มรดกทางพระพุทธศาสนา
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านพระนอน ในเขตตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่สำคัญของชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์สมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
ต่อมาในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระวิหาร มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยา ส่วนพระอุโบสถมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยรัตนโกสินทร
เจดีย์มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยา
พระนอนจักรสีห์ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่มาก มีความยาว ๑ เส้น
๓ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว หรือประมาณ ๔๖ เมตร ประดิษฐานอยุ่ในพระวิหารวัดพระนอนจักรสีห์ววรวิหาร
สร้างเป็นแบบพระนอนอินเดีย เหมือนพระพุทธไสยาสน์ที่ถ้ำเมืองยะลา คือพระกรขวา
ศอกยื่นไปทางด้านหน้า ไม่งอ พระกรตั้งขึ้นรับพระเศียรเหมือนพระนอนไทย
พระนอนมิได้หมายถึงเหตุการณ์ปรินิพพานเสมอไป พระพุทธรูปปางไสยาสน์ตะแคงขวายกพระเศียรสูงขึ้น
ซึ่งมักสร้างให้มีขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางโปรดสุรินทราหู มีเรื่องอยู่ว่าอสุรินทราหูเป็นยักษ์ตนหนึ่งปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า
ซึ่งครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี แต่อสุรินทราหูมีทิฐิว่าตนรูปร่างสูงใหญ่
ถ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าตนจะต้องก้มลงมอง ตนนั้นไม่เคยต้องลงให้กับผู้ใด
พระพุทธเจ้าทรงทราบความในใจของอสุรินทราหูด้วยพระญาณ พระพุทธองค์จึงรับสั่งแก่พระอานนท์ว่า
ให้เตรียมสถานที่รองรับอันกว้างใหญ่ แล้วลาดบรรจถรณ์ไว้พระองค์จะประทับนอนให้อสุรินทราหูเฝ้า
แล้วทรงกระทำอิทธิปาฎิหารย์นิรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่าอสุรินทราหูหลายเท่า
แม้เพียงพระบาทที่ซ้อนกันก็ยังสูงใหญ่กว่าอสุรินทราหูเสียอีก ทำให้อสุรินทราหูต้องแหงนหน้าขึ้นชมพระบารมี
อสุรินทราหูจึงได้ลดทิฐิและความหลงของตนเองลงได้
ดังนั้นจึงถือได้ว่า ความเป็นมาของเรื่องพระพุทธเจ้าโปรดอสุรินทราหู อาจเป็นคติหนึ่งของการสร้างพระนอนขนาดใหญ่ในประเทศไทย
วัดหน้าพระธาตุ
วัดหน้าพระธาตุ เดิมชื่อวัดหัวเมือง หรือวัดศีรษะเมือง ตั้งอยุ่ที่บ้านพลับ
ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ ฯ ไปทางด้านทิศตะวันตก
ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นวัดร้าง แต่ปัจจุบันมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่บ้าง
โบราณสถานที่ปรากฎมีอยู่เป็นพระปรางค์มีฐานกว้างประมาณ ๒๐ เมตร สูง ๒๔ เมตร
มีลักษณะของศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ที่นิยมทำรูปครุฑ และอสูรถือกระบอง ประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร
เช่นเดียวกับวัดพระปรางค์ชัณสูตร
การสร้างพระปรางค์เป็นคติสืบทอดกันมาจากวัฒนธรรมเขมร แต่มีวิวัฒนาการให้มีรูปทรงที่สูงเพรียวขึ้น
ทั้งส่วนฐานเรือนธาตุ และยอดปราค์ องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนเนินดินสูง สันนิษฐานว่า
บริเวณนี้เป็นที่ตั้งวัดสำคัญของเมืองสิงห์บุรี
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
วัดโพธิเก้าต้น
วัดโพธิเก้าต้น หรือวัดไม้แดง ตั้งอยู่ในเขตตำบลบางระจัน อำเภอบางระจัน สร้างในสมัยอยุธยา
มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ คือ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๘ ชาวบ้านในบริเวณนี้ได้รวมกำลังกันตู่สู้กับพม่า
โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านบางระจัน
ในการสู้รบกับพม่า
เมื่อค่ายบางระจันแตก วัดแห่งนี้ได้ถูกทิ้งเป็นวัดร้าง ชำรุดโทรมไป ต่อมามื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๘๔ ได้มีประชาชนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้มากขึ้น วัดไม้แดงจึงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์กันมาตามลำดับ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ ได้มีการขออนญาตสร้างวัดขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้รับการยกฐานะให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา
มีชื่อว่าวัดโพธิเก้าต้น
สิ่งสำคัญภายในวัดมีวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่หน้าวิหาร
อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง กุฎิ และเจดีย์ราย
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
วัดม่วง
วัดม่วงตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลอินทร์บุรี อำเภอเอินทร์บุรี
ภายในวิหารมีหภาพจิตรกรรมที่สวยงามว่าด้วยเรื่องสวรรค์ และพุทธประวัติ เขียนด้วยสีฝุ่นเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน
ภาพพุทธประวัติมีตั้งแต่ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงตัดพระเมาฬี
มีภาพนายฉันนะ และม้ากัณฐกะกำลังอยู่ในอาการเศร้าโศก อยู่เบื้องหน้าพระพักตร์
ภาพพระโพธิสัตว์ขณะทรงบำเพ็ญทุกขกิริยา และตอนทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา
ภาพพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญสมาธิอยู่บนโพธิบัลลังก์ มีเทพยดากำลังพนมหัตถ์ชูช่อดอกบัวอยู่ด้านละองค์
ภาพธิดามารสามตนกำลังใช้มารยาล่อลวงพระพุทธองค์หวังให้ทรงลุ่มหลงในโกีย์วิสัย
ภาพพญามุจลินทร์ ขดลำตัวแผ่พังพานป้องกันพระพุทธองค์มิให้ฝนที่ตกลงมาเปียกพระองค์ได้
ภาพพระพุทธองค์ทรงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ที่ป่าเลย์ไลย์ มีช้างและลิงคอยปรนนิบัติ
ภาพพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์หลังโปรดพระพุทธมารดา ณ ที่นั้น และภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติอื่น
ๆ อีกหลายภาพ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดม่วง แสดงความสามารถของฝีมือช่างพื้นบ้าน ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึก
เชื่อมั่นและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดจนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของสังคมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
วัดสุทธาวาส
วัดสุทธาวาสตั้งอยู่ในเขตตำบลทับยา อำเภออินทร์บุรี เดิมชื่อวัดใหม่
แสดงว่าเป็นวัดสร้างใหม่ในที่ที่เป็นวัดเดิม สังเกตได้จากพระพุทธรูปศิลา ซึ่งเป็นพระประธานในอุโบสถ
และปูชยสถานหลายแห่งเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาโดยมาก ที่เป็นพระพุทธรูปสมัยลพบุรีก็มี
นอกจากนั้นยังมีซากเจดีย์เก่าอยู่ด้วย
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารครอบรอยพระพุทธบาท เขียนโดยช่างท้องถิ่นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ พระจุฬามณี แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา
วัดพระปรางค์มุนี
วัดพระปรางค์มุนี ตั้งอยู่ในเขตตำบลม่วงหมู่ อำเภอเมือง ฯ ตั้งเป็นวัดเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๔๐ อุโบสถเดิมเป็นรูปทรงเตี้ย ต่อมาได้ซ่อมแซมใหม่ โดยเปลี่ยนหลังคา
และต่อเติมให้สูงขึ้นจนดูเหมือนเป็นอุโบสถหลังใหม่ ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง
เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ และทศชาติชาดก มีความงดงาม สันนิษฐานว่า เขียนขึ้นเมื่อครั้งที่สร้างวัดขึ้น
วัดจักรสีห์
วัดจักรสีห์อยู่ที่บ้านจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ประมาณ
๔ กิโลเมตร
ตามประวัติวัดจักรสีห์สร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อวัดพลับ
ภายในอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก เป็นภาพจิตรกรรมที่แปลกออกไปจากวัดอื่นทั่วไป
กล่าวคือเป็นภาพพระพุทธเจ้าในปางสมาธิเกือบทั้งหมด เบื้องหลังมีหมู่ไม้ บางภาพเป็นภาพพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวก
และมีภาพหนึ่งเป็นภาพพระพุทธเจ้าตอนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
วัดสิงห์
วัดสิงห์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลทับยา อำเภออินทบุรี เป็นวัดเก่าสร้างสมัยอยุธยา
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๕๐ มีใบเสมาเก่าและมีเจดีย์เก่าอยู่สององค์ยังปรากฎอยู่
ในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังวาดไว้ที่เสาและฝาผนังซุ้มหลวงพ่อเนตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่
ประดิษฐานติดกับผนังด้านหลังโบสถ์ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับยืนในซุ้มดอกไม้
ภาพเขียนส่วนใหญ่เป็นลายดอกไม้ บางแห่งมีภาพยักษ์แทรกอยู่
วัดปลาไหล
วัดปลาไหล ตั้งอยู่ที่บ้านปลาไหล ตำบลประศุก อำเภออินทบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๕
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕
ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่มีค่าหลายอย่างเช่น
วิหารสมัยอยุธยาตอนปลาย อุโบสถ หอสวดมนต์ เจดีย์ หอกลอง และตู้พระธรรม
ภายในวิหารเก่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง คล้ายกับที่วัดจักรสีห์ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งห้อยพระบาท
ภาพพระพุทธไสยาสน์ ภาพนรกภูมิ และยังมีภาพม้าที่ผนังด้านหน้าพระพุทธรูปองค์ใกล้ทางออกอีกด้วย
พระพุทธนวราชบพิตร
พระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดสิงห์บุรี เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานแก่จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒
พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๗ เซนติเมตร สูง
๔๐ เซนติเมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายไพฑูรย์
เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เข้ามาปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมานี้ในพระราชฐาน
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงตรวจพุทธลักษณะจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้า
ฯ ให้ช่างเททองหล่อพระพุทธรูปขึ้น เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๙ และให้ขนานนามว่า
พระพุทธนวราชบพิตร
ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตร พระองค์ได้ทรงบรรจุพระพิมพ์ไว้หนึ่งองค์
พระพิมพ์นี้พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์
ทั้งในพระองค์และจากจังหวัดต่าง ๆ ทุกจังหวัด
การพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร แก่จังหวัดต่าง ๆ นั้น เป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย
และความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรชาวไทย จึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน
|