ข้อมูลทั่วไป
(นาแห้ว) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลนาแห้ว ตำบลแสงภา ตำบลเหล่ากอหก อำเภอนาแห้ว
จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 73,225 ไร่ หรือ 117.16 ตารางกิโลเมตร
ด้วยสภาพขุนเขาที่สูงสลับซับซ้อนกันในพื้นที่ อำเภอนาแห้ว
ประกอบกับเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ สภาพป่าโดยส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น
ซึ่งมีที่ราบน้อย จุดที่สูงที่สุดประมาณ 1,408 เมตร จากระดับน้ำทะเล
สภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี
เนื่องจากความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติซึ่งมีพันธุ์ไม้อยู่หนาแน่น
ในช่วงฤดูหนาวอากาศค่อนข้างจะหนาวเย็น
ป่าผืนนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ
ตามกฎกระทรวงที่ 1041 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2507
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 101 ตอนที่ 69 วันที่ 30 พฤษภาคม 2527
เป็นป่าโครงการไม้กระยาเลย บ้านนาท่อน-บ้านบุ่ง (ลย.8) ตอนที่ 7 และ 8
ผ่านการคัดเลือกเพื่อให้ตัดฟันไม้ออกแล้ว แต่ราษฎรตำบลแสงภา
ได้รวมตัวกันเมื่อเดือนธันวาคม 2530-มกราคม 2531
คัดค้านมิให้ทำไม้ออกทางราชการได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วเห็นชอบตามราษฎรจึงระงับการทำไม้ไว้ก่อน
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกการทำไม้ตามสัมปทานเสียทั้งหมด
จึงเป็นการยุติการทำไม้ออกตามสัมปทานโดยสิ้นเชิง
การจัดตั้งป่าผืนนี้ให้เป็นป่าอนุรักษ์ในรูปอุทยานแห่งชาติ
เนื่องจากกองอำนวยการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง อำเภอนาแห้ว ฝ่ายทหาร
เริ่มแรกต้องการให้เป็นปอดของสมาชิกราษฎรอาสาป้องกันชายแดน
แต่เมื่อตระหนักถึงประโยชน์ในการพักผ่อน ในลักษณะป่าเขาลำเนาไพรแล้ว
เห็นว่าน่าจะอำนวยประโยชน์แก่ราษฎรโดยทั่วกันอีกด้วย
จึงตัดสินใจหาลู่ทางกำหนดให้ป่านาแห้วเป็นอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับเนื่องในโอกาสครบ
3 รอบ หรือ 36 พระชนมพรรษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2
เมษายน พ.ศ. 2534 ซึ่งกรมป่าไม้เห็นชอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง
และตอบสนองความต้องการอนุรักษ์ป่าผืนนี้อย่างจริงจัง
การสำรวจเบื้องต้นบนส่วนหนึ่งของพื้นที่จึงเริ่มขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลต่างๆ
มาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและคณะกรรมการชุดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูเปือย
ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ ในท้องที่ตำบลแสงภา ตำบลเหล่ากอหก และตำบลนาแห้ว
อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนที่ 52ก หน้า 54-56
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาตินาแห้ว
นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 79 ของประเทศ
ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น
และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาตินาแห้ว เป็นอุทยานแห่งชาติอุทยานแห่งชาติภูสวนทราย
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาตินาแห้ว เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตามแนวชายแดนไทย-ลาว สันเขามีลักษณะเป็นที่ราบสูง มีความลาดเท ตั้งแต่ 2 เปอร์เซ็นต์ จนถึงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ด้านตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ป่าผืนใหญ่ จะมีความลาดชันมาก พื้นที่ราบเชิงเขาเกือบจะไม่มี ด้านตะวันออกจะมีความลาดชันน้อย ลาดเทลงไปทางด้านตะวันออกมีที่ราบเชิงเขาอยู่บ้าง พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งแต่ 600 - 1,408 เมตร มีภูสันทรายเป็นยอดเขาสูงสุด เป็นแหล่งน้ำน้ำลำธารของแม่น้ำเหือง และ แม่น้ำแพร่
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี เนื่องจากความสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติซึ่งมีพันธุ์ไม้อยู่หนาแน่น ในช่วงฤดูหนาวอากาศค่อนข้างจะหนาวเย็น
พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาตินาแห้ว ปกคลุมไปด้วยผืนป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิดดังนี้
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ เลียงผา เก้ง กระจง หมูป่า หมี เสือโคร่ง หมาไน อีเห็น บ่าง กระรอก ในป่านี้มีสัตว์ชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า ตัวหอน มีลักษณะคล้ายเม่นอยู่เป็นกลุ่มหากินกลางคืนอาศัยตามหลืบหิน โพรงหิน ไม่ขุดรูอยู่ด้วยตนเองเหมือนเม่น
2. นก ประกอบด้วย นกเหยี่ยว นกกระจิบ นกโพระดก นกกาเหว่า ไก่ป่า ไก่ฟ้า พญาลอไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าหลังเทา นกกก นกแซงแซว เป็นต้น และมีนกชนิดหนึ่งเรียกว่า นกกองกอด ลักษณะเด่น คือ ที่ขามีเดือยมากกว่า 1 เดือย หางคล้ายนกยูง
3. สัตว์เลื้อยคลาน มี เต่าปูลู กิ้งก่า กะท่าง แย้ จิ้งเหลน ตะกวด แลน และงูชนิดต่างๆ ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ประเภทงูมักพบในป่าเบญจพรรณ
4. ปลา พบในลำน้ำเหืองและแม้แต่ลำห้วยเล็กๆ ก็มีปลาน้ำจืดอาศัยอยู่ในลำห้วย มีพวกปลาประเภทที่มีเกล็ด เช่น ตะเพียน ปลากะสูบ ปลาช่อน ปลาช่อนงูเห่า ปลาซิวและปลาขนาดเล็กอื่นๆ ปลาไม่มีเกล็ด คือ ปลาไหล ปลาหลด ไม่มีปลาขนาดใหญ่
หินสี่ก้อน
อยู่บนเทือกเขาภูตีนสวนทราย ด้านทิศใต้จะมีหินอยู่ 4 ก้อน โผล่ขึ้นกลางป่าดงดิบ เป็นเสมือนประตูภูตีนสวนทราย ชาวบ้านขึ้นสักการะทุก 3 ปี ภาษาชาวบ้านเรียกว่า 2 ปีหาม 3 ปีครอบ คือ ขึ้นไปทำบุญ 1 ครั้ง แล้วเว้นไปอีก 2 ปี ขึ้นไปสักการะอีก เรียกว่า บุญภูใหญ่หรือบุญสวนเมี่ยง จะทำปลายเดือน 3 ต้นเดือน 4 ไม่กำหนดวันที่แน่นอน
กิจกรรม -ชมวัฒนธรรมประเพณี
น้ำตกคิ้ง
อยู่ในลำน้ำแพร่มีลักษณะเป็นแก่งหินลดหลั่นกันลงมา 2-3 ชั้น ตั้งอยู่ริมทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 สายแสงภา-เหล่ากอหก อยู่เลยน้ำตกวังตาดมา 1.2 กิโลเมตร จุดนี้ทางราชการได้ก่อสร้างเรือนประทับถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเสด็จเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกวังตาด
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 มีทางเดินเลาะไหล่เขาลงไปถึงน้ำตก ประมาณ 70 เมตร น้ำตกวังตาดเป็นน้ำตกขนาดเล็กมี 2 ชั้น สายน้ำไหลตกลงมาจากผาหินสูงประมาณ 5 เมตร กระทบก้อนหินใหญ่ลงสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง บรรยากาศสงบเงียบเหมาะสำหรับแวะพักผ่อน
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกผาค้อ
อยู่ในลำน้ำเหือง ใช้ลำน้ำนี้เป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดน ระหว่าง ไทย-ลาว สภาพโดยทั่วไป รอบพื้นที่น้ำตกมีต้นไม้ที่สมบูรณ์ อากาศร่มรื่นดีมาก เหมาะแก่การพักผ่อนอย่างแท้จริง
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกตาดเหือง
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 25 กิโลเมตร น้ำตกตาดเหืองเกิดจากลำน้ำเหืองซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-ลาว สายน้ำไหลลงมาจากหน้าผาสูง 30 เมตร ไหลลดหลั่นกัน 3 ชั้น มีน้ำไหลตลอดปี สภาพป่าบริเวณรอบ ๆ ร่มรื่นดีมาก เหมาะสำหรับการพักผ่อน น้ำตกตาดภา เป็นน้ำตกสูงประมาณ 60 เมตร ลดหลั่นกันเป็นชั้น ซึ่งอยู่ใกล้บ้านแสงภา
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกตาดภา
เป็นน้ำตกสูงประมาณ 60 เมตร ลดหลั่นกันเป็นชั้น ซึ่งอยู่ใกล้บ้านแสงภา
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกช้างตก
อยู่เหนือน้ำตกคิ้งขึ้นไปประมาณ 500 เมตร อยู่ในลำน้ำแพร่เช่นกัน แต่มีความลาดชันมากกว่า
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
หินก่วยหล่อ
อยู่บนภูตีนสวนทรายเป็นหินทรายรูปร่างคล้ายดอกเห็ดตูมก้อนเดียวโผล่ขึ้นมากลางป่าดงดิบ ความโตโดยรอบประมาณ 19 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร รอบ ๆ หินมีร่องรอยเหมือนมีคนมาขุดเป็นร่องน้ำไว้ แต่โดยความจริงธรรมชาติเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง
กิจกรรม -เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา
จุดชมวิว เนิน 1408
อยู่บนภูสวนทราย เมื่อมองลงไปทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จะเห็นบ้านบ่อเหมืองน้อย ทิวทัศน์ของป่าเต็งรังบ้านแสงภา อำเภอนาแห้ว จุดนี้หากขึ้นไปรอดูพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าจะสวยงามมาก บริเวณนี้เป็นที่ราบสันเขายาวเหมาะที่จะเดินพักผ่อนยิ่งนัก นับว่าเป็นใจกลางของอุทยานแห่งชาตินาแห้วอย่างแท้จริง
กิจกรรม -ชมทิวทัศน์
จุดชมวิว เนิน 1205
เป็นจุดชมวิวในระยะใกล้จะเห็นบ้านห้วยน้ำผักอยู่ด้านล่างและเห็นวิวภูสอยดาวภูเวียงในประเทศลาว เป็นวิวทางด้านทิศเหนือจะเห็นภูเขาสลับซับซ้อนกันสุดสายตาที่จุดชมวิวมีลมพัด
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย (นาแห้ว)
ต.แสงพา อ. นาแห้ว จ. เลย 42170
โทรศัพท์ 0 4281 9340
การเดินทาง
รถยนต์
จากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดเลย และเดินทางจากจังหวัดเลยโดยใช้เส้นทางหมายเลข 203 ระยะทาง 68 กิโลเมตร ถึงทางแยกบ้านโคกงามเลี้ยวขวาตามเส้นทางหมายเลข 2031 ระยะทาง 12 กิโลเมตร ถึงอำเภอด่านซ้าย เลี้ยวขวาตามเส้นทางหมายเลข 2113 ไปอีก 32 กิโลเมตร ถึงอำเภอนาแห้ว จากอำเภอนาแห้วเดินทางต่ออีก 4 กิโลเมตร ถึงบ้านเหมืองแพร่ เลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง หมายเลข1268 ผ่านตำบลแสงภา และเลี้ยวขวาตามทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 1268 หลักกิโลเมตรที่ 0 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินาแห้ว
จากกรุงเทพฯ สู่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ และเดินทางจากอำเภอหล่มสัก ใช้เส้นทางหมาเลข 203 จนถึงบ้านโป่งชีเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข2014ถึงอำเภอด่านซ้ายเลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 2113 ไปอีก 32 กิโลเมตร ถึงอำเภอนาแห้ว จากอำเภอนาแห้วเดินทางต่ออีก 4 กิโลเมตร ถึงบ้านเหมืองแพร่ เลี้ยวซ้ายตามเส้นทางหมายเลข 1268 ผ่านตำบลแสงภาและเลี้ยวขวาตามทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 1268 หลักกิโลเมตรที่ 0 อีกประมาณ 3 กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินาแห้ว
จากจังหวัดพิษณุโลก-อำเภอชาติตระการ-บ้านบ่อภาค ถึงกิโลเมตรที่ 50 เลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข 1268 ผ่านบ้านร่มเกล้า ผ่านตำบลเหล่ากอหก ถึงหลักกิโลเมตรที่ 0 อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินาแห้ว
ที่พักแรม/บ้านพัก
มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง
ที่จอดรถ
มีที่จอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว