แหล่งประวัติศาสตร์
บึงโง้ง
อยู่ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ เป็นหนองน้ำรูปเกือกม้า เดิมเป็นหนองน้ำที่เกิดจากการขุดดินมาทำอิฐเพื่อสร้างเมืองสระบุรีในอดีต
ตัวบึงมีพื้นที่ประมาณ ๗๕ ไร่ ปัจจุบันได้มีการขุดแต่งบึงนี้ให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตร
เพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ถนนฝรั่งส่องกล้อง
ตามพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑ ) ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาท
และพระองค์ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทแล้ว" จึงได้ให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบวาตลอดถึงท่าเรือให้แผ้วถางทุบปราบให้รื่นราบเป็นถนนหลวงเสร็จ"
ฝรั่งในที่นี้คือชาวฮอลันดาที่มารับราชการในสมัยนั้น
การเดินทางจากพระนครศรีอยุธยาไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีในครั้งนั้นต้องไปทางเรือก่อน
แล้วจึงไปขึ้นบกที่ท่าเรือ แล้วขึ้นช้างต่อไปยังพระพุทธบาท ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
(พ.ศ.๒๑๗๓ - ๒๑๙๙ ) จะเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ช่างไปตกแต่งพระตำหนัก
และเตรียมเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนิน ตามที่ปรากฎในพงศาวดารตอนหนึ่ง มีความว่า
"ในเดือน ๑๒ นั้น (พ.ศ.๒๑๗๖ ทรงพระกรุณารับสั่งว่า พ้นเทศกาลราษฎรเกี่ยวข้าวแล้วจะเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท
ให้ยกช่างขึ้นไปตกแต่งพระตำหนักใต้ธารทองแดง และไขบัวให้มาแต่ธารทองแดงให้สนุกสนานและทรงสถลมารค
แต่ท่าเจ้าสนุกขึ้นไปท้ายพิกกุลนั้น คิดให้มีน้ำและศาลาโดยระยะทาง ผู้คนจะได้อาศัย
เสนาบดีรับพระราชโองการแล้วก็ยกช่างและไพร่ขึ้นไป เกณท์แบ่งให้ตกแต่งพระตำหนักเจ้าท่าสนุก
และแบ่งให้ทำศาลา ขุดบ่อบางโขมด ตำบลบ่อโศก ให้ขุดบ่อริมต้นโศก จึงให้ชื่อว่า บ่อโศก
แล้วขึ้นไปขุดบ่อทำศาลากลางทาง พอพระสงฆ์และสามเณรเดินขึ้นไปเห็นศาลาอยู่
เจ้าสามเณรจึงว่าศาลาทั้ง ๕ ห้อง คับเสีย ๑ ห้อง ก่อเป็นฝากรงให้ดี คนจะได้อาศัยนอนถ้าไม่มีฝาเสือจะกินเสีย
ช่างทั้งปวงฟังเจ้าสามเณรว่า เห็นชอบก็ทำตาม ครั้นแล้วจึงได้นามว่า ศาลาเจ้าเณร
และที่ตำบลหนองคณฑีนั้นมีน้ำอยู่แล้ว
ก็ทำศาลาไว้สำหรับอาศัยและไพร่ซึ่งทำศาลาลงไปตักน้ำกินได้คณฑีใบหนึ่งจึงให้ชื่อว่า
หนองคณฑี
การเดินทางตามเส้นทางบก จากท่าเรือถึงพระพุทธบาท ระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร
เริ่มจากหัวถนนอยู่บริเวณท่าเกย ใกล้กับวัดรวก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เดิมเคยมีเกยช้างปลูกสร้างอยู่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ถนนตอนี้กว้าง ๑๐ วา
หรือ ๒๐ วา ตัดผ่านพื้นที่สามอำเภอสองจังหวัดคือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อำเภอบ้านหมอ และอำเภอพระพทุธบาท จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันเส้นทางนี้คึงเหลืออยู่ประมาณ
๙ กิโลเมตร เริ่มจากบริเวณเยื้องกับวัดสร่างโศก (อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี)
ช่วงกิโลเมตรแรกเป็นถนนดินไม่ได้ใช้เป็นถนนอีกต่อไป ถัดนั้นไปเปฌนถนนลูกรังผ่านหลังวัดปัฐจาภิรมย์
วัดหนองคณฑี ไปตัดกบถนนสายพระพุทธบาท - บ้านหมอ บริเวณน้าวัดกัลยาณบรรพต
(เขาเสี้ยว) ช่วงที่ผ่านศาลเจ้าพ่อเขาตก และพระตำหนักสระยอหายไป ไปปรากฎอีกครั้งที่บรเวณชุมชนเทศบาลพระพุทธบาท
ช่วงนี้เป็นถนนลูกรังและคอนกรีตความกว้างประมาณ ๖ - ๘ เมตร ตามเส้นทางดังกล่าว
มีสถานที่ซึ่งมีกล่าวอยู่ในพระราชพงศาวดารคือ
- บ่อบางโขมด
เป็นบ่อน้ำที่ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาคงชำรุด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ บ่อนี้ตั้งอยู่ใต้วัดสุนทรเทพมุนี
(วัดสะพานช้าง) ประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายพระพุทธบาท - บ้านหมอ - ท่าเรือ
ห่างจากถนนนี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕๐ เมตร บริเวณนี้เดิมเป็นโคกอยู่กลางนา
ตัวบ่อมีร่องรอยกรุอิฐถือปูน เล่ากันว่าเมื่อก่อนนี้เคยมีศาลาอยู่หลังหนึ่งเรียกว่า
ศาลาสมเด็จ ปัจจุบันไม่มีทั้งโคกและศาลาดังกล่าวแล้ว
- สะพานบางโขมดหรือสะพานช้าง
อยู่ในเขตตำบลบางโขมด อำเภอบ้านหมอ เป็นสะพานข้ามคลองเริงราง เดิมทำด้วยท่อนซุงสำหรับให้ขบวนช้างข้าม
เมื่อพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายเสด็จพระพุทธบาท จึงได้ชื่อว่าสะพานช้าง ปัจจุบันสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก
เป็นส่วนหนึ่งของถนนสายพระพุทธบาท - บ้านหมอ - ท่าเรือ ที่เชิงสะพานนี้มีวัด
เดิมชื่อวัดสะพานช้าง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุนทรเทพมุนี เมื่อครั้งสุนทรภู่ไปนมัสการพระพุทธบาท
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๐ ได้กล่าวถึงสะพานนี้ไว้ว่า
"ถึงบางโขมดมีธารสะพานช้าง บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น |
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น
ไม่ว่างเว้นสัปบุรุษเขาหยุดเรียง |
บ้างขายของสองทางตามทางป่า
จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง |
ที่แกล้งไสให้คชสารเคียง
เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว" |
- บ่อโศก
ตั้งอยู่ริมถนนฝรั่งส่องกล้องซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกขนานไปกับทางหลวงสายพระพุทธบาท
- บ้านหมอ - ท่าเรือ ประมาณหลักกิโลเมตรที่ ๙ ห่างกันประมาณ ๒๐๐ เมตร ณ แนวริมบ่อโศกจะสังเกตเห็นแนวถนน ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม
ได้ชัดเจน ทางตะวันตกของถนนเป็นที่ลุ่ม แสดงว่าเดิมเป็นหนองน้ำใหญ่
มีบ่อกรุอิฐแต่ชำรุดอยู่ริมหนองหนึ่งบ่อ กับอยู่ห่างจากแนวถนนออกไปทางด้านทิศตะวันตกอีกหนึ่งบ่อ
และใต้ลงมามีอีกหนึ่งบ่อ บ่อทางด้านทิศตะวันตกมีตาน้ำไหลดี ในฤดูแล้งชาวบ้านได้อาศัยน้ำในบ่อนี้
บริเวณโคกริมแนวถนนมีอิฐหัก และกระเบื้องแตกอยู่ทั่วไป แสดงว่าแต่ก่อนเคยมีศาลาที่พัก
ปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยของบ่อโศก เนื่องจากมีการขุดเป็นบ่อดินขาวลึกและกว้างเพื่อการทำซีเมนต์
- บ่อศาลาดงโอบ
ชื่อบ่อนี้ไม่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดาร แต่บ่อนี้เป็นที่รู้จักของชาวบ้านว่าเป็นที่พักอีกแห่งหนึ่ง
ระหว่างทางไปพระพุทธบาท ตั้งอยู่ระหว่างทางด้านตะวันตกของถนนพระเจ้าทรงธรรม
ก่อนถึงวัดปัญจาภิรมย์ ประมาณ ๕๐๐ เมตร มีต้นมะขามและต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ริมปากบ่อ
เป็นบ่อน้ำทรงกลมขนาดใหญ่กรุอิฐฝีมือประณีตเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔ เมตร
ปัจจุบันยังมีน้ำอยู่ในบ่อบ้าง
- บ่อศาลาเจ้าเณร
ตั้งอยู่ในที่ลุ่มทางด้านทิศตะวันตกใกล้โคกที่ถนนฝรั่งส่องกล้องตัดผ่านไป
ห่างออกไปประมาณ ๒๕๐ เมตร จากทางหลวงสายพระพุทธบาท - บ้านหมอ - ท่าเรือ ประมาณหลักกิโลเมตร
๗ เป็นบ่อกลมกรุอิฐถือปูนมีขอบ ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี ชาวบ้านได้อาศัยน้ำในบ่อนี้ได้ตลอดฤดูแล้ง
แต่ศาลาสูญหายไปหมดแล้วเหลืออยู่แต่เศษอิฐและกระเบื้องหลังคาชนิดกาบุ กองอยู่เกลื่อนกลาดบนเนินดินบริเวณนั้น
บ่อศาลาเจ้าเณร อยู่ห่างจากวัดปัญจาภิรมย์ประมาณหนึ่งกิโลเมตร สภาพบ่อรกร้างอยู่ในพงหญ้ากลางไร่
ชาวบ้านเล่าว่า บ่อศาลาเจ้าเณรลึก ๑๐ ศอก
- หนองคณฑี
อยู่ห่างจากวัดหนองคณฑีไปทางเหนือประมาณ ๒๐๐ เมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่
อยู่ริมถนนฝรั่งส่องกล้อง
|