พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ที่ราบลุ่ม แม่น้ำน่าน เป็นบริเวณหนึ่งที่พบหลักฐานการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
ตามเส้นทางแม่น้ำน่าน บริเวณตอนใต้เขื่อนสิริกิติ์ลงมาที่บ้านพังแหวน แก่งตาน
และปากห้วยฉลอง ตำบลผาเมือง อำเภอท่าปลา หลักฐานที่พบเป็นเครื่องมือหินเมื่อประมาณ
๘,๐๐๐ - ๙,๐๐๐ ปีมาแล้ว จากหลักฐานที่มีอยู่ไม่มาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในลักษณะสังคมแบบเร่ร่อน จับสัตว์และหาปลา ยกเว้นที่ปากห้วยฉลองได้พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรของมนุษย์ใช้เครื่องมือหินขัด
หลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งพบที่บริเวณเหนือสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง อำเภอเมือง
ฯ มีโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ลูกปัดหิน มีดสำริด
ขวานสำริด ลูกปัดสำริด กระดูก และเศษภาชนะดินเผามีลายเส้นและลายขีด
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีอีกส่วนหนึ่งได้แก่ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาตาพรม
และเครื่องมือใบหอกสำริด กำไลหิน ภาชนะดินเผาชนิดไม่ขัดผิว
แต่งผิวด้วยลายเชือกทาบ ผสมกับลายขีด ที่ถ้ำเขากระดูก เขาหน้าผาตั้ง
ตำบลบ่อทอง อำเภอทองแสนขัน หลักฐานเหล่านี้อยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์
เครื่องมือโลหะที่พบเหล่านี้น่าจะมีความสัมพันธ์กับชุดเครื่องสำริดที่พบมาก่อนแล้ว
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่บริเวณม่อนหรือเนินเขาเตี้ย ๆ ในเขตตำบลท่าเสา อำเภอเมือง
ฯ ซึ่งวัตถุที่พบประกอบด้วย กลองมโหระทึก กาน้ำ พร้าสำริด เป็นต้น
เมื่อประมวลหลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่ค้นพบแล้ว ทำให้ทราบในขั้นต้นว่า ในเขตพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้เคยมีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของหลักฐานทางโบราณคดี ระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา
แสดงว่าน่าจะมีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ในท้องถิ่น จนเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา
และมีความสัมพันธ์ไปถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่ดินแดนทางภาคอิสานเหนือของไทย
แขวงไชยบุรีของลาว และอาจจะเลยไปถึงแหล่งวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนามด้วย
สมัยประวัติศาสตร์
บริเวณเก่าแก่ที่น่าจะเป็นชุมชนสมัยแรกได้แก่เวียงเจ้าเงาะ
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำน่านห่างจากบริเวณปากคลองโพไปประมาณ ๕ กิโลเมตร
เชื่อว่าเป็นเมืองโบราณที่เก่ากว่าสมัยสุโขทัย จากร่องรอยกำแพงที่เหลืออยู่
สันนิษฐานว่า เวียงเจ้าเงาะน่าจะสร้างขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘
บริเวณใกล้เคียงกันกับเวียงเจ้าเงาะได้พบร่องรอยเมืองโบราณที่ชื่อว่าเมืองทุ่งยั้ง
มีกำแพงเมืองล้อมรอบลัดเลาะไปตามเนินเขา มีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร
เป็นเมืองซ้อนเมืองกันอยู่กับเวียงเจ้าเงาะ เป็นเมืองสมัยเดียวกันกับสุโขทัย
และศรีสัชนาลัย เพราะกำแพงเมืองที่เหลืออยู่มีลักษณะ ๓ ชั้น ที่เรียกว่าตรีบูร
อันเป็นลักษณะเฉพาะของสุโขทัย ความเป็นมาของเมืองทุ่งยั้งไม่ชัดเจนเช่นเดียวกันกับเวียงเจ้าเงาะ
มีเพียงที่เป็นตำนานปรำปราถึงประวัติความเป็นมา และได้มีการกล่าวอ้างถึงชื่อเมืองนี้ในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงเมืองทุ่งยั้งว่า
มีพญาคนหนึ่ง ชื่อ บาธรรมราช
ผู้ครองเมืองสวรรคโลก เป็นผู้สร้างเมืองทุ่งยั้ง เพื่อให้โอรสองค์หนึ่งไปครอง
ให้ชื่อว่ากัมโพชนคร จากศิลาจารึกหลักที่ ๓๘ ซึ่งจารึกเมื่อปี พ.ศ.
๑๙๔๐ ปรากฎชื่อเมืองทุ่งยั้งอยู่ด้วย ในกฎหมายลักษณะลักพา ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง
ได้กล่าวถึงชื่อเมืองทุ่งยั้งไว้คู่กับเมืองบางยม
ได้มีการศึกษาในประเด็นที่ว่าเมืองทุ่งยั้งอาจเป็นเมือง ๆ เดียวกับเมืองราด
ซึ่งเป็นเมืองที่พ่อขุนผาเมืองปกครองอยู่ก่อนที่จะร่วมมือกับพ่อขุนบางกลางหาว
เข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองสุโขทัยคืนมาจากขอม สมาสโขลญลำพังได้สำเร็จ
และสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือเมืองฝาง
เมืองฝางปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งได้กล่าวถึงพระมหาเถรศรีศรัทธา
ซึ่งเชื่อว่าเป็นหลานของพ่อขุนผาเมือง ว่าก่อนที่ท่านจะเดินทางไปจาริก แสวงบุญที่ลังกา
ในสมัยพญาเลอไท ได้แวะมานมัสการพระธาตุวัดพระฝาง
แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองแพร่ ลำพูน และลงเรือที่อ่าวเมาะตะมะไปลังกา นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักที่
๓ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๐ ก็ได้ปรากฏชื่อเมืองฝางอยู่ด้วยเช่นกัน
สมัยอยุธยา
อุตรดิตถ์เป็นหัวเมืองชายแดนเหนือสุดของราชอาณาจักรอยุธยา ชุมชนอยู่กันอย่างหนาแน่นมั่นคง
อยู่บริเวณที่ราบแถบปากคลองโพ
ชาวลุ่มแม่น้ำภาคกลางเรียกว่าชาวเหนือ มาตั้งแต่ต้นสมัยอยุธยา อุตรดิตถ์เป็นชุมทางการเดินทางไปมาระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ
จึงเปรียบเสมือนประตูสู่ล้านนา
และกลายเป็นเมืองหน้าด่าน
และย่านการค้าที่สำคัญ
ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๐๖ ได้มีการอพยพของคนกลุ่มไท - ยวน จากเชียงแสนเข้ามายังบริเวณเมืองลับแล
และต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๒๗ หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกู้อิสระภาพจากพม่า
ได้มีการกวาดต้อนผู้คนจากอุตรดิตถ์มายังภาคกลาง แถบกรุงศรีอยุธยา เพื่อเตรียมกำลังไว้รับศึกพม่า
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ บริเวณเมืองอุตรดิตถ์ได้เป็นแหล่งหลบภัยของราษฎรเป็นจำนวนมาก
เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเส้นทางเดินทัพของพม่า และได้เกิดเป็นที่ตั้งของชุมนุมเจ้าพระฝาง
มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฝาง
สมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเมืองอุตรดิตถ์ ในฐานะที่เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านนี้
จึงได้ทรงแต่งตั้งนายทหารคนสนิทหลายคน ขึ้นครองหัวเมืองทางเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองพิชัย
ได้ให้พระยาสีหราชเดโชชัย
(จ้อยหรือ ทองดี วิชัยขัตคะ) เป็นเจ้าเมือง ซึ่งท่านได้สร้างวีรกรรมในการต่อสู้กับข้าศึก
จนได้รับสมญานามว่า พระยาพิชัยดาบหัก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกรณีกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในระหว่างปี
พ.ศ. ๒๓๖๙ - ๒๓๗๕ เมื่อปราบกบฎได้ราบคาบ ก็ได้กวาดต้อนผู้คนกลุ่มลาวเวียงจันทน์มาอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์
แถบเมืองพิชัย และเมืองตรอน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕ เมืองพิชัยได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโท
และพระราชทานชื่อเมืองให้ชื่อว่า อุตรดิตถ์
ซึ่งหมายถึงเมืองท่าทางทิศเหนือ
และในปีเดียวกันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ได้ทรงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง
ใช้เส้นทางผ่านเมืองอุตรดิตถ์ ได้เสด็จมาพักอยู่ที่หาดท่าอิฐ
๑ เดือน ก่อนจะเดินทัพข้ามเขาพลึง
ผ่านเข้าเมืองแพร่ เมืองน่าน เชียงราย แล้วออกนอกเขตแดนที่สบรวกที่เชียงแสน
แล้วจึงเข้าสู่เมืองเชียงตุง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกฮ่อได้ก่อการกบฎขึ้นในดินแดนพระเทศราชฝั่งลาว
ทำให้มีผู้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าขายในแถบบางโพ
- ท่าอิฐ
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๓๑ ไทยได้ส่งกองทัพเข้าไปปราบฮ่อหลายครั้ง
การเดินทัพได้ใช้เส้นทาง จากอุตรดิตถ์ เข้าบ้านน้ำพี้
ไปยังเมืองน้ำปาด
ผ่านภูดู่ ไปบ้านปากลาย
แล้วลงเรือไปตามแม่น้ำโขง จนถึงเมืองหลวงพระบาง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ พระวิภาคภูวดล (เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี
เอสไควร์ - ชาวอังกฤษ) ได้เดินทางไปทำแผนที่ในฝั่งลาวตามเส้นทางแถบแขวงไชยบุรี
เชียงขวาง ตลอดไปถึงเวียงจันทน์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าาเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองอุตรดิตถ์โดยชลมารค
เจ้านครลำปางเจ้าบุญแพร่ และเจ้านครน่าน ได้เดินทางมารับเสด็จที่เมืองอุตรดิตถ์
โดยที่เจ้านครลำปางกับเจ้านครแพร่มาทางบก ส่วนเจ้านครน่านมาทางเรือ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ พวกเงี้ยวได้ก่อการจลาจลขึ้นที่เมืองแพร่ ทางกรุงเทพ ฯ
ได้ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (เจิม - แสง - ชูโต) เป็นแม่ทัพขึ้นมาระงับเหตุ
เมืองอุตรดิตถ์ก็ได้เป็นที่ประชุมพลของบรรดาหัวเมืองทางเหนือที่ส่งกำลังมาช่วยปราบเงี้ยว
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ - ๒๔๔๙ ได้สร้างทางรถไฟสายเหนือผ่านเมืองอุตรดิตถ์
ทำให้อุตรดิตถ์มีบทบาทโดดเด่นเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต คือ เป็นชุมทางคมนาคม
และการค้าขาย ทางรถไฟสร้างเสร็จและรถไฟแล่นมาถึงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ทำให้อุตรดิตถ์กลายเป็นย่านรถไฟใหญ่
มีสถานีใหญ่อยู่ใกล้เคียงกันถึง ๒ สถานีคือ สถานีอุตรดิตถ์ และสถานีศิลาอาสน์
ซึ่งเป็นจุดที่ทางรถไฟเริ่มขึ้นสู่ที่สูง ผ่านภูเขาสูงชันต้องเพิ่มจำนวนหัวรถจักรในการลากจูงขบวนรถ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ไทยได้เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส
จังหวัดอุตรดิตถ์มีเขตแดนติดต่อกับอิโดจีนด้านเมืองปากลาย
ซึ่งเคยเป็นดินแดนไทยมาก่อน จึงได้ใช้จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นที่มั่น รวบรวมกำลังซึ่งยกมาจากนครสวรรค์
เพื่อเข้ายึดเมืองปากลายกลับคืนมา
ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ กองทหารญี่ปุ่นเข้ามาตั้งอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์
ในขณะที่เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา ทางกองทัพไทยจึงได้จัดตั้งกองพันทหารม้าที่
๖ ขึ้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในปีเดียวกัน
ด้วยเหตุผลที่ว่าจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดสำคัญที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอินโดจีน
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จังหวัดอุตรดิตถ์ ถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ณ ปมคมนาคม อันได้แก่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน
และชุมทางรถไฟบ้านดารา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เริ่มสร้างเขื่อนสิริกิติ์ที่ผาซ่อม
อำเภอท่าปลา สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐
|