มรดกทางวัฒนธรรม
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
โบราณวัตถุ
พระพิมพ์ดินดิบ
นิยมสร้างในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสมัยโบราณโดยเฉพาะสมัยศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิ่งเคารพบูชาแทนองค์พระศาสดา
บ้างก็เชื่อว่าสร้างขึ้นเมื่อพระผู้ใหญ่มรณภาพลง เมื่อเผาแล้วก็เอาอัฐิธาตุโขลกผสมดินทำเป็นพระพิมพ์เพื่อบูชา
จากวัตถุโบราณที่พบในบริเวณแห่งนี้ นับแต่ขวานหินและชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผา
มีลายเชือกทาบ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ มีความเป็นมาตั้งแต่ช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์
โบราณสถาน
พระพุทธไสยาสน์
ทางภาคใต้เรียกกันว่า พระนอน
และทางตำบลหน้าถ้ำเรียกว่า พ่อท่านบรรทม
อยู่ในถ้ำพระนอนหรือถ้ำแจ้ง ภูเขาวัดถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำอำเภอเมือง ฯ องค์พระยาว
๘๑ ฟุต มีพญานาคทอดตัวอยู่เหนือองค์พระและแผ่พังพานอยู่เหนือพระเศียร พระกรขวาทอดศอกออกไปข้างหน้าตามแบบอินเดีย
แหล่งโบราณคดี
ชุมชนโบราณบ้านท่าสาป ทุ่งกาโล ภูเขากำปั่น
ภูเขาวัดถ้ำ นอกตัวเมืองยะลา ไปทางทิศตะวันตก
ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๐๙ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๔ ถึงหลักกิโลเมตรที่
๘ อันเป็นที่ตั้งของตำบลท่าสาปและตำบลหน้าถ้ำ มีที่ราบที่ชาวบ้านเรียกว่า
ทุ่งกาโล ด้านตะวันออกของทุ่งมีแม่น้ำปัตตานี ไหลผ่านเป็นแนวเขตระหว่างพื้นที่กับตัวเมืองยะลา
ด้านตะวันตกมีภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่นกั้นเป็นฉากหลัง พื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้รวมทั้งถ้ำต่าง
ๆ ในภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่นถือเป็นชุมชนโบราณบริเวณเดียวกัน
- บ้านท่าสาป
ได้มีการจัดตั้งเป็นเมืองยะลา ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี เป็นท่าเรือที่จะรับส่งสินค้า
จากต้นน้ำคือบริเวณอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา ตลอดจนเป็นจุดที่ล่องเรือสู่ปากน้ำปัตตานีด้วย
- ทุ่งกาโล
เดิมเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านท่าสาปและหน้าถ้ำ ในพื้นที่มีโคกอิฐเนินดินปรากฎอยู่เรียงราย
มักพบเครื่องปั้นดินเผาที่ยังสมบูรณ์อยู่บ้างเป็นเศษชำรุดบ้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
ได้พบพระพุทธรูป เทวรูป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีการปรับพื้นที่เพื่อสร้างสนามบินท่าสาป
พบว่ามีซากกำแพงเมืองและได้พบเครื่องถ้วยชามฝังดินอยู่ไม่น้อย พบเทวรูปพระนารายณ์สี่กร
สำริด สูงประมาณหนึ่งศอกและพระพุทธรูปอีกหลายองค์
- ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น
อยู่ทางทิศตะวันตกของทุ่งกาโล ตำบลหน้าถ้ำ ซึ่งมีภูเขาวัดถ้ำและภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินปูน
มีถ้ำใหญ่น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะภูเขาวัดถ้ำ มีถ้ำสำคัญคือ ถ้ำแจ้ง
หรือถ้ำพระนอน ซึ่งมีโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่
และถ้ำศิลป ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยศรีวิชัย พระพุทธไสยาสน์
ถ้ำสำเภา
และถ้ำคนโท ถ้ำสำเภาอยู่ทางด้านทิศเหนือของภูเขา ปากถ้ำสูงกว่าพื้นดินประมาณ
๓ เมตร เคยมีผู้ขุดพบพระพุทธรูปปูนปั้นพระพิมพ์ดินเผาและพระสำริด ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยงดงาม
มีถ้ำเล็ก ๆ แยกออกไปเป็นซอกซอย บางช่วงเป็นห้องกว้าง ที่ผนังถ้ำมีลวดลายของหินตามธรรมชาติ
ผนังถ้ำบางแห่งเคยมีปูนปั้นเป็นรูปราชรถ มีเทวดาประทับอยู่บนราชรถ แต่ปัจจุบันได้หายไปหมดแล้ว
ถ้ำคนโท อยู่ตอนกลางของภูเขากำปั่น อยู่สูงจากพื้นดินมาก เป็นถ้ำที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของภูเขากำปั่น
เป็นถ้ำหินอ่อน มีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก จากการขุดค้นในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้พบวัตถุโบราณได้แก่พระพิมพ์ดินดิบ
พระพุทธรูปและเครื่องถ้วยจากถ้ำนี้มากกว่าถ้ำอื่น ๆ วพระพุทธรูปที่พบในถ้ำแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหินมีอยู่สามองค์
องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดสลักในแผ่นหิน กว้าง ๒๒ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร สลักเป็นภาพนูนต่ำปางสมาธิ
ส่วนพระพุทธรูปสำริดที่พบมักมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งที่เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
สมัยอู่ทอง บางองค์ก็สันนิษฐานว่า เป็นสมัยศรีวิชัย
แหล่งประวัติศาสตร์
เมืองเก่าโกตาบารู
เคยเป็นเมืองเก่าในสมัยการแบ่งมณฑลปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง เป็นที่ตั้งของเมืองรามัน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เปลี่ยนเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอรามัน ร่องรอยของความเป็นเมืองเก่าของโกตาบารู
ที่ยังคงเหลืออยู่คือ
- กำแพงดิน
ขนาดฐานกว้าง ๓ - ๔ เมตร สูง ๒ เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รอบพื้นที่ประมาณ
๒๕ ไร่ ส่วนของกำแพงยังพอเห็นเป็นแนวกำแพงอยู่ในสวนยางพาราของเอกชน
- หลุมฝังศพพระยารามัน
ตั้งวอยู่ในสุสานสาธารณะ หลังตลาดโกตาบารู ห่างจากกำแพงเมืองเก่าประมาณ ๑๐๐
เมตร
เมืองรามันเดิม หรือโกตาบารู เป็นเมืองที่เจริญและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
มีทั้งช้าง ป่าไม้ ทอง และแร่ทับทิม รามันมีอาณาเขตกว้างขวาง ติดต่อกับเมืองสายบุรี
เมืองยะลา เมืองระแงะ และเมืองเปอร์ลิสของมาเลเซีย มีเจ้าเมืองปกครองติดต่อกันมาหลายคน
ที่สำคัญและเป็นที่นับถือของชาวไทงยพุทธ ชาวไทยอิสลามและชาวจีน ทั้งในถิ่นและนอกถิ่นคือ
โต๊ะนิจาแว
เรียกสั้น ๆ ว่า โต๊ะนิ เล่ากันว่าเจ้าเมืองเป็นคนที่ชอบการเล่นกิจกรรมสนุกสนาน
ชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะศิลปะการป้องกันตัวที่เรียกว่า สิละมาก เมื่อวถึงวันวสำคัญก็จะมีการแข่งขันการรำสิละ
ตกกลางคืนจะมีการแสดงลิเกฮูลู เล่ากันว่าลิเกฮูลู ถือกำเนิดที่เมืองนี้เป็นครั้งแรก
เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า โกตอราไม
แปลว่าเมืองรื่นเริง เช่นเจ้าเมืองบนบานอะไรไว้ เมื่อสำเร็จผลก็มีการแก้บนกัน
โดยเฉพาะวันโกนจุกและวันแต่งงานของลูกเจ้าเมือง จะเชิญเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมในงานด้วย
เมื่อรายอจาแว (โต๊ะนิ) ถึงแก่กรรม บรรดาลูก ๆ ก็พัฒนาวังเก่าให้ใหม่และใหญ่ขึ้น
โดยย้ายจากที่เก่ามาตั้งใกล้ถนนใหญ่ แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น โกตาบารู
แปลว่าวังใหม่
เมืองเก่ายะลา บ้านยะลา
เมื่อครั้งที่เมืองปัตตานี แบ่งออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ในปี พ.ศ.๒๓๕๗ เมืองยะลาเป็นเมืองหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองนั้น
ตอนนั้นเมืองยะลาตั้งอยู่ที่บ้านยะลอ ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลบ้านยะลา อำเภอเมือง
ฯ ประชาชนทั่วไปบริเวณนี้เรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า เมืองเก่ายะลา ตัวเรือนที่เหลือเป็นร่องรอยว่าเป็นจวนเจ้าเมือง
ตามพงศาวดารเมืองปัตตานี ฉบับของพระยาวิเชียรคีรี ฯ (ชม) เจ้าเมืองสงขลา ระหว่างปี
พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๔๔ ได้กล่าวถึงอาณาเขตเมืองยะลา ที่แบ่งแยกออกมาจากเมืองปัตตานีไว้ว่า
เขตแดนเมืองยะลารอบตัวตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เขาปะราหมะปักหลักเรียงลงไปตะวันออก
ถึงปะฆะหลอสะเตาะเหนือบ้าน จินเหรตลอดไปถึงบ้านกะลั่นอะหรอ จนถึงคลองใหญ่ท่าสาปจดบ้านบะนางสะตาฟากเหนือ
เป็นเขตเมืองยะลา ฟากใต้เป็นเขตเมืองรามันห์ ฟากตะวันตกเป็นเขตเมืองยะลา ปากคลองตะวันออก
เป็นเขตเมืองปัตตานี ฝ่ายเหนือต่อพรมแดนหนองจิก เขาศาลาคีรีเป็นแดนฝ่านตะวันตกต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี
มีคลองบาโงยเป็นเขตแดนขึ้นไปถึงบ้านยินัง ตลอดไปบ้านบะเหลาะฝ่ายตะวันตก ตลอดไปจดเขาเมืองดิคะล่าบูสิ้นเขตเมืองยะลา
กำแพงเมืองบ้านกาแป๊ะกอตอ
เป็นกำแพงดินฐานกว้างประมาณ ๓ เมตร สูง ๒ เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่
เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู อยู่ที่บ้านกาแป๊ะกอตอ ตำบลเบตง อำเภอเบตง
เมื่อมีการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมืองนั้น เบตงขึ้นกับเมืองรามัน
เจ้าเมืองรามันบางคนได้มาสร้างวังอยู่ที่เบตง คือที่บ้านกาแป๊ะกอตอแห่งนี้
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นวังของรายอซิยง (ราชาเขี้ยวงอก) เป็นราชาอธรรม
ข่มเหงรังแกชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันขับไล่ไปอยู่ทางตอนใต้ (อยู่ในประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน)
กำแพงเมืองที่บาโงยบาแต
อยู่ที่บ้านบาโงยบาแต ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง ฯ มีคันดินฐานกว้างประมาณ
๓ เมตร สูงประมาณ ๑.๕ เมตร เป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร
ด้านนอกของคันดินมีคูลึกประมาณ ๑.๕๐ - ๒.๐๐ เมตร ห่างจากคันดินดังกล่าวมีเนินดินขนาดฐานกว้าง
๑๕ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ภายในเนินดินเป็นแผ่นอิฐวางระเกะระกะ ขนาดแผ่นอิฐหนา
๒ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว ยาว ๘ นิ้ว
โบราณสถานดังกล่าวไม่มีหลักฐานบอกถึงความเป็นมา แต่มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเดิมเป็นวังของราชาเขี้ยวงอกผู้ดุร้าย
ภายหลังต้องหนีไปอยู่ที่อื่น
จากการสำรวจ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกำแพงดินและคูเมืองสมัยอยุธยา ส่วนเนินอิฐนั้นยังไม่ได้มีการขุดแต่ง
จึงยังสันนิษฐานไม่ได้ว่า เป็นซากสิ่งก่อสร้างประเภทใด
วังเก่าพระยายะลา (ต่วนสุไลมาน)
ตั้งอยู่ที่บ้านเปาะเส้ง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง ฯ ในพื้นที่ประมาณ ๓ ไร่
มีอาณาเขตทิศเหนือติดกับสวนยาง ทิศใต้ติดกับคลองยะหา เป็นบ้านทรงปั้นหยา หลังคาทรงลีมะ
เป็นเรือนแฝด มีชานเรือนอยู่กลาง เรือนหลังใหญ่กว้างประมาณ ๕ เมตร ยาว
๒๐ เมตร หลังเล็กกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร เรือนหลังใหญ่ด้านหน้ามีระเบียงด้านหลังเป็นห้องละหมาด
ชานเรือนข้างหลังเป็นบ่อน้ำและอ่างน้ำละหมาด ด้านหลังของเรือนหลังเล็กเป็นห้องครัว
วังเก่าหลังนี้เป็นเรือนใต้ถุนสูง มีเสาไม้เป็นจำนวนมาก พื้นไม้กระดาน ฝาไม้กระดาน
หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาซึ่งนำมาจากเตาเผาที่เมืองปัตตานี ช่างที่สร้างชื่อ
หะยีลีมะ เป็นช่างคนเดียวกันกับที่สร้างวังที่เมืองปัตตานี เป็นผู้ออกแบบเอง
และสร้างเองโดยมีชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเป็นลูกมือ
หลุมฝังศพ (กุโบ) พระยายะลา (ต่วนสุไลมาน)
ตั้งอยู่ในบริเวณมัสยิดบ้านลางา หมู่บ้านเปาะเส้ง ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมือง
ฯ ในพื้นที่ประมาณ ๑๐ ไร่ มีอาณาเขตทิศเหนือติดสวนยาง ทิศตะวันตกติดทุ่งนา
ทิศใต้ติดสวนยาง เหนือหลุมศพประดับด้วยเครื่อง ครอบคลุมศพ แกะสลักด้วยหินอ่อนเป็นรูปหลังคาและโดม
เหนือหลุมศพมีอาคารกว้าง ๗ เมตร สูงประมาณ ๒.๕ เมตร หลังคาทรงลีมะมุงด้วยกระเบื้องดินจากเตาเผากระเบื้องที่เมืองปัตตานี
ภายนอกตัวอาคาร มีกำแพงอิฐถือปูนกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ประตูอยู่ทางด้านทิศเหนือ
บานประตูทำด้วยไม้แผ่นแข็งแรง
ภายในกำแพง นอกจากเป็นที่ฝังศพพระยายะลาแล้ว ยังมีหลุมฝังศพของลูกหลานพระยายะลาอยู่ด้วย
ส่วนภายนอกกำแพง เป็นหลุมฝังศพของชาวบ้าน บริเวณตำบลนี้เรียงรายอยู่ทั่วทั้งกุโบ
สำหรับที่ครอบคลุมศพของต่วนสุไลมาน ภาษามลายูเรียกว่า กาแอปอรี มีคำจารึกบนหินอ่อนเขียนเป็นภาษามลายู
เรือนจำภาคธารโต
มีจุดประสงค์เพื่อจัดตั้งเป็นทัณฑนิคม อยู่ในเขตตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา
มีพื้นที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ไร่ มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์
พ.ศ.๒๔๘๐
จุดมุ่งหมายเพื่อย้ายนักโทษจากที่อื่นมาอยู่เพื่อฝึกหัดวิชาเกษตรให้นักโทษ
โดยคัดเลือกนักโทษที่มีเวลาพอจะพ้นโทษ ประมาณ ๔ - ๗ ปี อายุไม่เกิน ๕๐ ปี
ร่างกายแข็งแรง และเมื่อพ้นโทษแล้วไม่มีอาชีพอื่นใดและสมัครใจจะอยู่
ผู้บัญชาการเรือนจำคนแรกคือ นายสงวน ตุลารักษ์
มีกองงานกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทำงาน เช่น ทำงานในโรงเลื่อยเครื่องจักรไอน้ำ
ตัดหวายป่า เผาถ่าน เลี้ยงสุกร ทำสวนมะนาว ยางพารา ทำฟืน ทำเหมืองแร่ดีบุก
แต่การดำเนินงานไม่ได้ผลเท่าที่ควร จำเป็นต้องย้ายเรือนจำเขตธารโต ไปขึ้นกับเรือนจำประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
ต่อมาได้เลิกไปและโอนให้กรมประชาสงเคราะห์จัดเป็นนิคม
อุโมงค์เบตง
ตั้งอยู่ที่บ้านปิยะมิตร ตำบลตาเนาะแบเราะ อำเภอเบตง ใกล้กับบ่อน้ำร้อนเบตง
เป็นอุโมงค์ที่อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.)
ได้ขุดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่สะสมเสบียง
หลบภัยทางอากาศและเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ อุโมงค์เดิมเป็นอุโมงค์ดิน ขนาดกว้างประมาณสองคนเดินสวนกันได้
ความสูงสูงกว่าศีรษะของคนยืนทั่วไปประมาณหนึ่งฟุต ขุดเจาะเข้าไปในเนินดินที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาทึบ
มีความยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตร มีทางแยกเพื่อเข้า - ออก ได้เก้าทาง ภายในอุโมงค์บางตอนจะเป็นห้องบัญชาการ
ห้องส่งวิทยุท ห้องเก็บอาวุธและห้องพยาบาล เป็นต้น
|