มรดกทางธรรมชาติ
พื้นที่ป่า
พืนที่สองในสามส่วนของจังหวัดอุทัยธานี เป็นป่าไม้และภูเขาสูง เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย
พื้นที่เป็นป่าไม้ในจังหวัดมีดังนี้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งที่ห้าของประเทศไทย เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๕ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๒๐,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๑,๖๓๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอลานสัก
อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี และบางส่วนของอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ต่อมาได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติมครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติ
จึงอยู่ติดกันที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิดที่กำลังจะสูญพันธุ์
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการชึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก เนื่องจากเป็นป่าทึบมีเทือกเขาสลับซับซ้อนอยู่มาก
สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐ - ๑,๖๕๐ เมตร เป็นต้นน้ำลำธารของลำห้วยหลายสายที่สำคัญที่สุดคือ
ห้วยขาแข้ง สภาพป่าส่วนมากยังสมบูรณ์ บริเวณที่ลุ่มริมห้วยขาแข้งและห้วยใหญ่
ๆ เป็นป่าดงดิบที่สูงขึ้นไปเป็นป่าผสมระหว่างป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ บางแห่งมีไผ่รวกขึ้นเป็นกลุ่ม
บนยอดเขาสูงเป็นป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้าหย่อมเล็ก ๆ บนยอดเขาสูงมาก ๆ เป็นป่าดิบเขา
พื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เชื่อมไปถึงประเทศพม่า
ที่ตั้งและอาณาเขต
ลักษณะพื้นที่ค่อนข้างยาวจากเหนือจรดใต้ ตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขาแข้งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดอุทัยธานี
และจังหวัดตาก โดยมีแนวติดต่อกับจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
รายรอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติที่เป็นป่าผืนเดียวกัน
ในภาคตะวันตกของประเทศไทย
ทิศเหนือ ติดต่อกับแนวอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
ในเขตจังหวัดนครสวรรค์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับป่าสงวนแห่งชาติห้วยคอกควาย ป่าสงวนแห่งชาติทับเสลา
และพื้นที่ทำกินบางส่วน
ทิศใต้ ติดต่อกับแนวอุทยานแห่งชาติศรีนครินทร ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี
และติดต่อกับแนวอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี
พันธุ์ไม้ มีอยู่หลายชนิด
คือ ป่าดงดิบ
เป็นป่ารกทึบ มีพันธุ์ไม้สำคัญคือ ยางตะเคียน กระบาก มะค่าโมง ฯลฯ
ป่าดิบแล้ง
พันธุ์ไม้สำคัญคือ มะค่าโมง สะเดายักษ์ ปอแดง ฯลฯ ป่าเบญจพรรณ
เป็นป่าโปร่ง มีพันธุ์ไม้สำคัญคือ ประดู่แดง ตีนนก มะกอก ฯลฯ ไม้พื้นล่างได้แก่
ไผ่ป่า ป่าเต็งรัง และป่าแดง
เป็นป่าโปร่ง พันธุ์ไม้สำคัญคือ เต็ง รัง เทียบ ฯลฯ ไม้พื้นล่างเป็นพวกหญ้าต่าง
ๆ ป่าไผ่
ขึ้นสลับอยู่ทั่วไป มีไผ่บง ไผ่รวก ไผ่สีสุก ไผ่นวล ไผ่ป่า ฯลฯ
สัตว์ป่า
ได้มีการแบ่งถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าในห้วยขาแข้งออกเป็นห้าประเภทคือ
สัตว์ที่อยู่บนยอดเขาและผาหิน
ได้แก่ เลียงผา เสือโคร่ง เสือดาว เสือลายเมฆ ฯลฯ
สัตว์ในป่าดงดิบ
ได้แก่ ช้างป่า กระทิง ควายป่า เสือโคร่ง เสือดาว ชะนีมือขาว ค่างแว่นถิ่นเหนือ
ฯลฯ
สัตว์ในป่าผลัดใบ
ได้แก่ วัวแดง กระทิง เก้ง ฯลฯ
สัตว์บริเวณดอนทรายและลำน้ำ
ได้แก่ นาก เหี้ย เต่าหวาย กบฑูต นกยูง ฯลฯ
สัตว์ในป่าพง
ได้แก่ กวาง และกระต่าย
จากการสำรวจพบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่น้อยกว่า ๑๕๙ ชนิด นก ๓๙๓ ชนิด
สัตว์เลื้อยคลาน ๗๗ ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ๒๙ ชนิด และปลาน้ำจืด ๕๕
ชนิด
แหล่งน้ำ
ได้แก่ ลำห้วยขาแข้ง และลำห้วยสายอื่น ๆ ที่ไหลมารวมกับลำห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำแม่กอลง
นอกจากนี้ยังมีลำห้วยทับเสลา และลำห้วยย่อยอีกมากไหลลงแม่น้ำสะแกกรัง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน
อยู่ในตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนสลับซับซ้อน
มีหน้าผาสูงชัน มีโพรงถ้ำสวยงามตามธรรมชาติอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ
๑๐๐ - ๖๐๐ เมตร ปริมาณน้ำฝนในรอบปีประมาณ ๑,๑๒๐ มิลลิเมตร
กรมป่าไม้ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เขาปลาร้า เขาบริวาร เขาน้อย เขาห้วยโสก
และเขาฆ้องชัย ในตำบลป่าอ้อ ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก ตำบลเขาบางแกรก ตำบลทุ่งโพธิ
อำเภอหนองฉาง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย เพื่อกำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้าประทุน
เป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ในถ้ำประทุน
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ มีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวน ๑๔ กลุ่ม สันนิษฐานว่า
มีอายุอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ ปี นอกจากนี้ยังเป็นป่าที่มีศักยภาพสวยงามตามธรรมชาติ
พืชพรรณไม้
จังหวัดอุทัยธานีมีป่าไม้ถึงห้าชนิด คือ ป่าดิบเขา ประมาณร้อยละ ๑๕ ป่าดิบแล้งประมาณร้อยละ
๑๘ ป่าเบญจพรรณประมาณร้อยละ ๔๖ ป่าเต็งรังประมาณร้อยละ ๑๓ ที่เหลือเป็นป่าดิบชื้น
บริเวณป่าเหล่านี้มีพันธุ์ไม้สำคัญหลายชนิดคือ
พันธุ์ไม้สำคัญในป่าดิบแล้ง
ได้แก่ ยางยา ยางโอน มะหาด ส้านช้าง มะเดื่อ ตะเคียนทอง
พันธุ์ไม้สำคัญในป่าเบญจพรรณ
ได้แก่ มะค่าโมง สมพง เสลา ตะคร้อ คูน เสี้ยวชนิดต่าง ๆ พืชตระกูลไผ่ เช่น
ไผ่ป่า ไผ่บงใหญ่ ไผ่ซาง ไผ่รวก
พันธุ์ไม้สำคัญในป่าเต็งรัง
ได้แก่ รัง เหียง พลวง
สัตว์ป่า
สัตว์ป่าที่พบในเขตจังหวัดอุทัยธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นสัตว์ที่หายาก
และบางชนิดใกล้จะสูญพันธุ์
สมเสร็จ
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่นำเอาลักษณะของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มารวมกันเช่น
มีจมูกและริมฝีปากคล้ายงวงช้าง แต่สั้นกว่า ใบหูกลมรีคล้ายใบหูของหมี กีบเท้าขนาดใหญ่คล้ายเท้าแรด
ลำตัวมีสองสี คือ ลำตัวมีสีดำและมีสีขาวพาดกลางลำตัวระหว่างขาหน้าและขาหลัง
ลูกอ่อนมีลายคล้ายแตงไทย และจะจางหายไปจนมีสีเหมือนพ่อแม่ เมื่ออายุประมาณ
๖ - ๘ เดือน
สมเสร็จ จะพบได้ในบริเวณที่มีความชื้นสูงไม่ไกลจากแหล่งน้ำ มักหากินตามลำพังมีสายตาไม่ดีนัก
และมีจมูกและหูที่ไวต่อสิ่งผิดปรกติ มีสัญชาติญาณระวังภัยสูง ค่อนข้างขี้อาย
เนื่องจากไม่มีอาวุธป้องกันตัวจากศัตรูเหมือนสัตว์อื่น
สมเสร็จ เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตวป่า
พ.ศ.๒๕๓๕
แมวลายหินอ่อน
รูปร่างคล้ายแมวบ้าน มีหางค่อนข้างยาว ขนพองฟู ขนที่ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง
ลายสีดำเป็นแถบเชื่อมต่อกันคล้ายลวดลายของหินอ่อน ชอบอาศัยและหากินตามป่ารกชัฎใกล้แหล่งน้ำ
แมวลายหินอ่อน เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พ.ศ.๒๕๓๕
ช้างป่า
อาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณเกือบตลอดทั้งปี ในบางฤดูอาจเข้าไปหากินในป่าเต็งรัง
และป่าดิบแล้งที่ไม่ไหลจากลำห้วยมากนัก อาหารหลักคือ พืช มักจะกินส่วนใบหรือส่วนที่เป็นเปลือกของลำต้นเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ยังกินดินโปร่งเป็นอาหารเสริมอีกด้วย
จำนวนช้างป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตัว
และไม่เคยออกมาหากินจากพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร
ควายป่า
ลักษณะทั่วไปคล้ายควายบ้าน แต่ตัวโตและแข็งแรงบึกบึนกว่า อาศัยอยู่ตามป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้าใกล้แหล่งน้ำที่มีระดับน้ำไม่สูงมากนัก
เช่น บริเวณริมห้วยขาแข้ง ห้วยอ้ายเยาะ และห้วยแม่ดี มีนิสัยค่อนข้างดุร้ายและเป็นอันตราย
มักหากินรวมกันเป็นฝูง ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มที่จะหากินตามลำพัง เรียกว่า ควายโทน
ในป่าห้วยขาแข้งเป็นแห่งเดียวที่พบควายป่าเป็นฝูงใหญ่ประมาณ ๕๐ ตัว
ควายป่า เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๕
เสือโคร่ง
เป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในป่าของประเทศไทย มีลายขวางเป็นแถบใหญ่เล็กต่อเนื่อง
หรือขาดเป็นช่วงตามลำตัวเป็นสีดำ บนพื้นสีน้ำตาลแกมเหลือง จึงเรียกว่า ลายพาดกลอน
ลายแถบดำของแต่ละตัวมีลักษณะต่างกัน จึงสามารถใช้ในการแยกลักษณะของแต่ละตัวได้ไม่ยากนัก
บริเวณหลังหูเป็นสีดำ และมีแถบสีขาวเห็นได้ชัดเจน
เสือโคร่ง ล่าเนื้อกินเป็นอาหาร เหยื่อมักเป็นสัตว์ประเภทเท้ากีบ เช่น เก้ง
กวาง วัวแดง กระทิง ควายป่า หมูป่า เหยื่อที่เสือจะล่าจะเป็นเหยื่อที่บาดเจ็บจากการต่อสู้
หรืออ่อนแอ จากสาเหตุต่าง ๆ ตามธรรมชาติ
เสือแต่ละตัวจะมีอาณาเขตในการหากินโดยการทำสัญลักษณ์ได้แก่ การตะกุยทำรอบไว้ตามพื้นดิน
หรือปัสสาวะรดไว้ตามโคนต้นไม้ เพื่อให้สัตว์ตัวอื่นรับรู้ถีงอาณาเขตของเสือแตะละตัว
ตลอดจนเป็นการประกาศอาณาเขตต่อเสือตัวเมีย
นกยูงไทย
เป็นนกประเภทเดียวกับไก่ฟ้า เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักตัวประมาณ ๓ - ๕ กิโลกรัม
มักหากินในป่าโปร่ง
ในช่วงเวลากลางวัน
และจะนอนบนต้นไม้ใหญ่ในเวลากลางคืน นกยูงจะร้องเสียงดังเพื่อประกาศอาณาเขตของตัวเอง
ช่วงเวลาฟักไข่ ตัวเมียจะทำรังคล้ายไก่ใกล้แหล่งน้ำ หรือหาดทรายริมห้วย อาหารหลักคือเมล็ดพืช
และยอดอ่อน ใบไม้บางชนิด ตัวผู้จะโตกว่าตัวเมียเล็กน้อย ม้วนปิดหางที่มีแววเป็นดวงที่เรียกว่า
แววมยุยรา
ซึ่งจะคลี่ขนหางแผ่ออกเหมือนพัดเรียกว่า
รำแพน
ในฤดูผสมพันธุ์ เพื่อเรียกร้องความสนใจตัวเมีย ในการเกี้ยวพาราณาสีก่อนผสมพันธุ์
นกยูงตัวเมียจะมีสีคล้ายตัวผู้ แต่ไม่มีขนปิดหาง โดยรวมจะมีสีเขียวเหลือบ
จากคอถึงใต้ท้องคล้ายเกร็ดซ้อนกัน ใบหน้ามีแผ่นหนังคล้ายเหนียง แต่ไม่ยาวเหมือนไก่
มีสีฟ้า ขาว เหลืองและแถบดำคาดระหว่างโคนปากถึงดวงตาทั้งตัวผู้และตัวเมีย
ที่หัวของนกยูงไทยจะมีขนเป็นภู่ตั้งขึ้นในแนวตรง ขนปิดหางของตัวผู้จะเริ่มยาวขึ้นเรื่อย
ๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคมและจะยาวเต็มที่ในเดือนธันวาคม ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะจับจองหาดทรายหรือบริเวณลานโล่งที่เป็นโป่งหรือทุ่งหญ้า
คอยจนกว่าฝูงตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์เดินผ่านมา
เมื่อผสมพันธุ์และวางไข่ครั้งละประมาณสี่ฟองแล้ว นกยูงจะฟักไข่ประมาณ ๒๑ วัน
และเลี้ยงลูกอ่อนเหมือนไก่ เมื่อพ้นฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนมีนาคม ขนหางตัวผู้ที่เคยยาวก็จะหลุดร่วงไปจนหมด
ถึงตอนนี้นกยูงตัวผู้จึงมีลักษณะคล้ายนกยูงตัวเมีย
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
มีอยู่สามแห่งด้วยกันคือ
เขาปฐวี
อยู่ในตำบลตลกดู่ อำเภอทัพทัน อยู่ห่างจากตัวอำเภอออกไปประมาณ ๓๒ กิโลเมตร
เขาปฐวีมีรูปร่างแปลกประหลาดเป็นเขาหินใหญ่มหึมา ยาววประมาณ ๗๒๐ เมตร สูงประมาณ
๒๕๐ เมตร ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทุ่งนา คล้ายกับนำก้อนหินหลากหลายมาเรียงซ้อนกัน
ร้อยแซมด้วยเครือเถาวัลย์และพืชนานาชนิด เป็นธรรมชาติที่สวยงามมาก มีถ้ำอยู่โดยเขากรง
๓๐ แห่ง ถ้ำที่น่าสนใจได้แก่ถ้ำบันได ถ้ำประทน ถ้ำอ่าง ถ้ำช่องลม ถ้ำพุทธประวัติ
ถ้ำปลา ถ้ำค้างคาว
บริเวณเขาปฐวี มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีลิงฝูงใหญ่ไม่ต่ำกว่า
๑,๐๐๐ ตัว
หุบป่าตาด
ตั้งอยู่บริเววณเขาห้วยโศก ตำบลทุงนางาม อำเภอลานสัก มีสภาพเป็นป่าทึบ มีต้นตาดขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นนับเป็นพัน
ๆ ต้น อากาศเย็นชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา มีหินงอกหินย้อยอยู่ตามอุโมงค์ถ้ำและผนังถ้ำ
ถ้ำค้างคาวเขาฆ้องชัย
อยู่ที่เขาฆ้องชัย ตำบลป่าอ้อ อำเภอลานสัก เป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากนับล้านตัว
ซึ่งจะออกหากินในเวลาพลบค่ำ ระยะเวลาที่ค้างคาวบินออกจากถ้ำตั้งแต่ตัวแรกถึงตัวสุดท้าย
ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที
นอกจากค้างคาวแล้วบริเวณถ้ำแห่งนี้ ยังพบหลักฐานในการอยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เช่น
เศษภาชนะ ขวานหิน และภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
|