วัดเขาพระอานนท์
วัดเขาพระอานนท์ ตั้งอยู่บนภูเขาขนาดย่อม ริมฝั่งแม่น้ำตาปี ในเขตตำบลพุนพิน
ตามประวัติกล่าวว่าสร้างพร้อมกับวัดน้ำรอบ และวัดถ้ำสิงขร การสร้างวัดได้ดัดแปลงภูเขาให้เป็นศาสนสถาน ก่อกำแพงศิลาลอหลั่นกันขึ้นไปสามชั้นโดยรอบภูเขาชั้นสูงสุดคือ ยอดเขา ได้ปรับพื้นที่เรียบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้สร้างเจดีย์และอุโบสถไว้คู่กัน
โบราณสถานที่สำคัญคือ
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงปราสาทก่ออิฐถือปูน สูงประมาณ ๙ เมตรเศษ ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้างด้านละ ๕ เมตร ธาตุมีซุ้มจรนัมทิศทั้ง ๔ ด้าน ด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้น
สามารถเดินเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในองค์เจดีย์ได้ หน้าบันเหนือซุ้มทำเป็น ๒ ชั้น
ชั้นล่างเป็นรูปราหูอมจันทร์ ชั้นบนเป็นรูปเทพพนม มีลายกนกประกอบเป็นฉากหลัง
ยกเว้นด้านทิศตะวันออกด้านเดียวเป็นรูปพระอินทรทรงช้างเอราวัณ ถัดจากชั้นเรือนธาตุเป็นอาคารย่อส่วนเลียนแบบชั่นล่าง
รองรับองค์ระฆังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง หน้าบันเหนือมุขอาคารชั้นนี้มีลายปูนปั้นรูปดอกบัว
ส่วนยอดเป็นบัวรองรับก้านฉัตรและปล้องไฉน ส่วนปลียอดหักหายไปและได้รับการซ่อมแซมใหม่
เจดีย์องค์นี้ได้รับอิทธิพลจากพระบรมธาตะไชยา สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย
และยังมีรูปแบบศิลปกรรมคล้ายกับเจดีย์วัดอัมพาวาส (วัดท่าม่วง) อำเภอท่าชนะ
อุโบสถ
ก่ออิฐถือปูนใช้ฝาผนังรับน้ำหนักแทนเสา ขนาดกว้าง ๖.๖ เมตร ยาว ๑๒.๗๐ เมตร
เครื่องบนเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ของเดิมคงเป็นกระเบื้องกาบกล้วย มีกระเบื้องเชิงชายรูปเทพพนม
ได้พบเศษกระเบื้องดังกล่าวกระจายอยู่ในเขตวัด ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหินทรายสีแดง
๗ - ๘ องค์ เหนือบานประตูหน้าต่างด้านใน ประดับด้วยเครื่องถ้วย ใบเสมารอบอุโบสถทำด้วยหินทรายสีแดงไม่สลักลวดลายใด
ๆ
วัดน้ำรอบ
วัดน้ำรอบ ตั้งอยู่ในเขตตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยา
มีตำนานว่าสร้างพร้อมกับวัดเขาพระอานนท์ อำเภอพุนพิน และวัดถ้ำสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม
เคยเป็นวัดหลวงมาก่อน แต่ถูกทิ้งร้างไป จนถึงรัชสมัยกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ หลวงวิจารอาวุธ กรมพระกลาโหมเป็นแม่กอง เดินสำรวจวัดหัวเมืองปักษ์ใต้
จะยกพระพุทธศาสนาขึ้น หลวงวิจารอาวุธเป็นแม่กองสืบถามผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่บ้านให้รู้ว่า
พระมหากษัตริย์แต่ก่อนสืบมาทรงพระราชศรัทธา อุทิศถวายที่ใดเป็นวัด ได้บอกเล่าต่อกันมาว่า
เดิมวัดน้ำรอบชื่อ วัดหัววังน้ำรอบ มีราชาคณะพระครูไม่ขึ้นแก่ราชาคณะวัดหัวเมืองไชยา
แต่ขึ้นแก่ราชาคณะเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานพระพุทธรูปหล่อทรงเครื่องให้วัดน้ำรอบ ๒ องค์ คือ พระพุทธรูปเงินสูงสองศอก
หล่อหนักห้าชั่ง และโมคคัลลา หล่อสูงสองศอก กับพระมณฑปสองยอด ทรงกัลปนาที่ดินแก่วัดพร้อมถวายพระ
๕๐๐ คน โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่
อุโบสถ
สร้างด้วยไม้ตำเสา เป็นอาคารทรงไทยหลังคาจั่ว มีช่อฟ้าใบระกาและปีกนกรองรับสองชั้น
ส่วนของหลังคามีลักษณะแอ่นโค้งคล้ายท้องสำภา ผนังโบสถ์เป็นผนังเตี้ย ก่ออิฐฉาบปูนตำ
อิฐก่อขึ้นมาจากพื้นไม่มีฐานบัวรองรับเหมือนโบสถ์ทั่วไป สัดส่วนความสูงของหลังคากับผนังโบสถ์ประมาณ
๑:๑ ทำให้สันนิษฐานว่าของเดิมอาจเป็นไม้ทั้งหลัง เป็นอุโบสถที่ไม่มีหน้าต่าง
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูที่ผนังด้านสกัด (ผนังด้านที่มีหน้าบัน หร้อจั่วหลังคา)
ข้างละหนึ่งประตู ช่องรับแสงคือ ช่องว่างระหว่างหน้าบันกับผนังโบสถ์ซึ่งเปิดโล่ง
ที่ผนังทุกด้านเจาะช่องปูนปั้นประดับมองคล้ายเป็นซี่กรง ผนังด้านสกัดมีปูนปั้นรูปเทวดาเป็นซี่กรง
ส่วนผนังด้านข้างมีปูนปั้นเป็นรูปลายดอกไม้สี่กลีบ หน้าบันอุโบสถแกะสลักไม้
หน้าบันด้านทิศตะวันออกแกะเป็นรูปลายพันธุ์พฤกษา ตอนล่างแกะเป็นรูปหน้าอสูรคายก้านใบพันธุ์พฤกษา เสาที่รองรับหน้าบันแกะสลักไม้เป็นลายก้านต่อดอกรับบัวหัวเสาที่แกะเป็นบัวแวง
หน้าบันด้านทิศตะวันตก แกะเป็นรูปลายพันธุ์พฤกษา มีรูปบุคคลคล้ายเทวดาหรือยักษ์
แสดงอาการเคลื่อนไหวเหาะเหินอยู่ในลายพันธุ์พฤกษา ตรงกลางหน้าบันแกะเป็นรูปอสูร
ส่วนของหลังคาบริเวณเชิงชาย แกะสลักเป็นรูปดอกไม้สีกลีบ ดอกพุดตาน ดอกไม้ลายกนกไทย
แต่ละด้านสลักลวดลายต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ลักษณะเป็นศิลปกรรมท้องถิ่น สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถมีศิลาจารึกหินชนวนตั้งอยู่ ๑ แผ่น กว้าง ๕๓
เซนติเมตร ยาว ๑๑๑ เซนติเมตร เป็นอักษรไทย ภาษาไทย กล่าวถึงการสถาปนาวัดหัววังน้ำรอบ
เขตแดนหรืออาณาเขตวัด และการถวายข้าพระให้วัด
เจดีย์ราย
ตั้งอยู่ทางด้านหน้าพระอุโบสถทางด้านทิศตะวันออก มีอยู่สององค์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐ
องค์ซ้ายมือเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดเล็ก ประกอบด้วยฐานเขียงหนึ่งชั้นรองรับฐานสิงห์ และองค์ระฆัง ปล้องไฉน และปลียอดหักหายไป องค์ขวามือเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ประกอบด้วยฐานเขียงหนึ่งชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์
ที่ท้องไม้คาดลูกแก้วอกไก่รองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นบัวถลา ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน
ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย
พระโมคคัลลา
เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานอภัย ฉลองพระองค์แบบกษัตริย์ ตกแต่งลวดลายไทยประดับกระจกสี
วัดควนท่าแร่
วัดควนท่าแร่ อยู่ในเขตตำบลทรัพย์ทวี อำเภอบ้านนาเดิม ประวัติของวัดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
สันนิษฐานจากโบราณสถานและ โบราณวัตถุภายในบริเวณวัดแสดงว่า เป็นวัดโบราณที่น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอย่างต่ำ ชื่อควนทำแร่คงมาจากภูเขาดินที่มีแร่ดินลูกรังหรือแร่เหล็ก โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ
เจดีย์
มีอยู่สามองค์เรียงกันตามแนวเหนือ - ใต้ เจดีย์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าเจดีย์บริวารที่ขนาบข้าง องค์ประกอบและรูปแบบเจดีย์เป็นศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจดีย์รูปแบบนี้พบในหลายพื้นที่ของภาคใต้
พระพุทธรูปและฐานพระพุทธรูป
ฐานพระพุทธรูปลักษณะเป็นฐานชุกชีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๒.๑๐ เมตร ยาว
๔.๔๐ เมตร มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนฐาน ๖ องค์ ด้านหน้า ๓ องค์ ด้านหลัง ๓ องค์
พระพุทธรูปแถวหน้าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย อาจสร้างขึ้นมาภายหลัง
ฐานใบเสมา
มีอยู่เจ็ดฐานด้วยกัน เป็นฐานก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ประกอบด้วยฐานเขียงหนึ่งชั้น และฐานสิงห์หนึ่งชั้น
เหนือฐานสิงห์เป็นใบเสมาคู่ ปัจจุบันเหลืออยู่เก้าใบ
วัดอัมพาวาส
(วัดท่าม่วง)
วัดอัมพาวาส อยู่ในเขตตำบลวัง อำเภอท่าชนะ ประวัติของวัดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
จากหลักฐานเจดีย์ที่มีอยู่ในวัด รูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์ มีอายุอยู่ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย
ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมคงเป็นวัดร้างมาก่อน พบหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณชุมชนใกล้เคียงวัดอัมพาวาส
ได้แก่ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน หินอาเกต หินควอตซ์ ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ และกำไลแก้ว
สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนเดิมของอำเภอท่าชนะ คงเป็นเส้นทางการค้าสมัยโบราณร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ไชยา
มีโบราณสถานที่สำคัญคือ
เจดีย์
เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ฐานเขียงทรงสูงรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๕
เมตร สูงประมาณ ๗๐ เซนติเมตร รองรับเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง มีซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ
องค์เจดีย์ทั้งองค์มีรากต้นโพธิ์ใหญ่ปกคลุมอยู่ ด้านที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ทางด้านทิศใต้สามารถเห็นรูปแบบศิลปกรรมได้ชัดเจนกว่าด้านอื่น
เหนือซุ้มจรนำมีซุ้มหน้าบันทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว ภายในมีภาพปูนปั้นประดับเป็นรูปเทพพนมผุดขึ้นมาจากดอกบัวอยู่ภายในร่มพฤกษชาติ
มีนกสามตัวอยู่บนต้นไม้ ส่วนที่อยู่เหนือเรือนธาตุขึ้นไป อยู่ภายใต้รากต้นโพธิ์ยอดเจดีย์หักพังหมด
สันนิษฐานว่า รูปแบบของเจดีย์คงคล้ายกับเจดีย์ทรงปราสาทที่วัดเขาพระอานนท์
อำเภอพุนพิน
วัดใน
วัดใน ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน
ตัวโบราณสถานอยู่ในพื้นที่วัดร้างในเขตธรณีสงฆ์ของวัดโพธิ์ ที่บ้านนอก ตำบลบ้านใต้
ชาวบ้านเรียกต่อ ๆ กันมาว่าวัดใน เพราะถัดไปมีวัดนอกอีกหนึ่งวัด
บริเวณวัดมีโบราณสถานคือเจดีย์สามองค์ เจดีย์องค์แรกอยู่คงสภาพมากที่สุด เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูน
เจดีย์องค์ที่สอง สร้างด้วยหินปะการัง เหลือเพียงฐาน ปัจจุบันถูกโอบคลุมด้วยต้นโพธิ์ใหญ่
เจดีย์อีกองค์หนึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์หินปะการัง เป็นเจดีย์ขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน
เหลือเพียงส่วนฐานเช่นกัน
เจดีย์องค์ที่หนึ่ง
เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ฐานชั้นล่างเป็นฐานเขียงสูง มีซุ้มประดับที่ฐานด้านละสองซุ้ม
ภายในซุ้มมีช้างค้ำอยู่ครึ่งตัว ด้านหน้าทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ย่อมุมไม้สิบสองรองรับเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง ประดับด้วยเครื่องถ้วยชาม และลายปูนปั้นตามพื้นที่ว่างของย่อมุม ลายปูนปั้นดังกล่าวเป็นรูปทหารจีนทางมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ รูปครุฑทางมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รูปครุฑยุดนาคทางมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
เป็นเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เจดีย์องค์ที่สอง
เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดเล็กฐานกว้างประมาณหนึ่งเมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์องค์ที่สามเหลืออยู่เพียงส่วนฐาน
เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่สองชั้น น่าจะเป็นเจดีย์รายหรือฐานสำหรับวางเครื่องบูชา
เจดีย์องค์ที่สาม
สร้างด้วยหินปะการังเป็นก้อนเหลี่ยมขนาดใหญ่วางซ้อนกัน ปัจจุบันมีรากต้นโพธิ์โอบคลุมไว้ทั้งหมด
เหลืออยู่เพียงส่วนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๕ เมตร
|