็นคูหาที่มีแสงสว่างส่องถีงมากที่สุด
ผนังด้านเหนือคูหานี้สูงจากพื้นถ้ำประมาณ ๓ - ๕ เมตร มีภาพสลักนูนต่ำศิลปกรรมสมัยทวารวดี
(ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔) ขอบเขตของภาพประมาณ ๓ x ๒ เมตร เป็นภาพที่ประกอบด้วยรูปคน
๖ คน ในอิริยาบทที่ต่างกัน
จากภาพดังกล่าวสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นภาพตอนที่บรรดาเทพเจ้าไปเฝ้าและทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม
เพื่อโปรดสัตว์โลกและเมื่อแสดงธรรม ก็มีเทพเจ้ามนุษย์ อสูร คนธรรพมาเฝ้าเพื่อสดับธรรม
ดังทีรายละเอียดปรากฎอยู่ในลลิตวิสตระ อันเป็นคัมภีร์แสดงพระพุทธประวัติของฝ่ายมหายาน
ความรู้เรื่องคัมภีร์นี้มีแพร่หลายในสมัยนั้น ที่ถ้ำนี้เคยพบเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยหินกลาง
แสดงว่าท้องถิ่นนี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
บ้านอู่ตะเภา
อยู่ในเขตตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๖ ) มีคูน้ำคันดินล้อมรอบเป็นรูปแบบเมืองซ้อน ผังเมืองชั้นในมีลักษณะกลม
ผังเมืองชั้นนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในบริเวณนี้เคยพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก
กระดูกมนุษย์ ขวานหินมีบ่า และเครื่องประดับเช่น ลูกปัด ซึ่งมีหลายแบบสวยงาม
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าในบริเวณเมืองอู่ตะเภาเดิมเป็นตลาด มีการนำเรือเข้ามาค้าขายนำสินค้าพื้นเมืองมาแลกเปลี่ยนกัน
บริเวณที่เป็นบึงนั้นในอดีตเคยเป็นที่จอดเรือเพื่อนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยน
เดิมท้องถิ่นนี้เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์มีน้ำตลอดปี สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมาได้สภาพภูมิประเทศ
โยทั่วไปเป็นป่าโป่งไม้ที่พบมีไม้สะแก ไม้สมพุง ไม้บก เมื่อผลสุกจะมีหมูป่ามากินลูกบก
ปัจจุบันพื้นที่บริเวณตอนกลางบ้านอู่ตะเภาเป็นวัด และโรงเรียน มีบึงและที่ดอนเป็นที่สาธารณะอยู่ประมาณ
๕๐ ไร่
บ้านคูเมือง (เมืองขีดขิน ปรันตปะ เสนาราชนคร)
อยู่ในเขตตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ ในตำนานพระพุทธบาทเรียกเมืองนี้ว่า ปรันตปะ
มีความตอนหนึ่งว่า
"ถ้าและผู้ใดมิใช่ภูมิชาติจะได้รู้จักตำแหน่งปรันตปะนั้นหามิได้ ด้วยตำแหน่งเมืองตกมาช้านาน
แต่ครั้งพระยากาลราชนั้นแล้ว เมืองนั้นมีคูสองชั้น มีประตู ๔ ประตู ประตูซอง
๑ ประตูไชย ๑ ประตูน้ำ ๑ มีเสามีประตู ๔ ประตู ตะลุงช้างเผือก โคกปราสาทเสา
๑ มีศีรษะคนโบราณอยู่ศีรษะ ๑ ใหญ่ ประมาณ ๘ กำ มีตำแหน่งวัด ๑๕ วัด วัดธรรมเสนา
๑ วัดสารภี ๑ วัดสัก ๑ วัดมหาโลก ๑ วัดโคกหมด ๑ วัดหัวตะพาน ๑ วัดแจงบางเพียร
๑ วัดนางผล ๑ วัดเกต ๑ วัดสุด ๑ วัดขวิด ๑ วัดนาค ๑ วัดพระนอน ๑ วัดพี่น้อง
๑ วัดนนทรี ๑ มีตำแหน่งบ้าน ๒๑ บ้าน บ้านตลาด น้อย ๑ บ้านหน้าตะพาน
๑ บ้าน บ้านขนอนสาซ่อง ๑ บ้านใหญ่ ๑ บ้านโขมด ๑ บ้านน้อย ๑ บ้านเกาะสารภี
๑ บ้านไร่ ๑ บ้านกระมัง ๑ บ้านปลาขวัญ ๑ บางยานี ๑ บางขมิ้น ๑
บ้านขวาง ๑ บ้านมะกอก ๑ บ้านหมอ ๑ บ้านหนองจิก ๑ บ้านหนองสะแก ๑ บ้านเคร่าครับตัง
๑ แต่เมืองนครขีดขินออกไปถึงพุสงครีบ หนทาง ๔๕ เส้น แต่พุสงครีบไปาถึงพุนารายณ์หนทาง
๓๐ เส้น แต่พุนารายณ์ถึงธารถวายศร หนทาง ๒๐๐ เส้น"
ตามพงศาวดารเมืองเหนือกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระเจ้าไกรสรราช จึงสั่งอำมาตย์เสนาในให้สร้างเมืองหนึ่งใกล้เมืองละโว้
ทาง ๕๐๐ เส้น จึงแต่งพระราชวังและคูหอรบ เสาไต้เชิงเรียงบริบูรณ์ แล้วจึงให้อำมาตย์รับเอาพระเจ้าดวงเกรียง
กฤษณราชกับพระราชเทวี ไปราชาภิเษกร่วมเมืองนั้นชื่อ เสนาราชนคร แต่นั้นมา"
ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เมืองเสนาราชนครเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองละโว้ และเป็นเมืองท่าเรือในสมัยนั้น
ครั้งนั้นทั้งสองเมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นแหล่งการค้าและการศึกษาศิลปวิทยาการที่มีชื่อเสียง
สภาพของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๓๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร
พบศิลารูปพระโพธิสัตว์และรูปเทวบาล อันเป็นศิลปขอมสมัยเดียวกับปรางค์สามยอดลพบุรี
จากตำนานพระพุทธบาทได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ถึงสมเด็จพระบิดาพระนเรศกรุงศรีอยุธยา
ก็เสียแก่เจ้าหงสาวดีครั้งนั้นคนศีรษะใหญ่เท่าบาตร ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแล้ว
พระเจ้าหงสาวดีจึงกวาดเอาไพร่บ้านพลเมืองกับพระนเรศวรและสมเด็จพระพี่นางไปนั้น
บ้านสัจจคามและเมืองสุนาปรันตปะก็สูญไปแต่ครั้งนั้น
|