แหล่งโบราณคดี
แหลมโพธิ์ บริเวณแหลมโพธิ์เป็นสันทรายขนาดใหญ่
มีคลองพุมเรียงไหลผ่าน อยู่ในเขตตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง
ด้านฝั่งทะเลตะวันออกเป็นดินโคลน มีป่าโกงกางขึ้นอยู่ทั่วไป จากปลายแหลมเข้าไปประมาณ
๒ กิโลเมตร มีซากโบราณสถานก่ออิฐอยู่แห่งหนึ่ง ปัจจุบันหักพังไปมาก
ใกล้ ๆ กันมีบ่อน้ำรูปหกเหลี่ยม พบเสาธรณีประตูทำด้วยหินปูน ในปี พ.ศ.๒๕๒๔
พบซากเรือที่บริเวณแหลมโพธิ์ แสดงว่าคงเป็นที่จอดเรือจากการเดินเรือค้าขายกับถิ่นอื่น
โบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นมีดังนี้
- ลูกปัด
ส่วนใหญ่เป็นลูกปัดแก้วถึงร้อยละเก้าสิบ นอกจากนั้นเป็นจำพวกหินอะเกดและคาร์เนเลียน
รูปทรงเป็นแบบกลองรำมะนา เจาะรูเป็นแบบที่พบมากที่สุด รองลงมาเป็นแบบวงแหวน ทรงรูปไข่ ทรงกระบอก ส่วนใหญ่มีสีเหลือง
สีน้ำเงิน สีฟ้าและสีดำ นอกจากนั้นยังพบลูกปัดชนิดแปลกออกไปอีกเป็นจำนวนมาก
ได้แก่ ลูกปัดแบบสองสีสลับกัน มีสีเหลืองสลับดำ สีน้ำเงินสลับขาวหรือที่เรียกกันว่า
ลูกปัดโรมัน ลูกปัดเกลียว ลูกปัดตาลายชัน ลูกปัดตาหมากรุก พบแก้วหลอมสีต่าง
ๆ และแผ่นแก้วหลากสีเพื่อใช้ในการหลอมเป็นเม็ดต่อไป
- เหรียญจีน
เป็นเงินเหรียญสมัยราชวงศ์ถัง ลักษณะเป็นเหรียญกลมเจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยม
มีอักษรปรากฏอยู่สี่ตัวคือ ไก หยวน กง เปา
- เครื่องถ้วย
เป็นเครื่องถ้วยพื้นเมืองเปอร์เซียและจีน ที่สำคัญได้แก่เครื่องถ้วยจึนสมัยราชวงศ์ถัง
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษ ที่ ๑๒ - ๑๕
เขาถ้ำขรม เขาถ้ำขรมเป็นเขาหินปูน
อยู่ในเขตตำบลคลองปราบ อำเภอบ้านนาสาร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร กว้างประมาณ ๒๐๐
เมตร มีถ้ำที่ปากถ้ำปันไปทางทิศตะวันออก สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๒๐ เมตร
ลานถ้ำชั้นแรกมีลักษณะเป็นเพิงผา กว้างประมาณ ๕๐ เมตร โบราณวัตถุสำคัญที่พบในบริเวณถ้ำได้แก่พระพิมพ์ภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระศรีศากยมุนี
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔
เมืองโบราณเวียงสระ เมืองโบราณเวียงสระอยู่ในเขตตำบลเวียงสระ
อำเภอเวียงสระ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำตาปี ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีคูน้ำล้อมรอบ
ซากโบราณสถานภายในเมืองพบมีจำนวนสี่แห่ง รวมทั้งสระน้ำขนาดใหญ่สองสระ ที่มาของชื่อเมืองเวียงสระอาจจะได้มาจากสระน้ำที่มีอยู่ในเมืองดังกล่าว
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบภายในเมืองโบราณเวียงสระแสดงว่าเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณขนาดใหญ่ที่เก่าแก่มากเมืองหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองตั้งอยู่ตอนกลางของคาบสมุทร ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า
จะเป็นเมืองหลักที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามสมุทร จากฝั่งทะเลอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย
เมืองโบราณเวียงสระมีพื้นที่ประมาณ ๓๘๗ ไร่ ใช้แม่น้ำตาปีสายเก่าเป็นคูเมืองด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
มีคลองตาลเป็นคูเมืองด้านทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ คลองตาลไหลไปบรรจบแม่น้ำตาปีตรงมุมเมืองด้านเหนือ
ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นคูขุดชักน้ำจากแม่น้ำตาปีและคลองตาลให้ไหลมาบรรจบกัน
ขนาดของเมือง จากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถึงทิศตะวันตกเฉียงเหนือยาวประมาณ ๖๒๐
เมตร จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร ประตูเมืองอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่า
ประตูชัย
คูเมืองที่ขุดชักน้ำจากลำน้ำธรรมชาติกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ไม่ปรากฏสันกำแพงเมืองชัดเจน
คันดินด้านในของคูเมือง (คูขุด) น่าจะเป็นขอบสันของคูเมืองมากกว่ากำแพงเมือง
ลักษณะของเมืองโบราณเวียงสระ คล้ายกับเป็นเมืองที่มีการขยายผังเมืองออกมา
หรือลักษณะคล้ายเมืองแฝดคือ มีการขุดคูเมืองชั้นในอยู่เกือบกึ่งกลางเมือง
แบ่งพื้นที่เมืองออกเป็นสองส่วนคือเมืองนอกกับเมืองใน มีพื้นที่เกือบเท่ากัน
โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่
- เทวรูปพระวิษณุ
พบสององค์ได้แก่ พระวิษณุศิลา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ และพระวิษณุศิลา
อายุประมาณครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖
- เทพีอุ้มโอรส
ทำด้วยดินเผา สูง ๒๒ เซนติเมตร มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ คล้ายกับเทพีอุ้มโอรสที่เกาะคอเขา
อำเภอคระบุรี จังหวัดพังงา
- ฐานโยนิ
ทำด้วยหินทรายแดง สูง ๕๐ เซนติเมตร กว้างยาวด้านละ ๔๕ เซนติเมตร ด้านบนมีรางน้ำมนต์ด้านข้างมีการแกะสลักลวดลายเป็นชั้น ๆ อย่างสวยงาม
- พระพุทธรูปหินทรายแดง
พบเป็นกลุ่มตั้งกระจัดกระจายเรียงรายอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของอุโบสถเก่าและบริเวณโบราณสถาน
ภายในเมืองโบราณอยู่ในสภาพชำรุด ลักษณะทางพุทธศิลป์เป็นศิลปะอยุธยา พระพักตร์รูปไข่
พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระโอษฐ์สรวลเล็กน้อย ขมวดพระพเกษศาเล็กและไม่มีไรพระศก
ครองจีวรห่มเฉียง สังฆาฎิยาวถึงพระนาภี ส่วนปลายตรง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิและปางมาวิชัย
ถ้ำเบื้องแบบ ถ้ำเบื้องแบบเป็นเพิงผา
และถ้ำในเขาหินปูนลูกโดด สูงประมาณ ๕๐ เมตร แหล่งโบราณคดีอยู่ห่างจากคลองมะเลาะประมาณ
๑๓๐ เมตร โพรงถ้ำและเพิงผาที่พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ มีอยู่สามตำแหน่งคือ
ถ้ำบน (ถ้ำเบื้องบน) เป็นโพรงถ้ำขนาดใหญ่ที่สุด จากหลังคาถ้ำมีช่องแสงสูงจากระดับพื้นดินล่าง
๑๒ เมตร ถ้ำล่าง (ถ้ำเบื้องแบบ ๒) เป็นเพิงผากึ่งโพรงถ้ำ สูงจากระดับพื้นดินล่าง
๒ เมตร ถ้ำหลังเขา (ถ้ำเบื้องแบบ ๓) เป็นเพิงผาเพดานต่ำสูงจากระดับพื้นดินล่าง
๑๕ เมตร
ถ้ำเบื้องแบบทั้งสามตำแหน่งพบหลักฐานการอยู่อาศัยประกอบกิจกรรมสองช่วงสมัย
จากร่องรอยการทับถมของชั้นดินและโบราณวัตถุที่พบคือ ชั้นดินผิวหน้า พบหลักฐานของสมัยประวัติศาสตร์
(รัตนโกสินทร์) และชั้นร่องรอยหลีกฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่โครงกระดูกมนุษย์
กระดูกและฟันสัตว์ เปลือกหอยชนิดต่าง ๆ ทั้งหอยบกและหอยทะเล ชิ้นส่วนของก้ามปู
เมล็ดพืชป่าบางชนิด เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ตกแต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ
มีรูปทรงต่าง ๆ กันคือ หม้อก้นกลมแบบหม้อหุงข้าว หม่อสามขา หม้อมีสัน ภาชนะรูปจอกปากผาย
แท่นพิงถ้วยรูปเขาสัตว์ แท่นรองหม้อ ลูกกระสุนดินเผา เครื่องมือหินกะเทาะขนาด
และรูปทรงต่าง ๆ เช่นเครื่องมือแกนหิน เครื่องมือลักษณะใบมีด ค้อนทั่ง หินลับ
เครื่องมือขวานหินขัด สิ่วหินขัด หินทุบเปลือกไม้ กำไลหินและเศษถ่าน กำหนดอายุอยู่ประมาณ
๔,๗๕๐ - ๒๑๐ ถึง ๖๕๑๐ - ๓๖๐ ปี
นอกจากถ้ำเบื้องแบบแล้ว ในเขตอำเภอคีรีรัฐนิคม ยังพบแหล่งถ้ำที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ได้แก่ ถ้ำภาชี
บ้านเขาวง ตำบลบ้านยางพบภาชนะดินเผา เศษภาชนะดินเผา เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ มีลายเชือกทาบและผิวเรียบขัดมัน
ขวานหินขัด สะเก็ดหิน กระดูกสัตว์ ถ้ำแก้ว
บ้านย่อนยาว ถ้ำมะพร้าง
บ้านเชียงม่วน ถ้ำเขาทะลุ
บ้านเขาทะเล ถ้ำลูกเผ็ด
ตำบลบ้านยาง พบขวานหินกะเทาะ แบบหน้าเดียวและสองหน้า เครื่องมือสะเก็ดหิน
เศษภาชนะดินเผา มีลายเชือกทาบ กระดูกสัตว์ถูกเผาไฟ ฟันสัตว์ ฯลฯ
ถ้ำปากอม ถ้ำปากอมอยู่ที่เขาปากอมหรือเขาหน้าแดง
อยู่ในเขตตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน เป็นเขาหินปูนอยู่ทางฝั่งซ้ายของคลองแสง
พบเศษภาชนะดินเผาและชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ กำหนดอายุจากชั้นดินและรณูปแบบเครื่องมือหิน
มีอายุอยู่ประมาณ ๖,๕๐๐ - ๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่
- เครื่องมือเครื่องใช้
มีเศษภาชนะดินเผาที่ใช้เป็นภาชนะหุงต้มอาหารแบบหม้อสามขา เครื่องมือหินกะเทาะแบบฮัวบิเนียน
เครื่องมือสะเก็ดหินแบบใบมมีด ที่สามารถเหลาไม้ได้ เครื่องมือขูดถลกหนังสัตว์
เครื่องมือสับ - ตัด และเฉือนเนื้อสัตว์ เครื่องมือหินขัด เครื่องมือหินที่ใช้ทุบกระดูกสัตว์
หินใช้บดพืชทำยารักษาโรค หินลับเครื่องมือ เครื่องมือหินคล้ายสิ่ว เครื่องมือปลายแหลมสำหรับขุดดิน
- กระดูกและฟันสัตว์
ได้แก่ สัตว์บกประเภทต่าง ๆ สัตว์น้ำต่าง ๆ หอยชนิดต่าง ๆ
- เครื่องประดับ
ได้แก่ เปลือกหอยทะเล มีร่องรอยการขัดฝน เจาะรู มาทำเป็นเครื่องประดับหรือเครื่องราง
- โครงกระดูกมนุษย์และฟัน
พบโครงกระดูกมนุษย์อยู่กระจัดกระจาย พบฟันซี่หน้าของคนจำนวนมาก
|