พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่า เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสิงห์บุรี เป็นส่วนหนึ่งของอ่าวไทยตอนบน
ที่ล้ำเข้ามาในแผ่นดิน จนถึงจังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ตามแนวตะเข็บรอยต่อระหว่างจังหวัดสิงห์บุรี
จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดชัยนาท น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าพื้นที่ด้านอื่น
ๆ ของจังหวัด เพราะเป็นแนวตะพักต่อจากภูเขา และเป็นส่วนที่สูงที่สุดของจังหวัดซึ่งสูงประมาณ
๑๙ เมตร จากระดับน้ำทะเล พบร่องรอยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนมากอยู่หลายแห่ง
เช่น
- แหล่งโบราณคดีเมืองบ้านคู ตำบลฟักทัน อำเภอบางระจัน
- บ้านบางวัว ตำบลไม้ดัด อำเภอบางระจัน พบดินเผาและหินดุ
- ชุมชนโบราณบ้านชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี พบชิ้นส่วนของขวานหินและชิ้นส่วนกำไลสำริด
- บ้านโพธิ์ทะเล อำเภอบางระจัน พบขวานหิน
จากร่องรอยที่พบแสดงว่าเคยมีผู้คนอาศัยอยู่มานานแล้ว และพัฒนารูปแบบของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์มาสู่ความเป็นเมือง
โบราณในยุคการขุดคูเมือง และคันดินกำแพงเมือง เป็นการก้าวเข้าสู่ทวารวดี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๔
ในบางครั้งจะมีการขุดคูเมืองล้อมรอบเพียงอย่างเดียว ไม่มีการนำดินไปพูนสูงเป็นกำแพง
แต่อาจนำไปปรับพื้นที่ในเมืองให้ราบเรียบ เมืองที่มีลักษณะเช่นว่านี้ได้แก่
เมืองโบราณต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี เช่น เมืองคูเมือง อำเภออินทร์บุรี
เมืองวัดพระนอนจักรสีห์ เมืองสระกระพังและเมืองบ้านเก่า
การตั้งถิ่นฐาน
แหล่งชุมชนโบราณที่บ้านคูเมือง อำเภอห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จากการสำรวจพบว่าเป็นเมืองสมัยทวารวดีฟูนัน
มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มีคูคลองจำนวนมากขุดเชื่อมโยงกับคูเมืองและลำน้ำธรรมชาติ
แบ่งพื่นที่ออกเป็นส่วน ๆ และถมดินสูงเป็นตารางรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ เป็นลักษณะโครงข่ายคมนาคมทางน้ำ
มีรูปร่างคล้ายใยแมงมุมหรือร่างแห ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๐ ตารางกิโลเมตร
จัดเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบเมืองคูคลอง
สมัยทวารวดีฟูนัน ชุมชนตั้งอยู่บนลำน้ำแม่ลาซึ่งเป็นทางน้ำเก่า ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ขนาบด้วยลำน้ำใหญ่สองสายคือ แม่น้ำน้อยทางด้านทิศตะวันตก และแม่น้ำเจ้าพระยา
ทางด้านทิศตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๓ - ๑๘ เมตร
จากการศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ ของแหล่งชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างพบว่า
ในช่วงสมัยทวารวดี ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทย เว้าลึกเข้าไปในแผ่นดินเป็นชะวากทะเล
โดยชุมชนเหล่านั้นตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปัจจุบันประมาณ
๔ เมตร เมื่อชายฝั่งเลื่อนออกไป และแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน ชุมชนต่าง ๆ ต้องขุดคลองเลียบเพื่อให้สามารถออกสู่ทะเลได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ชุมชนโบราณบ้านคูเมืองออกสู่ทะเลไม่สะดวก จึงต้องสร้างชุมชนขึ้นใหม่ที่บ้านคู
บนฝั่งแม่น้ำดงคอน ที่เป็นทางแม่น้ำสำคัญในเวลานั้น ซึ่งมีทางออกทะเลได้สะดวกอยู่บริเวณอำเภอแสวงหา
จังหวัดอ่างทอง เป็นผลให้ชุมชนโบราณบ้านคูเมืองหมดความสำคัญลงไป และเกิดเมืองแห่งใหม่บนแม่น้ำน้อย
ที่อำเภอสรรคบุรี และในช่วงเวลาหลังจากนั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยไหลอยู่ทางด้านตะวันออก
ได้เปลี่ยนเส้นทางไหลตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ทำให้ความสำคัญของแม่น้ำน้อย
และแม่น้ำลพบุรีลดลงไป
จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า เมืองโบราณบ้านคูเมืองมีร่องรอยการอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในประเทศไทยต่อเนื่องไปถึงสมัยทวารวดี
ลักษณะของเมืองมีแผนผังคล้ายกับผังเมืองสมัยทวารวดีทางภาคกลางของประเทศไทย
ชุมชนโบราณแห่งนี้รู้จักใช้เครื่องมือโลหะ พบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก
ตะกั่ว ดีบุก และเครื่องประดับที่ทำจากโลหะเช่น ตุ้มหู แหวน รวมทั้งเศษโลหะต่าง
ๆ มีความรู้ในการทอผ้า โดยสันนิษฐานจากบริเวณของแวดินเผาที่พบ
แวดินเผา เป็นก้อนดินเผาเจาะรูตรงกลาง มีลักษณะกลมพองตรงลงมากลวงคล้ายถังเบียร์
กล่าวกันว่า เป็นส่วนหนึ่งของไม้สำหรับปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นใย
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เนื่องจากพบประติมากรรมหินสลักพระพุทธรูปปางต่าง
ๆ อันเป็นคตินิยมของพุทธศาสนาฝ่ายใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาท
สิงห์บุรีสมัยสุโขทัย
ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัยได้บันทึกเรื่องราวของชุมชนในเขตจังหวัดสิงห์บุรีไว้น้อยมาก
จากหลักฐานทางโบราณคดี มีการขุดค้นพบเครื่องสังคโลก สมัยสุโขทัยตามวัดร้าง
และในลำน้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก
มีตำนานกล่าวถึงเรื่องราวเมืองสิงห์บุรีว่า สิงห์บุรีเป็นเมืองเก่าแก่ก่อนสมัยสุโขทัย
ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ในเขตตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ บริเวณใกล้วัดหน้าพระธาตุมีเมืองเก่าเรียกว่า
บ้านหน้าพระลาน
ปรากฎอยู่สันนิษฐานว่า พระเจ้าไกรสรราชโอรสพระเจ้าพรหม (พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก)
ครองเมืองชัยปราการ (ฝาง) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๕๐ ครั้งเสด็จนำไพร่พลมาครองเมืองลพบุรี
เข้าใจว่าคงจะมาพักขึ้นบก ณ บริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสิงห์นี้ เพื่อเดินทางไปทางเรือที่ปากแม่น้ำลพบุรี
จากตำนานดังกล่าวแสดงว่าเมืองสิงห์เป็นเมืองเก่าแก่มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย
และมีชุมชนตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ตลอดมา
สิงห์บุรีสมัยอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น
ได้กำหนดให้เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี เป็นเมืองชั้นในขึ้นอยู่กับเมืองหน้าด่านทางด้านทิศเหนือคือ
เมืองลพบุรี
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงรวมมอำนาจการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยได้แบ่งการปกครองออกเป็นสามส่วนคือ
ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การปกครองส่วนกลางได้แยกทหาร และพลเรือนออกจากกัน
ฝ่ายทหารมีสมุหกลาโหม ควบคุมดูแล ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นผู้ควบคุมดูแล
มีตำแหน่งรองลงไปคือ จตุสดมภ์ ได้เปลี่ยนชื่อ กรมเมือง เป็นนครบาล กรมวังเป็นธรรมธิการ
กรมคลังเป็นโกษาธิบดี และกรมนาเป็นเกษตราธิการ การปกครองส่วนภูมิภาคก็กำหนดให้เป็นแบบเดียวกับราชธานี
และได้กำหนดให้หัวเมืองชั้นใน คือบรรดาเมืองที่อยู่ใกล้ราชธานีเป็นเมืองจัตวา
ส่วนหัวเมืองชั้นนอกกำหนดฐานะให้เป็นเมืองเอก เมืองโท และเมืองตรี ตามขนาดและความสำคัญของเมือง
การปกครองท้องถิ่นได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็นหน่วย เริ่มต้นด้วยหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้แต่งตั้ง
หลาย ๆ หมู่บ้านรวมกันเป็นตำบล มีกำนันซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พัน
เป็นหัวหน้า หลายตำบลรวมเป็นแขวง มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง
หลายแขวงรวมเป็นเมือง มีผู้รั้งเมืองหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง
เมืองอินทร์ เมืองพรหม และเมืองสิงห์ ซึ่งเดิมเป็นหัวเมืองชั้นใน อยู่ใกล้พระนครเดินทางติดต่อกันได้ภายในเวลาสองวัน
จึงได้มีฐานะใหม่เป็นเมืองจัตวา ผู้ว่าราชการเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง
เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนเจ้าเมือง ต้องปฎิบัติตามคำสั่งจากราชธานี
ส่วนใหญ่พระมหากษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยา จะทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาออกไปทำหน้าที่ดังกล่าว
การปรากฎชื่อของเมืองสิงห์ มีเรื่องการศึกสงครามที่เกิดขึ้นในอาณาเขตพื้นที่ครอบครองของเมือง
มีบันทึกเกี่ยวกับเมืองทั้งสาม พอประมวลได้ดังนี้
พ.ศ.๒๐๘๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ พระมหาธรรมราชาให้ทหารไปสืบข่าว
เรื่องสงครามกับพม่าที่เมืองสิงห์บุรี และยกกองทัพไปตั้งที่เมืองอินทร์บุรี
เพื่อหยั่งเชิงข้าศึก แต่ถูกทัพพม่าตีค่ายแตกทั้งสองค่าย
พ.ศ.๒๑๒๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระธรรมราชา พระเจ้านันทบุเรงของพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสองทัพด้วยกัน
โดยมีเจ้าเมืองพสิมคุมกองทัพ ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพเรือมาจากจังหวัดเชียงใหม่
ทัพไทยตีกองทัพเจ้าเมืองพสิมแตกไปก่อน ๑๕ วัน ทัพพระเจ้าเชียงใหม่จึงยกลงมาถึงปากน้ำโพ
แล้วลงมาตั้งอยู่ที่เมืองชัยนาท แล้วให้ทัพหน้าลงมาตั้งถึงบางพุทรา และบางเกี่ยวหญ้า
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้พระราชมนู เป็นเม่ทัพยกไปตีพัพพม่าแตกพ่ายไป
ปัจจุบันคนในท้องถิ่นเชื่อว่า บริเวณที่พม่าตั้งค่ายที่เมืองพรหมบุรีนั้น
ยังปรากฎร่องรอยเป็นคูคันดินอยู่ ที่ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี มีลักษณะเป็นคันดินยาวรูปปีกกา
สงประมาณ ๔.๕๐ เมตร ฐานกว้าง ประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า
คูขาด
เพราะมีช่องว่างทำให้ดูไม่ต่อเนื่องกันสองช่องคือ ช่องทิศตะวันออก ยังปรากฎอยู่ชัดเจนและทางทิศใต้
ซึ่งปัจจุบันทางหลวงหมายเลข ๓๒ ตัดผ่าน
พ.ศ.๒๓๐๘ พระเจ้ามังระให้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นสองทาง คือให้มังมหานรธายกทัพเข้ามาทางเมืองมะริด
และให้เนเมียวสีหบดียกทัพมาจากเมืองเชียงใหม่ ทางกรุงศรีอยุธยาจัดกำลังออกไปรักษาด่าน
โดยแบ่งทัพเรือออกเป็นเก้ากอง ไปประจำในเขตจังหวัดสิงห์บุรีคือ ทางแม่น้ำเมืองสิงห์บุรี
ที่เมืองอินทร์บุรี ทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรี และทางแม่น้ำเมืองพรหมบุรี
ในขณะที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ราษฎรในเขตเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์บุรี
เมืองสรรค์บุรีและเมืองสุพรรณบุรี ได้พากันไปพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ ที่บ้านบางระจัน
ในเขตเมืองสิงห์บุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อยตอนใต้ของวัดสุทธาวาสในปัจจุบัน
ได้รวมตัวกันสู้พม่าสามารถรบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้ง แต่พ่ายแพ้ในการรบครั้งที่แปด
ใช้เวลาสู้กับพม่าถึงห้าเดือน
สิงห์บุรีสมัยธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ.๒๓๑๐ บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ และบรรดาเมืองประเทศราชทั้งหลายได้พากันตั้งตัวเป็นอิสระ
เมืองอินทร์ เมืองพรหม และเมืองสิงห์ได้เขาอยู่ในกลุ่มเมืองธนบุรีซึ่งมีพระเจ้าตากเป็นผู้นำ
ภายหลังได้ปราบปรามกลุ่มต่าง ๆ ได้หมด และตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
การปกครองส่วนใหญ่ในสมัยธนบุรี ยังใช้หลักการปกครองที่มีมาแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สิงห์บุรีสมัยรัตนโกสินทร์
การปกครองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่บ้าง
ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนภูมิภาค ที่สำคัญคือ จัดแบ่งหัวเมืองขึ้นของกลาโหม
มหาดไทย และกรมท่าเสียใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้แบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก
ซึ่งขึ้นกับกรมท่า ๑๙ หัวเมือง และขึ้นกับมหาดไทยหนึ่งหัวเมืองรวม ๒๐ หัวเมือง
ไปขึ้นกับสมุหกลาโหม
สำหรับเมืองอินทรบุรี เมืองพรหมบุรี และเมืองสิงห์บุรี เป็นหัวเมืองจัตวาฝ่ายเหนือ
ขึ้นอยู่กับสมุหนายก
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ เมืองอินทรบุรีเป็นที่ตั้งทัพหลวง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองฝ่ายเหนือ จากนั้นก็ไม่ได้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามอีก
ในสมัยปฎิรูปการปกครองเทศาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้ตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น
สิบมณฑลคือ มณฑลนครไชยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า มณฑลกรุงเก่าประกอบด้วยเมืองคือ
กรุงเก่า ลพบุรี พระพุทธบาท สระบุรี อ่างทอง พรหมบุรี สิงห์บุรี และอินทร์บุรี
ในการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่องปี พ.ศ.๒๔๒๑
ได้มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวัดแป้ง วัดพระนอนจักรสีห์ และวัดพรหมเทพาวาส
ไว้มีความบางตอนว่า
"...ออกเรือจากท้องพรหมมาสตร ตามทางมีวัดบ้าง บ้านบ้าง ราย ๆ ห่าง ๆ ๕ โมง
ออกจากปากน้ำบางพุทรา ล่องลงมาถึงพลับพลาคลองกทุง แขวงเมืองพรหมบุรี...
ไปขึ้นที่วัดบ้านแป้ง ที่บ้านแป้งนี้เป็นท่าขึ้นเมืองลพบุรี... มาฝั่งที่การเปรียญเรียกพวกลาวมาขายของ
มีผ้าซิ่นแลด้ายผ้าขาวมาขายบ้าง ดูไม่มีสิ่งใดน่าซื้อ ซื้อแต่ผ้าซิ่นริ้วทองสองผืนกับผ้าพื้นอีก
๖ - ๗ ผืน ...ลงเรือเล็กไปตามคลองกทุง เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่ง เมื่อจวนออกแม่น้ำสิงห์เป็นช่องแคบ
ผออเรือไฟไป เมื่อออกลำแม่น้ำน้อยแล้วน้ำเชี่ยวจัด แล่นทวนน้ำขึ้นไปถึงท่าวัดพระนอนจักรสีห์
เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่ง แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำด้วนเป็นแต่คลองออก ชรอยแต่เดิมเห็นจะเป็นแม่น้ำใหญ่
ด้วยเป็นแม่น้ำแลเป็นเมืองใหญ่ ระยะบ้านก็มีถี่กว่าที่อื่น ๆ ในแขวงนั้น
แลมีวัดโต ๆ มากเหมือนกรุงเก่าที่พระนอนจักรสีห์ นี้เป็นแขวงเมืองสิงห์ พวกกรมการเมืองสิงห์บุรี
เมืองอินทร์บุรี
มาทำพลับพลาเป็นสามหลัง หลังละสามห้อง ขึ้นบก สมเด็จกรมพระมาคอยรับอยู่ที่นั่น
นำพระไชยนาท พระสิงหบุรี พระอินทบุรี และกรมการมาหามีของกำนัลกล้วยอ้อยแลเลี้ยงขนมจีน
ที่วัดพระนอนจักรสีห์นั้น ห่างแม่น้ำเข้าไปสามสิบวา เปนที่น้ำท่วมต้องพูนถนนและมีตะพานข้าม
เขตวัดนั้นมีกำแพงแก้วกั้นชั้นหนึ่ง.... เห็นว่าพระนอนจักรสีห์นี้สร้างในครั้งก่อนยังไม่ได้ตั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา....
ราษฎรเมืองอินท เมืองพรหม เมืองไชยนาท เมืองสิงห์ เมืองอ่างทอง เมืองลพบุรี
กรุงเก่า นัดกันมาไหว้ มาเล่นการนักขัตฤกษ์ทุกปีมิได้ขาด... ยอมถวายเงินค่านาที่ขึ้นวัดพระนอนจักรสีห์
แลค่านาเมืองสิงห์ให้ปฎิสังขรณ์ในพระอารามนี้กว่าจะแล้ว สั่งให้ถวายเงินพระครูเมืองสิงห์
เมืองอินท พระครูปลัดเมืองพรหมองค์ละ ๕ ตำลึง แจกเสื้อ กรมการทั่วกัน"
ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง
มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์
มีความบางตอนว่า
"....เช้า ๒ โมง ออกเรือจากไชโย ๔ โมงถึงวัดชลอนพรหมเทพาวาส... ออกจากวัดชลอนขึ้นตลาดหมื่นหาญ
สนุกครึกครื้นกว่าแต่ก่อน ตลาดนี้ติดได้เพราะเป็นท่าเกวียนมาแต่ลพบุรี...
ลงเรือมาดขึ้นมาเข้าปากน้ำบางพุทรา ซึ่งเดี๋ยวนี้เรือเมล์เดินได้แล้ว และที่ไร่พริกแล้วกลับขึ้นมาจอดที่เมืองสิงห์ใหม่
ขึ้นบกถ่ายรูปจนถึงวัดสุดตลาด ที่ตลาดก็ดูครึกครื้นดี แต่สู้อ่างทองไม่ได้
ที่ว่าการต่าง ๆ ทำขึ้นใหม่บ้าง แต่เป็นไม้เล็ก ๆ แต่จวนผู้ว่าราชการยังเป็นจวนพังโทรมเต็มทีทำใหม่ยังไม่แล้ว
ถนนดีแต่สำหรับไม่มีฝน ถ้ามีฝนก็จะเป็นโคลน..."
ในปี พ.ศ.๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารค
ประพาสมณฑลกรุงเก่า และมณฑลนครสวรรค์ มีรายละเอียดในการเสด็จประพาสบางตอนว่า
"...เสด็จแต่พลับพลาบ้านเกาะขึ้นไปตามลำน้ำน้อยวัดจำปาทอง ท้องที่อำเภอพรหมบุรี
จังหวัดสิงห์บุรี... ขึ้นไปประทับแรมพลับพลาหน้าที่ว่าการอำเภอสิงห์ จังหวัดสิงห์บุรี..."
ในการเสด็จ ฯ ครั้งนั้น พระองค์ได้ล่องลงมาประทับร้อนที่วัดม่วง เยื้องหน้าที่ว่าการอำเภออินทร์บุรี
ประทับแรมพลับพลาศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี จากนั้นได้เสด็จประทับเรือพระที่นั่งล่องลงไปเทียบที่ปากคลองบางต้นโพธิ
เปลี่ยนประทับเรือพระที่นั่งพาย เข้าในคลองบางต้นโพธิไปออกอ้อมแม่น้ำเก่า
เสด็จประพาสวัดหน้าพระธาตุเหนือ วัดพระนอนจักรสีห์ เสด็จประทับวัดพระนอนจักรสีห์
ทรงนมัสการพระพุทธไสยยาสน์
ประวัติเมืองเก่าในสิงห์บุรี
สิงห์บุรี
อำเภอเมืองสิงห์บุรี เดิมเป็นเมืองเรียกกันว่า
เมืองสิงห์ มีมาแต่สมัยใดไม่ปรากฎ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ก็มีเมืองนี้อยู่แล้ว ในครั้งนั้นเมืองสิงห์ถูกจัดให้เป็นหัวเมืองชั้นใน
ต่อมาในสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสิงห์ถูกจัดให้เป็นหัวเมืองจัตวา
ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ เมืองสิงห์ถูกรวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีการตั้งเมืองใหม่คือ ยุบเมืองอินทร์เป็นอำเภออินทร์บุรี
เมืองพรหมเป็นอำเภอพรหมบุรี เมืองสิงห์เป็นอำเภอสิงห์ แล้วตั้งเมืองใหม่ที่ตำบลบางพุทรา
เป็นเมืองสิงห์บุรี
อำเภอเมืองสิงห์บุรี ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๔ โดยใช้ชื่อว่า
อำเภอบางพุทรา เพราะตั้งอยู่ตรงข้ามปากน้ำบางพุทรา (แม่น้ำลพบุรี) เดิมไม่มีที่ว่าการอำเภอ
เมื่อมีการสร้างศาลากลางจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ จึงได้อาศัยอยู่กับศาลากาลางจังหวัด
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อที่ว่าการอำเภอ ที่ตั้งอยู่ในเมืองให้เป็นชื่อจังหวัดนั้น
ๆ
อินทร์บุรี
อำเภออินทรบุรีเดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองอินทร์
ในกฎมณเฑียรบาลว่าเป็นเมืองสำหรับหลานเธอครอง
ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จัดให้เมืองอินทร์เป็นเมืองหัวมืองชั้นใน
เป็นเมืองหน้าด่านรายทางสำหรับทางเหนือ โดยมีเมืองลพบุรีเป็นหัวเมืองชั้นในหน้าด่านสำหรับทางเหนือเป็นหลัก
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองอินทร์เป็นเมืองจัตวา ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ เมืองอินทร์ถูกรวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า
พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองอินทร์เป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดสิงห์บุรี เรียกว่า อำเภออินทรบุรี
พรหมบุรี
อำเภอพรหมบุรี มีมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
มีฐานะเป็นเมืองชั้นใน แต่สร้างในสมัยใดไม่ปรากฎ สันนิษฐานกันว่าเป็นเมืองที่พระเจ้าพรหม
(พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก) ผู้ครองเมืองไชยปราการ (ฝาง) ได้โปรดให้สร้างขึ้นขนานนามว่า
เมืองพรหมบุรี
ตั้งอยู่ใต้วัดอัมพวัน ตำบลพรหมบุรี อำเภอพรหมบุรี ในกฎมณเฑียรบาลเป็นเมืองสำหรับหลานเธอครอง
เรียกชื่อว่า พระพรหมนคร
แต่ในทางปกครองได้ถูกจัดให้เป็นหัวเมืองจัตวา ได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ปากบางหมื่นหาญ
(อยู่เหนือตลาดปากบาง ตำบลพรหมบุรี ปัจจุบัน) ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่จวนหัวป่า
เหนือวัดพรหมเทพาวาส ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้ถูกรวมเข้าอยู่ในมณฑลกรุงเก่า
พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองพรหมบุรีเป็นอำเภอขึ้นกับจังหวัดสิงห์บุรีเรียกว่า อำเภอพรหมบุรี
อำเภอบางระจัน
เดิมชื่ออำเภอสิงห์ เขตพื้นที่ของอำเภอทั้งหมดเป็นเขตพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองสิงห์บุรีเก่า
เมื่อมีการยุบเมืองเป็นอำเภอทั้งสามเมืองแล้ว ได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลบางพุทรา
เป็นเมืองสิงห์บุรี เมืองเก่าจึงถูกแยกออกเป็นสองอำเภอ คือ อำเภอบางพุทรา
(ต่อมาคืออำเภอเมืองสิงห์บุรี) และอำเภอสิงห์ ที่ว่าการอำเภอแห่งแรก ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน้อย
ในเขตตำบลเชิงกลัด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้ย้ายมาตั้งที่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำน้อย
ในเขตตำบลสิงห์ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอบางระจัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
ท่าช้าง
อำเภอท่าช้าง เดิมเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอพรหมบุรี ต่อมาได้แยกเอาตำบลในอำเภอพรหมบุรี
ซึ่งอยู่ห่างไกลสามตำบล มารวมเข้าด้วยกัน เป็นกิ่งอำเภอท่าช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓
และยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖
เหตุที่ได้ชื่อว่าท่าช้าง เนื่องจากแต่ก่อนพื้นที่ดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหญ้าและต้นไม้
อยู่ใกล้แม่น้ำน้อย และมีหาดทรายกว้างขวาง เป็นทำเลเหมาะสำหรับเป็นท่าน้ำ
มีการนำช้างหลวงมาเลี้ยงไว้หลายเชือกจนกลายเป็นสถานที่เลี้ยงช้างหลวงจึงเรียกชุมชนบริเวณนี้ว่า
ท่าช้าง
ค่ายบางระจัน
อำเภอค่ายบางระจัน เดิมเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอบางระจัน ในปี พ.ศ.๒๕๐๙
ได้มีการพิจารณาฟื้นฟูค่ายบางระจัน และได้มีการเสนอให้ตั้งกิ่งอำเภอค่ายบางระจันขึ้นที่ตำบลบางระจัน
ได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙
|