มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถาน
วัดเขาศรีวิชัยหรือเขาพระนารายณ์ วัดเขาศรีวิชัยอยู่บริเวณที่ราบทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เชิงเขาศรีวิชัย ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำตาปี
อยู่ในเขตตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน ภูเขาศรีวิชัยเป็นภูเขาขนาดย่อม กว้างประมาณ
๑๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร สูงประมาณ ๒๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล บนยอดเขามีพื้นที่กว้างประมาณ
๓๐ - ๔๐ เมตร ยางตลอดแนวสันเขา พบเทวรูปพระนารายณ์อยู่บนซากโบราณสถานบนยอดเขา
ชาวบ้านเรียกว่า ฐานพระนารายณ์ เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษสงกรานต์ ชาวบ้านจะมีเทวรูปพระนารายณ์ลงมาจากเขา
เพื่อนำมาสรงน้ำ ต่อมาชาวบ้านได้ขุดพบเทวรูปพระนารายณ์ศิลาได้อีกองค์หนึ่ง
ที่บริเวณเชิงเขาอยู่ในสภาพชำรุด ไม่มีเศียร สูง ๔๐ เซนติเมตร เป็นเทวรูปเดียวกันกับเทวรูปองค์ก่อน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้พบพระพิมพ์ที่เรียกว่า พระเม็ดกระดุม และมีลูกปัดจำนวนมาก โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่
- เนินโบราณสถาน
บนยอดเขา พบเนินโบราณสถานเรียงรายกันจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือจำนวน ๘ เนิน พบกำแพงหินลักษณะคล้ายกำแพงแก้ว
ยาวประมาณ ๓๖ เมตร และช่องประตูขึ้นสู่ยอดเขาบริเวณสันเขาด้านใต้สุด บริเวณต่าง
ๆ ทั้ง ๘ เนิน จะพบเศษอิฐ แผ่นหิน ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
สามารถกำหนดอายุเบื้องต้น จากประติมากรรมรูปพระวิษณุที่พบบนยอดเขาว่ามีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๓
- เทวรูปพระวิษณุ
พบทั้งหมดสี่องค์ ทำด้วยศิลาสูง ๑๗๐ เซนติเมตร มีอายุประมาณครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่
๑๓ พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเบิก พระโอษฐ์แย้มสรวลอย่างอ่อนโยน พระวรกายแสดงกล้ามเนื้อตามธรรมชาติ
พระอังสะกว้าง บั้นพระองค์เล็ก ทรงสวมกีรีฎมกุฎ (หมวกทรงกระบอก) ทรงสูง ทรงพระภูษาโจงยาว
ขมวดเป็นปมอยู่ที่ใต้พระนาภี คาดทับด้วยปั้นเหน่ง ผ้าผูกเป็นโบอยู่ด้านหน้า
คาดผ้าโสณีเฉียงและผูกเป็นโบอยู่เหนือต้นพระเพลาด้านขวา พระหัตถ์ขวาล่างชำรุด
พระหัตถ์ซ้ายล่างถือคฑา พระกรหลังทั้งสองข้างหักหายไป
- พระพิมพ์ดินดิบ
ที่เรียกว่า พระเม็ดกระดุม ลักษณะเป็นรูปทรงกลม ภายในเป็นภาพพระพุทธรูปนูนต่ำ
นั่งขัดสมาธิราบบนดอกบัว บริเวณพระเศียรมีประภามณฑล (รัศมี) รอบองค์พระมีจารึก
- ลูกปัด
ส่วนใหญ่เป็นลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ มีสีฟ้า สีน้ำเงิน สีเขียว สีส้ม สีแดงเข้ม
สีน้ำตาลแดง สีดำและสีขาว มีทั้งรูปทรงแหวน ทรงกระบอกสั้นและยาว ลูกปัดหินพบในปริมาณน้อยกว่า
ส่วนใหญ่เป็นหินอาเกด สีขาวสลับดำ หินควอร์ตสัขาว แกละหินคาร์เนเลียนสีส้ม
ลูกปัดทองคำทรงผลฟักทอง พบมีจำนวนน้อยกว่าประเภทอื่น ๆ ลูกปัดที่พบคล้ายคลึงกับลูกปัดที่พบในแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด
อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีสมัยทวาราวดี ในภาคกลางของประเทศไทยทั่วไป
วัดถ้ำสิงขร
วัดถ้ำสิงขร อยู่ที่บ้านถ้ำ ตำบลสิงขร อำเภอคีรีรัฐนิคม เป็นถ้ำในภูเขาหินปูนลูกโดด
เรียกว่า เขาสิงขร อยู่ห่างจากแม่น้ำพุมดวงไปทางตะวันตก ประมาณ ๑๐๐ เมตร ปากถ้ำอยู่สูงจากพื้นเบื้องล่างประมาณ
๓ เมตร ส่วนที่เป็นโพรงถ้ำแบ่งออกเป็นสองตอนคือ คูหาปากถ้ำ คูหาโพรงถ้ำ เป็นคูหากว้างลึกมีซอกเล็กซอกน้อย
อาศัยแสงสว่างจากรูส่องแสงที่เพดานถ้ำเป็นบางตอน มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญคือ
- ถ้ำสิงขร
คูหาปากถ้ำเป็นบริเวณที่พบศิลปกรรมแบ่งเป็นคูหาย่อย ๆ สามคูหา ดังนี้
คูหาที่ ๑ เป็นคูหาใหญ่ที่สุด เป็นที่ประดิษฐานพระประธานซึ่งอยู่กลางคูหา
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางป่าเลไลยก์ มีช้างและลิงหมอบอยู่เบื้องหน้าทั้งสองข้าง
เบื้องหน้าพระประธานมีเจดีย์อยู่ ๒ องค์ เบื้องซ้ายพระประธานเยื้องไปทางด้านหลัง
ตามแนวของผนังมีพระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกันแปดองค์ ช่วงต่อระหว่างคูหาที่
๑ และคูหาที่ ๒ ก่ออิฐถือปูนทำเป็นแท่นฐานประดิษฐาน พระพุทธรูปประทับนั่งสององค์
ผนังด้านทิศเหนือก่ออิฐถือปูนเป็นแนวสันกำแพง เจาะช่องเป็นซุ้มสำหรับวางพระหรือประทีป
ตอนล่างทำเป็นรูปตัวช้างโผล่มาครึ่งตัวเรียงกันเก้าตัว หันหน้าไปทางพระประธาน
คูหาที่ ๒ มีฐานแท่นก่ออิฐถือปูนติดกับผนัง
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยลงรักดำ ประดิษฐานอยู่บนฐานสี่ชั้น ฐานตกแต่งเป็นลายบัวและกระจัง
ตอนล่างของฐานเป็นภาพปูนปั้น ภาพพุทธประวัติมีภาพตอนผจญมาร มีแม่พระธรณบีบมวยผม
ภาพพุทธบริษัทพระราหุลทูลขอราชสมบัติ ตอนบนข้าง ๆ องค์พระเป็นภาพเทพชุมนุม
มีพรหม คนธรรพ์ เทพ กุมภัณฑ์ ท้าวเวสสุวัณ (ยักษ์) ท้าววิรุปักข์ (นาค) และภาพสัตว์ในเทพนิยาย เช่น มกร เป็นต้น
คูหาที่ ๓ เป็นซอกเล็ก ๆ อยู่สุดขอบถ้ำ
เคยพบเทวรูปพระวิษณุสี่กร อยู่ในสภาพชำรุด มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๓
คูหาในโพรงถ้ำ พบเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ได้แก่ หม้อสามขา เศษภาชนะดินเผามีลายเชือกทาบ เครื่องมือขวานหินขัด แสดงว่าถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ มีอายุอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
จากศิลปกรรมในถ้ำสิงขรแสดงให้เห็นการใช้ถ้ำเป็นพุทธสถานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
ลักษณะศิลปกรรมแบบอยุธยา ได้แก่ลายปูนปั้นรูปภาพก้านขดพันธุ์พฤกษา แล้วช้างปูนปั้นและลายปูนปั้นเทวดาบนเพดานบางตอน
งานศิลปกรรมส่วนใหญ่ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในประมาณ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีการนำชามลายครามและเบญจรงค์ มาประดับติดเป็นดาวเพดาน ภาพอาคารปราสาทแสดง
ลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลของจีน ตามแบบนิยมในจิตรกรรมสมัยนั้น ส่วนอักขระข้อความบรรยายเรื่องนรก
บนฝาผนังมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับบางตอนในพระมาลัย กลอนสวดที่เขียนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- เจดีย์
เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนเลียนแบบพระบรมธาตุไชยา ประดับตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามทั้งองค์เจดีย์
สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เรือนธาตุเจดีย์มีซุ้มทิศ (ซุ้มจรนัม)
ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย ภายในองค์เจดีย์ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
|