สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง
พระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทย ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง มีอยู่ไม่กี่แห่งเช่น
กรุงเทพ ฯ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช แต่ละองค์มีตำนานแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ที่ตรงกันคือ
กล่าวถึงที่มาดั้งเดิมว่ามาจากลังกา ต่อมามีพระพุทธสิหิงค์สกลุช่างนครศรีธรรมราช
สังเกตุได้ว่า เมืองที่มีพระพุทธสิหิงค์ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง
ตำนานพระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง เกี่ยวกันกับตำนานนางเลือดขาวของเมืองพัทลุง
ที่กล่าวว่า นางเลือดขาวได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากลังกา ผ่านมาทางเมืองตรัง
และสร้างวัดขึ้น ณ ริมคลองนางน้อย เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ให้ชื่อว่า
วัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลนาโยง อำเภอนาโยง ในประวัติกล่าวว่า
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๐
ลักษณะขององค์พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ
๑๒ นิ้ว พระเกศมาลาเป็นรูปบัวตูม ชายสังฆาฏิอยู่เหนือพระอุรา องค์พระล่ำสัน
พระพักตร์อิ่มเอิบ แบบผลมะตูม ฐานเขียงซ้อนกันหลายชั้น ชั้นล่างสุดของฐานพระ
จะมีโลหะหล่อยื่นออกมาทั้งซ้ายขวา มีรูปทั้งสองข้าง ด้านหลังองค์พระมีห่วงสองห่วง
สันนิษฐานว่า เป็นที่ใช้เสียบฉัตร
ศาลหลักเมืองตรัง
ตั้งอยู่ที่ตำบลควนธานี อำเภอกันตัง สถานที่ตั้งนี้อยู่ในบริเวณที่ตั้งเมืองเก่า
ที่ตั้งศาลหลักเมืองเดิมเป็นเพิงเล็ก ๆ เสาหลักเมืองมีจอมปลวกขึ้นจนมองไม่เห็นตัวเสา
เมื่อถึง พ.ศ.๒๕๐๔ - ๒๕๐๕ ทางจังหวัดได้สร้างศาลาจตุรมุขขึ้นแทนเพิงเก่า
ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ทางจังหวัดเริ่มโครงการบูรณะศาลหลักเมืองตรัง โดยสร้างอาคารศาลหลักเมืองเป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข
และจัดทำยอดเสาหลักเมืองใหม่
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง
เมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานนามพระแสงราชศัสตราแก่ผู้ใด หมายความว่า มีพระราชประสงค์ให้บุคคลนั้น
มีอำนาจสิทธิขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เช่น การทำศึกสงคราม
หรือการปกครองดูแลหัวเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ พระแสงราชศัสตรา จึงถือเป็นพระแสงดาบอาญาสิทธิ์
ธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตรา เพิ่งมีหลักฐานปรากฎชัดในสมัยอยุธยา
สืบทอดมาจนเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมัยเดียวกันกับการยกเลิกประเพณีพระราชทานเครื่องยศสำหรับผู้ว่าราชการเมือง
ในเครื่องยศนั้นจะมีกระบี่หรือดาบรวมอยู่ด้วย กระบี่นี้ใช้เป็นเครื่องแทงน้ำในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ จะฟื้นฟูธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราไว้ประจำเมืองต่าง
ๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์และใช้สำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำ ฯ เป็นสำคัญ
แต่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะใช้ลงโทษเหมือนพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ในสมัยก่อน
มีประเพณีว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับแรมในเมืองใด เมื่อใด ให้ถวายพระแสงราชศัสตรา
มาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในเมืองนั้น
จังหวัดตรัง ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ลักษณะเป็นพระแสงดาบทอง ฝักทอง ทอดบนพระแว่นฟ้า เป็นดาบไทยฝีมือช่างหลวง
มีคำจารึกชื่อเมืองตรัง บนใบพระแสงทั้งสองด้าน
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
ผ้าทอนาหมื่นศรี
นาหมื่นศรีเป็นแถบถิ่นชุมชนเกษตรกรรมสมัยโบราณ มีการทอผ้าใช้เอง ด้วยกี่พื้นบ้านที่เรียกว่า
หก แทบทุกครัวเรือน
ในยุคแรกเริ่ม ใช้วัสดุท้องถิ่นมาทอเป็นผืนผ้าเช่น ฝ้าย ที่ปั่นกันเอง แต่ส่วนใหญ่ใช้ด้ายดิบที่ซื้อหามาจากตลาด
เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา การทอผ้าต้องหยุดชะงักลง เพราะเส้นด้ายขาดตลาด
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มีผู้รื้อฟื้นการทอผ้าแบบนาหมื่นศรีขึ้นมาใหม่
โดยทอเป็นผ้าถุง ผ้าห่ม และสามารถทอได้ทุกลาย ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับการส่งเสริมพร้อมรับเงินสนับสนุนจากทางราชการ
สร้างกี่กระตุกเพิ่มขึ้น ขยายได้มากขึ้น
ผ้าทอนาหมื่นศรีที่ทอสำเร็จรูปมีหลายชนิด ที่ทอกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม มีผ้านุ่งผืนยาวสำหรับโจงกระเบน
ผ้าถุง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าสไบ ผ้าเช็ดหน้า ปัจจุบันมีผ้าตัดเสื้อชายหญิงออกแบบเป็นสีสันและลวดลายต่าง
ๆ ลวดลายเก่าแก่ดั้งเดิมได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วชิงดวง ลายลูกแก้วฝูง
ลายลูกแก้วสีเป็ดใน ลายราชวัตร ลายตาหมากรุก ลายดอกจัน ลายเกสร ลายดอกกก ลายดอกพิกุล
ลายเม็ดแตง ลายหางกระรอก ลายตัวอักษรลายรูปสัตว์ ลายรูปคน
ผ้าลายลูกแก้ว เป็นผ้าที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ ผืนสี่เหลี่ยมแบบผ้าเช็ดหน้า
ใช้เป็นผ้าปูกราบพระ กราบขอขมา รองพานขันหมากไหว้เมีย (สู่ขอ) เช็ดหน้า
เช็ดปาก ถ้าเป็นผ้าผืนยาวใช้พาดไหล่สะพายเฉียงคล้องคอ ในงานศพใช้ผ้าเช็ดหน้าลายลูกแก้วแบบผืนใหญ่สีเหลืองแดงทอต่อกันยาว
ๆ จำนวน ๑๐ - ๑๒ ผืน พับทบกันเป็นสี่ทบ วางบนพานและพาดขึ้นไปบนโลงศพ เรียกว่า
ผ้าพานช้าง
เมื่อเสร็จงานลูกหลานแบ่งกันใช้หรือไม่ก็ถวายพระที่วัด
จักสานเตยปาหนัน
ในอดีตชุมชนอิสลามตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันแทบทุกครัวเรือน มีการนำเตยปาหนัน
หรือเตยทะเล ซึ่งเป็นพืชใบยาวสีเขียว ริมขอบใบมีหนามขึ้นแซมปะปนกับไม้ชายทะเลอื่น
ๆ มาสาน กระเฌอ จง (กระบุงเล็ก) เสื่อ หมุก (สมุก) ใส่ยาเส้น ฯลฯ
ปัจจุบันมีบางชุมชนยังคงสืบทอดงานหัตถกรรมชนิดนี้อยู่ เช่นที่บ้านโต๊ะปัน
บ้านดุหน และบ้านแหลมขาม อำเภอสิเกา บ้านนาทะเล ตำบลตะเสะ กิ่งอำเภอหาดสำราญ
บ้างทำใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง ดัดแปลงเป็นภาชนะเครื่องใช้ประยุกต์ เป็นสินค้าส่งไปขายถึงประเทศญี่ปุ่น
และกลุ่มประเทศยุโรป
วิธีทำและขั้นตอนในการนำใบเตยปาหนันมาใช้เริ่มต้น จากเลือกหาขนาดเตยที่ต้องการในบริเวณป่าชายเลนมาตัดโคนและปลายออก
ให้เหลือความยาวตามขนาดที่ต้อง การขูดหนามที่สันใบ และขอบออกแล้วเอาไปอังไฟ
และผ่าใบแต่ละซีกออกเป็นสองซีกเท่า ๆ กัน ตากแดดไว้หนึ่งวันแล้วขูดให้เส้นตรงและเป็นมัน
เมื่อได้เป็นตอกหรือซี่ก็นำไปสานเป็นอผลิตภัณฑ์ ถ้าต้องการสีสันก็นำไปย้อมและห้อยผึ่งไว้อีก
๑ - ๒ วัน จึงจะใช้งานได้
กันหม้อ ติหมา งานจักสานก้านจาก
ตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตัง เป็นชุมชนริมฝั่งแม่น้ำตรัง มีพื้นราบเกิดจากดินตะกอนที่แม่น้ำตรังพัดพามาทับถม
เพราะอยู่ใกล้ปากน้ำ น้ำในบริเวณนี้เป็นน้ำกร่อย ทำให้ต้นจากเจริญเติบโตได้ดี
กลายเป็นพืชเศรษฐกิจทำรายได้หลักให้แก่ชาวบ้าน
ในอดีตที่ยังหุงข้าวทำอาหารด้วยไม้ฟืนหรือถ่านไฟ ทุกครัวเรือนต้องใช้ที่กันหม้อ
รองหม้อข้าวหม้อแกง ไม่ให้เขม่าดำติดพื้นเปรอะเปื้อน ด้านจากที่เหลือจาการลอกออกเอาไปทำใบยาสูบ
ด้านแข็งตรงกลางนำไปทำไม้กวาด ชนิดเดียวกับไม้กวาดทางมะพร้าว ส่วนด้านข้างใบทั้งสองจะเป็นด้านอ่อน
เลือกเอาด้านที่แข็งกว่า นำมาเหลาและสานทำที่กันหม้อไว้ใช้กันเองในครัวเรือน
ทีเหลือก็แจกจ่ายไปยังบ้านใกล้เรือนเคียง มีเวลาว่างก็ทำขาย
วิธีทำ เริ่มจากนำก้านจากที่เหลาเรียบร้อยแล้วตั้งท้ายหรือขึ้นรูปก้นเป็นวงกลมไว้ก่อน
แล้วสานและดึงเข้าหากันให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ จะเป็นกันหม้อหรือดัดแปลงเป็นภาชนะอื่นใดก็ตามแต่
พอได้รูปทรงท่อนบนก็สานต่อไปเป็นเชิงเพื่อให้ก้นสูงขึ้น สอดปลายก้านกลับขึ้นมาทำเป็นรัดพัสตร์
หรือคาดเอว แล้วสอดปลายเก็บให้แนบเนียนเป็นอันเสร็จ
นอกจากกันหม้อ ยังมียอดจากอ่อนที่ตัดเอาใบไปเข้ากระบวนการทำใบจากจนถึงใบมวนยาสูบ
ส่วนปลายยอดที่เหลืออยู่นำมาใช้ทำภาชนะไว้ตักน้ำบ่อ วิดน้ำเรือ ฯลฯ เรียกว่า
ติหมา ขั้นตอนการทำหรือที่เรียกว่า ขอดติหมา คือนำปลายยอดจากอ่อนมาตัดเป็นใบ
ๆ สับปลายออกให้เหลือความยาวเสมอกัน นำไปผึ่งแดดพักใหญ่ให้อ่อนตัว แล้วนำแต่ละใบมาพับทบตามแนวก้าน
แล้วสอดตามรอยทบสลับโคนปลาย เพื่อให้มีความแข็งแรงสม่ำเสมอ เมื่อได้เป็นแผ่นใหญ่พอสมควร
ก็รวบปลายทั้งสองด้านเป็นขั้วจับโค้งเข้าหากันแบ่งครึ่ง แต่ละขั้วสอดไว้สลับระหว่างกันผูกให้แน่นไว้เป็นที่จับหรือผูกเชือกตักน้ำต่อไป
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ภาษาถิ่นตรังอยู่ในกลุ่มภาษาภาคใต้ตอนกลาง และเขตพื้นที่ฝั่งตะวันออก ร่วมกับภาษากระบี่
พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลาบางอำเภอ (ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์) มีสำเนียงพูดห้าวและห้วน
ขาดหางเสียง มักตัดคำหลายพยางค์ให้เหลือน้อยพยางค์ มีคำศัพท์ใช้เฉพาะถิ่น
เช่น คำว่า เล็ก ใช้ว่านุ้ย เอียด เท่าหิด เท่าแต็ด เท่าติ๊ก คำว่าใหญ่
ใช้คำว่า เถ้า เถ้าดำ เติบ ไอ้กำมัง คำว่ามาก ใช้ว่า ลุ่ย กะลุย
กะลักกะลุย กองลุย กองเอ จังหู จ้าน ครัน ได้สักไหนไหน เป็นต้น
นิทานตำนาน : ที่มาของชื่อบ้านนามเมือง
ตรัง มาจากคำสันสกฤต แปลว่า ลูกคลื่น ในเอกสารจดหมายเหตุเก่า
ๆ เขียนชื่อเมืองตรังว่า ตรังค์ หรือ ตรังคบุรี
ชื่อบ้านนามเมืองตรังส่วนใหญ่มีแนวการตั้งชื่อตามลีกษณะภูมิประทศ ส่วนการตั้งชื่อตามลักษณะอื่น
ๆ คือ การตังชื่อโดยอาศัยรูปลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฎให้ความรู้สึกและจินตนาการ
ซึ่งมักยกเป็นตำนานหรือนิทานเล่าประกอบ และอ้างไปสัมพันธ์กับสถานที่อื่น ๆ
ดังนี้
- เขาขาด - เขาเศษ
เป็นตำนานประเภทอธิบายเกี่ยวกับกำเนิดภูเขาต่าง ๆ ในจังหวัดตรังคือ เขาขาด
เขานายพัน ในเขตตำบลบางกุ้ง อำเภอห้วยยอด และเขาเศษในเขตตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ
- ศาลพระม่วง
อยู่บริเวณปากน้ำตรัง ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง มีเรื่องของชื่อบ้าน พระม่วง
ศาลพระม่วง และเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน
- ปากเมง
เป็นนิทานบอกถึงที่มาของเกาะต่าง ๆ ในทะเลหน้าเมืองตรัง คล้ายตำนานพระม่วง
ซึ่งเกี่ยวข้องกับทะเลเมืองตรังทางด้านใต้ ส่วนปากเม็งเกี่ยวข้องกับทะเลเมืองตรังทางด้านเหนือ
- หาดเจ้าไหม
เป็นหาดทรายที่สวยงามของจังหวัดตรัง และทะเลอันดามัน มีเรื่องเล่าว่า เจ้าไหมเป็นคนจีนคุมเรือสำเภาเข้ามาค้าขายกับเกาะลิบง
เกิดชอบทำเลที่ตั้ง จึงขอตั้งบ้านเรือนสำหรับเป็นท่าเรือค้าขาย ต่อมาเกิดอยากเป็นใหญ่จึงไปยุยงให้เจ้าเมืองลิบง
กับเจ้าเมืองที่บ้านทุ่งค่ายรบกันไม่แพ้ชนะกัน เมื่อความทราบไปถึงโต๊ะละหมัย
ซึ่งเป็นที่เจ้าเมืองทั้งสองเคารพนับถือ ได้เดินทางมาให้ยุติสงครามเจ้าไหมไม่ยอมเลิก
โต๊ะละหมัยโกรธจึงสาปให้เจ้าไหมกลายเป็นหินคือ เขาเจ้าไหม
ส่วนชื่อบ้านทุ่งค่ายมาจากที่ตั้งค่ายของพระยางอกเขี้ยว
- วัดถ้ำพระพุทธโกษัย
เป็นวัดเก่า อยู่ในเขตตำบลท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด เรียกกันว่า วัดในเตาบ้าง
วัดเกาะเต่าบ้าง วัดคูหาบ้าง
ตามตำนานกล่าวว่า ผู้สร้างวัดคือ ตาขุนศร ต่อมามีพระภิกษุอรัญวาสีชื่อ พระพุทธโกษัย
และพระธรรมรูจีกับสามเณรรูปหนึ่งมานั่งวิปัสสนาในถ้ำ เกิดหินพังมาทับถึงแก่มรณภาพทั้งหมด
ชาวบ้านได้ก่อสร้างพระพุทธรูปเป็นที่ระลึก สำหรับพระภิกษุและสามเณรในถ้ำ ให้ชื่อตามพระภิกษุและสามเณรที่มรณภาพ
เมื่อถึงวันธรรมสวนะ ชาวบ้านเหล่านั้นก็จะนำอาหารมาถวายพระพุทธรูปเป็นกิจวัตร
- วังโสะ
เป็นชื่อวังน้ำ มีเรื่องเล่าว่าเดิมวังน้ำแห่งนี้กว้างใหญ่และลึกมาก ใต้น้ำมีเพิงหินเป็นถ้ำเป็นที่อยู่ของปลาตูหมาตัวใหญ่มาก
ครั้งหนึ่งเงาะป่าซาไกคิดจะตกปลาตูหมาตัวนี้ จึงเอาเหล็กมาโค้งงอทำเป็นเบ็ด
ใช้หวายกำพวนทั้งลำโตขนาดด้ามพร้าเป็นลายเบ็ดใช้เลียงผามาเกี่ยวเบ็ดเป็นเหยื่อ
ผูกเบ็ดไว้กับต้นโสะปรากฎว่า มื่อปลาตูหมาขึ้นมากินเบ็ด ก็สามารถดึงสายเบ็ดจนต้นโสะ
ซึ่งโตขนาดต้นมะพร้าวเอน จนเกือบจะล้มลงในวังน้ำ และคาบเอาลูกเลียงผาไปกินโดยไม่ติดเบ็ด
วังน้ำแห่งนี้ต่อมาได้ชื่อว่าวังโสะ ปัจจุบันอยู่ที่คลองปะเหลียน
- โตนเต๊ะ
มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งมีฝนตกหนัก ทำให้น้ำหลากลงมาจากภูเขาพร้อมกับพัดพาเอากุ้ง
ปลาลงมาด้วยมากมาย ชาวบ้านเอาไซไปดักมีหนุ่มมุสลิมคนหนึ่ง ได้ดักไซด้วยแต่ยกไซมาครั้งใดไม่เคยติดปลาเลย
ได้แต่กุ้งตัวเล็ก ๆ ตัวเดียว ส่วนคนอื่นได้ปลากันคนละมาก ๆ หนุ่มมุสลิมรู้สึกโกรธมาก
จึงยกไซขึ้นมาแล้วเตะโด่ง จนไซลอยไปตกบนยอดภูเขาแห่งหนึ่ง เขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า
เขาไซ
ส่วนน้ำตกนั้นได้ชื่อว่า โตนเตะ ภายหลังเขียนเป็นโตนเต๊ะ สถานที่ทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเขตตำบลปะเหลียน
การละเล่นพื้นบ้าน
นาฏศิลป์และดนตรี
เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ตอนกลางของไทย เช่น หนังตะลุง มโนราห์
ลิเกป่า รองเง็ง กาหลอ กลองยาว
|