อนุสาวรีย์วีรสตรี
อ. ถลาง จ. ภูเก็ต
อนุสาวรีย์วีรสตรี อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร
ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 12 กิโลเมตร
เป็นอนุสาวรีย์ที่ชาวภูเก็ตร่วมกันสร้างขึ้น เมื่อปี 2509
เพื่อเชิดชูเกียรติวีรสตรีผู้กล้าหาญแห่งเมืองถลาง
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นวีรสตรีไทยที่ป้องกันเมืองถลางให้พ้นจากข้าศึกได้ในสงครามเก้าทัพ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท้าวเทพกระษัตรี มีชื่อเดิมว่า "ท่านผู้หญิงจัน"
ท้าวศรีสุนทร เป็นน้องมีชื่อเดิมว่า "คุณมุก"
ทั้งสองเป็นบุตรีของจอมรั้งเจ้าเมืองถลาง
ประวัติ
คุณจัน เป็นบุตรีคนแรกของจอมร้างบ้านเคียน ซึ่งเกิดจากนางหม้าเสี้ย
มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกัน 5 คน เมื่ออายุสมควรจะมีเรือน
บิดามารดาก็ได้จัดการแต่งงานให้กับหม่อมภักดีภูธร (สามีคนแรก) มีธิดา 1 คน
คือแม่ปราง และบุตร 1 คน คือนายเทียน (ต้นสกุล ประทีป ณ ถลาง)
หลังจากคลอดนายเทียน หม่อมภักดีภูธรเสียชีวิตลง
คุณจันอยู่เป็นหม้ายจนกระทั่งแต่งงานครั้งที่สองกับพระยาพิมลอัยา (ขัน)
ภายหลังเป็นพระยาสุรินทราชาพิมลอัยา (ขัน) มีบุตรธิดาอีก 2 คน
คุณจันเป็นผู้ประกอบด้วยความงาม มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน
และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสมกับเป็นบุตรของจอมร้างบ้านเคียน
จึงเป็นที่สนิทเสน่าหาของบิดามารดาและวงศ์ญาติทั้งหลาย เมื่อบิดามารดาแก่เฒ่า
คุณจันก็ได้รับภาระปกครองผู้คนบ่าวไพร่
และดูแลการงานภายในครอบครัวแทนบิดามารดาโดยสิทธิ์ขาด
คุณมุก เป็นบุตรคนที่ 2 ของจอมร้างบ้านเคียน ซึ่งเกิดจากนางหม้าเสี้ย
มีกิริยาสุภาพอ่อนโยน
ทั้งมีสติปัญญาและความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวไม่ย่อหย่อนกว่าคุณจันผู้พี่
เป็นที่สนิทเสน่หาของบิดามารดา และวงศ์ญาติเช่นกัน แต่งงานกับพระอาจฯ
ท่านมุกไม่มีบุตรสืบตระกูล
เมื่อจอมร้างบ้านเคียนถึงแก่กรรมลง พระถลางอาดบุตรชายและน้องชายท่านผู้หญิงจันได้ครองเมืองถลาง
ครองได้ไม่นานก็ถูกผู้ร้ายยิงตาย
หลังสมเด็จพระเจ้าตากสินปราบก๊กพระยานครได้ประมาณ 7 ปี
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทราชาพิมลอัยา (ขัน) เป็นเจ้าเมืองถลาง
ท่านผู้หญิงจันเป็นแม่เมืองปกครองเมืองถลางด้วยความสงบสุขสืบมา
ครั้นเมื่อพระยาสุรินทราชาพิมลอัยา (ขัน) เจ้าเมืองเสียชีวิต
กองทหารจากเมืองหลวงที่ยึดค่ายปากพระได้เข้าเกาะตัวจับกุมท่านผู้หญิงจันเป็นเชลยศึกไปที่ค่ายปากพระ
ในข้อกล่าวหาอ้างว่าสามีเป็นหนี้แผ่นดิน
ส่วนแผ่นดินพม่ามีพระเจ้าปดุงครองราชสมบัติใต้ฟ้าแผ่นดินอังวะ ลุปี พ.ศ. 2328
พม่าได้เตรียมกองทัพใหญ่ด้วยพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขต
ด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่แกร่งกล้าในการรบสามารถปราบรามัญ ไทใหญ่ มณีปุระ ยะไข่
รวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คน จัดเป็นทัพใหญ่หมายโจมตีสยามประเทศ
เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงครามเก้าทัพ พม่ายกทัพเข้าบุกตีค่ายปากพระ
ซึ่งทหารของรัชกาลที่ 1 เป็นผู้บัญชาการค่าย พญาพิพิธโภไคยหนีไปเมืองพังงา
ท่านผู้หญิงจันในขณะนั้นยังถือว่าเป็นเชลยศึก ได้หนีข้ามช่องปากพระ
เข้ามายังเมืองถลาง ผ่านบ้านไม้ขาว บ้านสาคู และบ้านเคียน อันเป็นที่ตั้งเมืองถลาง
แม่ทัพใหญ่ยี่หวุ่นคุมกำลัง 3,000 คน เข้าตีหัวเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตก
ตั้งแต่เมืองกระ ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ค่ายปากพระ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายที่เมืองถลางขุมคลังของสยาม
ข่าวทัพเรือพม่าบุกโจมตี กอปรกับเจ้าเมืองถลางเสียชีวิตเป็นข่าวร้ายที่ทำร้ายจิตใจชาวเมืองถลางให้อยู่ในความหวาดกลัว
ไม่มีที่พึ่งหมดหวัง
แต่พลังใจทั้งมวลกลับตั้งมั่นด้วยจิตใจที่เข็มแข็งของท่านผู้หญิงจันและคุณมุกน้องสาว
โดยได้นำกำลังจากบ้านสาคู บ้านในยาง บ้านดอน บ้านไม้ขาว บ้านแขนน บ้านลิพอน
บ้านเหรียงมาเตรียมการรบ ณ ค่ายข้างวัดพระนางสร้าง
ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ามาเร่งก่อสร้างค่ายบริเวณทุ่งนา (โคกชนะพม่า)
เพื่อเตรียมโจมตีเมืองถลาง ส่วนท่านผู้หญิงจัน
คุณมุกและคณะกรมการเมืองวางแผนตั้งค่ายประชิดค่ายข้าศึก
เตรียมปืนใหญ่ตรึงไว้ดึงเวลาได้หลายวันเป็นผลให้เสบียงอาหารของพม่าลดน้อยลง
และวางแผนให้กลุ่มผู้หญิงแต่งตัวคล้ายทหารไทย
เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกมาถือแทนอาวุธ ทำทียกขบวนเข้าเมืองถลางในช่วงดึกลวงพม่าว่าเมืองถลางมีกำลังมาเสริมทุกคืน
ทำให้พม่าคาดการณ์กองกำลังเมืองถลางผิดพลาด การศึกครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 1
เดือนเศษ กำลังพม่าทั้งอ่อนล้าและขาดเสบียงอาหาร
เมื่อพม่าตั้งพลเข้าโจมตีถูกฝ่ายเมืองถลางระดมยิงปืนเล็กปืนใหญ่
นำเอาดินประสิวไปโปรยในกองทัพพม่ายิงคบเพลิงเข้าไปผสมตามยุทธวิธีพระพิรุณสังหาร
ครั้นเมื่อชาวเมืองถลางยิงปืนใหญ่แม่นางกลางเมืองถูกต้นทองหลางหน้าค่ายพม่าหักลง
กองทัพพม่าระส่ำระสายเสียขวัญ และแตกทัพไปเมื่อวันจันทร์ เดือน 4 แรม 14 ค่ำ
ปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1147 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 เป็นวันถลางชนะศึก
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน
ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร
ดำรงยศอันมีศักดิ์แก่ฐานานุรูป เป็นศรีแก่เมืองถลาง และวงศ์ตระกูลสืบไป
คำจารึก ที่อนุสาวรีย์ฯ โดย กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
เมืองถลาง ปางพม่าล้อม ลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจัน รับสู้
ผัวพญาผิวอาสัญ เสียก่อน ก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้ เกียรติไว้ชัยเฉลิม
เริ่มรบรุกตลบต้าน โจมตี
ทั้งสกัดตัดเสบียงที ดักด้าว
พม่าอดหมดพลังหนี จากเกาะ กเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าว ไม่ท้อโถมหนอ
ข้อความที่แท่นฐานทิศเหนือ ด้านหน้าอนุสาวรีย์
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร (จัน) (มุก) ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญจึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์ เมื่อ
พ.ศ. ๒๕๐๙
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553
ทางจังหวัดภูเก็ตจัดผู้ชนะการประกวดออกแบบอนุสรณ์สถานถลางชนะศึก(ประดิษฐานอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี
ท้าวศรีสุนทร) บนพื้นที่ 96 ไร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงคุณงามความดี
และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง
ตลอดจนวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทรโครงการน่าจะเริ่มต้นราวกลางปี
2553 นี้
Loading...
|