มรดกทางศาสนา
พระแท่นศิลาอาสน์
ตั้งอยู่บนเนินเขา ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพระพุทธบาทยุคล
ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน เป็นที่เชื่อมาแต่โบราณกาลว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับนั่ง
ณ แท่นศิลาแลง ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า พระแท่นศิลาอาสน์ ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง
๘ ฟุต ยาว ๑๐ ฟุต สูง ๓ ฟุต มีมณฑปครอบอยู่ภายในพระวิหาร
วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด
แต่จากการสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์และทางโบราณคดี ก็น่าจะสร้างขึ้นไปสมัยอยุธยา
ประเพณีทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีมาแต่เมื่อใด
แต่ได้มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้คนมาสักการบูชาตามเทศกาล และนอกเทศกาล
ด้วยมีความเชื่อว่าการได้มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์แล้ว จะได้รับอานิสงค์สูงสุด
ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้คนในเขตทางตอนเหนือ ที่อยู่ใกล้เคียงกับจังหวัดอุตรดิตถ์
จะพยายามดั้นด้นขวนขวายมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต
ในวันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา งานเทศกาล จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น
๘ ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหาร แล้วสวดพระพุทธมนต์
พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ตอนเช้าพระภิกษุสงฆ์ก็จะออกบิณฑบาตตามหมู่บ้าน
และบรรดาชาวบ้านก็จะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จ
ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารรับประทานกันทั่วหน้า รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการ
พระแท่น ฯ ด้วย เป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี
ในบริเวณใกล้เคียงกันก็จะเป็นองค์อนุสรณ์ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมา
ณ ที่บริเวณนี้ได้ วัดพระยืน พุทธบาทยุคล วัดพระนอน และพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
ทำให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาพระพุทธเจดีย์ดังกล่าวทั้งหมดได้ในโอกาสเดียวกัน
หลวงพ่อเพชร
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสำริด เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่งมีพุทธลักษณะงดงามมาก
ประดิษฐานอยู่ที่วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน) ตลาดบางโพ อำเภอเมือง ฯ ชาวอุตรดิตถ์นับถือว่า
เป็นพระพุทธสำคัญประจำเมือง มีงานนมัสการประจำปีในวันกลางเดือนสี่ของทุกปี
มีประวัติอยู่ว่า
หลวงพ่อด้วง เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ ได้นำพระพุทธรูปองค์นี้ซึ่งขุดพบมามอบให้
ประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อ ซึ่งมีเจ้าอาวาสชื่อหลวงพ่อเพชร เนื่องจากวัดหมอนไม้ไม่มีพระอุโบสถ
และอยู่ในที่เปลี่ยว ส่วนวัดวังหม้ออยู่ในที่ชุมชนน่าจะเป็นการเหมาะสมกว่า
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า
ฯ ให้หัวเมืองฝ่ายเหนือจัดหาพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ ไปประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร
พระพุทธรูปสำริดหลวงพ่อเพชรจึงถูกอัญเชิญไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ทำให้หลวงพ่อเพชรเจ้าอาวาสเสียใจ
ได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ จนเวลาล่วงเลยไปเป็นเวลา ๑๐ ปี จึงได้มรณะภาพในป่าบนเขาบ้านนาตารอด
ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมือง ฯ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร กลับคืนไปประดิษฐานไว้ที่วัดวังเตาหม้อเช่นเดิม
ตามคำขอของชาวเมืองอุตรดิตถ์
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
อยู่ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์พระธาตุเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลม
ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมสามชั้น ฐานล่างมีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารอยู่สี่มุม
ฐานชั้นที่สามมีซุ้มคูหาสี่ด้าน จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารเป็นภาพพุทธประวัติตอนผจญมารที่ผนังด้านบน
ส่วนตอนล่างเป็นภาพเรื่องสังข์ทอง ภาพส่วนใหญ่ลบเลือนไปมาก จิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวนี้เลื่องลือกันว่างดงามมากมาแต่เดิม
วัดบรมธาตุทุ่งยั้งเดิมชื่อวัดมหาธาตุ พระธาตุเจดีย์แต่เดิมมียอดสูงและสวยงามมาก
แต่ได้หักพังลงเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ต่อมาหลวงพ่อแก้วร่วมกับชาวบ้านได้ปฎิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
ทางด้านเหนือของวัดมีสระรูปสี่เหลี่ยมอยู่สองสระ เล่าสืบกันมาว่าในสระทั้งสองนั้นมีถ้ำอยู่สระละถ้ำโดยที่สระทางด้านตะวันตกมีถ้ำกว้างขวางและลึกมาก
มีความยาวจนไปทะลุถึงเมืองระแหง
ถ้ำดังกล่าวนี้เจ้าผู้ครองนครในสมัยนั้น สร้างขึ้นมาเพื่อผลทางยุทธศาสตร์
ปัจจุบันทั้งสระและถ้ำดังกล่าวตื้นเขินจนดูไม่ออกว่าเป็นสระและเป็นถ้ำ
พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
วัดพระยืนพุทธบาทยุคล
อยู่ในเขตตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล เป็นวัดเก่าแก่คู่กับวัดพระแท่นศิลาอาสน์
ซึ่งอยู่บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มีตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มาประทับยืนบนยอดเขานี้
เพื่อทอดพระเนตรไปยังทิศต่าง ๆ เป็นปริมณฑล และได้ทรงอธิษฐานประทับรอยพระพุทธบาทไว้
จึงปรากฎรอยพระพุทธบาททั้งคู่บนศิลาแลง ต่อมาในสมัยสุโขทัย เจ้าธรรมราชกุมาร
ผู้ครองนครศรีสัชนาลัยได้โปรดให้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
ได้มีการบูรณะพระมณฑป และทำหลังคาเป็นจุลมงกุฏ และในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้มีการปฏิสังขรณ์
และเปลี่ยนหลังคาเป็นจตุรมุข ดังที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
พระพุทธรูปในพระอุโบสถมีชื่อว่า หลวงพ่อพุทธรังษี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัย
หล่อด้วยสำริดแล้วโปรดเกล้า ฯ ให้นำมาประดิษฐานที่มณฑปของวัดนี้ ต่อมาเมื่อเกิดศึกกับพม่าจึงได้นำปูนมาพอกไว้
ภายหลังปูนกระเทาะออกมาจึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปสำริด จึงได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่แลัวอัญเชิญพระพุทธรังสีไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ
มณฑปพระยืน เป็นมณฑปจตุรมุขศิลปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก ยอดเป็นปลายแหลมขึ้นไปมีวิมานทั้งสี่ทิศ
บนยอดวิมานทำเป็นปล้องไฉน มีฉัตรแบบพุกาม ประดับใบระกาและหางหงส์ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางตัดแบบเชียงแสน
ภายในมณฑปมีรอยพระพุทธบาทคู่ประทับอยู่บนฐานดอกบัวทรงกลม ด้านหลังมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ
ตั้งอยู่ในเขต ตำบลผาจก อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ปูชนียสถานที่สำคัญยังเหลืออยู่คือ
เจดีย์พระธาตุพระฝาง ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย
ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
วิหารใหญ่แต่เดิมมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนประดิษฐานอยู่ แต่ปัจจุบันได้ถูกขโมยไปแล้ว
ด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุ มีกำแพงล้อมรอบ บริเวณหลังสุดมีพระอุโบสถเก่าอยู่อีกหลังหนึ่ง
สภาพโดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรมมาก เดิมมีบานประตูแกะสลักสวยงาม แต่ก็ได้ถูกขโมยไปแล้วเช่นกัน
ด้านหน้าโบสถ์มีต้นมะม่วงใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่ต้นหนึ่ง บริเวณรอบนอกวัดด้านหลังเป็นป่าละเมาะ
ส่วนด้านหน้ามีบ้านคนอยู่บ้างแต่ไม่หนาแน่น
จากหลักฐาน แสดงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบูรณะพระบรมธาตุสวางคบุรี
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอประมวลได้ดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ โปรดเกล้า ฯให้พระยามหาอำมาตยาธิบดีเป็นแม่กองสักเลข
หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไป ตั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก และโปรดให้พระยาอุตรดิตถาภิบาล
ผู้สำเร็จราชการเมืองอุตรดิตถ์เป็นแม่กองรับจ่ายเลข ข้าพระโยมสงฆ์ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ
ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระธาตุในเมืองสวางคบุรีที่เรียกกันว่า เมืองฝาง
พระเจดีย์นั้นชำรุดมาก ต้องรื้อลงมาถึงชั้นทักษิณที่สาม เมื่อรื้ออิฐเก่าที่หักพังออกก็พบแผ่นเหล็กเป็นรูปฝาชีหุ้มผนึกไว้แน่น
เมื่อตัดแผ่นเหล็กออกจึงพบผอบทองเหลือง บนฝาผอบมีพระพุทธรูปองค์เล็กบุทองคำฐานเงินอยู่องค์หนึ่ง
ในผอบมีพระบรมธาตุขนาดน้อยสีดอกพิกุลแห้ง
๑,๐๐๐ เศษ แหวน ๒ วง พลอยต่างสี ๑๓ เม็ด เมื่อพระยาอุตรดิตถาภิบาลมีใบบอกมา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเรือม่านทองให้ข้าหลวงขึ้นไปรับ
เชิญพระบรมธาตุมาขึ้นที่กรุงเก่า เชิญขึ้นไว้ที่พระตำหนักวังป้อมเพชร
แล้วจัดเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลมีปี่พาทย์ แตรสังข์ รับเชิญลงมากรุงเทพ
ฯ เชิญขึ้นไว้ ณ พระตำหนักน้ำ ทำการสมโภชแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะส่งพระบรมธาตุคืน ให้ไปบรรจุไว้ตามที่ดังเก่าบ้าง
แบ่งไว้สักการะบูชา ณ กรุงเทพ ฯ บ้าง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างหลวงทำกล่องทองคำเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุชั้นใน
แล้วใส่กล่องเงินเป็นชั้นที่สอง ใส่ในพระเจดีย์กาไหล่เงินเป็นชั้นที่สาม
แล้วใส่ในพระเจดีย์ทองเหลืองเป็นชั้นที่สี่ แล้วใส่ครอบศิลาตรึงไว้แน่นหนา
ให้เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุใส่พระเสลี่ยงน้อยกั้นพระกรด ไปตั้งบนบุษบกที่พระตำหนักน้ำ
พร้อมเครื่องสักการะบูชา มีเรือกรมการและราษฎรเมืองนนทบุรี แห่เป็นกระบวนขึ้นไปส่งถึงเมืองปทุม
แล้วผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการตั้งแต่เมืองปทุมธานีขึ้นไป จัดแจงทำสักการะบูชา
แล้วจัดเรือแห่มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเล่นสมโภชตามมีรับส่งต่อ ๆ จนถึงเมืองสวางคบุรี
วัดดอนสัก
ตั้งอยู่ในเขตตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๒๗๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณปี
พ.ศ. ๒๔๒๑ การที่ได้ชื่อว่าวัดดอนสักก็เนื่องจากเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเตี้ย
ๆ และบนเนินนี้มีต้นสักอยู่ด้วย วัดดอนสักถูกไฟไหม้จนเหลือแต่พระวิหารหลังเดียว
เป็นพระวิหารเก่าแก่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะคล้ายเรือสำเภา
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีจุดเด่นอยู่ที่บานประตู ด้านหน้ามี ๑ ประตู
แกะสลักเป็นลายกนกมีรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ แทรกอยู่ในที่ต่าง ๆ ตัวกนกอ่อนช้อย
ช่องไฟได้สัดส่วน ทวยเชิงชายทั้งสองด้านสลักเป็นรูปพญานาคลดหลั่นกันลงมา
ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบเชียงแสนปนสุโขทัย เสาเป็นเสาแปดเหลี่ยม
หัวเสาเป็นบัวโถกลีบซ้อน หน้าบันแกะสลักด้วยไม้ปรู เป็นภาพลวดลายต่าง ๆ กัน
เช่น ลายกนกมีรูปหงส์กนกก้านขดไขว้ ลายเทพนม ลายภาพยักษ์ ประดับด้วยกระจกสีขาวแบบอยุธยา
หลังคาชั้นเดียวมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นเล็ก ๆ ลดหลั่นกันลงมา
กรมศิลปากรได้บูรณะพระวิหารหลังนี้จนเป็นที่เรียบร้อย ทั้งภายนอกและภายในตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๕๓๐
เจดีย์คีรีวิหาร
|
ตั้งอยู่ในเขตตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล อยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ มีพระธาตุเจดีย์เก่าแก่อยู่องค์หนึ่งแบบทรงลังกา
มีซุ้มคูหาที่ฐานทั้งสี่ทิศ มีเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่สี่มุม ภายในบริเวณวัดมีศาลาการเปรียญขนาดใหญ่
ศาลาการเปรียญหลังเก่า และพระอุโบสถหลังเก่าอยู่ทางด้านซ้าย |
วัดกลางธรรมสาคร
ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง ฯ มีพระอุโบสถเก่าแก่อยู่ ๑ หลัง สันนิษฐานว่า
สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่สามด้าน ลายปูนปั้นที่ช่อฟ้า
ใบระกา หางหงส์และตัวเหรา รวมทั้งที่ซุ้มหน้าต่างประตูมีความวิจิตรงดงามอย่างยิ่ง
หน้าบันเป็นไม้จำหลักรูปครุฑจับนาค มีตราพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางลายเครือเถาก้านขด มีเทพนมอยู่เป็นระยะ มีรูปสัตว์สอดแทรกอยู่ตามลายเครือเถาที่เกี่ยวพันกันไปอย่างต่อเนื่อง
วัดกลางธรรมสาคร เดิมชื่อวัดโพธาราม
สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๘๕ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณปี
พ.ศ. ๒๓๐๐ เคยเป็นท่าจอดเรือ เพื่อเดินเท้าไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
ต่อมาลำน้ำเปลี่ยนทางเดินจึงเลิกใช้กัน และทางน้ำเดิมกลายเป็นบุ่งน้ำหน้าวัด
ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดบุ่งวัดกลาง
ปัจจุบันพระวิหารได้พังทลายไปหมดแล้วเพราะขาดการบูรณะ พระอุโบสถหลังที่เหลืออยู่ก็อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และได้เคยบูรณะไปบางส่วน
วัดใหญ่ท่าเสา
อยู่ในเขตตำบลท่าเสา อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๕ ไดรับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณปี
พ.ศ. ๒๔๒๓ โบราณสถานที่สำคัญในวัดท่าเสาคือ มีโบสถ์เก่าแก่ มีลักษณะเด่นที่รูปทรงและองค์ประกอบ
บานประตูไม้แกะสลักสองบาน ลายไม้ฉลุที่หน้าบันของพระอุโบสถทั้งด้านหน้า
และด้านหลัง รวมทั้งเชิงชาย ช่อฟ้า ใบระกา ศาลาการเปรียญเก่าหลังใหญ่ และหอไตร
ก็เป็นสถาปัตยกรรมทีเก่าแก่สวยงาม ด้านหลังพระอุโบสถเคยมีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่
แต่ปัจจุบันได้ถูกกลบถมไปหมดแล้ว
วัดท่าถนน
|
อยู่ในเขตตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน วัดท่าถนนเดิมชื่อวัดวังเตาหม้อ
สร้างขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๓๐๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.
๒๔๘๙ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวอุตรดิตถ์
เป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ ๑ หน้าตักกว้าง ๓๒ นิ้ว สูง ๔๑ นิ้ว หล่อด้วยสำริด
ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ |
|