บ้านน้ำเชี่ยว
บ้านน้ำเชี่ยว
ตั้งอยู่ใน ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ จ.ตราด
เป็นหมู่บ้านในเส้นทางผ่านไปขึ้นเรือสู่เกาะช้าง
หมู่บ้านแห่งนี้มีคลองน้ำเชี่ยวไหลผ่านกลางชุมชนสู่อ่าวไทย
ประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยวเล่าว่า
สมัยก่อนคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้านน้ำเชี่ยวมาก ที่นี่จึงได้ชื่อว่าบ้านน้ำเชี่ยว
แต่ปัจจุบันสายน้ำจะไหลเชี่ยวเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น
เพราะลำคลองตื้นเขินขึ้น แต่ว่าทรัพยากรชายฝั่งของที่นี่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่
ด้านนายกเทศมนตรีตำบลน้ำเชี่ยว เปิดเผยว่า
สังคมความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งนี้ น่าศึกษาและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง จุดขายคือ
ชุมชน 2 ศาสนา (พุทธและมุสลิม)
ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกัน คือ 50 %
ชาวหมู่บ้านนี้ประมาณ 50% นับถือศาสนาพุทธ และอีกประมาณ
50% นับถือศาสนาอิสลาม โดยชาวมุสลิมบ้านน้ำเชี่ยวนั้น
อพยพเข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม
ชาวบ้านที่นี่ต่างก็อยู่อาศัยอย่างพึ่งพา เกื้อหนุนจุนเจือ และถ้อยทีถ้อยอาศัย
ซึ่งใครเห็นแล้วต่างก็อดชื่นชม ในความรักใคร่กลมเกลียวของชาวชุมชนนี้ไม่ได้
นอกจากจะเป็นชุมชนเก่าแก่และชุมชนสมานฉันท์ตัวอย่างแล้ว
บ้านน้ำเชี่ยวยังมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว
โดยมีรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (OVC)
ปี 2549
และรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือ ไทยแลนด์ทัวริสต์อะวอร์ด
จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ประเภทชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว ใน ปี
2550 เป็นตัวการันตีในคุณภาพ
ทัศนศึกษาบ้านน้ำเชี่ยว
ด้วยความที่เป็นชุมชนเก่าแก่ และเป็นชุมชนมีเอกลักษณ์
แถมยังเป็นชุมชนใกล้ปากอ่าว ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวมีสิ่งที่น่าสนใจ
ทางการท่องเที่ยวหลายจุดด้วยกัน ซึ่งจุดเด่นๆ ก็มีดังนี้
มัสยิดอัลกุบรอ
: เป็นมัสยิดเก่าแก่แห่งแรกของภาคตะวันออกมีอายุกว่า
200 ปี สร้างโดยชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่
3 เดิมทีนั้น มัสยิดอัลกุบรอสร้างขึ้นแบบง่ายๆ
ใช้ไม้โกงกางปักเป็นเขต 4
ต้น หลังคามุงด้วยใบปรงสานเป็นตับเหมือนตับจาก จากนั้นก็มีการปรับปรุงเรื่อยมา
กลายเป็นมัสยิดรูปทรงสมส่วนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่ริมคลองน้ำเชี่ยว ให้ผู้ที่สัญจรผ่านไป-มา
มองเห็นแต่ไกล
ศึกษาวิถีชีวิต
:
เนื่องจากเป็นหมู่บ้านริมทะเลที่มีคลองน้ำเชี่ยวไหลผ่าน
หมู่บ้านน้ำเชี่ยวจึงน่าสนใจไปด้วยวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ ที่มีบ้านเรือน มัสยิด
สร้างเลาะเลียบไปตามริมคลอง
มีเรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงรายอยู่ในลำคลองช่วงใกล้ออกปาวอ่าว
สำหรับชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ทำสวนยางพารา และทำสวนผลไม้
ซึ่งวิถีการทำประมงพื้นบ้านของที่นี่
นับเป็นหนึ่งในจุดเด่นทางการท่องเที่ยวที่สำคัญ
ในช่วงน้ำลงบริเวณปากอ่าวจะได้เห็นชาวบ้านออกไปเก็บหอยแครง หอยเป็ด
จับกุ้งปูปลา ในขณะที่วิถีชาวบ้านนั้นก็อยู่กันอย่างเรียบง่าย สันติสุข
เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม น้ำมิตรไมตรี
ทั้งนี้
หากผู้ใดอยากซึมซับกับบรรยากาศพื้นบ้านแบบใกล้ชิดเต็มที่ ก็สามารถพักค้างแบบโฮมสเตย์กันได้
ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวที่นิยมทำกันอยู่ ณ วันนี้ที่บ้านน้ำเชี่ยวก็คือ
การล่องเรือชมบ้านเรือน ป่าชายเลน วิถีชีวิตริมคลอง ริมปากอ่าว
ชมการทำประมงพื้นบ้านหรือตกปลาน้ำตื้น และไปขึ้นฝั่งเดินชมป่าชายเลน
เดินสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน ชมมัสยิด ชมวัด เป็นต้น
ส่วนใหญ่คนที่มาเที่ยวหมู่บ้านเรา
มักจะมาแวะก่อนจะไปเที่ยวต่อที่เกาะช้าง หรือไม่ก็แวะตอนขากลับ
แต่ในอนาคตเรามีโครงการจะจัดเป็นโปรแกรมทัวร์ นอนโฮมสเตย์
งอบบ้านน้ำเชี่ยว โอทอปขึ้นชื่อ
สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของหมู่บ้านน้ำเชี่ยวที่โด่งดังไปไกล ก็คือ
งอบน้ำเชี่ยว
ซึ่งเป็นงอบ (หมวก) ใบจาก งานหัตถกรรมพื้นบ้าน มีเอกลักษณ์
เป็นงานภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่บรรพบุรุษชาวตราดสืบทอดกันมาช้านาน
ถวิล มังกรกูล
หรือคุณยายถวิล วัย 82 ปี
ที่ชาวบ้านแถบนี้ยกให้เป็นต้นตำรับ และปรมาจารย์ในการทำงอบเล่าว่า
ทำงอบขายมากว่า 70 ปี แล้ว
ปัจจุบันแม้จะส่งต่อฝีมือให้ลูกหลานทำ แต่คุณยายก็ยังเย็บงอบขายทุกวัน
เพราะสายตายังใช้การได้ดีอยู่ โดยวันหนึ่งๆ คุณยายสามารถเย็บงอบแบบสบายๆ
ได้จำนวน 4 ใบ
สำหรับงอบน้ำเชี่ยวนั้นมีลักษณะพิเศษตรงที่ ฝีมือประณีต ละเอียด
ทำออกมาได้สวยงามสมส่วน โดยนอกจากจะมีรูปทรงแบบดั้งเดิมอย่างงอบทั่วๆ ไปแล้ว
งอบน้ำเชี่ยวยังมีรูปทรงประยุกต์ เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้เลือกใช้เหมาะกับงาน
หรือเพื่อความสวยงาม มี
5 ทรง
ด้วยกัน คือ
- ทรงกระทะคว่ำ เป็นทรงที่ชาวประมงนิยมใส่ออกหาปลา
เป็นทรงอเนกประสงค์ที่ใช้กันแดดกันฝนทั่วๆ ไป
- ทรงกระดองเต่า
เป็นทรงปีกเว้าคล้ายกระดองเต่าทางด้านหน้า เหมาะสำหรับเกษตรกร ชาวนา
เนื่องจากส่วนเว้าของหมวกทางด้านหน้า ทำให้ผู้สวมใส่มองเห็นได้สะดวก
- ทรงยอดแหลมหรือทรงหัวแหลม เป็นทรงกรวยหัวแหลมปากกว้าง
เหมาะสำหรับชาวสวนชาวไร่ เพราะรูปทรงแหลมรี สามารถกันและระบายความร้อนได้ดี
ทั้งยังมีด้านข้างที่กว้างพอประมาณ ทำให้สะดวกในการเคลื่อนไหว
- ทรงสมเด็จ เป็นหมวกรูปทรงสวยงาม
ออกแบบโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านน้ำเชี่ยว เพื่อทูลเกล้าฯ
ถวายแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า)
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในจังหวัดตราด เมื่อวันที่ 25
พ.ย. 2524
ซึ่งสมเด็จย่าได้พระราชทานนามงอบทรงนี้ว่า ทรงสมเด็จ
- ทรงกระโหลก เป็นทรงกลม คล้ายหมวกภาคสนามของทหาร
มีขนาดพอดีกับศีรษะ ใส่แล้วกระชับไม่เกะกะ
นอกจากนี้ บ้านน้ำเชี่ยวยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนน่าสนใจอย่าง
เรือจำลอง ขนมตังเมกรอบ สุรากลั่นชุมชน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น
ถือเป็นมนต์เสน่ห์แห่งบ้านน้ำเชี่ยว ที่รอให้ผู้สนใจได้ไปสัมผัสเที่ยวชมกัน