มรดกทางวัฒนธรรม
สิงห์บุรีมีความอุดมสมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้าน ทำให้มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ต่อเนื่องกันมานาน
ได้สร้างสมผลงานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากการประดิษฐคิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้งานศิลปกรรม
และศาสนวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เป็นหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
โบราณคดี หรือชาติพันธุ์วิทยา บอกถึงความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตผู้คนในอดีตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
โบราณวัตถุ
โบราณวัตถุที่พบในเขตจังหวัดสิงห์บุรี ตามยุคสมัยของศิลปะในประเทศไทยคือ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ หินดุ ขวานหิน
สมัยทวารวดี
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ธรรมจักร พระพุทธรูปหิน แท่นหินบด ภาชนะดินเผา แว ตะคัน
ลูกปัดหินสี
สมัยอยุธยา
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบ
จากเตาแม่น้ำน้อย เช่นไหสี่หู กระปุก แจกัน ฯลฯ
สมัยรัตนโกสินทร์
โบราณวัตถุที่พบได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องถ้วยจีน
และสิ่งของเครื่องใช้ในการพระพุทธศาสนา
โบราณสถาน
โบราณสถานในเขตจังหวัดสิงห์บุรี มีทั้งในส่วนที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์
แหล่งอุตสาหกรรม และสถานที่สำคัญของทางราชการ ที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมดีเด่น
นอกจากนี้ยัวมีอาคารโบราณสถานที่เป็นวัดสำคัญทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยโบสถ์
วิหาร พระปรางค์ มณฑป ฯลฯ ล้วนเป็นมรดกที่ภาคภูมิใจ
โบราณสถานของจังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญ มีอยู่หกแห่งด้วยกันคือ
วัดพระนอนจักรสีห์ วัดหน้าพระธาตุ เมืองโบราณบ้านคูเมือง วัดโพธิเก้าต้น คูค่ายพม่า
และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทรบุรี
เมืองโบราณบ้านคูเมือง
อยู่ในเขตตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๑ - ๑๖ ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบสี่ด้าน
มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๔ ไร่ สภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันยังปรากฎร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณ
พบเศษภาชนะดินเผา และสิ่งของเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ที่บริเวณเนื้อดิน พบลูกปัดดินเผาและหินสี
ในส่วนที่เป็นโบราณสถานไม่ปรากฎให้เห็นรูปทรงชัดเจน เหลือแต่เพียงชิ้นส่วนที่ใช้ตบแต่งสถาปัตยกรรมเท่านั้น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
คูค่ายพม่า
ตั้งอยู่บริเวณหลังวัดคู ตำบลโนนแป้ง อำเภอพรหมบุรี มีลักษณะเป็นแนวคันดินรูปปีกกา
ส่วนหนึ่งของคูค่ายมีทางหลวงสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข ๒) ตัดผ่าน เป็นคูค่ายที่พม่าสร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๒๑๒๗ เมื่อครั้งพระเจ้าเชียงใหม่ยกทัพมาที่เมืองชัยนาท และให้ทัพหน้าลงมาตั้งค่ายที่ปากน้ำบางพุทรา
แขวงเมืองพรหม โดยจะมาสมทบกับกำลังของเจ้าเมืองพสิม ที่ยกมาทางด่านเจดียสามองค์เพื่อรวมกำลังกันเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยา ได้ต่อสู้จนกองทัพพม่าที่ปากน้ำบางพุทรา ต้องถอยร่นไปที่เมืองชัยนาท
พระเจ้าเชียงใหม่ต้องถอยทัพกลับ ทิ้งร่องรอยคูค่ายไว้ให้เห็นถึงปัจจุบัน
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์ ต่อมาได้รวบรวมโบราณวัตถุและสิ่งของต่าง ๆ
ที่เก็บรวบรวมไว้ออกมาจัดแสดงในรูปพิพิธภัณฑ์ของวัด มีผู้เข้าชมมากขึ้นตามลำดับ
ทำให้อาคารไม้หลังเดิมไม่เพียงพอแก่การนี้ จึงได้ก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ แต่ยังไม่พอจึงได้ซ่อมแซมศาลาการเปรียญขึ้น
เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์อีกหลังหนึ่ง
มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัย ทวารวดี สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา
และสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น พระพุทธรูปต่าง ๆ พระธรรมจักร ตาลปัตรพัดยศ เครื่องประกอบสมณศักดิ์ของพระสงฆ์
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
แหล่งโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีเป็นแหล่งที่มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต แต่ไม่ปรากฎสิ่งก่อสร้างให้เห็นอย่างชัดเจน
ในเขตจังหวัดสิงห์บุรี มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ซึ่งมักจะพบเศษชิ้นส่วนภาชนะรูปทรงต่าง
ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ที่ยังมีร่องรอยปรากฎให้เห็นชัดเจนมีดังต่อไปนี้
แหล่งโบราณคดีบ้านชีน้ำร้าย
อยู่ในเขตตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทรบุรี เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีพื้นที่เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง
พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีทั้งชนิดปากขอบโค้งเข้า โค้งออก
และปากตรง การตกแต่งมีแบบเคลือบน้ำดินข้น ลายเชือกทาบ ลายขูดขีด ลายกดประทับ
ลายปั้นแปะ และผิวเรียบไม่มีลาย แวดินเผาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ชิ้นส่วนกำไลสำริด
ชิ้นส่วนที่คล้ายตุ๊กตาดินเผา ชิ้นส่วนขวานหิน
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่คือ
แม่น้ำเจ้าพระยา
แหล่งโบราณคดีเมืองบ้านคู
ตั้งอยู่ที่บ้านคู ตำบลพักทับ อำเภอบางระจัน ปัจจุบันเหลือร่องรอยของคันดินเฉพาะทางด้านทิศเหนือ
อีกส่วนหนึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคันดินชั้นเดียวแต่ปัจจุบันถูกไถออกไปหมดแล้ว
เมืองโบราณทั้งสองแห่งนี้ตอดต่อกันโดยคูน้ำ
จากการสำรวจภายในเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
เศษเครื่องถ้วยจีนลายคราม ขวานหินขัด ระฆังหิน และยังพบซากเจดีย์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
๙ เมตร ยอดเนินดินสูงประมาณ ๑ เมตร บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ
ส่วนเมืองโบราณขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้พบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ
ตกแต่งผิวภาชนะด้วยลายขูด ลายเส้นขนานสลับฟันปลา เหมือนกับเศษภาชนะดินเผาที่พบในสมัยอยุธยาตอนกลาง
- ตอนปลาย เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูงชนิดไม่เคลือบ มีการตกแต่งผิวภาชนะแบบลายเส้นขนานสลับลายหวี
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีอายุเก่าถึงสมัยทวารวดี และคงมีผู้คนอยู่อาศัยภายในเมือง
บริเวณรอบ ๆ เมืองในสมัยอยุธยา
แหล่งโบราณคดีบ้านคีม
ตั้งอยู่ในเขตตำบลสระแจง อำเภอบางระจัน มีลักษณะเป็นเนินดินรูปวงรี
กว้าง ๒๐๐ เมตร ยาว ๕๐๐ เมตร มีคูน้ำขนาดกว้าง ๕ เมตร ล้อมรอบพื้นที่เป็นลานตะพักน้ำระดับต่ำ
มีลักษณะเรียบจนถึงเป็นลูกคลื่นลอนลาด สภาพตัวเมืองโบราณแต่เดิมมีลักษณะเป็นเนินสูง
จากการสำรวจ พบเฉพาะเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ พบไม่มากนักและเป็นชิ้นเล็ก
ๆ มีการตกแต่งผิวแบบเคลือบน้ำดินข้นและลายเชือกทาบ สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนโบราณที่มีการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ
ซึ่งคงมีอายุร่วมสมัยกับชุมชนโบราณทวารวดี ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน
เมืองโบราณบ้านคูเมือง
อยู่ในเขตตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี เป็นแหล่งชุมชนโบราณขนาดใหญ่
มีขนาดกว้างประมาณ ๖๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างกลมรี
สูงกว่าพื้นที่โดยรอบประมาณ ๓ เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ ๑ ชั้น คูน้ำกว้างประมาณ
๑๐ เมตร บางตอนกว้าง ๕๐ เมตร คูน้ำยาวรอบตัวเมือง มีน้ำขังตลอดปี ปัจจุบันบริเวณเมืองเป็นสวนรุกขชาติของกรมป่าไม้
สภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นทุ่งนา
หลักฐานทางโบราณคดีส่วนใหญ่พบภาชนะดินเผาประเภทหม้อ ไห ชาม กาน้ำ ตะคันดินเผา
ตะเกียง พระพุทธรูปหินสีเขียว พระธรรมจักรหิน เครื่องประดับประเภทต่าง ๆ เช่น
ตุ้มหู สำริด ลูกกระพวนสำริด ตุ้มหูตะกั่ว ลูกปัดหินสี ลูกปัดแก้ว เบี้ยดินเผาหินบดยา
โครงกระดูกกลายเป็นหิน ฐานศิวลึงค์ กังสดาล เหรียญเงินมีคำจารึกว่า ศรีทวารวดีศวรปุณยะ
และพบสระน้ำโบราณอยู่ ๓ สระ
จากการนำชิ้นส่วนถ่านที่ได้จากชั้นดินที่ทับถมอยู่บริเวณคูเมืองโบราณไปทดสอบอายุ
พบว่ามีอายุสัมพันธ์กับโบราณวัตถุสมัยฟูนันตอนต้น ติดต่อมาถึงสมัยทวารวดี
ที่เห็นเด่นชัดคือภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยลวดลายประดับรูปสัตว์สลับดอกไม้กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า
และกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียงในแนวนอน มีลวดลายไข่ปลาในแนวตั้ง ลายแบบนี้นิยมทำภาพสลักที่เจดีย์สมัยทวารวดีในจังหวัดนครปฐมด้วย
แหล่งประวัติศาสตร์
พิ้นที่ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ของสิงห์บุรี เป็นสถานที่สู้รบระหว่างชาวบ้านบางระจันกับกองทัพพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งที่สองในปี
พ.ศ.๒๓๑๐ โดยรวมตัวกันตั้งค่ายป้องกันข้าศึก ได้ชัยชนะถึงเจ็ดครั้ง ต้านทานข้าศึกได้นานถึง
๕ เดือน นับเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ
ค่ายบางระจัน
อยู่ในเขตตำบลบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน มีประวัติความเป็นมาโดยสังเขปคือ
เมื่อเดือนสาม ปีระกา พ.ศ.๒๓๐๘ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าแห่งกรุงอังวะ ให้เนเมียวสีหบดี
(มังโปสุพลา) เป็นแม่ทัพฝ่ายเหนือยกกำลังมาทางเหนือเข้าตีเมืองรายทาง แล้วลงไปตั้งค่ายอยู่ที่วัดป่าฝ้าย
(ในเขตอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน)
ให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพฝ่ายใต้ พร้อมด้วยติงจา แมงข่อง จอกาโม งาจุนหวุ่น
และจิกแก ปลัดเมืองทวาย ยกกำลังมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วมาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลสีกุก
(ในเขตอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน)
เนเมียวสีหบดีให้สุรินทจอข่องเป็นแม่ทัพถือพลหนึ่งพันเศษ ยกไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ
เที่ยวออกปล้นสะดมชาวบ้านเป็นที่เดือดร้อนไปทั่ว
ได้มีชาวบ้านสี่คนคือนายแทน นายอิน นายเมือง และนายโชติ เป็นชาวบ้านศรีบัวทอง
แขวงเมืองสิงห์บุรี และอีกสองคนคือ นายดอกและนายทองแก้ว เป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ
บ้านสี่ร้อย ทั้งหกคนได้ร่วมสาบานกันและขอเป็นศิษย์พระอาจารย์ธรรมโชติ
สำนักวัดเขาขึ้น
ยอดเขานางบวช
ขุนสรรค์สรรพกิจ กรมการเมืองสรรคบุรี ศิษย์ของพระอาจารย์ธรรมโชติ ได้อพยพครอบครัวและราษฎรประมาณสองร้อยคน
มาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ
พระอาจารย์ธรรมโชติจึงหาทำเลที่ตั้งค่ายที่วัดโพธิ์เก้าต้น
ตำบลบ้านบางระจันทร์ แขวงเมืองสิงห์บุรี เพราะมีภูมิประเทศคล้ายเป็นเกาะ เหมาะแก่การตั้งรับข้าศึกและป้องกันตัว
มีเสบียงอาหารสมบูรณ์
ขณะนั้นได้มีกลุ่มคนซ่องสุมกำลังฝึกอาวุธอยู่บริเวณเหนือวัดโพธิ์ทะเล อยู่หลายกลุ่มด้วยกันคือ
นายพันเรือง กำนันตำบลบางระจัน
นายจันเขียว หรือนายจันหนวดเขี้ยว นายบ้านโพธิ์ทะเล
นายทองเหม็น ผู้ใหญ่บ้านกลับ
นายทองแสงใหญ่ ผู้ช่วยกำนันตำบลบางระจัน
ทั้งสี่คนเป็นชาวเมืองสิงห์บุรี ทุกคนเป็นศิษย์พระอาจารย์ธรรมโชติ ได้มารวมตัวกันกับพระอาจารย์ธรรมโชติ
ได้มีการสร้างค่ายสองค่าย ค่ายใหญ่อยู่บริเวณวัดโพธิ์เก้าต้น ค่ายเล็กอยู่บริเวณวัดประโยชน์
(วัดยวด) ให้นายแท่นเป็นแม่ทัพใหญ่ ให้นายทองเหม็นเป็นนายกอง ทางปีกขวา นายพันเรืองเป็นนายกองทางปีกซ้าย
ขุนสรรค์สรรพกิจ เป็นกองหน้า ชาวบ้านบางระจันได้รวมกำลังกันดังกล่าวต่อสู้กับพม่าหลายครั้งดังนี้
- ครั้งที่ ๑
สุรินจอข่อง รู้ว่ามีการจัดตั้งค่ายบางระจัน จึงให้จัดกำลังร้อยคนมุ่งหน้าไปบางระจัน
ทางค่ายบางระจันให้นายแท่นเป็นนายกองออกไปสู้พม่า เมื่อพม่ายกมาถึงด้านใต้ลำราง
ชาวค่านบางระจันก็เข้าโจมตีพม่าได้ฆ่าฟันพม่าตายเกือบหมด เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ทำให้ผู้ที่หลบซ่อนอยู่ตามหัวเมืองต่าง
ๆ อพยพเข้ามาอยู่ในค่ายบางระจันมากขึ้นจนมีกำลังเกือบพันคน
สุรินจอข่อง เห็นสถานการณ์เช่นนั้น จึงมีใบบอกไปยังแม่ทัพใหญ่ เนเมียวสีหบดีจึงให้งาฉุนหวุ่นถือพล
๕๐๐ ยกออกไปปราบเมื่อมาถึงบ้านแสวงหา พระอาจารย์ธรรมโชติให้นายดอกกับนายทองแก้วคุมกำลังออกรบ
ฝ่ายพม่าแตกกลับไป
- ครั้งที่ ๒
เนเมียวสีหบดีจัดกำลังเจ็ดร้อยคน ให้เยกินหวุ่นยกกำลังไปปราบ ทางค่ายบางระจันยกกำลังไปตั้งรับที่บ้านห้วยไผ่
เมื่อปะทะกับฝ่ายค่ายบางระจัน ได้ชัยชนะฆ่าฝ่ายพม่าตายเป็นจำนวนมาก
- ครั้งที่ ๓
เนเมียวสีหบดีจัดกำลังเก้าร้อยคน ให้ติงจาโปคุมกำลังไปปราบ ฝ่ายค่ายบางระจันซุ่มคอยที่อยู่
เมื่อพม่ายกมาถึงทุ่งขุนโลก (ปัจจุบันอยู่ที่วัดประดับ) ฝ่ายไทยยกกำลังเข้าตีพม่าแตกกลับไป
- ครั้งที่ ๔
เนเมียวสีหบดีจัดกำลังหนึ่งพันคน ให้สุรินจอข่องนำไปปราบค่ายบางระจัน เมื่อมาถึงบ้านหัวไผ่
แขวงเมืองวิเศษชัยชาญใกล้ค่ายบางระจัน ทางค่ายบางระจันให้นายแท่นเป็นกองกลาง
นายทองเหม็นเป็นปีกขวา นายพันเรืองเป็นปีกซ้าย มีกำลังพลกองละสองร้อยคน และให้ขุนสรรค์คุมพลแม่นปืน
ร้อยคนเป็นกองหน้า กำลังทั้งหมดไปพร้อมกันที่สะตือสี่ต้น ริมคลองบางระจัน
ตั้งรับพม่าอยู่ด้านเหนือบ้านห้วยไผ่ เมื่อเข้ารบกันได้มีกองม้าบ้านโพธิคำหยาด
แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ มีม้า ๓๐ ตัว ผ่านมาพบเหตุการณ์จึงได้เข้าร่วมรบด้วย
ฝ่ายพม่าแตกยับเยินกลับไป สุรินจอข่องนายทัพพม่าตายในที่รบ นายแท่นถูกปืนพม่าได้รับบาดเจ็บ
- ครั้งที่ ๕
เนเมียวสีหบดีให้แยจอฮากา ถือพลพันสองร้อยคนมาตีค่ายบางระจัน ทางค่ายบางระจันจัดกำลังออกไปซุ่มระหว่างทาง
ฝ่ายพม่าเดินทัพเข้าสู่ที่ล้อมที่บ้านขุนโลก กองทัพพม่าแตกร่นไปไม่เป็นขบวนล้มตายเป็นจำนวนมาก
แยจอฮากาหนีกลับไปได้
- ครั้งที่ ๖
เนเมียวสีหบดีจัดกำลัง ๑,๒๐๐ คน ให้จิกแกปลัดเมืองทวาย ยกไปตีค่ายบางระจันกำลังทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากันที่ชายทุ่งบ้านกระทุ่มรายและวัดบ้านสร้าง
ฝ่ายพม่าแตกกลับไป
- ครั้งที่ ๗
เนเมียวสีหบดีจัดกำลัง ๑,๕๐๐ คน ให้อากาปันคยีเป็นเม่ทัพ มีทั้งทหารราบและทหารม้า
ยกไปตีค่ายบางระจัน ใช้วิธีเดินทัพช้า ๆ ตั้งค่ายเป็นระยะ ๆ สุดท้ายมาตั้งที่ชายป่าบ้านขุนโลก
ตอนนี้ทางค่ายบางระจันมีกำลังคนมากขึ้น ได้จัดกำลัง ๑,๐๐๐ คนเศษ ให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นเม่ทัพมีกำลัง
๓๐๐ คน นายโชติเป็นปีกขวามีกำลัง ๒๐๐ คน นายทองแก้วเป็นปีกซ้ายมีกำลัง ๓๐๐
คน ขุนสรรมีกำลัง ๑๒๐ คน กองม้ามี ๔๐๐ ตัว มอบให้นายทัพเป็นนายกองม้าประจันบาน
ฝ่ายค่ายบางระจันตีพม่าแตกพ่ายกลับไป
- ครั้งที่ ๘
หลังจากการรบคร้งที่ ๗ ต่อมาอีก ๒๐ วัน มีมอญคนหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยมานาน
พม่าได้ตั้งตัวให้เป็นพระนายกอง
รับอาสาคุมกำลังไปตีค่ายบางระจัน ได้คุมกำลังผสมพม่ามอญจำนวน ๒,๐๐๐ คน พร้อมยุทธภัณฑ์
เครื่องม้า ปืนเล็ก ปืนใหญ่ เดินทัพอย่างระมัดระวัง เมื่อถึงที่เหมาะสมก็จะตั้งค่าย
โดยตัวค่ายแต่ละครั้งจะมีสามค่าย แล้วรื้อค่ายหลังไปตั้งค่ายหน้า ทำเช่นนี้ตลอด
๒๐ วัน ก็เข้าประชิดบ้านขุนโลกใกล้เขตบ้านบางระจัน ฝ่ายค่ายบางระจันจัดทัพเข้าโจมตี
แต่ฝ่ายพม่าตั้งมั่นอยู่ในค่ายแล้วใช้ปืนใหญ่ปืนเล็กยิงต่อสู้ นายทองเหม็นออกรบถุฝ่ายพม่ารุมตีตาย
นับเป็นครั้งแรกที่ชาวบางระจันแพ้ ส่วนนายแท่นถูกพม่ายองบาดเจ็บและตายในที่สุด
พม่าพยายามขุดอุโมงค์เข้าประชิดค่ายบางระจัน เพื่อตั้งปืนใหญ่ยิงได้สะดวกขึ้น
ชาวค่ายบางระจัน ได้ทำใบบอกไปยังกรุงศรีอยุธยา ขอปืนใหญ่กับกระสุนดินดำมาต่อสู้พม่า
แต่ทางกรุงศรีอยุธยาเกรงว่าจะถูกพม่าช่วงชิงระหว่างทาง แต่ได้ให้พระยารัตนาธิเบศร์มาแนะนำช่วยเหลือ
โดยได้เรี่ยไรทองเหลือง ทองแดง ตลอดจนโลหะที่พอมีมาหล่อปืนใหญ่ แต่ปรากฎว่า
ปืนใหญ่ที่หล่อทั้งสองกระบอกร้าวใช้การไม่ได้ เมื่อพม่าขุดอุโมงค์เข้าประชิดค่ายบางระจัน
แล้วใช้ปืนใหญ่ระดมยิงติดต่อกันสามวัน พม่าก็เข้ายึดค่ายเล็กไว้ได้ ต่อมาอีก
๒๐ วันพม่าก็รวมกำลังกันเข้าตีค่ายบางระจันได้ เมื่อวันแรมสองค่ำเดือนแปด
พ.ศ.๒๓๐๙ รวมเวลาที่ชาวบ้านบางระจันได้ตั้งค่ายสู้พม่าอยู่ถึงห้าเดือน
ร่องรอยของค่ายบางระจันคงเหลือแต่คันดินเป็นแนวอยู่ทางทิศใต้ของวัดโพธิ์แก้ว
ทางราชการได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณะฟื้นฟูค่ายบางระจัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓
โดยให้กรมศิลปากรขุดแต่งตัวค่ายและสระ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๓ คณะกรรมการได้มีดำริให้สร้างค่ายจำลองแทนค่ายเก่าซึ่งสร้างด้วยไม้ประกอบด้วยเชิงเทิน
ระเนียด ป้อมและหอคอยห้าป้อม เป็นป้อมใหญ่สองป้อม ป้อมเล็กสามป้อม อยู่ที่มุมทิศตะวันออกหนึ่งป้อม
ทิศตะวันตกสองป้อม ตัวป้อมสูง ๘ เมตร กว้าง ๔.๖๐ เมตร มีหอคอยหลังคาเหลี่ยมมุงด้วยแฝก
กว้าง ๒.๕๐ เมตร ป้อมใหญ่มีพื้นสามชั้น ป้อมเล็กมีสองชั้น มีบันไดขึ้นกำแพงค่ายหรือระเนียด
กำแพงป้อมรักษาการณ์ มีลักษณะการเรียงเสาสามต้นให้สูงขึ้น มาสลับกับเสาสองต้นเป็นระยะ
สำหรับบังตัวตามแบบใบเสมาของกำแพงเรียกว่า ลูกป้อม เสาระเนียดทั้งหมดเสี้ยมปลายแหลม
หลังค่ายยกเป็นเนินดินสูง ๑.๒๐ เมตร ตัวค่ายจำลอง มีความยาวประมาณ ๑.๗๕ เมตร
|