ศิลปกรรม
เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น โดยอาศัยศักกยภาพที่มีอยู่ในตนเอง และในธรรมชาติมาก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต
การสร้างบ้านแบบชาวไทยอิสลาม
ลักษณะของบ้าน
ในการสร้างบ้านใหม่มักจะขึ้นเสากลางหรือคือแยซือรีก่อน บางความเชื่อจะผูกมะพร้าว
ข่า รวงข้าวและผ้าใหม่ที่เสากลาง และมีการดูฤกษ์ยามในการตั้งเสา ส่วนแบบบ้านจะได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้าน
เช่น อินโดนีเซีย โดยทั่วไปจะเป็นบ้านยกพื้น ความแตกต่างของบ้านจะเป็นรูปทรงของหลังคา
ที่พอจะแยกออกได้เป็นสี่แบบคือ
- หลังคาแบบแมและห์
(หลังคาจั่ว) เป็นหลังคาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน
- หลังคาแบบลีมะ
(หลังคาปั้นหยา) เป็นหลังคาที่คลุมทั้งสี่ด้าน ป้องกันฝนได้ดี
- หลังคาแบบบลานอ (หลังคาทรงมนิลา)
เป็นแบบหลังคาที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซียซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของฮอลันดา
คนในพื้นที่เรียกชาวฮอลันดาว่า บลานอ
- หลังคาแบบผสม
เป็นหลังคาที่มีการผสมผสานของหลังคาสองสามแบบ โดยมากจะผสมกันระหว่างหลังคาแบบลีมะกับแบบบลานอ
การตกแต่งลวดลายในตัวบ้าน
มีการตกแต่งลวดลายตามส่วนต่าง ๆ ของบ้าน มีลวดลายตัวอักษร ลวดลายจากพรรณไม้
ลวดลายเรขาคณิต จะหลีกเลี่ยงลวดลายที่เป็นรูปสัตว์ หรือรูปคน บ้านที่มีลวดลายตกแต่งมากมักจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะดี
หรือบ้านอดีตเจ้าเมืองหรือขุนนาง บริเวณที่มีการตกแต่งมีลายบริเวณที่สำคัญ
เช่น
- สันหลังคา
การตกแต่งบริเวณนี้นิยมลวดลายที่ฉลุจากโลหะมากกว่าที่ฉลุจากไม้ ลักษณะลวดลายจะต่อเนื่องหรือเป็นเถา
และจัดโครงสร้างของลายไปทางนอน ลายฉลุนี้จะติดกับสันหลังคาโดยฝังลึกลงไปในซีเมนต์ที่โบกติดหลังคา
รูปแบบของลายนิยมลวดลายที่มาจากเส้นโค้งปนกับดอกไม้ และใบไม้ บางครั้งฉลุเป็นลายเครือเถา
บางครั้งจะตกแต่งด้วยลวดลายแบบเดียวกับที่ตกแต่งเชิงชาย
- หน้าจั่วและยอดจั่ว (ตูแบลายา)
ลวดลายที่ตกแต่งบนยอดจั่วเรียกว่า เวาะฆูตง การตกแต่งส่วนนี้ใช้วิธีฉลุ
หรือแกะสลักไม้ หรือตีเกล็ดเป็นรัศมี เพื่อระบายอากาศ หรือตกแต่งด้วยลายฉลุไม้แล้วระบายด้วยสีทอง
บางแห่งระบายสีเป็นลวดลายเครือเถา
- เชิงชาย (ตือโปกาซา)
การตกแต่งบริเวณนี้นิยมใช้วัสดุสองประเภทคือโลหะฉลุโปร่งและไม้ฉลุโปร่ง ถ้าฉลุจากโลหะ
นิยมจัดลวดลายในทางนอน และต่อเนื่องกัน สำหรับลวดลายที่ฉลุด้วยไม้นิยมทั้งในทางนอนซึ่งฉลุบนไม้กระดานแผ่นเดียว
และลวดลายที่จัดองค์ประกอบในทางตั้ง การออกแบบจะออกแบบลายในกระดานแผ่นเดียวกัน
แล้วนำมาเรียงประกอบกันตั้งแต่สามแผ่นขึ้นไป จึงจะครบองค์ประกอบของลาย
- ช่องลมใต้หลังคา (ปากาซา)
โดยทั่วไปนิยมตกแต่งด้วยลายฉลุโปร่ง จัดองค์ประกอบของลายในทางตั้ง ไม้ที่ฉลุแต่ละชิ้น
ยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร เอามาเรียงต่อเนื่องกัน บางแห่งแบ่งลวดลายออกเป็นสองส่วน
ส่วนบนจัดองค์ประกอบในทางตั้ง ใช้ไม้ฉลุยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร ช่วงล่างกว้างตั้งแต่
๑๕ - ๓๐ เซนติเมตร ในช่วงนี้จัดเป็นองค์ประกอบของลายในทางนอน
- ช่องลมเหนือประตูและหน้าต่าง
การตกแต่งโดยมากทำจากไม้กระดานแผ่นเดียวนำมาแกะสลักแสดงความสูงต่ำ และฉลุโปร่ง
เพื่อให้แสงสว่างเข้ามาภายในได้ และเพื่อเป็นการระบายอากาศด้วย นิยมลวดลายจากพรรณไม้และอักษรประดิษฐ์
การแกะสลักจะเป็นแบบนูนต่ำ ข้อความที่นำมาเป็นอักษรประดิษฐ์ มักจะเลือกจากโองการที่สรรเสริญอัลลอฮฺ
และคำปฏิญาณตนของชาวไทยอิสลาม ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน
การตกแต่งในส่วนนี้ชาวไทยอิสลามเรียกว่า ยาลอซอแบะ
- คาน การตกแต่งไม่ประณีตนัก
วิธีการตกแต่งจะแกะสลักลงไปในเนื้อไม้และเลื่อยส่วนบนของตงให้เป็นรูปโค้ง
เส้นแกะสลักขนานไปคู่กับรอยโค้งของไม้
- ระเบียงและลูกกรงระเบียง
(ปาฆาฆูแซ) นิยมตกแต่งสองลักษณะคือ อย่างแรกนำไม้ระแนงหรือไม้ขนาด ๑ x ๒ นิ้ว
มาตีไขว้กันเป็นตารางสี่เหลี่ยมในทางเฉียง และทางตั้ง หรือตีเว้นระยะเป็นช่วง
ๆ อย่างที่สองใช้ไม้กระดานแผ่นเดียวแล้วนำมาปิดเรียงกันรอบ ๆ
ระบียง
- ตีนเสา
ไม่นิยมฝังเสาลงดิน เพื่อป้องกันเสาผุและการทำลายของมดปลวก และเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบ้าน
จึงนิยมวางเสาบนตีนเสา ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปจะวางบนก้อนหิน แต่ถ้าเป็นผู้มีฐานะจะวางบนตีนเสาซีเมนต์
ลักษณะลวดลายที่นิยมตกแต่งบ้าน
เป็นลักษณะลวดลายตามแบบของศิลปะอิสลาม จะหลีกเลี่ยงการนำภาพคน ภาพสัตว์ มาประดับส่วนต่าง
ๆ ของบ้าน ลวดลายที่นำมาตกแต่งส่วนต่าง ๆ ของบ้านมีสามแบบใหญ่ ๆ คือ
- อักษรประดิษฐ์
นำลวดลายอักษรประดิษฐ์มาตกแต่งบริเวณเหนือประตูหน้าต่าง นิยมตัวอักษรแบบซูลูซี
อักษรคูฟีและนัสคี ข้อความนำมาจากโองการในอัลกุรอาน นิยมแกะสลักด้วยไม้แบบนูนต่ำโดยแกะสลักให้ตัวอักษรนูนขึ้นจากพื้น
บางแห่งนิยมระบายสีบนตัวอักษรด้วย มีสีทอง สีเหลืองและสีเขียว อีกแบบหนึ่งคือการฉลุไม้เป็นเส้นตามรูปตัวอักษรโดยนำข้อความที่ต้องการ
ตกแต่งมาออกแบบ และจัดช่องไฟให้ได้จังหวะงดงาม และพอเหมาะกับบริเวณที่ต้องการตกแต่ง
- ลายจากพรรณไม้
หรือลายเครือเถา โดยอาศัยรูปแบบของใบปาล์ม ใบผักกาด เถาองุ่น ดอกไม้ตูม ดอกไม้บาน
การจัดองค์ประกอบมีสองแบบคือ จัดให้มีความสมดุลจากแกนกลาง และจัดให้มีความต่อเนื่องและซ้ำกัน
- ลายเรขาคณิต
นิยมใช้กันน้อย เนื่องจากมีความงามและความประณีตน้อยกว่าสองแบบแรก ช่างจะใช้ตกแต่งราวบันได
ลูกกรง ระเบียง และช่องลม เป็นต้น
กลุ่มบ้านจือเบาะ
อยู่ที่บ้านจือแร ตำกบลกอตอตือระ อำเภอรามัน ประกอบด้วยบ้านเรือนประมาณ ๔๐
ครัวเรือน มีลักษณะที่น่าสนใจทางศิลปวัฒนธรรมคือ บ้านเรือนทั้งหมดปลูกติดกันเป็นกลุ่มหลังคาถึงกัน
มีทางเดินเล็ก ๆ ลัดเลาะไปมาตามชายคาบ้าน พื้นที่ที่ปลูกบ้านเรือนอยู่รวมกันประมาณ
๑๐ ไร่ กลุ่มบ้านอยู่ในรั้วเดียวกันเป็นรั้วธรรมชาติ คือเป็นเนินดินปลูกกอไผ่ไว้เป็นแนวยาว
ลักษณะบ้านเรือนปลูกเป็นแบบพื้นเมืองคล้าย ๆ กันทุกกบ้าน แต่ละบ้านมีความสะอาดสวยงาม
แต่ละบ้านมีความเป็นอยู่อย่างสันโดษเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ในกลุ่มบ้านนี้มากนัก
แต่ละบ้านยังรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เช่นการไถนาด้วยคันไถ การใช้ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวหรือไขวัว
การใช้เตาไฟแบบสามเส้า ฯลฯ แต่ละบ้านรักษาของเก่าไว้เป็นสมบัติแก่ลูกหลาน
ไม่ยอมขายให้แก่พ่อค้าของเก่าของดังกล่าวได้แก่ กริช เครื่องใช้ทองเหลือง
อาวุธ หินบดยา กาทองเหลือง หีบเหล็ก ตะเกียงไขวัว เป็นต้น
จากคำบอกเล่าของผู้ที่จำความได้ มีอยู่ว่า แต่เดิมที่นี้เป็นบ้านของสนมคนหนึ่งของเจ้าเมืองรามัน
เจ้าเมืองรักมากจึงได้ปลูกสร้างบ้านเรือนให้อยู่ แล้วให้บริวารมาปลูกสร้างบ้านเรือนแวดล้อมเพื่อป้องกันอันตรายไปในตัว
ผู้คนในกลุ่มบ้านนี้ในอดีตจึงมีฐานะดี บางบ้านมีตะเกียงจากยุโรปใช้ ภายหลังเจ้าเมืองหมดอำนาจ
กลุ่มบ้านนี้จึงทรุดโทรมลงเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มบ้านแบบพื้นเมืองบ้านซีเยาะ
อยู่ที่บ้านซีเยาะ ตำบลบาโงยซีแง อำเภอยะหา เป็นชุมชนที่มีอายุประมาณ ๒๐๐
ปี อยู่ในพื้นที่ลาดเชิงเกขา พื้นดินอุดมสมบูรณ์ มีลำธารไหลผ่าน มีที่ราบสำหรับทำนา
มีที่เชิงดขาสำหรับทำสวน ประชาชนในพื้นที่มีฐานะดีมาแต่ต้น มีการสร้างบ้านเรือนที่สวยงามตามแบบพื้นเมือง
แต่ชำรุดทรุดโทรมรื้อสร้างใหม่ไปหลายหลัง ปัจจุบันมีอยู่ประมาณสิบหลัง ยังคงรักษารูปทรงของเดิมให้เห็นอยู่คือ
บ้านเลขที่ ๒๐ บ้านกำปงลูรง อายุประมาณ ๑๐๐ ปี บ้านกว้างประมาณ ๖ เมตร ยาวหกช่วงเสาประมาณ
๒๐ เมตร ช่วงหน้าเป็นแบบใต้ถุนสูง ช่วงหลังเป็นบ้านแบบสองชั้น หลังคาทรงบลานอ
จั่วด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังมีลวดลายประดับสวยงาม
บ้านเลขที่ ๑๑ บ้านยือนาเละ อายุประมาณ ๑๐๐ ปี เป็นบ้านเรือนไม้ใต้ถุนสูง
กว้าง ๖.๕ เมตร ยาวห้าช่วงเสา ประมาณ ๑๗ เมตร หลังคาทรงบลานอ มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
จากเตาเผาปัตตานี
บ้านเลขที่ ๔ บ้านยือนาเละ อายุประมาณ ๑๐๐ ปี แต่เดิมสร้างอยู่ที่อื่น เจ้าของซื้อมาแล้วประกอบใหม่
โดยใช้ลูกสลักทั้งหลัง บ้านกว้าง ๗ เมตร ยาวแปดช่วงเสา ประมาณ ๒๒ เมตร ช่วงกลางใต้ถุนสูง
ช่วงหน้าและหลังเป็นบ้านสองชั้น หลังคาทรงบลานอ มีลวดลายประกอบหน้าจั่ว และช่องลมเหนือประตูหน้าต่าง
ในเขตบ้านซีเยาะ มีปอเนาะเก่าแก่ มีโต๊ะครูที่มีชื่อเสียงในการสั่งสอนบุตรธิดาของชาวบ้านบริเวณนี้ให้เป็นคนดี
จนมีคนนับถืออย่างกว้างขวางมาจนกถึงปัจจุบัน ประชาชนในพื้นที่ยังมีความเคร่งครัดในหลักธรรมของศาสนาไม่เสื่อมคลาย
รูปทรงของบ้านเรือนเก่าแก่ สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนในอดีต
และรสนิยมทางด้านศิลปะ - สถาปัตยกรรมของคนในพื้นที่
กลุ่มบ้านตระกูลรือซะ
ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านกาแป๊ะกอตอ ตำบลเบตง อเภอเบตง ในพื้นที่ ๑๐ ไร่ ประกอบด้วยบ้านเจ็ดหลังของพี่น้องตระกูลรือซะ
จำนวนเจ็ดคน ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ปลูกเรียงรายกันรอบ ๆ สนามหญ้าสวยงาม
แต่ละหลังเป็นบ้านทรงที่เป็นแบบที่นิยมของชาวไทยอิสลามทั่ว ๆ ไป
บ้านหลังใหญ่มีอายุประมาณ ๖๘ ปี โดยช่างชาวจีนมาเลเซีย ส่วนการออกแบบและการตกแต่งเป็นของเจ้าของบ้าน
เป้นบ้านใต้ถุนสูง ยกพื้นเป็นสองระดับ ชานและระเบีนงระดับหนึ่ง พื้นบ้านอีกระดับหนึ่งที่ห้องโถงตีฝาเพดานเป็นรูปโดม
มีช่องลมเหนือบานประตูหน้าต่างทุก ๆ บาน ช่องลมมีการแกะสลักลวดลายสวยงาม
บ้านหลังอื่น ๆ แม้จะมีอายุการสร้างน้อยกว่า แต่จะมีเอกลักษณ์คือใตัถุนสูงยกพื้น
สอง-สามระดับ มีลวดลายเหนือบานประตูหน้าต่าง และมีลวดลายที่หน้าจั่ว
|